กลุ่มศิลปินอาร์ตทอยศาลาอันเต ผู้ผลักประวัติศาสตร์ไทยไปข้างหน้าด้วยของเล่นน่าสะสมและเล่าเรื่องสนุก

ไอเดียการทำตลาดอาร์ตทอยในสวน (Art Toys Market in the Garden) เริ่มต้นขึ้นมาจากการพูดคุยกันระหว่าง โอ๋-ศุภวรรณ นงนุช ภัณฑารักษ์ชำนาญการ และ กล้วย-ธนพันธุ์ ขจรพันธุ์ ที่ปรึกษาด้านวิชาการให้กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เพื่อตอบโจทย์ในการทำของที่ระลึกและดึงดูดให้คนเข้ามาในพิพิธภัณฑ์มากขึ้นและถี่ขึ้น จนเคาะออกมาเป็นอาร์ตทอย ที่ใช้คอนเซ็ปต์การหมุนกาชาปองมาเป็นกิมมิกให้คนที่มาร่วมงานได้ลุ้นอย่างมีหวัง โดยใช้พื้นที่บริเวณหออนุสรณ์เจ้าพระยายมราช (แก้ว สิงหเสนี) เป็นฐานที่มั่นเปิดตัวโปรเจกต์นี้สู่สายตานักสะสมและแฟนคลับพิพิธภัณฑ์ แต่ตลาดอาร์ตทอยในสวนนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าขาดพระเอกอย่าง กลุ่มศิลปินรุ่นใหม่ในนาม ‘ศาลาอันเต’ รุ่นบุกเบิกที่มารวมตัวกันเฉพาะกิจเพื่อทำเรื่องของเล่นให้เป็นเรื่องใหญ่

วันนี้เราจึงชวนทั้งผู้อยู่เบื้องหลังทั้งทางฝั่งพิพิธภัณฑ์และศิลปินมาล้อมวงพูดคุยกันถึงที่มาก่อนจะมาเป็นไอเดีย ‘กาชาปองอาร์ตทอย’ ที่สลัดภาพจำของการจัดแสดงงานและคาแรกเตอร์เก่าๆ ที่ต้องเคร่งเครียดดุดันเข้าถึงยาก ให้กลายเป็นของเล่นในมือ จุดประกายให้เกิดการเรียนรู้และเข้าใจโดยมีประวัติศาสตร์เป็นพื้นฐานให้คนในสังคมเดินไปข้างหน้าด้วยรากฐานที่แข็งแรง สร้างความสงสัยให้คนได้สืบค้นกันต่อผ่านการร้อยเรียงเรื่องราวที่เข้าใจง่ายในระดับที่เด็กสิบขวบก็สามารถอ่านและเรียนรู้ได้

นอกเหนือไปจากนี้ยังมีแผนการระดับประเทศที่กำลังสร้างความสั่นสะเทือนให้กับพิพิธภัณฑ์ไทยทั่วประเทศ กลายเป็นหมุดหมายให้ผู้ชมต้องตามเก็บไอเทมลับที่ต้องออกเดินทางเท่านั้นถึงจะได้ครอบครองในอนาคต (อันไม่ไกล)  

กว่าจะเป็นกลุ่มศิลปินอาร์ตทอยในนาม ‘ศาลาอันเต’

เณตม์ ศิลปินจาก Little Turtle Studio อธิบายที่มาของชื่อกลุ่ม ศอ. หรือ ศาลาอันเต กับเราว่าเกิดขึ้นในระหว่างที่คุยกันเรื่อง ศาลาอันเต กลุ่มผู้ที่สำเร็จราชการแทนสมัยรัชกาลที่ 5 ในครั้งเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2450) หรือในชื่อเต็มๆ ว่า ‘ศาลาอันเตปุริกธุริน’ ซึ่งพ้องเสียงกับคำว่า Arte (ฝรั่งเศส) ด้วยเช่นกัน จึงนำมาเป็นชื่อกลุ่มที่แทนถึงศาลาเกี่ยวกับศิลปะและคนที่ทำงานศิลปะ โดยมีภารกิจในการทำเรื่องวิชาการให้เป็นของเล่น ทำเรื่องที่มีสาระให้ดูไม่มีสาระ ทุกอย่างนั้นล้วนมีที่มาจากประวัติศาสตร์แต่ปรับให้เข้ายุคสมัย

