หนังสือของนักเขียนไบโพลาร์ที่ว่าด้วยเรื่องโรคไบโพลาร์โดยคนอ่านที่ยังเป็นไบโพลาร์

Highlights

  • Die Welt im Rücken หรือ ในโลกอันแปรปรวน บันทึกของนักเขียนไบโพลาร์ ผลงานเขียนของ Thomas Melle นักเขียนที่ป่วยเป็นโรคไบโพลาร์ตามชื่อหนังสือ เรื่องราวภายในเล่าผ่านสายตาของผู้เขียนที่กลั่นกรองออกมาผ่านภาษาที่สวยงาม ทั้งประสบการณ์ ความรู้สึก การกระทำ และความคิด
  • หนังสือเล่มนี้จำลองภาพให้เราเห็นโลกของคนที่เป็นไบโพลาร์ได้อย่างมีเสน่ห์และแจ่มชัด ซึ่งสุดท้ายแล้วตัวอักษรเหล่านี้จะก่อให้เกิดความเข้าใจหรือสร้างความตระหนักอะไรได้บ้าง นั่นเป็นสิ่งที่ผู้อ่านแต่ละคนคงต้องตอบตัวเอง

Y

สำหรับผมเอง ไบโพลาร์ไม่ใช่แค่ความเจ็บไข้

เมื่อครั้งอดีตที่มันปรากฏตัวมาทำความรู้จักกับผมครั้งแรก มันพาผมดำดิ่งไปสู่โลกอีกฝั่งที่มืดมิด สีสันที่เคยมีหายไปหมดจนเหลือแต่สีขาว-ดำ ใจที่เคยแข็งแรงฟูฟ่องเปลี่ยนเป็นเหี่ยวเฉา เรี่ยวแรงที่เคยบวกเต็มร้อยกลายเป็นติดลบ พูดก็พูดเถอะ ผมได้เรียนรู้ความหมายของคำว่า ‘หมดอาลัยตายอยาก’ เป็นครั้งแรกก็วันนั้น

ตลกร้ายที่ไม่นานเลยหลังจากนั้น อาการของผมเปลี่ยนเป็นขั้วตรงข้าม

อยู่ดีๆ ความอยากทำอยากมีในใจก็ถมไม่เต็ม ผมพูดไม่หยุด พูดจนไม่มีคนฟัง พูดจนเริ่มคุยกับตัวเอง เงินที่มีอยู่เต็มบัญชีถูกกดออกมากว่าครึ่งเพื่อจับจ่ายซื้อความสุขชั่วครั้งคราว ปริมาณอาหารที่เคยกินแล้วอิ่มกลับไม่พออีกต่อไป ความง่วงนอนไม่เคยเกิดขึ้น ทุกอย่างที่เป็นไปราวกับไม่มีอะไรเลยที่ตอบสนองความต้องการของผมได้ ซ้ำร้ายเมื่อเวลาผ่านไป ผมกลับเริ่มรู้สึกผิดกับความเยอะเกินที่ตัวเองทำและเริ่มเศร้าอีกครั้ง วัฏจักรเดิมๆ ก็เริ่มวนกลับมาอีก 

วนเป็นวงกลมแบบนี้เรื่อยๆ อยู่แรมปีก่อนที่ผมจะไปพบหมอ

สุดท้าย แม้ในปัจจุบันอาการเหล่านี้ของผมจะน้อยลงจนแทบหายไปแล้ว โอเค อาจมีบางครั้งที่มันกลับมาซึ่งผมก็พอจะรู้เท่าทันมันอยู่บ้าง แต่ถ้าเลือกได้ผมก็ไม่อยากเจอมันอีกเลยแม้เพียงวินาทีเดียว

เพราะสำหรับผมเอง ไบโพลาร์ไม่ใช่แค่ความเจ็บไข้ แต่มันคือโลกทั้งใบที่เราไม่อาจควบคุม

X

“เริ่มแรก คนส่วนมากจะอยู่ในภาวะคึกผิดปกติสองสามวันไปจนเป็นสัปดาห์ ในคนส่วนน้อย อาการนี้อาจจะนานสักปีหนึ่ง แล้วจึงตามด้วยสภาพเชิงลบ โดยจะรู้สึกซึมเศร้า ท้อแท้สิ้นหวัง ตราบเท่าที่ยังไม่ดำดิ่งลงสู่ความว่างเปล่าเย็นชาและแปรเปลี่ยนเป็นสิ่งไร้ตัวตนอ่อนแรง สภาวะนี้อาจกินเวลาสองสามวันหรือสองปีขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละราย หรือบางทีอาจนานกว่านั้น 

ผมเป็นหนึ่งในบรรดาคนจำพวกหลังที่หยิบได้ไพ่รายปี ถ้าหากผมเกิดไถลลึกลงไป หรือทะยานขึ้นสูง ก็จะกินเวลายาวนาน แล้วจะไม่มีใครหยุดยั้งผมได้ ไม่ว่าขณะผมกำลังบินขึ้นหรือหล่นร่วงลงมา”

