แข่งไพ่ต่อกลอน วรรคตอนแห่งชัยชนะของ 3 นักแข่งไพ่คารุตะทีมชาติไทย

Highlights

  • ไพ่คารุตะคือเกมไพ่ต่อกลอน ผู้อ่านจะอ่านกลอนท่อนต้น แล้วผู้แข่งต้องหากลอนท่อนตามให้เจอ ใครเจอก่อนถือว่าได้แต้ม
  • ชมรมไพ่คารุตะกรุงเทพก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2554 เป็นศูนย์กลางบ่มเพาะนักแข่งไพ่คารุตะประจำเมืองไทย
  • เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ชมรมไพ่คารุตะกรุงเทพได้ส่ง 3 ชาวไทยไปแข่งขันไพ่คารุตะระดับโลกที่ประเทศญี่ปุ่น พวกเขากลายเป็นตัวแทนชาวไทยที่คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 มาครอง

ถ้าพูดถึงเกมไพ่ของญี่ปุ่น จะคิดถึงเกมไพ่อะไรกัน?

เรารู้จักเพียงไพ่ยูกิที่เล่นมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ แต่เมื่อไม่นานมานี้ เราลองไปดูงานแข่งเกมไพ่ที่เรียกว่า ‘ไพ่คารุตะ’

ความเงียบสงัดในการแข่งไพ่คารุตะทำให้เราเผลอกลั้นหายใจตามไปด้วย ผู้คนนั่งเรียงรายเข้าหากันเป็นแถวยาวเหยียด ก้มหน้าจดจ้องไปยังกองไพ่ที่วางเรียงรายเป็นระเบียบอยู่ตรงหน้า

เสียงเดียวที่ดังขึ้นคือเสียงอ่านกลอนญี่ปุ่นโบราณของนักอ่านกลอนที่ยืนอยู่ด้านหน้าสุด กลอนยังไม่ทันจบดีทุกคนต่างก็พุ่งมือไปตบไพ่ดังสนั่นไปทั่วห้อง นั่นคือความประทับใจแรกที่ทำให้เราอยากรู้จักไพ่คารุตะ เกมไพ่สัญชาติญี่ปุ่นอายุกว่าร้อยปีที่เราไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน

100 ใบแห่งบทกลอน

ไพ่คารุตะจะแบ่งออกเป็น 2 กอง คือกองสำหรับผู้อ่านและกองสำหรับผู้เล่น กองละ 100 ใบ ที่ต้องแบ่งแบบนี้เพราะไพ่คารุตะบันทึกกลอน 100 บทของญี่ปุ่นเอาไว้ ผู้อ่านจะอ่านกลอนท่อนต้น แล้วผู้เล่นต้องหาไพ่ที่เป็นท่อนตามของกลอนบทนั้นๆ ให้เจอ จะเล่นกันทั้งหมด 50 ใบต่อรอบ แบ่งเล่นครั้งละ 2 ฝั่ง ฝั่งละ 25 ใบ

เมื่อเริ่มเล่น ผู้อ่านจะอ่านท่อนต้นก่อน ทันทีที่ออกเสียง ผู้เล่นต้องเตรียมหาและตบไพ่ท่อนตามให้ถูก ถ้าไพ่ท่อนตามอยู่ฝั่งเราแล้วเราหาเจอก่อน เราก็เอาใบนั้นออกจากกองเรา หากไพ่ท่อนตามอยู่ฝั่งตรงข้ามแล้วเราเจอก่อน ให้เรานำไพ่ท่อนตามใบนั้นออกมาจากกองของฝ่ายตรงข้าม แล้วส่งไพ่ใบไหนก็ได้ของฝั่งเราให้ฝั่งเขา ไพ่ฝั่งใครหมดก่อนคนนั้นชนะ

แม้จะเป็นไพ่ของญี่ปุ่น แต่ไม่ใช่ว่าคนญี่ปุ่นทุกคนจะรู้จักกติกาเกมไพ่คารุตะ จนกระทั่งเมื่อประมาณ พ.ศ. 2554 ไพ่คารุตะได้รับความนิยมอย่างล้นหลามขึ้นมาจากแอนิเมชั่นเกี่ยวกับการแข่งขันไพ่นี้เรื่อง Chihayafuru

