พรรณโทน : แบรนด์ข้าวท้องถิ่นสุดเก๋ที่ทำให้เรารู้ว่าเมืองไทยยังมีข้าวพันธุ์ดีอีกมาก

รู้หรือเปล่าว่าข้าวมื้อเย็นวันนี้ คุณกินข้าวพันธุ์อะไรไป?

แล้วรู้ไหมว่านอกจากข้าวที่คุณกิน ยังมีข้าวพันธุ์อื่นๆ อีกเยอะมากในบ้านเราที่มีหน้าตา สีสัน คุณสมบัติต่างกันไป

(ทดสอบด้วยชื่อเหล่านี้ : ข้าวกล้องหอมดำสูตะบุตร ข้าวเหนียวแดงศรีถาวร ข้าวกล้องหอมเวสสันตะระ ถามว่ารู้จักไหม แน่นอนว่าไม่!)

ประเทศเรารุ่มรวยด้วยความหลากหลายทางสายพันธุ์ข้าวท้องถิ่นอย่างคาดไม่ถึง แต่แทนที่ข้าวจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่คนทั่วไปเข้าใจและภาคภูมิใจ นอกจากเราจะไม่รู้จักข้าวในมุมละเอียด วิถีชีวิตผู้ผลิตอย่างชาวนาก็ยังเจอปัญหาอยู่มาก

เราได้รู้จัก ‘พรรณโทน’ แบรนด์ขายข้าวรูปแบบใหม่ที่เปิดตัวเมื่อปลายปีที่แล้วที่โซน ODS สยามดิสคัฟเวอรี่ ผลิตภัณฑ์ข้าวหน้าตาเก๋ไก๋สะดุดตาเป็นฝีมือการออกแบบของดีไซเนอร์ทั้งสองอย่าง แต๊ง-ศุภวิชญ์ พิพัฒน์ และ เกล-โศภิษฐา ธัญประทีป จาก Blue Basket เว็บไซต์เสนอสินค้าเพื่อสุขภาพ ซึ่งทำงานร่วมกับศูนย์วิจัยพันธุ์พืชไทบ้าน จังหวัดยโสธร เพื่อผลิตสินค้าข้าวท้องถิ่นออร์แกนิกน่าซื้อหาไว้เป็นของขวัญของฝากแก่คนที่รัก และอาหารแก่กระเพาะกับร่างกายที่เรารักเช่นกัน

ลองอ่านที่มาและความตั้งใจของพรรณโทนจากดีไซเนอร์ทั้งสองดู เผื่อครั้งต่อไปคุณจะอยากลิ้มรสข้าวไทยแสนอร่อยพันธุ์ใหม่ๆ และคิดถึงเรื่องอื่นๆ ใน ‘ข้าว’ มากกว่าที่เคย

ถึงเวลาต้องพูดเรื่องข้าว

แต๊ง : จุดเริ่มต้นคือ Blue Basket อยากทำกระเช้าสินค้าปลายปี เราลองไปซื้อของมาจัดชุดกันมากมาย แต่พบว่ามันไม่ต่างจากเวลาไปช้อปปิ้งที่ร้านเพื่อสุขภาพร้านอื่น ไม่ได้น่าซื้อไปกว่าปกติ นอกจากนี้เราก็ไม่ได้มีสต็อกเยอะ ไม่ได้ต้องการระบายสต็อก เมื่อต้องซื้อของมาทำกระเช้าก็ต้องคิดถึงกำไรด้วย ทีนี้เราเห็นว่าในเซ็ตหนึ่งมีข้าวใส่อยู่ กระเช้ามันดูเต็ม สวยงาม ในมุมดีไซเนอร์ ฟังก์ชันนี้ก็ตอบโจทย์

ประกอบกับปีก่อนเกิดมีดราม่าเรื่องจำนำข้าว ราคาข้าว เรื่องการเมือง ทำไมถึงขายไม่ได้ แล้วก็มีกระแสที่ดีไซเนอร์มาช่วยออกแบบฉลากข้าวให้ชาวนา มีการตั้งเพจ พี่โจ้ (ฐิติพงษ์ เหลืองอรุณเลิศ ผู้ก่อตั้ง Blue Basket) ก็บอกว่าเราต้องทำข้าวขายแล้วล่ะ พี่โจ้ซื้อข้าวจากน้องหยาด (สุจิตรา รักษาพันธ์ ทีมงานในศูนย์วิจัยพันธุ์พืชไทบ้าน จังหวัดยโสธร) มากินอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นช่องทางผลิตภัณฑ์เรามี แต่โจทย์คือจะออกแบบแพ็กเกจจิ้งข้าวอย่างไรให้ต่างจากคนอื่น

