‘ผลผลิตที่ผิดพลาดจากระบบการศึกษาที่แสนดี’
ข้อความข้างต้นคือคำอธิบายแอ็กเคานต์ทวิตเตอร์ @BadStudent_ หรือ ‘นักเรียนเลว’ กลุ่มนักเรียนที่รวมตัวกันเพื่อตีแผ่ปัญหาของระบบการศึกษาไทยโดยเฉพาะปัญหาสิทธิมนุษยชนในสถานศึกษาอย่างการลงโทษนักเรียนผ่านการกล้อนและตัดผม รวมถึงการคุกคามนักเรียนที่แสดงออกทางการเมือง
ด้วยลีลาการสื่อสารอันแสบสันประกอบกับไอเดียการแสดงออกที่แปลกใหม่ สังคมจึงจับตามองว่ากลุ่มนักเรียนเลวจะหยิบยกประเด็นอะไรในระบบการศึกษามาเคลื่อนไหวให้เราได้ฉุกคิดทบทวนและตั้งคำถาม
ไม่ว่าจะเป็นแคมเปญ ‘เลิกบังคับหรือจับตัด’ ที่นักเรียนหญิงคนหนึ่งแขวนป้ายเชื้อเชิญให้คนที่เดินสัญจรบริเวณสยามสแควร์เข้ามาตัดผม เพื่อวิพากษ์ระเบียบวินัยในโรงเรียนที่ครูมักตัดผมของนักเรียนเกินกว่าเหตุ หรือม็อบ ‘เลิกเรียนไปกระทรวง’ ที่นักเรียนรวมตัวกันเป่านกหวีดไล่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการถึงหน้ากระทรวงฯ เพื่อเรียกร้องเสรีภาพเรื่องทรงผม การแสดงออกทางเพศ ฯลฯ ไปจนถึงม็อบ ‘หนูรู้หนูมันเลว’ กิจกรรมชุมนุมเพื่อเรียกร้องการปฏิรูปการศึกษา เหล่านี้เป็นตัวอย่างผลงานของพวกเขาภายในระยะเวลา 4 เดือนตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2563
เราจึงชวน มิน–ลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ, บอส–ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, นิ้ง–ธญานี เจริญกูล และ พลอย–เบญจมาภรณ์ นิวาส สี่แกนนำนักเรียนเลวมาเปิดวงสนทนาพาผู้อ่านไปทำความรู้จักพวกเขาให้มากขึ้นผ่านแนวคิด ความเชื่อ บทเรียนที่ได้รับจากการลุกขึ้นต่อสู้กับสิ่งที่ใหญ่กว่าตัวเอง และภาพฝันที่พวกเขามุ่งหวังให้เกิดขึ้นจากพลังของนักเรียนรุ่นใหม่ที่ไม่ยอมจำนนต่อความไม่ปกติในสังคม
ทำไมเลือกพูดเรื่องทรงผมก่อนเรื่องอื่น
ลภนพัฒน์ : เราอินเรื่องผมเพราะมีประสบการณ์ตรง เราเคยเอากฎกระทรวงฯ ไปคุยกับครูที่โรงเรียนว่าจริงๆ แล้วกระทรวงศึกษาธิการให้นักเรียนไว้ผมยาวได้ เคยทำแคมเปญด้วยตัวเองในโรงเรียนประมาณ 1 ปี แต่สุดท้ายสิ่งที่โรงเรียนบอกเราคือ ถ้าจะไว้ผมยาวก็ไปเรียนที่อื่น หรือไม่ต้องมาเรียนอีกเลย เราเลยเลิกไปโรงเรียนแล้วเรียนโฮมสคูลแทน
ภาณุพงศ์ : สำหรับเรานี่คือการกดทับอย่างเป็นรูปธรรมที่สุดเลย
ธญานี : ถ้าเราเป็นผู้กดขี่ที่ต้องการทำให้คนคนหนึ่งเชื่องเราคงทำให้คนเหล่านั้นสูญเสียสิทธิในสิ่งใกล้ตัวเขาที่สุดซึ่งก็คือผมที่เป็นอวัยวะหนึ่งเช่นเดียวกับแขนขาตาหรือนิ้วมือ และด้วยค่านิยมไทยที่มองว่าหัวคือสิ่งที่สูงส่งที่สุดในร่างกาย ในมุมมองนี้ขนาดสิ่งที่สูงส่งที่สุดและใกล้ตัวที่สุดในร่างกายตัวเองเขายังไม่มีสิทธิเลย เรื่องอื่นเขาก็คงไม่มีสิทธิหรอก เราเลยรู้สึกว่าคนที่คิดกลยุทธ์นี้ฉลาดมากเพราะทำให้คนเชื่องได้จริงๆ
