Unfinished Berlin, I Love You ตกหลุมรักเบอร์ลิน เมืองที่สร้างเท่าไหร่ก็ไม่เสร็จ

Highlights

  • เบอร์ลินเป็นเมืองหลวงและรัฐหนึ่งใน 16 รัฐสหพันธ์ของประเทศเยอรมนี นับแต่วันที่กำแพงเบอร์ลินล่มสลาย ท้องฟ้าของเบอร์ลินก็เต็มไปด้วยเครน
  • ในโลกที่ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ยังมีเมืองที่งัดกับโลกแก่ๆ ใบนี้ด้วยการเป็นสวรรค์ของคนรุ่นใหม่ เบอร์ลินเป็นหนึ่งในไม่กี่เมืองนั้น นี่อาจเป็นข้อดีของการถูกทำลายเพื่อสร้างทุกอย่างขึ้นใหม่ก็เป็นได้
  • ไม่ว่าคุณจะเป็นนักท่องเที่ยวสายหลักหรือสายทางเลือก และไม่ว่าจะสนใจประวัติศาสตร์ เมือง สถาปัตยกรรม หรือความยั่งยืน เบอร์ลินคือชอยส์แรกๆ ที่คุณต้องมาเยือน

นับแต่วันที่กำแพงเบอร์ลินล่มสลาย ท้องฟ้าของเบอร์ลินก็เต็มไปด้วยเครน

มันเป็นอย่างนั้นมาจนถึงวันนี้ น่าแปลกที่มันไม่ทำให้รำคาญสายตา หรือสะท้อนความรู้สึกไม่จบไม่สิ้น แต่กลับไปด้วยกันได้เป็นอย่างดีกับความรู้สึกสดใหม่ สบายๆ ที่อยู่ในบรรยากาศ

ในโลกที่ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ยังมีเมืองที่งัดกับโลกแก่ๆ ใบนี้ด้วยการเป็นสวรรค์ของคนรุ่นใหม่ เบอร์ลินเป็นหนึ่งในไม่กี่เมืองนั้น นี่อาจเป็นข้อดีของการถูกทำลายเพื่อสร้างทุกอย่างขึ้นใหม่ก็เป็นได้

เมืองหลวงเก่าเมืองหลวงใหม่

ท่ามกลางโครงการสร้างใหม่มากมายหลังการรวมประเทศ คืออาคารรัฐสภาที่เรียกกันว่าอาคารไรชส์ทาก (Reichstag) แม้จะพูดไม่ได้ว่าสร้างขึ้นใหม่หมดจดร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่คงไม่ผิดหากจะบอกว่ามันคือโครงการฟื้นคืนสิ่งที่ถูกทิ้งให้เป็นซากเพื่อเริ่มต้นอนาคตกันใหม่

และเอาเข้าจริงอาจเป็นเรื่องราวของไรชส์ทากเองที่บอกเล่าทุกอย่างได้ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ ปัจจุบัน หรือกระทั่งอนาคตของเบอร์ลิน

ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์เพลิงไหม้ที่กลายเป็นข้ออ้างให้ฮิตเลอร์สยายอิทธิพลนาซีจนกู่ไม่กลับ, การเป็นที่ทำการของรัฐสภาที่แข็งแกร่งที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในปัจจุบัน หรือการเป็นสถาปัตยกรรมแห่งอนาคตที่รังสรรค์โดยปรมาจารย์ทางสถาปัตยกรรมของโลก

ประวัติศาสตร์ของอาคารไรชส์ทากเริ่มต้นขึ้นเมื่อพระเจ้าวิลเฮล์มที่ 1 แห่งปรัสเซีย และเสนาบดีคนสำคัญคือ Otto von Bismarck ทำการรวมชาติเยอรมันขึ้นเป็นจักรวรรดิเยอรมันในปี 1871 โดยมีโครงการก่อสร้างสภาแห่งนี้เป็นหนึ่งในโครงการสัญลักษณ์ของจักรวรรดิ ผ่านการก่อสร้างอันยาวนาน เมื่อถึงปี 1894 มันก็ได้รับการใช้งานในที่สุด