คู่ค้าข้าวที่ปลูกข้าวด้วยความตั้งใจ

แต๊ง : ศูนย์วิจัยพันธุ์พืชไทบ้านตั้งใจจะอนุรักษ์พันธุ์ข้าวท้องถิ่นและปรับปรุงพัฒนาสายพันธุ์ เขาจริงจังในการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวมาก ตอนเจอหน้ากัน น้องหยาดเล่าให้ฟังว่าในการพัฒนาข้าวต้องใช้เวลา 5 ปี ต่อการพัฒนา 1 สายพันธุ์ มันนานมากเพราะต้องปลูกให้โตเป็นรอบๆ แต่ละรอบจะคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่ดีที่สุดมาปลูกต่อ จนถึงรุ่นที่ 3 จึงจะถือว่าเป็นสายพันธุ์ที่นิ่งพอจะนำไปกระจายต่อให้คนอื่นได้ มันยากและมีคนตั้งใจทำอะไรแบบนี้อยู่ จึงน่าสนใจมากๆ นอกจากนี้เขายังปลูกโดยไม่ใช้ยา ไม่ใช้สารเคมี

ให้ความหลากหลายของสายพันธุ์เป็นพระเอก

เกล : พอถึงเวลาออกแบบแพ็คเกจจิ้ง เรานั่งดูเรเฟอเรนซ์ว่าใครทำอะไรไปบ้างแล้ว ไปเจออันนึงเป็นกล่องถุงเท้าโชว์สีถุงเท้า เราคิดว่าข้าวเนี่ยสีสวยดี ข้าวไทยมีหลายพันธุ์ หลายสี แต่คนไม่ค่อยรู้จักกันเลยพูดขึ้นมาว่า เรามาทำ Pantone ข้าวกันดีไหม ทำแพ็กเกจจิ้งที่ได้โชว์สีของข้าว แล้วพี่แต๊งก็บอกว่า ‘Pantone ก็ พรรณโทนดิ!’ จังหวะเหมือนซิตคอมมาก (หัวเราะ)

แต๊ง : ขั้นตอนหลังจากนั้นเราโทรไปหาศูนย์วิจัยพันธุ์พืชไทบ้านว่าเขามีข้าวพันธุ์อะไรอยู่บ้าง ปรากฏว่ามีเยอะมากๆ และเข้ากับคอนเซปต์พรรณโทนพอดี สินค้าล็อตแรกเลือกทำ 9 พันธุ์ที่มีผลผลิตมากพอจะขาย เราขอให้เขาส่งข้อมูลข้าวและคุณสมบัติมาให้ดูหน่อย ตอนนั้นสนุกมาก ส่ง Google Drive ไปให้กรอก น้องหยาดก็บอกว่าหนูใช้ไม่เป็นนะ ขอเขียนมาได้ไหม แล้วน้องก็เขียนลงสมุดถ่ายรูปส่งมาให้ดู ส่วนเราก็ถอดออกมาเป็นคอนเทนต์เพื่อสื่อว่าข้าวจะหลากหลายขึ้นกว่าเดิมได้อย่างไรบ้าง

เราเป็นคนกินกาแฟ มองไปที่กาแฟก็จะรู้สึกว่าแพง ข้าวจะมีภาพลักษณ์ที่ดูมีราคาเหมือนกาแฟได้ไหมเพราะเรากินข้าวทุกวัน คนมักคิดว่ามีข้าวอะไรก็กินไป ผมก็เหมือนกัน ร้านตามสั่งเขาหุงข้าวอะไรให้เราก็กิน แต่จะลงรายละเอียดมากกว่านี้ได้ไหม เหมือนกาแฟที่ต้องคัดสรรว่าผลิตจากแห่งนี้ คั่วในระดับนี้ โพรเซสแบบนี้ ซึ่งพอกลับไปคุ้ยดูว่าข้าวจะลึกแบบนี้ได้ไหม เราพบว่ามันก็มี

