อาจิณโจนาธาน อาจิณกิจ ศิลปิน Abstract ที่พูดเรื่องความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่และผู้คนในนิทรรศการ Body of Space

อาจิณโจนาธาน อาจิณกิจ น่าจะเป็นศิลปินที่มีชื่อแปลกที่สุดคนหนึ่งในประเทศนี้ อันที่จริงก็ไม่มีอะไรซับซ้อนมากนัก อาจิณโจนาธาน มาจาก อาจินต์ ปัญจพรรค์ บวก ‘โจนาธาน ลิฟวิงสตัน นางนวล’ ชื่อนักเขียนเจ้าของผลงานชุด ‘เหมืองแร่’ ผสมกับชื่องานวรรณกรรมซึ่งเป็นเหมือนคัมภีร์ของคนหนุ่มสาวในยุคเสรีชน เขียนโดย ริชาร์ด บาก แปลโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าพ่อของเขาผู้ตั้งชื่อให้เป็นนักอ่านตัวยงขนาดไหน 

อาจิณโจนาธาน หรือ โจ เป็นศิลปินที่ทำงานศิลปะนามธรรมหรือ abstract ที่แสดงออกถึงมุมมองทางสังคมต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว ควบคู่ไปกับการเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ จังหวัดฉะเชิงเทรา นอกจากนี้ก็ยังเปิดแกลเลอรีชื่อ Many Cuts Art Space เพื่อเป็นพื้นที่สนับสนุนศิลปินด้วย

ในนิทรรศการครั้งล่าสุดของเขา Body of Space ซึ่งจัดแสดงในช่วงระหว่างวันที่ 5-29 พฤษภาคม 2565 ที่ ICONSIAM นั้น พูดเรื่องความสัมพันธ์ของพื้นที่กับวิถีการดำรงชีวิตและทัศนคติผู้คน โดยมีความเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงใดๆ ในพื้นที่นั้นๆ ย่อมส่งผลต่อสำนึกและพฤติกรรมของผู้คนให้เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน

ในฐานะที่เขาเป็นศิลปินคนหนึ่งที่ค่อนข้างแอ็กทีฟในโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในพื้นที่ใหม่ๆ ของศิลปินในการเผยแพร่และขายผลงาน เราจึงอยากชวนอาจิณโจนาธานคุยถึงเรื่องความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่เหล่านี้ที่มีผลต่อความคิดของคนทำงานศิลปะในยุคปัจจุบัน รวมไปถึงวิธีการสร้างงานแอ็บสแตรกต์ในแบบฉบับของเขา

เห็นคุณเอางานไปติดตั้งให้นักสะสมถึงบ้านที่โน่นที่นี่ตลอด ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่าทำไมศิลปินต้องไปติดตั้งด้วยตัวเองด้วย เป็นเรื่องปกติอยู่แล้วหรือเปล่า

ก็ไม่เชิงปกติ แต่ว่าสำหรับผม ถ้ามีเวลาผมอยากไปเอง เพราะว่าเวลาเราทำงานศิลปะ บางทีรูปมันอยู่ที่สตูดิโอ เราไม่เคยเห็นมันอยู่ในพื้นที่ที่มันจะถูกติดครั้งสุดท้าย ผมก็เหมือนอยากจะไปเก็บรูป อยากไปเห็นว่าถ้ามันไม่ได้อยู่กับเราแล้ว ไปอยู่ที่อื่น หน้าตามันจะเป็นยังไง แล้วบางครั้งคอลเลกเตอร์เขาก็ยังตัดสินใจไม่ได้ว่ารูปนี้มันจะต้องซ้ายขวาเท่าไหร่ ผมก็ไปแล้วช่วยกันดีไซน์ว่าควรจะวางแบบไหน ส่วนใหญ่คอลเลกเตอร์เขาก็เซอร์ไพรส์นะครับ ว่าทำไมเราถึงมาติดเอง ผมแฮปปี้ที่จะทำเองด้วย ไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องของแรงงาน ผมถือว่าคอลเลกเตอร์เขาก็ให้เกียรติเรามาก ที่ให้เราเข้าไปติดตั้งและไปดูตอนที่มันเสร็จแล้ว มีแค่ต่างประเทศที่ผมไปติดตั้งไม่ได้ 

เดี๋ยวนี้ถือว่าศิลปินมีทางเลือกในการขายงานมากขึ้น เช่น มี NFT มีโซเชียลมีเดีย ศิลปินในยุคปัจจุบันยังต้องรู้สึกเขินๆ อยู่มั้ยเวลาจะขายงาน หรือว่าควรจะทำตัวยังไง

