โฉมงามกับเจ้าชายอสูร ว่าด้วยโฉมงามผู้ปราบสัตว์ร้ายและเรื่องราวคล้ายกันในประวัติศาสตร์ที่ปราศจากความสุขชั่วนิรันดร

Beauty and the Beast หรือชื่อในภาษาไทย โฉมงามกับเจ้าชายอสูร เป็นแอนิเมชั่นที่ถูกผลิตขึ้นในช่วงเวลาที่เรียกกันว่าเป็นยุคเรเนซองส์ของดิสนีย์ เพราะเป็นช่วงเวลาที่ดิสนีย์เพิ่งประสบความสำเร็จจากแอนิเมชั่น The Little Mermaid หรือ เงือกน้อยผจญภัย ไปเมื่อสองปีก่อนหน้า และได้มีการปฏิวัติวิธีการเล่าเรื่องโดยใช้เพลงเป็นองค์ประกอบหลักในภาพลักษณ์ที่คล้ายกับการทำละครบรอดเวย์ แอนิเมชั่นที่เดินตามรูปแบบที่ว่านี้ ไม่ว่าจะเป็น Beauty and the Beast (1991) Aladdin (1992) The Lion King (1994) ล้วนเป็นผลงานชิ้นโบแดงที่สร้างชื่อเสียงโด่งดังพร้อมรายรับมหาศาล 

Beauty and the Beast เป็นแอนิเมชั่นเรื่องแรกที่ได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสก้าสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Picture) ซึ่งแม้จะไม่สามารถพิชิตรางวัล แต่เพลงหลักของเรื่องที่ใช้ชื่อเดียวกันกับแอนิเมชั่นอย่างเพลง Beauty and the Beast ก็คว้ารางวัลออสการ์สาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมได้สำเร็จ กลายเป็นหมุดหมายสำคัญที่ผู้สร้างแอนิเมชั่นได้รับการยอมรับในเวทีประกาศรางวัลทัดเทียมกับหนังที่ใช้บุคคลจริงเป็นผู้แสดง 

แม้ Beauty and the Beast จะสร้างปรากฏการณ์มากมาย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องราวเกี่ยวกับสาวงาม และบุรุษผู้มีรูปลักษณ์เป็นดั่งสัตว์ร้ายไม่ใช่เรื่องใหม่ ในประเทศนอร์เวย์ มีเรื่องเล่าท้องถิ่นเกี่ยวกับสาวงามที่ต้องเป็นภรรยาของหมีขั้วโลก ในแอฟริกาใต้ มีตำนานเกี่ยวกับสาวงามที่ต้องแต่งงานกับพญางู 5 เศียร ส่วนประเทศจีน ก็มีเรื่องเล่าคล้ายกันเกี่ยวกับชายชราผู้เผลอลุกล้ำเข้าไปในเขตของพญางูและจำต้องสัญญาว่าจะยกลูกสาวหนึ่งในสามของตนให้พญางูแลกกับอิสรภาพ ตำนานท้องถิ่นเหล่านี้ นำเสนอสาวงามในฐานะสตรีผู้เสียสละความสุขส่วนตนเพื่อคนรอบข้าง และความดีงามของเธอได้เปลี่ยนให้อสูรร้ายกลับกลายเป็นชายรูปงาม โดยมีคติสอนใจคล้ายกันคือ ความงามไม่ได้อยู่เพียงแค่รูปลักษณ์ภายนอก ความรักสามารถเอาชนะความตาย หรือ อย่าเชื่อคำเขาจนกว่าจะได้สัมผัสด้วยตัวเอง 

