ยาวนานกว่าโรคระบาดที่อยู่ร่วมกับคนไทยคือฝุ่น PM2.5 โดยเฉพาะชาวเชียงใหม่ที่ใช้ชีวิตปกคลุมด้วยมลภาวะนี้ทุกปี จนฝุ่นกลายเป็นอีกฤดูกาลหนึ่งไปโดยปริยาย
ที่ผ่านมา มีหลากหลายวิธีการที่คนในพื้นที่พยายามส่งเสียงขอความช่วยเหลือจากคนอื่นๆ และผู้มีอำนาจ แต่เมื่อไม่ได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืน ภาคประชาชนและเอกชนจึงต้องรวมตัวกันทำงาน จนเกิดเป็น ‘สภาลมหายใจเชียงใหม่’ ในปี 2562 แต่เนื่องจากช่วงแรกพวกเขาไม่มีต้นทุนมากนัก คามิน เลิศชัยประเสริฐ ศิลปินรุ่นใหญ่จึงชวนศิลปินในเชียงใหม่ทำงานศิลปะมาประมูลเพื่อนำเงินไปมอบให้กับองค์กรในปีที่แล้ว
โดยเงินส่วนหนึ่งจะนำมาจัดทำนิทรรศการศิลปะอีกครั้งเพื่อเป็นเวทีพูดคุย ถกเถียง ทำความเข้าใจเรื่องฝุ่น จึงเกิดเป็น Chiang Mai ART for AIR นิทรรศการรวมงานศิลปะจากศิลปินมากกว่า 60 คนในปีนี้
แม้งานศิลปะจะไม่สามารถแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้โดยตรง แต่เหล่าผู้จัดมองว่าในสังคมไทยน่าจะต้องมีพื้นที่ที่มองเรื่อง PM2.5 ในหลายมุมมองและแนวคิด นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เกิดงานศิลปะที่มีหลากน้ำเสียง หลายประเด็น สื่อสารผ่านศิลปินที่สนใจด้านสิ่งแวดล้อมและมีความเชี่ยวชาญในการทำงานแบบเฉพาะพื้นที่ (site-specific) ซึ่งเป็นลักษณะงานที่อาศัยการทำความเข้าใจประเด็นและบริบทเจาะจงเฉพาะพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง นอกจากนี้ศิลปินทั้งหมดยังมีเครื่องมือการนำเสนอที่แตกต่างกัน ซึ่งทั้งหมดไม่ได้จำกัดแค่ในเชียงใหม่เท่านั้น แต่ยังมีศิลปินจากพื้นที่อื่นๆ มาร่วมแสดงด้วย
งานนี้จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ และตามกำหนดเดิมจะสิ้นสุดในวันที่ 30 เมษายน แต่เนื่องจากโรคระบาดในประเทศไทย ทางผู้จัดจึงยุติการแสดงนิทรรศการไปเมื่อวานนี้ เราจึงหยิบงานบางส่วนจาก ART for AIR ที่สะท้อนให้เห็นผลกระทบและข้อโต้แย้งหลากหลาย ไปจนถึงนวัตกรรมที่จะมาช่วยแก้ปัญหามาให้ทุกคนได้ดูกัน
![](https://adaymagazine.com/wp-content/uploads/2021/04/ตามไปดู-album_Artforair-02-1024x1024.jpg)
อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล
ภาพถ่ายขาว-ดำขนาด 7 เมตรที่มีคนยืนมองดอยสุเทพ และภาพพอร์เทรตที่มีเส้นสีดำทับหน้าคนขนาดใหญ่ คือผลงานที่อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับเจ้าของรางวัลปาล์มทองคำเลือกมาจัดแสดงในงานนี้
