“ทำไมทุกอย่างนี้ถึงเกิดขึ้นกับเรานะ” หล่อนถาม
“ตอนแรกเราก็คนดีๆ กันทั้งนั้น”
นี่เป็นคำถามหนึ่งจากตัวละครของเรื่อง ทุกคนไปไหนกันหมด
ผมหวังว่าจะมีคำตอบให้เธอ ผมหวังอย่างสุดใจว่าจะทำได้ หากคำตอบของผมจะช่วยเจือจางความขมปร่าภายในใจของเธอลงได้แม้เพียงนิด
แต่ผมก็ทำไม่ได้
สองคำถามข้างต้นดูจะเป็นคำถามที่ล่องลอยอ้อยอิ่งอยู่ระหว่างบรรทัดในเรื่องสั้นทุกเรื่องของ Beginners หรือ มือสมัครเล่น รวมเรื่องสั้นของเรย์มอนด์ คาร์เวอร์
เรย์มอนด์ คาร์เวอร์ คือนักเขียนที่ได้รับการยกย่องว่าสามารถตีแผ่ความพังทลายของชีวิตชนชั้นกลางในอเมริกาอย่างถึงแก่น ด้วยภาษาเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน ทว่าความเจ็บปวดที่ถูกฝังอยู่ในถ้อยพยางค์นั้นพร้อมจะแทรกซึมเข้าไปในจิตใจของผู้อ่าน แล้วแตกตัวออกเป็นความร้าวรานที่จะตกตะกอนอยู่ในความรู้สึกของผู้อ่านเนิ่นนาน
ตัวละครในเรื่องสั้นทุกเรื่องของ มือสมัครเล่น นั้นจะมีจุดร่วมหลักๆ ราวสองสามจุด
หนึ่ง พวกเขามาจากครอบครัวชนชั้นกลาง หรือเป็นคนหาเช้ากินค่ำ พวกเขาไม่ได้ขัดสนจนอาจเรียกได้ว่ากัดก้อนเกลือกิน พวกเขามีรถ พวกเขามีบ้าน พวกเขามีครอบครัว วันดีคืนดีพวกเขาก็ชักชวนเพื่อนๆ มาล้อมวงดื่มวิสกี้ จิน โทนิก หรืออะไรก็ตามแต่ที่พวกเขาอยากจะดื่ม
นั่นนำไปสู่จุดร่วมที่สอง นั่นคือตัวละครไม่ใครก็ใครในเรื่องจะต้องเป็นคนติดเหล้า มีปัญหากับการดื่ม เพราะการดื่มอาจเป็นทางเดียวที่ทำให้ความเจ็บปวดที่ซุกซ่อนแผดเผานั้นพอทุเลาไปได้อีกหนึ่งคืน เพื่อยืนหยัดไปต่อได้อีกหนึ่งวัน กับ ‘ชีวิตที่มีแต่เรื่องน่าเศร้าไม่ขาดสาย’ อย่างที่ตัวละครหนึ่งในเรื่องสั้นเรื่อง คำสุดท้าย ได้ให้คำนิยามชีวิตของตนเองเอาไว้
จุดร่วมสุดท้ายก็คือ พวกเขาล้วนมีปมปัญหาบางอย่างในชีวิต
พวกเขาล้วนเป็นคนที่เว้าแหว่ง มีความสัมพันธ์อันกระท่อนกระแท่น กับลูก กับคนรัก กับคนรอบข้าง พวกเขาแหนงหน่ายซึ่งกันและกัน ความรักเมื่อวานวันนั้นจืดจางไปหมดแล้ว เหมือนน้ำแข็งในแก้วเหล้าที่ไร้คนไยดี เมื่อถึงคราวต้องเปิดปากพูดก็พร้อมจะโบยตีทั้งตนเองและอีกฝ่ายด้วยถ้อยคำเชือดเฉือดประหัตประหารน้ำใจกัน และสุดท้ายแล้วมันก็นำไปสู่การกระทำที่ก่อให้เกิดแผลที่ไม่มีวันลบเลือน
ลักษณะนิสัยของตัวละครทั้งหมดนี้ได้รับอิทธิพลมาอย่างมหาศาลจากตัวของเรย์มอนด์เอง เขามาจากครอบครัวชนชั้นกลางหาเช้ากินค่ำที่ต้องทำงานหนัก แต่งงานตอนอายุ 19 ลูกสองตอนอายุ 20 เขาติดเหล้า นอกใจภรรยา ทำให้ชีวิตครอบครัวสั่นคลอน เรื่องสั้นส่วนใหญ่ของเขาจึงสะท้อนชีวิตของปุถุชนที่ไม่สมบูรณ์แบบและเว้าแหว่ง เหมือนกับตัวเขาเอง