ทุกวันนี้คำว่า ‘โฉมงาม’ (beauty) กับ ‘อสูร’ (beast) เป็นคำเปรียบเปรยถึงสองบุคคลที่รูปลักษณ์แตกต่างกันเป็นอย่างมาก วลีนี้ถูกหยิบมาใช้อย่างติดปาก ไม่น้อยไปกว่าสำนวนอื่นๆ อย่าง mice and men (สื่อถึงวรรณกรรมเรื่อง Of Mice and Men ของจอห์น สไตน์เบ็ก กล่าวถึงมิตรภาพของชายหนุ่มสองคนที่มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง), sticks and stones (แปลว่าไม้และหิน มีความหมายถึงสิ่งลมๆ แล้งๆ หรือการพูดไปเรื่อย), หรือ vim and vigor (มาจากภาษาละตินแปลว่าความเข้มแข็งและพลัง) ในภาพยนตร์ดังอย่าง King Kong (1933) ก็ได้มีการยกวลีที่ว่ามาใช้บรรยายถึงจุดจบของสัตว์ร้าย โดยกล่าวว่า “ไม่ใช่เพราะเครื่องบิน แต่เป็นเพราะโฉมงามต่างหาก ที่สามารถปราบอสูร” (It wasn’t the airplanes. It was beauty killed the beast)

จากตำนานสู่เรื่องจริง ว่าด้วย Beauty and the Beast กับบุคคลจริงในประวัติศาสตร์ 

แม้ตำนานสาวงามกับสัตว์ร้ายจะผูกโยงกับคำสาป แต่ทราบหรือไม่ว่าในโลกใบนี้มีเรื่องราวของสาวงามที่ต้องแต่งงานกับบุรุษผู้มีรูปลักษณ์ต่างจากปกติ ต่างกันที่ตอนจบของเรื่องนี้ไม่มีเวทมนตร์วิเศษและความสุขชั่วนิรันดร เจ้าชายอสูรในชีวิตจริง มีชื่อว่าเปตรุส กอนซาลวัส ส่วนโฉมงามของเรื่อง คือสตรีนามว่าแคทเธอรีน

เปตรุสกับแคทเธอรีน

เปตรุส กอนซาลวัส เกิดในปี 1537 ที่หมู่เกาะคะแนรีซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรสเปน เขาเกิดมาด้วยความผิดปกติทางพันธุกรรมเรียกกันว่าโรคมนุษย์หมาป่า (Hypertrichosis) ทำให้มีขนยาวขึ้นบนใบหน้าและส่วนต่างๆ ของร่างกาย ความผิดปกตินี้เกิดได้ทั้งกับเพศชายและเพศหญิง แต่ถือเป็นกลุ่มอาการผิดปกติที่หาพบได้ยากมาก เปตรุสเกิดมาด้วยลักษณะเฉพาะตัวดังกล่าว ทำให้เขาถูกปฏิบัติอย่างเลวร้ายประหนึ่งสัตว์ ถูกจับขังกรงและให้ทานอาหารที่ไม่ผ่านความร้อน 

ในปี 1547 เปตรุสที่มีอายุเพียง 10 ขวบ ถูกส่งมอบเป็นของขวัญให้พระเจ้าอองรีที่ 2 ผู้ครองบัลลังก์ต่อจากบิดาเป็นกษัตริย์แห่งฝรั่งเศส การสะสมมนุษย์ประหลาด หรือที่เรียกกันว่า ‘ผู้คนแห่งความสุข’ เป็นสิ่งที่กษัตริย์ยุโรปให้ความสนใจมาตั้งแต่ยุคกลางและเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางทั้งในสเปน โปรตุเกส ฝรั่งเศส ฯลฯ กลุ่มคนประหลาดที่ถูกรวบรวมไว้ในราชสำนัก สามารถแบ่งออกเป็นสามกลุ่มด้วยกัน คือ 1. บุคคลที่มีรูปร่างภายนอกผิดปกติ ยกตัวอย่างเช่น ผู้มีอวัยวะผิดรูป ตัวสูงหรือเตี้ยเกินไป (รวมไปถึงผู้ที่มีสีผิวผิดแปลกไปจากชาวยุโรป) 2. บุคคลผู้มีจิตใจผิดปกติ เช่นผู้มีจิตวิปลาส 3. ผู้มีความสามารถในการเล่นตลก แสดงความคิดเห็นที่ดูแปลกประหลาด สร้างความขบขันให้ราชสำนัก 