เบญจมาภรณ์ : การจะไว้ผมทรงอะไรเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของทุกคน แต่สังคมกลับละเมิดสิทธินี้ไปง่ายๆ ผ่านการบังคับไว้ทรงผมและลงโทษคนที่ไม่ปฏิบัติตามด้วยการตัดหรือกล้อนผม แต่เรื่องพื้นฐานแบบนี้กลับยากต่อการตั้งคำถาม และสุดท้ายสังคมก็ไม่สนใจว่าคนที่ถูกกระทำรู้สึกยังไง
เรายังไม่เห็นว่าการบังคับตัดผมจะฝึกระเบียบให้นักเรียนได้ ไม่มีนักเรียนคนไหนได้เรียนรู้อะไรจากการบังคับตัดผมเลย
การตั้งคำถามกับเรื่องพื้นฐานแบบนี้สำคัญยังไง
ลภนพัฒน์ : การบังคับเรื่องทรงผมเป็นสิ่งหนึ่งที่กดทับนักเรียน ทำให้นักเรียนรู้สึกว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ของเขาแต่เป็นของคนอื่น พอรู้สึกว่าร่างกายไม่ใช่ของตัวเองเขาก็จะไม่กล้าตั้งคำถาม ไม่กล้าเรียกร้อง และไม่กล้าแม้กระทั่งทำตามสิทธิของตัวเองจนกลายเป็นพลเมืองที่โอนอ่อนต่ออำนาจเผด็จการของประเทศไปโดยปริยาย
ภาณุพงศ์ : เรามองว่าเด็กที่ผู้ใหญ่ต้องการจากระบบการศึกษาคือเด็กเชื่อง เชื่อฟังผู้ใหญ่ทุกอย่าง ปฏิบัติตามที่บอกโดยไม่ตั้งคำถาม ดังนั้นการที่เด็กสักคนลุกขึ้นมาตั้งคำถามจึงถูกมองว่าเป็นเด็กเลว
เพราะแบบนี้พวกคุณเลยเป็น ‘นักเรียนเลว’
เบญจมาภรณ์ : นักเรียนเลวเป็นชื่อที่มินได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือ นักเรียนเลวในระบบการศึกษาแสนดี ของเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล เลยเอามาตั้งเป็นชื่อกลุ่ม
ลภนพัฒน์ : จริงๆ ตอนแรกไม่ได้คิดว่าทำเพื่อคนอื่น เราแค่อยากทำเพื่อตัวเองและโรงเรียนของเรา แค่นั้นเลย ถึงเราจะไม่เจอปัญหาเพราะลาออกจากโรงเรียนแล้ว ก็ไม่ได้แปลว่าคนอื่นจะไม่เจอ มีคนอีกเยอะมากที่ต้องรู้สึกแย่แบบเราเมื่อถูกเรียกเข้าห้องปกครอง โดนครูจับตัดผม จนไม่อยากไปโรงเรียนเลย
ภาณุพงศ์ : เราถูกมองว่าเป็นนักเรียนเลวก็เพราะความอยากรู้นี่แหละ เพราะถ้าเป็นนักเรียนดีก็จะรู้แค่เท่าที่เขาอยากให้รู้ ยังมีคนอีกมากที่อยากลุกขึ้นมาทำอะไรเหมือนเราแต่มีข้อจำกัด แต่เรามีทั้งโอกาส อุดมการณ์ และความอยากเปลี่ยนแปลง จึงลงมือทำเลย
ธญานี : เราเป็นคนบ้าอุดมการณ์มาก จะโดนจับหรืออะไรเราไม่กลัว นักเรียนเลวเลยตอบโจทย์สิ่งที่เราอยากทำมาโดยตลอด นั่นคือการเปลี่ยนโลก เปลี่ยนสังคมที่เราอยู่
แล้วนักเรียนเลวจะเปลี่ยนแปลงสังคมและแก้ไขปัญหาต่างๆ ยังไงบ้าง
