“belong” นิทรรศการเก้าอี้ที่โชว์ความเป็นนักออกแบบ ของคนที่ไม่เคยเรียกตัวเองว่านักออกแบบ

Highlights

  • "belong" Exhibition เป็นนิทรรศการที่จัดแสดงในช่วงเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2562 เกิดขึ้นจากความตั้งใจของกลุ่มนักออกแบบ อิสรภาพ ที่อยากแสดงเคารพช่างฝีมือในโรงงานเฟอร์นิเจอร์ที่พวกเขาได้มีโอกาสร่วมงานด้วยผ่านที่นั่งหรือ ‘ของ’ ที่ช่างฝีมือเหล่านั้นผลิตมันขึ้นมาเอง
  • ที่เจ๋งไปกว่านั้นคือเก้าอี้ทุกตัวที่พวกเขาขอยืมมาจัดแสดงยังแสดงทักษะ ความสามารถ และความเป็นนักออกแบบ ของช่างฝีมือผู้เป็นเจ้าของพวกมันด้วย
  • อิสรภาพยังได้ชวน พิชาญ สุจริตสาธิต ช่างภาพอิสระมาช่วยเล่าเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างของกับช่างฝีมือผู้เป็นเจ้าของผ่านภาพถ่ายพอร์เทรต ที่สื่อสารออกมาได้น่าประทับใจมากทีเดียว

ช่วงเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2562 เราได้แวะเวียนไปชม “belong” Exhibition ที่บ้านเหลียวแล ตลาดน้อย คำอธิบายนิทรรศการบนโบรชัวร์สั้นๆ ที่ว่า

A selection of 50 seats from well-known furniture factories, by a designer who never define themselves as a designer.

สารภาพว่าประโยคสุดท้ายสะดุดใจเราเข้าอย่างจัง

“belong” คือนิทรรศการที่ทีมนักออกแบบ อิสรภาพ ขอยืมเก้าอี้ของช่างฝีมือ 50 คนจากโรงงานเฟอร์นิเจอร์ 15 แห่งมาจัดแสดงเพื่อให้ผู้ชมได้มีโอกาสมองเห็นความสามารถในการออกแบบของคนที่เราให้ชื่อว่าเป็นช่างฝีมือ เก้าอี้หลากหน้าตาและรูปทรงถูกจัดวางคู่กับภาพพอร์เทรตผู้เป็นเจ้าของในพื้นที่บ้านจีนโบราณ ความบ้านๆ และตรงไปตรงมาของเนื้อหาทำให้ “belong” กลายเป็นนิทรรศการโปรดของเราและใครหลายคนอย่างปฏิเสธไม่ได้

แม้จะเป็นสัปดาห์หลังจบเทศกาล รูปถ่ายจากนิทรรศการพร้อมคำชื่นชมทีมผู้จัดก็ยังคงถูกโพสต์ให้เราเห็นบนหน้าฟีดอย่างไม่ขาดสาย นี่อาจยืนยันได้ว่า ข้อความที่นักออกแบบกลุ่มนี้อยากสื่อสารได้ส่งมาถึงผู้ชมนิทรรศการที่เป็นคนทั่วไปได้แล้วจริงๆ

ก่อนที่เก้าอี้ทั้งหมดจะถูกส่งคืนไปยังผู้เป็นเจ้าของของพวกมันในอีกไม่กี่วันข้างหน้า เราตัดสินใจชวนทีมอิสรภาพที่ประกอบไปด้วย ก๊อง–วนัส โชคทวีศักดิ์ และ พลอย–ณิชภัค ต่อสุทธิ์กนก จาก ease studio, พีท–ธีรพจน์ ธีโรภาส จาก Teerapoj Teeropas (น่าเสียดายที่วันนี้ อบ–รัฐธีร์ ไพศาลโชติสิริ จาก SATAWAT อีกหนึ่งสมาชิกของอิสรภาพไม่ได้มาด้วย) รวมทั้ง ปุ้ย–พิชาญ สุจริตสาธิต ช่างภาพอิสระเจ้าของภาพถ่ายที่ช่วยให้การเล่าเรื่องของนิทรรศการสมบูรณ์แบบ มาคุยกันชัดๆ ว่านิทรรศการสุดเท่นี้มีเบื้องหลัง วิธีคิด วิธีทำ และความตั้งใจที่แท้จริงอย่างไรกันบ้าง

