เมื่อพูดถึงประเทศจีน คุณคิดถึงอะไร?
เป็นไปได้ไหม คำที่คุณนึกถึงหลังจากอาหารจีน–กำแพงเมืองจีนหรือคนจีน อาจเป็นคำว่า ‘ของก๊อป’
นั่นอาจเป็นมุมมองที่คุณเคยมีกับมือถือสัญชาติจีน คุณอาจเคยคิดว่ามือถือสัญชาติจีนนั้นตามมือถือสัญชาติอเมริกาและเกาหลีอยู่หลายขุม, ในอดีต พวกเขาดูเป็นผู้ตามที่ไม่คิดค้นอะไรใหม่ แต่ก็มีความรวดเร็วมากพอที่จะผลิตซ้ำสิ่งที่ผู้อื่นบุกเบิก ไม่เคยอยู่แถวหน้า แต่ก็ไม่ล้าหลังเกินไปนัก
มุมมองต่อสินค้าจีนว่าเป็น ‘ของก๊อป’ กำลังเปลี่ยนแปรไปทีละน้อย โดยเฉพาะในช่วงสองสามปีหลังที่ต้องยอมรับว่าโทรศัพท์มือถือบางรุ่นนั้นมีดีไซน์และฟังก์ชั่นที่ล้ำหน้าและดูตอบโจทย์มากกว่ามือถือสัญชาติอเมริกาเสียอีก
จีนมีทรัพยากรมากพอ, มีความมุ่งมั่นมากพอ และมีแนวทางเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากพอ เมื่อพวกเขาตั้งใจทำอะไรแล้ว พวกเขาก็จะมานะบากบั่น มองเป้าหมายไม่วางตาจนกว่าจะสำเร็จลุล่วง
เดือนกรกฎาคมปี 2017 รัฐบาลจีนเผยแพร่เอกสารนโยบายสำคัญฉบับหนึ่ง ซึ่งในเอกสารฉบับนี้ พวกเขาระบุความมุ่งมั่นตั้งใจ วางเป้าหมายไว้ว่าภายในปี 2030 จีนจะต้องก้าวมาเป็นผู้นำด้านปัญญาประดิษฐ์ของโลกให้ได้ นั่นหมายความว่าพวกเขาตั้งใจจะแซงทั้งญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และทุกประเทศในยุโรป และก้าวมาอยู่แถวหน้าสุดของวงการที่ล้ำหน้าที่สุดของโลก
ไม่ต้องรอนาน–เวลาผ่านไปเพียงสองปี ก็ดูเหมือนว่าพวกเขาจะบรรลุเป้าหมาย อย่างน้อยก็ในบางระดับแล้ว
งานวิจัยล่าสุดแสดงให้เห็นชัดเจนว่าอีกไม่นาน งานวิจัยสำคัญด้านปัญญาประดิษฐ์ของจีนจะมีจำนวนมากกว่างานวิจัยที่มาจากสหรัฐอเมริกา ด้วยการสนับสนุนด้านการลงทุนจากรัฐบาล ในส่วนของทางการศึกษาและอุตสาหกรรม
ที่ต้องเน้นว่าเป็น ‘งานวิจัยสำคัญ’ ก็เพราะว่าหากนับกันเฉพาะจำนวนลุ่นๆ งานวิจัยปัญญาประดิษฐ์ของจีนนั้นมีจำนวนมากกว่าสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2006 แล้วนะครับ แต่อย่างที่เรารู้ จำนวนไม่ได้สื่อถึงคุณภาพเสมอไป–สถาบันปัญญาประดิษฐ์อัลเลนจากซีแอตเทิล (Allen Institute for Artificial Intelligence – AI2) จึงพยายามแยกแยะงานวิจัยชั้นดีออกจากงานวิจัยก๊อปแปะหรืองานวิจัยดาดๆ ด้วยการคัดกรองงานวิจัยที่ ‘มีผู้อ้างถึง (cited) มาก’ ออกมา–ด้วยตรรกะที่ว่ายิ่งมีผู้อ้างถึงงานวิจัยชิ้นใดมาก นั่นย่อมแปลว่างานวิจัยนั้นต้อง ‘มีความสำคัญ’ ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง
หลังวิเคราะห์งานวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์จำนวนสองล้านชิ้นจนสิ้นปี 2018 สถาบันวิจัยอัลเลนก็สรุปด้วยความมั่นใจว่า “หากวัดกันที่งานวิจัย 50 เปอร์เซ็นต์ที่ถูกอ้างถึงสูงสุด จีนจะแซงสหรัฐฯ ในปีนี้ หากวัดงานวิจัยที่มีผู้อ้างถึงสูงสุด 10 เปอร์เซ็นต์ จีนจะแซงสหรัฐฯ ในปีหน้า และหากวัดที่ 1 เปอร์เซ็นต์สูงสุด จีนจะแซงสหรัฐฯ ในปี 2025” Oren Etzioni นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ของสถาบันให้สัมภาษณ์กับ The Verge ว่า “คุณภาพของงานวิจัยปัญญาประดิษฐ์จีนนั้นสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างเห็นได้ชัด”
