Harmony Life : พอชีวิตเราดี โลกก็จะดีตามไปด้วย

บางคนอาจเคยรู้จักร้านอาหารสุขภาพในย่านอุดมคนญี่ปุ่นชื่อ Sustaina ชั้นล่างของร้านนี้คือซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดย่อม จำหน่ายสินค้าหลากหลาย ทั้งผักสด อาหารพร้อมกิน น้ำยาซักล้างหลากชนิด ไปจนถึงวัตถุดิบต่างๆ ที่ปลุกความเป็นแม่บ้านในตัวคุณ ให้อยากจับจ่ายกลับไปปรนเปรอร่างกายให้สุขภาพดีขึ้น

สินค้าส่วนใหญ่ในร้านแห่งนี้ แปะป้าย Harmony Life หนึ่งในแบรนด์สมาชิกเครือข่ายของ Blue Basket ที่ โช โอกะ ชายชาวญี่ปุ่นปลูกปั้นขึ้นเมื่อ 18 ปีก่อน พร้อมกับฟาร์มผักที่ปากช่อง ในวันที่เมืองไทยยังไม่รู้จักคำว่าออร์แกนิกด้วยซ้ำ

“ชื่อ Harmony Life แปลว่าความสอดคล้องระหว่างธรรมชาติกับมนุษย์ ของอะไรที่ไม่สอดคล้อง เราจะไม่เอามา” โชให้ความหมาย

การเลือกสรรอะไรที่ดีต่อสุขภาพมักเกิดจากการสนใจร่างกายอันผุพังของตนเอง แต่จุดเริ่มต้นการทำเกษตรของชายผู้นี้ต่างออกไป เขาสนใจชีวิตของธรรมชาติและตั้งคำถามว่าจะทำอะไรเพื่อเยียวยาโลกนี้ได้บ้าง ชีวิตของเราและสรรพสิ่งนั้นเชื่อมถึงกัน

อะไรที่เยียวยาโลก มักเยียวยาเรา อะไรที่เยียวยาเรา ก็กลับไปเยียวยาโลก

ก่อนจะหลงลืมทั้งชีวิตของตัวเองและโลกจนสายเกินแก้ เราอยากให้อ่านแก่นคิดของคนธรรมดาที่กล้าช่วยโลกในวิถีทางออร์แกนิกของเขาดู

ลูกทะเลผู้เจ็บปวด

อะไรทำให้คนธรรมดาคนหนึ่งเริ่มสนใจสิ่งแวดล้อมมากกว่าตัวเองได้

โอกะซังเล่าย้อนถึงสมัยมหาวิทยาลัยที่เรียนเกี่ยวกับการประมงและทะเล เขารักท้องทะเลและสนใจการขยายพันธุ์สัตว์ทะเลด้วยวิธีธรรมชาติ ศึกษาเรื่องแพลงก์ตอนซึ่งจะเป็นกลไกดึงดูดประชากรปลา รวมทั้งทำงานร่วมกับกลุ่มเพื่อค้นคว้าหาวัสดุสร้างที่อยู่อาศัยจำลองของปลาที่ไม่ทำร้ายให้ชายหาดจม และต้องเป็นที่ชื่นชอบของปลาด้วย พวกเขาดำผุดดำว่ายลงไปใต้ท้องทะเลวันละ 3 เวลาเพื่อเก็บข้อมูล แต่กลับมองเห็นอีกปัญหาที่เริ่มก่อตัว

“น้ำทะเลสกปรกขึ้นเรื่อยๆ” โอกะซังเอ่ย “มันเริ่มจากแม่น้ำลำคลองที่สกปรกไหลลงทะเล สาเหตุที่แม่น้ำลำคลองสกปรกแบ่งเป็น 3 เรื่องใหญ่ๆ หนึ่งคือคลองที่มนุษย์เราใช้และปล่อยน้ำเสียออกมา น้ำยาล้างจานซักผ้า สบู่ที่มีเคมี น้ำเสียจากการทำอาหาร จากห้องน้ำ สาเหตุนี้ 60 เปอร์เซ็นต์เลยนะ อีก 40 เปอร์เซ็นต์คือน้ำเสียจากโรงงานและน้ำเสียจากเกษตรเคมี พอใช้ยาฆ่าแมลงและปุ๋ยเคมี ฝนตกมันก็ไหลลงคลอง จากนั้นปลาก็จะตายเพราะยาที่ปล่อยออกมา”

ความรักทะเลในตัวทำให้โอกะซังฉุกคิดเป็นครั้งแรกว่า เขาจะลงมือทำอะไรเพื่อแก้ไขเรื่องนี้ได้บ้าง

