*ในบทความนี้มีเนื้อหาที่เปิดเผยเรื่องราวในหนังสือ
หลายๆ คนคงเคยได้ยินคำว่า “Don’t judge a book by its cover” อย่าตัดสินหนังสือจากหน้าปก แต่สำหรับเราคงจะเป็น “I judge book by their covers because I have respect for graphic designer” แต่เราก็เลือกหนังสือจากหน้าปก เพราะเราเข้าใจมันในแง่มุมของกราฟิก
หน้าปกหนังสือที่ต้องตาจนอยากจะหยิบขึ้นมาทำความรู้จักมันคือ “What my bones know: รอยทรงจำในกระดูก” ของผู้เขียน Stephanie Foo แปลโดย อรดา ลีลานุช ของสำนักพิมพ์ Be(ing) ที่สวยงามดึงดูดตาตั้งแต่แรกเห็น พื้นหลังหน้าปกสีน้ำเงินสดที่ตัดเข้ากับสีดำและสีเงินได้เป็นอย่างดี ฉากหลังที่ส่งเสริมดอกไม้ที่มีลวดลายแบบเอกซเรย์ เห็นกระดูกและข้อต่อของดอกไม้ที่ก่อให้เกิดความสงสัยจนอยากจะเปิดอ่านทันทีว่าหนังสือเล่มนี้กำลังเล่าเรื่องอะไร ภาพหน้าปกถึงได้สื่อออกมาเช่นนั้น
หนังสือ What my bones know: รอยทรงจำในกระดูก คือการบันทึกเรื่องราวการเยียวยาตนเองจากบาดแผลทางใจอันซับซ้อนและขื่นขมของ ‘Stephanie Foo’ นักข่าวและโปรดิวเซอร์รายการวิทยุผู้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานและความรักบนฉากหน้า แต่เบื้องหลังชีวิตของเธอกลับเป็นผู้ที่เติบโตขึ้นท่ามกลางความเจ็บปวดทั้งร่างกายและจิตใจ โดยผู้สร้างบาดแผลทางร่างกายและจิตใจสุดหนักหน่วง ไม่ใช่ใครที่ไหนแต่มาจากคนใกล้ชิดอย่างพ่อและแม่ของเธอเอง
เนื้อเรื่องเล่าถึงเธอโดนกล่าวหาว่า เป็นสาเหตุที่ทำให้แม่พยายามฆ่าตัวตาย แต่เธอกลับปกป้อง ขอร้อง และหาสาเหตุที่แม่ควรมีชีวิตอยู่ เธอโทษตัวเองเสมอว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้พ่อกับแม่ไม่มีความสุข เป็นเด็กไม่ดี รวมถึงสวดอธิษฐานกับพระเจ้าให้ตนเองนั้นเป็นเด็กดี และขอให้พ่อแม่ของตนเองมีความสุขเช่นเดียวกัน
“ฉันร้องไห้สะอึกสะอื้นอยู่บนพื้น หมดแรง พูดซ้ำๆ ออกมาเบาๆ ว่า ‘ไม่ยุติธรรมเลย ไม่ยุติธรรมเลย หนูไม่ได้ทำแบบนี้เพราะว่าหนูไม่ดี หนูทำเพื่อปกป้องพ่อกับแม่ ไม่ยุติธรรมเลย’ ” ในเรื่องจะเห็นว่าเธอเป็นลูกสาวที่โดนกดดันจากครอบครัวอย่างหนัก โดยครอบครัวของเธอเป็นชาวเอเชียที่ต้องอพยพลี้ภัยมาอยู่ที่สหรัฐอเมริกา จากความกดดัน ปัญหามรสุมของครอบครัว และปัญหาสภาพแวดล้อมทางสังคม เธอมักโทษตัวเองเสมอว่า ความผิดทั้งหมดมาจากตัวเองเป็นต้นเหตุของเรื่องที่ทำให้พ่อแม่ของเธอนั้นไม่มีความสุข และนั่นทำให้เธอรู้สึกแย่ในจิตใจจนฝังลึก ปัญหานั้นส่งผลกระทบต่อจิตใจจนทำให้เธอต้องไปพบจิตแพทย์
เมื่อเวลาผ่านไปเธอโตขึ้นและใช้ชีวิตแยกออกห่างจากพ่อแม่ พร้อมทั้งตามหาจิตแพทย์ที่เข้าใจเธอโดยแท้จริงเพื่อบำบัดบาดแผลลึกในจิตใจดังกล่าว ประกอบกับในช่วงเวลานั้นเธอมีคนรักและครอบครัวของเขาที่พร้อมโอบรับเธอเข้าเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวเสมอ จึงทำให้ Stephanie รู้สึกปลอดภัยและมีความเข้มแข็งในจิตใจมากยิ่งขึ้น