แต่อายุการใช้งานก็ถือว่าไม่นานเลย เพราะเมื่อถึงปี 1933 อาคารแห่งนี้ก็ถูกเผาจนเสียหายอย่างหนัก

ความเสียหายจากการถูกเผาทำลายอาจไม่เท่าความเสียหายจากการที่เพลิงในใจของผู้คนที่โกรธแค้นถูกฮิตเลอร์ใช้เป็นความชอบธรรมในการประกาศกฎอัยการศึก กำจัดศัตรูทางการเมือง และแผ่อิทธิพลของนาซี และจนถึงวันนี้โลกก็ยังไม่แน่ใจว่าใครเป็นตัวการที่แท้จริง

รู้เพียงแต่ว่ามันเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่สร้างประวัติศาสตร์สำคัญให้กับโลก

ผ่านกาลเวลาและการเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์โลกอีกมากมาย ไรชส์ทากกลับมาอยู่ในสปอตไลต์อีกครั้ง เมื่อเยอรมนีรวมประเทศเข้าด้วยกันในปี 1990 ตามมาด้วยข้อสรุปว่าจะใช้เบอร์ลินเป็นเมืองหลวง (ก่อนหน้านั้นเยอรมนีตะวันตกใช้กรุงบอนน์เป็นเมืองหลวง) และสถาปนิกระดับโลกอย่าง Norman Foster ได้รับการว่าจ้างให้ปลุกชีวิตอาคารแห่งนี้ขึ้นใหม่

แม้แบบแปลนแรกจะถูกปัดตกเพราะความอลังการที่เป็นต้นทุนการก่อสร้างสูงลิ่ว แต่อาคารรัฐสภาที่ได้รับการตกแต่งใหม่ให้มีหน้าตาแบบนีโอเรอเนซองซ์อย่างเดิม เพิ่มเติมคือโดมแก้วซึ่งมาแทนที่โดมเก่าที่ถูกทำลาย ก็กลายเป็นการตอบข้อสอบที่ได้ร้อยคะแนนเต็ม

หรืออาจจะมากกว่านั้น เพราะโดมแก้วที่ออกแบบให้มีทางเดินไล่ขึ้นไปเป็นวงให้มองเห็นเบอร์ลิน 360 องศา และเมื่อมองทะลุลงมาด้านล่างเป็นห้องประชุมรัฐสภานั้นก็คือตัวแทนของ ‘ความโปร่งใส’ สิ่งที่ถือเป็นหัวใจสำคัญในการบริหารประเทศแห่งนี้

และเพราะเป็นเซอร์นอร์แมน ฟอสเตอร์ เจ้าพ่อการใช้สถาปัตยกรรมอนาคตสร้างอาคารที่ประหยัดพลังงานมาตั้งแต่สมัยที่คำว่ายั่งยืนยังเป็นวุ้น การปรับปรุงอาคารรัฐสภาแห่งนี้จึงตั้งเป้าหมายให้เป็นอาคารที่ใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งหมด

ไม่ว่าจะเป็นการใช้กระจกและเหล็กเป็นวัสดุช่วยหักเหแสงธรรมชาติให้ลงไปยังห้องประชุมรัฐสภา และใช้โคนด้านล่างเป็นที่กักเก็บพลังงานความร้อน ซึ่งเมื่อรวมกับพลังงานแสงอาทิตย์ที่เก็บจากแผงโซลาร์เซลล์ตรงส่วนราบของเพดานหลังคา สามารถแปลงเป็นแสงสว่างให้กับทั้งอาคารหลักและอาคารใกล้เคียงอีกสามแห่ง ส่วนระบบทำความร้อนความเย็นมาจากความร้อนที่เก็บได้ร่วมกับพลังงานไบโอดีเซล โดยระบบทำความเย็นส่วนหนึ่งมาจากการเก็บน้ำในฤดูหนาว ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ถือเป็นการใช้ศูนย์กลางความเป็นเยอรมนีประกาศเจตนารมณ์ในการพาโลกเข้าหาความยั่งยืนนั่นเอง

