Being in the Book : ร้านหนังสือมือสองที่อยากเป็นมือหนึ่งในการส่งมอบความสุขให้นักอ่าน

Highlights

  •  ชบา-รัตนาภร เหล่าลิ้ม และ ภีม-การัณยภาส ภู่ยงยุทธ์ คือนักอ่านที่มีความฝันคล้ายนักอ่านทั่วไป นั่นคือคือการเปิดร้านหนังสือ แต่อาจแปลกกว่าคนอื่นบ้างตรงที่พวกเขาตัดสินใจทำมันทันทีที่เรียนจบในชื่อร้าน Being in the Book 
  • ร้าน Being in the Book เป็นร้านหนังสือมือสองที่มีจุดเด่นคือบรรยากาศที่เข้าอกเข้าใจนักอ่าน อีกทั้งยังมีข้อเขียนแนะนำหนังสือแต่ละเล่มโดยลายมือเจ้าของร้านด้วย
  • ทั้งหมดนี้ พวกเขาทั้งสองคนทำมีความตั้งใจและเป้าหมายว่าอยากเป็นร้านหนังสือมือสองที่เป็นมือหนึ่งในการส่งความสุขให้ผู้คน เหมือนกับที่พวกเขาทั้งคู่เคยได้รับมาแล้ว

ภายในซอยวัดอุโมงค์อันโด่งดังของจังหวัดเชียงใหม่วันนี้ นอกจากร้านคาเฟ่จำนวนมากที่ตั้งอยู่เกือบทุกโค้งถนน และโครงการบ้านข้างวัดที่เป็นจุดหมายของหลายคน เราขอให้ชะลอความเร็วลงสักนิด เพราะ ณ มุมหนึ่งของถนนเส้นนี้ มีร้านหนังสือมือสองขนาดเล็กอายุกำลังจะครบขวบหลบอยู่ 

ร้านแห่งนี้วางตัวเรียบๆ อยู่ในร่มเงาใต้ไม้ใหญ่ ไม่จอแจเท่าที่อื่นในซอยแต่น่าจอดแวะไม่แพ้กัน มีประตูเปิดอ้าสู่ฝั่งถนนรอต้อนรับผู้มองหาความสงบเงียบ เชื้อเชิญให้ผู้มาเยือนได้ใช้เวลาเข้าไปอยู่ในหนังสือเล่มต่างๆ ที่ทางร้านคัดสรรไว้

นี่คือ Being in the Book ร้านหนังสือมือสองน้องใหม่ของเชียงใหม่ 

Being in the Book ก่อตั้งโดยคู่รักนักอ่าน ชบา–รัตนาภร เหล่าลิ้ม และ ภีม–การัณยภาส ภู่ยงยุทธ์ พวกเขาทั้งสองเหมือนกับนักอ่านคนอื่นที่อยากเป็นเจ้าของร้านหนังสือเล็กๆ และใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางสิ่งที่รัก ดังนั้นเมื่อจบจากรั้วมหาวิทยาลัยหมาดๆ ชบาและภีมลงมือทำตามความฝันให้เป็นจริงทันที แถมยังขายดีตั้งแต่วันแรกๆ ด้วย

หนังสือส่วนใหญ่ของ Being in the Book เป็นภาษาอังกฤษ และด้วยความที่ทั้งคู่จบจากคณะเกี่ยวกับสังคมวิทยากับปรัชญา ทำให้นอกจากจะมีหนังสือวรรณกรรมชั้นเยี่ยมภายในร้านแล้ว ยังมีหนังสือด้านสังคม ประวัติศาสตร์ และปรัชญาที่ถูกคัดสรรมาอย่างน่าสนใจจำนวนมากให้ได้เลือกอ่าน บางเล่มก็กลายเป็นหนังสือหายากที่ไม่ได้รับการตีพิมพ์ใหม่อีกแล้ว ประกอบกับราคาที่ค่อนข้างถูกกว่าหนังสือใหม่ ร้านแห่งนี้จึงกลายเป็นขวัญใจของนักศึกษาและชาวต่างชาติอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตามนอกจากราคาที่ถูกกว่าร้านหนังสือมือหนึ่ง Being in the Book ยังมีความพิเศษบางอย่างอีกที่ทำให้เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ลูกค้าหลายคนก็เริ่มเรียกร้องให้พวกเขากลับมาเปิดร้านโดยทันที ทั้งที่พวกเขาก็มีช่องทางขายหนังสือออนไลน์ 