ประโยคข้างต้นอยู่ในหน้าแรกๆ ของหนังสือ Die Welt im Rücken หรือ ในโลกอันแปรปรวน บันทึกของนักเขียนไบโพลาร์ ผลงานเขียนของ Thomas Melle นักเขียนที่ป่วยเป็นโรคไบโพลาร์ตามชื่อหนังสือ

เป็นเพราะอะไรไม่ทราบได้แต่เมื่อไม่นานมานี้ตอนผมเดินเข้าไปในร้านหนังสือ หนังสือเล่มนี้โดดเด่นเป็นสง่าอยู่บนชั้น อาจเป็นเพราะหน้าปกหรือคำโปรยอะไรสักอย่าง ผมหยิบหนังสือเล่มนี้พร้อมแลกเปลี่ยนกับเงินตราเพื่อเป็นเจ้าของมันอย่างรวดเร็ว

หลังจากทำความรู้จักกับตัวหนังสือสักพัก ถ้าพูดอย่างเข้าใจง่าย หนังสือเล่มนี้เล่าถึงเรื่องที่ตรงกับชื่อหนังสืออย่างชัดเจน นั่นคือโลกอันแปรปรวนของคนที่เป็นไบโพลาร์ที่อาการรุนแรงมาก เพียงแต่เมื่อเรื่องราวเหล่านั้นมาอยู่ในมือนักเขียน ทั้งหมดที่ถ่ายทอดออกมาจึงเต็มไปด้วยภาษาวรรณกรรมและการเปรียบเปรยให้เราเห็นภาพราวกับไปร่วมเห็นโลกใบนั้นกับผู้เขียนจริงๆ

ซึ่งสำหรับตัวผมเอง นี่เป็นประสบการณ์แปลกใหม่ที่สร้างความรู้สึกแปลกประหลาดภายในใจ

Y

“โลกทั้งโลกอันตรธานหายไป ทุกสิ่งถูกพัดโกยไปหมด แม้แผ่นดินไหวยังไม่อาจทำลายล้างได้เทียบเท่า เพียงแต่นี่คือการสั่นไหวในอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในตัวผมเพียงผู้เดียว และการทำลายล้างที่ครอบคลุมเบ็ดเสร็จในตัวเองก็ดำเนินไปอย่างเงียบเชียบ ไม่มีอะไรหลงเหลือดังเช่นที่เคยมีก่อนหน้า ทว่าทุกสิ่งดูเหมือนไม่ต่างกันนักถ้ามองจากภายนอก”

 

บางครั้งหนังสือก็พาตัวเรากลับไปสู่อดีต

ถ้อยคำที่ผู้เขียน ในโลกอันแปรปรวน บันทึกของนักเขียนไบโพลาร์ พรรณนาถึงสิ่งที่ตัวเองเห็นและเป็นผ่านตัวอักษรทำหน้าที่แบบนั้น แปลกดีที่สำหรับผมมันสร้างทั้งความรู้สึกดีและแย่

แย่ ในแง่ว่าบางอย่างที่เขาบรรยาย ผมรู้สึกว่ามัน ‘จริง’ เกินไป ทั้งเรื่องของความรู้สึก สิ่งที่อยู่ในหัว หรืออาการทางกายที่บกพร่อง มันจริงจนเหมือนพาผมย้อนกลับไปสู่อดีตได้จริงๆ คล้ายๆ กับการกรีดแผลเป็นที่ไม่เจ็บปวดมานานแล้วให้เกิดแผลสดขึ้นมาใหม่และค่อยๆ เชยชมเลือดที่ไหลซิบออกมาทีละนิด

อาจฟังดูซาดิสม์ แต่นั่นแหละที่นำมาซึ่งข้อดี 

ดี ในแง่ว่าบางครั้งบาดแผลเหล่านั้นก็ทำให้ผมนึกขึ้นได้ว่าตัวเราเองคือใคร ผมมีแผลตรงไหน มันมาจากอะไร และมันสร้างผมขึ้นมาอย่างไรบ้าง ที่สำคัญคือเมื่อพิจารณาความเจ็บปวดที่ถูกหยิบยกขึ้นมา ผมพบว่าเลือดที่ไหลออกมาเป็นสิ่งเดียวกับที่หล่อเลี้ยงความเป็นผมอยู่เหมือนกัน 

มันอาจจะเจ็บปวดสักนิด แต่นั่นก็เป็นความเจ็บปวดที่งดงามทีเดียว

ที่สำคัญคือเมื่อหันไป ผมเหมือนเห็นผู้เขียนกำลังยืนอยู่เป็นเพื่อน

 

X

“เราจะอธิบายให้คนอื่นเข้าใจเรื่องที่ตัวเราเองยังไม่เข้าใจได้อย่างไร จะทำให้เขารู้ได้อย่างไรว่าถึงผมจะเป็นคนทำสิ่งนั้น แต่ก็ไม่ใช่บุคคลเดียวกัน ถ้านั่นไม่ใช่ห้วงเหวในตัวผม ก็คงเป็นช่องว่างที่ผมต้องทนอยู่กับมัน”

