‘​​หลอดไฟ-นวินดา ปัจฉิมสวัสดิ์’ ผู้บริหารรุ่นสองของสถาบันการเต้น Bangkok Dance Academy จากนักเรียนบัลเลต์สู่การผลักดัน Contemporary Dance

บัลเลต์เป็นศิลปะตะวันตก เป็นที่นิยมในชนชั้นสูงเท่านั้น 

ถ้าเป็นเมื่อ 30 ปีก่อนก็คงจะเป็นแบบนั้น และสำหรับในเมืองไทยเอง การเต้นรำสุดคลาสสิกแขนงนี้คงเป็นเรื่องที่ไม่คุ้นเคยกันเท่าไหร่

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ ‘บัลเลต์’ กลายเรื่องที่ใครๆ ก็พูดถึง ไปจนถึงหาชมได้ง่ายขึ้นในบ้านเรา เกิดจากความรักของ ‘ครูต้อย-วัลลภา ปัจฉิมสวัสดิ์’ ที่เลือกเปิด Bangkok Dance Academy สถาบันสอนเต้นบัลเลต์แห่งแรกของเมืองไทยเมื่อปี พ.ศ. 2533 ด้วยการเปิดในห้างสรรพสินค้าจึงทำให้ดึงกลุ่มคนทุกระดับชั้นให้เข้าถึงบัลเลต์ได้อย่างกว้างขวาง

 ไม่ใช่แค่เพียงผู้บุกเบิก แต่เธอยังเป็นคนแรกที่นำหลักสูตร Commonwealth Society of Teachers of Dancing (C.S.T.D) ที่มุ่งให้ความสำคัญกับเทคนิคการเต้น จากประเทศออสเตรเลีย เข้ามาสอนในสถาบันบางกอกแดนซ์ ยาวนานกว่า 20 ปี เพื่อผลิตนักเต้นมืออาชีพในวงการเต้นไทย ทั้งยังจัดการแข่งขันเพื่อส่งนักเรียนไทยเข้าประกวดในเวทีระดับโลกอย่าง Asia Pacific Dance Competition มานานกว่า 20 ปี 

ด้วยหัวใจที่เชื่อว่าการเต้นช่วยให้ผู้เรียนเกิดความมั่นใจและรู้จักตนเอง กลายเป็นแนวคิดที่ฝังรากลึกระดับ DNA ของสถาบันตกทอดมาถึงรุ่นลูกของเธอ ‘หลอดไฟ-นวินดา ปัจฉิมสวัสดิ์’ ที่เดินตามรอยเข้าสู่ถนนสายบัลเลต์ก่อนจะเบนเข็มไปเอาดีด้านการเต้นร่วมสมัย (Contemporary Dance) จนกลายเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัล Aggregate Cup จากการแข่งขัน Asia Pacific Dance Competition ครั้งที่ 11 ด้วย 

ผลงานของหลอดไฟ เชื่อว่าคนไทยหลายล้านคนเคยรับชมมาแล้วกับการออกแบบท่าเต้นให้นักเรียนในสถาบันบางกอกแดนซ์ที่เข้าร่วมประกวดการแข่งขัน ภายใต้ทีม ‘Tip Toes’ ในรายการ ‘Thailand got Thailand’ เมื่อปี 2018 ทั้งการแสดง ‘สมัน‘  ในรอบ Semi Final และการแสดง ‘สังคมก้มหน้า’ ในรอบ Final ที่มียอดการเข้าชมในยูทูปกว่า 3.9 ล้านวิว และล่าสุดกับการออกแบบท่าเต้นให้กับการแสดง One day in Bangkok เล่าถึงการขับเคลื่อนวัฒนธรรมของไทย เธอก็คว้ารางวัลใหญ่ การออกแบบท่าเต้นที่โดดเด่นที่สุดในเอเชียแปซิฟิก (Unique Choreography) จาก Asia Pacific Dance Competition ครั้งที่ 26 ซึ่งเมืองไทยได้เป็นเจ้าภาพด้วย 