มันเขินแน่นอนครับ แต่บางคนก็ไม่เขิน บางคนโพสต์รูปแล้วก็ใส่ราคาเข้าไปด้วย แต่สิ่งที่ผมทำสำหรับตัวผมเอง ผมทำให้ราคางานของผมเป็นที่รู้โดยทั่วกันโดยที่ผมไม่ต้องใส่ราคา เพราะฉะนั้นถ้านักสะสมเขาสนใจงานผม เขารู้อยู่แล้วว่าราคาประมาณไหน ผมก็จะไม่ต้องโพสต์ราคา

ผมว่าโซเชียลมีเดียมันทำให้เกิดการเชื่อมระหว่างนักสะสมกับตัวศิลปินผู้ผลิตงาน ต่างจากเมื่อก่อนที่ไม่มีโซเชียลมีเดีย วิธีการคือคุณก็จะต้องโชว์งานให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อจะดึงคนมาดู แต่มันก็ไม่ถึงกลุ่มลูกค้าอยู่ดี เพราะว่าเมื่อก่อนก็จะเป็นการโชว์กันเองดูกันเองในวงการศิลปะ ศิลปินรุ่นพี่รุ่นน้องดูกัน เราก็จะไม่เจอนักสะสม นักสะสมเขาก็ไม่รู้เหมือนกันว่า แล้วจะไปหางานศิลปะได้ที่ไหน

ปัจจุบันนอกจากทำโชว์ ผมก็ใช้อินสตาแกรมในการสื่อสารว่ากำลังทำอะไรอยู่ มีงานชิ้นใหม่นะ หรือจะไปแสดงที่ไหน ซึ่งก็มีอิมแพ็กต์มากในช่วง 3-4 ปีหลัง เพราะว่าผมก็เพิ่งเริ่มใช้เหมือนกัน หมายถึงว่ารู้แล้วว่าจะใช้มันทำอะไร ก่อนหน้านั้นก็เรื่อยเปื่อย ก็จะมีกลุ่มนักสะสมหรือว่าแฟนคลับที่เขาติดตามทางโซเชียลมีเดีย ทางไอจีบ้าง ทางเฟซบุ๊กเพจบ้าง หรือว่านักสะสมที่ได้รับการบอกต่อมา ถ้าเขาอยากดูงาน เราก็ส่งงานให้ดูบ้าง โซเชียลมีเดียมีผลพอสมควรที่ทำให้คนรู้จักเรามากยิ่งขึ้น

ส่วน NFT ผมมองว่ามันไม่ใช่ทุกคนถนัดที่จะทำแบบนั้น หลายๆ คนก็จะถามว่าทำไมศิลปินไม่ไปขายใน NFT คืออย่างงานแบบผมไปลงใน NFT แล้วมันจะดูตลกเลย เพราะจะเหลือนิดเดียว สุดท้ายงานศิลปะมันก็มีวิธีการพรีเซนต์ที่แตกต่างกัน งานบางอย่างเราดูผ่านจอได้ ดูผ่านกระดาษได้ งานบางอย่างคุณต้องมายืนอยู่ต่อหน้าถึงจะเห็นอะไรบางอย่าง 

เพราะฉะนั้นผมคิดว่า NFT มันไม่ได้เหมาะกับทุกคน ซึ่งศิลปินส่วนใหญ่ก็ไม่ถนัดที่จะไปทำอะไรแบบนั้นหรอก เพราะว่ามันใช้พลังงานเยอะมาก ไหนจะต้องทำงานขึ้นมาใหม่ หรือว่าบางคนไม่ทำใหม่แต่คุณต้องแปลงไฟล์ ต้องไปเปิดกระเป๋า ต้องไปโปรโมต ต้องเข้าทวิตเตอร์ ต้องเข้าดิสคอร์ด ต้องคุย สำหรับผมมันเยอะเกินไปที่จะไปทำอะไรแบบนั้น ผมยังแฮปปี้กับการไปยืนดูสี ตรงนี้เงาไม่เงา ยังอยากได้ยินเสียงแปรง ยังชอบสีเลอะกางเกงอยู่ และก็ยังชอบมีปฏิสัมพันธ์กับคนที่มาดูงาน ชอบยืนคุยให้เขาฟัง ซึ่งสำหรับผม NFT มันตัดอะไรพวกนี้ไป