ดังนั้นไม่ว่าคุณจะเป็นนักท่องเที่ยวสายหลักหรือสายทางเลือก และไม่ว่าจะสนใจประวัติศาสตร์ เมือง สถาปัตยกรรม หรือความยั่งยืน การขึ้นไปสำรวจโดมของอาคารรัฐสภาคือสิ่งที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาเยือนเมืองแห่งนี้

 

เมืองหลวงบิตคอยน์

พร้อมกับการฟื้นฟูอาคารรัฐสภาขึ้นใหม่ ก็คือโครงการสร้างสถานีรถไฟกลางแห่งใหม่ ไม่ไกลจากอาคารรัฐสภา มันคือโครงการยักษ์ใหญ่ที่เต็มไปด้วยความท้าทายทางวิศวกรรม และเปิดใช้งานไม่กี่วันก่อนการแข่งขันฟุตบอลโลกที่เยอรมนีเป็นเจ้าภาพจะเริ่มต้นขึ้นในปี 2006

ทั้งยังเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของการรวมประเทศ ผ่านการเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อทั้งหมดของเยอรมนี ไม่นับโครงการปรับปรุงอะไรต่อมิอะไรของทางการ

ไล่ตั้งแต่อาคารที่ทำการ สถานีรถไฟ วัง โบสถ์ โรงละคร ไปจนถึงบรรดาพิพิธภัณฑ์โดยเฉพาะในบริเวณมิวเซียมไอส์แลนด์และรอบๆ ไปจนถึงโครงการของภาคเอกชน โดยเฉพาะหมู่เครนที่ประดับท้องฟ้าในส่วนที่เคยเป็นเบอร์ลินตะวันออกมาร่วมสามทศวรรษ อันหมายถึงโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ที่ล้าหลังกว่าเมื่อเทียบกับทางฝั่งตะวันตก 

โดยมีปัจจัยเสริมเป็นการอพยพเข้ามาของผู้คนจากภายนอกหลายหมื่นคนในแต่ละปี ซึ่งหมายความต่อถึงความต้องการที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาทำงานและใช้ชีวิตในแบบดิจิทัลโนแมดกันในเบอร์ลินซึ่งมีระดับการเข้าถึงทางดิจิทัลสูงกว่าเมืองอื่น จนได้รับการตั้งฉายาจากสื่ออย่าง The Guardian ว่าเป็นเมืองหลวงแห่งบิตคอยน์มาตั้งแต่ปี 2013

ไม่ว่าอนาคตของบิตคอยน์จะหมู่หรือจ่า แต่นิเวศดิจิทัลของเบอร์ลินที่จุดติดแล้วคงพุ่งทะยานไปอีกไกล

เมืองหลวงวีแกน

เบอร์ลินไม่ได้มีเพียงฉายาเมืองหลวงแห่งบิตคอยน์ เมื่อไม่นานมานี้ยังมีฉายาใหม่ว่าเมืองหลวงแห่งวีแกนด้วย

ใช่แล้ว อะไรที่เป็นความเคลื่อนไหวใหม่ของโลก เบอร์ลินรับได้เร็วกว่าใคร

ในปัจจุบันประชากรชาวเบอร์ลินร้อยละ 55 ที่มีอายุต่ำกว่า 45 ปี และราวร้อยละ 20 มีถิ่นกำเนิดในต่างแดน ถือเป็นเมืองมีอายุเฉลี่ยของประชากรต่ำกว่าเมืองหลักส่วนใหญ่ในโลก และได้รับการยอมรับว่าเป็นเมืองที่เหมาะแก่การอยู่อาศัยของคนรุ่นใหม่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก

การทำความรู้จักกับเบอร์ลินอย่างแท้จริงจึงอาจไม่ใช่การเยี่ยมชมเช็กพอยต์ชาลี จุดผ่านแดนระหว่างโลกประชาธิปไตยกับคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็น (ซึ่งของจริงไม่ได้อยู่ตรงที่เอาไว้ขายนักท่องเที่ยวในปัจจุบัน) แต่เป็นการเยี่ยมชมวิถีชีวิตของชาวเบอร์ลิน ไม่ว่าจะเป็นการเตร่ไปตามพิพิธภัณฑ์ที่มีอยู่มากมาย การนั่งรับลมบนเก้าอี้ชายหาดริมแม่น้ำกันที่แคปิตอลบีชด้านหลังสถานีรถไฟกลาง หรือการไปตลาดสตรีทฟู้ดในย่าน Kreuzberg ที่เปิดกันทุกเย็นย่ำของวันพฤหัสบดี ไปจนถึงไลฟ์สไตล์ยามค่ำคืนในย่านฮิป Prenzlauer Berg

และที่ห้ามพลาดเด็ดขาดก็คือการใช้เวลาบ่ายวันอาทิตย์ใน Mauer Park ใกล้กับ Prenzlauer Berg นั่นเอง

แม้เบอร์ลินจะไม่ได้อยู่ในแคว้นบาวาเรียที่ยังคงเคร่งครัดกับการปิดร้านค้าในวันอาทิตย์ ที่ผลักให้ผู้คนไปรวมตัวกันอยู่ตามสวนสาธารณะ แต่ชาวเบอร์ลินก็ชื่นชอบการไปสวนสาธารณะ โดยเฉพาะในบ่ายวันอาทิตย์

ไม่ว่าจะเป็นสวนสาธารณะที่ตั้งเด่นอยู่กลางเมืองให้ถนนสายหลักพาดผ่านอย่าง Tiergarten หรือสวนสาธารณะ Preußen ที่รู้จักกันในอีกชื่อว่า Thaipark ซึ่งเราจะหาส้มตำ ผัดไทย ไปถึงไก่ทอดรับประทานได้ ส่วนอีกฟากของเมืองก็มี Tempelhofer Feld ซึ่งมาจากการดัดแปลงสนามบินเก่าให้เป็นพื้นที่สันทนาการขนาดใหญ่

แต่พื้นที่รวมตัวในวันหยุดที่บอกเล่าวิถีชีวิตเบอร์ลินเนอร์ได้ดีที่สุดยังคงเป็น Mauer Park ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่เคยเป็นกำแพงเบอร์ลิน (mauer แปลว่า wall) และโด่งดังในฐานะฐานที่มั่นของคาราโอเกะวันอาทิตย์

ใช่แล้ว ในเมืองที่แม้แต่เครนยังเป็นมิตร ความบันเทิงแสนง่ายอย่างคาราโอเกะก็กลายเป็นจิตวิญญาณร่วมสมัยแสนสนุกได้ไม่ยาก

ในความเป็นจริง ไม่เพียงคาราโอเกะเท่านั้น แต่สวนสาธารณะแห่งนี้ไม่ต่างจากเวทีเปิดให้ศิลปินทั้งมืออาชีพและสมัครเล่นมาทำการแสดงน้อยใหญ่ ทั้งแบบกลุ่มและเดี่ยว และเมื่อข้ามส่วนที่เป็นทางรถไฟเก่ามาทางตะวันตกก็จะพบกับตลาดนัดวันอาทิตย์ ซึ่งเหมือนกับตลาดนัดทั่วไปตรงที่เป็นแหล่งรวมสินค้า อาหาร เครื่องดื่มหลากหลาย แต่สิ่งที่ต่างก็คือ มันบ่งบอกความเป็นผู้นำเทรนด์ในโลกใหม่ของชาวเบอร์ลินได้เป็นอย่างดี

และนั่นอาจหมายถึงการดื่มกาแฟไบโอ กินอาหารมังสวิรัติ ดำรงชีวิตในแบบชนเผ่ายุคใหม่ และใช้ข้าวของ upcycle หรืออะไรก็แล้วแต่ที่จะตามมาในอนาคต

ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าเบอร์ลินจะยังคงเปลี่ยนผ่านต่อไป และคงไม่มีวันเสร็จสมบูรณ์ 

หรือแท้จริงแล้ว อาจไม่มีเมืองใดในโลกที่ควรเป็นเช่นนั้น

 

อ้างอิง

adelaidenow.com.au

businesslocationcenter.de

thelocal.de

AUTHOR