เครื่องมือแพทย์ส่วนตัวที่อยากคิดค้น

หลังเรียนจบ โอกะซังย้ายไปทำงานในหน่วยบุรุษพยาบาลในโรงพยาบาลที่ออสเตรเลีย ดูแลคนอายุ 60 ปีขึ้นไป เขามองเห็นว่าผู้ป่วยจำนวนมากเป็นมะเร็ง เบาหวาน และไม่มีใครเข้ามาแล้วกลับไปอย่างหายขาดสักคนเดียว

“คนญี่ปุ่นเป็นมะเร็ง 1 ใน 2 คน ไทยก็น่าจะใกล้เคียงกัน โรคเครียดก็เพิ่มขึ้น ขณะที่ธุรกิจโรงพยาบาลเติบโตขึ้น ผมย้อนคิดว่าทำไมคนป่วยเพิ่มขึ้นเยอะและเร็ว พอได้กลับไปทำงานในบริษัทเครื่องมือแพทย์ที่ญี่ปุ่นอีก 16 ปี ก็พบว่าความป่วยไข้ยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะสาเหตุมาจากอาหารนั่นเอง”

ราว 30-40 ปีก่อน เขาได้เห็นระบบการผลิตอาหาร mass production ที่เน้นทำเยอะขายเยอะ ใช้เคมีเพื่อให้ผลผลิตคงที่ แปรรูปเพื่อให้ขายได้นานขึ้น ทั้งยังผสมสารกันบูด ปรุงแต่งสี กลิ่น และรสชาติอย่างเต็มที่

“กระทรวงเกษตรประกาศว่าบ้านเราเป็นเกษตรเคมี 99.8 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่แค่ไทย ญี่ปุ่น อเมริกา หรือยุโรปก็เหมือนกัน เนื้อไก่เนื้อวัวฉีดฮอร์โมน ปลาก็ปลาเลี้ยง จะมีอาหารถึง 1 เปอร์เซ็นต์ไหมที่ปลอดภัยจริงๆ และเป็นธรรมชาติ ช่วงเวลา 30-40 ปีที่แล้วเป็นช่วงเวลาที่ผมเห็นสิ่งเหล่านี้มาตลอด”

เมื่ออายุได้ 43 ปี ความรู้สึกอันแรงกล้าทำให้เขาตัดสินใจทิ้งงานเครื่องมือแพทย์ที่มั่นคง ปักหลักจะทำงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและอาหารปลอดภัยในประเทศที่ไม่ใช่บ้านเกิดเมืองนอน

แต่เต็มไปด้วยพื้นที่โล่งกว้าง เหมาะแก่การทำเกษตรอินทรีย์ที่สุด

ทิ้งรักลงแม่น้ำ

ปี 1999 เดือน 9 วันที่ 9 ฟาร์มออร์แกนิก Harmony Life ของโอกะซังเปิดที่ปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

“Harmony Life จะทำงานกับทั้ง 3 สาเหตุที่ทำให้น้ำไม่สะอาด” เขาประกาศเช่นนั้นตั้งแต่วันแรก “ถ้าน้ำลำคลองไม่สะอาด น้ำทะเลก็จะไม่สะอาด แถมข้าวและผักในการเกษตรก็จะมียาเหมือนกัน”

เคล็ดลับในการทำการใหญ่ให้น้ำใสของโอกะซังคือสิ่งที่คนไม่เคยนึกถึง–อย่างจุลินทรีย์

“จุลินทรีย์เป็นตัวทำย่อยต่างๆ เคมีและของอะไรที่จุลินทรีย์ไม่กิน มันก็ไม่ย่อยสลาย แม่น้ำลำคลองกรุงเทพฯ จึงเป็นแบบนี้ ตอนนั้นผมคิดจะปลูกผักออร์แกนิก แปรรูปสินค้าออร์แกนิก พัฒนาสินค้าที่ย่อยสลายตามธรรมชาติได้ อย่างเช่นพวกน้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้าหรือสบู่แชมพู เป้าหมายคือใช้แล้วปล่อยออกไปต้องย่อยสลายภายใน 24 ชั่วโมง”

แปลอีกชั้นว่า สินค้าทุกชนิดของโอกะซังนั้น จุลินทรีย์รักที่จะกิน และต้องกินให้หมดภายในหนึ่งวันด้วย

Harmony Life วางขายน้ำยาซักล้างหลากประเภท ทั้งสบู่ แชมพู น้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า แม้จะดูเป็นเรื่องเล็กน้อยในชีวิตประจำวัน แต่พอคิดว่าคนไทยมีตั้ง 70 ล้านคน คนนึงอาบน้ำวันละสองครั้ง สารเคมีที่ลงแม่น้ำไปคงไม่น้อย