ร้านแห่งนี้มีความสำคัญยังไงต่อนักอ่านเชียงใหม่ ทำไมพวกเขาสามารถยืนได้ท่ามกลางร้านหนังสือที่มาก่อนจำนวนมาก

ขอเชิญพลิกหน้ากระดาษหาคำตอบได้ตั้งแต่นี้

 

บทที่ 1: เราพบกันเพราะหนังสือ

“ตอนนั้นชบาเป็นพนักงานอยู่ที่ร้านเล่า (ร้านหนังสืออิสระในเชียงใหม่) ส่วนผมไปเป็นลูกค้าของเขาที่ร้านบ่อยๆ…”

ภีมพบชบาในร้านหนังสือ เริ่มรู้จัก พูดคุย แลกเปลี่ยน สนิทสนมกันมากขึ้นผ่านหนังสือที่พวกเขาชอบร่วมกัน ขณะที่ทั้งคู่เรียนอยู่ช่วงปีท้ายๆ ของมหา’ลัย พวกเขายังได้ก่อตั้ง Reading Group ภายใต้ชื่อ Being in the Book ชวนนักอ่านมาแลกเปลี่ยนแง่คิดจากมุมมองของแต่ละคนเกี่ยวกับหนังสือที่ถูกตั้งขึ้นเป็นวาระในแต่ละครั้ง สร้างความเคลื่อนไหวน่าสนใจในแวดวงนักอ่าน และยังเป็นจุดเริ่มต้นทำให้ทั้งสองเริ่มเป็นที่รู้จักในหมู่นักอ่านเชียงใหม่มากขึ้น 

ต่อมาทั้งสองตัดสินใจเข้าไปทำงานด้วยกันที่ร้านหนังสือ Shaman ร้านขายหนังสือมือสองขนาดใหญ่ของเชียงใหม่ ได้ทำงานท่ามกลางหนังสือจำนวนมาก เรียนรู้ระบบร้านหนังสือ และค้นพบเสน่ห์ของหนังสือในร้านหนังสือมือสอง ซึ่งกลายเป็นบทเรียนสำคัญที่พวกเขานำมาใช้เมื่อถึงคราวได้เปิดร้านหนังสือของตัวเอง

“ตอนที่ทำงานที่ร้าน Shaman เราได้ค้นพบว่าร้านหนังสือมือสองมีลักษณะต่างจากร้านหนังสือมือหนึ่งตรงความสัมพันธ์ระหว่างคนซื้อกับคนขายที่ค่อนข้างมีความยืดหยุ่น 

“เราไม่สามารถต่อราคาร้านหนังสือมือหนึ่งที่ราคาถูกกำหนดมาแล้วตามกลไกตลาด ยกเว้นว่าจะมีโปรโมชั่นลดราคา ซึ่งก็ยังเป็นสิ่งที่ร้านกำหนด แต่ร้านหนังสือมือสองเราสามารถต่อรองได้ ผู้ซื้อมีอำนาจต่อรอง เป็นความสัมพันธ์ที่ยืดหยุ่นกว่า ถ้าไปร้านแรกแล้วไม่พอใจราคา ก็สามารถเดินไปร้านอื่นๆ ได้อีก แต่คุณก็ต้องทำการบ้าน มีข้อมูลหนังสือที่อยากได้มาพอสมควร เจ้าของร้านเองก็มีอำนาจตัดสินใจในหนังสือของร้านตัวเองเช่นกันว่าจะลดราคาให้ได้ถึงเท่าไหร่ จนกว่าจะเจอจุดพอใจทั้งสองฝ่าย มันกลายเป็นตลาดที่ไม่เป็นทางการ เป็นความสัมพันธ์อีกแบบที่ไม่เหมือนกับร้านหนังสือมือหนึ่งเลย” ภีมอธิบายก่อนชบาช่วยเสริม