แต่แน่นอนมันน่าตื่นเต้นที่คุณจะกระโดดไป เพราะว่าถ้าคุณขายงานแบบนี้ปีหนึ่งอาจจะได้ 2-3 ชิ้น แต่ถ้าคุณขาย NFT ไม่แน่ว่าชิ้นเดียวคุณอาจจะ to the moon รวยไปเลยใน 2 ปี ผมเห็นหลายๆ คนประสบความสำเร็จก็เป็นเรื่องดีมากๆ แต่ช่องทางที่มันเพิ่มขึ้นในการขายงานอย่างโซเชียลมีเดีย อันนี้ช่วยให้ศิลปินหลายๆ คนอยู่ได้เลย หรืออย่างน้อยที่สุดเลยนะ เราทำงานศิลปะแล้วโพสต์ลงโซเชียลมีเดียแล้วมีพันแชร์ คุณคิดดูว่านิทรรศการหนึ่งคนอาจจะดูไม่ถึงพันคนก็ได้ แต่พอคุณลงโซเชียลมีเดีย มีคนติดตามคุณได้เยอะขึ้น อย่างน้อยคุณมีกำลังใจละ เวลาคนมากดไลก์กดแชร์รูป มาให้กำลังใจมาคอมเมนต์ต่างๆ แล้วมันก็สามารถคิดต่อยอดไปทำอย่างอื่นได้ 

ตอนนี้วงการศิลปะไทยกำลังมีความคิดแบบไหนหรือว่ากำลังพยายามทำเรื่องอะไรกันอยู่

ผมว่าช่วง 2-3 ปีหลัง วงการศิลปะไทยคึกคักมาก สวนกระแสกับโควิด เราจะเห็นนิทรรศการศิลปะเกิดขึ้นในหลายๆ พื้นที่ คิดว่าด้วยความที่มันมี NFT เข้ามาด้วย มีโซเชียลมีเดียที่ทำให้เราเจอผู้คนได้เยอะขึ้น สามารถเผยแพร่งานได้เร็วขึ้น ทำให้ศิลปินแอ็กทีฟตัวเองสูงมากในช่วงหลัง แล้วศิลปินก็สามารถมีรายได้จากการขายงานศิลปะได้เยอะขึ้นในช่วง 2-3 ปีหลังเหมือนกัน อย่างใน NFT เห็นได้ชัดว่านักสะสมหลายๆ ชาติชื่นชมศิลปินไทยมากว่าคุณไปอยู่ไหนมา ทำไมศิลปินไทยมีแต่คนเก่งๆ แล้วพอตลาดมันเข้าถึงง่าย ทุกคนก็อยากจะกระโดดเข้าไปทำ อีกส่วนหนึ่งก็มีศิลปินไทยที่พยายามจะโกอินเตอร์ด้วยการไปโชว์งานในประเทศต่างๆ ผมว่าตอนนี้วงการศิลปะไทยค่อนข้างคึกคักเลย 

พูดได้มั้ยว่าการดำรงอยู่ของศิลปินไทยในปัจจุบันมันมีทางเลือกทางรอดที่ต่างออกไปจากคนรุ่นก่อนๆ เช่น ต้องไปเป็นอาจารย์เพื่อที่จะได้มีโอกาสสร้างงาน 

เมื่อก่อนน่ะเราคิดอย่างนั้น ว่าต้องเป็นอาจารย์ก่อน แล้วถึงจะมีเวลาไปทำงานศิลปะ ถึงจะมีทุน แต่ทุกวันนี้เป็นอาจารย์ก็ไม่ง่ายแล้วนะ มันเหนื่อย สำหรับผมมีแต่คนบอกทำไมไม่ลาออกสักที (หัวเราะ)

มุมมองผม ผมไม่ได้ทำอาชีพอาจารย์เพื่อจะเอาตังค์มาทำอาชีพศิลปิน ผมชอบทั้งสองอาชีพ ผมตั้งใจที่จะเป็นอาจารย์ด้วย แล้วก็ตั้งใจจะทำงานศิลปะด้วย ฉะนั้นผมก็เลยทำทั้งสองอย่างได้ 

แต่ผมคิดว่ามันไม่ค่อยเวิร์ก ถ้าเป็นอาชีพอื่นผมอาจจะโอเค หมายถึงว่าไปทำงานอย่างอื่นที่มันได้ตังค์ แล้วก็ค่อยเอาเวลามาทำงานศิลปะ แต่การเป็นอาจารย์ จะมาบอกว่าเราทำฆ่าเวลาให้ตัวอยู่รอด เพื่อที่จะไปทำงานศิลปะไม่ได้ ผมรู้สึกว่าเราต้องรับผิดชอบต่อเรื่องกระบวนการสอนนักศึกษาของเราด้วย แต่ถามว่าทำควบคู่กันได้มั้ย ทำได้ แต่วิธีคิดเราคิดแบบนั้นไม่ได้ ผมว่ามันไม่แฟร์กับนักศึกษาที่มาเรียนกับเรา