ทั้งนี้ในการรวมกลุ่มดังกล่าวนอกจากช่วยให้การดำเนินงานสะดวกและตัดปัญหาเรื่องลิขลิทธิ์ ยังช่วยปลดล็อกกฎข้อบังคับต่างๆ ที่อาจมีผลกระทบในงานฝั่งพิพิธภัณฑ์ ทำให้ในช่วงตั้งต้นไอเดียการผลิตอาร์ตทอยเป็นไปอย่างราบรื่น

ประวัติศาสตร์ที่หยิบจับและเล่นได้

พอพูดถึงพิพิธภัณฑ์ความคิดแรกของคนทั่วไปมักนึกถึงงานวิชาการที่เข้าใจยากมีความเป็นทางการสูง ใครจะนึกว่าไอเดียกาชาปองและตลาดอาร์ตทอยจะมาจากภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นี่เองที่เป็นตัวตั้งตัวตี

“ตอนแรกที่พยายามอธิบายให้ อธิบดีฯ ฟัง เขาก็ไม่เห็นภาพเพราะเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย แต่ประเทศอื่นเก่าไปแล้ว ในวันเปิดงานท่านมาเห็นคนต่อคิวแต่เช้ามืดกลางแดดเพื่อมารอตั้งแต่ยังไม่จัดร้านประตูพิพิธภัณฑ์ยังไม่เปิดด้วยซ้ำ ในตอนแรกท่านคงคิดว่าคงเป็นงานเล็กๆ แต่มันไม่จบแค่นั้นพอมาได้มาเห็นด้วยตัวเองทำให้ภาพชัดขึ้นว่าสิ่งที่เราทำนี้สามารถต่อยอดไปได้เพราะเรามีของจัดแสดงที่มีคุณค่าอยู่แล้วจะทำอย่างไรให้มีมูลค่าด้วยโดยไม่ทำลายจรรยาบรรณวิชาชีพดั้งเดิมที่มีอยู่” 

เมื่อได้พูดคุยกันจึงทำให้เห็นว่าสิ่งที่ศิลปินกำลังทำอยู่นี้คือการเชื่อมโยงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ความเชื่อนามธรรมที่จับต้องไม่ได้ทำให้เป็นของเล่นที่สามารถเชื่อมโยงไปถึงสิ่งที่คนนับถือ มองในด้านความเชื่อหรือแง่ประวัติศาสตร์ก็ได้ รวมถึงประติมานวิทยาก็อธิบายได้ (‘Iconography’ สาขาหนึ่งของประวัติศาสตร์ศิลป์ทำการศึกษาประวัติ คำบรรยาย และ การตีความหมายของเนื้อหาของภาพ) เพราะมันสามารถเชื่อมโยงกันได้หมดขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน 

ถึงแม้ว่าพวกเขาเป็นมือใหม่สำหรับการจัดงานแบบนี้ แต่ได้เจ้าพ่อแห่งวงการอาร์ตทอยถึง 2 คนมาช่วยกันตะล่อมๆ ตบๆ โดยนำประสบการณ์ความผิดหวังของเขามาปรับและไกด์แนวทาง คนแรกคือ โม่–คมกฤษ เทพเทียนจาก ‘หมดโม่สตูดิโอ’ (MOTMO Studio) ผลงานดังชุด ‘อับเฉา ไม่อับเฉา’ และ ‘หิมพานต์ มาร์ชเมลโล่’ และอีกคนคือ บี-สุรวิทย์ องค์กาญจนา เจ้าของร้านโขนพิพิธ ท่าพระจันทร์ ที่จริงๆ แล้วอยู่เบื้องหลังวงการทำอาร์ตทอยในไทยมานานหลายสิบปี ผ่านช่วงซบเซายังไม่มีพื้นที่รองรับจนตอนนี้ได้กลับมาสนุกกันอีกครั้งหนึ่ง มาช่วยคิดว่าจะทำอย่างไรให้มีคนพูดถึงงานนี้อยู่เรื่อยๆ และตั้งตารอคอยไปจนถึงสงกรานต์ปีหน้า (ตามแผนที่วางไว้)