เรื่องสั้นชุด Beginners ถูกเขียนขึ้นราวๆ ค.ศ. 1970-1980
มันเป็นช่วงเวลาที่แนวคิด American dream กำลังบานสะพรั่ง สามีภรรยาในบ้านหลังใหญ่มีลูกสาวและลูกชายรวมๆ กันราวครึ่งทีมฟุตบอล ในวันหยุด คุณแม่จะอบพายที่ส่งกลิ่นหอมอบอวลไปถึงบ้านอีกฝั่งถนน แล้วนำมาให้ลูกๆ ที่นั่งอยู่ในห้องนั่งเล่นและคุณสามีที่กำลังสูบซิการ์แล้วจิบวิสกี้อย่างสบายอารมณ์อยู่หน้าจอทีวีได้ทาน
ในขณะที่กินพาย ทั้งสองคนจะลอบมองลูกๆ ที่เติบโตขึ้นทุกๆ วันอย่างแสนรัก
แต่ความฝันเหล่านี้ไม่มีวันเป็นจริงในเรื่องสั้นของเรย์มอนด์ พวกเขาคืออีกด้านของความฝันที่ผู้คนแขยงขยาดที่จะพูดถึง พวกเขาคือคนที่ถูกความรุ่งโรจน์และความสุกสกาวของความฝันหักหลัง และตกลงมาระหว่างทางที่กำลังปีนขึ้นไปไขว่คว้ามัน พวกเขาแตกหัก ร้าวราน และที่สุดแล้วก็หมดแรงที่จะพยายามอีกต่อไป
พวกเขาไม่เคยคิดว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นกับตัวเอง ในวินาทีหนึ่ง ความเป็นไปได้ในทุกสิ่ง ความรักอันท่วมท้น อนาคตอันเจิดจ้าจนแทบจะต้องหยีตาเมื่อเพ่งมองนั้นแผ่กางชัดแจ้งอยู่ตรงหน้า ความสุขดูราวกับจะดำเนินไปชั่วนิรันดร์
ในอีกวินาทีหนึ่ง ทุกสิ่งพลันหายวับ
พวกเขาถูกผลักออกให้กลายเป็นเพียง ‘มือสมัครเล่น’ ในสนามชีวิต ที่ต้องใช้ชีวิตที่เหลืออยู่กับบาดแผล ความผิดหวัง ความสัมพันธ์ที่ความรักนั้นแห้งเหือดหมดสิ้น คนที่เคยรักในวันนั้นกลับกลายเป็นเพียงคนแปลกหน้าที่แทบจะกลายเป็นปรปักษ์ในวันนี้ และถูกตอกตรึงอยู่ในพื้นที่แคบๆ ที่เรียกว่าบ้าน ซึ่งเป็นสถานที่หลักในการดำเนินเรื่องในเรื่องสั้นแต่ละเรื่อง
บ้านที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นหมุดหมายและความฝัน วันนี้กลับกลายเป็นพันธนาการที่พวกเขาอยากจะหนีไป แต่ก็ทำไม่ได้ และที่สำคัญที่สุด พวกเขาต้องใช้ชีวิตที่เหลือกับคำถามที่ว่าทำไมชีวิตที่เฝ้าฝันถึงจึงพังทลายลงมา
พวกเขาทำอะไรผิดพลาดที่ตรงไหน และตอนไหนหรือ? แต่ก็เหมือนกับอีกหลายเรื่องในชีวิต ที่บางสิ่งก็เกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุผล หรือบางคำถาม แม้ต้องใช้เวลาชั่วชีวิตที่เหลืออยู่เราก็ไม่สามารถพบกับคำตอบนั้น