พระเจ้าอองรีที่ 2
การสะสมมนุษย์ประหลาด ถือเป็นที่นิยมในราชสำนักยุโรป

การเก็บสะสมมนุษย์ที่มีรูปลักษณ์ต่างไปจากความคาดหวังของสังคม ไม่ใช่การกระทำที่แสดงถึงความชื่นชม แต่เป็นการบอกว่าสิ่งเหล่านี้คือผลลัพธ์ที่บิดเบี้ยวของมนุษย์ ตรงกันข้ามกับภาพลักษณ์สมบูรณ์แบบของราชสำนัก อองรีที่ 2 เมื่อได้รับเปตรุสเป็นของขวัญ ก็มีความสนใจในความประหลาดของเด็กชายเป็นอย่างมากถึงขนาดตัดสินใจว่าจะลองให้การศึกษาแก่เด็กชาย เพื่อคอยดูว่าเปตรุสคนนี้จะมีความสามารถทางสติปัญญาเหมือนมนุษย์ปกติหรือไม่ 

ปรากฏว่าเปตรุสไม่เพียงอ่านออกเขียนได้ แต่ยังมีความเชี่ยวชาญถึงสามภาษารวมไปถึงภาษาละติน ทำให้กษัตริย์อองรีมีความพอใจเป็นอย่างมาก อนุญาตให้เปตรุสสวมเสื้อผ้าหรูหราเหมือนขุนนาง ทานอาหารอย่างดี มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นตัวเขาก็มีสถานะเป็นเพียงของสะสมเพื่อความสนุกสนาน ขาดอิสระและไม่ได้รับการเคารพเทียบเท่าข้าราชบริพารคนอื่นๆ 

หลังกษัตริย์อองรีที่ 2 สวรรคต ราชินีม่ายของพระองค์ – พระนางแคทเธอรีน เดอ เมดิชี ขึ้นมาเป็นผู้สำเร็จราชการ ครองอำนาจในนามของลูกชาย ควีนแคทเธอรีนมีความสนใจที่จะรู้ว่า หากอสูรหน้าตาอัปลักษณ์ได้แต่งงานกับสาวงาม ลูกๆ ของเขาจะออกมามีหน้าตาเป็นอย่างไร? เมื่อคิดได้ดังนั้น ราชินีจึงมองหาสาวงามในวัง และได้เลือกเอาหนึ่งในสาวใช้ที่มีใบหน้าสวยงามนามว่าแคทเธอรีน มาเป็นเจ้าสาวของเปตรุส

เจ้าสาวคนงามรู้สึกอย่างไรกับเจ้าบ่าวที่มีใบหน้าอัปลักษณ์? เราไม่มีบันทึกถึงเรื่องนี้ แต่เชื่อว่าแคทเธอรีนน่าจะมีความเห็นใจและคงรักใคร่เปตรุสอยู่บ้าง เนื่องจากทั้งสองใช้ชีวิตร่วมกันนานกว่า 40 ปี และมีลูกด้วยกันมากถึง 7 คน 4 ใน 7 สืบทอดลักษณะทางพันธุกรรมของบิดา 

ควีนแคทเธอรีนมีความพอใจเป็นอย่างมากเมื่อได้เห็นผลลัพธ์ ทรงได้มีรับสั่งให้ส่งครอบครัวตัวประหลาดไปทัวร์ราชสำนักต่างๆ ทั่วยุโรปเพื่อสร้างความสนุกสนาน ลูกๆ ของเปตรุสกับแคทเธอรีนได้สวมใส่เสื้อผ้าหรูหราเหมือนราชนิกูล นักวิทยาศาสตร์สนใจเด็กตัวน้อยที่เกิดมารูปลักษณ์แปลกประหลาดและได้ทำการศึกษาพวกเขาประหนึ่งเป็นสัตว์ไม่ใช่มนุษย์ 

