ท่ามกลางสำนักพิมพ์ที่ทยอยปิดตัวและล้มหายตายจากด้วยเศรษฐกิจถดถอย ‘จี-จีระวุฒิ เขียวมณี’ บรรณาธิการสำนักพิมพ์ Biblio ผู้ยังไม่รู้ว่าอนาคตที่แห่งนี้จะเดินไปในทิศทางไหน รู้เพียงว่าหนังสือแหวกแปลกที่เขาเฟ้นหา คอยคัดสรรแก่นจากทั่วโลกมาให้ผู้อ่านอย่างไม่เคยหยุดยั้ง วันหนึ่งจะต้องเจอคลื่นเดียวกันที่จูนติด และสะท้อนเสียงดังกลับมา คลับคล้ายคลับคลาว่าคลื่นลูกนั้นอาจมีชื่อว่า Gen Z
แม้ว่าคนรุ่นใหม่จะเติบโตมากับแสงสีฟ้ามากกว่าแสงพระอาทิตย์ มีครูคนแรกชื่อกูเกิ้ล แต่กลับเป็นแรงสำคัญที่ช่วยผลักดันวงการหนังสือให้ไปไกลกว่าเดิม และคงความหอมของกลิ่นกระดาษไว้ไม่เลือนหาย
ถ้าใครสิงอยู่ในโลกออนไลน์บ่อยๆ ก็คงจะเห็นคอมมิวนิตีหนังสือที่ช่วยกันป้ายยาว่าเล่มนี้เจ๋ง ปกนี้อย่างเท่ บ้างหยิบประเด็นสังคมที่สอดแทรกในหนังสือมาถกเถียง บ้างพูดคุยทอดยาวถึงแก่นที่หนังสือสื่อสารด้วย ความกล้าที่ไม่ได้บ้าบิ่นในการแสดงความเห็นอย่างเปิดใจช่วยให้กองหนังสือและคนทำหนังสือมีความหมาย
คอลัมน์ Q & a day ครั้งนี้ เราจะพาเข้าสู่บทสนทนาที่มั่นใจได้เลยว่าคนรักหนังสืออยากรู้และจะไม่ปล่อยให้คลาดสายตาแม้ตัวอักษรเดียว

“มหกรรมงานหนังสือในศักราชใหม่”
งานหนังสือในมุมมองของคนทำสำนักพิมพ์ทุกวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง
รูปแบบของงานชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่หลังยุคโควิดก็กลับมาจัดที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เกิดการรีโนเวตใหม่ๆ ที่สร้างภาพจำให้ว่า ถ้าจะมางานหนังสือไม่ว่าจะต้นปีหรือท้ายปีก็ต้องนั่งรถใต้ดินมาที่นี่ คุณจะได้พบเจอกับทุกสำนักพิมพ์พร้อมหนังสือใหม่หรือคอนเทนต์บางอย่างที่น่าสนใจ
ในงานรอบล่าสุดผู้จัดงานก็มีความตั้งใจมากที่จะสร้างสรรค์งานออกมาให้น่าสนใจ มีไอเดียที่ดึงดูดคนอ่านรุ่นใหม่ๆ เข้ามาได้ ตัวสำนักพิมพ์ก็พยายามสื่อสารกับคนอ่านรุ่นใหม่หรือทั้งคนอ่านที่เป็นแฟนคลับเดิมของตัวเองก็ด้วย ให้พวกเขามาพบเจอกันที่งานหนังสือมากขึ้นเพื่อจะได้สื่อสารกัน
งานหนังสือทำให้คนทำหนังสือกับคนอ่านได้สื่อสารกันมากขึ้น อย่าง Biblio เองก็ไม่ได้ทำแค่หนังสือ เราทำหลายอย่างกับพาร์ตเนอร์ต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับคนอ่าน นอกจากจะได้รู้หนังสือแล้วยังได้สำรวจเรื่องราวของตัวเองผ่านวงสนทนาไปด้วย
ในมุมมองของคุณช่วงนี้นิยายแปลแนวไหนที่ได้รับความนิยมบ้าง
