การ์ตูนที่รัก “ขอเพียงปล่อยให้เด็กๆ เติบโต” หนังสือที่ชวนเข้าใจการเติบโตของเด็กในวันที่โลกซับซ้อนขึ้น

ในยุคหนึ่ง หนังสือการ์ตูนคือผู้ร้ายของผู้ใหญ่ในสังคมไทย พวกเขากังวลว่าเด็กๆ จะซึมซับความรุนแรงและพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เราต่างเติบโตมาด้วยการเลี้ยงดูเช่นนั้น 

การ์ตูนที่รัก คือชื่อคอลัมน์หนึ่งของนายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์และนักเขียนที่มีผลงานและชื่อเสียงในงานเขียนด้านจิตวิทยาการเลี้ยงเด็ก บอกเล่าเรื่องราวการ์ตูนในมุมมองของนักจิตวิทยา ผ่านแง่มุมการเติบโตของเด็กผ่านการ์ตูน ถูกเขียนมานานกว่า 25 ปี บนนิตยสาร ไลฟ์แอนด์แฟมิลี่ ปี 2539 จนถึง มติชนสุดสัปดาห์ ปี 2542 – ปัจจุบัน

ตัดภาพกลับมาในปัจจุบัน ยุคสมัยที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่ความซับซ้อนและคุณค่าแบบใหม่ การกางปีกปกป้องสิ่งอันตรายให้เด็กๆ ของผู้ใหญ่ อาจไม่ใช่สิ่งที่ช่วยให้เขาเติบโตบนโลกนี้ได้มากเท่ากับการปล่อยให้เรียนรู้ด้วยวิธีของตัวเอง 

การ์ตูนที่รัก EP.1 PARENTING “ขอเพียงปล่อยให้เด็กๆ เติบโต” กลับมาอีกครั้งในรูปแบบหนังสือรวมบทความอ่านการ์ตูนที่เคยตีพิมพ์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และเล่มที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้คือ หนึ่งในซีรีส์ ‘การ์ตูนที่รัก’ จำนวนทั้งหมด 3 เล่ม โดยแต่ละเล่มจะมีธีมหลักที่พูดถึงเนื้อหาที่แตกต่างกันออกไป เรียงไปตามลำดับคือ EP.1 PARENTING “ขอเพียงปล่อยให้เด็กๆ เติบโต” EP.2 POLITICS “โลกใหม่มาแล้ว เราไม่ยอมอีกต่อไป” และ EP.3 PSYCHOLOGY “ปมอีดิปัส ดาบยักษ์ และหน้ากากเสือ” 

 ในเมืองไทยยังไม่มีการพูดถึงการ์ตูนในมุมมองเชิงลึกมากเท่าที่ควร จึงทำให้การ์ตูนกลายเป็นเพียงเวทมนตร์ที่มีเพียงแต่เด็กเข้าใจ และเพื่อให้ผู้ใหญ่รวมไปถึงเด็กๆ ได้เข้าใจเบื้องหลังการ์ตูนนอกเหนือไปจากความสนุกหรือเนื้อหารุนแรง ภายในเล่มจึงหยิบยกการ์ตูนหลากหลายแนว มาบอกเล่าและเชื่อมโยงต่อการพัฒนาการเด็ก ที่จำเป็นต่อการเติบโตในโลกที่ซับซ้อนใบนี้

ในเล่มเปิดของหนังสือชุดนี้ พูดถึงประเด็นด้วยทิศทางการเลี้ยงดูที่ผู้ปกครองรวมถึงการศึกษาสมัยใหม่ควรทำความเข้าใจ ผ่านการ์ตูนน่าดูและน่าอ่านทั้ง 29 เรื่อง หนังสือเล่มนี้จึงไม่ใช่เพียงการรวบรวมบทความที่เคยตีพิมพ์ไปแล้วเท่านั้น แต่เมื่อรวมเป็นหนังสือ บางบทความถูกนำมาจัดเรียงลำดับเนื้อหา เรียบเรียงขึ้นใหม่ เพื่อเชื่อมโยงไปถึงความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้นในสังคม ที่เด็กๆ เหล่านี้จะต้องรับมือในอนาคต

การ์ตูนคือเวทมนตร์ที่มีอยู่จริง

ในสายตาของเด็ก หนังสือการ์ตูนสามารถขยับได้ราวกับมีชีวิต 

การ์ตูนที่รัก “ขอเพียงปล่อยให้เด็กๆ เติบโต” นอกจากการถอดรหัสเรื่องราวของการ์ตูนและเบื้องหลังแรงจูงใจของตัวละครกับการเติบโตแล้ว ยังทำให้เห็นว่าตัวช่วยพัฒนากระบวนการคิดของเด็กที่สำคัญที่สุดก็คือ หนังสือการ์ตูนที่เด็กถืออยู่นั่นเอง 