นอกจากมีหลายพันธุ์ หลายสีสัน ตอนสีข้าวก็มีหลายระดับ สีหนึ่งรอบเป็นข้าวกล้อง สีสองรอบเป็นข้าวซ้อมมือ หรือมีข้าวฮางงอกซึ่งเป็นข้าวเปลือกที่เอาไปแช่น้ำให้รากงอกออกมา เอาไปนึ่งแล้วจึงตากแห้ง มีสารอาหารเยอะ กระบวนการซับซ้อนมาก แต่ไม่ค่อยมีใครพูดเรื่องนี้ มีแต่คนพูดขายข้าวในเชิงว่า ‘มาช่วยชาวนาหน่อย’ เราไม่อยากให้ทุกคนพูดว่าสงสารชาวนา ไปช่วยกันเถอะ หรือสงสารโรงพยาบาล ไปช่วยกันเถอะ มันจะต้องช่วยกันอีกกี่ปี เราอยากให้ข้าวมันขายได้เพราะมันน่าสนใจจริงๆ

งานดีไซน์ที่ต้องพบกันครึ่งทางกับชาวนา

แต๊ง : ในเชิงฟังก์ชัน แพ็กเกจจิ้งข้าวต้องจัดเก็บแบบสุญญากาศ ห้ามโดนอากาศ และต้องปิดผนึกเพื่อไม่ให้มีมอด ความยากคือเราจะคิดแพ็กเกจจิ้งอย่างไรให้ชาวนายังทำงานได้อยู่เพราะเขาต้องแพ็กให้เรา ถ้าเราทำเองอาจจะกำหนดได้ว่าจะให้เนี้ยบตรงนี้ๆ แต่เขาต้องทำเป็นร้อยเป็นพันชุด ทำยังไงให้ผลิตภัณฑ์รักษาคุณภาพข้าวไว้ได้ ทำงานง่าย ไม่ทำให้เขาเดือดร้อนจนเกินไป

เกล : มันต้องทำงานทั้ง 2 ทาง เราคิดไปก่อน แต่เขามีอะไรก็เอาตามที่เขามี ตอนแรกเราอยากเจาะช่องให้เห็นสีข้าว แต่พอลองแพ็กมันโคตรยาก ข้าวไหล พอมีรูก็ไหลเปรอะออกมา เราก็ต้องเปลี่ยน พัฒนาแบบให้ง่ายกับเขาที่สุด เลยออกมาเป็นแพ็กเกจจิ้งทรงสี่เหลี่ยมที่ใส่กระดาษฉลากสีขาว ล้อกับหน้าตา Pantone

แต๊ง : เรื่องปริมาณข้าว ถ้าไซส์ใหญ่กว่านี้จะดูไม่ใช่ Pantone อีกทั้งคนรุ่นใหม่หุงข้าวที่บ้านน้อยลง เราอยากให้เขาซื้อเพราะความหลากหลาย ถ้าขายปริมาณ 1 กิโลกรัมคงกินได้ไม่กี่พันธุ์ ถ้าน้อยกว่านี้ก็น่ากังวลว่าจะอิ่มไหม ขนาด 500 กรัมน่าจะทำให้ซื้อได้หลายพันธุ์ในครั้งเดียว และถุงนี้ก็เป็นของที่มีอยู่แล้ว พอแพ็ค 500 กรัมจะได้สัดส่วนนี้พอดีเลย เราแค่จัดวางให้พอดี

ปกติชาวนาจะแพ็กข้าวแล้วแปะสติกเกอร์หรือห่อกระดาษข้างนอก แต่ความยากคือเราอยากให้ฉลากพรรณโทนอยู่ข้างใน อยากให้เนี้ยบ เขาก็ถามว่าแล้วต้องทำยังไง เกลเลยอัดวีดิโอให้ดูขั้นตอนว่า เอาฉลากมาพับแบบนี้ สอดเข้าไปก่อน เทข้าวแบบนี้แล้วค่อยซีล คิดว่าวิธีนี้เวิร์กกับเขา เขาก็ใจดีมาก เราไปเพิ่มงานเขาแต่เขาก็ยินดีทำ เราก็ให้คิดเงินค่าแพ็กเพิ่มไป