แน่นอนมันดีมากๆ ที่อาจารย์ทุกคนจะต้องทำงานศิลปะ เพราะการทำงานศิลปะมันก็คือการฝึกฝนตัวเอง นักศึกษาก็จะได้เรียนรู้โดยตรงกับการทำงานของเราด้วย ว่าวิธีการทำงานเป็นยังไง วิธีคิดของอาจารย์เป็นยังไง แล้วยิ่งดีที่เขาจะได้เห็นอาจารย์ที่ยังแอ็กทีฟทำงานอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นก็ควรจะทำควบคู่กันไปสองอย่าง

แต่ทุกวันนี้การเป็นอาจารย์มันยาก เงินเดือนก็น้อย มหาวิทยาลัยก็เริ่มปิดตัวลง โดยเฉพาะทางศิลปะเอง ผมคิดว่านักศึกษาจำนวนลดลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะว่าองค์ความรู้ทุกวันนี้มันสามารถเรียนจากที่ไหนก็ได้ เราต้องการเรียนกับศิลปินเก่งๆ ที่ไหนเราก็สามารถไปเทกคอร์สโดยที่ไม่ต้องเข้าเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว หรือเรียนมหาวิทยาลัยอะไรก็สามารถทำงานศิลปะได้เหมือนกัน ผมยังรักยังชอบอาชีพอาจารย์อยู่ครับ จนกว่าจะไม่มีคนอยากเรียนนั่นแหละ 

จากที่ได้สัมผัสกับเด็กรุ่นใหม่ๆ ที่เป็นลูกศิษย์ คุณได้เห็นความคิดอะไรที่น่าสนใจบ้าง

ผมคิดว่าวิธีคิดต่องานศิลปะและรูปแบบเปลี่ยนไปจากในช่วงที่เราเรียนเยอะมาก มุมมองของเขาที่มีต่อโลกก็ต่างจากเรา ซึ่งผมพยายามเรียนรู้อยู่นะว่าเขาคิดอะไร คือบางทีเราดูงานมันก็ไม่ได้ถูกใจเราเลย สมมติว่ามีคนสองคนมาส่ง เรารู้สึกไม่ถูกใจ แต่พอมันมาทั้งห้อง หมายความว่าทัศนคติต่อการมองโลกของเขาไม่ได้เหมือนพวกเราอีกต่อไปแล้ว ผมก็ต้องพยายามทำความเข้าใจว่าทำไมรูปแบบงานมันถึงเป็นแบบนี้ วิธีคิดเป็นแบบนี้ จะให้เขามาเขียนอะไรที่เป็นไทยๆ มากๆ ไม่มีแล้ว มันไม่มีชาวนา มีควายไถนา หรืออะไรที่พูดถึงชีวิตชนบทเหมือนสมัยก่อน พูดถึงธรรมะ เด็กทุกวันนี้ก็ไม่ได้ทำแบบนั้นแล้ว มันมิกซ์ระหว่างความเป็นศิลปะกับความเป็นเทรนด์เป็นแฟชั่น เป็นโลกโซเชียล คืออย่างน้อย เวลาถ่ายรูปงานแล้วโพสต์ลงโซเชียลนี่สวยหรือเปล่า มันป๊อปขึ้น วิธีคิดก็ต่างขึ้น เครื่องไม้เครื่องมือก็เยอะขึ้น ทุกวันนี้คุณใช้แท็บเล็ตใช้โน่นใช้นี่ในการผลิตผลงานได้เยอะขึ้น เทคโนโลยีของสีเองก็เปลี่ยนไปเยอะ เรามีสีที่มันสดมากขึ้น สะท้อนแสงมากขึ้น เขียนได้บนวัสดุที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าอีกไม่กี่ปี เทรนด์แบบงานของผมก็อาจจะหายไป แล้วเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ก็จะขึ้นมาแทนที่ อย่างทุกวันนี้สตรีทอาร์ตกับคาแรกเตอร์ที่เป็นการ์ตูนต่างๆ มันดังมาก มันขายดี เพราะฉะนั้นเทรนด์วิธีการทำงานของเด็กก็จะมุ่งไปทางนี้

กระบวนการทำงานของคุณในหนึ่งชุดเป็นอย่างไร ตั้งแต่ต้นทาง จากความคิด จนถ่ายทอดออกมาเป็นผลงาน