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ ถ้าวรรณกรรมฝั่งเอเชียก็จะเป็นแนวสืบสวน ฆาตกรรม เรื่องผีที่ได้รับความนิยม อย่างเราเองก็มีไตเติ้ล ‘บ้านวิกลคนประหลาด’ ที่คนอ่านให้ความสนใจมาก มันค่อนข้างมาแรง หลายสำนักพิมพ์ก็มีไตเติ้ลแบบนี้ออกมากันอย่างสม่ำเสมอ เราเองก็ไม่ได้ทันกระแสขนาดนั้น ก็ทำตอบโจทย์ตลาดเหมือนกัน รองลงมาก็จะเป็นแนว Slice of life พูดเรื่องชีวิต ติดดิน เรื่องราวแนว Normal life แต่ให้แง่มุมการใช้ชีวิตในด้านบวก ขณะเดียวกันก็สะท้อนความทุกข์ของผู้คนออกมาด้วย ซึ่งเมื่อก่อนได้รับความนิยมสูงมาก ตอนนี้ตลาดอาจจะเล็กลงมาบ้างแต่ก็ยังมีคนอ่านอยู่ แต่แนวทางเลือกอื่นๆ เช่น กลุ่มวรรณกรรมคลาสสิก ที่ตั้งคำถามที่น่าสนใจกับชีวิต งานไซไฟแฟนตาซีก็ยังมีฐานคนอ่านเหนียวแน่น งานเหล่านี้ก็เข้ามาสอดแทรกอยู่ในบรรยากาศของการอ่าน
จุดแข็งของนิยายแปลคืออะไร
นิยายแปลบ้านเรามันมีสเปกตรัมค่อนข้างกว้าง เราจะมองแค่สำนักพิมพ์ที่ได้รับการพูดถึงบ่อย แต่มีสำนักพิมพ์อีกมากที่ทำงานวรรณกรรมหลากหลายและแตกต่าง โดยเฉพาะสำนักพิมพ์น้องใหม่ที่มีงานแปลเชิงสังคมน่าสนใจ กระแสหลักของนิยายตอนนี้มันเทไปทางสืบสวนเข้มข้น ไขปริศนาฆาตกรรม ความตายที่ต้องหาคำตอบ แต่ในขณะเดียวกันหลายสำนักพิมพ์ก็ยังทำงานอีกด้านออกสู่ตลาดไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรมญี่ปุ่นสะท้อนสังคม ตั้งคำถามเรื่องความหมายการมีชีวิตอยู่ เชิงปรัชญา หรือนิยายแปลตะวันตกที่เอาวรรณกรรมเก่ามาเล่าใหม่ มีสำนักพิมพ์น้อยใหญ่ที่ทำวรรณกรรมทางเลือก แล้วมันอยู่ใน Visual ที่ดี มีที่ทางในตลาด ในภาพรวมตอนนี้ความหลากหลายมันเข้ามาจอยกับตลาดมากขึ้น เพียงแต่มันจะคงที่แค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับตัวสำนักพิมพ์ ในภาพรวมคนอ่านสนใจนิยายที่ตั้งคำถามกับชีวิตและความตายมากยิ่งขึ้นผ่านประเภทของนิยายต่างๆ

มีข้อสังเกตว่านอกจากในหนังสือแล้ว ศาสตร์แทบทุกแขนงที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจในเรื่องความตายหรือเรื่องลึกลับ คุณคิดว่ามันมีนัยแฝงอะไรไหม
เรารู้สึกว่าเกิดการตั้งคำถามในเชิงอภิปรัชญามากขึ้น สะท้อนเรื่องความเหลื่อมล้ำซ้อนทับทางสังคมมากขึ้นผ่านเรื่องราวที่น่ากลัว สยองขวัญหรืออะไรก็ตาม ไม่ได้ตั้งใจให้เรากลัวแล้วจบไปนะ อย่างซีรีส์เรื่อง ‘Squid game’ ที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำของชนชั้น พอเล่าผ่านหนังมันทำให้คนเข้าถึงง่ายขึ้น แล้วค่อยๆ ซึมซับจนเกิดการตั้งคำถามถึงมันขึ้นมา