ถ้าจะล้อต้องล้อให้สุด

แต๊ง : ระบบ Pantone ต้องมีรหัสสี ถ้าเราจะล้อเขาก็ต้องคิดระบบเลขรหัสบนฉลากข้าวว่าจะเป็นยังไง แต่ละหลักจะมีความหมาย เช่น บอกว่าเป็นข้าวเจ้าหรือข้าวเหนียว 2 อย่างนี้มีโครงสร้างต่างกัน ตอนรีเสิร์ชก็สนุกมาก ข้าวเหนียวก่อนหุงจะทึบ หุงเสร็จจะใส แต่ถ้าเป็นข้าวสวย ก่อนหุงใส หุงเสร็จจะทึบ มหัศจรรย์ดี ถัดมาจะเป็นเรื่องการสี สีได้กี่ระดับ นอกจากนี้ก็มีเรื่องสีสันของข้าวด้วย ข้าวจะแบ่งป็น 3 สีหลักๆ คือ ขาว ม่วง และเหลืองทอง

พันธุ์ที่เซ็ตจากระบบหน่วยงานการเกษตรส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ที่พัฒนาเพื่อให้ผลิตผลดี ปลูกทนน้ำ ไม่ได้เน้นอร่อย ซึ่งไม่ใช่เรื่องไม่ดี แต่มันไม่มีคนที่ เฮ้ย ฉันอยากกินแบบนี้ อร่อยแบบนี้ ซึ่งศูนย์วิจัยพันธุ์พืชไทบ้านก็มีฐานข้อมูลอยู่ ในฉลากจะมีข้อมูลจากเขาใส่ไว้ด้วยว่าข้าวนี้มีประโยชน์อะไร เหมาะกับคนกินแบบไหน เช่น ข้าวเหลืองสร้อยทองเหมาะกับคนท้องเพราะมีโฟเลตสูงกว่าข้าวชนิดอื่นถึง 30 เท่า

ไม่ใช่แค่สวย แต่ต้องใช้งานง่าย

เกล : เราเป็นดีไซเนอร์ก็มักจะใส่ไอเดียที่อยากได้ลงไป แต่ระหว่างทำสิ่งนี้ เราเรียนรู้ว่าสิ่งที่อยากได้ ในแมสโปรดักชั่นมันทำได้ยากหรือต้นทุนสูง ปีนี้มีผลิตภัณฑ์ข้าว 3 แบบ 3 ชุดให้ซื้อหาเหมือนปีก่อน แต่เราปรับปรุงแพ็กเกจจิ้งให้ขนส่งง่าย ถือไปแจกง่าย เราเลือกใส่กล่องแทนใส่ตะกร้าเพราะจัดเก็บง่าย มีประสิทธิภาพที่มากับการดีไซน์กล่องด้วย มันได้แก่นมากขึ้นว่าสินค้าต้องตอบโจทย์อะไรบ้าง เพราะต้องผ่านการขนส่งหลายรอบ

แต๊ง : ตอนแรกจะเอาให้ได้ฟีลลิ่งเหมือนซื้อสินค้า Apple กล่องสีขาว มีพลาสติกห่อ ดึงขึ้นแล้วหรูหราสวยงาม มันทำได้แหละ โรงพิมพ์ภาพพิมพ์ยินดีผลิตให้ บางส่วนไม่คิดเงิน เอาไปช่วยชาวนา แต่ส่วนตัวผมรู้สึกว่าปีนี้ไม่อยากฟูมฟายขนาดนั้น พอใช้เงินกับแพ็กเกจจิ้งน้อยลง ราคาสินค้าโดยรวมก็จะลดลง ทำให้ซื้อง่ายขึ้น

อุดหนุนชาวนาให้กว้างขวางขึ้น

แต๊ง : ระหว่างปีนี้ เรามีข้าวสายพันธุ์ที่ 10 คือ ข้าวหน่วยเขือ เพิ่มเข้ามา และสำหรับปีใหม่ปีนี้ เรามี 12 สายพันธุ์แล้ว เพิ่มอีก 2 สายพันธุ์เพื่อสนับสนุนกลุ่มชาวนาให้กว้างขึ้น เพราะแต่เดิมพื้นที่ปลูกอยู่ที่ภาคอีสาน ตอนนี้เราขยับไปภาคเหนือ เริ่มคุยกับชาวนาที่เชียงราย เขามีสายพันธุ์มาจากหลากหลายแห่ง คอนเซปต์คล้ายกันคือไม่ใส่ยา ไม่ใส่สาร มีสี มีคุณสมบัติข้าวเพิ่มเข้ามา น่าจะทำให้คนไทยได้กินข้าวหลากหลายขึ้น