“การเล่นคารุตะนี้มีเล่นกันที่บ้านตอนช่วงเทศกาลปีใหม่ด้วย ใครตบได้มากสุดก็ชนะ ไม่ได้เล่นเป็นการแข่งขันหรือมีกฎกติกาอะไร Chihayafuru เป็นจุดเปลี่ยนหลักทำให้คนหันมาเล่นไพ่คารุตะเพื่อการแข่งขันเพิ่มขึ้นเยอะมาก” มายูมิ บันโด ประธานชมรมไพ่คารุตะกรุงเทพฯ อธิบายให้ฟัง

เธอยังย้ำว่าไพ่คารุตะนี้เป็นไพ่ที่คนญี่ปุ่นทุกคนรู้จักอยู่แล้ว เพราะกลอนที่อยู่ในไพ่คารุตะเป็นกลอนที่เด็กญี่ปุ่นต้องเรียนกันตั้งแต่สมัยประถม ที่สำคัญพวกเขาต้องท่องจำกลอนเหล่านี้ให้ได้ ไม่ต่างจากเวลาเราเรียน กาพย์เห่เรือ หรือ นิราศภูเขาทอง ที่บางครั้งก็ต้องจำไปสอบ และเพื่อให้สนุกกับการจำยิ่งขึ้น ไพ่คารุตะจึงเป็นเครื่องมือที่ทำให้กลอนกลายเป็นเกม

“ในวิชาภาษาญี่ปุ่นของนักเรียนชั้นประถมปีที่ 3 หรือปีที่ 4 เขาจะเรียนเกี่ยวกับกลอน ‘Ogura Hyakunin-Isshu’ (小倉百人一首) ที่ใช้ในการแข่งไพ่คารุตะ เนื้อหามีทั้งที่เกี่ยวกับความรัก ฤดูกาล การจากลา และการเดินทาง ซึ่งคนสมัยนี้ก็สัมผัสและเข้าถึงได้ แต่จำยากเพราะแต่งด้วยภาษาญี่ปุ่นโบราณ เพื่อให้เด็กประถมรู้สึกสนุกกับการจำกลอน เลยเอาเกมไพ่คารุตะเข้ามาช่วยในการเรียนการสอน

“เป็นการรวบรวมกลอนแต่ละบทที่ดังๆ ตั้งแต่ ค.ศ. 700 ถึง ค.ศ. 1300 กลอนแต่ละบทไพเราะมาก คนสมัยก่อนเองก็อยากจำให้ได้แต่ยากมากที่จะจำกลอน 100 บทนี้ ต่อมาก็เลยทำเป็นเกมไพ่คารุตะให้คนได้เล่นไปจำไป แต่ยังไม่มีการเล่นเพื่อแข่งขัน มาเป็นการแข่งขันต้นยุคเมจิ ประมาณช่วงหลัง ค.ศ. 1868 ว่ากันว่ามีคนคนหนึ่งในมหาวิทยาลัยโตเกียวเป็นผู้คิดค้น ทำเป็นชมรมให้เล่นกันเป็นเกมแข่งขัน ไม่ใช่เพื่อการจำเฉยๆ”

ปัจจุบันไพ่คารุตะมีการแข่งขันอย่างเป็นทางการในญี่ปุ่นกว่า 50 ทัวร์นาเมนต์ตลอดทั้งปี ยังไม่นับการแข่งตามแต่ละเขตแคว้น แบ่งผู้เล่นออกเป็นถึง 10 ระดับ และแม้แต่ผู้อ่านเองก็แบ่งระดับไว้ ซึ่งตอนนี้ประเทศญี่ปุ่นมีผู้อ่านระดับสูงอยู่เพียง 9 คนเท่านั้น ส่วนในไทย ไพ่คารุตะเริ่มเบ่งบานขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2548 เมื่อ มุทสึมิ สโตน ตัดสินใจก่อตั้งชมรมคารุตะกรุงเทพฯ ขึ้นเพื่อถ่ายทอดวัฒนธรรมญี่ปุ่น ซึ่งคุณมายูมิเข้ามาดูแลต่อและเล่าถึงความพิเศษของไพ่คารุตะไว้ว่า

“แค่อ่านตัวฮิรางานะ (ตัวอักษรญี่ปุ่น) ออกก็เล่นได้ เกมไม่ได้แบ่งเพศหรืออายุ จะเด็กหรือผู้สูงอายุก็มาเล่นด้วยกันได้ คนต่างชาติที่อ่านฮิรางานะออกก็เล่นได้เช่นกัน

