วิธีคิด ‘ทำดีให้คน (มอง) เห็น’ วิดีโอรับบริจาคให้โรงพยาบาลจักษุบ้านแพ้วที่ใช้ตาดูไม่ได้

Highlights

  • โรงพยาบาลบ้านแพ้ว คือโรงพยาบาลที่ขึ้นชื่อเรื่องศูนย์จักษุและต้อกระจก วันๆ หนึ่ง มีคนไข้ที่เข้ารับการรักษาที่ศูนย์นี้ประมาณ 500 คนต่อหมอ 14 คน ห้องตรวจ 7 ห้อง และห้องผ่าตัด 2 ห้อง
  • นั่นเป็นเหตุผลที่ศูนย์จักษุและต้อกระจกกำลังขยับขยายเป็นโรงพยาบาลจักษุบ้านแพ้วซึ่งสร้างด้วยเงินบริจาคทั้งหมด วันนี้ เงินบริจาคยังขาดอยู่ประมาณ 200 ล้านบาท คุณหมอที่นี่จึงอยากขอรับบริจาคจากทุกคนเพื่อช่วยเหลือคนไข้ต่อไป
  • ผู้ที่เข้ามาช่วยคุณหมอคือครีเอทีฟเอเจนซี Wolf ซึ่งคิดตั้งแต่ชื่อแคมเปญ 'ทำดีให้คน (มอง) เห็น' ทำหนังโฆษณาที่ภาพมืดสนิทไปกว่า 5 นาที โดยที่พวกเขาไม่คิดเงินค่าแคมเปญเลยสักบาทเดียว

‘คลิปนี้ควรใช้หูในการรับชม’ คือบรรยายสั้นๆ สำหรับคลิปวิดีโอ ทำดีให้คน (มอง) เห็น ของโรงพยาบาลบ้านแพ้ว

คำแนะนำอันแปลกประหลาดทำเอาเราอดไม่ได้ที่จะใช้นิ้วโป้งขวากดเข้าไปดู ใช้ตาสองข้างอ่านคำพูดที่บอกว่านี่คือคลิปวิดีโอขอรับบริจาคเพื่อสร้างโรงพยาบาลจักษุบ้านแพ้ว ก่อนใช้สองหูซ้าย-ขวาฟังเรื่องราวที่เหลือ

ใช่, คุณต้องใช้แต่หูเท่านั้น เพราะวิดีโอที่คุณจะได้ชมต่อไปนี้ไม่มีภาพตลอด 5 นาทีแรก

คลิปวิดีโอจอดำสนิทนี้เล่าเรื่องราวการทำงานของคุณหมอประจำศูนย์จักษุและต้อกระจก โรงพยาบาลบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ที่ต้องทำงานหนักทั้งวัน ทุกวัน ไม่ตรวจคนไข้ในโรงพยาบาล ก็ต้องไปออกหน่วยตามต่างจังหวัดหรือประเทศใกล้เคียง

เพื่อให้นึกภาพออก ที่นี่มีคุณหมอตาเฉพาะทาง 14 คน มีห้องตรวจ 7 ห้อง และห้องผ่าตัด 2 ห้อง สำหรับคนไข้ 500 คนต่อวัน ตัวเลขที่ไม่สัมพันธ์กันทำให้คุณหมอที่นี่ลอกต้อเก่งและเร็วในหลักนาที เพราะต้องรีบส่งต่อห้องผ่าตัดให้เคสถัดไป ส่วนสถานการณ์ที่คุณหมอ 2 คนต้องตรวจคนไข้ไปพร้อมๆ กันในห้องเดียวก็แทบจะเป็นเรื่องปกติ

โรงพยาบาลจักษุบ้านแพ้ว,โรงพยาบาลบ้านแพ้ว,ทำดีให้คนมองเห็น

“เวลาพูดกับคนไข้ทีก็ต้องระวังไม่ให้เสียงดังเกินไป เดี๋ยวคนไข้ของคุณหมออีกคนจะเข้าใจผิดคิดว่าพูดกับเขา” นายแพทย์พรเทพ พงศ์ทวิกร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้วพูดขำๆ บนเวทีแถลงข่าวแคมเปญ ‘ทำดีให้คน (มอง) เห็น’