 “แม่หลอดไฟนำการเต้นบัลเลต์เข้ามาให้ทุกคนได้รู้จัก สิ่งที่หลอดไฟอยากทำเหมือนแม่ คือ ผลักดันการเต้นคอนเทมโพรารี่ให้เข้ามาเฟื่องฟูในบ้านเรา เพราะมันสอนให้คิดออกจากกรอบ ต่อยอดให้ผู้เรียนนำสิ่งนี้ไปลองกับอะไรหลายอย่างในชีวิตประวันจนเขาเกิดความมั่นใจ กล้าที่จะแสดง สังคมก็จะเกิดความหลากหลายที่ทำให้ประเทศนี้ดูน่าสนใจมากขึ้น” และนี่คือหนึ่งในจุดยืนที่เธอพูดในฐานะที่เข้ามารับช่วงบริหารต่อจากแม่

ด้วยความที่เราชอบดูบัลเลต์แม้จะยังอยู่ในระดับมือสมัครเล่น ทำให้วันนี้ค่อนข้างตื่นเต้นเป็นพิเศษที่จะได้พูดคุยกับหลอดไฟ ทั้งการฝ่าฟันชีวิตการเป็นนักเรียนเต้น สู่การค้นหาเอกลักษณ์การสร้างงาน ไปจนถึงการหยิบมุมมองที่ตกผลึกในประสบการณ์มาปรับใช้ในฐานะครูฝึกสอนและการเป็นผู้บริหาร บอกเลยว่าบทความนี้คุณจะสัมผัสความตั้งใจของหลอดไฟจนถึงบรรทัดสุดท้ายแน่นอน

เด็กบัลเลต์ที่ทลายอีโก้ด้วย Contemporary Dance 

ถ้าถามว่าการเต้นบัลเลต์นั้นยากแค่ไหน ลองยกขาหลัง 1 ข้างแล้วตัวหมุนสัก 2 รอบ แล้วลองดูว่าการหมุนในแต่ละรอบ คุณยกขาองศาเท่ากันหรือเปล่า และทรงตัวหมุนเหมือนกันหรือเปล่า ถ้าไม่เหมือนและไม่เท่า ฝึกใหม่เดี๋ยวนี้!

“การที่คุณต้องยกขาหลังแล้วหมุนรอบหนึ่ง แสดงว่าคุณต้องเฟอร์เฟกต์ตั้งแต่ยกขาหลังแล้วก่อนจะหมุดตัว หมุนเสร็จคุณต้องก้าวเท้าต่ออีก 2 ก้าว นี่คือ 1 ท่าใน 2 จังหวะ” หลอดไฟพยายามอธิบายให้เราเห็นภาพความยากของการเรียนเทคนิคที่อาศัยเวลาอย่างน้อย 5 ปีขึ้นไป ถึงจะได้ซึมซับคุณค่าของบัลเลต์ ทั้งในแง่ความอดทนต่อการฝืนธรรมชาติร่างกาย และการมีท่วงท่าที่อ่อนช้อย สง่างามจากการฝึกฝนเยี่ยงนักกีฬา

และด้วยเหตุผลนี้ทำให้หลอดไฟไม่เคยถูกแม่บังคับเรียนตั้งแต่แรก เธอมาหัดเรียนจริงๆ จังๆ ก็ตอนช่วง 10 ขวบก่อนจะเข้าร่วมโครงการพิเศษ  ‘Soloist’ ของสถาบันบางกอกแดนซ์ที่เพิ่มชั่วโมงเรียนเทคนิคบัลเลต์ 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ กลายเป็นประตูที่เปิดทางให้เธอเข้าสู่การประกวดแข่งเต้นบัลเลต์ที่ต่างประเทศ 