“อย่างในชมรม คนไทยกับคนญี่ปุ่นก็ซ้อมด้วยกัน ได้แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์กัน หลังจากนั้นคนไทยก็มาเล่นไพ่คารุตะด้วยกันต่อ จนบางครั้งได้ไปแข่งที่ญี่ปุ่นบ้าง เกิดเป็นห่วงโซ่อีกต่อไปเรื่อยๆ”

ห่วงโซ่ที่ว่าได้คล้องคนไทยกลุ่มหนึ่งเอาไว้ด้วยกัน พวกเขากลายเป็นสมาชิกประจำชมรมคารุตะกรุงเทพฯ และกลายเป็นนักกีฬาไพ่คารุตะทีมชาติไทยที่ทุกคนอาจไม่เคยรู้จัก

10 ปีแห่งการฝึกฝน

หลังจากชมรมคารุตะกรุงเทพกำเนิดขึ้น ชมรมนี้กลายเป็นศูนย์กลางบ่มเพาะนักแข่งไพ่คารุตะของเมืองไทย ใครที่อยากซ้อมหรือลองเล่นก็ต่างมารวมกันที่ชมรมนี้ ไม่จำกัดเพศ อายุ หรือเชื้อชาติ ในชมรมจึงอุดมไปด้วยสมาชิกมากหน้าหลายตา ตั้งแต่เด็กประถมชาวญี่ปุ่น นักศึกษาชาวไทย ไปจนคุณแม่ชาวญี่ปุ่น

ชมรมนี้ส่งตัวนักกีฬาไปแข่งที่ญี่ปุ่นมาแล้วถึง 4 ครั้งตั้งแต่ พ.ศ. 2554 แต่ครั้งล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2561 เป็นครั้งแรกที่ทีมไทยมีสมาชิกทั้งทีมเป็นคนไทยทั้งหมด พวกเขาคือ มีมี่ ด่านถาวรเจริญ, เหมี่ยว–ษมาพร ชื่นวิจิตร และ ฮอง–อรรถวุฒิ แซ่ชั่น

ทั้ง 3 คนฝึกฝนไพ่คารุตะมาแล้วประมาณ 10 ปี ก่อนหน้านี้พวกเขาต่างซ้อมในมหาวิทยาลัยหรือโรงเรียนของตัวเองมาก่อนจนได้มาเจอกันที่ชมรมนี้ การเดินทางเพื่อพัฒนาฝีมือการแข่งไพ่คารุตะจึงเริ่มขึ้น เริ่มตั้งแต่จดจำไพ่ 100 ใบให้ขึ้นใจเพื่อเพิ่มความเร็วในการตัดสินใจเลือกไพ่เมื่อได้ยินกลอนท่อนต้น ความแม่นยำในการตบไพ่ การเอี้ยวตัว หรือแม้กระทั่งท่านั่ง อย่างที่มีมี่และฮองเล่าไว้ว่า

“ช่วงแรกยังมองว่าเป็นเกม ชนะก็ดีใจแหละ ทำให้เรารู้สึกภูมิใจในตัวเอง แต่พอช่วงหลังๆ เราเริ่มมองว่ามันเป็นการแข่งขัน พอเราเริ่มเก่งขึ้น อาจารย์บันโดก็เริ่มสอนเทคนิคชั้นสูงขึ้น เช่น การนั่ง วิธีการปัดไพ่ การคิดแผนส่งไพ่กลับเวลาเราตบไพ่ฝั่งตรงข้ามได้ หรือการยื่นมือออกไปแล้วชักมือกลับมา มันมีรายละเอียดยิบย่อยเยอะมาก

“เวลาเล่น มันมีแถวไพ่ของฝั่งเราที่ติดกับฝั่งตรงข้ามอยู่ ถ้าไม่แม่นจะพลาดตบโดนไพ่ทีเดียว 2 ฝั่งเราจะฟาวล์ เราเลยซ้อมตบไพ่ เอาไพ่วางคว่ำบนเสื่อ แล้วก็แค่ซ้อมตบ”

แต่สำหรับเหมี่ยว อุปสรรคที่ยากกว่าเทคนิคเหล่านั้นคือสติ

“ฝึกเรื่องนี้มาตลอด 5-6 ปี คือมีสติ (ขำ) มันมีไพ่ที่คำขึ้นต้นเหมือนกันหลายใบมากๆ แล้วเรามีปัญหาที่แยกไม่ออก ถ้าไม่ลังเลก็ตบผิดไปเลย บางครั้งยังไม่ได้ประมวลเลยว่าเป็นใบไหน เลยต้องฝึกฟังเพิ่มเพื่อให้แยกประสาทได้มากกว่านี้”