มูเตลูอินมิวเซียม

จากปัญหาที่ ศุภวรรณ ในตำแหน่งของภัณธารักษ์ต้องเจอคือการที่คนมักคิดว่าในพิพิธภัณฑ์ไม่มีอะไรน่าสนใจ มาเดินดูพระพุทธรูปสวย โบราณวัตถุเก่าแก่ ผ้าหรือทองคำที่งดงาม แต่จริงๆ แล้วมีอะไรมากกว่านั้น ขึ้นอยู่การเล่าเรื่องออกมายังไง ตัวอย่างเช่น งานที่จัดขึ้นก่อนหน้านี้ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์ พวกเขาเล่นกับธีมความเชื่อกับการเริ่มต้นปีใหม่ตามคติไทย โดยมีข้อแม้ข้อเดียวที่ทางกรมศิลปากรขีดเส้นไว้

“ผู้ใหญ่ (ของกรมศิลปากร) สั่งห้ามทำในสิ่งที่มอมเมาประชาชน เพราะฉะนั้นกฎข้อแรกของเราก็คือต้องมูเตลูกันอย่างมีความรู้ มามูในพิพิธภัณฑ์ได้ เราจะพาคุณมูให้รู้ถึงที่มาที่ไปทางประวัติศาสตร์”  

เวลาที่พาคนเดินชมหรือร่วมกิจกรรมตามจุดต่างๆ จะมีคำถามกับผู้ชมเพื่อชวนคิดไปด้วย เช่น

“พี่เคยไหว้ราหูรึเปล่า แล้วเวลาไหว้ใช้ของดำกี่อย่าง ถ้า 8 อย่างไม่ครบนะ ถ้าจะไหว้ราหูจริงๆ ต้องไหว้ด้วยของ 12 อย่างเพราะกำลังราหูคือ 12”

ซึ่งการชวนคุยแบบนี้เป็นการสอดแทรกความรู้ไปด้วยโดยไม่ยัดเยียดเป็นการเชื่อมไปถึงสิ่งที่เห็นและทำกันจนชินตา แต่ข้อห้ามที่พิพิธภัณฑ์ไทยห้ามแตะเลยคือสังคมไทยยังรับไม่ได้กับการที่นำพระพุทธรูปมาเล่น ดังนั้นพวกเขาจึงหลีกเลี่ยงการทำของเล่นเป็นพระพุทธรูป สำหรับชุดทดลองตลาดสองเซตแรกออกแบบโดย เณตม์ จาก Little Turtle Studio เพื่อดูว่าคนไทยจะสนใจของแนวนี้กันมากน้อยแค่ไหน ประกอบกับที่ขณะนั้นมีการจัดนิทรรศการระหว่างสองแผ่นดิน ไทย-ญี่ปุ่น ในชื่อ ‘เซรามิกแห่งแหลมทองและแดนอาทิตย์อุทัย’ อยู่พอดี เป็นการจัดแสดงเครื่องกระเบื้องจากญี่ปุ่นที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของไทยในสมัยสุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์จับมาคู่กับของจัดแสดงที่มีในงาน ผู้จัดทำจึงนำตู้กาชาปองมาตั้งโดยปั้นชามสังคโลกใบเล็กๆ จากสุโขทัยมาใส่คละๆ กันเป็นกิจกรรมที่ให้คนได้มาหมุนเล่น