“ช่วงวัยรุ่นไฟเราเยอะมาก  และในทุกๆ ปีแม่จะส่งนักเรียนปีละ 4 คนไปเข้าร่วมโครงการในเมืองแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งปัจจุบันก็ยังทำมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อฝึกการคิดออกแบบการแสดงร่วมกับครูสาย Contemporary เป็นเวลา 1 เดือน โดยทางบางกอกแดนซ์จะเป็นคนออกทุนให้เด็ก 4 คนนี้ทั้งหมด”

“ด้วยความที่เป็นเด็กฝึกเทคนิคมา พอเราไปถึงก็ตกใจเลยว่า อ๋อ การเต้นแบบนี้ที่คิดท่าใหม่ๆ ที่มันลึกซึ้งได้ขนาดนี้เลยหรอวะ เราสามารถนำตัวเราไปใส่ในงานได้ขนาดนี้เชียวหรอ มันทำให้เรารู้จักคอนเทมโพรารีแดนซ์เป็นครั้งแรก พอกลับมา ด้วยความที่ไปแข่งที่ไหนก็ชนะทุกอย่างมาตลอดจนมีความมั่นใจในตัวเองค่อนข้างสูง บวกกับตอนนั้นคนไทยเกือบ 99% ไม่ได้เต้นบัลเลต์เป็น ดังนั้นเราคือของพิเศษ”หลอดไฟหัวเราะก่อนจะยอมรับออกมาด้วยว่า เธอค่อนข้างที่จะมีอีโก้สูงมากในตอนนั้น “เพราะเราเก่งไปหมด เด่นไปหมด จนคิดว่า ถ้าสอบเข้ามหาวิทยาลัยต่อทางด้านนี้ต้องทำได้ดีแน่นอน หลอดไฟเลยออดิชันเรียนคอนเทมโพรารีแดนซ์ที่ Victorian College of the Arts and Melbourne Conservatorium of Music, The University of Melbourne  ประเทศออสเตรเลีย พอเรียนจริงๆ คราวนี้แหละความฉิบหายก็เกิดขึ้น”

“มหาลัยที่เราเรียนไม่ได้ผลิตเราเพื่อเป็นนักเต้นแบบฟูลไทม์ แต่เขาสอนให้เราเป็นนักเต้นกึ่งนักออกแบบท่าเต้น (Choreographer) และนักคิดซึ่งเมืองไทยตอนนั้นไม่มีสอนเรื่องนีัอย่างจริงจัง ไม่มีสอนว่าเราจะพัฒนาเรื่องการคิดต่อยอดการเต้นในแง่ของอาร์ต โครีโอกราฟี การหาสเปซ การรีเสิร์ชงานอย่างไร ซึ่งที่เราเรียน มันพูดถึงเรื่องคอนเซปต์กันแล้วไม่ได้พูดถึงเรื่องเทคนิคแล้ว”

“หลอดไฟต้องตัดอีโก้ออกแล้วเริ่มนับศูนย์ใหม่ทั้งหมด ก็เลยทำให้เราเห็นว่าวงการศิลปะเขาให้เกียรติกันอย่างไร เวลาสร้างงานหรือทำอะไรที่เกี่ยวกับอาร์ต คุณต้องมีต้นตอที่ลึกซึ้งกว่านั้นและต้องเข้าใจตัวเองมากกว่านั้น”

“การเต้นมันคืออีกหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยสื่อสาร ตัวเราในตอนนั้นมีเรื่องของอารมณ์อยู่ในหัวมากมาย ทั้งความกลัว ความรัก ความอึดอัด เราก็เพิ่งรู้ว่าสิ่งเหล่านี้นำมาสร้างงานผ่านการเต้นคอนเทมโพรารีที่สร้างอิมแพ็กได้จริง เราเลยคลิกกับด้านนี้มากกว่าในแง่ของการเป็นนักออกแบบท่าเต้น” 

ความกดดันจากสิ่งที่แม่บุกเบิก

สู่การหลุดพ้นการวิ่งตามวัฒนธรรมคนขาว

วงที่หลอดไฟเรียนจบใหม่ๆ เป็นช่วงที่เมืองไทยแทบจะมีศิลปินสายคอนเทมโพรารีแดนซ์อยู่น้อยมาก ทำให้ศิลปินไฟแรงวัย 22 อย่างเธอเกิดแรงฮึกเหิมอยากจะนำศาสตร์ที่เรียนเข้ามาให้เป็นที่รู้จักในบ้านเรา แต่เพราะยังเป็นเรื่องสดใหม่ก็คงจะไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะทำให้คนในวงการเต้นนั้นเข้าใจ 

“เราเริ่มรู้สึกกดดันโดยไม่รู้ตัว เพราะอิมแพ็กที่แม่สร้างไว้ค่อนข้างที่จะบุกเบิกและยิ่งใหญ่มากๆ ตอนนั้นเราก็คิด อายุแค่นี้เราคิดจะเปลี่ยนแปลงอะไรขนาดนั้นวะ ขนาดแม่เป็นคนในวงการเต้น เคยตามดูการแสดงเราที่เมลเบิร์น แม้เขาจะเปิดใจขึ้น แต่เราก็ยังรู้สึกว่า แม่ยังไม่ได้เข้าใจขนาดนั้น ส่วนพ่อเราที่ไม่ได้เข้าใจอาร์ตเลย เราก็ยิ่งรู้สึกไม่ได้รับการยอมรับ จากที่เราเต้นทุกวัน จู่ๆ เราก็นอนอยู่บ้านจนเกิดอาการซึมเศร้าไปเลย” 

“แต่พอร้องไห้ครั้งใหญ่ไปรอบหนึ่ง หลอดไฟก็สมัครเข้า ‘Soft Landing’ โครงการพิเศษที่เตรียมความพร้อมทางด้านจิตใจให้กับผู้ที่เรียนจบเต้น เพื่อที่จะก้าวเข้าสู่วงการเต้นในโลกความจริง ก็คือแม้คุณจะจบศิลปะมามันไม่ได้หมายความว่าคุณจะเข้าไปอยู่ในวงการศิลปะได้ทันที เราก็ไปบำบัด 1 เดือน ในคอร์สมีผู้เข้าร่วม 10 คน ทุกคนร้องไห้กันทั้งเดือน เพราะแต่ละคนต่างก็มีปัญหาตอนเรียนจบเต้น เราเลยได้ปลดล็อกหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องครอบครัว”

“ดังนั้นในคอร์ส เขามีให้แสดงแบบอิมโพรไวซ์ที่ต้องเวิร์กกับทุกคนด้วยกัน เราก็ขึ้นไปร้องไห้บนเวทีเลยแล้วพูดภาษาไทยกับพ่อแม่ แต่ว่าพ่อแม่ไม่ได้มานะ (หัวเราะ) แล้วคนดูที่เป็นฝรั่งก็ร้องไห้ตาม ตอนนั้นล่ะเราคลิกขึ้นมาเลยว่า ถ้าเราจะเป็นศิลปินที่ดี เราต้องจริงใจมากๆ เพราะเขาไม่รู้เลยว่าเราพูดอะไร แต่เขารู้สึกไปกับเราได้จริงๆ นะ”

“หลอดไฟเจอลู่ทางการเป็นศิลปินแล้ว ก็เลยฮึบลุกขึ้นมาเขียนความ Struggle ของตัวเองไปเลย 1 หน้ากระดาษ ว่าเราเป็นคนนี้ๆ อยู่ในประเทศนี้ เราเรียนเต้นและมีความต้องการแบบนี้แต่ยังทำไม่ได้เพราะอะไรบ้าง เพื่อขอทุน Dance WED ของ Vienna International Dance Festival ในปี 2014” 

เธอก็คือคนไทยคนเดียวที่ได้รับทุนให้เข้าร่วมเทศกาลศิลปะการเต้นที่ใหญ่ที่สุดในโลกในครั้งนั้น และก็เป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนที่ทำให้หลอดไฟเพิ่งมารู้ตัวว่า ที่ผ่านมาเธอเต้นตามวัฒนธรรมคนขาวโดยไม่รู้ตัว 

“หลอดเต้นตามเขา เขาแก้ผ้าแสดง เราก็ทำตาม สักพักเริ่มรู้สึกว่าอันนี้ไม่ใช่เรา คือเราโตกับความ คอนเซอร์เวทีฟในไทยที่ไม่ได้ฝึกให้คุณต้องแสดงออกเบอร์นั้น ดังนั้นเราก็ควรจะจริงใจกับตัวเองให้มากกว่านี้ ตั้งแต่ที่เริ่มเรียนบัลเลต์ หลอดไฟทำตามที่คนขาวบอกมาตลอดจนรู้สึกว่าเราไม่ดีพอหรอวะ นี่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญเลย เราควรจะหาเวย์โดยอย่าวิ่งตามเทรนด์คนขาวสิ เราเป็นคนเอเชีย เราคือคนส่วนน้อยแต่เราพิเศษ แล้วคนไทยที่เรียนเต้นไม่มีใครกลับมาเลย แล้วประเทศนี้มันทำไรวะ เราคิดไปถึงขั้นนั้นก็เลยตัดสินใจกลับไทย ด้วยจิตใจที่พร้อมสู้แล้ว”

กลับมาครั้งนี้ ศิลปินสายสู้ได้ทำการแสดงร่วมกับผลงานสถาปัตยกรรมของสถาปนิก เนื้องานพูดถึงการเป็นชนกลุ่มน้อยที่ต้องหาวิธีรับมือในระบบสังคมใหญ่ แม้จะเป็นการสร้างงานเพื่อบำบัดจิตใจตัวเองส่วนหนึ่ง แต่โดยภาพรวม หลอดไฟต้องการพิสูจน์ตัวเองและพิสูจน์ให้คนในวงการเต้นและสังคมได้เห็นศักยภาพของเธอในฐานะ ศิลปินนักเต้นด้วยเช่นกัน

กลัวว่าจะสร้างงานดูไม่อาร์ต จนเผลอแอ็กต์อาร์ตไม่รู้ตัว

จู่ๆ เราก็นึกสงสัยขึ้นมาว่า ถ้าหลอดไฟจะเอาดีด้านคอนเทมโพรารี เธอจะทิ้งการเต้นเทคนิคไปเลยหรือเปล่า และถ้าจะสร้างงาน เธอต่อยอดเครื่องมือที่มีและจะชั่งนำหนักให้กับการเต้นทั้ง 2 แบบนี้อย่างไร ถามออกไปเจ้าตัวก็พูดขึ้นทันทีว่า จุดนี้แหละที่ยากที่สุด 

“ช่วงแรกๆ ที่สร้างงาน อีโก้มันเริ่มกลับมาล่ะ เราคิดแค่ว่าต้องใส่เทคนิคน้อยๆ ให้มันดูอาร์ตๆ คือตอนอยู่ที่ยุโรป เรารู้ตัวว่ากำลังทำตามคนขาว แต่พอกลับไทย เราห้ามตัวเองไม่ได้ เราลืม เราก็เลยแอ็กต์อาร์ตไปช่วงหนึ่ง จนแม่ก็เตือนว่ามันไม่ได้อะไรขึ้นมาหรอก มีครูที่เราเคารพเขามากว่า 20 ปี เขารับงานอีเวนต์ งานมอเตอร์โชว์ ซึ่งเราไม่รับเลยนะงานแบบนี้ แล้วดูถูกคนที่ทำแบบนั้นด้วย”

ระหว่างนั้นหลอดไฟแบ่งตัวเองเป็น 2 พาร์ต พาร์ตหนึ่งเป็นศิลปินที่อยากจะสร้างงานแอ็กต์อาร์ต ส่วนอีกพาร์ตทำหน้าที่เป็นนักออกแบบท่าเต้นและกำกับการแสดงให้นักเรียนในสถาบันบางกอกแดนซ์ เพื่อส่งเข้าแข่งขันในต่างประเทศที่เธอแอบบอกว่า แอ็กต์อาร์ตไม่ได้ แต่นั้นล่ะเป็นผลพวงที่ช่วยฝึกเธอค้นหาเอกลักษณ์ที่ใช่ไปโดยไม่รู้ตัว 