หนึ่งในลูกของเปตรุสและแคทเธอรีน

ครอบครัวของเปตรุสและแคทเธอรีนย้ายมาอาศัยในราชสำนักปาร์มาที่อิตาลี ที่ซึ่งดยุกแห่งปาร์มารู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่ได้ครอบครองครอบครัวสุดประหลาดกระทั่งพรากลูกๆ ทั้ง 4 ที่มีรูปลักษณ์เหมือนบิดาออกจากพ่อแม่ เพื่อส่งตัวพวกเขาไปเป็นของบรรณาการให้ราชสำนักอื่น ส่วนลูกอีก 3 คนที่เกิดมามีสภาพร่างกายปกติ ไม่มีบันทึกหรือภาพวาดของพวกเขาเหลือให้ศึกษาต่อในปัจจุบัน 

โรเบอร์โต ซัพเพรี (Roberto Zapperi) นักประวัติศาสตร์ชาวอิตาลีที่ศึกษาเรื่องราวของเปตรุสกล่าวถึงชีวิตที่เหมือนจะสุขสบาย แต่ไม่สามารถเลือกเส้นทางชีวิตตัวเองได้ของครอบครัวนี้ว่า “ไม่เชิงถูกกักขัง แต่ก็ไม่เคยมีอิสระ” แคทเธอรีนกับเปตรุสใช้ชีวิตบั้นปลายในหมู่บ้านเล็กๆ ที่อิตาลี แคทเธอรีนจากไปในปี 1623 ส่วนเปตรุส ไม่มีบันทึกเกี่ยวกับการตายของเขา เป็นไปได้ว่าเปตรุสไม่ได้รับพิธีกรรมสุดท้าย ‘Last Rites’ ซึ่งเป็นศีลระลึกที่ชาวคาทอลิกได้รับเมื่อสิ้นสุดชีวิต ดังนั้นจึงไม่มีบันทึกการตายของเขาถูกเก็บไว้ในฐานข้อมูลของตัวเมือง 

เรื่องราวของแคทเธอรีนกับเปตรุสไม่มีทั้งแม่มดใจร้าย ไม่มีคำสาป และไม่มีอสูรกาย แต่เส้นทางชีวิตของทั้งสองกลับเลวร้ายยิ่งกว่าตำนานเรื่องไหนที่ได้กล่าวมา เรื่องนี้อาจสอนให้รู้ว่า ชีวิตจริงของบุคคลในประวัติศาสตร์ เลวร้ายไม่น้อยไปกว่าเรื่องราวต่างๆ ในเทพนิยาย 

จากประวัติศาสตร์สู่ดิสนีย์ โฉมงามกับเจ้าชายอสูร จากนิทานพื้นบ้านสู่แอนิเมชั่นระดับโลก

แม้ว่า โฉมงามกับเจ้าชายอสูร ในเวอร์ชั่นดิสนีย์ จะออกฉายในปี 1991 หรือเมื่อประมาณสามสิบกว่าปีที่แล้ว แต่เส้นทางของนิทานเรื่องนี้ใต้ปีกของทีมงานดิสนีย์สามารถย้อนกลับไปตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อนายวอลเตอร์ อีเลียส ดิสนีย์ ได้เดินทางไปยุโรป และได้ขนเอาหนังสือนิทานมากถึง 335 เล่มกลับมาสหรัฐอเมริกา กล่าวกันว่านิทานที่ถูกขนไปในคราวนั้น เป็นรากฐานสำคัญให้ดิสนีย์เลือกหยิบมาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานที่จะปรากฏตามมา 

หนังสือนิทานเรื่อง Beauty and the Beast เป็นหนึ่งในนิทานที่ถูกเลือกติดมือมาด้วยในตอนนั้น โดยเค้าโครงของเรื่องนี้ ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในภาษาฝรั่งเศสเมื่อปี 1740 เป็นผลงานของ Gabrielle-Suzanne Barbot de Gallon de Villeneuve รวมเล่มอยู่ในหนังสือเล่มใหญ่เรื่อง The Young American and Tales of the Sea ต่อมาเรื่อง Beauty and the Beast  ได้ถูกแยกออกมาตีพิมพ์ใหม่ในอีก 16 ปีต่อมา โดยมีการตัดทอนเนื้อหาและเรียบเรียงใหม่โดยนักเขียนอีกท่านคือ Jeanne-Marie Leprince de Beaumont 