เมื่อผลลัพท์ที่ได้เป็นที่น่าพอใจไอเดียที่พิพิธภัณฑ์ต้องการในการผลิตของที่ระลึกเพื่อให้ผู้ชมซื้อติดไม้ติดมือกลับไปฝากหรือเก็บสะสมเพื่อดึงให้คนอยากกลับมาอีกเรื่อยๆ จึงถือกำเนิดขึ้น

จากกระบวนถอดความสู่อาร์ตทอยให้ศิลปินปล่อยของ

วิธีการคิดโจทย์แต่ละธีมจะมาจากการเชื่อมโยงกับเหตุการณ์สำคัญของแต่ละเดือนหรือมีความเกี่ยวข้องกับคอลเลคชันในนิทรรศการ รวมไปถึงวัฒนธรรมไทย วรรณคดี ประวัติศาสตร์ ศาสนาหรือความเชื่อ เปิดให้ศิลปินคุยกันหาคนที่รับผิดชอบธีมแต่ละเดือน เมื่อออกแบบมาเสร็จก็ช่วยกันดูถ้าผ่านตากันหมดแล้วจึงไปพัฒนาจนได้เวอร์ชันต้นแบบสำหรับผลิตต่อไป

แน่นอนว่างานนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากฝั่งพิพิธภัณฑ์ ถึงแม้จะเป็นการร่วมงานกันครั้งแรกกับศิลปินอาร์ตทอยในงานสงกรานต์แฟร์ ศิลปินแต่ละคนต่างเคยผลิตอาร์ตทอยคาแรกเตอร์ของตัวเองมาก่อน ผ่านการออกงานขายของกันมาบ้างแล้ว หลายคนเจ็บตัวเพราะยอดขายไม่เป็นดังหวัง บางคนก็เริ่มถอดใจไม่อยากทำต่อแล้ว แต่ศุภวรรณในฐานะแม่งานก็ให้คำมั่นจนศิลปินคนรุ่นใหม่ยอมที่จะเสี่ยงด้วยกันอีกครั้ง

“หน้าที่ของน้องๆ คือครีเอตชิ้นงานออกมาให้ดีที่สุดตามคาแรกเตอร์ของเราโดยมีธีมเดียวกัน หน้าที่ของทางฝั่งพิพิธภัณฑ์คือการออกแบบการประชาสัมพันธ์ให้ของขายได้ ทำให้คนออกมาเดินในงานและควักเงินออกมาซื้อของให้ได้”

เมื่อสร้างบรรยากาศองค์รวมด้วยเรื่องราวที่มีธีมมาคลุมเข้าไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าขายอาหาร เครื่องดื่ม ของเล่นหรือของใช้ จึงมีส่วนในการสร้างฟีลลิ่งที่ทำให้คนอินไปกับเรื่องเล่าที่ปูมาไปด้วย ผลตอบรับจากผู้เข้าร่วมงานที่ศิลปินที่ได้ทำให้มีกำลังใจที่จะทำต่อไป

สำหรับระยะเวลาการทำงานของแต่ละคนจะขึ้นอยู่กับเทคนิค ยกตัวอย่างงานเซตสุนทรภู่ เนื่องจากเป็นการขึ้นแบบด้วยโปรแกรมเพราะมีขนาดเล็กและเน้นรายละเอียด ทำให้ช่วงทดลองเนื้อวัสดุเป็นขั้นตอนที่ใช้เวลานาน แต่ถ้าปริ้นขึ้นรูปแล้วก็จะไวขึ้น ส่วนอาร์ตทอยที่ปั้นมือขั้นตอนที่ใช้เวลานานคือช่วงทำแบบพิมพ์ ปั้นโมเดลซึ่งทำให้แตกต่างกัน

แต่อย่างไรก็ตามเมื่อหล่อออกมาแล้วไม่ว่าจะเป็นทั้งแบบ 3D Print หรืองานปั้นมือก็ยังต้องขัดแต่งต่อ เพื่อเป็นการจบงาน

