เรียนรู้หน้าตาของความรักที่ไม่เหมือนในอุดมคติกับ ‘Bloom Into You’ อนิเมะหญิงรักหญิงแนว coming of age

ท่ามกลางสื่อบันเทิงที่เกี่ยวข้องกับเพศหลากหลายอย่างหนังสือ เพลง หนัง ละคร หรือกระทั่งการจิ้นดารา-ไอดอล ส่วนใหญ่แล้วในไทยจะเป็นฝั่งชายรักชายที่เราเห็นได้บ่อยๆ จนนับไม่ไหว แทบจำไม่ได้แล้วว่าเรื่องของหญิงรักหญิงที่ทั้งดีและดังเปรี้ยงปร้างล่าสุดของไทยคือชิ้นไหน โดยฉพาะสื่อที่เสพง่ายๆ เนื้อหาไม่หนักหนาสาหัสแบบนิยายหรือซีรีส์ชายรักชายที่เห็นได้มากมายตามแผงหนังสือและแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง

ครั้นจะไปหาสื่อหญิงรักหญิงแนวนี้จากต่างประเทศมาเสพ ก็มักจะเป็นงานที่สร้างผ่านสายตาผู้ชาย (male gaze) ที่น่าอึดอัดจนหลายครั้งก็ทนดูไม่ไหว บางชิ้นก็เกือบจะดีแล้วแต่ก็ดันมีฉากเซอร์วิสให้คนเสพที่เป็นผู้ชายมากเกินเหตุ นั่นอาจเป็นเพราะทีมงานผู้สร้างส่วนใหญ่เป็นผู้ชายที่อาจไม่ได้พยายามถ่ายทอดเรื่องของหญิงรักหญิงอย่างเข้าใจ หรือยังยึดติดอยู่กับการสร้างภาพจำของหญิงรักหญิงผ่านมุมมองเดิมๆ 

Bloom into You

จนกระทั่งเราได้มารู้จักกับมังงะญี่ปุ่นเรื่อง Bloom Into You สุดท้ายก็คือเธอ (Yagate Kimi ni Naru) ที่วาดโดยศิลปินหญิงอย่าง Nio Nakatani และตีพิมพ์ตอนแรกลงนิตยสารมังงะญี่ปุ่นเมื่อปี 2015 แน่นอนว่ามังงะแนวนี้ของญี่ปุ่นมีจำนวนไม่น้อย เนื้อเรื่องก็แตกต่างกันไป แต่ Bloom Into You ถือว่าสร้างปรากฏการณ์ให้แวดวงการ์ตูน sapphic (หญิงรักหญิงที่นับรวมน็อนไบนารี่และเพศหลากหลาย) เลยก็ว่าได้ เพราะได้รับกระแสตอบรับที่ท่วมท้น ถึงจะมีแค่ 8 เล่มจบแต่ยอดขายก็สูงขนาดทะยานสู่อันดับต้นๆ ของชาร์ตมังงะขายดีและได้รับการนำไปสร้างเป็นละครเวทีกับอนิเมะด้วย

อาจเพราะด้วยลายเส้นที่งดงาม บวกกับเรื่องราวความรักในโรงเรียนที่ใครๆ ก็น่าจะรู้สึกรีเลตได้ไม่ยากจึงทำให้มีกระแสตอบรับที่ดีตั้งแต่ตอนแรกๆ

Bloom into You
Bloom into You

Bloom Into You เล่าเรื่องราวของ โคอิโตะ ยู นักเรียนมัธยมปลาย ปี 1 ผู้กำลังกลัดกลุ้มใจจากการถูกเพื่อนผู้ชายคนหนึ่งสารภาพรัก เธอไม่ได้รับรักเพราะไม่รู้ว่าการรักใครสักคนเป็นยังไง จนกระทั่งเธอมาเจอกับ นานามิ โทโกะ รุ่นพี่ที่เป็นสมาชิกสภานักเรียนตอนกำลังถูกสารภาพรักเข้าพอดี

ยูคิดว่าโทโกะเหมือนกับตัวเองที่ไม่ว่าจะโดนใครต่อใครสารภาพรักก็ไม่เคยรู้สึกใจเต้นแรงเลยสักครั้ง แต่แล้วเมื่ออยู่ด้วยกันเพียงสองคน โทโกะก็เอ่ยในสิ่งที่เธอไม่คาดคิดออกมา “ดูเหมือนว่าฉันจะชอบเธอเข้าซะแล้ว”