เวอร์ชั่นของ Beaumont กลายเป็นมาตรฐานของเรื่องราวโฉมงามกับเจ้าชายอสูร และกลายเป็นผลงานที่ได้รับความนิยมทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา นิทานเรื่องนี้สอดแทรกคุณธรรมแบบศาสนาคริสต์ ยกตัวอย่างเช่น ความเย่อหยิ่งจองหองจะนำไปสู่การลงโทษ คุณธรรม ความอดทน และความขยันหมั่นเพียรย่อมได้รับการตอบแทน และการแต่งงานจะนำไปสู่ความสุข 

ดิสนีย์นั้น แรกเริ่มเดิมทีอยากผลิตแอนิเมชั่นเรื่องนี้มานาน แต่ไม่รู้ว่าจะทำให้เรื่องราวสนุกสนานได้อย่างไร กระทั่งดิสนีย์เปลี่ยนการนำเสนอแอนิเมชั่นโดยการนำเพลงเข้ามาประกอบ จึงมีการคิดให้วัตถุต่างๆ ในปราสาทของเจ้าชายอสูรมีชีวิตและร้องเพลงได้ กลายเป็นสีสันที่ทำให้แอนิเมชั่นเรื่องนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเพลง Be Our Guest ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีถูกแต่งเพื่อต้อนรับพ่อของเบลล์ (นางเอกของเรื่อง) แต่ถูกย้ายมาใช้เพื่อต้อนรับเบลล์ในภายหลัง กลายเป็นจุดสำคัญที่ทำให้เบลล์ได้ทำความรู้จักและสานมิตรภาพกับบรรดาข้าวของเครื่องใช้ในวังของอสูร 

be-our-guest เพลงซึ่งถูกเปลี่ยนมาร้องเพื่อต้อนรับเบลล์แทนพ่อ

การเปลี่ยนให้วัตถุในบ้านมีชีวิตและสามารถนึกคิดได้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ดิสนีย์เคยนำเสนอธีมนี้ในแอนิเมชั่นมิกกี้ เมาส์ ตอนที่มิกกี้ต้องต่อกรกับบรรดาเฟอร์นิเจอร์ที่ลุกขึ้นมาต่อต้านเจ้าของบ้าน ซึ่งแนวคิด มานุษยรูปนิยม (Anthropomorphism) หรือการหยิบเอาอารมณ์ ความรู้สึกของมนุษย์ ไปมอบให้สิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นมานาน และคงไม่ใช่เรื่องน่าตกใจหากจะกล่าวว่าแนวคิดที่ว่านี้ นำไปสู่เทคโนโลยี Smart Home ในปัจจุบัน

ของใช้ในบ้านที่มีชีวิตและคิดได้เหมือนมนุษย์ นำไปสู่เทคโนโลยี Smart Home ในปัจจุบัน

อีกหนึ่งการนำเสนอที่ทำให้ Beauty and the Beast กลายเป็นผลงานที่ตระการตา เป็นเพราะแอนิเมชั่นเรื่องนี้ใช้การผสมผสานทั้งการวาดด้วยมือและเทคนิคพิเศษจากคอมพิวเตอร์ ยกตัวอย่างเช่นการสร้างฉากในห้องเต้นรำ ระหว่างที่เบลล์กับเจ้าชายอสูรอยู่ในอ้อมแขนของกันและกัน โดยมีมิสซิสพอตต์เป็นผู้ขับร้องบทเพลง การเคลื่อนไหวที่สวยงามภายห้องถือเป็นฉากที่ทรงพลัง และคงไม่สามารถทำได้หากใช้เทคนิคการวาดภาพด้วยมือเพียงอย่างเดียว 