เป้าหมายคือเปลี่ยนทัศนคติของคนไทยผู้เป็นเจ้าของข้าว

เกล : คนจะรู้สึกว่าข้าวกับประเทศไทยเป็นของคู่กัน แพ็กเกจจิ้งมีลายกนกไทย เป็นของฝากชาวต่างชาติ แต่คอนเทนต์ลึกๆ ของมันคือความหลากหลายทางสายพันธุ์ สีที่สวย รสชาติอร่อยที่ต่างกัน เคยมีลูกค้าซื้อไปแจกนักท่องเที่ยวหรือเพื่อนต่างชาติที่ภูเก็ต นอกจากนี้มีคนรีเควสฉลากต่างชาติด้วย เหมือนเขาก็เห็นคุณค่าที่เราพยายามจะสื่อว่าข้าวไทยมีความหลากหลายนะ

แต๊ง : เราอยากให้เป็นช้อยส์ของผู้ประกอบการด้วย ไม่อยากให้เราเก็บข้าวดีๆ ไว้กินที่บ้านอย่างเดียว ไม่งั้นเราก็กินข้าวอะไรก็ได้ เน้นกินกับเยอะๆ ข้าวน้อยๆ ผมกินข้าวนอกบ้านตลอดเวลา ครั้งนึงไปกินข้าวที่ร้านโบ.ลาน เชฟเขาเลือกข้าวเวอร์วังอยู่ ในเมนูจะเขียนเลยว่าเป็นข้าวฮางงอกจากที่นี่ เกี่ยวเมื่อวันนี้ พอมาเสิร์ฟก็ เฮ้ย อร่อยกว่าจริงๆ วิธีพรีเซนต์สวยงาม ตักข้าวเข้าปากแล้วอร่อย ถ้าอยากกินข้าวดีๆ ต้องกินอย่างนั้นซึ่งราคาสูง ถ้าร้านค้าธรรมดามีทางเลือกนำเสนอให้ผู้บริโภคก็น่าจะดี ถ้าพ่อครัวแม่ครัวเห็นเป็นโอกาส พรุ่งนี้มีข้าวให้เลือก เก็บเงินเพิ่มก็ได้

เกล : ในห้างจะมีข้าวที่เขาเลือกมาแล้วว่าในเชิงธุรกิจมันทำกำไร ถ้าไม่ไปเดินงานโอท็อปก็จะไม่เจอข้าวเหล่านี้ เราต้องเป็นคนพิเศษ เป็นคนเสาะหา มีความพยายามที่จะเข้าไปหาความหลากหลาย ทั้งที่จริงมันมีแต่ไม่ถูกนำเสนอ เลยกลับไปเรื่องเดิมว่าถ้ามีการนำเสนอมากขึ้น ส่งเสริมมากขึ้นก็คงดี อย่างที่บ้านเคยไปกินที่ร้านอาหารร้านนึง เขาเอาข้าวกล้องงอกเข้ามาให้เลือกกิน พอพ่อแม่เห็น เขาก็เปลี่ยนมากินข้าวกล้อง มันมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อร้านค้าเริ่มมีทางเลือก

ถ้าให้เลือกแนะนำสินค้าได้ 1 อย่าง จะแนะนำอะไรเอ่ย?

“ตัวที่อยากแนะนำคือชุดของขวัญข้าวพรรณโทนชุดที่่ 2 ที่มีข้าว 4 พันธุ์ คือข้าวกล้องสามพญาที่เกิดจากการผสมข้าวถึง 3 ชนิด ไม่ออกฤทธิ์ร้อน ข้าวกล้องหอมมะลิแดงที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าข้าวทุกชนิด รวมถึงผลไม้ตระกูลเบอร์รี่หลายชนิด ข้าวเหนียวดำสีลาภรณ์ที่หอมเหมือนใบเตย มีทั้งวิตามินอี สังกะสี ทองแดง และเหล็ก สุดท้ายคือข้าวกล้องเหลืองสร้อยทองที่โฟเลตสูงเหมาะกับคนตั้งครรภ์”

ข้าวท้องถิ่นพันธุ์ดีและอร่อยยังมีให้ซื้อหาที่ Blue Basket ถ้าปีใหม่นี้ยังไม่มีของขวัญถูกใจ ลองอุดหนุนข้าวท้องถิ่นจากชาวนาดูบ้างก็น่าสนใจนะ : )
ยังมีเนื้อหาสินค้าเพื่อสุขภาพดีๆ ที่เราเตรียมเสิร์ฟทุกวันพุธที่ 1 และ 3 ของเดือน
ติดตามได้ในคอลัมน์ Blue Basket

ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

AUTHOR