ลภนพัฒน์ : เราว่าปัญหาที่แท้จริงของการบังคับตัดผมที่มีมานานขนาดนี้คือข้อผิดพลาดเชิงโครงสร้าง ทั้งที่โรงเรียนเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการแต่ทำไมกระทรวงฯ ถึงไม่สามารถบังคับใช้คำสั่งได้ จนลามมาถึงการละเมิดสิทธิของนักเรียนในการไว้ทรงผม งานแรกของนักเรียนเลวจึงเป็นการรวบรวมรายชื่อโรงเรียนที่ยังไม่ปฏิบัติตามระเบียบทรงผมที่ออกมาใหม่ในปี 2563 ไปยื่นที่กระทรวงฯ เพราะเราไม่อยากให้นักเรียนโดนตัดผมอีก
วันที่เราไปพบปลัดกระทรวงฯ เขาส่งคนที่ดูแลเรื่องกฎหมายมาคุยกับเราซึ่งเขาพูดว่า ถ้าอยากให้รวดเร็วจริงๆ ก็ต้องทำให้เป็นข่าว พอนักข่าวไปสัมภาษณ์ปลัดเราก็จะใช้คำตอบของเขาเป็นหลักประกันให้นักเรียนได้ พวกเราเลยกลับไปคิดกันเย็นวันนั้น แล้ววันถัดมาก็ทำแคมเปญ ‘เลิกบังคับหรือจับตัด’ ให้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาในสยามสแควร์เข้ามาตัดผมเรา
ภาณุพงศ์ : ผลตอบรับเป็นไปในทางที่ดีเพราะทำให้เราได้พื้นที่สื่อและเสียงของเราก็ดังขึ้นมาก แคมเปญนั้นทำให้คนเห็นว่าการตัดผมเด็กแบบนี้ไม่ถูกต้อง แต่คำถามคือถ้าคิดว่าไม่ถูกต้องแล้วทำไมเวลาเกิดขึ้นในโรงเรียนถึงไม่มองว่ามันไม่ถูกต้องล่ะ
หลังจากนั้นเราได้ขึ้นปราศรัยเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคมและปัญหาในระบบการศึกษาไทยบนเวทีของกลุ่มประชาชนปลดแอก จากนั้นก็มีม็อบ ‘เลิกเรียนไปกระทรวง’ ที่ชวนเพื่อนนักเรียนพกนกหวีดและโบขาวไปรวมตัวกันขับไล่รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ
ลภนพัฒน์ : ส่วนแคมเปญ ‘หนูรู้หนูมันเลว’ เกิดขึ้นเพราะรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการอยากคุยกับเรา เราเลยจัดเวทีให้คุยเพราะต้องการให้นักเรียนคนอื่นมีส่วนร่วมด้วย ไม่ใช่ไปคุยในห้องปิดแล้วนักเรียนคนอื่นไม่มีสิทธิตั้งคำถามหรือโต้แย้งอะไรได้เลย
เสียงของนักเรียนสำคัญแค่ไหน
ลภนพัฒน์ : เรามองว่านักเรียนก็คือประชาชนคนหนึ่งที่มีความสำคัญเท่ากันในฐานะพลเมืองที่ออกมาเรียกร้องอะไรบางอย่าง ไม่จำเป็นต้องมองว่าใครมีความสำคัญมากกว่าใครเลย
แต่ที่ผ่านมาเสียงของเราไม่ได้ดังขนาดนั้น
ลภนพัฒน์ : เราไม่เคยรู้สึกแบบนั้นนะ ถ้ารู้สึกแบบนั้นคงไม่มีแรงทำกิจกรรมแบบทุกวันนี้ เรารู้มาตลอดว่าเสียงเราเบา แต่เราก็แค่ต้องรวบรวมเสียงเบาๆ ให้ได้จำนวนมากจะได้ดังเท่ากับเขา ถ้ามัวแต่คิดว่าเสียงเบาๆ ของเราทำอะไรไม่ได้ มันก็จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงหรอก
จริงๆ การชุมนุมหรือการจัดม็อบมันก็ยังเป็นวิธีการที่สันตินะ ในฐานะนักเรียนและประชาชนคนหนึ่งนี่เป็นสันติวิธีที่เราทำได้เพื่อกดดันให้รัฐทำตามข้อเรียกร้องของเรา เราดำเนินการตามกระบวนการอย่างปกติที่สุด ยื่นหนังสือตามระเบียบราชการของเขาและเชิญเขามาคุย