คนหนุ่มสาวในยุคปัจจุบันเจอแต่ปัญหาที่ไม่มีทางออก เราหันไปมองการเมือง เราเคยอยู่ในจุดที่ส่งเสียงความเปลี่ยนแปลงออกไปแต่มันก็ไม่เกิดขึ้น หรือเราเจอข่าวอุบัติภัย ข่าวน่าสลดที่ทำให้ผู้คนเสียชีวิต พอสืบลึกลงไป มันก็เป็นปัญหาโครงสร้างทางสังคม เหมือนว่าเราไม่มีทางออกจากหลุมแห่งความสิ้นหวังนี้ได้ ไม่ว่าเราจะไปใช้ชีวิตอยู่ในจุดไหนของสังคม ทางออกเดียวที่อยู่ในสำนึกของเราก็คือความตาย มันคือประตูที่จะออกจากสังคมได้
ไม่ได้หมายความว่าเด็ก Gen Z หมกมุ่นกับความตาย แต่มันอาจจะเป็นสัญญะของเขาที่มันออกมาจากความคิดเชิงลึก ความตายมันอาจจะเป็นประตูเดียวที่ไม่ต้องเผชิญหน้ากับอำนาจที่เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงมันได้ ประตูแห่งความตายพอมันเปิดออกไปแล้วมันเท่าเทียมกันหมดไม่ว่าคุณจะมีความเชื่อแบบไหนก็ตาม แต่ขณะเดียวกันความตายมันก็เป็นประตูที่จะนำไปสู่การเกิดใหม่ มันอาจจะไม่น่าแปลกใจที่ไอเดียของคนรุ่นนี้พูดถึงเรื่องความตายค่อนข้างเยอะ

ปัญหาที่มันเกิดขึ้นกับการเติบโตของคน Gen นี้ ถ้าเราส่องเข้าไปในโซเชียลเราก็จะเห็นปัญหาพื้นฐาน เช่น เราทำงานกับบริษัทนี้ไม่ได้ เราจะรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมในหลายเรื่อง หรือโลกการทำงานที่กติกาดูไม่แฟร์กับคนหน้าใหม่ที่เข้าไป Gen Z กล้าตั้งคำถามกับความไม่เป็นธรรมเหล่านี้ อย่างที่คุยไปว่าพอจะแก้ทีละเปลาะมันก็จะไปติดที่โครงสร้าง เราก็ทดท้อ กำลังใจก็หายไป มันถูกบีบให้ไปเลือกทางอื่น แม้เราจะมองเห็นว่าชีวิตคนอื่นเองก็มีปัญหาเหมือนกัน แต่สุดท้ายแล้วเราก็อยากจะเป็นคนที่รอดจากปัญหาเหล่านั้นให้ได้ แต่จะรอดได้ไหม ลำพังเราคนเดียวอาจไม่เพียงพอที่จะเอาชนะโครงสร้างทางสังคมที่มันสะสมปัญหามาหลายชั้นอย่างยาวนาน ผมว่ามันเป็นภาระทางความรู้สึก ทางความคิดของคนรุ่นนี้พอสมควร
หวังเพียงอย่างเดียวว่าหนังสือสักเล่มที่ทำออกมา อย่างน้อยเล่มหนึ่งจะช่วยให้พวกเขาผ่านช่วงยากๆ ไปได้ หนังสือจะช่วยเป็นโมเดลความคิดให้อดทนกับโลกใบนี้ต่อไปได้ อดทนรอสิ่งที่เราเรียกร้องและต้องการให้มันเกิดขึ้น เราต้องมีกำลังใจที่ยาวนานและแข็งแรงมากๆ ที่จะอยู่ไปถึงวันนั้น หนังสือที่เราอ่านในแต่ละช่วงวัยเป็นจุดสตาร์ตที่ดีว่าเราจะเติบโตมาเป็นคนแบบไหนและมีทางเลือกในการเป็นคนที่อยากจะเป็นมากขึ้น

“สำนักพิมพ์เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และยังไม่ดับไป”
ช่วงโควิดมีหลายสำนักพิมพ์หรือร้านหนังสือที่ทยอยปิดตัวไป ถ้าเทียบกับตอนนี้นับว่ามันนิ่งขึ้นหรือมีสำนักพิมพ์เกิดใหม่มากน้อยขนาดไหน