“ด้านความรู้สึก เราคิดว่าบรรยากาศของร้านหนังสือมือสองมีความเป็นกันเองกว่า บางทีเราได้คุยกับลูกค้าแล้วเห็นว่าเขาชอบหนังสือสักเล่มในร้านเรามากจริงๆ หรือบางทีทราบว่าเขาเป็นนักศึกษาและตามหาหนังสือเล่มนี้เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลอ้างอิง เราก็สามารถลดราคาให้เขาได้ อีกอย่างเราเป็นพวกชอบกระดาษเก่าๆ สิ่งเหล่านี้เป็นเสน่ห์ของร้านหนังสือมือสองสำหรับเรา”

นี่เป็นสิ่งที่ทั้งคู่ประทับใจและเรียนรู้สิ่งที่ได้จากการทำงานในร้าน และเป็นสิ่งที่พวกเขาตั้งใจจะทำให้เกิดขึ้นแบบเดียวกันหากมีโอกาสได้ทำร้านหนังสือของตัวเอง

ซึ่งต่อมาหนังสือก็ได้พาให้พวกเขาไปพบกับโอกาสที่ราวกับโชคชะตาบันดาลให้

 

บทที่ 2: จากโต๊ะสู่ร้าน จากความฝันสู่ความจริง

“ตอนนั้นภีมเรียนจบแล้ว เพิ่งออกจากงาน ยังไม่มีอะไรทำ เราเลยชวนเขาให้ลองมาตั้งโต๊ะขายหนังสือกัน” ชบาเล่าเหตุการณ์วันนั้น

เหมือนบุญหล่นทับ

“เราตัดสินใจตั้งโต๊ะขายกันข้างถนน ด้านหน้าร้านของเราในปัจจุบันนี่แหละ วันแรกที่ขายเรารู้สึกสนุกมากเลย มีฝรั่งแวะ มีนักท่องเที่ยวหยุดดู ผู้คนเข้ามาสนใจเยอะมาก และเราก็ขายได้พอสมควร”

เหมือนบุญหล่นทับซ้ำสอง

“ที่ตรงที่เราขายคือด้านหน้าของบ้านพักที่ภีมเช่าอยู่ เราก็ขอตั้งร้านจากคุณยายเจ้าของ เขาก็ใจดีอนุญาต พอวันแรกที่เห็นเราขาย แกก็เดินเข้ามาบอกกับเรา… ‘งั้นเดี๋ยวเปิดร้านเลยละกัน’

“ตอนนั้นเราไม่ได้สนใจอะไร คิดว่าแกคงพูดเล่น ปรากฏว่าตอนเช้าของวันต่อมา แกก็เดินมาถามเราอีกครั้ง จะทำไหม ทำเลยไหมจะได้เรียกช่างมาดู สรุปแกเอาจริง กลายเป็นตั้งโต๊ะขายหนังสือวันเดียวก็ได้เปิดร้านหนังสือเลย” ชบาหัวเราะสนุก

หลังจากนั้นไม่นานทั้งคู่ร่วมกับช่างของคุณยายสร้างร้าน Being in the Book ขึ้นมาในเวลาอันรวดเร็วตรงบริเวณพื้นที่โล่งใต้ร่มไม้หน้าบ้านพัก ตั้งอยู่ภายในรั้วด้านหลังบริเวณที่พวกเขาใช้เป็นที่ตั้งโต๊ะขายหนังสือริมทาง