“สุดท้ายแล้วมันคืองานฝีมือจึงทำให้ต้องใช้เวลา แต่ละคนจะมีคาแรกเตอร์ในใจที่ตัวเองเตรียมไว้แล้ว ด้วยความที่ควบคุมการผลิตเองทั้งหมดโดยไม่พึ่งโรงงานทำให้ทุกครั้งที่จะสร้างโมเดลใหม่ๆ ขึ้นมาไม่ถูกนำไปก๊อปปี้วางขายตัดหน้า แม้จะไม่สามารถผลิตได้จำนวนมากแต่ส่วนใหญ่แล้วนักสะสมงานน้องๆ เขามาหมุนกาชาปองในงานเพราะต้องการลายเซ็นของศิลปินที่ติดตามผลงาน ต่อให้มีของก๊อปมาขายก็ไม่มีความหมาย”

พิพิธภัณฑ์มีชีวิตเพราะทุกสิ่งล้วนเชื่อมโยง

อาชีพภัณฑารักษ์ในมุมมองของศุภวรรณ มองว่านอกจากต้องดูในงานด้านวิชาการที่เข้าใจยากแต่ก็ต้องทำให้เรื่องเหล่านี้จุดประกายให้แม้แต่คนที่ไม่มีพื้นฐานความรู้มาก่อนอยากกลับไปค้นต่อในอินเทอร์เนต ต้องหาวิธีทำให้เกิดความสงสัยที่จะนำไปสู่การค้นคว้าต่อไป

“นิทรรศการไม่ได้มีแค่ในห้องที่จัดต่อเนื่องเป็นเวลายาวเท่านั้น สำหรับเราครึ่งวันก็เป็นนิทรรศการได้เช่นกัน ในตัวตลาดทั้งหมดมันคือนิทรรศการแบบ living museum คนเดินเข้ามาก็เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการเป็นตัวแสดงในงานโดยที่พวกเขาไม่รู้ตัว เจ้าหน้าที่ทุกคนในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ร้อยกว่าคนทั้งด้านวิชาการ บริการ ความปลอดภัย หรือดูแลรักษาสวน พวกเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของตลาดอาร์ตทอยนี้ด้วย เวลาพักเที่ยงทุกคนสามารถลงไปเล่นได้ เมื่อทุกคนอินไปกับกิจกรรมร่วมกับผู้เข้างานนั่นแหละช่วยทำให้ตัวเจ้าหน้าที่ก็เป็นหนึ่งไปกับนิทรรศการด้วยเช่นกัน”

ผลที่ได้รับไม่เพียงผู้เข้าชมงานแต่ยังรวมถึงเจ้าหน้าที่ประจำตึกจากเดิมที่ยืนเฉยๆ ไม่คุยกับผู้ชมเลยพวกเขาเริ่มตอบโต้ด้วยบทสนทนากับผู้เข้าร่วมกิจกรรม บางคนทำเกินกว่าความคาดหวังด้วยซ้ำ ด้วยการตั้งคำถามกลับกับไปหาผู้เข้าชมที่ต้องตอบคำถามแลกกับตราประทับ นั่นเป็นเพราะพวกเขารู้สึกว่างานนี้ก็เป็นงานของฉันเหมือนกัน จึงทำให้ทุกคนมีความสุขมากโดยเฉพาะเวลาใกล้วันที่จะจัดตลาดอาร์ตทอย (ทุกๆ อาทิตย์สิ้นเดือน) เจ้าหน้าที่จะเริ่มตื้นเต้นกันแล้วว่างานครั้งนี้จะได้รับมอบหมายหน้าที่อะไรในกิจกรรม

ศิลปินอาร์ตทอยต้องอยู่ได้ (อย่างมั่นคงและมีกำลังใจ)