บริบททางประวัติศาสตร์ ว่าแฟชั่นฝรั่งเศสผ่านการนำเสนอของดิสนีย์

นักประวัติศาสตร์เห็นตรงกันว่ากรอบเวลาของ Beauty and the Beast คือช่วงศตวรรษที่ 18 ก่อนเกิดเหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศส โดยหากอ้างอิงผลงานตีพิมพ์ครั้งแรกของ Villeneuve เรื่องราวของโฉมงามกับเจ้าชายอสูรก็ควรจะเกิดในราวปี 1740s ซึ่งเป็นช่วงที่หนังสือถูกตีพิมพ์ แต่หากอ้างอิงฉบับปรับปรุงใหม่ของ Beaumont  ซึ่งเป็นที่นิยมมากกว่า เรื่องของเจ้าชายอสูรก็อาจเกิดในอีกราว 20 ปีต่อมา คือในกรอบเวลาทศวรรษที่ 1760s 

ทั้งสองช่วงเวลาที่กล่าวมา ล้วนอยู่ในรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่แฟชั่นแบบฝรั่งเศสได้รับความนิยมไปทั่วทั้งยุโรป เนื่องจาก Beauty and the Beast กล่าวว่าอสูรมีสถานะเป็น ‘เจ้าชาย’ เราจึงพออนุมานได้ว่าชุดตัวเก่งที่เบลล์จะสวมใส่ในฉากการเต้นรำ ควรจะเป็นแฟชั่นฝรั่งเศสแบบราชสำนักเรียกกันว่า Robe à la Française โดยแฟชั่นแบบนี้มีจุดเด่นที่ลำตัวรูปตัว V (เรียกว่า Stomacher) กระโปรงที่บานออกด้านข้าง และด้านหลังของชุดที่มีลักษณะเป็นแถบผ้ายาวต่อจากคอลงมาจนถึงกระโปรง 

ฝรั่งเศสในยุคนั้นเน้นความหรูหราฟู่ฟ่า ยิ่งกระโปรงบานมากเท่าไหร่ ยิ่งสื่อว่าสถานะของผู้สวมใส่มีความสูงส่งมากเท่านั้น โดยหากเจ้าชายอสูรมีคำนำหน้าเป็นถึงเจ้าชาย กระโปรงที่เบลล์สวมใส่ก็ควรจะมีขนาดใหญ่มาก ไม่ได้บานออกเป็นทรงระฆังเหมือนที่เราเห็นกันในแอนิเมชั่น

ทรงผมที่นิยมกันในยุคนั้นต้องมีการลงแป้ง โดยสตรีในราชสำนักของหลุยส์ที่ 15 ไม่ได้สวมวิกทั้งศีรษะ (การสวมวิกทั้งศีรษะนิยมมากกว่าในหมู่บุรุษ) โดยอาจมีการติดปอยผมเพื่อเพิ่มวอลุ่ม จากนั้นจึงลงแป้งและประดับด้วยเครื่องประดับอื่นๆ เช่นริบบิ้น ไข่มุก หรืออัญมณี การทำผมขนาดใหญ่ของสตรี (แบบที่มักคุ้นชินกันในภาพวาดของมารี อ็องตัวเน็ต) เพิ่งเริ่มเป็นที่นิยมในช่วงปลายทศวรรษที่ 1770s ซึ่งเป็นช่วงหลังจากที่ โฉมงามกับเจ้าชายอสูร ถูกตีพิมพ์มาแล้วเป็นเวลาร่วมสิบปี

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือ ราชสำนักฝรั่งเศสในยุคสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ไม่นิยมการสวมถุงมือ แต่สิ่งที่ควรมีติดไว้เพื่อเสริมสถานะคือพัดซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องประดับที่สามารถสื่อสารความต้องการผ่านการพัดโบกไปมา 