ต้องแยกเป็น 2 ประเด็น ถ้าร้านหนังสือก็อาจจะมีเงื่อนไขอีกแบบ อย่างเศรษฐกิจในปัจจุบันก็มีผลต่อสภาพความคล่องของร้านหนังสืออิสระ หลายร้านอาจจะต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อรักษาลูกค้าตัวเองไว้ ร้านหนังสืออิสระเหมือนเป็นชายหาดที่ต้องรับแรงคลื่นลูกแรกแล้วก็ต้องปรับตัว ทำงานหนักขึ้นเพื่อให้คนอ่านเข้าถึง และยังต้องสร้างคาแรกเตอร์ของร้านเพื่อให้แตกต่างและสร้างฐานคนอ่านของตนเอง หลายร้านก็ต้องเผชิญสถานการณ์ที่เข้มข้นขึ้นในปีนี้ไม่ต่างกัน ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มคนที่อาจจะเริ่มจากคนอ่านหรือคนทำหนังสือที่ผันตัวมาจากองค์กรใหม่ๆ ที่ออกมาทำร้านหนังสืออิสระ เขาอยากจะบอกเล่าหนังสือในแบบของเขาเอง ไม่มีใครทำแบบนี้ฉันก็ลุกขึ้นมาทำ มันมีบรรยากาศแบบนี้เกิดขึ้น กระบวนการทำหนังสือตอนนี้มันไม่ได้ยากเหมือนแต่ก่อน ทุกคนสามารถทำหนังสือของตัวเองได้ เพียงแต่วิธีการคราฟต์หนังสือของตัวเองก็จะแตกต่างกันไป
คิดว่าอะไรที่ทำให้สำนักพิมพ์ Biblio อยู่มาได้จนถึงตอนนี้ ท่ามกลางสำนักพิมพ์ที่ล้มหายตายจาก
เราพยายามมากๆ ที่จะทำหนังสือที่มีสไตล์ในแบบของเราเอง ในขณะเดียวกันก็ต้องทำธุรกิจให้แข็งแรง เราทำหนังสือที่แตกต่างหลากหลาย แต่ก็ต้องทำให้มันขายได้ด้วย คิดว่ามันคือการต้องรักษาบาลานซ์ให้ได้ เราทำหนังสือที่คำนึงถึงคนอ่านค่อนข้างเยอะ ให้ความสำคัญกับรายละเอียดต่างๆ ให้คนอ่านได้รับประสบการณ์เต็มที่ ไม่ใช่เราไม่เคยผิดพลาด ไม่เคยล้มเหลว แต่เราก็พยายามปรับปรุง ทำงานชิ้นใหม่ ทำงานต่อไป ทั้งเรื่องคุณภาพ การออกแบบ ที่สำคัญคือคุณค่าของเรื่องที่นำมาแปล ว่าเรื่องราวที่เราอยากเล่ายังพอไปกันได้กับวิสัยทัศน์ของคนอ่าน
ตอนนี้เราพยายามวางรากฐานของหนังสือที่เราทำในนาม Biblio ทั้งนิยายแปลฝั่งเอเชียจากสำนักพิมพ์ Bibli, นิยายแปลตะวันตกจากสำนักพิมพ์ Beat และหนังสือ Non-fiction ต่างๆ จากทั่วโลกที่น่าสนใจผ่านสำนักพิมพ์ Being ใน 3 โครงสร้างนี้เราพยายามจะวางหน้าตาของหนังสือให้มันชัดเจนและแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ ก็มีลองผิดลองถูกบ้าง แต่เราคิดว่าภาพรวมของแบรนด์ที่ผ่านมาโดยเฉพาะตัวเราเองที่สื่อสารผ่านงานหนังสือก็พยายามทำออกมาได้ดีขึ้นๆ ในแต่ละครั้ง มีการเชิญนักเขียนเช่น กาย วินช์ (Guy Winch) เจ้าของหนังสือ Emotional First Aid ซ่อมแซมสุขที่สึกหรอ และ How to fix broken heart ซ่อมแซมใจแล้วไปต่อ เป็นแนวจิตวิทยาดูแลจิตใจตนเอง