สาริทธิ์ ศิลปินจากสตูดิโอ Poly Holy ผู้ที่ทำยอดขายสูงสุดจากธีมงานกาชาปองชุด นวคเณศ 1 บอกกับเราว่า งานนี้ทำให้เกิดเป็นธุรกิจเล็กๆ ของตัวเอง จากที่เคยทำงานแนวสตรีทตั้งบูธในอีเวนต์ที่อื่นมาก่อนซึ่งมีความไม่แน่นอนเยอะ พอมาเทียบกับงานนี้ชีวิตเขาเรียกว่าพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ

“ยอดสูงสุดที่เคยทำได้รวมแล้วเกือบสามแสนบาท (ของหมดตั้งแต่วันที่สอง) ในเวลาสามวัน จากเดิมออกบูธขายของหาเงินคืนทุนค่าเดินทางก็ยากแล้ว ขายไม่ให้เข้าเนื้อได้นี่ถือเป็นกำไร พอมาออกงานเจอพี่ๆ ในวงการหลายคนก็แนะนำให้อยู่นานๆ นะแล้วมันก็จะเจอจุดของเราเอง ซึ่งผมก็ค้นพบจุดขายของตัวเองที่งานนี้ ได้ลองทำอะไรใหม่ๆ อย่างเช่น งานสายมูเตลู”

อีกหนึ่งศิลปินที่ร่วมบุกเบิกโปรเจคนี้ ชุติภา จาก Kuma Mønster Studio ผู้ที่เคยเจ็บตัวมาก่อนจากการเปิดร้านที่อื่นจนเกือบถอดใจ แชร์กระบวนการทำงานให้เราฟังก่อนลงมือออกแบบทุกครั้งต้องศึกษาประวัติศาสตร์เยอะมาก ด้วยความที่เธอเองก็ไม่เคยทำงานสไตล์ไทยจึงต้องปรับดีไซน์ให้สามารถเข้าถึงกับคนทุกเพศ ทุกวัย 

“เดิมทีงานที่เคยไปออกบูธหักต้นทุน ค่าเดินทางต่างๆ เหลือกำไรแค่พันสองพันก็เต็มกลืนแล้วเกือบทุกงานที่เจอก็เป็นแบบเดียวกัน แต่พอมาออกงานนี้แค่วันแรกได้กำไรเจ็ดพันกว่าบาทก็ทำให้ใจชื้นนะ เพราะเห็นทางไปต่อและกลายเป็นว่ามีพิพิธภัณฑ์อื่นๆ สนใจติดต่อเข้ามาได้ร่วมงานยาวต่อเนื่องทำให้ยังเห็นความหวังอยู่”

ตลาดอาร์ตทอยในสวนจึงเป็นการสร้างกำลังใจให้ศิลปินรุ่นใหม่ช่วยให้เห็นว่าสามารถสร้างรายได้ สร้างอาชีพต่อไปได้ หลังจากนี้ก็ขึ้นอยู่กับการวางแผนในอนาคต ทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งใจที่จะเปิดตลาดให้ได้เดือนละครั้ง เพื่อให้ศิลปินรุ่นใหม่มีพื้นที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ได้มีคอนเนกชันกับคนอื่นที่ต้องการจ้างผลิตงานต่อไป

อนาคตของพิพิธภัณฑ์ที่มีอาร์ตทอยเป็นสะพาน 

เมื่อเริ่มมาจากจุดที่ไม่มีอะไรจะเสีย ทำให้พวกเขาโฟกัสกับสิ่งที่ทำได้ดีจึงสามารถตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นที่จะเป็นอุปสรรคออกไปเพื่อมุ่งไปหาสิ่งที่อยากทำให้เกิดขึ้นให้ได้ โดยภาพใหญ่ของโปรเจกต์นี้ไม่ได้จบแค่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เพราะพวกเขาต้องการขยายสเกลไปทั่วประเทศและสร้างแรงบันดาลใจให้กับอาชีพภัณฑารักษ์คนอื่นๆ 