จากนั้นเรื่องราวความสัมพันธ์ของทั้งสองก็เริ่มต้นขึ้น

Bloom into You

ส่วนตัวเราประทับใจมังงะเรื่องนี้มาก เพราะแม้จะเป็นพล็อตเรื่องที่พบได้ทั่วไปอย่างรุ่นพี่-รุ่นน้อง แต่วิธีการเล่าเรื่องและปมปัญหากลับพาเราไปสำรวจเรื่องราวกับความสัมพันธ์อื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่ความสัมพันธ์แบบคนรัก มากกว่านั้น มันยังพาไปสำรวจชีวิตและจิตใจของตัวละครอื่นๆ นอกเหนือไปจากตัวละครหลักอย่างยู โทโกะ และซายากะ เพื่อนสนิทของโทโกะผู้แอบรักเพื่อน ซึ่งพอได้มาดูอนิเมะที่เพิ่งเข้า Netflix ไทยเมื่อ 1-2 เดือนก่อน ก็ต้องยอมรับว่าทำได้ดีเทียบเคียงตัวมังงะเลยทีเดียว

ส่วนใครที่มองหาฉากเซอร์วิสเยอะๆ แบบในการ์ตูนแนว sapphic เรื่องอื่นๆ ของญี่ปุ่นก็แอบบอกล่วงหน้าว่าเสียใจด้วย เพราะส่วนใหญ่ฉากกุ๊กกิ๊กที่มีก็จะเป็นแนวความรักใสๆ จั๊กจี้หัวใจแบบชวนให้นึกถึงความรักช่วงมัธยมเสียมากกว่า แถมไม่ได้มี male gaze จนดูแล้วรู้สึกอึดอัด ไม่มีแนวคิดแบบที่อกหักจากผู้ชายเลยมาให้ผู้หญิงดามใจแบบละครบางเรื่องในประเทศแถวๆ นี้

Bloom into You

ประเด็นหลักๆ ที่น่าคิดในเรื่องนี้คือประเด็นความรักในอุดมคติที่แตกต่างจากรักในชีวิตจริง เราจะเห็นได้ว่าทั้งตัวละครยูและโทโกะต่างไม่เคยมีความรักมาก่อน และอยู่ในเงื่อนไขที่แตกต่างกัน อย่างยูค่อนข้างเป็นคนประเภทที่ใจดี ตามใจคนอื่น ใครให้ทำอะไรก็ทำ ทั้งยังเคยคิดไว้ว่าถ้ามีความรักก็น่าจะแฮปปี้ตัวลอยเหมือนติดปีก แต่พอมีคนมาสารภาพรักจริงๆ ก็กลับไม่ได้รู้สึกแบบนั้น จนเกิดความสับสนว่าการไม่ชอบใครแบบโรแมนติกนี่มันผิดหรือเปล่านะ โดยในเรื่องมักจะใช้ภาพเปรียบเทียบการจมน้ำถึงความรู้สึกที่ไม่เข้าใจและไม่สามารถเอื้อนเอ่ยออกไป ซึ่งถ้าไม่ได้อ่านมังงะมาก่อนเราอาจคิดว่ายูเป็น aromantic ที่ไม่ฝักใฝ่ในความสัมพันธ์แบบโรแมนติกก็เป็นได้

Bloom into you

ส่วนโทโกะที่ดูเป็นตัวละครที่สำคัญที่สุดในเรื่อง แม้ภายนอกจะดูเพอร์เฟ็กต์ สวย เก่ง ฉลาด มีความเป็นผู้นำ และจิตใจดี แต่แท้จริงเธอกลับเก็บงำความลับบางอย่างไว้ และพอใจที่จะให้ยูรู้ตัวตนที่แท้จริงของเธอเท่านั้น เพราะรู้ว่ายูจะไม่มีวันรักเธอตอบ โทโกะจึงยื่นข้อเสนอความสัมพันธ์พิเศษให้ คล้ายๆ กับความสัมพันธ์ที่ไม่ผูกมัด ยูเองก็ตอบตกลงจากพื้นเพนิสัยของเธอ บวกกับคาดหวังว่าจะได้อะไรบางอย่างกลับมา

ในความสัมพันธ์ของสองคนนี้ที่ผสมปนเปไปด้วยส่วนประกอบของความสับสน เห็นแก่ตัว และการพึ่งพิง เรื่องจะค่อยๆ พาไปสู่จุดที่ตัวละครเรียนรู้กันและกัน และเหมือนได้เติบโตขึ้นไปพร้อมกัน ส่วนที่เราชอบที่สุดคือการที่ตัวละครขอคอนเซนต์กัน มีฉากหนึ่งที่ตัวละครตัวหนึ่งทำบางอย่างโดยไม่ถามความสมัครใจของอีกคน ตัวละครนั้นก็รู้สึกผิด ขอโทษ และหลังจากนั้นก็ถามคอนเซนต์กับอีกฝ่ายก่อนทุกครั้ง ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่เราไม่คาดคิดว่าจะได้เห็นเรื่องนี้ในสื่ออนิเมะอย่างชัดเจน ถือเป็นสัญญาณดีๆ ของการส่งต่อความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสังคม

สำหรับบางคน อนิเมะ Bloom Into You อาจดำเนินเรื่องเนิบช้าไปบ้าง แต่เรากลับมองว่าเป็นจังหวะที่ดีแล้ว เพราะในจังหวะเนิบช้านั้นอนิเมะเรื่องนี้เปิดโอกาสให้คนดูอย่างเราได้เรียนรู้และทำความเข้าใจความรู้สึกของยูอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งมันไม่ใช่แค่ความรู้สึกรักเท่านั้น แต่ขณะเดียวกันเธอก็รู้จักตัวเองมากขึ้น ได้ลองทำอะไรใหม่ๆ เห็นพัฒนาการนิสัยใจคอของเธอไปพร้อมๆ กับความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น

ดูแล้วอดนึกถึงชีวิตวัยมัธยมไม่ได้ ไม่ว่าจะในฐานะนักเรียน เพื่อน รุ่นพี่ หรือรุ่นน้องก็ตาม การค้นหาตัวเอง สับสนกับความรู้สึก สัมผัสถึงความรักแบบโรแมนติกครั้งแรก หรือกระทั่งการต้องพยายามทำหรือเป็นใครสักคนเพื่อให้อีกคนหรือหลายๆ คนชอบ ส่วนประกอบเหล่านี้ทำให้ Bloom Into You เป็นมากกว่าการ์ตูน sapphic ที่นำเสนอแต่ความรักกุ๊กกิ๊กอย่างเดียว และนั่นคงทำให้แฟนคลับจำนวนมากรู้สึกรีเลตและชื่นชอบจนยกให้เป็นผลงานระดับมาสเตอร์พีซ

อนิเมะเรื่องนี้มีทั้งหมด 13 ตอนและค่อนข้างจบในตัว ไม่จำเป็นต้องอ่านมังงะก็ได้ แต่ถ้าเป็นไปได้เราอยากเชียร์ให้อ่านกัน เพราะในมังงะยังมีเรื่องราวมากกว่านั้น แถมยังมีไลต์โนเวลที่เป็นไซด์สตอรีของตัวละครซายากะเพิ่มมาอีกด้วย

เห็นที่ญี่ปุ่นทำการ์ตูนที่นำเสนอเพศหลากหลายได้ดีทั้งเนื้อหาและคุณภาพจนเป็นกระแสระดับแมสแล้วก็รู้สึกปลาบปลื้มใจ เพราะอย่างน้อยนี่ก็เป็นมูฟเมนต์สำคัญในการผลักดันให้เรื่องนี้เป็นเรื่อง ‘ปกติ’ ในสายตาสังคมทั้งในญี่ปุ่นเองและนอกประเทศ

ถ้าไม่มากไป เราก็อยากเห็นสื่อไทยสร้างผลงานดีๆ แบบนี้ออกมาบ้างเหมือนกัน

และหลังจากนั้นก็ถามคอนเซนต์กับอีกฝ่ายก่อนทุกครั้ง ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่เราไม่คาดคิดว่าจะได้เห็นเรื่องนี้ในสื่ออนิเมะอย่างชัดเจน ถือเป็นสัญญาณดีๆ ของการส่งต่อความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสังคม เห็นที่ญี่ปุ่นทำการ์ตูนที่นำเสนอเพศหลากหลายได้ดีทั้งเนื้อหาและคุณภาพจนเป็นกระแสระดับแมสแล้วก็รู้สึกปลาบปลื้มใจ เพราะอย่างน้อยนี่ก็เป็นมูฟเมนต์สำคัญในการผลักดันให้เรื่องนี้เป็นเรื่อง ‘ปกติ’ ในสายตาสังคมทั้งในญี่ปุ่นเองและนอกประเทศ เพราะในจังหวะเนิบช้านั้นอนิเมะเรื่องนี้เปิดโอกาสให้คนดูอย่างเราได้เรียนรู้และทำความเข้าใจความรู้สึกของยูอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งมันไม่ใช่แค่ความรู้สึกรักเท่านั้น แต่ขณะเดียวกันเธอก็รู้จักตัวเองมากขึ้น ได้ลองทำอะไรใหม่ๆ เห็นพัฒนาการนิสัยใจคอของเธอไปพร้อมๆ กับความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น

AUTHOR