เรวัต พุทธินันทน์ – เต๋อ เรวัต – พี่เต๋อ
ในพื้นที่สั้นๆ ผมคิดว่าเราไม่สามารถอธิบายความสำคัญของชายผู้นี้ที่มีต่อวงการเพลงไทยได้อย่างครบถ้วน
แต่โดยกระชับที่สุด เขาคือหนึ่งในนักร้องนำของวง ดิ อิมพอสซิเบิ้ล วงดนตรีไทยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในช่วงทศวรรษ 60-70, เขาคือหนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัท แกรมมี่ เอนเตอร์เทนเม้นท์ ที่กลายมาเป็นบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ในปัจจุบัน, เขาคือศิลปินเดี่ยวที่สร้างบทเพลงคุณภาพออกมา 3 อัลบั้มในช่วงปี พ.ศ. 2526-2529 (แถมด้วยอัลบั้มรวมเพลงและเพลงตามวาระต่างๆ อีกจำนวนหนึ่ง) เพลงฮิตของเขาอย่าง ‘เจ้าสาวที่กลัวฝน’, ‘ยิ่งสูงยิ่งหนาว’, ‘ดอกไม้พลาสติก’ และ ‘ที่แล้วก็แล้วไป’ ยังคงเปล่งประกายข้ามวันเวลามาจนบัดนี้ นอกจากนี้เต๋อยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของศิลปินอีกเป็นจำนวนมากในฐานะโปรดิวเซอร์ อาทิ เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์, วสันต์ โชติกุล, นกแล และ แหวน-ฐิติมา สุตสุนทร
กล่าวได้โดยสั้นๆ อีกแบบว่า เขาคือผู้มีส่วนสำคัญในการทำให้วงการเพลงไทยสากลเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ เป็นยุคสมัยแห่งความเป็นระบบและเป็นมืออาชีพ
เต๋อ เรวัต เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งสมองในปี 2539 ด้วยวัยเพียง 48 ปี ถือเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของวงการเพลงไทย
แต่ก่อนที่เขาจะเสียชีวิต เต๋อได้ซุ่มทำอัลบั้มชุดหนึ่ง ซึ่งไม่เชิงว่าเป็นอัลบั้มชุดใหม่ที่มีเพลงแต่งใหม่ทั้งหมด หากแต่เป็นการเลือกเพลงจากอัลบั้มเดี่ยวทั้ง 3 ชุดมาร้องใหม่ เรียบเรียงใหม่ให้ทันสมัย โดยเป็นการทำงานร่วมกับ โอม-ชาตรี คงสุวรรณ อดีตมือกีตาร์และนักร้องนำวง ดิ อินโนเซ้นท์ ผู้กลายมาเป็นโปรดิวเซอร์ชั้นนำคนหนึ่งของบ้านเรา (ผู้อยู่เบื้องหลังอัลบั้มของ คริสติน่า อากีล่าร์, อำพล ลำพูน, Ynot7, ปาล์มมี่ และอีกมาก)
แต่เรื่องราวของอัลบั้มนี้ไม่ได้เป็นที่รับรู้มากนักในวันที่เขาเสียชีวิต ในช่วงนั้นค่ายแกรมมี่ฯ มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างโดยการแตกเป็นค่ายเล็กๆ หลายค่าย วงการเพลงไทยเปลี่ยนผ่านอีกครั้งเมื่อมาถึงยุคของดนตรีอัลเทอร์เนทีฟและโมเดิร์นร็อก ศิลปินนอกกระแสเบ่งบานก่อนค่อยๆ ล่มสลายหายไป …ต้องรอจนหลายปีผ่านไป ค่ายแกรมมี่ฯ จึงตัดสินใจปล่อยอัลบั้มชุดนี้ออกมาให้เราได้ฟังกัน