ภาณุพงศ์ : ปัญหาจะได้รับการแก้ไขก็ต่อเมื่อสังคมได้ยินเสียงเราจริงๆ อย่างตอนแรกเรายื่นหนังสือไปไม่รู้กี่รอบแต่ก็ไม่เคยเห็นผลจนเราต้องเอาม็อบไปกดดันกระทรวงฯ เพื่อเป็นข่าวให้คนสนใจ วันรุ่งขึ้นกระทรวงฯ ก็ออกมาตอบรับเลย ดังนั้นการเป็นกระบอกเสียงของเราจึงสำคัญ
เรากลัวจะหมดไฟอยู่ตลอด ทุกวันเสาร์–อาทิตย์เราต้องประชุมงาน ต้องติดต่อคน เคยคิดว่าถ้ามันเหนื่อยขนาดนี้แค่เราตัดสินใจยอมแพ้แล้วกลับบ้านก็จบแล้ว ถ้าเราเป็นเด็กทั่วไปที่อยู่บ้านเฉยๆ หรือไปดูหนัง ไปกินข้าวกับแฟน แบบนั้นดูจะเป็นชีวิตที่เรียบง่ายกว่าเยอะ
เบญจมาภรณ์ : แต่ส่วนตัวเราไม่ชอบชีวิตที่เรียบง่ายเพราะรู้สึกว่าชีวิตที่เรียบง่ายอย่างการดูหนังฟังเพลงมันจำกัดอยู่กับคนมีเงิน แต่ยังมีเด็กอีกมากที่ไม่มีโอกาสใช้ชีวิตเรียบง่าย เด็กที่ถูกการเมืองทำให้คุณภาพชีวิตเขาแย่ เราเลยอยากออกมาต่อสู้เพื่อให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น
ตอนนี้เรายังมีไฟ มีแรง มีโอกาสทำก็ทำไป เพราะไม่รู้ว่าวันข้างหน้าเราจะได้ทำต่อไหมหรือจะหมดไฟหรือเปล่า แต่ตอนนี้คงยาก มาถึงจุดนี้เราคงไม่หันหลังกลับแล้ว
ตอนนี้เสียงของนักเรียนเลวเริ่มดังขึ้นแล้ว อยากพูดเรื่องอะไรอีก
ธญานี : เรื่องการลงโทษครูให้เด็ดขาด ยกตัวอย่างเรื่องครูที่ล่วงละเมิดทางเพศนักเรียน เขายังมีที่ยืนในสังคมแต่นักเรียนที่ถูกกระทำจะช้ำใจขนาดไหนที่ต้องเดินสวนกับคนที่ล่วงละเมิดทางเพศตัวเองแล้วยังต้องไหว้เขาอีก เราว่ามันเป็นอะไรที่โคตรเจ็บปวดเลย
เบญจมาภรณ์ : เรื่องระบบอุปถัมภ์ที่อนุญาตให้คนไร้ความสามารถแต่มีเส้นสายได้มีอำนาจในการตัดสินใจ ยังมีครูดีๆ อีกมากที่ไม่ได้เจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานเพราะไม่มีเส้นสาย หรือบางคนก็ต้องกดความสามารถตัวเองไว้ไม่ให้เด่นเกินหน้าเกินตาคนอื่น นี่คือความผิดพลาดที่ทำให้เราไม่พัฒนาไปไหนสักที
แปลว่าจะไม่หยุดอยู่ที่เดิม
ลภนพัฒน์ : ตอนนี้นักเรียนเลวเป็นเหมือนองค์กรที่ลอยตัวอยู่ในอากาศ อยู่แค่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ แต่เราอยากอยู่บนโลกออฟไลน์ด้วย อยากมีฐานที่ตั้งซึ่งมั่นคงเหมือนกระทรวงศึกษาธิการ ถ้าในอนาคตการศึกษาไทยยังไม่ดีขึ้น เราก็คงอยากตั้งกระทรวงนักเรียนเลวขึ้นมาดำเนินการแทนให้
ภาณุพงศ์ : เราจะผลักดันเรื่องเสรีภาพในโรงเรียนและจะพยายามพัฒนาจนเป็นที่พึ่งให้นักเรียนได้จริงๆ ตอนนี้เราให้ได้แค่ความสบายใจ สิ่งที่พวกเราทำค่อนข้างเกินตัวไปมาก นักเรียนแค่ 4 คนจะพัฒนาองค์กรนี้ให้เป็นไปตามแบบที่เราต้องการภายใน 1-2 ปีมันยากเกินไป ทำทันทีไม่ได้ กระทรวงศึกษาธิการยังทำไม่ได้เลย