“น้ำยาชำระล้างเมืองไทยส่วนใหญ่ใช้วัตถุดิบจากน้ำมันอนินทรีย์ทั้งนั้น เช่นใช้น้ำมันปิโตรเลียมเป็นเบส จุลินทรีย์ที่จะกินมีน้อยมาก ส่วนใหญ่จึงตกค้าง ทับถม และเน่าเหม็น นอกจากน้ำมันอนินทรีย์ก็ยังมีสารประกอบเคมีอีกมากมาย กลิ่นที่เราดมก็เป็นกลิ่นเคมีทั้งนั้น” ชายตรงหน้าอธิบาย

“สิ่งแรกที่คิดคือเราจะหาวัตถุดิบที่จุลินทรีย์กินและไม่ใส่เคมี เบสที่ดีที่สุดสำหรับทำสบู่คือน้ำมันมะกอก ส่วนสิ่งที่จะช่วยให้ชำระล้างได้คือน้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันปาล์ม หลังจากนั้นผมก็คิดต่อว่าต้องให้สารอาหารผิวด้วย น้ำมันมะกอกนี่ส่วนประกอบ 80 เปอร์เซ็นต์ตรงกับน้ำมันผิวของคนเรา ทั้งยังมีวิตามินอี ถ้าใช้น้ำมันมะพร้าวเฉยๆ อาจทำให้บางคนแพ้ เป็นผื่นได้”

ในส่วนของกลิ่น เขาผสมน้ำมันหอมระเหยสมุนไพรลงไปแทน เช่น ตะไคร้ เปปเปอร์มิ้นต์ หรือ โรส เจอเรเนียม (ที่ราคาสูงมาก) แม้แต่น้ำยาล้านจานก็ใช้กลิ่นมะกรูด น้ำยาซักผ้าใช้กลิ่นลาเวนเดอร์ คนใช้ก็ได้ผ่อนคลาย

เราแอบข้องใจว่าประสิทธิภาพน้ำยาพวกนี้จะสู้ของที่ใช้เคมีได้ไหม โอกะซังบอกว่าทดสอบมาแล้วก็ไม่แพ้กัน คราบปากกาก็ซักออกได้ แถมพอใช้แล้วเนื้อผ้าและผิวเราก็ไม่กระด้าง ทั้งยังมีอายุการใช้งานถึง 1 ปี เพราะความลับที่ซ่อนอยู่ในนั้นคือ EM (Effective Microorganisms) หรือ ‘กลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ’ จากฟาร์มออร์แกนิกของเขานั่นเอง

วิธีเก็บรักษาพลังชีวิต

โอกะซังเล่าว่า 50,000 คือจำนวนชนิดของสิ่งมีชีวิตบนโลกที่สูญพันธุ์ไปเท่าที่ตรวจทราบในปัจจุบัน

ฟาร์มของเขาจึงเริ่มขึ้นด้วยแนวคิดว่าจะไม่ใช้สารเคมีเด็ดขาด เพราะยาฆ่าแมลงไม่ได้ฆ่าเพียงแมลงกินผัก แต่รวมถึงแมลงตามธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ มันคือการยื่นกรรไกรไปตัดห่วงโซ่อาหารและส่งผลกระทบวงกว้าง

แต่ใครก็รู้ว่าการปฏิเสธเคมีโดยสิ้นเชิงคือเรื่องท้าทายมาก ช่วง 5-6 ปีแรกของเขาดำเนินไปอย่างยากลำบาก เริ่มตั้งแต่ดินเดิมที่เป็นดินแดง ดินเหนียวที่อุ้มน้ำเก่งแต่บกพร่องเรื่องระบายน้ำ แต่พอจะบำรุงดินด้วยปุ๋ยหมักจากขี้ไก่ขี้วัวก็ไม่ได้ผลดีอย่างที่คิด จนโอกะซังสังเกตว่าตัวปัญหาอาจเป็นขี้ไก่ขี้วัวที่ซื้อมาจากข้างนอก กลิ่นเหม็นสุดๆ ของมูลสัตว์บอกใบ้ว่าในนั้นมีเชื้อเน่าอันเกิดจากการกินอาหารสังเคราะห์ พอโอกะซังตัดใจซื้อวัวและไก่มาเลี้ยงเองและให้กินอาหารออร์แกนิกในฟาร์ม ผลลัพธ์จึงเปลี่ยนไป