ราวปี พ.ศ. 2555 อัลบั้ม Alive ที่ เรวัต พุทธินันทน์ ทำร่วมกับ ชาตรี คงสุวรรณ ก็ถูกปล่อยออกมาจำหน่ายในรูปแบบบ็อกซ์เซ็ตที่รวมงานเพลงทั้งชีวิตของเรวัตเอาไว้และมีอัลบั้มนี้รวมอยู่ด้วย ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะการโปรโมตที่ไม่มากนัก หรือเป็นเพราะการขายเป็นบ็อกซ์เซ็ตที่ทำให้มีราคาสูง ทำให้อัลบั้มนี้ไม่เป็นที่พูดถึงเท่าที่ควร แม้ว่าในหมู่คนฟังเพลงไทยสายแข็งจะตื่นเต้นกับบ็อกซ์เซ็ตชุดนี้กันไม่น้อย จนตอนหลังอีกหลายปีต่อมา เมื่อแผ่นเสียงกลับมากลายเป็นกระแส ก็มีการทำเป็นบ็อกซ์เซ็ตแผ่นเสียงทั้งเซ็ตออกมาขายด้วย ก่อนที่อัลบั้มนี้จะถูกแยกขายเป็นแผ่นเสียงชุดเดี่ยวๆ ในที่สุด
ทั้ง 10 เพลงในอัลบั้ม Alive ที่เรวัตและชาตรีคัดเลือกมานั้น จะเรียกว่าเป็น ‘เพลงฮิต’ ของเต๋อทั้งหมดก็ไม่เชิง ควรเรียกว่าเป็นเพลง ‘เพลงเด่น’ ของเขามากกว่า เพราะมีทั้งเพลงที่หลายคนรู้จักกันดีอย่าง ‘เจ้าสาวที่กลัวฝน’, ‘ดอกไม้พลาสติก’, ‘ที่แล้วก็แล้วไป’, ‘อกหักไม่ยักกะตาย’ ไปจนถึงเพลงที่โดดเด่นในแง่การประพันธ์และความเป็นศิลปะอย่าง ‘อพยพ-เมืองใหญ่เมืองนี้’, ‘เพื่อนเอย’ และ ‘มือน้อย’
เมื่อหยิบอัลบั้ม Alive มาฟังในครั้งแรก คนที่เป็นแฟนเพลงเหนียวแน่นและเนิ่นนานของเรวัตอาจจะมีความรู้สึกหลากหลายเกิดขึ้นในใจ ทั้งตื่นใจ ชอบใจ ประทับใจ ประหลาดใจ เพราะแค่แทร็กแรก ‘อกหักไม่ยักกะตาย’ ก็เริ่มต้นด้วยความเต็มที่ หนักแน่น สุ้มซาวนด์โดดเด่นตั้งแต่อินโทรที่เรวัตร้องแอดลิป (Ad-Lib) มาถึงเสียงกีตาร์แน่นหนักของชาตรีที่สอดรับสลับเสียงซินธ์อย่างมีชั้นเชิง เทียบกับเวอร์ชั่นดั้งเดิมซึ่งเริ่มต้นด้วยเสียงกลองและกีตาร์ไฟฟ้าสนุกๆ แล้ว เวอร์ชั่นนี้ถือว่าสีสันแพรวพราวและให้อารมณ์แบบร็อกมากขึ้นไปอีก …ทั้งที่แบบดั้งเดิมนั้นยอดเยี่ยมอยู่แล้ว แต่แบบใหม่กลับดันเพดานให้หนักหน่วงขึ้นอีก ยากจะคาดเดามากขึ้นไปอีก และแค่แทร็กแรกก็บอกกับเราได้แล้วว่างานนี้ ชาตรี คงสุวรรณ ใส่ฝีไม้ลายมือทางดนตรีแบบไม่ยั้งแน่นอน
ต่อกันด้วย ‘อยากรู้นัก’ ที่ผ่อนคลายลงเล็กน้อย แม้ว่าสีสันทางดนตรีจะระยิบระยับเช่นเคย ดูเหมือนว่าเลเยอร์ของงานกีตาร์จะละเอียดลออและถูกออกแบบมาอย่างพิถีพิถัน โดยเฉพาะการใช้เอฟเฟกต์ทอล์กบ็อกซ์ (Talk Box) เข้ามาในช่วงโซโลกลางเพลงก็ถือว่าเป็นสีสันใหม่ที่ทำให้แตกต่างจากเวอร์ชั่นเดิมมากมาย คล้ายกับว่าชาตรีพยายามจะ ‘บอก’ อะไรบางอย่างผ่านกีตาร์เช่นกัน และคล้ายเป็นการเกริ่นอีกรอบว่าบทเพลงต่อๆ ไปในอัลบั้มนี้ก็จะเกินคาดเดาแบบนี้นี่ล่ะ