เขามองว่าภาพชิ้นแรกเป็นเรื่องของปัจจัยภายนอกที่ส่งผลถึงข้างใน เขานึกถึงตัวเองในยามที่ออกไปนอกระเบียงบ้านแล้วเห็นฝุ่นควัน ซึ่งทำให้รู้สึกว่าตัวตนหายไปกับภาพภูเขาข้างหน้า คล้ายกับว่าตัวเขากับสิ่งแวดล้อมกลายเป็นเนื้อเดียวกัน การเห็นฝุ่นควันปกคลุมทัศนียภาพกลายเป็นสิ่งสะเทือนใจเมื่อยามที่มองเห็น
ส่วนภาพพอร์เทรตของชายที่ถูกเส้นสีดำปะหน้าอยู่ ผู้กำกับชื่อดังทำขึ้นเพื่อสื่อถึงความรู้สึกภายใน เขาบอกว่าเส้นที่บดบังใบหน้าคนในรูปเป็นเลเยอร์ของแผนที่เชียงใหม่และเส้นเลือด ส่วนการลากเส้นทั้งหมดอภิชาติพงศ์เพียงแค่ใช้ความรู้สึกข้างในขณะทำงานเป็นสารตั้งต้น ทำให้เขาไม่ได้ตีความในเรื่องใดเป็นหลัก
ชล เจนประภาพันธ์ หนึ่งในคิวเรเตอร์งานนี้มองว่างานของอภิชาติพงศ์ทำให้เรามองเห็นความเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตประจำวันของคนเชียงใหม่ เพราะตอนนี้การมองดอยสุเทพในแต่ละวันกลายเป็นการวัดค่าฝุ่นผ่านสายตาของคนเชียงใหม่ไปแล้ว
![](https://adaymagazine.com/wp-content/uploads/2021/04/ตามไปดู-album_Artforair-05-1024x1024.jpg)
กมล เผ่าสวัสดิ์
หลายครั้งเวลาเดินทางไปเชียงใหม่แล้วได้เห็นภาพของธรรมชาติ เราก็อยากสูดหายใจให้เต็มปอด แต่ในเมื่อถึงฤดูที่ฝุ่นจะมาเยือน หน้ากากอนามัยก็จำเป็นต้องเข้ามาคั่นกลางระหว่างเรากับอากาศที่เป็นพิษ นี่จึงเป็นอีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในวิถีชีวิตของคนที่ต้องอยู่ร่วมกับฝุ่น
กมล เผ่าสวัสดิ์ ศิลปินและอาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองเห็นปัญหานี้ เขาจึงเกิดไอเดียที่อยากนำกลิ่นธรรมชาติในเชียงใหม่ช่วง 10 ปีนี้มาทำเป็นงานศิลปะ
โดยกมลชักชวนนักปรุงกลิ่นมาสร้างบรรยากาศให้ MAIIAM Contemporary Art Museum เต็มไปด้วยกลิ่นดอกไม้และกลิ่นธรรมชาติ อาทิ กลิ่นต้นตีนเป็ด แม้จะเป็นเรื่องน่าเสียดายสำหรับคนที่ไม่สามารถเดินทางไปดมกลิ่นในงานได้ในช่วงนี้ (และเราก็ไม่สามารถทำให้ภาพหรือข้อความนี้มีกลิ่นได้เช่นกัน) แต่งานศิลปะของกมลก็ทำให้เราหวังว่าถ้าหากได้ไปเชียงใหม่อีกครั้ง เราก็อยากจะสูดดมกลิ่นตามธรรมชาติจริงๆ ได้เต็มปอดโดยไม่ต้องพึ่งการสังเคราะห์และถูกขัดขวางจากฝุ่นอีก
![](https://adaymagazine.com/wp-content/uploads/2021/04/ตามไปดู-album_Artforair-03-1024x1024.jpg)
สาครินทร์ เครืออ่อน
ถัดจากงานที่ทำให้เรามองเห็นความเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิต อีกงานที่มีลูกเล่นดึงให้คนสนใจผลกระทบภาพรวมคือโดมแก้วขนาดเล็กที่บรรจุด้วยสถานที่สำคัญของเมืองเชียงใหม่ คล้ายกับของเล่นตอนเด็กที่ใครหลายคนชื่นชอบ