ฟังดูเป็นการตัดสินใจที่ใจร้อนของคุณยายเจ้าของที่ แต่เมื่อทั้งสองลองย้อนนึก คุณยายเองก็เห็นทั้งสองมา 2 ปีตั้งแต่เข้ามาเช่า เวลาถามไถ่ว่าไปไหน จุดหมายของทั้งคู่ก็มักเกี่ยวข้องกับหนังสือ ภายในห้องของพวกเขาเองก็มีแต่หนังสือ สิ่งที่คุณยายหยิบยื่นให้กับพวกเขาจึงไม่มีทางพ้น ‘พื้นที่’ ให้พวกเขาและหนังสืออยู่ด้วยกัน

“แม้คุณยายจะเป็นคนใจร้อน แต่แกก็เป็นคนใจดี เป็นความโชคดีของเรานะ เพราะถ้ายายไม่เสนอ ป่านนี้เราก็คงไม่ได้เปิดร้านของตัวเองสักที เพราะเราเองก็ไม่ได้มีเงินที่จะมาสร้าง จะไปหาที่ดีๆ ค่าเช่าก็แพงสู้ไม่ไหว เป็นความโชคดีของเราจริงๆ ครับ” ภีมสรุปเหตุการณ์การเกิดขึ้นของร้าน

เมื่อมีร้านของตนเอง ทั้งคู่ค่อยๆ ทำให้ Being in the Book เป็นร้านหนังสือมือสองอย่างที่ตั้งใจ คอยหยิบของ หาหนังสือดีๆ มาเติมเต็มร้าน ตอบความต้องการของลูกค้าดั่งที่วาดฝันไว้

แต่ความจริงกลับไม่ง่ายอย่างนั้น

 

บทที่ 3: อยากเป็นมือหนึ่งของร้านหนังสือมือสอง

“เราอยากทำให้ร้านมันดี แต่ก็ต้องยอมรับว่า เรายังเป็นเด็ก มันขลุกขลัก ไม่เข้าใจตลาด และเราดูแลร้านนี้กันเพียงสองคน เราเคยคิดไว้ตอนแรกว่าอยากจะทำอย่างนั้น อยากทำอย่างนี้ แต่พอเริ่มทำถึงเพิ่งรู้ว่ามันเหนื่อยมาก มันเหนื่อยมาาาาาก” ชบาลากเสียงย้ำอีกครั้ง

“เหนื่อยตั้งแต่หาหนังสือ เหนื่อยตั้งแต่ต้องตื่นขึ้นมาเปิดร้าน เราไม่มีตังค์ไปจ้างใคร ตอนช่วงที่เปิดแรกๆ เราต้องตื่นมาเปิดร้านแล้วก็รีบไปเรียนต่อ และช่วงนั้นเป็นช่วงที่ร้านเราขายดีมาก ด้วยทำเล ทำให้มีนักท่องเที่ยวแวะเข้ามาตลอด ซึ่งเราควรจะดีใจ” ชบานิ่งไปสักครู่ก่อนเล่าต่อว่า “แต่ด้วยความขี้อายของเรา เราคุยกับลูกค้าไม่เก่ง คุยไม่เป็น ไม่ค่อยได้คุยกับใคร วันไหนที่เราเฝ้าร้านและลูกค้ามาเยอะๆ เราจะแอบไปนั่งอยู่หลังร้าน เพราะไม่อยากเจอ ไม่ใช่ว่าเราหยิ่ง แต่เรากลัว ถ้าเขาถามเรื่องหนังสือเราก็ยังตอบได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องอื่นล่ะ เราคุยไม่เป็น” ชบาพูดด้วยแววตาจริงจัง

