ประท้วงยังไงให้มีศิลปะ เดินฟังเสียงกำแพงและการประท้วงแบบใหม่ๆ ในการประท้วงฮ่องกง

ประท้วงยังไงให้มีศิลปะ เดินฟังเสียงกำแพงและการประท้วงแบบใหม่ๆ ในการประท้วงฮ่องกง

Highlights

  • ถ้าไปฮ่องกงช่วงนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าคุณต้องเห็นกำแพงโพสต์อิทบนผนังตามที่ต่างๆ อย่าเข้าใจผิดแล้วไปเขียนบอกรักใครแบบที่คาเฟ่ในเกาหลีชอบทำกันนะ เพราะจริงๆ มันคือการเขียนข้อความของผู้ประท้วงเพื่อประชาธิปไตยในฮ่องกง
  • กำแพงนี้เรียกว่า Lennon Wall มีที่มาจากชื่อของนักร้องนำวง The Beatles ที่เป็นสัญลักษณ์ของการส่งสารเพื่อสันติภาพ
  • บทความนี้ชวนไปดูอีกด้านของการประท้วงที่สงบ ตลก และมีศิลปะ แต่ยังคงไว้ซึ่งสัญลักษณ์ในการแสดงออกทางความคิดและการเรียกร้องของคนรุ่นใหม่

“กลับไทยไหม” น่าจะเป็นคำพูดที่เราได้รับบ่อยมากในช่วงหลังๆ จากการที่สำนักข่าวทั้งไทยและต่างชาติประโคมข่าวเรื่องความรุนแรงจากการปะทะกันระหว่างตำรวจฮ่องกงและกลุ่มผู้ประท้วง

แต่ในความเป็นจริงแล้วการประท้วงในฮ่องกงนั้นมีความแน่นอนและหลีกเลี่ยงได้ง่ายกว่า และไม่ได้หมายความว่าทุกที่จะอันตรายไปหมด

โปสเตอร์ที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญของการประท้วงครั้งนี้ การแต่งกายหลักของผู้ประท้วงคือใส่เสื้อดำและหน้ากากกันแก๊สน้ำตา

ถ้าจะให้มองอีกมุมมันคือช่วงที่ตั๋วฮ่องกงถูกมาก (แน่นอนว่าต้องขยันเช็กหน่อยว่าจะมีประท้วงที่ไหนในแต่ละวันและหลีกเลี่ยงการไปที่นั่น) ด้วยค่าตั๋วราคาถูกระดับไป-กลับหลักไม่กี่พัน โรงแรมห้าดาวในราคาหลักร้อย หรือดิสนีย์แลนด์ที่ทั้งสวนสนุกอาจเป็นของคุณ และถ้าจะให้แนะนำอีกหน่อยคือวันธรรมดามีแนวโน้มที่จะมีการประท้วงน้อยกว่าวันเสาร์-อาทิตย์ เพราะคนยังคงต้องไปทำงานตามปกติ คนฮ่องกงมีวินัยมากทีเดียวในเรื่องนี้

ดิสนีย์แลนด์

วันนี้เราอยากมาเสนออีกด้านของการประท้วงของคนฮ่องกง ที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพอย่างสงบ ตลก และมีศิลปะ แต่ยังคงไว้ซึ่งสัญลักษณ์ในการแสดงออกทางความคิดและการเรียกร้องของคนรุ่นใหม่

โพสต์อิทบนผนังในฮ่องกง เปรียบเทียบกับกำแพงโพสต์อิทในร้านกาแฟ

ถ้าคุณมาฮ่องกงช่วงนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าคุณต้องเห็นกำแพงโพสต์อิทบนผนังตามที่ต่างๆ อย่าเข้าใจผิดแล้วไปเขียนบอกรักใครแบบที่คาเฟ่ในเกาหลีชอบทำกันนะ เพราะมันคือการเขียนข้อความของผู้ประท้วงเพื่อประชาธิปไตยในฮ่องกง เขาเรียกกำแพงแบบนี้ว่า Lennon Wall ใช่แล้ว มันคือชื่อของนักร้องนำวง The Beatles และศิลปะบนกำแพงแบบนี้ถูกทำขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการส่งสารเพื่อสันติภาพมานานแล้ว

Lennon Wall ของจริง

Lennon Wall เกิดขึ้นครั้งแรกช่วง 1960s โดยมีคนไปเขียนกลอนและข้อความต่อต้านรัฐบาลฝรั่งเศสในขณะนั้น ซึ่งยังไม่ได้เกี่ยวอะไรกับ John Lennon จนกระทั่งพี่แกโดนลอบสังหารในปี 1980 ก็เลยมีคนไปวาดรูปเขาเพิ่มบนกำแพง เป็นสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพในเวลานั้น