ปกติคนมองศิลปินที่ทำงานแอ็บสแตรกต์ก็จะคิดว่าทำไปเรื่อยๆ ตามอารมณ์ ว่าช่วงที่ทำรู้สึกยังไง แต่ของผมค่อนข้างจะมีวิธีการทำงานที่เป็นลักษณะเฉพาะ คือผมจะคิดงานเป็นซีรีส์ แล้วก็ลงมือทำไปประมาณ 1-2 ปี พัฒนาไปเรื่อยๆ เพราะว่าในแต่ละซีรีส์มันจะมีทั้งความคิดว่าเรากำลังจะสื่อสารอะไร รูปแบบที่เราจะสื่อสารคืออะไร ชุดสีที่จะใช้ วิธีการระบายสีเป็นยังไง ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่สามารถสำเร็จได้ภายใน 2-3 ชิ้น แต่ว่ามันต้องการทักษะที่เพิ่มขึ้น ความเฉียบคม การตกตะกอน พอที่จะรู้สึกว่าชุดนี้โอเคแล้วสำหรับนำไปโชว์หรือเผยแพร่ได้ เพราะฉะนั้นในชีวิตผมก็จะทำประมาณนี้ครับ 2 ปีต่อ 1 ชุด จะไม่ค่อยมีงานที่อยากเขียนตามอารมณ์ก็เขียน 

อย่างตัวคอนเซปต์ของ Body of Space มันพูดถึงเรื่องของพื้นที่ ตัวไอเดียการทำงานของผมจริงๆ ผมเป็นคนที่สนใจเรื่องสังคม เรื่องสภาพแวดล้อม เรื่องชีวิตมนุษย์ ในงานชุดอื่นๆ ก็จะพูดถึงเรื่องพวกนี้ Body of Space มันเป็นคำที่ผมใช้จำลองคำว่าพื้นที่ เวลาเราคิดถึงคำว่าพื้นที่ เรามักจะคิดถึงความว่างเปล่า คำว่าสเปซเราคิดถึงอะไรที่มันไม่มีตัวตน แต่ว่าผมเชื่อว่าสเปซทุกที่มันเอฟเฟกต์ต่อชีวิตของมนุษย์ ชีวิตของสัตว์ ของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ถ้าพื้นที่เปลี่ยนบอดี้ไป มันก็จะทำให้วิถีชีวิตของเราเปลี่ยนไปด้วย

เพราะฉะนั้นพอมาเชื่อมโยงกับตัวที่เป็นงานเพนติ้ง ในชุดนี้ผมพยายามเพนต์ในส่วนที่เป็นสเปซมากกว่าส่วนที่เป็นออบเจกต์ ยกตัวอย่างเวลาเราเห็นรูปปกติ สมมติเราเพนต์รูปหมา เราก็จะเพนต์รูปหมาให้มันชัด แล้วสเปซเราก็จะไม่ค่อยสนใจหรอก มันจะเป็นอะไรก็ได้ แต่ผมจะเน้นสเปซ แล้วออบเจกต์ทำให้มันเบลอ คือให้ความสำคัญกับสเปซมากขึ้น เพราะฉะนั้นงานชุดนี้มันจะมีพื้นที่ว่างในงานเยอะ แล้วฟอร์มต่างๆ มันจะดูเละเทะกว่าในชุดที่ผ่านๆ มา 

ส่วนไอเดียของสีในชุดนี้มันมาจากความแฟนซีในวัยเด็กเวลาเราไปสวนสัตว์ เราเห็นอะไรก็ตื่นตาตื่นใจไปหมด ผมไม่เคยเห็นยีราฟ ผมไม่เคยเห็นช้าง ผมพยายามนึกถึงฟีลลิ่งตอนนั้น ก็เลยได้ชุดสีที่ค่อนข้างจะสดใส ฟีลลิ่งแบบแฮปปี้ พ่อแม่จูงลูกกันไปปิกนิก ไปนั่งกินข้าวไปดูโน่นดูนี่ อันนี้เป็นไอเดียที่มาของนิทรรศการชุดนี้ 

วิธีถ่ายทอดความคิดตรงนี้ออกมาเป็นงานแอ็บสแตรกต์ทำยังไง

ผมคิดว่าอย่างนี้ ตัวศิลปิน คนทำงานเอง เขาใช้ประสบการณ์ในการทำงาน ประสบการณ์ในการเห็น ในการดู ในการประมวลความคิดต่างๆ มันจะเฉพาะตัวมาก ผมบอกไม่ได้ว่าแต่ละคนจะต้องถ่ายทอดออกมาแบบไหน เพราะแต่ละคนมองไม่เหมือนกัน เราเห็นวัตถุอย่างหนึ่ง เราจะถ่ายทอดออกมาอีกแบบหนึ่ง บางคนอาจจะถ่ายทอดมาแค่สี บางคนอาจจะถ่ายทอดมาเป็นฟอร์ม บางคนอาจจะถ่ายทอดมาเป็นความรู้สึก 