ความสับสนของเกมนี้คือจะมีกลอนที่ท่อนขึ้นต้นเหมือนกันอยู่หลายพยางค์ กว่าจะแยกออกว่าเป็นกลอนบทไหนเลยต้องคอยฟังดีๆ และบางครั้ง ถ้ามัวแต่รอฟังเพื่อแยกกลอนให้ถูกก็อาจช้าเกินกว่าจะเงื้อมือไปตบไพ่ท่อนตาม มีมี่ซึ่งเป็นพี่ใหญ่ของทีมจึงเสริมเหมี่ยวต่อ

“ช่วงนี้เราค่อนข้างให้ความสำคัญกับการฟังมาก เพราะเมื่อก่อนเราก็เป็นแบบเหมี่ยว ตบฟาวล์บ่อย แล้วก็ยั้งมือไม่อยู่ แต่ปัญหานั้นลดลงเมื่อเราเริ่มฝึก 2 อย่าง คือฟังก่อนค่อยขยับมือ แต่ไม่ค่อยทันพวกที่ฟังแล้วมือไปเลย เพราะฉะนั้นเราจะทำยังไงให้เราฟังแล้วขยับมือได้เร็วกว่าเขา คือฟัง แล้วเขาออกเสียงพยางค์ที่ 2 ปุ๊บ ยังไม่ทันเป็นคำนะ มือเราต้องไปเลย พอออกเสียงเป็นคำแล้วค่อยออกมือไปปัดตามตำแหน่งไพ่ที่ถูกต้อง เกมนี้ต้องใจนิ่ง ถ้าไม่นิ่งจะโฟกัสอะไรไม่ได้เลย”

ทั้ง 3 คนกำชับว่ายังมีการฝึกรูปแบบอื่นอีกเยอะ ข้างต้นนี้เป็นการฝึกซ้อมทักษะสำคัญๆ เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น

อุปสรรคสำคัญไม่ใช่แค่การฝึกซ้อม แต่คือการแบ่งเวลา เพราะไพ่คารุตะยังไม่นับเป็นกีฬาอาชีพแม้แต่ในญี่ปุ่น ทำให้นักแข่งทุกคนต้องแบ่งพลังไปทำอย่างอื่นด้วย เหมี่ยวและฮองยังเรียนอยู่ ส่วนมีมี่เพิ่งเริ่มต้นชีวิตทำงาน พวกเขาจึงมาซ้อมได้หลังเลิกงานด้วยกายใจที่อ่อนล้าไปบ้างในบางวัน และแน่นอนว่าสภาพร่างกายและจิตใจที่ไม่พร้อมย่อมส่งผลกับฝีมือ

“เวลาเราเหนื่อย เราชอบหาสาเหตุว่าเพราะอะไร มันคิดของมันซ้ำๆ ทำให้เรามัวแต่คิดตรงนั้น ก็ต้องมโนว่าไม่เหนื่อย (ขำ)” ฮองบอกเทคนิคดึงสติของตัวเองก่อน

“แต่เราทำแบบฮองไม่ได้นะ” มีมี่แย้งขึ้น “ช่วงนี้เราเพิ่งเริ่มทำงาน บางทีเลิกงาน 2 ทุ่มต้องรีบวิ่งมา 2 ทุ่ม 15 นาทีก็เริ่มซ้อมต่อ เหนื่อยไหมก็เหนื่อยมาก เวลาเล่นอยู่เราโกหกไม่ได้ว่าตอนนี้ไม่เหนื่อย เพราะมันเหนื่อยจริงๆ ร่างกายมันไม่ไหวแล้ว ก็ต้องยอมรับว่าเหนื่อย แล้วจะทำยังไงเราถึงจะดึงประสิทธิภาพของเราออกมาให้ได้ดีที่สุด พอพลังกายไม่ได้ เราก็ไปโฟกัสพลังใจกับสติแทน มีฟุ้งซ่าน กังวลกับงานบ้าง แต่ต้องโฟกัสตรงนี้ เราหนีจากตรงนี้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็ทำตรงนี้ให้ดีที่สุด กลับไปค่อยว่ากัน