หลังจากนั้นเองก็มีคนเอาวิธีนี้ไปทำเพิ่มเรื่อยๆ ในหลายๆ ประเทศ ในฮ่องกงเองถือว่ามีคนทำครั้งแรกเมื่อประมาณ 5 ปีก่อน ในการเคลื่อนไหวที่เรียกว่า The Umbrella Movement เป็นการประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งแรก โดยมีร่มเป็นสัญลักษณ์และอาวุธป้องกันแก๊สนำตาจากตำรวจ

The Umbrella Movement

แต่ตำรวจเองก็ขยันออกมาเก็บกวาดเจ้า Lennon Wall นี่ทุกวัน เลยมีกลุ่มคนฮ่องกงหัวครีเอทีฟบอกว่า ได้ ถ้าแกขยันออกมาเก็บ เราก็จะอัพฯ มันขึ้นโลกออนไลน์เลยก็แล้วกัน

หลายคนอาจคิดว่าเอาขึ้นโลกออนไลน์เดี๋ยวรัฐบาลก็ปิดได้อีกคล้ายประเทศเรา ทางกลุ่มนี้ก็เลยบอกว่า งั้นเราเอาข้อความไปแต่งเพลงเลยละกัน เอาทำนองคล้ายๆ เพลงของ The Beatles นี่แหละ ให้คนจำง่ายๆ ร้องง่ายๆ พอคนร้องได้ตำรวจก็ไม่มีวันลบข้อความความเหล่านั้นออกไปได้

ตอนที่คนในออฟฟิศแชร์เพลงนี้เรายอมใจมาก คนรุ่นใหม่มีวิธีสู้ของเขาจริงๆ ตั้งแต่การใช้ร่มเป็นสัญลักษณ์ ไปจนเลเซอร์เพื่อกันการจับหน้าโดยกล้อง และแต่งเพลงเพื่อส่งข้อความอีก นี่คือการประท้วงในศตวรรษที่ 21 จริงๆ

นอกจาก Lennon Wall ยังมีอีกหลายอย่างที่เราอยากพูดถึง เพราะการประท้วงฮ่องกงมีอะไรสนุกกว่าที่คิด คล้ายๆ ล่าสุดที่บ้านเรามีแคมเปญ ‘วิ่งไล่ลุง’ จริงๆ การประท้วงที่ฮ่องกงก็มีอะไรคล้ายๆ กัน นั่นคือแคมเปญวิ่งเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย แต่การวิ่งครั้งนี้เป็นการวิ่งตอนกลางคืน ให้เปิดแฟลชมือถือ และที่สำคัญที่สุดคือคุณต้องวิ่งแบบนารูโตะ!

โปสเตอร์วิ่งเปิดแฟลชในท่าวิ่งแบบการ์ตูน นารูโตะ

อีกหนึ่งวิธีการที่ไม่พูดถึงไม่ได้นั่นคือ การออกมาประท้วงแบบยืนจับมือกันต่อไปเรื่อยๆ หรือที่คนที่นี่เรียกว่า ‘ห่วงโซ่มนุษย์’ (human chain) ครั้งแรกที่เห็นนึกว่าต่อแถวขึ้นรถเมล์ แต่เปล่าเลย เพราะนี่คือการประท้วง เป็นการประท้วงที่สันติที่สุด ยืนเรียงเป็นรายคน

วิธีการแบบนี้เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของการประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยที่เกิดครั้งแรกในปี 1982 ที่ประเทศอังกฤษ จากนั้นก็มีหลายประเทศนำวิธีการนี้ไปใช้ต่อ การประท้วงที่นำไปทำต่อและเกิดอิมแพกต์ก็อย่างเช่น Baltic Way ที่มีคนมาร่วมยืนจับมือถึง 2 ล้านคน ในสามประเทศได้แก่ ลัตเวีย, ลิทัวเนีย และเอสโตเนีย

‘ห่วงโซ่มนุษย์’ ในฮ่องกง หรือที่เรียกว่า The Hong Kong Way

แม้การประท้วงของคนในฮ่องกงครั้งนี้จะยังอีกยาวไกล

แต่เราคงได้เห็นอะไรใหม่ๆ ที่คนฮ่องกงรุ่นใหม่นำออกมาใช้เพื่อสื่อสารถึงรัฐบาลและคนทั่วโลก

AUTHOR