จู่ๆ เราก็นึกสงสัยขึ้นมาว่า ถ้าหลอดไฟจะเอาดีด้านคอนเทมโพรารี เธอจะทิ้งการเต้นเทคนิคไปเลยหรือเปล่า และถ้าจะสร้างงาน เธอต่อยอดเครื่องมือที่มีและจะชั่งนำหนักให้กับการเต้นทั้ง 2 แบบนี้อย่างไร ถามออกไปเจ้าตัวก็พูดขึ้นทันทีว่า จุดนี้แหละที่ยากที่สุด 

“ช่วงแรกๆ ที่สร้างงาน อีโก้มันเริ่มกลับมาล่ะ เราคิดแค่ว่าต้องใส่เทคนิคน้อยๆ ให้มันดูอาร์ตๆ คือตอนอยู่ที่ยุโรป เรารู้ตัวว่ากำลังทำตามคนขาว แต่พอกลับไทย เราห้ามตัวเองไม่ได้ เราลืม เราก็เลยแอ็กต์อาร์ตไปช่วงหนึ่ง จนแม่ก็เตือนว่ามันไม่ได้อะไรขึ้นมาหรอก มีครูที่เราเคารพเขามากว่า 20 ปี เขารับงานอีเวนต์ งานมอเตอร์โชว์ ซึ่งเราไม่รับเลยนะงานแบบนี้ แล้วดูถูกคนที่ทำแบบนั้นด้วย”

ระหว่างนั้นหลอดไฟแบ่งตัวเองเป็น 2 พาร์ต พาร์ตหนึ่งเป็นศิลปินที่อยากจะสร้างงานแอ็กต์อาร์ต ส่วนอีกพาร์ตทำหน้าที่เป็นนักออกแบบท่าเต้นและกำกับการแสดงให้นักเรียนในสถาบันบางกอกแดนซ์ เพื่อส่งเข้าแข่งขันในต่างประเทศที่เธอแอบบอกว่า แอ็กต์อาร์ตไม่ได้ แต่นั้นล่ะเป็นผลพวงที่ช่วยฝึกเธอค้นหาเอกลักษณ์ที่ใช่ไปโดยไม่รู้ตัว 

บางกอกแดนซ์ในยุคของหลอดไฟ 

เปิดพื้นที่ให้กล้าแสดงออก เพื่อผลักดันความหลากหลายทางสังคม

Bangkok Dance Academy เริ่มต้นด้วยการเปิดสอนเทคนิคบัลเลต์ที่เฟื่องฟูมากๆ ในช่วงเวลาหนึ่ง ทำให้ผู้สมัครเข้ามางานต้องรอคิวนานถึง 2 ปี ส่งผลให้ต่อมาสถาบันเพิ่มสาขากระจายทั่วกรุงเทพฯ และในต่างจังหวัด และเปิดสอนการเต้นในสไตล์ที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น แจซแดนซ์ แท็ปแดนซ์ สตรีทแดนซ์ ไปจนถึง เคพ็อป เรียกความสนใจให้เด็กรุ่นใหม่หรือผู้ใหญ่ที่ต้องการใช้เวลาว่างนอกเหนือจากภาระงานต่างก็พากันเข้าเรียน ซึ่งนั่นคือข้อดีในแง่ของการมีทางเลือกให้ผู้คนได้มีพื้นที่ปลดปล่อยตัวเอง  

และเพราะศิลปะการเต้นช่วยชีวิตทั้งแม่และหลอดไฟ โดยเฉพาะ ‘การคิดนอกกรอบ’ ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่ได้จากการเรียนคอนเทมโพรารีแดนซ์ ช่วยให้คนๆ หนึ่งเป็นตัวของตัวเองในสังคมนั้นๆ ได้ เธอจึงเปิดคลาสเรียน Creative Movement และ Contemporary Dance ในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา เพื่อผลักดันเรื่องนี้