เอาล่ะ หยิบเก้าอี้ตัวที่ถูกใจ นั่งล้อมวงคุยและทำความรู้จักกับพวกเขาไปพร้อมๆ กันดีกว่า

อิสรภาพกับการนำเสนอ

กลุ่มอิสรภาพเกิดจากสมาชิกผู้ก่อตั้งอย่างก๊อง พลอย พีท และอบ เห็นพ้องต้องกันว่าอาชีพนักออกแบบที่พวกเขาทำเป็นเพียงแค่อาชีพหนึ่ง แม้ว่าคนภายนอกอาจเชิดชูนักออกแบบว่าเป็นศิลปินก็ตาม สุดท้ายแล้วนักออกแบบก็คือคนทำงานหาเลี้ยงชีพ มีคุณค่าเหมือนกับอาชีพทั่วไป

“เราเชื่อเสมอว่ากระบวนการคิดการออกแบบมันอยู่ในชีวิตประจำวันของคนทุกคนอยู่แล้ว และเป็นกระบวนการคิดที่ไม่ว่าใครก็สามารถทำได้ สิ่งที่เราอยากพูดกับคนอื่นๆ คือ design is normal. ในฐานะที่เราแต่ละคนทำงานเกี่ยวกับเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน เราก็เลยพยายามหยิบของใกล้ตัวพวกนี้มาเป็นเครื่องมือในการสื่อสารเมสเสจนั้น

“Issaraphap Project คือผลงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์คอลเลกชั่นแรกที่เราทำด้วยกัน เรารีดีไซน์เฟอร์นิเจอร์ที่เราเห็นได้ทั่วไป เช่น ชุดโต๊ะเก้าอี้หินขัด ตู้กับข้าว บานเกล็ด เก้าอี้แขนโค้ง ให้มาอยู่ในบริบทสมัยใหม่มากขึ้น เปิดตัวในงาน TIFF 2016 สิ่งที่จำได้แม่นเลยคือคนเข้าใจคอนเทนต์ที่เราพยายามสื่อสาร หลังจากนั้นก็เลยอยากชวนคนอื่นมาทำด้วยบ้างเลยเป็นจุดเริ่มของการจัดนิทรรศการแรก” ดีไซเนอร์สาวจาก ease studio เริ่มต้นเล่า

พวกเขานำเก้าอี้แขนโค้งมาต่อยอดทำนิทรรศการ Anonymous Chair ในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2558 ชักชวนสถาปนิกและนักออกแบบใกล้ตัวที่พวกเขารู้จักมาร่วมพูดคุยเรื่องเก้าอี้แขนโค้งที่อยู่คู่กับคนไทยมาหลายยุคสมัย หาคำตอบว่าอะไรคือภาษาดีไซน์แบบไทยๆ ที่ซ่อนอยู่ในพัฒนาการของการออกแบบเก้าอี้ตัวนี้ เทศกาลปีต่อมาพวกเขาต่อยอดนิทรรศการเดิมของตัวเองด้วยการชักชวนสตูดิโอออกแบบกว่า 30 สตูดิโอมาร่วมตีความและออกแบบเก้าอี้แขนโค้งในแบบฉบับของตัวเองโดยใช้ชื่อว่า Anonymous Chair Exhibition ‘Craft is MAKE’ บิดจากธีมงานปีนั้นที่ว่าด้วยงานคราฟต์