คือเราเป็นสำนักพิมพ์ขนาดเล็กแต่เราอยากจะลองทำอะไรที่มันชาเลนจ์ตัวเราในแง่ที่ว่าสำนักพิมพ์ทีมเล็กแบบเราจะสามารถเชิญนักเขียนจากอเมริกามาที่เมืองไทยได้ไหม มันทำให้เราเชื่อมั่นว่าหนังสือที่เราทำหรือว่านักเขียนที่เราชอบ คนที่เราสนใจในความคิดของเขามากๆ ยังพูดเรื่องเดียวกันอยู่ ทั้งตัวหนังสือที่เราทำงานกับเขาและตัวเราเองที่สื่อสารสิ่งที่เขาเขียนออกมา เราคิดว่าแอตติจูดมันตรงกัน เพราะเขาก็จะรู้สึกว่าสิ่งที่เราตัดสินใจในฐานะ Publisher ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มันถูกต้องนะ
เราเลยรู้สึกว่าโอเค Biblio โตขึ้นมาอีกขั้นแล้ว มั่นใจได้แล้วว่าเราเป็นสำนักพิมพ์ที่มีเรื่องราวจะเล่าเยอะมาก แม้ว่าเราจะไม่ได้ทำหนังสือภาษาไทยแต่เราก็มีเรื่องราวของหนังสือแปลดีๆ ที่อยากจะถ่ายทอดให้คนจดจำเราได้ว่า เราเป็นสำนักพิมพ์แบบไหน

“Gen Z ปลุกหนังสือให้ตื่นจากการ (เกือบ) หลับใหล”
การที่เด็ก Gen Z กลับมากระตุ้นการอ่านหนังสือมากขึ้น ช่วยเปิดมุมมองอะไรบ้าง
มันมีหลายปัจจัยที่ทำให้ Gen Z กลับมาอ่านหนังสือเล่ม มันคือประสบการณ์จริง ประสบการณ์ตรงที่เขาสัมผัสได้จากการอ่าน ภาวะในการสำรวจตัวเองจากการอ่านมันจะเกิดขึ้นต่อเมื่อเราใช้เวลากับหนังสือเล่มหนึ่ง ถ้าผมบอกว่าอ่านเล่มนี้จะได้ความรู้สึกนี้ แต่ความจริงแล้ว พอเขาอ่านเองก็จะเข้าถึงประสบการณ์ส่วนตัวแบบที่ใครบอกก็ไม่มีทางเหมือนกัน มันทำให้เราได้ขบคิด ค้นพบสิ่งต่างๆ มากขึ้น ผมว่าคน Gen Z โหยหาเพราะทุกวันนี้เราใช้ชีวิตอยู่บนหน้าจอ มันลดทอนขั้นตอนที่จะออกไปสัมผัสประสบการณ์ชีวิต คน Gen Z ในปัจจุบันอยากหาประสบการณ์ชีวิตที่มันแตกต่างและหลากหลายแบบที่โลกดิจิทัลก็ให้เขาไม่ได้ หนังสือเล่มเลยเป็นชอยซ์หนึ่ง เหมือนการไปดูคอนเสิร์ต ดูหนังในโรงภาพยนตร์ ไปเที่ยวต่างประเทศ การอ่านรวบก็สามารถรวบย่อประสบการณ์บางอย่างให้กับคน Gen Z ได้
คนรุ่นใหม่อาจอยู่กับดิจิทัลมาตั้งแต่ 10 ขวบ พอนานเข้าก็ทำให้รู้สึกหลงไปเหมือนกัน ตัวเราเองเวลาปิดเครื่องมือสื่อสารทุกอย่าง ปิดคอมพิวเตอร์ โซเชียลมีเดีย แล้วเราเป็นใครล่ะ เวลาเราอยู่ในโลกโซเชียล เราสื่อสารตัวเองออกไปเพราะอยากให้ส่วนใดส่วนหนึ่งของเรามีคนนิยม ชอบเรา กดไลก์เรา หรือมองเราผ่านตัวตนอีกแบบหนึ่งในโลกออนไลน์ แต่ถ้าไม่มีเครื่องมือเหล่านั้นแล้วเราเป็นใคร ผมว่าคนรุ่นใหม่ตั้งคำถามกับเรื่องนี้เยอะว่าเราเป็นใครกันแน่ เราต้องการอะไร เราจะทำอะไร แล้วเราจะรู้ได้ยังไง ส่วนหนึ่งของคำตอบอาจอยู่ในหนังสือ การอ่านหนังสือมันช่วยให้เราเห็นแนวทางบางอย่าง ทำให้เรารู้ว่าเติบโตขึ้นไปเพื่อจะเป็นใคร หรือกระทั่งเรื่องง่ายที่สุดว่าพรุ่งนี้เราจะออกไปทำอะไร หนังสือบางเล่มมัน Inspired ได้ การที่ต้องพยายามถอยห่างจากหน้าจอของคนรุ่นใหม่เพื่อหาประสบการณ์จริง หนังสือก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยไกด์ แต่ไม่ได้ถึงขั้นเป็นไบเบิ้ลนะ แค่แนะแนวทางให้