สำหรับผม ผมแค่โฟกัสว่า ถ้าผมได้คอนเซปต์แบบนี้ในการคิดที่จะทำ ผมจะจัดการกับมันยังไงทั้งตัวนิทรรศการและตัวผลงานแต่ละชิ้นมากกว่า โดยที่ผมไม่ได้คาดหวังว่าผู้ชมแต่ละคนจะต้องเข้าใจมันทั้งหมด บางคนอาจจะเก็ตประเด็นอะไรบางอย่างที่เกิดขึ้นในผลงาน ผมว่าแค่นั้นก็โอเคแล้วครับ มันไม่ใช่งานที่อธิบายชิ้นต่อชิ้นว่าใครทำอะไรที่ไหนอย่างไร แต่ต้องการให้เราดูทั้งกระบวนการการทำงาน ทำไมศิลปินถึงทำแบบนี้ สีชุดนี้แปลกตามาก เขาสามารถจัดวางอะไรแบบนี้ได้ยังไง ผมคิดว่าตัวผู้ชมก็อาจจะต้องใช้ประสบการณ์ แล้วผมก็ไม่มายด์ว่าเขาดูแล้วจะรู้สึกว่ามันไม่สวย ผมว่าอันนี้เป็นเรื่องปัจเจกมากๆ ว่าคนจะรู้สึกกับงานยังไง เราบังคับกะเกณฑ์เขาไม่ได้

สมมติว่าพอคุณตั้งเฟรมขึ้นมาแล้วเริ่มยังไงก่อน

พอเฟรมตั้งปุ๊บ ผมมีภาพในหัวอยู่แล้วว่า ชิ้นนี้หน้าตามันจะประมาณไหน รู้แล้วว่าชุดสีที่ใช้จะเป็นยังไง ผมจะผสมสีไว้ก่อนเลย แล้วก็ทำไปตามขั้นตอนของมัน ลงพื้นหนึ่งสองสามสี่ห้าตามเลเยอร์ บางทีผมอาจจะเขียนพร้อมๆ กัน 3-4 เฟรมได้นะ เป็นเลเยอร์ๆ แล้วก็ให้มันเสร็จพร้อมกัน คือถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่เรามีคอนเซปต์เรียบร้อยแล้ว เรารู้ว่ากระบวนการทำงานเราเป็นแบบนี้ๆ มันก็จะทำให้เราทำงานได้เร็วขึ้น

งานแอ็บสแตรกต์มันก็ค่อนข้างมีแบบแผนพอสมควร ไม่ใช่ว่าใช้อารมณ์อย่างเดียว

ใช่ เพราะว่าถ้าใช้อารมณ์อย่างเดียว ผมจะเสียหายมาก มันจะสะเปะสะปะแล้วเละทุกที หลายๆ คนอาจจะทำแบบนั้นได้ แต่ว่าผมทำไม่ได้ แล้วทุกคนมักจะคิดว่าศิลปินแอ็บสแตรกต์จะเขียนภาพสดโชว์ได้ ทำให้เสร็จภายใน 30-40 นาที ผมทำไม่ได้ มันไม่ใช่วิธีของผม ผมจะต้องวางแผนกับมัน เพราะทุกอย่างมันเสียทั้งเวลาเสียทั้งเงินเวลาเราทำงานผิดพลาด สีที่เราลงไป เราต้องมากลบใหม่มาทับมันใหม่ หรือบางทีเราอาจจะต้องทิ้งไปเลย 

เวลาทำงานคุณต้องอยู่ในสภาวะแบบไหน

ผมเป็นคนที่ทำงานด้วยการวางตารางเวลา วันนี้เราจะทำกี่ชั่วโมง แล้วก็เริ่มทำงานตามนั้นเลย หรือช่วงปิดเทอมที่มีเวลาว่างจริงๆ ก็อาจจะทำ 2-3 อาทิตย์ติดต่อกัน คือจะทำให้มันเป็นปกติ แต่ทุกๆ วันก็จะพยายามเข้าสตูดิโอให้ได้ อาจจะเข้าไปนั่งจัดนั่งเก็บล้างพู่กัน นั่งบีบสีผสมสีไว้ ต้องมีการเข้าไปปฏิสัมพันธ์ หรือบางทีผมก็เข้าไปนั่งดูงานเฉยๆ เพราะว่างานบางชิ้นเราทำแล้วเราไม่รู้ว่ามันเสร็จหรือยัง บางทีเหมือนจะเสร็จแล้ว แต่ผ่านไปอีกสามวันมาดูแล้วมันอาจจะยังไม่เวิร์กก็ได้ ผมก็จะเข้าไปนั่งดูสักครึ่งชั่วโมง ขยับไปขยับมาว่าโอเคหรือยัง เพราะฉะนั้นสำหรับผม ผมไม่ทำงานตามอารมณ์ ไม่ใช่คนที่อยากทำก็ทำ ไม่อยากก็ไม่ทำ ต้องวางวินัยกับการทำงานให้ตัวเอง