แล้วก็พลิกอารมณ์ด้วย ‘มือน้อย’ ที่เริ่มต้นเสียงเปียโนกับซินธ์เลียนเสียงเครื่องสาย ก่อนจะมีกลองและกีตาร์ไฟฟ้าเข้ามาในช่วงกลางเพลง (ในขณะที่เวอร์ชั่นดั้งเดิมรองพื้นด้วยเสียงกีตาร์และซินธ์บางเบาไปตลอดทั้งเพลง) การขับร้องของเรวัตในเพลงนี้ปรับอารมณ์จากดั้งเดิมที่ค่อนข้างอบอุ่นนุ่มนวลมาเป็นอารมณ์แบบร็อกมากขึ้น จนกลายมาเป็นเพลงบัลลาร์ดร็อกที่เท่เอามากๆ และหากให้สรุปถึงการเปลี่ยนแปลงก็คือ เพลง ‘มือน้อย’ ในเวอร์ชั่นนี้คือคำสัญญาอันมั่นคงของคนรักที่ผ่านวันเวลามาด้วยความผูกพันและความมั่นใจแล้วนั่นเอง
มาถึง ‘เพื่อนเอย’ ที่ของเดิมจัดว่าเป็นเพลงที่ ‘แน่น’ และ ‘ร็อก’ และ ‘เท่’ สุดขีดเพลงหนึ่งของเรวัตอยู่แล้ว พอฟังมา 3 แทร็กแล้วผมก็นึกสงสัยว่ามันจะ ‘แน่น’ และ ‘ร็อก’ และ ‘เท่’ กว่าเดิมได้อีกไหม …แต่แล้วเวอร์ชั่นใหม่ก็ทำได้จริงๆ! แค่เริ่มต้นด้วยแซกโซโฟนร้อนแรง ก่อนจะปรับจังหวะมาเป็นแบบกระตุกๆ มีชั้นเชิงแถมตอนท่อนฮุกยังมีการปรับเมโลดี้ให้ไม่เหมือนเดิมอีก ทั้งเพลงยังมีการเปลี่ยนจังหวะเป็นระยะๆ และไปพีกที่ท่อนโซโลกลางเพลงที่มากันทั้งแซกโซโฟน กีตาร์ เปียโน ที่รับกันเป็นท่อนๆ ขยายความเรื่องราวของ ‘มิตรภาพ’ ที่อยู่ในเพลงนี้ได้อย่างมีมิติ ก่อนจะมีเซอร์ไพรส์ท่อนท้ายเพลงที่น่าจะทำเอาคนฟังอึ้งและซึ้ง
มาถึงเพลงที่หลายคนน่าจะรอคอย ‘เจ้าสาวที่กลัวฝน’ ที่คราวนี้มาเป็นป๊อปร็อกเท่ ที่เริ่มต้นด้วยอินโทรกีตาร์เพราะๆ เวอร์ชั่นนี้เรวัตและชาตรีมาในแบบสบายๆ ดนตรีโดยรวมเหมือนจะปล่อยให้เสียงร้องของเรวัตโดดเด่น แต่ถ้าเงี่ยหูฟังดีๆ จะพบว่ามีรายละเอียดทางดนตรีเบาๆ ที่คอยเสริมอยู่ทั้งเพลง เพลงนี้จึงเป็นเพลงที่ชาตรีโชว์การ ‘ดีไซน์’ เพลงได้ดีมากๆ
และเพราะว่าการฟังอัลบั้มนี้ในรอบแรกๆ นั้นดูจะเต็มไปด้วยความเซอร์ไพรส์ ผมเลยขอเก็บความเซอร์ไพรส์ให้กับคนที่สนใจอัลบั้มนี้ โดยไม่เล่าละเอียดถึงเพลง ‘ดอกไม้พลาสติก’, ‘ที่แล้วก็แล้วไป’, ‘ปากคน’ และ ‘อพยพ-เมืองใหญ่เมืองนี้’ ที่ก็ล้วนเด็ดขาดมากๆ ทุกเพลง แต่ผมขอข้ามไปถึงแทร็กสุดท้ายเลยก็แล้วกัน
เพลงนี้เป็นเพลงที่เหมาะจะเป็นแทร็กสุดท้ายด้วยประการทั้งปวง …ความจริงคือเพลงนี้ถูกใช้เป็นแทร็กสุดท้ายในอัลบั้ม เต๋อ 1 และเป็นเพลงเกือบสุดท้ายในคอนเสิร์ตที่ทริบิวต์ให้เรวัตมาแล้ว ก็คือเพลง ‘ยิ่งสูงยิ่งหนาว’ ที่เวอร์ชั่นดั้งเดิมก็ยิ่งใหญ่ เวอร์ชั่นในคอนเสิร์ตก็อลังการ พอมาถึงในอัลบั้ม Alive จึงน่าสนใจอย่างยิ่งว่าจะออกมาเป็นอย่างไร