“Culture ที่โคตรจะมี Movement”
พฤติกรรมคนอ่านมีความสนใจหลากหลายและลงลึกมากขึ้นหรือ Niche มากขึ้นไหม
อาจจะไม่ใช่คำว่า Niche ที่หมายถึงกลุ่มเล็กๆ ในตรอกซอกซอย แต่มันเป็นคอมมิวนิตีที่ส่งเสียงได้ดังขึ้น เหมือนเราไปงานแฟร์สักงานที่มีแต่คนสนใจเรื่องเดียวกัน รวมตัวกันสร้างวัฒนธรรมการอ่านขึ้นมาเพื่อดึงดูดคนที่กำลังอยากอ่านอะไรแตกต่าง แล้วคอมมิวนิตีเหล่านี้มันก็ดูจะแข็งแรงขึ้น เราเริ่มเห็น TikToker, Bookstagram ที่เขาเอาหนังสือมาพูดคุยในคอมมิวนิตีของเขา เหมือนเป็นการส่งต่อกันว่ามันมีหนังสือน่าสนใจแบบนี้เกิดขึ้นนะ หนังสือหลายเล่มที่ถูกพูดถึงก็ไม่ใช่หนังสือเมนสตรีม แต่ได้รับความนิยมสูงขึ้นมาจากการบอกต่อ ซึ่งถ้าไม่แปะโลโก้ก็คิดว่ามาจากสำนักพิมพ์ใหญ่แบบนั้นได้เลย เพราะ Visual หนังสือแทบไม่แพ้กัน
ปกหนังสือนับเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่หรือเปล่า
มันก็เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้คน Gen Z หันมาสนใจหนังสือเล่ม แต่มันไม่ใช่เหตุผลหลัก ผมมองว่ามันเป็นบรรยากาศด้านบวกทางศิลปะ ต้องบอกว่าคนทำหนังสือใน Gen นี้ทุกคนก็เติบโตมากับงานดีไซน์ที่น่าสนใจ พอวันหนึ่งคนทำหนังสือได้เข้ามามีส่วนในการสร้างศิลปะผ่านปกของหนังสือ ทุกคนก็เลยใส่กันเต็มที่ บรรณาธิการหลายคนก็มีมุมมองเรื่องนี้ กลายเป็นบรรยากาศเชิงบวกแบบคนทำหนังสือ ทำหนังสือให้เข้ากับบรรยากาศของสำนักพิมพ์ตัวเอง
ทั้งนี้ คนทำหนังสือก็ไม่ได้มองว่ามันเป็นแค่กระดาษที่ใช้เล่าเรื่องราวแล้วจบไป แต่เขามองว่ามันคือ Commercial art ที่มีคุณค่ากับคนอ่านและคนทำ ปกของ Biblio ก็พยายามจะท้าทายตัวเอง ทั้งวิธีคิด วิธีออกแบบ วิธีทำงานที่จะสร้างภาพใหม่ๆ โชคดีที่ Graphic design บ้านเราจำนวนมากเป็นนักอ่าน เขาสามารถถอดองค์ประกอบสำคัญแล้วเอามาตีความเป็นรูปแบบ Visual art ของปกหนังสือ มันไม่ง่ายนะถ้าคุณไม่อ่านหนังสือเลย ถ้าคุณไม่รู้โครงสร้างของหนังสือ คุณจะถอดไวยากรณ์ 300 กว่าหน้าให้ออกมาใน 1 ภาพได้ยังไง เพราะมันตีความเป็นล้านๆ แบบ แต่อะไรจะเป็นแบบที่ถูกต้องที่สุด และตรงใจกับคนอ่าน รวมถึงบรรณาธิการ เพราะคนทำงานให้ความสำคัญกับหนังสือเหมือนกันมันจึงเกิดการผลักดัน สะท้อนตัวตนของนักออกแบบ สะท้อนหัวใจของหนังสือเล่มนั้นออกมา แล้วยังคงคาแรกเตอร์ของสำนักพิมพ์นั้นไปได้ด้วย