ต้นตอบาดแผลใจมาจากปัญหาในครอบครัว
สาเหตุที่ Stephanie มีบาดแผลทางจิตใจ ส่วนสำคัญมาจากพฤติกรรมที่ผู้ปกครองถ่ายทอดส่งต่อไปยังลูก ซึ่งพฤติกรรมของผู้ปกครองเองก็ได้รับมาจากพ่อแม่ของเขาอีกทอดหนึ่งเช่นเดียวกัน
“พ่อแม่ชาวเอเชียไม่ได้ ถูกสอนให้หายใจช้าๆเพื่อสงบสติอารมณ์เมื่อพวกเขาโมโห และพวกเขาหลายคนก็ไม่ได้ถูกสอนให้เลิกใช้ไม้เรียวด้วย” สิ่งเหล่านี้ต่างเป็นสิ่งที่ฝังอยู่ในสายเลือดราวกับฝังลงสู่กระดูกและถูกส่งต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น เหมือนกับชื่อหนังสือ ‘รอยทรงจำในกระดูก’
ปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เด็กคนนึงต้องเติบโตพร้อมกับบาดแผล ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงดูลูกของพ่อแม่ เรื่องสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เด็กคนหนึ่งนั้นจะเติบโตมา หรือพฤติกรรมของตัวเองที่เราอาจมองว่าเป็นเรื่องปกติในชีวิต แต่ทุกการกระทำของเรานั้น บางอย่างเราอาจจะสร้างบาดแผลทางใจให้กับคนอื่นโดยที่เราไม่รู้ตัวก็เป็นไปได้
ซึ่งในหนังสือนี้พูดถึงวัฒนธรรมการสอนและการเลี้ยงลูกแบบค่านิยมของชาวเอเชีย (Asian parents) ด้วยระบบโครงสร้างการเลี้ยงดูแบบการยึดถือลำดับชั้นอาวุโส ให้เด็กนั้นต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามและด้วยการที่ครอบครัวของ Stephanie เป็นคนเชื้อสายจีน หนึ่งในชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ และศาสนาที่เผชิญกับการเลือกปฏิบัติในมาเลเซีย ก่อให้เกิดการจลาจลในกัวลาลัมเปอร์ ชาวจีนหลายร้อยคนถูกสังหารหมู่ ถูกฆ่าตายอย่างโหดร้าย ทำให้ครอบครัวของเธอต้องอพยพไปอยู่ที่ซานโฮเซ รัฐแคลิฟอร์เนีย ในประเทศสหรัฐอเมริกา และด้วยภูมิหลังที่ครอบครัวของเธอประสบพบเจอมาอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ครอบครัวต้องเลี้ยงดูเธอให้เผชิญกับความเจ็บปวดดังกล่าว
โรค PTSD ความเจ็บฝังใจ บาดแผลฝังลึก
หนังสือเล่มนี้ไม่เพียงเล่าถึงชีวิตของเด็กสาวที่น่าสงสาร แต่ยังพาเราไปทำความรู้จักและเข้าใจของผู้ที่เป็น PTSD หรือ Post Traumatic Stress Disorder และ Complex PTSD หลายๆ คนคงคุ้นเคยกับ PTSD ความเจ็บป่วยจากการเจอเหตุการณ์ร้ายแรงที่กระทบต่อจิตใจ เช่น ทหารผ่านศึก ภัยธรรมชาติ อุบัติเหตุร้ายแรง หรือความรุนแรงจากการถูกทำร้ายร่างกายเพียงครั้งเดียว
แต่ Complex PTSD นั้นจะเจาะจงไปยังความเจ็บป่วยในใจที่เกิดขึ้นซ้ำๆ และรุนแรง ซึ่งมักจะเกิดในช่วงวัยเด็ก และส่วนใหญ่มักจะเป็นการข่มเหงหรือทารุณกรรม ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจของหนังสือเล่มนี้มีการบรรยายลักษณะที่ Stephanie โดนกระทำได้อย่างเจ็บแสบ เมื่อเราอ่านเรื่องราวที่พ่อแม่ของเธอทำร้ายด้วยคำพูดต่างๆ นานา แต่สิ่งที่ทำให้เราเข้าใจและเจ็บปวดไปพร้อมกับตัวละคร คือส่วนที่บรรยายว่าเธอโดนกระทำให้เจ็บปวดทางด้านร่างกายอย่างไร