แต่สิ่งที่ต่างออกไปคือน้ำในโดมแก้วนั้นผสมด้วยฝุ่นที่มาจากแผ่นกรองอากาศของบ้านผู้คนในเชียงใหม่ ผลงานนี้เป็นของสาครินทร์ เครืออ่อน ศิลปินและอาจารย์ประจำคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาศิลปากร ที่ต้องการสื่อสารว่าฝุ่นส่งผลกระทบไปถึงเรื่องของสถานที่ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจ ซึ่งการนำเสนอผ่านโดมแก้วก็เป็นการหยอกล้อไปกับของที่ระลึกนั่นเอง
นอกจากนี้ ในตัวงานจริงที่จัดแสดงที่หอศิลปวัฒนธรรมเชียงใหม่จะมีการฉายภาพโดมแก้วไปบนผนังเพื่อขยายให้เห็นฝุ่นเล็กๆ อีกด้วย
![](https://adaymagazine.com/wp-content/uploads/2021/04/ตามไปดู-album_Artforair-06-1024x1024.jpg)
สิทธิกร ขาวสะอาด
เขยิบมาที่ประเด็นที่ถกเถียงกันในสังคมวงกว้าง นั่นคือคำถามว่าสาเหตุของการเกิดฝุ่นควันคืออะไร ศิลปินในงาน ART for AIR หลายคนก็หยิบเรื่องนี้มาเป็นสารตั้งต้นในการทำงานศิลปะ และหนึ่งในนั้นคือสิทธิกร ขาวสะอาด
สิทธิกรเป็นศิลปินจากร้อยเอ็ดที่ศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐส่วนกลาง นโยบาย และเกษตรกรเป็นทุนเดิม เขาจึงทำงานศิลปะผ่านการลงพื้นที่สำรวจข้อมูล ซึ่งเชื่อมโยงมาถึงการหาความสัมพันธ์และความแตกต่างของแรงงานเกษตรกรภาคเหนือและอีสาน
สิทธิกรค้นพบว่าที่ภาคเหนือเป็นฐานผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นประเด็นที่สังคมตั้งคำถามถึงการเผาพืชเชิงเดี่ยวจนเกิดปัญหาฝุ่น รวมถึงสิทธิแรงงานและพื้นที่ป่า อย่างในอำเภอเชียงดาวที่เขาลงพื้นที่ก็มีประเด็นสัมปทานป่าให้ปลูกพืชเชิงเดี่ยวโดยทุนใหญ่ ระหว่างศึกษาเรื่องนี้กว่า 2 เดือน สิทธิกรเห็นว่าชาวบ้านนำเอากระสอบปุ๋ยเคมีที่ใช้ปลูกข้าวโพดมาทำเป็นชุดที่จะไปหาตัวต่อเพื่อเอามาขาย
เขาจึงเกิดไอเดียที่อยากสื่อสารเรื่องการหาทรัพยากรของนายทุน ด้วยการเอาถุงกระสอบมาทำเป็นชุดอวกาศ เพื่อผูกเรื่องเล่าของนายทุนให้เข้ากับการหาพื้นที่นอกโลกของประเทศมหาอำนาจ 2 แห่ง คือสหรัฐอเมริกาและรัสเซีย
![](https://adaymagazine.com/wp-content/uploads/2021/04/ตามไปดู-album_Artforair-04-1024x1024.jpg)
พิชัย พงศาเสาวภาคย์
อีกหนึ่งงานศิลปะที่สะท้อนถึงต้นเหตุของฝุ่นควันคือผลงานของพิชัย พงศาเสาวภาคย์ ศิลปินที่สร้างผลงานด้านสิ่งแวดล้อมมาอย่างหลากหลาย
ในงาน ART for AIR เขาเลือกจับเอาประเด็นการเผาพืชเชิงเดี่ยวมาทำเป็นงานศิลปะ โดยหยิบเอาสินค้าการเกษตรมาจุ่มสีและบดอัดลงบนผ้าด้วยรถบดที่ศิลปินเป็นคนขึ้นไปขับเอง เป็นการแสดงงานสดๆ โดยมีการบันทึกวิดีโอระหว่างศิลปินแสดงงานเอาไว้ในเว็บไซต์ artforair.org และต่อมาก็นำผืนผ้าใบมาจัดแสดงที่โกดังจริงใจ