‘ยิ่งสูงยิ่งหนาว’ ถูกวางต่อจาก ‘อพยพ-เมืองใหญ่เมืองนี้’ ที่เป็นเวอร์ชั่นดุเดือดและซับซ้อนเข้าขั้นโปรเกรสซีฟร็อก พอมาถึง ‘ยิ่งสูงยิ่งหนาว’ แค่อินโทรที่เป็นเสียงเครื่องสายก็ทำให้คนฟังขนลุกด้วยความคิดถึงศิลปินผู้ยิ่งใหญ่คนนี้แล้ว เมื่อกีตาร์โซโลในเมโลดี้ที่คุ้นเคยเข้ามา ความทรงจำทุกอย่างที่เกี่ยวพันกับเรวัตและความยิ่งใหญ่ที่เขาสร้างไว้ก็กลับมาสู่ห้วงคำนึง แล้วดนตรีทั้งหมดทั้งมวลก็รองรับเรื่องราวสัจธรรมที่เรวัต พุทธินันทร์ เคยบอกกับเราเมื่อนานมาแล้ว บอกกับเราหลายต่อหลายครั้ง กระทั่งเพื่อนๆ น้องๆ ของเรวัตก็เคยนำความจริงที่บอกกับเราว่า “เปรียบคนเราเหมือนดังขึ้นภูเขา ฝ่าไปเอาหมายตัวเราก้าวไกล สูงๆ ขึ้นไป ใครจะอยู่ข้างเรา กิเลสยุเย้าให้ปีนป่าย” มาบอกกับเรามาแล้ว ดนตรีในเพลงกลับถูกปรับเปลี่ยนไปไม่มาก จังหวะจะโคนใกล้เคียงเวอร์ชั่นเดิม ท่อนเพลงไม่แตกต่างมากมาย หากแต่คล้ายเป็นการสรุปรวม ‘ยิ่งสูงยิ่งหนาว’ ในเวอร์ชั่นต่างๆ อย่างงดงาม ไม่มีสิ่งใดเกินความจำเป็น ไม่มีสิ่งใดขาดตกบกพร่อง เป็นการปิดอัลบั้มที่สมบูรณ์แบบ
ในช่วงหลังจากที่เรวัต พุทธินันทน์ จากไป และค่ายแกรมมี่ฯ มีการเปลี่ยนแปลงนั้น ชาตรี คงสุวรรณ เลือกก่อตั้งและเป็นผู้บริหารค่ายเล็กในแกรมมี่ฯ โดยใช้ชื่อสังกัดว่า RPG …ย่อมาจาก Rewat’s Producer Group ซึ่งเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นถึงความผูกพันของเขาที่มีต่อเรวัตอย่างชัดเจน แต่การได้ฟังเพลงในอัลบั้ม Alive ที่เขาทำร่วมกับเรวัตแบบนี้ ทุกตัวโน้ต ทุกสุ้มเสียง มันก็บอกถึงความผูกพันในอีกมิติเช่นกัน
ยอมรับว่าในฐานะแฟนเพลงคนหนึ่งที่เติบโตและตื่นเต้นกับเพลงไทยมาพร้อมๆ กับอัลบั้มเดี่ยวของพี่เต๋อทั้ง 3 ชุด เมื่อแรกฟังอัลบั้ม Alive นั้น ผมมีความรู้สึกหลากหลายเกิดขึ้นอย่างที่บอกตอนแรก คือทั้งตื่นใจ ชอบใจ ประทับใจ ประหลาดใจ และกระทั่งไม่คุ้นชิน (อาจเพราะเพลงในเวอร์ชั่นเก่าหลายเพลงจะโปร่งและโล่งกว่านี้ ทำให้ผู้ฟังจดจ่อกับเนื้อร้อง-ทำนองเป็นหลัก) แต่ที่ประทับใจแม้จะฟังครั้งแรกนั้นก็เพราะก็ยังรับรู้ได้ทันทีถึงความตั้งใจของพี่เต๋อและพี่โอมในการทำให้บทเพลงเหล่านี้ได้เกิดใหม่อีกครั้ง จนกระทั่งเมื่อฟังไปสัก 2-3 รอบและฟังในรายละเอียดทางดนตรีแล้ว ก็ยิ่งพบความตั้งใจที่สุดยอดฝีมือของเมืองไทยทั้งคู่ได้ใส่เอาไว้ในอัลบั้มนี้มากขึ้นๆ และดูเหมือนว่ายังค้นพบไม่หมด แม้จะฟังมาแล้วหลายต่อหลายรอบก็ตาม
กลายเป็นว่าบทเพลงในเวอร์ชั่นใหม่ทั้ง 10 เพลงนี้มี ‘ชีวิต’ เป็นของตัวเองได้จริงๆ และทุกครั้งที่หยิบอัลบั้ม Alive มาฟัง นอกจากจะชอบอัลบั้มนี้มากขึ้นๆ แล้ว ก็เหมือนได้กลับไปสำรวจความทรงจำที่เกี่ยวพันกับบทเพลงของเรวัตและวันเวลาเหล่านั้น ไปพร้อมๆ กับการเปิดรับวันใหม่ และความเป็นไปได้ใหม่ๆ
รวมทั้งความทรงจำใหม่ๆ ด้วยเช่นกัน
——-แผ่นเสียงอัลบั้ม Alive ยังพอมีจำหน่ายในเว็บไซต์ happeningandfriends.com ที่ลิงก์นี้ https://happeningandfriends.com/product-detail/4849?lang=th