Gen Z ทำให้หนังสือเกิดความเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมยังไง
อย่างช่วงที่การเมืองพีกมาก หนังสือบางเล่มพูดถึงเนื้อหาทางการเมืองในแบบที่สื่อทั่วไปไม่ได้พูดถึง มันก็ได้รับความนิยม คนรุ่นใหม่ก็ Hype กันขึ้นมา จะอ่านจบหรือไม่จบแต่อย่างน้อยเขาก็ได้ซึมซับว่าไอเดียการเมืองที่เขาอยากจะเปลี่ยนมันเป็นยังไง แล้วมันก็สะท้อนผ่านการเลือกตั้ง หนังสือเป็นเหมือนสะพานเชื่อมไปสู่สิ่งที่เขาอยากจะเห็นในสังคม หนังสือก็เป็น Culture movement ที่มันสร้างอิมแพ็กให้กับสังคมได้ นี่ก็เป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไมหนังสือถึงฟื้นกลับมา
โซเชียลมีเดียก็ช่วยสร้างคอมมิวนิตีของคนอ่านขึ้นมา อย่างเราเข้า Instagram ก็จะเห็น Bookstagram เต็มไปหมด บางเรื่องมันอาจจะเป็นกระแสหรือ Fast fashion แต่ผมมองว่าการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อรีแคปเนื้อหาบางอย่างของหนังสือ มันกระตุ้นคนทั่วไปที่ใช้โซเชียลมีเดียให้หันมาสนใจหนังสือมากขึ้น หันไปซื้อหนังสือเล่มมากขึ้น พฤติกรรมของตัวนักเขียนหรือ Influencer ที่เข้าไปอยู่ในนี้ก็เป็นปัจจัยสำคัญไม่แพ้กัน
ผมเห็นหนังสือของ Biblio ถูกอ่าน มีคนเล่าใน TikTok เยอะเลยรู้สึกว่าอิมแพ็กของวิธีที่เขาพูดถึงหนังสือเรามันแข็งแรงและมันก็ตรงประเด็นกับคนอ่านในโลกออนไลน์ด้วย หลายครั้งก็เข้าไปศึกษาวิธีสื่อสารเขาเหมือนกันและเอามันมาปรับใช้ Content creator ของ Biblio ก็เป็น Bookstagram เหมือนกัน เราถึงได้วิธีคิด วิธีสื่อสารหนังสือผ่านโซเชียลมีเดียจากเขา มันทำให้หนังสือเราดูสวยงามขึ้น ชัดเจนขึ้น คีย์เวิร์ดบางอย่างในหนังสือมันถูกเอามาใช้อย่างตรงไปตรงมามากขึ้น การได้ร่วมงานกับ Bookstagram คนอื่นๆ ก็ช่วยให้เรามองเห็นวิธีที่จะสื่อสารหนังสือออกไปมากขึ้น

“ปัจจุบันกาลของ Biblio”
สิ่งที่สำนักพิมพ์ Biblio โฟกัสในอดีตเป็นหลักกับตอนนี้มันเปลี่ยนไปยังไงบ้าง
ผมทบทวนกับตัวเองเกี่ยวกับสำนักพิมพ์ Biblio หลายเรื่องมาก ที่ผ่านมาเราทำหนังสือเยอะมาก ตอนนี้น่าจะเกินร้อยกว่าเล่มแล้ว แม้ว่าเราพยายามจะสื่อสารหนังสือให้ครบถ้วน แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีหนังสือหลากหลายออกมา ข้อมูลมันเยอะมาก รู้สึกว่าคนอ่านหลายๆ คนก็อาจจะพลาดบางอย่างกับหนังสือที่เราทำไป ปีหน้าจะเป็นการโฟกัส Storytelling ของหนังสือเรามากขึ้นว่าเราจะสื่อสารอะไร เล่าอะไรกับคน เราก็จะทำหนังสือเหมือนเดิม พยายามหาไตเติ้ลที่น่าสนใจและแตกต่างเพิ่มเติมขึ้น แต่งานที่เป็นกระแสในตลาดก็ยังทำเหมือนกัน