หนังสือช่วยทำความเข้าใจการทำงานของหนังสือการ์ตูนกับเด็กตั้งแต่คำนำ นายแพทย์ประเสริฐอธิบายว่าการอ่านหรือการดูหนังสือการ์ตูนเป็นกลไกเดียวกับพัฒนาการด้านการคิดของเด็ก หลายคนที่เมื่อถึงอายุหนึ่ง การอ่านหนังสือการ์ตูนถือเป็นกิจกรรมที่แทบไม่ต้องใช้ความพยายามในการอ่านแม้แต่น้อย แต่สำหรับเด็กแล้วการอ่านหนังสือการ์ตูนที่ไม่ได้เคลื่อนไหวจริงๆ เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยกระบวนการคิดของเด็กเล็ก ตามทฤษฎีของฌ็อง เพียเจต์ (Jean Piaget) 

ดังนั้นขณะที่เด็กอ่านหนังสือการ์ตูน สมองของพวกเขาจะเริ่มขยับไปมา เริ่มตั้งแต่การอ่านเรื่องราวการ์ตูนที่มีทั้งเวทมนตร์และปาฏิหาริย์ (magical thinking) ซึ่งจะเป็นฐานที่นำไปสู่การคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลภายหลังเมื่อเติบโตขึ้น ขณะเดียวกันเมื่ออ่านแล้วเด็กๆ ยังรู้สึกว่าสามารถสวมรอยเป็นใครก็ได้ เพราะทุกคนล้วนเกี่ยวข้องกับเขา (egocentrism) นอกจากนี้หนังสือการ์ตูนเหล่านี้ยังมีชีวิตขึ้นมาด้วยการใช้เส้นนำสายตาและเส้นการเคลื่อนไหว เด็กๆ จึงเห็นตัวละครเหล่านี้ขยับได้ในจินตนาการของพวกเขาเอง (animism) อีกทั้งยังสามารถอ่านการ์ตูนในแต่ละช่องอย่างต่อเนื่องไปได้ (phenomenalistic causality)

เด็กๆ เติบโตเองได้

เนื้อหาภายในจัดเรียงอย่างเรียบง่ายคล้ายแฟ้มผลงานรวมบทความอ่านการ์ตูน ขนาดไม่สั้นและไม่ยาวจนเกินไป เรื่องราวจบในตอน เอื้อให้ผู้อ่านสามารถเลือกอ่านสลับไปมาได้ตามความสนใจ 

แต่การเรียบเรียงเนื้อหาภายในเล่มไม่ได้ทำไปโดยไม่มีหลักการ เพราะถูกแบ่งไว้เป็นกลุ่มใหญ่ๆ แบบไม่จริงจังนัก โดยการไล่ไปตามลำดับพัฒนาการการเติบโตของเด็ก หลากหลายประเด็นที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น การเติบโตของเด็กกำพร้า สำรวจปมปิตุฆาตและปมอิเล็กตร้าเพื่อการเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม ความรู้เรื่องเพศสภาพและเพศวิถี จนถึงพัฒนาการน่าปวดหัวของวัยรุ่น ก่อนถึงการอ่านการ์ตูนผลงานโฮโซดะ มาโมรุ ผู้กำกับแอนิเมชั่นของญี่ปุ่นที่ชื่นชอบการเล่าเรื่องความสัมพันธ์ครอบครัวและชีวิตวัยรุ่น ตามด้วยการ์ตูนคลาสสิกของดิสนีย์ ก่อนปิดท้ายด้วยวรรณกรรม เจ้าชายน้อย

ด้วยการเดินทางยาวนานกว่า 25 ปีของคอลัมน์นี้ ผู้อ่านหลายคนอาจคุ้นเคยกับการเล่าเรื่องของผู้เขียนมาบ้าง โดยการเริ่มต้นด้วยเรื่องย่อ บางครั้งก็เพิ่มเหตุการณ์สังคมที่เกิดขึ้นขณะสร้างการ์ตูนเหล่านั้น แต่ยังคงทิ้งปมของเรื่องไว้ให้คนอ่านติดตามต่อ ด้วยการเล่าแบบนี้จึงทำให้คนที่แม้ไม่รู้จักการ์ตูนเรื่องนั้นมาก่อนก็ยังสามารถเข้าใจเหตุการณ์ภายในเรื่องได้ไม่ยาก ก่อนหยิบบางส่วนของการ์ตูนเหล่านั้นมาวิเคราะห์และเชื่อมโยงกับพัฒนาการของเด็กๆ ในตอนท้าย