“เราจะทำยังไงให้เพื่อนร่วมอาชีพของเราบางคนที่มีแนวคิดแต่ไม่มีกำลังใจทำ บางคนอยากทำแต่ทำไม่ได้เพราะไม่รู้จะเริ่มตรงไหนหรือแม้แต่คนที่ยังไม่อยากเริ่มอะไร ถ้าได้มาเห็นโปรเจกต์นี้แล้วทำให้เกิดไอเดียไปต่อยอดเพิ่มเติมได้ มันไม่มีอะไรที่จะฉุดรั้งเราได้หรอกถ้าเราอยากจะทำจริงๆ” ศุภวรรณกล่าว

ตามปกติแล้วของที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เป็นสิ่งจับต้องไม่ได้ แต่ของเล่นพวกนี้มันจับต้องได้ คนที่มาชมอยากซื้อเก็บสะสมหรือนำไปจับคู่เป็นเซตพิเศษของตัวเอง โดยเฉพาะรุ่นยอดนิยมอย่างเช่น พระคเณศ มีบางคนนำไปเป็นของที่ระลึกเก็บเป็นคอลเลกชัน สำหรับสายมูเขานำไปขึ้นหิ้ง (ลงคาถาเบิกเนตร) ของเล่นที่ตั้งใจให้เป็นของเล่นกลายเป็นของขลัง ตอนนี้กลายเป็นของหายากไปแล้ว

โปรเจกต์นำร่องเพื่อนำพิพิธภัณฑ์ไปข้างหน้า

หลังจากที่ได้พูดคุยกันมาเกือบสองชั่วโมงทำให้เรามองเห็นโจทย์ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ตั้งเป็นเป้าหมายได้ชัดเจนขึ้น เมื่อผู้ชมที่เข้ามามีความต้องการและความคาดหวังที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นคนที่อยากมาชมห้องจัดแสดงที่สวยเพื่อถ่ายรูปหรือมีความสนใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งเฉพาะทาง เดินไปพบกับโบราณวัตถุที่ทำให้อยากกลับไปหาข้อมูลเพิ่มเติม จุดประสงค์ที่แตกต่างของผู้เข้าชมนี่แหละคือหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์และภัณฑารักษ์ที่ต้องตอบสนองเป้าหมายของแต่ละคนให้ได้

“ตอนนี้พิพิธภัณฑ์ทั่วประเทศต้องจัดแสดงออกมาให้สวยก่อนเป็น First Impression แต่บางคนไม่ชอบเพราะเหมือนเป็นแกลเลอรีวางขายโบราณวัตถุ บางคนต้องการข้อมูลมากกว่านั้น ซึ่งเราก็ต้องหาวิธีกันต่อไป หน้าที่ของภัณฑารักษ์คือการย่อยข้อมูลยากๆ ให้เข้าถึงผู้ชมตามแต่ละเป้าหมายที่คาดหวังให้ได้ สิ่งที่พวกเราทำอยู่จริงๆ เป็นการอิมโพรไวส์ ไม่ได้คาดหวังให้ไปทิศทางทิศทางหนึ่ง แต่เมื่อมองไปที่เป้าหมายข้างหน้าต้องหาทางเดินไปให้ถึงให้ได้” ศุภวรรณกล่าว

ศุภวรรณ ภัณฑารักษ์ผู้มีความเข้าใจว่าประวัติศาสตร์เป็นพื้นฐาน จึงช่วยให้เธอสามารถคาดการณ์ได้ว่าสิ่งที่รอข้างหน้ามันจะเป็นอย่างไร นั่นก็เพราะพฤติกรรมคนที่ไม่เคยเปลี่ยนไม่ว่าจะยุคสมัยใด ความเป็นนักวิชาการที่ย่อยข้อมูลจนอธิบายออกมาได้อย่างฉะฉานและเข้าใจง่ายมากคนนี้ มีความเป็นนักการตลาดที่เชี่ยวชาญพฤติกรรมมนุษย์ผ่านเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่เธอเก่งกาจนั่นเอง

