city section 191

เรื่องเมืองๆ ที่เราคัดสรรมาให้อ่านใน
a day ฉบับเดือนกรกฎาคมนี้มีที่มาจากหลากหลายพื้นที่มาก
ทั้งอัพเดตโครงการสุดเจ๋งจากเมืองต่างๆ ในคอลัมน์ around the world, ไปตามรอยหนังสารคดีที่พูดเรื่องการพัฒนาเมืองให้มีชีวิตชีวากันถึงโคเปนเฮเกน
ประเทศเดนมาร์ก และแวะดูแผนการพัฒนาเมืองจักรยานที่ดีที่สุดของชาวออสโล ประเทศนอร์เวย์
มาคลี่ดูกันชัดๆ อีกทีว่าอ่านเล่มนี้แล้วเราจะได้ไอเดียสนุกๆ
จากประเทศไหนมาปรับใช้กันบ้าง

urban movement – ถอดบทเรียนวิธีแก้ปัญหาเมืองให้เป็นของชาวโคเปนเฮเกนอย่างแท้จริง
ศานนท์ หวังสร้างบุญ หนุ่มรุ่นใหม่ผู้ใส่ใจเรื่องการพัฒนาเมืองอย่างจริงจัง
จองตั๋วเครื่องบินไปถึงโคเปนเฮเกนเพื่อตามรอยการแก้ปัญหารถติดและจัดการคูคลองที่เมืองนี้ทำได้สำเร็จจากสารคดีเรื่อง
The Human Scale ลองมาเรียนรู้วิธีการคิดและออกแบบเมืองให้มีชีวิตชีวาจากการใส่ใจของ
‘คน’ ในเมืองนี้ที่อ่านแล้วต้องอิจฉา
แต่ก็ทำให้มองเห็นความเป็นไปได้ว่ากรุงเทพฯ ของเราก็น่าเอาอย่างเหมือนกัน

tour de world – ปั่นไปดูแผนการพัฒนาเมืองให้เป็นมิตรต่อจักรยานของชาวออสโล
ถึงจะมีตัวอย่างจากหลายเมืองในยุโรปที่จัดการให้จักรยานกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของท้องถนนได้อย่างดี
แต่ที่เมืองออสโล ประเทศนอร์เวย์ ยังมีปัญหาว่ากรมทางหลวงแห่งชาติไม่ยอมเปลี่ยนแบบถนนให้รองรับการทำเส้นทางจักรยาน
เราจะพาไปดูว่าหน่วยงานและคนที่นั่นกำลังต่อสู้กับความเอาแต่ใจนี้อย่างไร (เผื่อเราจะได้ยืมมาใช้บ้าง)

around the world – โครงการเล็กๆ
แต่ยิ่งใหญ่เพื่อเมืองที่ดีขึ้น
มารู้จัก ‘YOU PIN’ แพลตฟอร์มชวนคนกรุงเทพฯ มาปักหมุดจุดที่เป็นปัญหาต่อการใช้ชีวิตในเมืองเพื่อส่งต่อให้เจ้าหน้าที่รีบไปแก้ไขอย่างทันท่วงที,
แคมเปญ ‘Pink light’ ของเมืองปูซาน
ประเทศเกาหลีใต้ ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือสตรีตั้งครรภ์ที่ต้องการที่นั่งบนขนส่งสาธารณะ
และตามไปดูพระราชวังแวร์ซายในฝรั่งเศสที่ปรับเปลี่ยนตัวเองให้เป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะ
ยังมีอีกหลายแคมเปญน่านับถือคนคิดจากหลายประเทศให้อ่านกันต่อในคอลัมน์นี้นะ

same same but different – เหยาะซอสเพิ่มรสชาติอาหารแต่ละเมือง
ฉบับนี้เราเลือกซอสปรุงอาหาร
สิ่งสามัญประจำโต๊ะกินข้าวของแต่ละเมืองมาเป็นตัวแทนความเหมือนแต่แตกต่างจาก 4 เมือง
4 ประเทศคือ ฮานอย ประเทศเวียดนาม, เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย, โจฮันเนสเบิร์ก แอฟริกาใต้
และ กัลกาตา อินเดีย มารู้จัก ‘เตืองเอิ๊ด’ รสจัดจ้านของคนเวียดนาม และซอสมัสตาร์ดรสชาติไม่เหมือนใครที่ชาวอินเดียนิยมจิ้มกับของทอดให้มากขึ้นกันดูนะ

กลับบ้าน – วิศวกรหนุ่มที่ผันตัวมาสร้าง Co-working
Space แห่งแรกของชาวหาดใหญ่
ลงใต้สู่เมืองหาดใหญ่ไปพูดคุยกับวรนล
ฐิตินันทกร อดีตวิศวกรที่เล็งเห็นว่าเมืองเศรษฐกิจของภาคใต้แห่งนี้น่าจะมีที่ทางให้เหล่าฟรีแลนซ์และสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ได้มาพบปะกันบ้าง
เลยเป็นที่มาของ Co-working Space ชื่อเท่อย่าง
‘Tuber’ ที่เปิดพื้นที่รอรับไอเดียใหม่ๆ และพร้อมต้อนรับคนหาดใหญ่ให้กลับบ้านมาสร้างสรรค์สิ่งดีๆ
ร่วมกัน ถึงไม่ใช่คนหาดใหญ่อ่านแต่อ่านแล้วก็อาจจะอยากแพ็กกระเป๋ากลับไปดูความเคลื่อนไหวที่บ้านเกิดดูเหมือนกัน

ซื้อ a day 191 มานอนอ่านที่บ้านแบบสบายใจได้เลยที่นี่

AUTHOR