ทั้งหมดนี้เมื่อนำมาเทียบกับชุดสีเหลืองทองตัวเก่งของเบลล์ เราอาจสรุปได้ว่าแฟชั่นของนางเอกในแอนิเมชั่นของดิสนีย์ไม่ได้อ้างอิงบริบททางประวัติศาสตร์ และยิ่งเป็นเรื่องน่าสนใจหากเรามองไปยัง concept art ของแอนิเมชั่นเรื่องนี้ ก็จะพบว่าดิสนีย์เคยออกแบบเครื่องแต่งกายของเบลล์ในสไตล์ Rococo ซึ่งตรงกับยุคสมัยมากกว่า แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าไม่ได้ถูกนำมาใช้ในเวอร์ชั่นจริง

ในคอนเสปต์อาร์ตเก่า ชุดของเบลล์อ้างอิงจากศิลปะยุครอกโคโค่
คอนเสปต์อาร์ตของดิสนีย์ ซึ่งดูตรงกับยุคสมัยมากกว่าในแอนิเมชั่น

ไม่ว่าดิสนีย์จะเลือกนำเสนอ Beauty and the Beast ในรูปแบบใด ปฏิเสธไม่ได้ว่าแอนิเมชั่นเรื่องนี้เป็นขวัญใจของผู้คนจำนวนมาก การตีความที่หลากหลายของ โฉมงามกับเจ้าชายอสูร ได้ช่วยต่อลมหายใจแก่บทประพันธ์ที่ถูกเขียนขึ้นเป็นเวลานานหลายศตสรรษ และที่สำคัญ ความสำเร็จของแอนิเมชั่นเรื่องนี้ทำให้ดิสนีย์เดินหน้าผลิตแอนิเมชั่นเรื่องใหม่ๆ ออกมา ไม่ว่าจะเป็น  Aladdin, The Lion King, Pocahontas, Mulan, Hercules ฯลฯ ซึ่งเราจะหยิบขึ้นมาพูดคุยกันในบทความครั้งต่อไป 

References:

Fashion Expert Fact Checks Belle from Beauty and the Beast’s Costumes | Glamour https://www.youtube.com/watch?v=zbLEaTjYQtk&t=228s 

Rating Disney Princess Dresses on Historical Accuracy (Part One) https://www.youtube.com/watch?v=UeRa9bEhgXg&t=870s 

The Real-Life Couple That Inspired Beauty and the Beast https://www.youtube.com/watch?v=inM7P7oYM5Q&t=17s 

Beauty and the Beast: the Real Story https://www.storytimemagazine.com/news/inside-stories/beauty-and-the-beast-the-real-story/ 

BEAUTY AND THE BEAST (2017) https://www.historyvshollywood.com/reelfaces/beauty-and-the-beast/ 

The Storied, International Folk History of Beauty and The Beast https://www.smithsonianmag.com/smithsonian-institution/storied-international-folk-history-beauty-and-beast-180962502/ 

Disney History: Beauty and the Beast https://www.wdw-magazine.com/beauty-and-the-beast/ 

The Untold Truth Of Disney’s Beauty And The Beast  https://www.looper.com/848690/the-untold-truth-of-disneys-beauty-and-the-beast-1991/?utm_campaign=clip 

Oscars 1992: How ‘Beauty and the Beast’ changed animation https://ew.com/article/2012/02/22/oscars-1992-beauty-and-the-beast/ 

How 18th-century art influenced Walt Disney’s Beauty and the Beast https://www.houseandgarden.co.uk/article/inspiring-walt-disney-exhibition 

Beauty and the Beast, Still a Cautionary Tale About the Smart Home https://www.wired.com/2017/03/beauty-and-the-beast-smart-home/ 

WOMEN’S HAIRSTYLES & COSMETICS OF THE 18TH CENTURY: FRANCE & ENGLAND, 1750-1790 http://demodecouture.com/hairstyles-cosmetics-18th-century/

AUTHOR

ILLUSTRATOR

ประภวิษณุ์ อินทร์ตุ่น

นักออกแบบสายแอมบิเวิร์ท ผู้หลงใหลธรรมชาติ เสียงเพลง ภูเขา งานอดิเรกคือ อ่านหนังสือ ปาร์ตี้ และของกิน