ทั้งหมดนี้นับว่าเร็วกว่าที่รัฐบาลจีนคาดการณ์ไว้นานทีเดียว
ทำไมจีนจึงพัฒนาได้เร็วนัก? หนังสือ AI Superpowers ของไค-ฟู ลี อดีตประธานกูเกิลประเทศจีนอธิบายว่า การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์นั้นต้องอาศัยปัจจัย 4 ประการคือ หนึ่ง–พลังการประมวลผล สอง–ข้อมูล สาม–ความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล และสี่–นโยบาย (ที่เอื้อให้เกิดการพัฒนา) ซึ่งในตอนนี้ประเทศจีนมีปัจจัยทุกประการครบถ้วน และในบางปัจจัยก็มีมากกว่าสหรัฐฯ เสียอีก
ด้วยจำนวนประชากรและมุมมองด้านข้อมูลส่วนบุคคลที่ต่างออกไปในจีน ทำให้บริษัทปัญญาประดิษฐ์สัญชาติจีนสามารถเข้าถึงข้อมูลก้อนมหึมาได้ ต่างจากสหรัฐฯ และประเทศในยุโรปที่มีการควบคุมเข้มงวดกว่า ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดของเรื่องนี้คือ บริษัทอย่าง Baidu นั้นสามารถร่วมมือกับรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อใช้ประชากรจำนวน 2 ล้านคนเป็น ‘กลุ่มทดสอบ’ เพื่อพัฒนาระบบจราจรอัตโนมัติ เรื่องแบบเดียวกันนี้เกิดขึ้นได้ยากเย็นในที่อื่น
มุมมองและนโยบายเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาของจีนที่แตกต่างออกไปก็มีส่วนช่วยเช่นกัน สำหรับคนจีน การ ‘ก๊อบปี้’ นั้นไม่ถือเป็นเรื่องเสียเกียรติ แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำและปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดได้ในตลาด บริษัทสัญชาติจีนไม่คิดค้นอะไรเพียงเพื่อ ‘ขับเคลื่อนนวัตกรรม’ แต่พวกเขายอมที่จะ ‘ลอกเลียน’ โมเดลจากที่อื่น ปรับให้เข้ากับตลาด และแข่งขันด้วยรากฐานทางธุรกิจบนโลกแห่งความเป็นจริง ในหนังสือ AI Superpowers ไค-ฟู ลี บอกว่าถ้าคุณคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในซิลิคอนวัลเลย์เป็นความโหดเหี้ยมทางธุรกิจแล้ว นั่นแสดงว่าคุณยังไม่เคยสัมผัสกับประสบการณ์สตาร์ทอัพแบบจีน ที่แต่ละบริษัทพร้อมใช้ทุกวิถีทาง ทั้งบนดินและใต้ดินเพื่อห้ำหั่นคู่แข่งให้วอดวายไป จีนเป็นสนามรบอย่างแท้จริง ผู้ชนะจากสนามรบอันโหดเหี้ยมเช่นนี้ย่อมไม่กลัวเกรงที่จะบุกออกไปยังพรมแดนใหม่ๆ ในโลกกว้าง
ประโยคหนึ่งที่อาจปลุกให้เราตื่นได้ มาจากไค-ฟู ลี เขาให้สัมภาษณ์กับโรงเรียนธุรกิจวอร์ตันว่า “ชาวซิลิคอนวัลเลย์ส่วนใหญ่ยังมองว่าจีนเป็นประเทศขี้ก๊อป (copycat) อยู่ ผมอยากบอกว่านั่นเป็นข้อผิดพลาดร้ายแรงทีเดียว”
ปัจจุบันจีนสิ้นสุด “กระบวนการคัดลอกจากตะวันตก” แล้ว
ขั้นต่อไปพวกเขาจะวิวัฒนาการเร็ว–อาจเร็วจนไม่มีใครตามทัน