“ตอนนี้ดินเป็นดินดำ โรคแมลงก็ลดลงไปเยอะ จุดหนึ่งเราก็เอา EM เข้ามาช่วย จุลินทรีย์ทำให้ดินดี เวลาให้ปุ๋ย จุลินทรีย์จะย่อยก่อน พืชจึงดูดซึมไปใช้ได้ แต่ถ้าใช้ปุ๋ยเคมี จุลินทรีย์ตาย ดินก็ตายตาม”

น้ำที่ใช้รดพืชผัก โอกะซังก็ขุดน้ำบาดาลที่ความลึกถึง 150 เมตรมาใช้ มันเป็นน้ำฝนที่ทับถมมาตั้งแต่ 20 ปีก่อน จึงมั่นใจได้ว่าจะไม่มีสิ่งปนเปื้อนเหมือนในลำคลอง ด้วยวิธีการเหล่านี้ ผลิตผลจากฟาร์ม Harmony Life จึงมี ‘พลังชีวิต’ อยู่ในนั้น สังเกตง่ายๆ ว่าแช่เย็นอยู่นานถึง 2-3 สัปดาห์ก็ยังอยู่ได้ ผิดจากผักไฮโดรโปนิกส์ซึ่งเลี้ยงด้วยน้ำผสมสารเคมีที่เพียง 3-4 วันก็อาจเริ่มเน่าเสีย

“คนมักคิดถึงวิตามินหรือโปรตีน แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือเราต้องยืมแรงอาหารที่มีพลังแห่งการมีชีวิต เราถึงจะแข็งแรง” เขายิ้ม

ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากการเกษตรที่สำคัญคือบะหมี่ผักโมโรเฮยะ ผักที่มีต้นกำเนิดจากอียิปต์และมีสารอาหารสูงที่สุดในบรรดาพืชผักทั้งมวล โอกะซังเป็นคนแรกที่นำเข้ามาปลูกในไทย หลังบุกเบิกทำการตลาดอยู่เนิ่นนานจนได้จำหน่ายใน MK เวลานี้สินค้าตัวนี้มียอดขายเดือนละ 6 แสนห่อ ส่งขาย 10 ประเทศทั่วโลก รวมถึงซูเปอร์มาร์เก็ตอาหารออร์แกนิกที่ใหญ่ที่สุดอย่าง WHOLE FOOD

แม้จะเป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โอกะซังก็สามารถแปรรูปจนออกมาเป็นอาหารเพื่อสุขภาพได้สำเร็จ ส่วนพลังชีวิตในนั้นคงไม่ต้องพูดถึง เพราะมันมีหัวใจคนทำผสมอยู่ในทุกขั้นตอน

อานุภาพของสิ่งเล็ก

น้ำเสียจากการเกษตร น้ำเสียจากครัวเรือน โอกะซังได้เข้าไปมีส่วนร่วมแก้ไขแล้ว เหลือก็แต่น้ำเสียจากโรงงาน ที่ฟังดูเป็นเรื่องใหญ่เกินตัว เกษตรกรคนหนึ่งจะทำอะไรได้กับระบบใหญ่ยักษ์ที่ผลิตของเสียมหาศาลต่อวัน โดยเฉพาะเมื่ออาวุธของเขาเป็นพลังธรรมชาติล้วนๆ

“เราเพิ่งเข้าไปเมื่อ 6 ปีก่อน” โอกะซังเฉลยเรื่องน่าทึ่ง “ตอนนี้โรงงาน TOYOTA และโรงงานบริษัท DENSO ในไทย บำบัดน้ำเสียด้วยจุลินทรีย์ของผม”

“ถือว่าสุดยอดมากที่จุลินทรีย์จากฟาร์มเอาไปบำบัดน้ำเสียจากโรงงานได้” โอกะซังพูดคำเดียวกับที่เรานึกในใจ เขาใช้เวลาทดลองและศึกษามาเรื่อยๆ จนรู้ว่าต้องใช้ในสัดส่วนเท่าไหร่ให้มีประสิทธิภาพ ปัจจุบันเขามีจุลินทรีย์ 3 ประเภทสำหรับใช้งานที่ต่างกัน 3 อย่าง นั่นคือใช้ในน้ำยาซักล้าง ใช้ในการเกษตร และใช้บำบัดน้ำเสีย