แม้ในตอนหนึ่ง ผู้เขียนจะบรรยายถึงตัวเองด้วยประโยคที่ว่า แต่สำหรับผมแล้ว ผมคิดว่า ในโลกอันแปรปรวน บันทึกของนักเขียนไบโพลาร์ เล่าถึงโลกของผู้ป่วยไบโพลาร์ได้อย่างชัดเจนเลยทีเดียว

ถึงแม้ในเคสของผู้เขียน อาการของโรคจะอยู่ในขั้นที่รุนแรงจนบางคนอาจจินตนาการไม่ถึง แต่ถึงอย่างนั้น สิ่งที่เขาเล่าก็แฝงความคิดและความรู้สึกของตัวผู้ป่วยเป็นช่วงๆ ซึ่งตรงนี้เองผมคิดว่ามีประโยชน์ต่อทั้งผู้อ่านที่เคยผ่านประสบการณ์และผู้อ่านที่อยากจะเข้าใจ

ยกตัวอย่างหนึ่งตอนที่ผู้เขียนเล่าถึงอาการซึมเศร้าของตัวเอง เขารู้สึกว่าโลกทั้งใบแทบพังลงต่อหน้า เขาพยายามแก้ไขด้วยความสุขชั่วครั้งชั่วคราวอย่างการมีเซ็กซ์แต่ก็ไม่ช่วยอะไร สุดท้ายรู้ตัวอีกทีเขากลับจมอยู่กับเม็ดยากว่าร้อยที่อยู่ในท้องแต่โชคดีที่เพื่อนมาช่วยไว้ทัน นี่อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เราเคยได้ยิน แต่หนังสือเล่มนี้บอกเล่าผ่านคนที่กรอกยาเข้าปากด้วยตัวเอง นั่นจึงเป็นจุดที่น่าสนใจและน่าคิดต่อว่าถ้าเราเองหรือคนใกล้ตัวเจอสถานการณ์อย่างนั้น เราควรทำอย่างไร

ถ้าแนะนำได้ ผมอยากจะบอกว่าถ้ามีโอกาสอ่านหนังสือเล่มนี้ลองอ่านเป็นช่วงๆ ดู อ่านสักหนึ่งตอนแล้วหยุดพักคิดก็ได้ เพราะช่องว่างเหล่านั้นจะทำหน้าที่ทั้งช่วยให้เราได้คิดตาม รวมถึงลดทอนความหนักของเนื้อหาไม่ให้อารมณ์ของเราหม่นเกิน

คล้ายๆ กับการเชยชมกุหลาบโดยที่เราเองต้องคอยระวังหนามไม่ให้แทงมือจนเจ็บมากไป

Y

“คนที่เป็นโรคไบโพลาร์มีถึงสามชีวิตที่แยกออกจากกัน ทำสงครามต่อสู้กันและอับอายกันและกัน ได้แก่ ชีวิตที่ซึมเศร้า ชีวิตที่คลุ้มคลั่ง และชีวิตที่หายป่วยในระหว่างนั้น ซึ่งชีวิตในลำดับสุดท้ายจะไม่อาจเข้าถึงสิ่งที่ชีวิตก่อนหน้าลงมือกระทำ ยินยอม และครุ่นคิดได้”

หลังจากอ่านทุกตัวอักษรของหนังสือเล่มนี้ ผมปิดหน้ากระดาษหนังสือในกลางดึกคืนหนึ่งและนั่งนิ่งคิด

แม้หนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนจะหมิ่นเหม่ระหว่างการมีชีวิตและการจากไปตลอดเวลา แต่การพูดถึงชีวิตในแง่มุมที่ซื่อตรงที่สุดและไม่ย้อมสีให้สวยงาม นั่นก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่ทำให้หนังสือเล่มนี้สร้างความเข้าใจในมุมที่น้อยคนนักจะฟังและยินดีฟัง

ใช่ ประเด็นเรื่องจิตเวชไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ยังคงเห็นความคิดที่ดูแคลนและไม่เข้าใจคนเหล่านี้อยู่เสมอ ซึ่งสำหรับผมแล้ว ในแง่การให้ข้อมูลทางการแพทย์นั้นเป็นสิ่งที่น่าจะเพียงพอแล้ว แต่ถ้าจะมีอะไรสักอย่างที่อยากเพิ่ม ‘ความเข้าใจ’ ต่างหากคือสิ่งที่ผมคิดว่าสำคัญ และหนังสือเล่มนี้ก็ทำหน้าที่นั้นได้เป็นอย่างดี

เพราะมันคงจะดีไม่น้อยเลยที่ระหว่างการอยู่ในโลกที่มืดมิดนั้น มีมือสักคู่หนึ่งยื่นเข้ามาเพื่อบอกเราว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียว

มันคงจะดีไม่น้อยเลยที่ในโลกอันแปรปรวนนั้น เราจะจับมือผ่านไปด้วยกัน

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!