“นิทรรศการครั้งที่สองเป็นการจัดแสดงเก้าอี้ 32 ตัวที่ทำจากกิ่งไม้ เหล็ก อะลูมิเนียม พลาสติกสังเคราะห์ ไปจนถึง 3D printing ทุกตัวล้วนพูดถึงประเด็นของคราฟต์ เรามองว่าทุกขั้นตอนของการสร้างของชิ้นหนึ่งมันคือคราฟต์ทั้งหมด ทั้งกระบวนการคิดและกระบวนการทำ เราไม่อยากให้คนตัดสินว่าคราฟต์จะต้องทำมือเท่านั้น เพราะบริบททุกอย่างมันเปลี่ยนไปตามวิธีการทำงานของผู้คน” พลอยเล่า

“พอจบนิทรรศการนั้นเราเรียนรู้ว่าเฟอร์นิเจอร์อาจจะเป็นเรื่องไกลตัวคนทั่วไป การออกแบบเก้าอี้จริงๆ มันมีรายละเอียดค่อนข้างซับซ้อน เราเลยกลับมาคุยกันว่าลองเลือกสิ่งของที่ใกล้ตัวคนมากกว่าเดิมดีไหม เลยลงตัวที่ของที่มีขนาดเล็กลงอย่างแก้วกาแฟ” พีทเสริม

นิทรรศการ A Cup of Coffee ถูกจัดขึ้นในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ปีที่แล้ว ครั้งนี้อิสรภาพได้การรวบรวมแก้วกาแฟร้อยกว่าใบเพื่อเล่าว่าแก้วกาแฟที่ดีอาจไม่ใช่แก้วกาแฟที่ออกมาเพื่อฟังก์ชั่นหรือการใช้งาน แต่แก้วกาแฟที่ดีสำหรับบางคนอาจเป็นแก้วกาแฟที่พวกเขามีความทรงจำและความสัมพันธ์ด้วย แถมยังชวนคนนอกแวดวงออกแบบ 15 คน (เช่น ช่างภาพ บาริสต้า ช่างทำเซรามิก) มาร่วมออกแบบแก้วกาแฟที่มีฟังก์ชั่นถูกใจคนเหล่านั้น

กว่าจะเป็นนิทรรศการ “belong”

“จริงๆ มันเป็นโปรเจกต์ที่พวกเราบ่มกันมานาน พวกเราทำงานกับโรงงานทำเฟอร์นิเจอร์กันอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าแต่ละคนติดต่องานกับโรงงานที่ใช้วัสดุไม่เหมือนกัน เช่น พี่อบจะทำงานกับโรงงานไม้เป็นหลัก พีทก็ทำกับโรงงานหัตถกรรม ส่วนเรากับพลอยทำงานกับโรงงานหุ้มบุ ทุกครั้งที่พวกเราเข้าไปที่โรงงานเราจะเห็นเก้าอี้ที่พี่ๆ ช่างฝีมือเขาใช้อยู่แล้ว เหมือนแต่ละคนก็ snap รูปของใครของมันอยู่แล้วพอเราเอามาแชร์กันก็รู้สึกว่ามันมีประเด็นที่น่าสนใจดี

“พวกเราไม่เคยรู้สึกว่าพี่ๆ ช่างฝีมือเขาเป็น labour นะ เรารู้สึกว่าเขาเป็น craftman มากกว่า ในการทำงานของเราถ้าไม่มีคนที่เป็นช่างฝีมือเข้ามาช่วย แน่นอนว่ากระบวนการทำงานมันจบไม่ได้แน่ๆ บางทีหลายๆ ดีเทลของเฟอร์นิเจอร์ ช่างฝีมือเขารู้เยอะกว่าเราอีกครับ หลายครั้งพวกพี่เขาช่วยปรับแบบให้ เพราะงั้นงานที่ออกมา มันไม่ได้เกิดจากตัวเราคนเดียวแล้วเพราะมันผ่านมือเขาด้วย เรารู้สึกว่าช่างฝีมือก็เป็นนักออกแบบคนหนึ่ง ที่น่าสนใจคือพวกเขาไม่เคยพูดว่าตัวเองเป็นนักออกแบบเลย เขารู้สึกว่าตัวเองเป็นแค่แรงงาน” ก๊องบอกเราถึงจุดเริ่มต้นของนิทรรศการครั้งที่สี่ของอิสรภาพ