สิ่งที่ชบารู้สึกเป็นสิ่งเดียวกับเหตุผลที่หลายคนเลือกเข้าหาหนังสือ พยายามเร้นกายจากโลกภายนอก จมไปในเรื่องราวของตัวอักษร หลบอยู่เบื้องหลังปกหนังสือป้องกันตนเองจากสายตารอบข้าง ไม่ใช่เพราะว่าพวกเขามีปัญหา เปล่า แต่เป็นเพราะวิธีการสื่อสารด้วยการพูดที่เขารู้สึกไม่ถนัด ไม่สบายใจ ไม่มีใครอยากถูกตัดขาดจากโลก นั่นทำให้มนุษย์พยายามสื่อสารเพื่อเชื่อมต่อกับสิ่งรอบข้างเสมอโดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นแค่การพูดเท่านั้น โลกนี้จึงมีศิลปินที่สื่อสารความรู้สึกและเรื่องราวของพวกเขาผ่านรูปวาด มีนักดนตรีที่สื่อสารผ่านเสียงเพลง และสำหรับในที่นี่ก็คือหนังสือและตัวอักษร

จึงไม่น่าแปลกใจที่แม้ชบาจะรู้สึกหวาดกลัวกับการพบเจอลูกค้า แต่เธอเองก็เป็นผู้ก่อตั้ง Reading Club ที่ชวนคนอื่นๆ มาพูดคุยเรื่องหนังสือ

“ชื่อ Being in the Book มีที่มาจากหลักปรัชญา Being-in-the-World ของ Martin Heidegger นักปรัชญาชาวเยอรมัน Being-in-the-World คือการเป็นอยู่ในโลกนี้ ที่ไม่ว่าเราจะทำอะไร เราก็จะเชื่อมโยงกับคนอื่นเสมอ เชื่อมโยงกับโลกนี้เสมอ ต่อให้เรารู้สึกโดดเดี่ยว ปะติดปะต่อกับคนอื่นไม่ได้แค่ไหน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราก็เชื่อมโยงกับคนอื่นอยู่ตลอดเวลา การที่โต๊ะมันจะเป็นโต๊ะได้ก็ต้องมีส่วนประกอบของไม้ มีตะปู มีค้อน มันจึงเป็นโต๊ะ เราชอบความคิดนี้ของ Heidegger เลยเอามาเปลี่ยนเป็น Being in the Book การเป็นอยู่ในโลกหนังสือ เราก็เชื่อมโยงอยู่กับหนังสือ และก็เชื่อมโยงอยู่กับโลก ลึกๆ แล้วเราก็รู้สึกอยากเชื่อมโยงกับคนอื่น อยากมีความเป็นชุมชน เป็นกลุ่มที่เราอยู่แล้วรู้สึกปลอดภัย สบายใจ เข้าใจ สื่อสารด้วยภาษาเดียวกัน เราจึงก่อตั้งกลุ่ม Being in the Book ขึ้นมา” ชบาอธิบาย

เช่นเดียวกับตัวร้านหนังสือของพวกเขาที่เปรียบเสมือนสื่อกลางที่ทำให้ผู้คนที่หลงรักหนังสือได้เข้ามาอยู่ การรู้ตัวเองของชบาและภีมก็เหมือนการส่องประกายจากตัวเองสู่รอบข้าง

“ตอนแรกที่เรากลัวลูกค้า ไม่รู้ว่าต้องทำตัวยังไงจนหนีมาหลบอยู่หลังร้าน ในความเป็นจริงเวลาคนที่มาซื้อหนังสือ เราจะไปนั่งหลังร้านก็ไม่เป็นไร ลูกค้ามาเขาไม่ได้อยากให้เราเทคแคร์มากอย่างที่เรากังวล และจุดนี้น่าจะเป็นจุดเด่นของเราได้เหมือนกัน แม้มองเผินๆ ดูเป็นจุดด้อยของคนอื่น แต่เรารู้ว่าลูกค้าที่เข้ามาในร้านหนังสือของเราเป็นยังไง เขาไม่ได้ต้องการให้เราชวนคุยอะไร ปล่อยให้เขาใช้เวลาอยู่กับหนังสือ เมื่อเขามีคำถาม เขาก็จะมาถามเราเอง เราถึงเข้าไปช่วยเขา ถ้าเป็นเราไปร้านหนังสือเจอเจ้าของหรือพนักงานคอยชวนคุยอยู่ตลอดเราก็อึดอัด นี่จึงกลายเป็นบุคลิกของร้านเราที่ลูกค้าหลายคนชอบ”

