เข้าใจ ‘สมองแห่งความก้าวร้าว’ เพื่อเปลี่ยนการระเบิดอารมณ์ให้เป็นพลังขับเคลื่อนได้สำเร็จ

Highlights

  • ทุกคนมีสิทธิก้าวร้าวได้เสมอ แต่การแสดงออกให้ถูกคน ถูกที่ ถูกเวลา ถูกจุดประสงค์ อาจทำให้คุณเปลี่ยนความหัวร้อนราวฟืนไฟเป็นการจุดประกายความสร้างสรรค์น่าชื่นใจ
  • ประวัติศาสตร์มนุษย์มีการส่งผ่านความเปลี่ยนแปลงผ่านความก้าวร้าว หากทุกคนนิ่งดูดายผู้หญิงอาจไม่มีสิทธิได้เรียนหนังสือเช่นในอดีต เราอาจจะยังเห็นการใช้ความรุนแรงต่อเด็กเป็นเรื่องรับได้ ความน่าสนใจอีกอย่างของการสำรวจคนที่แสดงออกความถึงความก้าวร้าวอย่างถูกจังหวะและวาระไม่ได้ตอกย้ำว่าพวกเขาเป็นมนุษย์เจ้าอารมณ์ ตรงกันข้ามพวกเขากลับมีคะแนนด้านความฉลาดทางอารมณ์สูง (emotional intelligence)
  • คอลัมน์ sci-fine โดย ธเนศ รัตนกุล พาไปเข้าใจสมองแห่งความก้าวร้าวเพื่ออยู่ร่วมกับมันได้โดยที่ไม่ถูกเปลวไฟแห่งโทสะกลืนกินไปเสียก่อน เพราะความก้าวราวสามารถเปลี่ยนเป็นพลังที่จะเชื่อมโยงผู้คนเข้าไว้ด้วยกันและนำพาสังคมไปข้างหน้าได้สำเร็จ

คุณเคยถามตัวเองไหมว่า ‘นี่เราเป็นคนก้าวร้าวหรือเปล่านะ’

เวลาเกิดเหตุขัดใจหรือใครบางคนนิยามคุณว่าเป็นพวก ‘เจ้าอารมณ์’ หากพัดลมตั้งพื้นพัดหงึกๆ อยู่ใกล้ๆ ก็เตะโครมเข้าให้ ยิ่งพอหันมาดูบ้านเมืองช่วงนี้ก็มีข่าวระทึกเกี่ยวกับการบันดาลโทสะละลานตาไปหมด  บางกรณีเลยเถิดถึงขั้นเป็นโศกนาฏกรรมพรากชีวิตผู้คน เกิดความสูญเสียที่เรียกร้องอะไรไม่ได้ จนน่าตั้งคำถามว่าทุกความโกรธนั้นต้องตามมาด้วยความสูญเสียทุกครั้งเลยหรือ ภายใต้แนวคิดที่ว่าความโกรธและความก้าวร้าวนั้นเป็นเหตุสามัญตามธรรมชาติ แต่เราจะอยู่ร่วมกับความก้าวร้าวในตัวตนของเราได้ยังไงก่อนจะถูกเปลวไฟแห่งโทสะกลืนกินไปเสียก่อน

มนุษย์และเหล่าสรรพสัตว์ล้วนแสดงออกอย่างก้าวร้าวได้ทั้งหมด พวกเราต้องดุดันเพื่อให้ได้มาซึ่งอาหาร หรือปกป้องชีวิตตนเองแบบสุดใจขาดดิ้น ดูเหมือนความก้าวร้าวนั้นจะเป็นเรื่องธรรมชาติตั้งแต่จุดกำเนิดชีวิตกว่า 300 ล้านปีก่อนโน้น ในขณะที่บรรพบุรุษสิ่งมีชีวิตเริ่มมีสถานะเป็นผู้ล่าและผู้ถูกล่า การดิ้นรนนี้ไม่เคยสูญหายไปไหน มันถูกส่งต่อมาเรื่อยๆ จนเป็นกลไกที่ทำให้มนุษย์อยู่รอดจนถึงทุกวันนี้

แต่ช่วงวินาทีที่เราตัดสินใจจะใช้ความก้าวร้าว (aggression) เพื่อตอบโต้ ยังเป็นปริศนาทั้งในด้านปรัชญา ศาสนา และวิทยาศาสตร์ ในชีวิตประจำวันเราล้วนเผชิญคนที่ไม่สามารถควบคุมความก้าวร้าวได้ ปล่อยให้มันล้นทะลักออกมาจนเกิดหายนะ แต่ขณะเดียวกันเราก็พบคนที่สามารถสะกดความก้าวร้าวไว้ได้และเปลี่ยนมันเป็นพลังสร้างสรรค์แทน 

 

เราเริ่มทำความเข้าใจสมองที่ก้าวร้าวยังไง

การตัดสินใจใช้ความก้าวร้าวของสิ่งมีชีวิตนั้นดูเป็นเสี้ยววินาทีฉับพลันที่ยากจะศึกษา แต่เพราะความยากนี่เองจึงท้าทาย นักวิทยาศาสตร์คนแรกๆ ที่ศึกษาเรื่องนี้คือแพทย์ชาวสวิตเซอร์แลนด์นามว่า Walter Rudolf Hess เขาเริ่มทำการทดลองเมื่อปี 1920 โดยเขาสนใจแมวเหมียวที่บางครั้งก็ดูว่านอนสอนง่าย แต่จู่ๆ ก็โมโหตะปบคนไปทั่ว

จากการศึกษาอยู่หลายปีเขาตั้งสมมติฐานว่า ความก้าวร้าวน่าจะอยู่ ตำแหน่งใดสักแห่งในสมองส่วนไฮโปทาลามัส ซึ่งมีอิทธิพลต่อการกิน ความหิว รวมไปถึงแรงขับทางเพศ วอลเทอร์จึงทดลองผ่ากะโหลกของแมวออก จากนั้นก็เอาสายไฟผูกเข้ากับขั้วอิเล็กโทรดเพื่อปล่อยไฟฟ้ากระตุ้นสมองส่วนนี้ของแมวโดยเฉพาะ ผลการทดลองน่าตื่นตะลึงเมื่อแมวจากที่เชื่องๆ ก็ขู่ฟ่อ พยายามกัด และฆ่าสัตว์ทดลองอื่นๆ ที่อยู่ร่วมในกรงทดลองด้วย

การทดลองนี้กรุยทางสู่แนวคิด ‘สมองส่วนสัตว์เลื้อยคลาน’ (lizard brain) ซึ่งเป็นคำเรียกสมองชั้นปฐมภูมิที่สุดจากวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต เป็นสมองแรกๆ ที่เป็นดั่งแกนกลางขับดันพื้นฐานต่างๆ เพื่อการดำรงชีวิต ซึ่งเชื่อกันว่ามักกระตุ้นสัญชาตญาณดิบในตัวมนุษย์

แนวคิดนี้ถูกท้าทายจากแวดวงวิทยาศาสตร์เสมอมากว่าร้อยปี และนักวิจัยรุ่นต่อมาพยายามมองลึกไปกว่านั้นว่าโครงข่ายในประสาทส่วนไหนของไฮโปทาลามัสที่มีอิทธิพลโดยตรง เพราะหากกล่าวกว้างๆ เพียงไฮโปทาลามัสก็คล้ายกับพูดรวมๆ ถึงมหาสมุทรแปซิฟิก เราจำเป็นต้องหาหมู่เกาะเล็กๆ นี้ถึงจะชี้ชัดได้ แล้วเจ้าเกาะนี้อาจไม่ได้อยู่พ้นน้ำ แต่จมอยู่ใต้มหาสมุทรอีกต่างหาก

ดังนั้นพวกเขาจึงพัฒนาศาสตร์ใหม่ที่เรียกว่า พันธุศาสตร์เชิงแสง (optogenetics) ที่เราสามารถควบคุมเซลล์ประสาทด้วยการยิงลำแสงไปกระตุ้นคล้ายการเปิด-ปิดสวิตซ์ไฟในบ้านเพื่อให้เห็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ในทางทฤษฎีแล้วเทคนิคนี้น่าจะทำให้เราได้คำตอบที่ชี้ชัดขึ้น แต่ติดปัญหาจริยธรรมในการทดลองเพราะไม่สามารถทำในมนุษย์ได้ เราไม่สามารถเปิด-ปิดความก้าวร้าวในมนุษย์แล้วนำการค้นพบมาตีพิมพ์บทความวิชาการได้ ถ้าขืนทำคุณจะถูกสอบจริยธรรมทันที (แต่ก็ไม่แน่ว่าอาจมีสถาบันบางแห่งที่แอบทำอยู่ลับๆ เป็น dark research ก็เป็นได้) งานวิจัยส่วนใหญ่จึงทำในสัตว์ทดลอง ทำให้เวลาตีความการค้นพบต้องทำอย่างระมัดระวัง ไม่ให้การนิยามพฤติกรรมสัตว์สู่มนุษย์บิดเบือนไป หรือใส่ความเป็นมนุษย์มากเกินไปจนเกิดเป็นอคติ (anthropocentrism) ในการตีความพฤติกรรมสัตว์

แต่ความก้าวร้าวก็มีแง่มุมที่น่าสนใจอยู่ เพราะสิ่งที่มนุษย์และสัตว์บางกลุ่มมีร่วมกันคือความก้าวร้าวที่ใช้ปกป้องผู้อื่นและการอยู่ร่วมกัน ส่วนใหญ่พบได้ในสัตว์ที่มีพฤติกรรมทางสังคมสูง เช่น ลิง สุนัข ม้า แพะ ฯลฯ อย่างพวกแพะในช่วงเวลาหาคู่ต้องเอาหัวชนกันเพื่อแสดงถึงศักยภาพในการปกป้องตัวเมีย ในอดีตมนุษย์ก็ใช้ความก้าวร้าวแบบนี้เป็นเครื่องมือทางสังคมชุดหนึ่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไปโครงสร้างทางสังคมมีความซับซ้อนขึ้น จึงไม่อนุญาตให้คุณต่อสู้เพื่อการจับคู่อย่างเอิกเกริกแบบพวกแพะภูเขา (แต่ก็เห็นอยู่ว่าแรงผลักนี้ไม่ได้หายไปไหน แค่มนุษย์เปลี่ยนรูปแบบที่ดู subtle มากขึ้น)

หากคุณใช้ความก้าวร้าวตรงไปตรงมาในสังคม ตัวสังคมเองก็มีเครื่องมือลงโทษเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุขึ้นโดยใช้ความก้าวร้าวอีกรูปแบบหนึ่ง นั่นก็คือการลงโทษจากสังคม จับขังคุก ยึดทรัพย์ ขับไล่ออกจากสังคม หรือกระทั่งประหัตประหารชีวิต

คราวนี้หากเรานำความก้าวร้าวของมนุษย์มาให้นักพฤติกรรมและนักประสาทวิทยาตีความ พวกเขาจะตีความลักษณะก้าวร้าวที่ต่างกัน หากมองในเชิงพฤติกรรมแล้วความก้าวร้าวของมนุษย์มาจากการถูกยั่วยุ (provocations) และแรงจูงใจ (motives) ว่าปัจจัยอะไรทำให้เขาลุกขึ้นก่อเรื่อง ส่วนนักประสาทวิทยาจะพยายามหาเหตุความก้าวร้าวที่เฉพาะเจาะจงในสมอง ยิ่งหาโครงข่ายประสาท (neural circuit) ได้ยิ่งดี แต่งานประสาทวิทยายังเป็นศาสตร์ใหม่เมื่อเทียบกับวิทยาศาสตร์พฤติกรรมที่ยังคงต้องใช้เวลาศึกษาอีกมากตามพัฒนาการของเทคโนโลยี

 

ความก้าวร้าวที่คุณเองเป็นผู้รับบทเรียน

การศึกษาความก้าวร้าวในมนุษย์นั้นท้าทายกว่าหลายเท่า ส่วนหนึ่งจากข้อจำกัดของการทดลองในสัตว์โดยเฉพาะหนูนั้นยังไม่สามารถอธิบายความรู้สึกอันซับซ้อนที่เกิดขึ้นได้ ส่วนใหญ่เป็นการสร้างความรู้สึกเจ็บปวดทันที เพื่อกระตุ้นให้หนูแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวออกมาเป็นการปกป้องตัวเอง

แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงนั้นเราอยู่ในสถานการณ์ตึงเครียดยาวนานและเรื้อรังกว่า เราถูกความบีบคั้นจากสภาพแวดล้อม กว่าคุณจะโตมาขนาดนี้ก็ถูกชีวิตโบยตีจนบอบช้ำไม่รู้เท่าไหร่ ความก้าวร้าวของมนุษย์จึงเจือไปด้วยอารมณ์ที่ซ้อนทับกันหลายชั้น  ไม่ได้ตรงไปตรงมาเหมือนสัตว์ทดลอง เพราะความก้าวร้าวนั้นยังมีมิติที่น่าสนใจ คือไม่ใช่การปกป้องชีวิตตัวเอง แต่สามารถ ‘ทำลายชีวิตตัวเอง’ ได้ด้วย ซึ่งขัดกับหลักวิวัฒนาการสิ่งมีชีวิต

ดังนั้นจะต้องมี ‘สมองส่วนอารมณ์’ ที่เรียกว่าสมองส่วนอะมิกดะลามามีอิทธิพลร่วมด้วย สมมติฐานนี้เกิดขึ้นโดยบังเอิญจากการสังเกตของนักวิจัยชาวสเปน  José Manuel Rodríguez Delgado ในปี 1960 เขาโด่งดังมากจากการนำองค์ความรู้ด้านการกระตุ้นสมองด้วยไฟฟ้ามาปรับใช้เป็นคนแรกๆ ครั้งหนึ่งเขาทดลองกับผู้หญิงชาวสเปนที่เป็นศิลปิน โดยติดอิเล็กโทรดไว้ระหว่างที่เธอเล่นกีตาร์เพลินๆ จู่ๆ เธอก็เบื่อหน่าย ทุ่มกีตาร์ลงพื้น ทำลายข้าวของ และทุบกำแพงจนมือบาดเจ็บ

โคเซ่แปลกใจมากที่ผู้หญิงคนนี้แสดงความก้าวร้าวออกมาแต่ตัวเธอเองกลับต้องเจ็บตัว โคเซ่เรียกพฤติกรรมนี้ว่า ‘blind rage’ การปลดปล่อยความโกรธอย่างไร้ทิศไร้ทางที่ทำให้บาดเจ็บและอาจเสียชีวิต เขาจึงเชื่อว่าความก้าวร้าวนี้ซับซ้อน เกิดขึ้นเพราะพยายามเอาตัวเองออกจากสถานการณ์ที่ไม่สบายใจแบบหน้ามืดตามัว ซึ่งมีสมองที่ลึกลงไปอีกจากส่วนของอะมิกดะลาที่เรียกว่า septal region เป็นจุดเดียวกันที่แอ็กทีฟเมื่อแม่หนูเห็นลูกตัวเองอยู่ในอันตราย มันจะสู้ใจขาดดิ้นจนตัวเองบาดเจ็บ หรือสัตว์ตัวเมียจะดุร้ายเป็นพิเศษเมื่อพวกมันมีลูกเล็กที่เรียกว่า maternal aggression

 

ความก้าวร้าวจะมีแต่เรื่องแย่ๆ เท่านั้นหรือ

ทุกคนมีสิทธิก้าวร้าวได้เสมอ แต่การแสดงออกให้ถูกคน ถูกที่ ถูกเวลา ถูกจุดประสงค์ อาจทำให้คุณเปลี่ยนความหัวร้อนราวฟืนไฟเป็นการจุดประกายความสร้างสรรค์น่าชื่นใจ

แม้แต่นักปราชญ์กรีกโบราณตัวเอ้อย่าง Aristotle ยังมองความโกรธเป็นเรื่องธรรมชาติของชีวิต ในงานเขียนชิ้นหนึ่งที่มีอายุกว่า 2,000 ปี ชื่อ The Art of Rhetoric เขากล่าวว่ามนุษย์จำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะก้าวร้าวอย่างถูกที่ ถูกเวลา และถูกคนแม้เวลาผ่านไปนานนับพันปี แต่นักจิตวิทยายุคโมเดิร์นหลายคนยังพยักหน้าหงึกๆ เห็นด้วยว่า อริสโตเติลเขียนไว้ไม่เลวทีเดียว

เพราะเมื่อเผชิญหน้ากับความไม่ชอบธรรมคุณคงไม่ปล่อยให้มันดำเนินไป คุณอาจโกรธผู้นำประเทศห่วยๆ ที่ไม่มีวุฒิภาวะสักกระผีก โกรธโลกที่มันเหลื่อมล้ำเสียเหลือเกิน เราอาจเดินขบวนประท้วงเรียกร้องสิทธิเพื่อเพื่อนมนุษย์ ความก้าวราวสามารถเปลี่ยนเป็นพลังที่จะเชื่อมโยงผู้คนเข้าไว้ด้วยกัน

คุณจะเห็นได้ว่าประวัติศาสตร์มนุษย์มีการส่งผ่านความเปลี่ยนแปลงผ่านความก้าวร้าว หากทุกคนนิ่งดูดาย ผู้หญิงอาจไม่มีสิทธิได้เรียนหนังสือเช่นในอดีต เราอาจจะยังเห็นการใช้ความรุนแรงต่อเด็กเป็นเรื่องรับได้ ความน่าสนใจอีกอย่างของการสำรวจคนที่แสดงออกถึงความก้าวร้าวอย่างถูกจังหวะและวาระไม่ได้ตอกย้ำว่าพวกเขาเป็นมนุษย์เจ้าอารมณ์ ตรงกันข้ามพวกเขากลับมีคะแนนด้านความฉลาดทางอารมณ์สูง (emotional intelligence)

ในโลกของธุรกิจไม่สามารถปฏิเสธความก้าวร้าวได้เลย นักเจรจาต่อรองที่มากประสบการณ์มักใช้ความตึงในการรักษาผลประโยชน์ พวกเขารู้จักงัดข้อดีของมันออกมาใช้ มหาวิทยาลัยธุรกิจชั้นนำระดับโลกอย่าง INSEAD ที่มีแคมปัสในฝรั่งเศส ยังมีการอบรมการใช้ความก้าวร้าวในฐานะเครื่องมือในการเจรจาต่อรองอันเด็ดขาด

ความก้าวร้าวในวันนี้ของคุณอาจสร้างบาดแผลที่ตัวเองยังเกลียดชัง แต่ความก้าวร้าวเพื่อผู้อื่นและปกป้องพวกเขาจากความอยุติธรรมยังเป็นสิ่งที่สังคมต้องการอย่างยิ่งยวด

คนที่เปลี่ยนความก้าวร้าวให้เป็นพลังขับเคลื่อนได้สำเร็จอาจเพราะพวกเขาไม่สามารถเมินเฉยต่อความอยุติธรรมของโลกใบนี้ได้นั่นเอง


อ้างอิง

Neurocircuitry of aggression and aggression seeking behavior: Nose poking into brain circuitry controlling aggression

Optogenetics, sex, and violence in the brain: implications for psychiatry

AUTHOR