พิชัยเปรียบการนำรถมาบดขยี้พืชเชิงเดี่ยวว่าเหมือนกับเกษตรกรที่ถูกนายทุนกดทับ ทำให้ไม่มีทางเลือกในการทำการเกษตร ทั้งหมดจึงเป็นการตั้งคำถามถึงโครงสร้างของเกษตรกร และการจัดการของนายทุนผู้อยู่เบื้องหลังการว่าจ้างให้ชาวบ้านปลูกพืชเชิงเดี่ยวจนเกิดปัญหาฝุ่นควัน
![](https://adaymagazine.com/wp-content/uploads/2021/04/ตามไปดู-album_Artforair-07-1024x1024.jpg)
เจษฎา ตั้งตระกูลวงศ์
สำหรับผลงานของเจษฎา ตั้งตระกูลวงศ์ ศิลปินที่พำนักอยู่เชียงใหม่ เขาเลือกทำงานศิลปะจัดวางที่ทำให้คนได้เข้ามามีส่วนร่วม ด้วยการวางเพลตฉลุข้อความต่างๆ ไว้ใน 3 พื้นที่ที่แตกต่างกัน
แนวคิดของศิลปินคือทำให้สารเรื่องฝุ่นควันในประเด็นที่แตกต่างกันกระจายตัวไปในหลายๆ ที่ โดยคนที่มาดูงานก็สามารถส่งต่อข้อความได้ด้วยการนำกระดาษวางบนเพลตแล้วใช้เท้าเหยียบลงไป ฝุ่นใต้เท้าจะทำให้ข้อความปรากฏขึ้นมา แล้วนำกระดาษนั้นกลับบ้านไปได้
โดยข้อความต่างๆ จะมีประเด็นที่แตกต่างกัน อย่างในสวนสาธารณะหนองบวกหาดเป็นประเด็นการตัดต้นไม้ ลานชมวิววัดพระธาตุดอยคำว่าด้วยเรื่องภาพจำของฝุ่นในสายตาคนเชียงใหม่ และพื้นที่สุดท้ายคือวัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) พูดถึงประเด็นงานศึกษาการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่มีตัวละครเป็นชาวบ้านและนายทุนบริษัทยักษ์ใหญ่
![](https://adaymagazine.com/wp-content/uploads/2021/04/ตามไปดู-album_Artforair-08-1024x1024.jpg)
ต่อลาภ ลาภเจริญสุข
“รถยนต์หนึ่งคันเท่ากับกองไฟหนึ่งกอง” คือประโยคที่ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ หนึ่งในแกนนำสภาลมหายใจฯ พูดกับต่อลาภ ลาภเจริญสุข ศิลปินผู้ก่อตั้ง Gallery Seescape และหนึ่งในคิวเรเตอร์ของงาน ART for AIR
ประกอบกับต่อลาภได้อ่านงานวิจัยที่ระบุว่าเชียงใหม่มีรถยนต์และรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นในหลักล้าน ศิลปินจึงเกิดไอเดียที่อยากจะพูดถึงข้อถกเถียงปัญหาฝุ่นควัน ระหว่างคนเมืองที่ขับรถยนต์และควันไฟจากการเผาพืชไร่
ผลงานของต่อลาภจึงมี ‘ผาน’ อุปกรณ์ไถดินกำลังทำงานอยู่ข้างๆ กับกระจกรถยนต์ ทั้งหมดนี้เพื่อสื่อสารว่าเราควรมีพื้นที่ให้ทั้งสองฝ่ายได้คุยกันเพื่อหาทางแก้ปัญหาไปด้วยกัน
![](https://adaymagazine.com/wp-content/uploads/2021/04/ตามไปดู-album_Artforair-09-1024x1024.jpg)
สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์
ในหลากหลายประเด็นที่ว่าด้วยต้นเหตุของควันไฟ การทำไร่หมุนเวียนของชาวปกาเกอะญอที่มีกระบวนการเผาอยู่ด้วยเป็นอีกหนึ่งจำเลยที่สังคมตั้งข้อพิพาทให้กับกลุ่มชาติพันธุ์
สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ ศิลปินและสถาปนิกผู้สนใจประเด็นประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์ จึงเข้าไปศึกษาเรื่องนี้และค้นพบภูมิปัญญาทำไร่หมุนเวียนของชาวปกาเกอะญอที่ไม่น่าเป็นสาเหตุหลักของฝุ่นควันในเชียงใหม่ได้
งานศิลปะของสนิทัศน์จึงมีเป้าหมายที่อยากพาคนเมืองไปทำความเข้าใจการทำไร่หมุนเวียนด้วยศิลปะจัดวางที่มีโครงสร้างวงกลม สื่อถึงวงจรเวลาการทำไร่ที่ชาวปกาเกอะญอจะปล่อยพื้นที่พืชไร่ที่ไม่ใช้แล้วไว้ 6 ปีเพื่อให้เป็นป่า และอีกเลเยอร์จะพูดถึงระยะเวลา 1 ปีที่ชาวบ้านจะเผาเพื่อปรับปรุงพื้นที่ให้เหมาะกับการเพาะปลูก
ในวงจรของงานนี้จะมีผ้าที่ปักเป็นรูปเปลวไฟ ซึ่งศิลปินใช้สีที่แสดงความร้อนในเมืองเชียงใหม่จากแผนที่นาซ่า และถ้ามองใกล้ๆ จะเห็นว่ามีลายชุดประจำชาติพันธุ์อยู่ในรายละเอียดเปลวไฟด้วย
นอกจากนี้ยังมีเม็ดลูกเดือยที่ชาวปกาเกอะญอใช้ปักผ้า สนิทัศน์นำมาวางเรียงที่พื้นเพื่อแทนผืนป่า และสื่อสารว่าถ้าหากจะเรียนรู้และรู้จักชาวบ้านจะต้องก้าวข้ามผืนป่านี้ พร้อมทั้งเปิดให้คนได้มีส่วนร่วมกับงานด้วยการปักผ้าที่มีด้ายสีแดงกับสีขาว ซึ่งมาจากแนวคิดของชาวปกาเกอะญอที่ระบุสถานะการแต่งงานผ่านสีของด้ายด้วย
![](https://adaymagazine.com/wp-content/uploads/2021/04/ตามไปดู-album_Artforair-10-1024x1024.jpg)
DDMY Studio
ผ่านประเด็นที่ว่าด้วยการถกเถียงต้นเหตุของไฟป่ามาแล้ว คำถามต่อไปคือ ถ้าหากมีไฟป่าเกิดขึ้นมา เราจะมีเครื่องมือที่เข้ามาช่วยเตือนเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็วได้ยังไง
DDMY Studio สตูดิโอออกแบบแห่งเชียงใหม่ที่ทำงานด้วยสื่อหลากหลายรูปแบบจึงคิดเครื่องตรวจจับไฟขึ้น โดยตอนแรกเขาใช้ระบบ Internet of Things เทคโนโลยีที่ทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เชื่อมต่อกันเพื่อส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในการทำงานเบื้องต้น
แต่เนื่องจากสัญญาณอินเทอร์เน็ตเข้าไม่ถึงพื้นที่ป่า จึงต้องเปลี่ยนมาใช้ระบบวิทยุ ซึ่งจะต้องติดตั้งอุปกรณ์นี้บนต้นไม้ เมื่อเกิดควันไฟระบบจะแจ้งเตือนไปยังอุปกรณ์ในเครือข่ายที่เชื่อมต่อกัน จนกระทั่งสัญญาณวิทยุไปถึงจุดแจ้งเตือนของหมู่บ้าน หรือจุดที่ผู้คนรับรู้ได้อย่างรวดเร็ว
ในงาน ART for AIR ทีม DDMY Studio นำโปรโตไทป์มาจัดแสดง โดยให้เรายกมือหน้ากล่องหลอดไฟ แล้วจะเกิดภาพกราฟิกแสดงจุดควันไฟขึ้นที่ทางเข้างานที่โกดังจริงใจ
![](https://adaymagazine.com/wp-content/uploads/2021/04/ตามไปดู-album_Artforair-11-1024x1024.jpg)