แต่สถานการณ์ด้านล่างเวทีนั้นไม่ตลกเลยสักนิด เมื่อการบอกต่อปากต่อปากถึงความสามารถของคุณหมอทำให้ตัวเลขคนไข้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดโครงการจัดตั้งโรงพยาบาลจักษุบ้านแพ้วขึ้น เพื่อเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางโรคตาที่มีเครื่องไม้เครื่องมือ ห้องตรวจ และห้องผ่าตัดครบครัน โดยใช้เงินบริจาคทั้งหมด คุณหมอจึงต้องพยายามหาเงินบริจาคมาเติมด้วยวิธีของตัวเอง

วิธีของคุณหมอที่ไม่รู้วิธีหาเงินและทำโฆษณาไม่เป็น–คุณหมอพูดอย่างนั้น

โรงพยาบาลจักษุบ้านแพ้ว,โรงพยาบาลบ้านแพ้ว,ทำดีให้คนมองเห็น

นั่นเป็นเหตุผลที่ Wolf ครีเอทีฟเอเจนซีต้องเข้ามามีบทบาท และชักชวน ต่อ–ธนญชัย ศรศรีวิชัย มาทำคลิปวิดีโอให้

ส่วนเหตุผลอะไรที่ทำให้คลิปนี้จอดำสนิทตลอด 5 นาทีแรก เต้ย–ต่อศักดิ์ ชื่นประภา ผู้ร่วมก่อตั้งและ chief creative officer และ แพร–พรรณิกา วงศ์สายัณห์ ผู้ร่วมก่อตั้งและ managing director แห่ง Wolf จะเล่าให้เราฟัง

สำหรับบทความนี้ เราอนุญาตให้ใช้ตาในการรับชม

ทำดีให้ (เอเจนซี) เห็น

แพร : แคมเปญนี้เริ่มจากการที่ SCG ร่วมงานกับโรงพยาบาลบ้านเเพ้วมาอย่างต่อเนื่อง ปีนี้เขาก็ติดต่อมาบอกว่าเราจะทำแคมเปญให้โรงพยาบาลไหม จำได้ว่าวันที่ไปฟังโจทย์วันแรกเราไม่ได้เจอคุณหมอพรเทพ เจอแต่ทีมพี่ๆ พยาบาลมานั่งเล่าเรื่องการทำงานของคุณหมอให้เราฟัง แค่ได้ยินว่าจริงๆ แล้วชั่วโมงการทำงานของคุณหมอยาวแค่ไหน แล้วเสาร์-อาทิตย์ยังต้องไปออกหน่วยช่วยคนไข้อีก ฟังจบพวกเราก็คุยกันว่าอย่าไปเอาเงินเขาเลย ทำให้เขาเถอะ

เต้ย : ไอเดียแรก เราคิดว่าจะทำยังไงให้คนบริจาคง่ายๆ ดี แต่มาคิดดูอีกที ต่อให้ช่องทางบริจาคง่าย แต่คนไม่รู้ว่าโรงพยาบาลบ้านแพ้วทำอะไรก็อาจจะไม่มีใครอยากช่วย เพราะฉะนั้นเราก็เลยมาคิดว่าเราควรจะเล่าถึงสิ่งที่คุณหมอที่บ้านแพ้วทำก่อน

โรงพยาบาลจักษุบ้านแพ้ว,โรงพยาบาลบ้านแพ้ว,ทำดีให้คนมองเห็น

พอไปคุยกับคนไข้ที่โรงพยาบาล เขารู้สึกว่าคุณหมอดูแลเขาดี พยาบาลบริการดีมาก มันเป็นสิ่งที่ทำให้เราแปลกใจว่าคนไข้รู้สึกถึงการดูแลที่ดีตั้งแต่ยังมองไม่เห็น รู้ว่าหมอเหนื่อยมาก ทำงานตั้งแต่เช้า ต้องผ่าตัดถึงสองสามทุ่มกว่าจะเลิกงาน เราอยากเล่าเรื่องนี้เลยกลายเป็นชื่อโครงการ ‘ทำดีให้คน (มอง) เห็น’

เมื่อเรามีงบจำกัด เราก็เลยคิดว่าจะทำยังไงให้หนังของเราอิมแพกต์เยอะที่สุด เราเลยคิดถึงพี่ต่อว่าเขาน่าจะเป็นคนที่เล่าเรื่องจริงได้ดีที่สุด อิมแพกต์ที่สุด ซึ่งพอเขาได้ฟังเรื่องราวเขาก็รู้สึกไปกับเรื่องของคุณหมอจริงๆ พยายามหาคิวแทรกให้ วันหยุดก็ยังไปถ่าย