“การที่เราเข้าใจพฤติกรรมคนทำให้ก่อนที่จะจัดกิจกรรมแต่ละครั้งขึ้นมา นอกจากคิดว่าพิพิธภัณฑ์อยากให้อะไรกับผู้ชมแต่จะคิดว่าถ้าเราเป็นหนึ่งในผู้เข้าชมเองเราอยากได้อะไรจากพิพิธภัณฑ์ ไม่ใช่การยัดความรู้มาให้เท่านั้น นึกถึงใจเขาใจเรา ผู้ชมอยากได้อะไรและไม่อยากได้อะไร แล้วมีอะไรที่เราสามารถหลอกล่อให้เขาอยากได้ในสิ่งที่เราอยากเล่าได้บ้าง”

ถึงแม้ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงโบราณวัตถุอายุหลายร้อยปี แต่ได้รับการแนะนำจากมัณฑนากรให้ใส่ข้อมูลที่เล่าเรื่องให้เด็กสิบขวบสามารถเข้าใจได้เพื่อจุดประกายให้ไปศึกษาหาความรู้ต่อนี่แหละ ที่เป็นเป้าหมายของพิพิธภัณฑ์คือทำให้คนเข้ามาใช้งานได้ประโยชน์กลับไป แล้วดึงให้พวกเขากลับมาอีก

ถึงแม้ตอนนี้ว่าโปรเจกต์กาชาปองอาร์ตทอยนี้จะเริ่มต้นกันที่ หออนุสรณ์เจ้าพระยายมราช (แก้ว สิงหเสนี) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร แต่ในอนาคตพวกเขาหวังว่าศิลปินหลายคนในกลุ่มที่อยู่ต่างจังหวัดต่อไปไม่จำเป็นต้องทำอาร์ตทอยส่งให้กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นี้เท่านั้น แต่สามารถร่วมงานกับพิพิธภัณฑ์ในจังหวัดพื้นที่ของตัวเอง สร้างงานสร้างรายได้ พิพิธภัณฑ์ได้สนับสนุนคนในพื้นต่อยอดความเป็นไปได้อีกมากมาย

“ทุกวันนี้คนที่เข้าพิพิธภัณฑ์ไปที่ไหนยังไงเขาก็เข้า แต่โจทย์คือทำยังไงให้กลับมาอีก สำหรับคนที่ไม่เข้าเราก็หวังว่าสักวันหนึ่งจะทำให้เขาอยากเข้าขึ้นมาได้ ไม่จำเป็นต้องมาดูแกลเลอรี จะมาเดินช็อปปิ้งในงาน นั่งกินข้าว ดื่มน้ำ หรือนัดเจอกับแฟนก็ได้ อย่างน้อยขอให้มีพิพิธภัณฑ์เป็นจุดนัดพบกัน ไม่ว่าจะมีจุดประสงค์อะไรก็ขอให้นึกถึงพิพิธภัณฑ์ไว้ในใจนี่แหละสิ่งที่เราอยากทำให้ได้” ศุภวรรณ ภัณฑารักษ์ชำนาญการกล่าวถึงท้าย

กลุ่มศิลปินและทีมรุ่นบุกเบิกในนาม ‘ศาลาอันเต’ ประกอบด้วย
มะปราง-ชุติภา เตชะสุนทร จาก Kuma Mønster Studio
จิ-จิรัชญา ประภาสมุทร จาก Sloth Doll 
เต้-พงศ์เทพ ฉายาวรเดช จาก Munkky studio
แจม-จนัญญา ดวงพัตรา จาก มือกระบี่
บุ๊ค-สาริทธิ์ แสงประสิทธิ์ จาก Poly Holy
เชน-เณตม์ ประชาศิลป์ชัย จาก Little Turtle Studio
กล้วย-ธนพันธุ์ ขจรพันธุ์ (ฝานเหนี่ยวจาย 凡鳥齋) ที่ปรึกษาด้านวิชาการ

ติดตามอัปเดตและธีมอาร์ตทอยประจำเดือนได้ที่เพจ Education.National Museum Bangkok เที่ยวพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร


ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ

AUTHOR