สินค้าแปรรูปอีกตัวที่น่าสนใจคือน้ำหมักเอนไซม์สำหรับดื่ม โอกะซังบอกว่าคนเราจำเป็นต้องมีเอนไซม์อยู่ในตัว 5,000 กว่าชนิด และจุลินทรีย์นี่เองที่เป็นตัวสร้างเอนไซม์ผ่านการหมัก โดยปกติเราได้รับเอนไซม์จากอาหารต่างๆ แต่พอในอาหารมีเคมี เอนไซม์จึงลดลงและตายลง เมื่อความหลากหลายของเอนไซม์ในร่างกายลดลงก็ทำให้ป่วยได้ เครื่องดื่มน้ำเอนไซม์ซึ่งเกิดจากการหมักผักผลไม้และสมุนไพรกว่า 30 ชนิดจากฟาร์ม จึงเข้ามาช่วยบำรุงร่างกายได้สำหรับคนทุกเพศทุกวัย

จากจุลินทรีย์ตัวจิ๋วที่มองไม่เห็นในฟาร์มออร์แกนิก ด้วยหัวใจที่อยากเยียวยาโลกและการลงแรงศึกษาอย่างตั้งใจของชายวัยกลางคน อานุภาพของมันจึงแผ่ขยายทั้งในร่างกายของใครอีกหลายคน และร่างกายของธรรมชาติ

ขออย่ายอมแพ้

“ในโลกที่แค่ดำรงชีวิตก็ยากแล้ว เราจะใช้ชีวิตโดยเริ่มคิดถึงสิ่งอื่นนอกจากตัวเราได้ยังไง” เราถามโอกะซัง

“ก็คิดถึงสุขภาพตัวเองและคนในครอบครัวก่อน ถ้าใครมีลูกก็คงไม่อยากให้ลูกกินยาเคมีใช่ไหม แค่คุณเลือกของออร์แกนิก ของที่ปลอดภัย ก็ถือว่าคุณได้ดูแลสิ่งแวดล้อมแล้ว ที่สำคัญคือมันบำรุงคุณด้วย”

นอกจากร้านอาหาร Sustaina ที่เปิดให้คนได้มาสัมผัสรสชาติออร์แกนิกที่แท้จริง ทุกวันนี้โอกะซังจัดคอร์สอบรมที่ฟาร์ม มีผู้เข้าร่วมทั้งคนไทยและต่างชาติปีละกว่า 500-600 คน เหตุผลก็คือ ถ้า Harmony Life ดำเนินวิถีออร์แกนิกคนเดียวคงไม่มีประโยชน์อะไร นี่คือสิ่งที่ทุกคนต้องช่วยกัน

ประโยคที่เขาย้ำกับผู้เข้าอบรมเรื่องเกษตรอินทรีย์บ่อยๆ คือ อย่าเลิก อย่าท้อแท้

เราฟังแล้วคิดว่านั่นคือประโยคที่โอกะซังน่าจะอยากสื่อสารกับทุกคนบนโลก—ทุกคนที่อยากให้เราและโลกมีชีวิตอยู่อย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น

ถ้าให้เลือกแนะนำสินค้าได้หนึ่งอย่างจะแนะนำอะไร

“ผมแนะนำบะหมี่ผักโมโรเฮยะ ทุกคนจะคิดว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไม่ดีต่อสุขภาพ แต่ผมเอาของไม่ดีออกให้หมด คือไม่ทอด ไม่ใส่สารกันบูด ผงชูรส และเป็นเจ ชื่อดั้งเดิมของโมโรเฮยะแปลว่าผักพระราชา มีเรื่องเล่าว่ากษัตริย์ฟาโรห์ประชวรหนัก พอได้กินผักนี้ก็พระพลานามัยดีขึ้นมาก ผักโมโรเฮยะมีสารอาหารมากกว่าผักโขม 5 เท่า มีเส้นใยเยอะ รวมถึงวิตามิน เกลือแร่ ช่วยขับของเสียจากร่างกายได้ดี แต่มันไม่ใช่ผักอร่อย เราจึงแปรรูปออกมาเป็นบะหมี่ให้เด็กและคนสูงอายุกินได้”

ผลิตภัณฑ์จาก Harmony Life มีให้ซื้อหาที่เว็บไซต์ Blue Basket ตะกร้าสุขภาพของคนช่างเลือก แหล่งรวมสินค้าเพื่อสุขภาพ

คอลัมน์ Blue Basket ของเราได้ดำเนินมาถึงตอนสุดท้ายแล้ว แต่ในอนาคตจะมีสินค้าเพื่อสุขภาพใหม่ๆ ที่น่าสนใจเข้ามาให้เลือกสรรอีกแน่นอน คลิกที่เว็บไซต์ Blue Basket หรือกดไลก์ เพจ Blue Basket เพื่อติดตามข่าวสารกันได้เลย

ภาพ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย