อภิชัย ตระกูลเผด็จไกร : นักร้องผู้สร้างบทเพลงจากความจริงในชีวิต 1/4

บทสัมภาษณ์นี้ควรมีเพลงประกอบการอ่าน

เสียดายที่ชวนไม่ทัน
ไม่งั้นเราคงได้ฟังเพลงใหม่ของ Greasy Café – อภิชัย ตระกูลเผด็จไกร
อดีตช่างภาพกองถ่ายภาพยนตร์ที่กลั่นเรื่องส่วนตัวเป็นบทเพลง
เสียงร้องของเขาบรรจุอารมณ์หลายชนิด หนักไปทางความเศร้า
ความเปลี่ยนแปลงและการลาจาก

อภิชัยไม่ได้ตั้งตนว่าจะร้องแต่เพลงหม่น
เขาแค่เล่าเรื่องจากชีวิตจริง ถ้ามันถูกเล่าผ่านเสียงใสๆ ของนักร้องวัยรุ่น
ฟังแล้วอาจดูพร่ำเพ้อ แต่เมื่อถูกเล่าผ่านสายตาผ่านโลกของศิลปินหนุ่มใหญ่
เขาปลดปล่อยมันด้วยถ้อยคำดั่งบทกวี

สองอัลบั้มก่อนหน้า
สิ่งเหล่านี้ และ ทิศทาง ทำให้เขาเป็นที่รู้จัก มีแฟนเพลงรักใคร่เหนียวแน่น

แต่หนังเรื่อง
แต่เพียงผู้เดียว ที่เขาแสดงนำผลักให้เขาอยู่ในแสงไฟที่สว่างขึ้น
เพลงประกอบภาพยนตร์ ป่าสนในห้องหมายเลข 1 และ ประโยคบอกเล่า
พุ่งขึ้นชาร์ตคลื่นวิทยุต่อเนื่อง

ใครๆ
ก็ว่านี่คือช่วงขาขึ้นของเขา แต่อภิชัยมองว่านี่คือช่วงที่ชีวิตพบความเปลี่ยนแปลง

การเดินทางครั้งใหม่ทำให้เขาพบเรื่องราวใหม่
เขาไม่พลาดที่จะบันทึกเรื่องเหล่านั้นในอัลบั้มใหม่ The Journey Without
Maps
ที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า

ตารางงานไม่อนุญาตให้เขาอยู่นิ่ง
เราจึงขอร่วมทางระยะสั้นๆ เก็บเกี่ยวเรื่องที่พบในสมุดบันทึก
และไม่ลืมพกเครื่องเล่น MP3 ติดตัว

เพลงแรกเริ่มเล่นแล้ว

1.

ต้นหญ้าต้นหนึ่ง ที่ไม่ยอมลู่ลม
ไม่ปลิวไหวตาม
เพราะมันเชื่อในสิ่งที่คิด
ว่ามันจะเป็นต้นไม้ใหญ่

พบกันครั้งแรก ซูก็ต้อนรับผมด้วยเสียงเห่า

ซู
สุนัขประจำบ้านสีขาวกำลังตะกุยแผ่นไม้ที่อยู่หน้าบ้าน
เจ้าของบ้านส่งเสียงทักทายจากหลังประตู เมื่อเดินเข้ารั้วบ้านอากาศก็เย็นชื้น
ตัวบ้านเป็นกึ่งไม้กึ่งปูนคล้ายบ้านในต่างจังหวัดด้านหน้าเป็นพื้นที่โล่ง
มีร่มเงาจากต้นม่านบาหลี มีเวสป้าและจักรยานไปรษณีย์จอดอยู่ไม่ไกลกัน

ในบ้านมีโต๊ะไม้ตัวใหญ่
แมคบุ๊คและสมุดบันทึกสีดำ บนเพดานเป็นแผ่นไม้วางขัดกันเป็นระเบียบ มีช่องว่างพอสำหรับเก็บกีต้าร์
ชั้นวางของข้างโต๊ะเต็มไปด้วยกล้องและหนังสือ ข้างบันไดขึ้นชั้น 2
มีเปียโนขนาดย่อมวางอยู่

คนสนิทพูดตรงกันว่า
ไม่ว่าเขาย้ายบ้านไปที่ไหน
ทุกที่จะมีบรรยากาศและบางอย่างให้รู้สึกว่านี่คือบ้านเขาเสมอ

อภิชัยอยู่บ้านเช่ามาทั้งชีวิต เช่นเดียวกับบ้านสีขาวหลังนี้
เขาเจอที่นี่โดยบังเอิญ จุดเด่นคือมีต้นมะพร้าวอยู่ในรั้วบ้าน ด้านในค่อนข้างเล็ก
จากบ้านเก่าเขารื้อใหม่หลายจุด
ทาสีและทำสวนเบ็ดเสร็จกลายเป็นบ้านที่น่าอยู่เอาเรื่อง

บ้านหลังแรกในชีวิตเขาอยู่แถววรจักร
เป็นบ้านตึกแถว 2 ชั้นของครอบครัว ชั้นล่างเป็นพื้นที่รวม ใช้เป็นห้องนั่งเล่น
ห้องรับแขก และเป็นพื้นที่เย็บหมวกเล่นกีฬา ซึ่งเป็นกิจกรรมหลักที่เลี้ยงครอบครัว

อภิชัยเป็นลูกคนสุดท้องจากพี่น้อง 6 คน
เขาสนิทกับพี่สาว (ปรางเพ็ชร ตระกูลเผด็จไกร) ที่ห่างกันแค่ 2 ปี
เธอทำงานเป็นคอสตูมให้กองถ่ายภาพยนตร์และละคร

เขาเรียนจบโรงเรียนไทยวิจิตรศิลป์ตอนอายุ 20
หมาดๆ ทำงานเล็กน้อยตามกองถ่าย อายุ 21
เขาเก็บกระเป๋าออกจากบ้านไปเรียนภาษาที่อังกฤษ

“เราเห็นภาพตัวเองในอีก
5 ปีว่าคงเป็นเด็กหาพร็อพให้กองถ่ายเรื่อยเปื่อย
ไม่มีอะไรเกิดขึ้นในชีวิตมากกว่านี้ ก็เลยตัดสินใจไปเพื่อหาอะไรใหม่ๆ
ไม่ได้มีเรื่องกับที่บ้านอะไร”

อังกฤษเปลี่ยนชีวิตเขาหลักๆ
สองเรื่อง หนึ่ง เขาหัดเล่นดนตรีอย่างจริงจัง ได้รวมวงกับเพื่อนในชื่อ The Light
ตระเวนเล่นตามผับขนาดเล็ก สอง เขาได้เรียนถ่ายภาพซึ่งเป็นอาชีพหล่อเลี้ยงชีวิตในภายหลัง

ช่วงวัยรุ่นอภิชัยโหยหาอิสระ
เพื่อนพ้องและความรัก เขาเสพติดช่วงเวลาในห้องมืดพอๆ
กับการหัดตีคอร์ดกีต้าร์ในห้องนอน

“เรารู้จักรุ่นพี่คนนึงชื่อพี่นิ
เรายืมอัลบั้ม The Alan
Parsons Project ชุด Vulture Culture
จากเขามาฟัง พอเอาไปคืน เขาถามว่าฟังแล้วเห็นอะไรมั๊ย เราก็งง เห็นอะไรคืออะไร

“ดนตรีไม่ใช่แค่การเล่นกีต้าร์ให้เกิดเป็นเสียง
มันถูกสร้างขึ้นจากจินตนาการ พี่นิสอนว่าเวลาฟังเพลงให้นึกภาพตาม
ใช้จินตนาการไปกับมันอย่าฟังแค่เสียง ความคิดนี้ยังฝังอยู่ในตัวเรา เวลาทำเพลงเราชอบสร้างบรรยากาศในเพลง
สร้างเสียงที่พาคนให้เข้าใจว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้น
เราชอบวิธีนี้เพราะทำให้คนรู้สึกได้โดยไม่ต้องพูดมาก
เหมือนเราดูหนังผีแล้วรู้สึกกลัว ในขณะที่ผียังไม่ออกมา”

หลังเรียนจบ
เขากลับเมืองไทยและทำงานเป็นช่างภาพนิตยสาร ค้นหาตัวเองด้วยการถ่ายภาพแฟชั่น
ก่อนจะหลงใหลในการถ่ายภาพแนวสารคดี subject ที่โปรดปรานคือ
คนที่ผ่านชีวิตมาโชกโชน วันนึงเขารู้ข่าวกองถ่ายภาพยนตร์รับสมัครช่างภาพนิ่ง
ช่างภาพหนุ่มลองยื่นพอร์ตฯ และได้ทำงานนี้เป็นครั้งแรก หนังเรื่องนั้นชื่อ จันดารา
ของนนทรี นิมิบุตร ซึ่งเป็นผู้แนะนำเขาเข้าสู่การทำงานในวงการภาพยนตร์

งานของเขาคือการถ่ายภาพเบื้องหน้า
ยุคนั้นยังไม่มีใครนิยมถ่ายภาพเบื้องหลัง
เขาเลือกบันทึกมันเพราะอยากเล่าสิ่งที่คนดูหนังไม่เคยเห็น
จังหวะและช่วงเวลาคือสิ่งที่เขาแม่นยำ เสี้ยววินาทีนั้นเขาคิดภาพในหัว วิเคราะห์
ก่อนขยับนิ้วลั่นชัตเตอร์

“เรามองว่ามันเป็นงานสารคดี
เป็นมุมมองที่เรารู้สึก เราอยากให้คนเห็นว่าการทำหนังเรื่องนึงไม่ง่าย
จะมีใครได้เห็นว่าหลังพ้นจอสี่เหลี่ยมห่างออกไป 10 เมตรเกิดอะไรขึ้นบ้าง
เราเชื่อว่าภาพที่ดีมันมีผลต่อหนังมาก”

เมื่อดวงตาประทับวิวไฟน์เดอร์
เขามั่นใจว่าเล่าเรื่องผ่านภาพได้แม่นยำ

กล้องที่เต็มไปด้วยร่องรอย
ผ่านการใช้งานโชกโชนบนชั้นเป็นพยานได้

2.

ฉันได้เริ่มเดินทางโดยไม่มีจุดหมาย
คล้ายคนบ้าที่วิ่งหนีเงาของตัวเอง

ผมพบ Greasy Café ครั้งแรกที่โรงภาพยนตร์ House กลางเดือนมีนาคม 2008

อภิชัยใช้ชื่อ
Greasy
Café ครั้งแรกในอัลบั้มคอมพิเลชัน Smallroom 001 ด้วยคำชวนจาก
รุ่งโรจน์ อุปถัมภ์โพธิวัฒน์ แห่งค่ายเพลงสมอลล์รูม
วิธีเล่นกีต้าร์ของเขาเป็นแบบฉบับวงดนตรีอังกฤษซึ่งไม่ค่อยมีคนเล่นเมื่อ 13
ปีที่แล้ว เมื่อเห็นแววดี รุ่งโรจน์จึงเปิดโอกาสให้เขาได้ทำอัลบั้มแรกในชีวิต

หนึ่งในซิงเกิลเปิดตัวคือเพลง
ฝืน
ฟังผ่านๆ ก็คล้ายเพลงรักผิดหวังทั่วไป เมื่อฟังทั้งอัลบั้มเพลงอย่าง อุบัติเหตุ,
ภาพชินตา, สิ่งเหล่านี้
การใช้คำและทำนองดนตรีบ่งบอกว่า
คนทำไม่ใช่วัยรุ่นคะนองรัก แต่เป็นหนุ่มใหญ่ที่สะสมความหลังจำนวนมาก

เจ้าของค่ายสมอลล์รูมบอกว่า
เนื้อเพลงของอภิชัยไม่ใช่แค่หม่นและดาร์ก แต่แฝงการมองโลกแบบกบฏอยู่ไม่น้อย

ในอัลบั้มสอง
ทิศทาง อภิชัยเล่าเรื่องความเปลี่ยนแปลง ความไม่มั่นคงในชีวิต
เนื้อเพลงทุกเพลงมาจากเหตุการณ์จริง เป็นเรื่องส่วนตัวของเขาเองและคนใกล้ตัว รัฐ
พิฆาตไพรี มือกีต้าร์วง Tattoo
Colour และโปรดิวเซอร์ที่ทำงานกับเขามานาน
บอกว่าเพลงและชีวิตของอภิชัยแยกกันไม่ออก

เพลงเป็นยังไง
ชีวิตเขาก็เป็นอย่างนั้น

วันที่คุยกัน
เขากำลังหมกตัวทำอัลบั้มใหม่ใช้ชื่อว่า The Journey Without Maps

เพื่อเสาะหาเรื่องเล่าใหม่ๆ
อภิชัยเดินทางไปอังกฤษ 4 เดือน
การกลับบ้านเก่าครั้งนี้เขาเจอทั้งสิ่งที่คุ้นเคยและแปลกใหม่
แต่ละวันหมดไปกับการแต่งเพลง ว่างก็เดินเท้าเที่ยวมิวเซียม
นึกครึ้มก็เอาจักรยานขึ้นรถไฟไปปั่นเล่นนอกเมือง

วันไหนโอกาสเหมาะ
เขาวางกีต้าร์ สวมรองเท้าออกไปถ่ายรูปคน เขาใช้ทั้งกล้องฟิล์มตัวเก่ง และแอพ Instagram จากกล้องมือถือ ของเล่นใหม่ที่ทำให้เขากลับมาถ่ายรูปเล่นอีกครั้ง
เขาเปรียบว่าการถ่ายภาพเหมือนการตกปลา กล้องจากมือถือทำให้เขาได้ปลาง่ายและไวขึ้น
สิ่งที่เขาเลือกบันทึกคือภาพการใช้ชีวิตของคนอังกฤษ

“เราเห็นความวุ่นวายและความหลากหลายของคนต่างเชื้อชาติมากขึ้น
มารยาทก็น้อยลง การยืนรอคิวรถเมล์แทบไม่มี แย่งกันขึ้นรถเมล์อย่างเมืองจีนเลย

“ชีวิตของคนบนรถไฟใต้ดินเหมือนปลากระป๋องที่ไม่มีน้ำซอส
แม้จะยืนเบียดกันมากแค่ไหน เราจะเห็นว่าทุกคนมีโลกส่วนตัว พยายามอยู่กับตัวเองมากที่สุด
การได้เห็นคนดำ คนขาว คนรัสเซีย คนเอเชีย มาอยู่ในที่เดียวกัน
มันเป็นภาพที่ตื่นตาตื่นใจมากสำหรับเรา”

อภิชัยเปิดเพลงเดโมที่ยังไม่มีชื่อให้ผมฟัง
2 เพลง ทั้งคู่เป็นเพลงช้า เสียงกีต้าร์ เปียโน
และเสียงร้องคอรัสกลมเกลียวเป็นหนึ่ง คุณภาพเสียงยังไม่ดีนัก
แต่พอฟังออกว่าเนื้อหาในเพลงเป็นการให้กำลังใจคนฟัง ปลอบประโลมจากความผิดหวัง
ด้วยท่าทีที่คลี่คลาย และสงบกว่าเดิม

ขอให้การพ่ายแพ้เป็นเพียงการเรียนรู้
ขอให้ความผิดหวังเป็นเครื่องเตือนว่าเรายังหายใจ

เนื้อเพลงท่อนนึงร้องอย่างนั้น

“การเจอสภาพแวดล้อมที่ต่างออกไปทำให้เราแต่งเพลงด้วยความคิดอีกแบบ
เท่าที่สังเกต มันมีคำว่า การเดินทาง การปล่อยวาง
และการให้กำลังใจคนซ่อนอยู่ในหลายเพลงโดยไม่ตั้งใจ
ซึ่งไม่ค่อยเกิดขึ้นกับเราเท่าไหร่” อภิชัยเล่า