“ ‘แกมันไม่เคารพพ่อแม่ แกมันไม่มีค่าอะไรเลย นังปีศาจน่ารังเกียจ ฉันไม่รู้ว่าทำไมฉันถึงคลอดแกออกมา!’ แม่ตบตีฉันต่อไป ทั้งตามร่างกาย ใบหน้า และศีรษะของฉัน จากนั้นแม่ก็ดึงผมของฉันและลากฉันออกจากห้อง ลงไปข้างล่าง และลากไปตรงมุมห้อง ”
มิติในการเล่าเรื่องของหนังสือเล่มนี้ ดำเนินการเล่าเรื่องโดยมีพาร์ทที่ตัวละครสนทนากันเป็นคำพูด ปะปนกับที่ตัวละครพูดคุยกับคนอ่าน บรรยายเล่าเรื่องเหตุการณ์ต่างๆ ให้ผู้อ่านฟัง และมีการพูดถึงเรื่องทางวิชาการเกี่ยวกับโรคจิตเวชอีกด้วย
“ฉันไม่ใช่ผู้หญิง ฉันคือดาบ”
หญิงสาวผู้ต่อสู้ ฟาดฟันเพื่อปฏิเสธที่จะยอมจำนนต่อเข็มขัดหรือไม้กอล์ฟ หรือคนที่เฝ้าประตูที่บอกว่าเธอต้องมีชีวิตอยู่ ความเจ็บปวดเหล่านั้นกลายเป็นพลังให้เธอลุกขึ้นมาหาหนทางในการเยียวยาตนเอง แต่การเป็นดาบนั้นหมายความว่าเธอไม่สามารถวางอาวุธได้ เธอกลายเป็นผู้ใหญ่ที่เต็มไปด้วยบาดแผลทางใจ
กำลังใจคือส่วนสำคัญของการต่อสู้กับโรค
แม้เธอจะประสบพบเจอกับความรุนแรงที่กระทบกระเทือนต่อจิตใจเธอในอดีต แต่เมื่อเธอเติบโตขึ้น เธอสู้กับโรคนี้โดยมีคนรักที่อยู่เคียงข้างเธอ และครอบครัวของเขาที่ยินดีต้อนรับเธอเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว ทำให้อาการจากโรค Complex PTSD ของเธอนั้น ค่อยๆ ดีขึ้น ยกตัวอย่างประโยคหนึ่งที่น่าสนใจในหนังสือกล่าวว่า
“PTSD บอกฉันอยู่เสมอว่าฉันอยู่ตามลำพัง ว่าไม่มีใครสามารถรักฉันได้ ว่าฉันเป็นพิษ แต่ตอนนี้ทุกอย่างแจ่มแจ้ง ทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องโกหก PTSD ของฉันทำให้ฉันมองไม่เห็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นจริงๆ ต่างหาก”
ดังนั้นสภาพแวดล้อม สังคม หรือคนรอบข้างที่อยู่เคียงข้างผู้ป่วยด้วยความรักและความเข้าใจ มีผลต่อการรักษาโรค ไม่เพียงแต่โรคทางจิตเวชเท่านั้น ยารักษาที่ดีอาจไม่ใช่ยาราคาแพง หรือหมอเก่งๆ แต่อาจจะเป็น ‘ยาใจ’ สิ่งสำคัญที่เธอได้รับกำลังใจมาจากคนที่เธอรัก ครอบครัวของเขา และเพื่อนๆของเธอ
การกระทำและคำพูดเพียงเล็กน้อยของเราเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะเราไม่อาจรู้เลยว่าการกระทำและคำพูดของเราอาจจะไปสร้างความเจ็บปวดให้คนอื่นโดยไม่รู้ตัว
หากใครสนใจหนังสือเล่มนี้ ขอแจ้งเตือนว่า ภายในเนื้อหามีบทบรรยายการใช้ความรุนแรงในครอบครัว แม้ในหนังสือเล่มนี้จะมีการบรรยายถึงเหตุการณ์รุนแรงของ Stephanie ที่โดนทำร้ายร่างกายจากพ่อแม่ของเธอ แต่เรื่องราวในหนังสือนั้นมีความน่าติดตามต่อจนอยากที่จะอ่านจนจบเล่มเลยทีเดียว