การ์ตูนแต่ละเรื่องถูกหยิบมาเล่าพัฒนาการการเติบโตของเด็กได้อย่างพอดี การนำการ์ตูนทั้งเก่าและใหม่มาบอกเล่าทำให้เห็นว่าเด็กๆ ไม่ว่าอยู่ในยุคไหนต่างก็มีปัญหาที่อยากก้าวข้ามคือ การถูกยอมรับจากคนรอบข้าง ขณะเดียวกันความหลากหลายของการ์ตูนภายในเล่มยังเปิดโอกาสให้ผู้อ่านแต่ละคนจะได้เจอการ์ตูนที่ตัวเองชื่นชอบ และถูกนำมาบอกเล่าในมุมมองใหม่ๆ ที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน บางครั้งอาจนำไปสู่คำตอบว่าเหตุใด เราจึงเป็นเราอย่างทุกวันนี้ 

ไม่เพียงแต่การเรียบเรียงที่ทำให้คนที่ไม่เคยอ่านสามารถเข้าใจเนื้อเรื่อง รวมถึงการเลือกหยิบการ์ตูนหลากหลายแนวมาบอกเล่าแล้ว การ์ตูนที่ถูกหยิบมาพูดถึงภายในเล่ม ยังเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่สามารถช่วยให้เด็กๆ ข้ามพ้นวัยได้อย่างสมบูรณ์ การ์ตูนละเรื่องล้วนทิ้ง conflict ที่ยิ่งใหญ่ไว้ให้กับตัวละคร หากมองเผินๆ คงเป็นการใส่ลงมาเพื่อความสนุกชวนให้ติดตามต่อจนวินาทีสุดท้าย แต่ในเมื่อการ์ตูนคือเวทมนตร์สำหรับเด็ก  conflict หรือจุดหักเหครั้งสำคัญของบรรดาตัวละครเหล่านี้ไม่ต่างอะไรกับบทเรียนที่เตรียมความพร้อมให้เด็กๆ ก่อนออกไปเผชิญโลกในชีวิตจริง พวกเขาจะคอยสะสมเรื่องราวเหนือธรรมชาตินี้ เพื่อนำมาจัดเรียงใหม่ในระบบความคิดที่เป็นเหตุเป็นผลอีกครั้งเมื่อโตขึ้น

บทเรียนสำคัญของ การ์ตูนที่รัก EP.1 PARENTING คือการเรียนรู้ว่าโลกใบนี้ประกอบขึ้นจากความแตกต่างและหลากหลายของผู้คน ไม่เว้นแม้แต่เด็กเองที่สักวันจะต้องโตขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของสังคม 

เพื่อให้เขาเติบโตขึ้นอย่างเข้มแข็ง การเผชิญหน้าต่อสถานการณ์ความขัดแย้งจึงเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการเผชิญด้านทุกข์ยากของชีวิตที่ไม่มีใครหลีกพ้น (Mai Mai Miracle) การมองเห็นว่าเราทุกคนมีความดีและความเลวกันอยู่ในตัว (The Lego Movie) เรียนรู้ว่าโลกใบนี้ไม่ได้มีเพียงแค่พ่อที่เป็นผู้ชายและแม่ที่เป็นผู้หญิงเท่านั้น (My Brother’s Husband) การใช้กระบวนการสังเคราะห์แก้ปัญหา (Penguin Highway) การรับผิดชอบการกระทำของตัวเอง (The Girl Who Leapt Through Time) หรือการไม่หลงลืมว่าตัวเองเคยเป็นเด็กมาก่อน (เจ้าชายน้อย) และอีกหลายเหตุการณ์ที่อยากชวนให้ทุกคนได้อ่าน

ขณะเดียวกันสิ่งสำคัญไม่แพ้กันของการเผชิญหน้าต่ออุปสรรคเหล่านี้ คือการที่ผู้ใหญ่หรือผู้ปกครองจัดการสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมและยินดีปล่อยให้เขาได้ทดลองทำด้วยตัวเอง  เพราะความจริงแล้วเด็กๆ ไม่ได้อ่อนแออย่างที่เราคิด พวกเขาสามารถเรียนรู้และแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง เพื่อให้เด็กๆ ก้าวข้าม conflict ของตัวเองและเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่อย่างสมบูรณ์

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

กุลชนาฎ เสือม่วง

ปูนพร้อมก่อสุดหล่อพร้อมยัง IG: cozy_cream