“หนึ่งในเพลงที่ได้จากทริปคือ
จินตนาการน่ากลัวกว่าความเป็นจริงเสมอ คนที่ไม่เคยดำน้ำหรือนั่งรถไฟเหาะ
จะรู้สึกว่ามันน่ากลัวมาก แต่วันนึงที่เราได้ทำมัน เราอาจหลงรักมันด้วยซ้ำ
ทำไมไม่ปล่อยให้ความเป็นจริงสอนเราบ้าง
จงหย่อนตัวเราลงและมองความเป็นจริงที่เกิดขึ้นเถอะ

“อีกเพลงนึงชื่อว่า
ปล่อย มันเป็นเรื่องการคาดหวังคนคนนึงมากเกินไป
การที่คนคู่นึงได้อยู่ด้วยกัน สำหรับเรามันมีความสุขมาก
แต่คนที่อยู่กับเราอาจต้องการมากกว่านั้น เนื้อเพลงจะเล่า forward
ไปข้างหน้า ถึงวันที่ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปเพื่อบอกว่า
ถ้าเธอปล่อยความคาดหวังของเราลงในวันนั้น มันก็จะไม่มีวันนี้ วันที่ไม่มีเราอีกแล้ว
การอยู่ด้วยกันอย่างธรรมดา อาจยิ่งใหญ่มากสำหรับคนบางคนก็ได้”

เท่าที่คุยกันวันนี้
ผมสังเกตว่าเขามีความสุขมากขึ้น สิ่งนี้มีผลทำให้เพลงดูผ่อนคลาย
ถ้าอัลบั้มออกไปแน่นอนว่าต้องมีการเปรียบเทียบกับผลงานก่อนหน้า

ศิลปินที่ครวญเพลงหม่นไหม้
เต็มไปด้วยถ้อยคำโศกเศร้า คนฟังและสื่อมวลชนประทับตรา Greasy
Café ไว้แบบนั้น แต่มันก็ส่งผลลบตามมา
เพลงรักในแง่ร้ายที่เคยสร้างชื่อ กลับเป็นภูเขาที่กดบ่าจนอึดอัด

ความสุขอาจไม่ทรงพลังเท่าความทุกข์
แต่เมื่อมันเกิดขึ้นและทำให้ภายในสั่นไหว
อภิชัยเลือกกลั่นออกมาเป็นบทเพลงที่เรียบง่ายปลดปล่อยอย่างที่รู้สึก

“เราเคยอยากให้อัลบั้มสามมีอะไรใหม่
กลัวคนจะรู้สึกว่า มาอีกแล้วมุขนี้
แต่ก็เตือนตัวเองว่าต้องทำแบบที่เรารู้สึกและซื่อสัตย์ อย่าพยายามที่จะเป็นอะไรเลย

“การทำเพลงแต่ละอัลบั้ม
สำหรับเรามันคือการอัพเดทข้อมูลข่าวสาร ไม่ได้เจอกัน 2 ปี เราอาจเผลอคุยเรื่องเดิมนิดหน่อย
แต่มันต้องมีเรื่องใหม่ในชีวิต เราก็เล่าเรื่องที่เราเจอล่าสุดให้ฟัง
การที่เราตั้งโจทย์มากมันก็ไม่เป็นธรรมชาติ อย่าปักธงมากเลย
เอาธงออกให้หมดแล้วค่อยๆ เดินไปข้างหน้าดีกว่า”

“เวลาทำเพลงเราชอบสร้างบรรยากาศในเพลง
สร้างเสียงที่พาคนให้เข้าใจว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้น
เราชอบวิธีนี้เพราะทำให้คนรู้สึกได้โดยไม่ต้องพูดมาก
เหมือนเราดูหนังผีแล้วรู้สึกกลัว ในขณะที่ผียังไม่ออกมา”

(จากคอลัมน์ a day with a view – a day 145 กันยายน 2555)

ภาพ นวลตา วงศ์เจริญ

คลิกอ่านบทสัมภาษณ์ตอนอื่นๆ ได้ที่นี่
ตอนที่ 2
ตอนที่ 3
ตอนที่ 4

AUTHOR