“เหนื่อยนะ เล่นไพ่คารุตะน่ะ ต้องใช้สมอง ร่างกายก็เหนื่อย ต้องเอี้ยวตัว ต้องอะไร บางทีเหงื่อออกเลย”

“แต่พอมามองอีกทีก็คิดว่า เออ มันเป็นกิจกรรม เป็นงานอดิเรกไม่กี่อย่างที่รู้สึกว่าตัวเองทำได้ดีจริงๆ”

เหมี่ยวพูดแทรกขึ้น พวกเขาต่างยอมรับในคำพูดนี้

บางที ไพ่คารุตะอาจกำลังสอนอะไรพวกเขามากกว่าแค่การมีสมาธิกับการแข่งขัน

1 ทีมแห่งชาติไทย

หลังจากซักซ้อมเก็บประสบการณ์มาอย่างยาวนาน และหาโอกาสไปแข่งแบบเดี่ยวที่ญี่ปุ่นบ้าง กลอนท่อนต่อไปของพวกเขาคือการเดินทางไปแข่งทัวร์นาเมนต์ไพ่คารุตะที่ญี่ปุ่นแบบทีม 3 คนโดยมีมีมี่เป็นคนนำทีม

การแข่งขันไพ่คารุตะแบบทัวร์นาเมนต์ครั้งหนึ่งจะกินเวลาทั้งวัน ไม่มีพักกินข้าว นั่งแข่งตั้งแต่เช้ายันค่ำ แข่งไม่จบก็มาเล่นต่อวันถัดมา แมตช์หนึ่งใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 45 นาที วิธีคิดคะแนนก็ง่ายๆ สมาชิกทีมไหนชนะ ทีมนั้นก็ได้คะแนน ทีมไหนแพ้ก็เก็บกระเป๋ากลับบ้านได้เลย มีมี่เล่าประสบการณ์ตอนแข่งไว้ว่า

“เราต้องอาศัยพลังกาย ต้องอึด เพราะเวลาแข่งจริงๆ เราไม่ได้ไปเล่นรอบสองรอบ แต่เล่นติดกัน ไม่มีเวลากินข้าวเที่ยง เช้าถึงค่ำ แพ้ก็กลับบ้าน กลับตั้งแต่สิบโมงเลยก็มี บางที่ไม่จบก็แข่งต่ออีกวัน ส่วนพลังใจก็ต้องมีสติ มีการวางแผน ไม่ใช่ว่ามีสติในการตบนะ แต่เราต้องคิดว่าไพ่ใบนี้เราจะตบแบบนี้ ถ้าจะส่งไพ่เราต้องใบไหน ในหัวเราต้องคิดตลอดเวลา”

มีมี่อธิบายความท้าทายอีกอย่างหนึ่งในการแข่งครั้งนี้ต่อว่า นั่นคือความหลากหลายของผู้เข้าแข่งขัน เมื่อเป็นการแข่งระดับโลก ทีมญี่ปุ่นจึงสามารถเข้าร่วมได้ พวกเขาจึงต้องตบไพ่แข่งกับชาวญี่ปุ่นที่ซักซ้อมกันมาอย่างเข้มข้นกว่า เป็นเจ้าของภาษา และมีผู้เล่นหลากหลายกว่า นอกจากนี้การแข่งนี้ก็คละระดับผู้เล่น ทุกคนอาจต้องประมือกับผู้เล่นระดับสูงกว่า

“ตอนเราไปแลกเปลี่ยนที่ญี่ปุ่น ทุกคนดูจริงจังและดุดันมาก เหมือนเป็นแรงผลักดัน เราต้องทำให้สำเร็จ เราต้องเก่งขึ้น อยู่ที่ญี่ปุ่นเราก็เจอผู้เล่นที่หลากหลายกว่า การที่เราเจอคู่ต่อสู้หลากหลาย เราเอาเทคนิคของเขามาปรับปรุงการเล่นของเราได้ แต่ถ้าเราเจอแต่ผู้เล่นเดิมๆ ไม่ได้หมายความว่าที่นี่ไม่ดีนะ แต่มันยังขาดความหลากหลายน่ะ พอเราเจอกับคู่ต่อสู้คนเดิมบ่อยๆ เราจะรู้ว่าถ้าเราส่งใบนี้ไปเขาจะวางไพ่ตรงไหนหรือคนนี้เขาไม่ถนัดไพ่ใบไหน เหมือนมีทางลัดที่มันขี้โกงหน่อยๆ”