“เราอยากให้เด็กที่เรียนเต้นแต่เทคนิคได้เห็นวิธีการคิดงานแบบคอนเทมโพรารีแดนซ์ ด้วยการค่อยๆ เข้าไปเปลี่ยนกรอบที่เขาสร้างขึ้นมาจากการเรียนเต้นเทคนิค อย่างการพาเด็กไปซุปเปอร์มาร์เก็ตเพื่อหยิบของในห้างมาสร้างงานประติมากรรมด้วยกันแล้วเต้นเกี่ยวกับมัน เพื่อทำให้เขาได้รู้ว่า โอ้ มีเครื่องมือรอบตัวอีกเยอะที่เราสามารถหยิบมาเล่นได้นะ เรื่องพวกนี้ทำให้เด็กๆ มีไอเดียที่สามารถต่อยอดไปเป็นอะไรก็ได้หมด แล้วพอเขารู้ เขาก็จะมั่นใจ และกล้าที่จะลองทำอะไรหลายๆ อย่างในชีวิตประจำวันที่ไม่จำเป็นว่าจะต้องเกี่ยวกับการเต้นอย่างเดียว”

และแม้วันนี้เธอจะขึ้นแท่นผู้บริหารต่อจากแม่ ก็ยังคงให้ความสำคัญกับแนวคิดดังกล่าวนี้ เพราะการกล้าแสดงออกในมุมมองที่แตกต่างกันจะขับเคลื่อนให้สังคมเกิดความหลากหลายทางด้านความคิดและทางวัฒนธรรม และจะเป็นจุดเด่นที่ทำให้ประเทศเกิดความน่าสนใจ

“เราจำเป็นต้องสร้างจุดนี้ให้มันแข็งแรง เพราะในบ้านเราแค่คุณยกมือถามคำถามในห้องเรียนคุณก็ยังดูเป็นเด็กไม่ดี แต่สมัยนี้พ่อแม่เริ่มเปิดกว้างมากขึ้น แต่ถ้ารัฐและการศึกษายังเหมือนเดิมมันก็จะเหมือนติดกับดัก เราเลยยิ่งต้องทำให้บางกอกแดนซ์เป็นพื้นที่ที่ผู้เรียนสามารถมาปลดปล่อยตัวเองได้ ด้วยการสอนเรื่องสุนทรีภาพของอาร์ตเข้าไป อย่างน้อยให้เขาได้มาเต้น ได้มาทำอะไรบางอย่างที่นี่แล้วมีความสุขไปกับมัน เด็กๆ จะได้มีสังคมใหม่ เข้าใจตัวเองและเห็นคุณค่าในตัวเอง จนสามารถสร้างความมั่นใจในแบบของเขา อย่างที่รั้วโรงเรียนไม่สามารถสร้างให้เขาได้ นี่คือสิ่งที่เราคาดหวังกับเด็กที่มาเรียนในบางกอกแดนซ์”

ยกระดับวงการเต้นที่พยายามให้ภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วม

ส่วนหนึ่งที่ทำให้การเต้นในปัจจุบันเป็นที่นิยมขึ้น หลอดไฟมองว่า Pop Culture ต่างๆ โดยเฉพาะความนิยมของวงการ K-pop และ T-pop มีส่วนช่วยเปลี่ยนมุมมองศิลปะการเต้น จากเดิมเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วแทบจะเป็นเรื่องไกลตัว ถูกมองเป็นเรื่องเต้นกินรำกิน แต่ปัจจุบันเกิดการยอมรับในฐานะอาชีพ และกลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตที่ใครๆ ก็อยากเต้นตามกันได้เลย 