“belong” จึงเกิดขึ้นบนความตั้งใจที่อยากจะเคารพช่างฝีมือทุกคนที่พวกเขาได้มีโอกาสร่วมงานด้วยผ่าน ‘ของ’ ที่ช่างฝีมือผลิตมันขึ้นมาเอง นอกจากนี้มันยังแสดงถึงทักษะการออกแบบที่น่าทึ่งของคนที่เป็นช่างฝีมือด้วยเพราะงานของพวกเขาคือการอยู่กับเฟอร์นิเจอร์เหล่านั้น เรียกได้ว่าอยู่กับมันแทบจะตลอดเวลา

“เก้าอี้ที่พวกเขาปรับแต่งแล้วใช้กันเองมันคือการแก้ปัญหาเพื่อการใช้งานในชีวิตประจำวันของเขา มันเหมือนการด้นสด ที่โรงงานมีวัสดุอะไรก็เอาอันนั้นมาทำ พอสร้างเองมันก็ผูกพัน มีความเป็นเจ้าของมากขึ้น อย่างบางคนที่เราขอยืมปุ๊บ เขาหวงเหมือนกันนะว่าเราจะเอาไปทำอะไร เรารู้สึกว่าเรื่องนี้แหละคือเรื่องที่เราอยากเล่าให้ทุกคนฟัง” หญิงสาวเพียงหนึ่งเดียวในทีมเสริม

เรื่องราวที่ซ่อนอยู่ใต้ที่นั่งทุกตัว

“โจทย์ของเรามีอยู่ข้อเดียวคือช่างฝีมือต้องทำมันขึ้นมาเพื่อใช้เอง หลายตัวที่เราเลือกมาจากการที่เราเล็งไว้อยู่ก่อนแล้ว บางตัวเราก็ไปขอคุยที่หน้างานเลย ความสวยของมันไม่มีผลในการตัดสินใจของพวกเราเลยครับ เรามองว่าความสวยงามมันไม่มีกฎตายตัวด้วยซ้ำ อีกเกณฑ์หนึ่งที่สำคัญคือต้องเป็นเก้าอี้ที่คนเห็นแล้วสามารถ remind กลับไปถึงโรงงานหรือแม้กระทั่งแผนกที่พวกเขาทำงานอยู่ได้

“อย่างตัวนี้มาจากโรงงานทำของจากไม้ Pana Object เขาเอาเศษไม้ที่เหลือจากการผลิตมาประกอบเป็นเก้าอี้กับที่วางขา ซึ่งปกติเขาจะเอาเศษเหลือพวกนี้ไปทำเป็นฟืน หรืออย่างตัวนี้ที่มาจากแผนกพ่นสี ที่นั่งของเขาก็คือปี๊บที่ใส่สารสำหรับเคลือบสีเฟอร์นิเจอร์ พอเขานั่งนานเขาก็ไปหยิบเศษฟองน้ำจากแผนกหุ้มบุมารองนั่งกันเมื่อยแค่นี้เอง เรารู้สึกว่ามันเล่าเรื่องได้ตรงไปตรงมาดี” ก๊องหยิบเก้าอี้แต่ละตัวขึ้นมาให้เราดูพร้อมอธิบาย

“บางตัวก็เลือกเพราะช่างน่ารัก คุยแล้วสนุก ส่วนคนที่เขาไม่ให้ยืม เรามองว่ามันมีข้อดีนะ เพราะมันสามารถสื่อได้ว่าเขารักของของเขามากจริงๆ พวกเรายืมมาตั้งเดือนหนึ่งเพื่อมาทำนิทรรศการ จริงๆ แค่ไม่กี่วันก็น่าจะสร้างผลกระทบให้เขาแล้ว เพราะฉะนั้นเราก็ควรรีบเอาไปคืน” พีทหัวเราะ