โรงพยาบาลจักษุบ้านแพ้ว,โรงพยาบาลบ้านแพ้ว,ทำดีให้คนมองเห็น

เรื่องจริงผ่านจอ (ดำ)

เต้ย : ทุกวันนี้มีแคมเปญรับบริจาคเยอะมากจนคนมีภูมิคุ้มกัน เห็นแล้วก็จะไม่รู้สึกอะไร ดังนั้นโจทย์ของเราคือจะทำยังไงให้คนดูรู้สึกที่สุดจนอยากบริจาค เราเลยคิดไว้ตั้งแต่แรกว่าหนังควรจะเล่าเรื่องจริงนี่แหละ เพราะเรื่องจริงที่คุณหมอเล่าให้เราฟังเป็นเรื่องที่อิมแพกต์กว่าเรื่องแต่งไหนๆ เรื่องจริงทำให้เราตัดสินใจว่า เฮ้ย! เราไม่เก็บเงินเขาดีกว่า เพราะฉะนั้นถ้าคนอื่นได้ยินก็น่าจะรู้สึกเหมือนเรา

จริงๆ คุณหมอเล่าเรื่องเยอะกว่านี้ประมาณ 4-5 เท่า เพราะเราคุยกับคุณหมอหลายวัน คุณหมอเล่าตั้งแต่คุณหมอยังเด็กๆ ด้วยซ้ำ พี่ต่อก็ถามกระทั่งว่าฐานะที่บ้านคุณหมอเป็นยังไง คุณหมอใช้รถอะไร ความสัมพันธ์กับครอบครัวเป็นยังไงเพราะคุณหมอใช้เวลาส่วนใหญ่รักษาคนไข้ที่โรงพยาบาล เราต้องคัดกรองเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับคุณหมอ เรื่องที่ฟังแล้วคนจะรู้สึกแต่ก็ไม่ยาวเกินไป

โรงพยาบาลจักษุบ้านแพ้ว,โรงพยาบาลบ้านแพ้ว,ทำดีให้คนมองเห็น

ด้วยไอเดียว่าคนไข้รู้สึกถึงสิ่งที่คุณหมอทำตั้งแต่ยังมองไม่เห็น มันเลยกลายเป็นหนังที่ไม่มีภาพในช่วงแรก และพี่ต่อก็เสริมสิ่งที่คนไข้คิดเข้ามาตอนท้ายเพื่อรีคอนเฟิร์มว่าเราไม่ได้พูดเอง มีคนไข้ที่รู้สึกอย่างนั้นจริงๆ

เราทดลองทำภาพมืดหลายระยะเวลาจนมาจบที่ 5 นาที ซึ่งเป็นระยะที่ไม่อึดอัดจนเกินไป แต่ก็ไม่ได้สั้นจนไม่รู้สึกอะไรเลย ตอนแรกหนังมีซับไตเติลด้วย เพราะคุณหมอเป็นห่วงว่าเดี๋ยวนี้คนดูคลิปเขาไม่เปิดเสียงกัน กระทั่งวินาทีสุดท้าย เราตัดสินใจว่าจะเอาซับไตเติลออก เพราะถ้าไม่ได้ดูหนังตอนที่พร้อมจริงๆ มันจะไม่รู้สึก

จริงใจไว้ก่อนในยุคออนไลน์

เต้ย : ทุกคำพูดที่อยู่ในหนังมาจากเรื่องจริง เป็นคำพูดที่คุณหมอเล่าให้ฟัง หรือเป็นสิ่งที่เราคุยกับคนไข้มา อย่างคำว่าคุณหมอเหมือนเป็นขอทานก็เป็นคำที่มีคนพูดกับคุณหมอจริงๆ หรือคำที่คุณหมอบอกว่าคุณหมอไม่รู้วิธีหาเงิน คุณหมอทำโฆษณาไม่เป็นก็เป็นคำพูดของคุณหมอจริงๆ