งานอีกพาร์ตที่มันคู่ขนานกันไปคือ การสื่อสารหนังสือในเชิงลึกมากขึ้น บางครั้งเรารู้สึกว่า 360 องศาของหนังสือเล่มหนึ่งมันยังไม่ได้ถูกบอกเล่าไปครบเลย เราอยากบอกเล่าหนังสือให้รอบด้านมากขึ้นเพื่อให้แง่มุมของหนังสือมันถูกกระจายออกไป คนอ่านบางคนที่ผ่านมาเห็นจะได้แบบ เอ๊ะ! หนังสือเล่มนี้มีเรื่องแบบนี้ด้วยเหรอ ไม่งั้นการทำหนังสือมันก็จะเป็นสายพานการผลิตที่จบเล่มนี้ก็ต้องกระโดดไปเล่มต่อไปไม่สิ้นสุด บางครั้งเรารู้สึกว่าคนอ่านหลายคนยังไม่ทันได้ทำความรู้จักหนังสือเราดีเลย

เป้าหมายที่อยากจะทำหลังจากนี้หรืออยากลองทำ
ที่ผ่านมาเราลองเยอะ ทั้งจัดมินิอีเวนต์ เชิญนักเขียนจากต่างประเทศมา Exclusive talk กับเราโดยเฉพาะ แต่สิ่งที่จะทำต้องเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมการอ่าน มันมีหลายอย่างที่เราอยากทำ เราอยากเข้าไปอยู่ร่วมกับคอมมิวนิตีของนักอ่านให้มากขึ้น อยากจะทำหนังสือและสื่อสารเรื่องราวของมันให้เข้มข้นกับคนอ่านมากขึ้น ส่วนหลังจากนั้นก็ต้องเฟ้นหาไอเดียกันต่อไป ผมไม่อยากวาดฝันไกล เราอยู่ในธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์มานานร่วม 20 ปีแล้ว แก่เนอะ (แต่ผู้เขียนว่าเขายังดูวัยรุ่นทุ่นแรงอยู่นะ)
มันมีวงจรของการล้มหายตายจาก มันทำให้ผมระมัดระวังที่จะก้าว ถ่อมเนื้อถ่อมตัว ปรับปรุงให้ดีกว่านี้ ทำให้สำนักพิมพ์สมบูรณ์แบบมากขึ้น ถ้าเราทำพื้นฐานเหล่านี้ให้มันเป็นวิถี เป็นปรัชญาหนึ่งของการทำงานเราได้ ผมคิดว่าจุดที่เราอยากจะทำอะไรต่อมันจะออกมาเอง
ผมแค่ยังอยากทำอะไรให้คนอ่านได้สนุกและตื่นเต้นกับมันไปด้วย

Biblio ยังดูเป็นสำนักพิมพ์ที่สดใหม่ แม้ว่าจะผ่านการตัดโบแดงมาจนเข้าปีที่ 5 แต่เพราะสไตล์ของหนังสือแหวกแนว ความคิดที่หมุนไปตามโลก ทีมที่แข็งแรง และแก่นแท้ของหนังสือที่กุมหัวใจผู้อ่านไว้ ทำให้รากแทบจะไม่สั่นคลอนไปตามความท้าทายของโลกธุรกิจ ถ้าใครยังไม่เคยชิมลางหนังสือของสำนักพิมพ์นี้ ลองประเดิมสุ่มมาสักเล่มดูสิ แล้วจะได้สัมผัสกับคำว่าตกหลุมรัก (หนังสือ) เผลอๆ อาจจะถอนตัวไม่ขึ้นจนมีกองดองของสำนักพิมพ์อื่นมาร่วมตั้งขนาบจนสูงเกือบเพดานไม่แพ้กันแน่ๆ
ส่วนผู้เขียนขอไปปัดฝุ่นเล่มที่เหลือก่อนนะ เพราะต้องรีบไปเดินมหกรรมหนังสือประจำปี 2568 แล้ว!