พึ่งบุญ ใจเย็น
ประเด็นการแก้ปัญหาฝุ่นที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือการจัดการของภาครัฐพร้อมผู้มีอำนาจ และงานศิลปะของพึ่งบุญ ใจเย็น ศิลปินและช่างสักในเชียงใหม่ก็เป็นหนึ่งในงานที่ต้องการสื่อสารในประเด็นนี้
พึ่งบุญตั้งใจทำงานศิลปะเรื่องฝุ่นที่ว่าด้วยเรื่องของอำนาจเบื้องหลังการเกิดไฟป่า ซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นไฟการเมือง ถ้าหากไม่ให้ความสนใจกับประเด็นนี้ก็อาจทำให้ปัญหาบางอย่างถูกมองข้ามจนเหมือนเป็นการปัดฝุ่นไปไว้ใต้พรม
ผลงานของเขาจึงออกมาเป็นธงขนาดใหญ่ที่มีข้าวโพดอยู่ในหัวกะโหลก พร้อมอุปกรณ์คล้ายยาพ่นสารเคมี โดยมีข้อความหลากหลายปรากฏอยู่ อาทิ ฤดูปัดมลทินให้ชาวเขา
![](https://adaymagazine.com/wp-content/uploads/2021/04/ตามไปดู-album_Artforair-12-1024x1024.jpg)
โรจน์วิรุฬห์ วรรณแก้ว
สำหรับโรจน์วิรุฬห์ วรรณแก้ว ศิลปินรุ่นใหม่ผู้จบจากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มองว่าท้ายสุดแล้วเรื่องของฝุ่นก็ตกมาที่ประเด็นปัญหาเชิงระบบที่ไม่มีนโยบายแก้ไขปัญหามลพิษ
ไอเดียหลักของเขาจึงมาจากโครงสร้างสังคมที่นำมาต่อกันคล้ายเรือนกระจก โดยใช้วัสดุที่สื่อสารถึงสาธารณูปโภคที่รัฐต้องจัดหาให้ นั่นคือไฟฟ้าและประปา โดยศิลปินบอกว่ามองภายนอกมันอาจดูแข็งแรง แต่จริงๆ แล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย
โรจน์วิรุฬห์ยังเลือกต้นไผ่ไปจัดไว้ข้างในโครงสร้างนั้น ซึ่งเขานำมาหยอกล้อกับประโยคที่ว่า ‘ไผ่ลู่ลม’ ต้องโอนอ่อนตามกระแส โดยศิลปินมองว่าบางครั้งแนวคิดนี้ก็กลายเป็นข้อเสียด้วยซ้ำ
![](https://adaymagazine.com/wp-content/uploads/2021/04/ตามไปดู-album_Artforair-13-1024x1024.jpg)
ปิยะรัศมิ์ ปิยะพงศ์วิวัฒน์
ในภาวะที่ค่ามลพิษทางอากาศของเชียงใหม่ขึ้นสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลกติดกันหลายสัปดาห์ ช่วงหนึ่งจึงมีกระแสเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจประกาศให้เชียงใหม่เป็นเขตภัยพิบัติ
แต่ในขณะนั้นภาครัฐกลับไม่ได้ตอบสนองอย่างที่ประชาชนเรียกร้อง อ้างว่าติดขัดระเบียบของราชการ และอาจทำให้เชียงใหม่เสียภาพลักษณ์
ในเมื่อทุกคนได้รับผลกระทบนี้ ปิยะรัศมิ์ ปิยิพงศ์วิวัฒน์ จึงเขียนประกาศเขตภัยพิบัติด้วยตัวเองเลย เพื่อสื่อสารว่าฝุ่นควันในเชียงใหม่เป็นปัญหาและวิกฤตที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและยั่งยืน
ขอบคุณข้อมูลจาก: ชล เจนประภาพันธ์, Artforair.org
ภาพโดย: Peasadet Compiranont