โรงพยาบาลจักษุบ้านแพ้ว,โรงพยาบาลบ้านแพ้ว,ทำดีให้คนมองเห็น

แพร : เราอยากจำลองความรู้สึกตอนที่คุณหมอคุยกับเราที่มันจริงใจมาก เราเลยใช้วิธีการพูดง่ายๆ และด้วยความที่หนังอยู่ในโลกออนไลน์เป็นหลัก เมสเสจที่เปิดมาแล้วบอกว่าเรามาขอเงินบริจาคก็สำคัญมาก เพราะเขาจะได้ตัดสินใจว่าเขาจะใช้เวลาจนจบคลิปไปกับเรื่องอะไร เขาต้องรู้ว่าเงินเขาไปอยู่ที่ใคร เอาไปทำอะไร

เต้ย :  เราไม่ได้ตั้งใจให้หนังออกมา emotional แต่ความจริงมันดัน emotional เอง ถ้าถามเรา เราว่าหนังขอรับบริจาคไม่ต้อง emotional ก็ได้แต่มันต้องจริงใจ เราไม่ต้องประดิษฐ์ ไม่ต้องไปจ้างดารา ไม่ต้องขอให้ดารามาช่วยพูดด้วยซ้ำ มันอาจจะเป็นสิ่งที่ไม่มีการขอรับบริจาคที่ไหนเคยทำมาก่อนและอาจจะทำงานกับคน ทำงานกับความรู้สึก

โรงพยาบาลจักษุบ้านแพ้ว,โรงพยาบาลบ้านแพ้ว,ทำดีให้คนมองเห็น

ช่วย 1 ได้ถึง 500

แพร : เรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ทุกคนก็คงคาดหวังว่าเวลาเราแก่ขึ้น อย่างน้อยที่สุดเราควรจะคงไว้ซึ่งคุณภาพชีวิตคล้ายๆ เดิมได้ แต่การคุยกับคุณหมอทำให้เรารู้ว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศเราส่วนใหญ่เสียการมองเห็นเสียอย่างนั้น บางคนอยู่ไกลโรงพยาบาล กว่าจะมาถึงโรงพยาบาลก็ปิดรับบัตรคิวไปแล้ว ขนาดนี่คือบ้านแพ้วนะ ถ้าเป็นโรงพยาบาลอื่นบางคนรอคิว 3 ปีแน่ะ ขนาดเราลองตาบอด 5 นาทีเรายังอึดอัดมาก แล้วนี่เขาตาบอด 3 ปี มันเป็นเรื่องทรมาน เราก็เลยอยากช่วยเขา

โรงพยาบาลจักษุบ้านแพ้ว,โรงพยาบาลบ้านแพ้ว,ทำดีให้คนมองเห็น

แต่วันนี้เราไม่ได้พูดในแง่มุมเดิมๆ ว่าเราจะบริจาคเพื่อช่วยเหลือคนไข้ยังไง แต่เรากำลังบอกว่าเงินที่เขาบริจาคกำลังจะถูกนำไปช่วยหมอที่มีศักยภาพที่จะช่วยคนได้วันละ 500 คน เราหวังว่าเวลาที่หนังไปถึงผู้บริโภคแล้วเขาจะรู้สึกแตกต่างกว่าที่ปกติเราบริจาคเพราะเราสงสารคนไข้

เต้ย : เราอยากให้ได้สักงบ 200 ล้านเพื่อให้สร้างตึกให้เสร็จ ถ้าได้เงินมากกว่านั้นเป็นค่าอุปกรณ์ก็จะยิ่งดีนะ

โรงพยาบาลจักษุบ้านแพ้ว,โรงพยาบาลบ้านแพ้ว,ทำดีให้คนมองเห็น


ใครอยากร่วมทำดีให้คน (มอง) เห็น สามารถบริจาคช่วยเหลือได้ที่ บัญชีออมทรัพย์ ‘โรงพยาบาลบ้านแพ้ว’ ธนาคารกรุงไทย สาขาบ้านแพ้ว เลขที่บัญชี 745-0-33317-1 (ใบเสร็จรับเงินสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า) หรือร่วมบริจาค 100 บาท ผ่านมือถือ กด *948*8888*100# โทรออก ทุกเครือข่าย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่  bphosp.or.th หรือโทรสอบถาม 034-419-555

 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐปคัลภ์ ทัศนวิริยกุล

นักเรียนฟิล์มที่มาฝึกงานช่างภาพ รักการถ่ายรูป ชอบกินของอร่อย และชอบใช้เวลากับครอบครัว เพื่อนสนิท คนรัก