แต่ถ้าเทียบกับความนิยมในศิลปะด้านอื่นๆ การเต้นก็ยังถือว่าอยู่กันเฉพาะในกลุ่มเล็กๆ ในฐานะผู้บริหารจึงพยายามที่จะยกระดับวัฒนธรรมการเต้นให้เท่าเทียมกับศิลปะแขนงอื่นๆ ในบ้านเรา ด้วยการสานต่อการจัดการแข่งขันตามอย่างที่แม่ของเธอเคยทำ เพื่อชู ‘เวที’ ให้เป็นพื้นที่พบปะ แลกเปลี่ยนของคนในแวดวง

แต่สถาบันจะขับเคลื่อนอยู่ฝ่ายเดียวไม่ได้ ภาครัฐจะต้องมองภาพให้เห็นและต้องเข้ามามีบทบาทต่อการผลักดันวงการเต้นนี้ให้มากกว่านี้ “ที่ผ่านมาเราให้ทุนนักเรียนของเราเองทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์โดยที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเลย 

“สมัยที่หลอดไฟขอทุนไปเวียนนา ซึ่งเขาจะมีทุน 3 ส่วน 2 ส่วนเทศกาลออกให้ แต่อีกส่วนเขาบังคับให้ศิลปินในแต่ละประเทศต้องไปขอทุนจากการรัฐเองเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์กับภาครัฐ นั่นคือครั้งแรกที่เราเดินเข้าไปที่ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อพูดกับเขาว่า โครงการที่เราสมัครไปมีศิลปินสมัครเข้าร่วมเป็นพันๆ คน แต่รับแค่ 30 คนจาก 76 ประเทศทั่วโลก เราคือคนไทยคนเดียวที่ติด สิ่งที่เราทำมันยิ่งใหญ่มากนะคะคุณจะไม่ใ่ห้เราไปหรอ ขณะเดียวกันเราไปขอทุนที่สถาบันเกอเธ่ (Goethe Institute Bangkok) ซึ่งขอได้ง่ายอยู่แล้วเพราะเขาเข้าใจในสิ่งที่เราทำดี”

“แม่เราพยายามกับตรงนี้มามากว่า 20 ปีจนถอดใจไปแล้ว เราเลยต้องบอกแม่ว่าให้กลับมาสู้ใหม่ การแข่งขันที่เราจัดกันมาหลาย 10 ปี เขียนให้เป็นภาพกว้างมากขึ้นว่าเราทำเพื่ออะไรอยู่ หลอดไฟพยายามจะให้กระทรวงวัฒนธรรมสนับสนุนเราทุกๆ ปี ให้อยู่ในไฟแนนซ์โชว์แพลนของเขาในทุกๆ ปี ล่าสุดที่เพิ่งทำไปคือชื่อ ‘One day In Bangkok’ เล่าเกี่ยวกับ Soft pฃPower ของไทย ใน Asia Pacific Dance Competition ครั้งที่ 26 เราก็ต้องเอาโชว์นี้ไปขอทุนรัฐให้ได้ด้วย”

“เราเคยมองแค่คนกลุ่มเล็ก ตอนนี้เราต้องมองกลุ่มคนให้ใหญ่ขึ้น เราต้องเปลี่ยนวิธีการนำเสนองานของเรา เพราะเรารู้แล้วว่าทำแบบนี้มันได้แค่รางวัลชนะ แต่ก็แค่เฉพาะกลุ่มเต้นในระดับนึงเท่านั้น แต่เราอยากไปให้ถึงในระดับประเทศจริงๆ เราก็ต้องทำตามนโยบายรัฐ เพราะเราจะได้ทำงานร่วมกันได้ ยังมีที่อื่นๆ ที่อยู่ระหว่างการทำเรื่อง เพื่อปูทางให้วงการเต้นของเราต่อยอดไปอีกระดับ ไม่อย่างนั้นวงการเต้นเราก็จะทำกันงกๆ กันเองแค่นี้จริงๆ” 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

gunsept

เด็กหาดใหญ่ แหลงใต้ไม่เป็นแต่ว่า รักดนตรี ศิลปะ ภาพยนตร์