หากใครยังพอจำได้ พื้นที่ในงานส่วนหนึ่งถูกจัดเป็นที่ฉายวิดีโอสัมภาษณ์ช่างฝีมือหลายๆ คนที่อิสรภาพไปขอยืมเก้าอี้มาเพื่อให้ผู้ชมนิทรรศการเข้าใจเรื่องราวที่พวกเขาอยากเล่ามากยิ่งขึ้น

วิธีคิดภาพที่ช่วยเล่าเรื่องระหว่างของและคน

สิ่งที่มองข้ามไปไม่ได้เลยคือภาพถ่ายพอร์เทรตผู้เป็นเจ้าของที่วางตัวเหนือเก้าอี้ทุกตัว องค์ประกอบสำคัญที่ช่วยให้เรื่องเล่าระหว่างของกับคนในนิทรรศการนี้สมบูรณ์แบบมากขึ้น

“อิสรภาพไม่ได้เป็นของพวกเราทั้ง 3 สตูดิโอ จริงๆ พวกเราอยากให้มันเป็นฟอร์แมตกลางที่ใครก็ตามสามารถเข้ามาทำงานกับมันได้ เราสนิทกับพี่ปุ้ยมาประมาณหนึ่งเพราะว่าเขาชื่นชอบเรื่องราวประมาณนี้เหมือนกัน ก็เลยชวนพี่ปุ้ยมาเล่าเรื่องเดียวกันกับเราในโปรเจกต์นี้ด้วย” ก๊องเล่า

“เราชอบถ่ายพอร์เทรตอยู่แล้ว สิ่งที่เราคิดคือเราไม่อยากให้ภาพถ่ายมันบอกแค่ว่าช่างคนนี้หน้าตาเป็นยังไง เราอยากใส่ความเป็นคนทำงานเข้าไปด้วย เรามีไดเรกชั่นของการมีและไม่มีตัวตนของการที่เขาเป็นช่างทดไว้ในใจ เราว่าคนงานในโรงงานเขาไม่เคยถูกมองว่าเขามีคุณค่ามากเท่าดีไซเนอร์ เราเห็นว่าเขาเป็นดีไซเนอร์ที่ไม่เคยรู้ว่าตัวเองเป็นดีไซเนอร์ นี่คือแท็กไลน์ที่เราใช้เป็นไดเรกชั่นของภาพทุกภาพในโปรเจกต์นี้” ด้วยเหตุนี้ในแง่สไตล์ภาพ ปุ้ยจึงตั้งใจใส่ความเป็นดีไซเนอร์เข้าไปด้วย

ในนาทีที่เขากดชัตเตอร์ เขาย้ำกับเราว่าอยากการสื่อสารความเป็นคนที่เท่าเทียมของพี่ๆ ช่างฝีมือให้ได้มากที่สุด เขาจึงให้ความสำคัญกับเลเวลของการมองคนในภาพ หากช่างฝีมือคนไหนนั่งเก้าอี้ขาเตี้ยมากๆ หรือแทบจะนั่งติดพื้น เขาเลี่ยงจะที่ถ่ายคนเหล่านั้นในมุมกดโดยเลือกที่จะวางกล้องให้ต่ำลงเท่ากับช่างคนนั้นแทน รวมทั้งรายละเอียดอย่างอายคอนแทกต์ที่จะช่วยสร้างอิมแพกต์ให้กับภาพ

“ถ้าคุณได้ไปทุกๆ โรงงานกับเราจะเห็นว่าทุกที่มันอยู่ไกลจากทุกอย่าง อย่างโรงงานแถวทุ่งนาที่ปทุมธานี มันเวิ้งว้างมากเลยนะ เราเชื่อว่าชีวิตพวกเขาอยู่แค่กับบ้านและโรงงาน ไม่ได้ไปไหนด้วยซ้ำ การมีภาพถ่ายเข้ามาช่วย มันเป็นการพาเขาออกมาสู่โลกภายนอกเหมือนกัน” ช่างภาพทิ้งท้าย

ภาพนิทรรศการ พิชาญ สุจริตสาธิต, อิสรภาพ

issaraphap.com
pichansujaritsatit.com

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!