แล้วก็ผมจะไม่ดื่มเวลาทำงาน คือจะไม่ปล่อยให้ตัวเองอยู่ในภาวะขาดสติ คนจะเข้าใจว่าศิลปินจะต้องดื่ม ต้องสูบ ต้องเมา ต้องมีฟีลลิ่งแบบหลุดลอย โอเคแหละ อาจจะเป็นวิธีหนึ่งที่หลายๆ คนใช้ ผมเดาว่ามีคนทำนะ (หัวเราะ) เพื่อจะให้มันกระชากอะไรบางอย่างออกมา แต่งานผมไม่ใช่การกระชาก expression แบบแรงๆ งานผมมันเหมือนแรง แต่จริงๆ มันละเมียดมาก ผมค่อยๆ ทำทีละนิด แล้วผมก็ชอบเปิดเพลงฟัง ชอบร้องเพลง ชอบแหกปากตอนทำงาน ฟังทุกแนว ชอบที่จะมีอะไรให้เราคิดไปด้วยทำไปด้วย เพราะว่ามันผ่อนคลายเรา

ภาพ > อาจิณโจนาธาน อาจิณกิจ

งานเสร็จหรือไม่เสร็จดูยังไง ใช้อะไรบอก

ผมว่าใช้ประสบการณ์ล้วนๆ เลยครับ คือหนึ่งเรามีคอนเซปต์แล้วแหละ ว่าภาพในหัวเป็นอย่างนี้ กระบวนการทำงานเป็นแบบนี้ วิธีการทำงานเป็นแบบนี้ เพราะฉะนั้นโดยเบสิก ถ้าทางฟิสิคัล ทางกระบวนการทำงานจริงๆ เราก็จะรู้ว่ามันยังไม่เสร็จหรอก เพราะว่าสีมันเพิ่งไปชั้นเดียวเอง ซึ่งคนดูอาจจะไม่รู้ แต่ว่าศิลปินรู้ว่าเราเพิ่งเขียนไปชั้นเดียวเองนะ สองชั้นเองนะ ทั้งที่กระบวนการจริงๆ เราควรจะต้องเขียนเยอะกว่านี้ อันนี้หนึ่งอย่าง

สองในแง่ของความงาม ในแง่ของวิชวลที่เราเห็น ผมอาจจะต้องใช้เวลาในการนั่งดูมันสักพักหนึ่งว่ามันลงตัวหรือยัง โอเคหรือยัง ควรจะเพิ่มเติมตรงไหน อันนี้เป็นประสบการณ์ของศิลปินเลย 

อยากให้เล่าเรื่องที่คุณไปปั่นจักรยานในต่างประเทศแล้วสร้างงาน คุณได้เรียนรู้อะไรบ้าง ต่อยอดและส่งผลถึงปัจจุบันอย่างไรบ้าง   

ตอนนั้นผมอายุ 24-25 เป็นช่วงวัยคะนองมากเลย ผมเรียนปริญญาโทอยู่ การเมืองกำลังแรง ผมทำโปรเจกต์ที่พูดถึงแนวคิดของประเทศคอมมิวนิสต์ ว่าไอเดียของคอมมิวนิสต์มาจากไหน คือคอมมิวนิสต์มาจากมอสโกแล้วก็มาจีนมาเวียดนามมาลาว เกือบเข้าไทยได้แล้ว คอนเซปต์ของการปั่นก็คือ ผมจะปั่นย้อนรอยวิธีคิดของประเทศคอมมิวนิสต์ โดยเริ่มปั่นจักรยานจากไทย ย้อนกลับขึ้นไปลาว เวียดนาม จีน ปลายทางอยู่ที่มอสโก จริงๆ ผมไม่ได้คิดว่ามันเป็นเรื่องของการไปปั่นจักรยานนะ เพียงแต่มันเป็นวิธีเดินทางที่ประหยัดตังค์ที่สุดเท่าที่ผมจะทำได้ โดยค่ำไหนนอนนั่น แล้วเราก็ได้ใช้ชีวิตกับโลกมากขึ้น ตามประสาของคนที่อยากรู้ว่าโลกมันเป็นยังไง

ผมใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 5 เดือน ตัวผมไปถึงมอสโกโดยนั่งรถไฟทรานส์ไซบีเรียไป แต่จักรยานไปถึงแค่ปักกิ่ง หลังจากเสร็จโปรเจกต์ผมก็ยังอยู่ที่จีนอีกพักหนึ่ง แล้วก็กลับมาเป็นอาจารย์ที่นี่ ตอนอยู่จีนไม่ค่อยอยากกลับเท่าไหร่ พอไปแล้วมันรู้สึกว่า เรามีจักรยานคันเดียวเราไปอยู่ที่ไหนในโลกก็ได้นี่หว่า จริงๆ มนุษย์ไม่ต้องมีประเทศก็ได้นะ เป็นพลเมืองโลกก็ได้ คิดแบบนั้น ผมได้เจอนักปั่นที่มาจากทั่วโลก ปั่นสวนทางกัน ได้พูดคุยแลกเปลี่ยน ได้ลองกินชาของอาร์เจนตินา ได้ลองกินอาหารของคนเบลเยียมที่ทำให้กินระหว่างทาง ไปกางเต็นท์นอนด้วยกัน สนุกดี

ภาพ > อาจิณโจนาธาน อาจิณกิจ
ภาพ > อาจิณโจนาธาน อาจิณกิจ
ภาพ > อาจิณโจนาธาน อาจิณกิจ

สมัยก่อนยากลำบาก ถ้าเทียบกับทุกวันนี้ ไม่มีสมาร์ทโฟน ผมก็ต้องเปิดแผนที่กระดาษ แล้วไปประเทศจีนก็อ่านไม่ออกละ เพราะเป็นภาษาจีนทั้งหมด ก็ต้องเดาเอาเลยว่าเส้นนี้เส้นไหน อินเทอร์เน็ตก็ไม่ได้มีแบบทุกวันนี้ ไม่มีสมาร์ทโฟนผมก็ต้องพกโน้ตบุ๊กไปตัวหนึ่ง กล้องฟิล์ม เหนื่อย มันเป็นรอยต่อของช่วงที่แอนะล็อกกำลังจะหมดไป แล้วดิจิทัลกำลังจะเข้ามา ฉะนั้นถ้าผมทำอีกในแบบเดียวกัน ฟีลลิ่งมันจะต่าง เพราะทุกอย่างจะง่ายแล้ว คุณหลงทางก็เปิดจีพีเอสนำ โทรหาคนโน้นคนนี้ โอนตังค์ก็ง่ายขึ้น สมัยก่อนคุณต้องไปเจอตู้เอทีเอ็มอย่างเดียวคุณถึงจะเอาเงินออกมาได้ ผมถือว่ามันเป็นประสบการณ์ที่ผมเลือกช่วงเวลาที่ถูกต้องพอดี ช่วงปี 2008-2009 ที่โลกกำลังจะเปลี่ยนพอดี 

ตอนนั้นมันอยากเข้าใจโลกด้วย เป็นช่วงวัยหนุ่มที่คิดอะไรเยอะแยะเต็มไปหมด อยากเห็นโลก อยากทำงานศิลปะ อยากจะเห็นอะไรที่เปลี่ยนไปจากมุมเดิมที่เราเคยอยู่ เหมือนที่ผมพูดว่า ศิลปินต้องใช้ประสบการณ์ แล้วคุณเป็นคนแบบไหนคุณก็จะทำงานออกมาแบบนั้นแหละ มันหลอกไม่ได้ว่านิสัยใจคอคุณเป็นยังไง ประสบการณ์ที่คุณเห็นมามันมากน้อยแค่ไหน 

ยกตัวอย่าง ผมไม่สามารถนั่งเขียนงานแอ็บสแตรกต์ในห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ ปีสองปีได้ ผมก็ต้องออกไปเจอโน่นเจอนี่เพื่อประมวลผลความคิด ซึ่งสัมพันธ์กับโลกข้างนอก เราเห็นตึกสูงเยอะๆ เราเห็นทะเลทรายที่มันกว้างๆ เราเห็นหิมะ เราเห็นป่ามันก็ทำให้ perspective ของเราเปลี่ยนไป ฉะนั้นผมคิดว่าการเดินทางของผม มันเหมือนการดึงเอาพลังเข้ามาในชีวิต ทำให้ผมสนุกกับมัน และมันไม่ใช่ว่า พอผมไปเจอปุ๊บแล้วเปลี่ยนเลย แต่ทุกๆ อย่างคือจุดที่ต่อๆ กัน ค่อยๆ สั่งสมมา เป็นประสบการณ์ที่ทับถมกันมาเรื่อยๆ แล้วก็ค่อยๆ ทยอยออกมา

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย