ถ้าให้จัดลำดับความสำคัญในชีวิตประจำวัน ‘การกิน’ เป็นสิ่งแรกที่เรานึกถึง
เพราะสำหรับเราอาหารไม่ได้เป็นเพียงกองทัพให้ท้องและสมองได้เดินหน้าในแต่ละวัน แต่ยังมีฟังก์ชั่นที่มารับบทปลอบใจในยามที่ความเครียดอยู่ใกล้ แถมยังเป็นสื่อกลางกระชับความสัมพันธ์ทั้งกับครอบครัว เพื่อน หรือใครก็ตามที่เราอยู่ด้วยแล้วสบายใจ
อาหารสำหรับเราจึงเป็นมากกว่าการกิน เพราะมันขยายความรู้สึกมิติอื่นๆ และเปิดประสบการณ์หลายอย่างในชีวิตได้เป็นอย่างดี นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงใจจดจ่อเมื่อต้องไปร่วมโต๊ะอาหารในนิทรรศการศิลปะดิจิทัลกินได้ ‘The Inconvenience Store : สะดวก จะ ตาย’ งานศิลปะที่จะมาเปิดโลกการกิน-ดื่มของพวกเรา โดยใช้คอนเซปต์ร้านสะดวกซื้อมารังสรรค์เมนูและบรรยากาศภายในห้องสีขาวให้เราได้เข้ามาลิ้มรสอาหารพร้อมกับแสงสีจาก projection mapping
โปรเจกต์นี้เริ่มต้นจากทีมลิงขี่เสือ กลุ่มนักออกแบบที่ก่อตั้งโดย แหนม–มนัสรวี วงศ์ประดู่ และ แนน–นภัสวรรณ ศิริสุคนธ์ ทั้งสองหยิบเอาคอนเซปต์ร้านสะดวกซื้อมาสร้างสรรค์ให้เป็นการกินที่จะเปิดประสาทสัมผัสทั้ง 5 ด้วยเมนูสุดพิเศษจาก เชฟแอ๋–กุลพล สามเสน แห่งร้านยุ้งฉาง และ เชฟบิ๊ก–อรรถสิทธิ์ พัฒนเสถียรกุล แห่ง Autta Pop Up Dining พร้อมกับบรรยากาศการฉายภาพแสงสีโดย ป้อง–ปานปอง วงศ์สิรสวัสดิ์ และ แก่น–สารัตถะ จึงเสถียรทรัพย์ จากทีม Another day Another Render ที่เคยฝากผลงานไว้ในโปรเจกต์โพธิเธียเตอร์มาแล้ว
สิ่งสำคัญคือโปรเจกต์นี้ไม่ได้มีเพียงความอร่อยและความสนุกเท่านั้น แต่ทีมงานยังต้องการให้พื้นที่นี้เป็นการพูดคุยและจุดประกายให้คนได้ตั้งคำถามกับคุณภาพและการเลือกทานอาหารในร้านสะดวกซื้อใกล้บ้านที่เราซื้อกินง่ายในทุกวัน
ถ้าคุณคิดว่าการกินเป็นสิ่งสำคัญกับคุณไม่แพ้กัน อย่ารอช้า อาหารทั้ง 5 เมนูในงานนี้พร้อมเสิร์ฟแล้ว
ก่อนจะเป็นมื้ออาหารสะดวกซื้อในร้านอาหาร (ไม่) สะดวกซื้อ
ก่อนจะมาเป็นศิลปะดิจิทัลกินได้ การออกแบบมื้ออาหารควบคู่ไปกับงานศิลปะเป็นโปรเจกต์ที่แหนมเคยทำเป็นทีสิสสมัยเรียนปริญญาโทด้านการออกแบบที่สหรัฐอเมริกา โปรเจกต์นี้ชื่อว่า ‘ลิงขี่เสือ’ หลังจากเรียนจบและกลับไทย แหนมเปิดบริษัทออกแบบกับแนนได้ 4 ปี ทั้งสองจึงอยากหยิบเอาลิงขี่เสือกลับมารีรันใหม่อีกครั้ง
“ลิงขี่เสือคือแพลตฟอร์มการสร้างพื้นที่ให้คนได้เข้ามาแบ่งปันความคิดในการเปลี่ยนแปลงสังคมและพื้นที่แลกเปลี่ยนบทสนทนาเรื่องสังคม ผ่านการออกแบบด้วยการใช้ศิลปะ พูดง่ายๆ คือเราอยากสร้างพื้นที่ให้คนได้มาพูดคุยเรื่องทั่วไปที่พบได้ในชีวิตประจำวันผ่านอาหารหรือการออกแบบ เพราะเรามองว่าปัญหาต่างๆ ในสังคมสามารถทำให้สนุกได้” แหนมอธิบาย
“ในแง่ของการเอาโครงการลิงขี่เสือมาทำใหม่ เรามองว่ามันเป็นเรื่องที่ถ้าเราใส่ดีไซน์ ใส่ประสบการณ์ลงไป จะทำให้เรื่องการเมือง สังคม และคุณภาพชีวิต กลายเป็นเรื่องสนุก ทำให้คนทั่วไปย่อยมันได้ง่ายขึ้น และเรารู้สึกว่าควรทำให้เรื่องพวกนี้มันย่อยง่าย ทำให้คนสนุกที่จะพูดถึงมัน” แนนช่วยเสริม
แต่สิ่งที่เราสงสัยจนต้องเอ่ยปากถามขึ้นก่อนแหนมและแนนจะอธิบายให้ฟังต่อคือ ทำไมต้องชื่อ ‘ลิงขี่เสือ’
“ตอนอยู่อเมริกาเราพยายามหาชื่อที่เป็นไทยหรือเอเชียแล้วคนรีเลตได้ แล้วที่มันเป็นลิงขี่เสือเพราะสัญลักษณ์สินค้าเอเชียมีแบบนี้เยอะมาก พวกยาหม่องต่างๆ เรารู้สึกว่ามันน่าสนใจ จำง่ายด้วย มันกึ่งๆ ว่าเป็นองค์กรลับ แต่เรามีความหมายที่ซ่อนอยู่จริงๆ คือเรามองว่าลิงหมายถึงคนตัวเล็กๆ ที่ดูสมาร์ต ฉลาด และควบคุมสิ่งที่ใหญ่กว่าอย่างเสือได้ ซึ่งเสืออาจหมายถึงปัญหาต่างๆ ในประเทศตอนนี้ หรือหมายถึงนายทุน ผู้มีอำนาจ ก็ได้”
อีกสิ่งที่แหนมสนใจคือ ถ้าให้เลือกหัวข้อมาคุยในแบบลิงขี่เสือ เธอคิดว่าอาหารเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะใครๆ ก็สามารถเชื่อมโยงได้ อีกทั้งอาหารยังสามารถออกแบบให้คนมีประสบการณ์ทั้งการได้ยิน ได้กลิ่น ได้ดู และชิมอาหารไปด้วยกันได้
นั่นทำให้โปรเจกต์ลิงขี่เสือเวอร์ชั่นทีสิสปริญญาโทแหนมเลือกทำเรื่องเกษตรกรออร์แกนิกในไทยและเชฟหน้าใหม่ที่โดดเด่นในไทย แต่ด้วยข้อจำกัดทางด้านทรัพยากรทำให้เธอไม่สามารถออกแบบประสบการณ์ทั้ง 5 ได้ครบอย่างที่หวัง เมื่อต้องเอากลับมาจัดแสดงอีกครั้ง ทั้งสองจึงชวนป้องและแก่นจากทีม Another Day Another Render มาช่วยกันสร้างสรรค์ประสบการณ์ของคนดูด้วยกัน
“เราชวนป้องมาช่วยทำ คุยกันว่าจะเล่าเรื่องอะไรดีในงานนี้ จะไม่ใช่การพูดถึงเกษตรกรแบบเดิมแล้ว แต่เรานึกถึงอาหาร chef’s table หรือ fine dining ด้วยรูปแบบการกิน ด้วยราคา เราก็กลับมาคิดว่าอยากทำให้เป็นอาหารที่ไม่ว่าใครก็มากินได้ เลยเลือกรูปแบบ chef’s table แต่อีกเรื่องคือทำยังไงให้คนเข้าถึงได้มากกว่านี้ ดังนั้นต้องคิดเรื่องคอนเทนต์เพื่อสื่อสารกับคนให้สามารถเชื่อมโยงมันกับตัวเองได้ทันที” แหนมเล่ากระบวนการคิดงานให้ฟัง ก่อนที่แนนจะช่วยเสริม
“เรามานึกถึงร้านสะดวกซื้อเพราะรู้สึกว่าคนทั่วไปคุ้นเคย ทุกคนในประเทศต้องเคยกินของที่มาจากร้านสะดวกซื้อกันทั้งนั้น ดังนั้นถ้าจะหยิบหัวข้อที่คนส่วนมากเข้าใจ เราควรหยิบสิ่งที่คนคุ้นเคยขึ้นมาพูด มันเลยกลายเป็นร้านสะดวกซื้อผสมกับการทำอาหารของเชฟ”
เมนูสร้างสรรค์ด้วยแรงบันดาลใจจากอาหารสะดวกซื้อ
เมื่อเป็นคอนเซปต์ร้านสะดวกซื้อแล้ว ทีมลิงขี่เสือคิดว่าจะทำให้สนุกยิ่งขึ้นด้วยการออกแบบการเล่าเรื่องครั้งนี้ให้เป็นแนว parody คือการล้อเลียนร้านสะดวกซื้อที่คนไทยคุ้นหน้าคุ้นตากันดี โดยเมสเซจที่ต้องการสื่อสารจะเล่าผ่านอาหาร 5 คอร์ส
“เรามองว่ามันเหมือนการเดินทาง ปกติเวลาไปกินอาหาร กินเสร็จ อิ่ม แล้วจบ แต่ครั้งนี้เราต้องการเล่าเรื่องไปด้วยในคอร์สที่ 1-5 เราอยากให้การเล่าเรื่องเป็นบทๆ เหมือนมาดูหนังสักเรื่องแล้วกินอาหารไปด้วย” แหนมเล่าไอเดียให้ฟัง
“แล้วเราก็มาดูว่าต้องใช้เชฟแบบไหนถึงจะตอบโจทย์สิ่งที่เราต้องการจะสื่อได้ เพราะเรื่องราวต้องเสียดสีและนอกกรอบมากๆ แล้วแอ๋เป็นเชฟที่เรารู้จักมาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ร้านยุ้งฉางของแอ๋ก็ประสบความสำเร็จมากๆ เราเลยชวนเขามาออกแบบเมนูโดยให้อิสระเต็มที่ เนื้อเรื่องเป็นแบบนี้ คุณคิดว่ายังไง ควรสื่อออกมาเป็นยังไง”
แต่หลักๆ แล้วการออกแบบเมนูของเชฟแอ๋จะสอดคล้องกับประเด็นและเนื้อเรื่องที่ทีมลิงขี่เสือตั้งใจสื่อสาร นั่นคือเรื่องการกินอาหารที่ดีขึ้น ปรุงสุก และไม่ใช้สารเคมี
“ตอนแรกอยากมีสตอรีไลน์ว่าจะมีอาหารกี่คอร์ส เรื่องที่จะเล่ามีกี่ sequence แล้วจะเล่าอะไรบ้าง sequence นี้เล่าเรื่องอะไร แล้ววิชวลเป็นยังไง เพราะมันมีเมสเซจของแต่ละพาร์ต เราทำงานร่วมกันกับทีมวิชวลด้วย แล้วผมค่อยคิดอาหารที่น่าจะเหมาะกับวิชวลนั้นๆ โดยที่ยังคงธีมทั้งหมดเป็นอาหารที่ล้อกับร้านสะดวกซื้อ” แอ๋เริ่มต้นเล่ากระบวนการออกแบบอาหาร
เมนูที่เชฟแอ๋คิดมาจากเมนูที่คนคุ้นเคยในร้านสะดวกซื้อ เช่น ซาลาเปา ขนมจีบ แซนด์วิช นอกจากตัวเขาแล้วยังมีเชฟบิ๊กแห่ง Autta Dining มาช่วยสร้างสรรค์เมนูอาหารจนออกมาเป็น 5 เมนู 5 คอร์สที่น่าสนใจ
“ยกตัวอย่างหนึ่งคอร์สคือ Chapter 3: Accumulation พูดถึงเรื่องการสะสมของสารเคมี ก่อนที่จะทำโปรเจกต์นี้เราได้จัดทำแบบสอบถามง่ายๆ เพื่อสำรวจข้อมูล แล้วมีคนบอกเราว่าเขากินอาหารจากร้านสะดวกซื้อทุกวันติดกัน 2 ปีเพราะอยู่ใต้ตึกที่ทำงาน โดยที่ไม่เคยรู้เรื่องสารเคมีอะไรเลย พอ 2 ปีถัดมาก็ป่วยเข้าโรงพยาบาลไปเลย ร่างพัง เราเลยคิดคอร์สหนึ่งขึ้นมาเล่าเรื่องว่าถ้าคุณกินอาหารพวกนี้แค่วันเดียวมันคงไม่เห็นผลอะไรหรอก แต่ถ้ากินทุกวันมันจะสะสม” แหนมเล่า
“ผมเลยออกแบบเป็นติ่มซำ เพราะในเมนูนี้เวลาพูดถึงเรื่องการสะสม ในเมื่อกินคำเดียวมันไม่สะสม ผมก็เลยลองเป็นอะไรเล็กๆ วิธีกินคือกินแล้วยกชั้นออกไปเรื่อยๆ ผมก็ออกแบบให้รสชาติมันเข้มข้นแล้วก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ในแต่ละชั้น ทั้งที่หน้าตาเหมือนกัน แต่รสชาติเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แสดงถึงการสะสมเข้าไปในร่างกาย”
แต่ในเมื่อโจทย์หลักของการเล่าเรื่องครั้งนี้คืออยากให้คนกินอาหารที่มีคุณภาพ ไม่มีสารเคมีเจือปน เราเลยแอบถามส่วนผสมของเชฟก่อนว่าครั้งนี้เขาเลือกวัตถุดิบอะไรบ้างมาปรุงอาหาร
“วัตถุดิบที่ใช้ในงานนี้เป็นวัตถุดิบที่ทุกคนซื้อได้ทั่วไป เราไม่ได้ใส่สารเคมีอะไรเจือปนในอาหารเลย แต่แน่นอนนี่อาจจะไม่ได้ออร์แกนิกร้อยเปอร์เซ็นต์ เราอาจไม่ได้เอาผลผลิตจากเกษตรกรชาวบ้านมาเลย แต่ทุกอย่างเราต้องมั่นใจว่าไม่มีสารเจือปนที่เห็นได้ชัด
“ที่ผมจะบอกคือเราไม่มีทางหาวัตถุดิบปลอดสารเคมีได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยที่สุดเราเลือกสิ่งที่ดีที่สุด สะอาดที่สุด เท่าที่เราจะหาได้ อีกอย่างคือเรากำลังพูดเรื่องใกล้ตัวของคน แสดงว่าเราต้องเลือกใช้วัตถุดิบที่จับต้องได้ ถ้าเราเลือกวัตถุดิบที่หายากคนก็จะแค่ acknowledge ว่ามันมี แต่ไม่ได้คิดว่าตัวเองจะทำได้” เชฟแอ๋เล่า
แต่ชีวิตที่รีบเร่งก็ทำให้เราหาเวลาทำอาหารทานเองได้ยากอยู่แล้ว เมสเซจที่เชฟต้องการสื่อสารจะทำให้คนทำตามได้ยากหรือเปล่าคือสิ่งที่เราถามเชฟแอ๋ด้วยความสงสัย
“ผมคิดว่าคำว่ารีบเร่งก็รีบเร่งจริงแหละ ไม่เถียงเลย แต่จริงๆ การทำอาหารคือการเอาวัตถุดิบมาทำให้สุกแล้วก็กินเข้าไป เพื่อเป็นพลังงาน เป็นสารอาหารในร่างกาย ถ้าเกิดการทำแค่นั้นมันไม่ยากเลย แต่พอมีความสะดวกที่ธุรกิจต่างๆ จัดหาให้ เรื่องที่เคยกลายเป็นเรื่องธรรมดาก็เลยกลายเป็นเรื่องวุ่นวายไป ซึ่งมันอาจจะยากสำหรับคนที่ชินกับความสะดวก ถึงต้องเริ่มรณรงค์ เริ่มทำให้คนเห็นว่ามันง่ายกว่าที่คิด แค่คิดว่าการทำอาหารคือการเอาอาหารมาทำให้สุกแล้วก็กิน
“ซึ่งโปรเจกต์นี้เราจะทำให้ทุกคนเห็นว่าเมนูจากร้านสะดวกซื้อมันทำเองได้ แล้วถ้าทำเองจะมีหน้าตาเป็นยังไง จะสดและรสชาติดีกว่าแค่ไหน และจะดีกับร่างกายคุณกว่าเพียงใด”
ร้าน (ไม่) สะดวกซื้อที่อยากให้คุณลิ้มรสชาติความอร่อยไปพร้อมกับแสงสีรอบโต๊ะ
ไม่ใช่แค่เมนูสุดสร้างสรรค์จากเชฟที่จะพาเราไปสู่การตั้งคำถามกับอาหารในร้านสะดวกซื้อ แต่แสงสีและภาพตระการตารายล้อมรอบตัวเราเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญที่เปิดประสบการณ์การรับรู้ทางภาพให้เราได้ตื่นตาตื่นใจ
“ส่วนของวิชวลเราให้อิสระเต็มที่ในการออกแบบ เราจะบอกคอนเซปต์แต่ละคอร์สว่าประมาณนี้ แล้วให้เขาตีความเองว่าจะทำออกมาในรูปแบบไหน มู้ดแอนด์โทนประมาณไหน เราให้อิสระเขาในการคิดและตีความ เพราะเราค่อนข้างไว้ใจทีมวิชวลอยู่แล้ว”
ป้องและแก่นจึงเข้ามามีบทบาทเต็มที่ในการดีไซน์ให้โต๊ะอาหารและรอบห้องเต็มไปด้วยสีสันของร้าน (ไม่) สะดวกซื้อ และดำเนินเรื่องเล่าไปตามโจทย์ที่ทีมลิงขี่เสือวางไว้ แก่นบอกกับเราว่า ด้วยคอนเซปต์ความสะดวกสบายที่ผสมผสานกับ futuristic นั่นหมายความว่าพวกเขาต้องออกแบบร้านสะดวกซื้อห้องนี้ให้สะดวกขึ้นไปกว่าที่เคยมี
“ซึ่งก็พบว่ายากมาก เพราะตอนนี้ก็แทบไม่ต้องรออะไรแล้ว” แก่นเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ “แต่เราก็ตั้งต้นคิดว่าในอนาคตจะมีอะไรที่สะดวกสบายมากขึ้นได้ไหม เช่น ของที่เร็วอยู่แล้วก็ต้องเร็วมากขึ้นไปอีก”
ป้องและแก่นยังเล่าด้วยว่า การออกแบบภาพครั้งนี้แตกต่างจากงานที่ผ่านมาอย่างมาก เพราะโจทย์มีความเป็นนามธรรมมากกว่าที่พวกเขาเคยหยิบตัวละครในบทสวดพาหุงฯ มาตีความใหม่ในโพธิเธียเตอร์
“คอนเซปต์ครั้งนี้เน้นบรรยากาศมากกว่าโพธิเธียเตอร์ด้วย งานที่แล้วจะมีคาแร็กเตอร์ตัวละครมาอยู่แล้ว เหมือนคนมาดูหนัง immersive แต่งานนี้เป็น dining experience คือคนมารับประทานอาหารเป็นคอร์ส เพราะฉะนั้นวิชวลส่วนหนึ่งจะเป็นบรรยากาศที่ต้องทำให้คนเอนจอยอาหาร แต่ความท้าทายคือเราไม่อยากให้คนเอนจอยอาหารอย่างเดียว เรามีเมสเซจในการเล่าด้วย”
แก่นเล่าเสริมด้วยว่าก่อนหน้านี้มีหลายไอเดียที่คิดมาแล้วต้องปัดตกไป เพราะอาจส่งผลถึงสุนทรียะในการทานอาหารของคน ซึ่งสุดท้ายพวกเขาจึงต้องมีเส้นตรงกลางว่าทำยังไงให้คนที่เข้าร่วมงานไม่เสียอรรถรส และไม่ได้บอกเมสเซจตรงๆ มากเกินไป
“ตัวอย่างเช่นเราอยากเล่าเรื่องการสะสมของสารเคมี การสร้าง habit การกินที่ไม่ดีต่อสุขภาพ หรือเล่าเรื่องการสร้างความเปลี่ยนแปลงจากตัวเลือกอาหารที่กิน ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันเป็นนามธรรม เราคิดว่ามันเล่าตรงๆ ไม่ได้ ด้วยความที่ประเด็นไม่แปลกใหม่ขนาดนั้น เรื่องสารเคมีเรารู้กันอยู่แล้ว ถ้าเล่าตรงๆ คนดูก็จะรู้สึกว่าฉันรู้สิ่งนี้อยู่แล้ว มาย้ำฉันอีกทำไม มาบ่นทำไม เลยต้องมีชั้นเชิงในการเล่านิดหนึ่ง ต้องหาทางหลบเลี่ยงให้เป็นสิ่งที่คนต้องตีความหรือรับรู้ทางอื่น” แก่นอธิบายให้ฟังก่อนป้องจะช่วยเสริมว่า
“ถ้าเราบอกชัดๆ ว่ากินดีคืออย่างนี้สิ ต้องทำแบบนี้นะ มันเหมือนโดนแม่สอนมากเลย ก็เลยยาก ต้องให้คุณไปตีความเองด้วยว่ากินดีหรือไม่ดีคืออะไร มัน subjective มากๆ”
สิ่งสำคัญที่สุดคืออยากให้ทุกคนได้สนุกกับประสบการณ์ดิจิทัลกินได้
แม้สิ่งที่อยากสื่อสารมากที่สุดของพวกเขาคือการพูดถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพและผลเสียของอาหารในร้านสะดวกซื้อ แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าชีวิตประจำวันที่รีบเร่งของเราไม่อาจหลีกเลี่ยงการเลือกซื้ออาหารที่สะดวกและง่ายต่อการเข้าถึง แล้วพวกเขาจะสื่อสารให้คนกลับมาทานอาหารที่ดีต่อตัวเองได้ยังไงบ้าง นี่คือประเด็นที่เราตั้งใจถาม
“เราพูดถึงเรื่องนี้เหมือนกัน เพราะคอนเซปต์ของลิงขี่เสือคือการพูดถึงเรื่องเล็กๆ ที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ อย่างเรื่องที่เป็นปัญหาสังคม ปัญหาของชาติ เราเลยตั้งคำถามว่าทำไมคนต้องเลือกกินแต่อาหารในร้านสะดวกซื้อ เพราะว่ามีเวลาน้อย คุณภาพชีวิตไม่ดี เราต้องตื่นเช้า รถก็ติด ใช้เวลา 2 ชั่วโมงกว่าจะถึงที่ทำงาน ใช้เวลาอีก 2 ชั่วโมงในการกลับบ้าน มันไม่มีร้านไหนเปิดแล้ว เราก็ต้องกินจากร้านสะดวกซื้อ จะทำอาหารเองก็ไม่ได้ เลยทำให้เห็นว่าแค่พูดถึงเรื่องร้านสะดวกซื้ออย่างเดียวมันโยงไปถึงคุณภาพชีวิตของคนในสังคมเลยนะ” แนนอธิบาย
“ที่สำคัญคือเราไม่ได้อยากจะแบนร้านสะดวกซื้อ เราไม่ได้บอกว่าไปกินร้านนี้กันแล้วแบนร้านสะดวกซื้อกันเถอะ ไม่ใช่อย่างนั้น เราก็ยังใช้กันอยู่ เพราะเรารู้ว่าบางทีมันก็จำเป็น ยิ่งในชีวิตของคนเมืองด้วยมันก็อำนวยความสะดวกให้เรา” แหนมช่วยเสริม
“แต่เราตั้งคำถามว่าร้านสะดวกซื้อยังดีขึ้นอีกได้ไหม สต็อกของให้ดีขึ้นกว่านี้ไม่ได้เหรอ เพราะสารต่างๆ ที่ใส่ในอาหารมันก็แค่ช่วยยืดเวลาขายอาหารให้มากขึ้น ให้รสชาติจัดจ้าน อร่อยมากยิ่งขึ้น โดยที่เขาไม่ต้องมาคิดมาก มันง่ายสำหรับคนผลิต แต่ลำบากคนกิน”
แหนมเชื่อว่าถ้ากระแสของคนตัวเล็กๆ เลือกไม่กินอาหารที่มีโซเดียมเยอะเกินไป น้ำตาลเยอะเกินไป หรือสารเคมีในการยืดอาหารให้ยาวนาน สุดท้ายมันจะส่งผลไปถึงผู้ผลิตให้ลดสารเคมีหรือความจัดจ้านลงได้ในที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งเดียวกันกับที่ลิงขี่เสือถูกมองว่าเป็นแพลตฟอร์มให้คนได้มารวมพลังเล็กๆ เพื่อขับเคลื่อนเรื่องใหญ่ๆ ในสังคมได้นั่นเอง
“แต่การมาร่วมงานนี้เราไม่ได้หวังว่าเข้ามาแล้วทุกคนจะบรรลุนิพพานเรื่องอาหารที่ดี อย่างน้อยๆ คืออยากให้เข้ามาแล้วรู้สึกว่าฉันได้กินอะไรที่ดีและสนุกไปกับประสบการณ์ที่ได้รับ” แหนมทิ้งท้าย

‘The Inconvenience Store : สะดวก จะ ตาย’ นิทรรศการศิลปะดิจิทัลกินได้ เป็นส่วนหนึ่งในงาน Bangkok Design Week 2020 จัดขึ้นตั้งแต่ 1-9 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ATT 19 เจริญกรุง 30 จำหน่ายบัตรร่วมงานที่ Ticketmelon