แต่ด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมาตลอดเกือบ 10 ปี การซักซ้อมที่ฟังดูเสียเปรียบเลยไม่เป็นอุปสรรคกวนใจพวกเขา พวกเขาเพียงซ้อมซ้ำๆ หาจุดที่ตัวเองบกพร่อง เพิ่มเติมทักษะที่ขาดหายและหมั่นดูการแข่งระดับสูง และเมื่อถึงวันแข่งจริง บรรยากาศการแข่งทีม 3 คนไม่ได้กดดันให้เล่นไม่ออก แต่กลับเป็นบรรยากาศที่โอบล้อมไปด้วยพลังจากอีกคนหนึ่ง ซึ่งมีมี่เล่าว่า

“มันไม่ค่อยต่างจากการแข่งเดี่ยวเท่าไหร่นะ แต่ต่างกันตรงที่บรรยากาศ ขณะนั้นเรานั่งเรียงกัน 3 คน แต่ละคนมีคู่ต่อสู้ของตัวเอง ต่างคนต่างแข่งแต่ก็สื่อสารกันบ้าง บางทีน้องฟาวล์ 2 รอบติดกันก็ต้องให้กำลังใจกัน”

“ตอนที่ฟุ้งซ่านมากๆ หรือตบฟาวล์เยอะๆ แล้วหันไปมองพี่มี่ พี่มี่จะชนะแล้ว ส่วนฮองกำลังเสมอ ก็เลยคิดว่าเราจะแพ้ไม่ได้ ถ้าแพ้มีโอกาสตกรอบนะ เลยมีแรงฮึดขึ้นมา” เหมี่ยวเล่าสมทบ

“ตอนแรกเราคิดไว้ในใจตลอด” มีมี่เล่าต่อ “ถ้าไปกับน้อง 2 คนนี้ พวกเขามีปัญหาเรื่องฟาวล์เยอะ ทำยังไงจะไม่ให้ฟาวล์ ต้องพยายามพูดให้กำลังใจและต้องเรียกสติกลับมาด้วย บางทีเห็นฟาวล์ติดกัน 2-3 ครั้งก็ต้องเริ่มละ สู้ๆ อะไรผ่านไปแล้วไม่เป็นไร เคลียร์หูไว้ ฟังดีๆ อย่ายอมแพ้จนใบสุดท้าย 

“เอาจริงๆ เราสนุกน้อยลงนะ ด้วยความที่เราอยู่ในระดับสูงนิดนึงเลยกดดันว่าเราเป็นตัวแทนประเทศ เราควรทำได้ดีกว่านี้ ความสนุกเลยลดลง แต่ความสนุกไม่ได้เป็นเหตุผลหลักให้เราอยากเล่นต่อ ก็เหมือนนักกีฬาที่เป็นตัวแทนไปแข่งระดับประเทศ เขาอาจไม่รู้สึกสนุกกับกีฬานั้น แต่เพราะนี่คือสิ่งที่เขาทำได้ ไม่จำเป็นต้องสนุกจังเลยตลอดเวลา การแข่งไพ่คารุตะทำให้เรามีแพสชั่นมากขึ้น พอเรามีเป้าหมาย เรารู้สึกว่าเรายังอยากมีชีวิตอยู่ อยากอยู่ต่อเพื่อทำเป้าหมายนี้ให้เป็นจริง

“ภูมิใจนะที่ได้เป็นตัวแทนประเทศและได้พาน้องๆ ไปแข่งด้วย”

วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 เหมี่ยว ฮอง และมีมี่ 3 ตัวแทนจากทีมชาติไทย คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จากการแข่งขันไพ่คารุตะระดับโลกมาได้ เป็นกลอนท่อนแรกของทีมชาติไทยที่คว้ารางวัลมาได้ด้วยสมาชิกชาวไทยล้วน

และเป็นกลอนท่อนแรกของพวกเขาทั้ง 3 สู่กลอนบทต่อไปของเส้นทางการแข่งไพ่คารุตะ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

กฤต วิเศษเขตการณ์

ช่างภาพผู้ชื่นชอบการถ่ายภาพตามท้องถนนอย่างบ้าคลั่งพอๆ กับการกินกาแฟ และผู้คนมักเขียนชื่อเขาผิด