ด้วยความโดดเด่นในการใช้คำน้อย ทว่าเปี่ยมล้นด้วยความหมายและความรู้สึก งานชิ้นนี้ และงานอื่นๆ ของเรย์มอนด์จึงได้รับการขนานนามว่าเป็นงานเขียนแบบ minimalism จนเขาได้รับฉายาว่าเป็นเจ้าพ่อแห่งวรรณกรรม minimalism (ซึ่งเรย์มอนด์เกลียดฉายานี้มาก)
งานของเรย์มอนด์มักถูกนำมาอ้างอิงเคียงคู่กับงานของเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ (Ernest Hemingway) ในแง่ความเป็นงานเขียนแนว minimalism เหมือนกัน
หากงานของ เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ เป็นงานแบบ Less is More นั่นหมายถึงภายใต้ชุดคำเรียบง่ายและรูปประโยคที่เหมือนจะไม่มีอะไรนั้น กลับแฝงความหมายลึกซึ้งมหาศาลให้ต้องตีความ เราอาจบอกได้ว่างานของเรย์มอนด์นั้นเป็นงานประเภท Less is Less ไม่ได้หมายความว่างานเขียนของเขานั้นล่องลอยไร้แก่นสาร
แต่หมายถึงว่าเบื้องหลังความน้อยของคำและความว่างเปล่าของภาษานั้น ไม่มีอะไรมากไปกว่าความว่างเปล่าของชีวิต
ชีวิตที่ราวกับหลุมดำที่อัดแน่นด้วยเศษซากของความฝันและความพังทลาย
สิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งของรวมเรื่องสั้น Beginners ก็คือ ครั้งหนึ่งมันเคยมีชื่อว่า What We Talk About When We Talk About Love ซึ่งถูกตีพิมพ์ในปี 1981 แต่ What We Talk About When We Talk About Love นั้นถูกปรับแก้ไปเกินกว่าครึ่งด้วยฝีมือของ Gordon Lish ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้เรย์มอนด์อย่างมาก แต่มันก็ทำให้งานของเขาขายได้และส่งให้เขากลายเป็นบิดาแห่งเรื่องสั้นของยุค 70s-80s จนถึงทุกวันนี้
ทั้งนี้ทั้งนั้น หลังจากที่เขาเสียชีวิต Tess Gallagher ภรรยาหม้ายของเรย์มอนด์ก็ได้นำต้นฉบับที่ไม่ได้รับการตัดแต่งใดๆ มาตีพิมพ์อีกครั้งในปี 2009 ภายใต้ชื่อ Beginners จนได้รับการแปลไทยในชื่อ มือสมัครเล่น ภายในปีนี้นั่นเอง
สิ่งน่าสนใจก็คือ เมื่อครั้งที่งานชิ้นนี้ถูกเผยแพร่ออกไปและประสบความสำเร็จนั้น เราอาจพูดได้ไม่เต็มปากว่าเรากำลังอ่าน ‘เรย์มอนด์’ อยู่ หรือสิ่งที่คนได้อ่านในตอนนั้นแทบจะเป็นงานของกอร์ดอนอยู่รอมร่อ
แล้วถ้าเกิดในตอนนั้น รวมเรื่องสั้นชุดนี้ถูกเผยแพร่ไปโดยไม่ได้ถูกตัดแต่งเลยล่ะ มันจะยังประสบความสำเร็จอยู่ไหม หรืออาจกลายเป็นงานที่ถูกคนมองว่าเป็นงานจาก ‘มือสมัครเล่น’ ไปเลยก็ได้
จะเป็นอย่างนั้นหรือไม่ เราขอเชิญให้ลองหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา แล้วสัมผัสด้วยตัวคุณเอง
เมื่อถึงตอนนั้น ก็ขอยินดีต้อนรับสู่โลกแห่งความร้าวราน และความฝันอันพังทลาย