ธญานี : เรามีความฝันว่าอยากเป็นที่พึ่งพิงให้นักเรียน เป็นสถานที่ที่เขาสามารถทำอะไรก็ได้ในแบบของตัวเอง เป็นตัวของตัวเองได้
เบญจมาภรณ์ : เป็นสถานที่ที่ทุกคนสามารถมาได้เวลามีปัญหาโดยไม่ต้องเสียเงิน ถ้าบางคนมีปัญหาที่บ้านเราจะเป็นที่พักให้เขาเอง มีนักจิตวิทยา นักกฎหมายคอยซัพพอร์ต นั่นคือแผนระยะยาวของเรา
แล้วภาพสุดท้ายที่พวกคุณอยากเห็นเป็นยังไง
เบญจมาภรณ์ : อยากเห็นประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทุกคนมีความสุข ไม่เสียใจที่เกิดมาในประเทศนี้ที่มีสิทธิเสรีภาพและมีประชาธิปไตยแบบเต็มใบ
ธญานี : อยากเห็นประเทศที่ไม่ว่าจะต้องเสียภาษีปีละเท่าไหร่ประชาชนก็รู้สึกคุ้มค่ากับเงินทุกบาททุกสตางค์ที่จ่ายไปเพราะประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสวัสดิการจากรัฐ และมีการศึกษาที่มีคุณภาพ
ภาณุพงศ์ : ภาพสุดท้ายที่อยากเห็นคือการเรียกร้องต่างๆ ไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหนกลายเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ตลอด แม้กระทั่งการเรียกร้องเรื่องถังขยะในห้องน้ำก็ควรทำได้และไม่ถูกมองว่าไร้สาระ แต่ภาพที่อยากให้หมดไปคือการคุกคามนักเรียน ประชาชน หรือใครก็ตามที่เห็นต่าง
เราเคยไปนั่งคุยกับคณะกรรมาธิการการศึกษา มี ส.ส.ฝั่งรัฐบาลท่านหนึ่งบอกว่าถ้าเด็กไว้ผมยาวเดี๋ยวก็รีบไปมีผัวแล้วก็ท้อง ไว้ผมยาวแล้วจะเป็นเด็กเหลือขอ ผู้ใหญ่ส่วนหนึ่งไม่ได้เงยหน้าดูโลกเลยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันเกิดขึ้นเพราะอะไร เด็กมีผัวแล้วท้องเพราะไว้ผมยาวเหรอ แท้จริงแล้วมันเกี่ยวกับทรงผมเหรอ
ลภนพัฒน์ : เราอยากเห็นการศึกษาไทยมีคุณภาพและเคารพเรื่องสิทธิมนุษยชน มีระบบการตรวจสอบและมีการถ่วงดุลอำนาจที่ดี มีนักเรียนเข้าไปเป็นที่ปรึกษาในการออกแบบระบบการศึกษา และมีคนรุ่นใหม่เข้าไปบริหารระบบการศึกษาบ้าง เพราะตอนนี้เหมือนกระทรวงศึกษาธิการผูกขาดอยู่กับคนรุ่นเก่าเท่านั้น
เราอยากให้กระทรวงศึกษาธิการสามารถรับประกันสิทธิของนักเรียนได้ เพราะเราไม่รู้เลยว่าตอนเปิดเทอมจะมีนักเรียนโดนตัดผมไปอีกกี่คน จะเสียความรู้สึกมากขนาดไหน แม้ว่าผมที่เสียไปจะยาวขึ้นใหม่ได้ แต่สุดท้ายกระทรวงศึกษาธิการก็ไม่สามารถรับประกันสิทธิของนักเรียนได้เลย เรายังโดนบังคับตัดผมอยู่ดี
เรื่องทรงผมถือเป็นสิทธิของเรา ถ้าคนในสังคมยังไม่เข้าใจเรื่องนี้การจะพูดเรื่องใหญ่กว่านี้ก็คงยาก
อ่านบทสัมภาษณ์ของนักเรียนเลวและเรื่องราวเกี่ยวกับผม ขน และสิทธิเหนือเรือนร่างอื่นๆ ได้ใน a day 242 ฉบับ Hair สามารถสั่งซื้อได้ที่ godaypoets.com/product/a-day-242/