จะบอกว่า Being in the Book เป็นร้านพูดไม่เก่งก็ได้ แต่ทั้งคู่ก็พยายามสื่อสารความตั้งใจของพวกเขาที่อยากให้ร้านรวมถึงหนังสือดีๆ ภายในร้านสู่มือนักอ่าน ส่วนของภีมเองแม้เขาจะพูดไม่เก่ง แต่เขาก็เลือกสื่อสารผ่านสิ่งที่เขาถนัด อย่างการเขียน

“ผมอยากสื่อสารแบบนั้น เราเป็นคนพูดไม่เก่ง เราไม่ถนัดเริ่มต้นสนทนากับใครก่อน แต่ถ้าเป็นเรื่องเขียนก็อีกเรื่องหนึ่ง หนังสือที่อยู่ในร้านของเรามันพูดเองไม่ได้ เขาต้องการตัวแทน เวลาขายหนังสือเล่มไหน เราจึงต้องเขียน พยายามบรรยายให้ลูกค้าได้ทำความรู้จักกับหนังสือเล่มนั้นช่วยการตัดสินใจซื้อของเขา

“การแนะนำแบบนี้เราเองก็ต้องมีความจริงใจ พูดความจริง นี่เป็นสิ่งที่เจ้าของร้าน Shaman สอนผม ถ้าเรารู้สึกไม่ชอบหนังสือเล่มไหน เราก็ต้องพูดไปตามตรงว่าไม่ชอบ ไม่พยายามบอกคนอื่นว่ามันดีนะ แต่บอกสิ่งที่เราคิด ว่าหนังสือเล่มนี้สำหรับมันบกพร่องตรงไหน คุณอาจจะชอบก็ได้ ลองเอาไปอ่านดู แล้วมาแลกเปลี่ยนกัน”

หนังสือที่ภีมได้เขียนบรรยายไปแล้ว ส่วนใหญ่ขายได้ทุกเล่ม เป็นเอกลักษณ์ของร้านที่ลูกค้าหลายคนก็กลายเป็นแฟนตัวหนังสือของภีม และคอยอ่านทางหน้าเพจเฟซบุ๊กของ Being in the Book ว่าจะโพสต์หนังสืออะไร และเล่าเรื่องหนังสือเล่มนั้นในแง่มุมไหนให้น่าสนใจ

“มันเหนื่อยแต่ก็สนุกดีนะครับ”

 

บทต่อไป…

เราไม่โกหกที่จะบอกว่าร้าน Being in the Book ยังไม่ใช่ร้านหนังสือมือสองอันดับหนึ่ง ณ ตอนนี้ แต่จากความตั้งใจดีของทั้งสองที่พยายามเป็นตัวเองและดูแลร้านในแบบของพวกเขาให้ดีที่สุด เราเชื่อว่าสถานที่นี้จะดึงดูดกลุ่มคนประเภทเดียวกับพวกเขาให้มาเจอกัน และอาจเกิดเป็นชุมชนอย่างที่ชบาและภีมหวัง

อย่างตอนที่โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ลูกค้าก็เรียกร้องให้พวกเขากลับมาเปิดร้านเร็วๆ นี่น่าจะเป็นคำตอบต่อสิ่งที่พวกเขาพยายามทำกับร้านได้เป็นอย่างดี 

และถ้าครั้งหน้าคุณมีโอกาสได้มาซอยวัดอุโมงค์และอยากลองเปลี่ยนบรรยากาศจากคาเฟ่ดูบ้าง เราขอชวนให้ลองมาที่ร้านหนังสือมือสองแห่งนี้ดู

 

AUTHOR