เพราะความเป็นมนุษย์ไม่สามารถอธิบายได้ในหนึ่งสมการ : ว่าด้วยความอิจฉาในวิชาฟิสิกส์

เพราะความเป็นมนุษย์ไม่สามารถอธิบายได้ในหนึ่งสมการ : ว่าด้วยความอิจฉาในวิชาฟิสิกส์

Highlights

  • Physics Envy คือความอิจฉาในฟิสิกส์ เพราะฟิสิกส์สามารถอธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติได้ด้วยสูตร สมการและตัวเลขอย่างหมดจด สรุปออกมาเป็นสมการอันสวยงาม
  • คำนี้ไม่ใช่คำใหม่ ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นมายาวนาน และถูกบัญญัติครั้งแรกโดยนักชีววิทยา Joel E. Cohen ในวารสารวิทยาศาสตร์ Science ปี 1971 ในบทความที่ชื่อว่า Physics envy is the curse of biology

สมัยประถมปลาย เมื่อผู้ใหญ่ถามเราว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร? (แม้จะเป็นคำถามที่ไม่ได้นำพาไปสู่อะไร เพราะเด็กประถมยังรู้จักอาชีพไม่มากพอ และไม่รู้เบื้องหลังของอาชีพนั้นๆ เราเคยตอบทุกคนอย่างมั่นใจว่าอยากเป็น ‘นักฟิสิกส์ทฤษฎี’ ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่าดูฉลาดดีเหมือนไอน์สไตน์ คำตอบนี้เกิดจากการเห็นภาพสมการยึกยือบนกระดานดำประกอบหนังสือชีวประวัตินักวิทยาศาสตร์เอก ยิ่งสร้างแรงบันดาลใจ แต่พอโตมาก็พบว่าเป็นอาชีพที่ยาก ยิ่งได้เรียนก็ยิ่งพบว่าเราไม่ถนัด ซับซ้อนชวนปวดหัวอย่างมาก จึงถูกพับเก็บไว้เป็นความฝันในวัยเด็ก

เวลาผ่านไป ยิ่งได้อ่านและติดตามความก้าวหน้าของสาขาวิชานี้ ยิ่งทำให้เรารู้สึกว่านี่คืออาชีพที่เท่เหลือเกิน ฉลาดที่สุด ด้วยสมองที่ปราดเปรื่องและปลายปากกาสามารถสร้างสมการเปลี่ยนแปลงโลกได้ นักฟิสิกส์สร้างทฤษฎี ทดสอบ ปฏิบัติ จนไขความลับของจักรวาลและอนุภาคอันซับซ้อนออกมาเป็นสมการที่งดงามราวพ่อมดร่ายมนตร์

 

ฟิสิกส์ : สมการอันสวยงาม วิทยาศาสตร์ที่แท้ และชนชั้นของวิทยาศาสตร์

นักฟิสิกส์สามารถสรุปความเป็นไปในธรรมชาติออกมาเป็นสูตรและสมการอันสะอาดสวยงาม อธิบายพฤติกรรมของสิ่งต่างๆ ที่เราได้เห็นสัมผัสไปจนขั้นโมเลกุล หรืออะตอม และใหญ่ไปจนถึงพฤติกรรมหลุมดำทั้งที่ตัวเองนั่งคิดไตร่ตรองเงียบเชียบอยู่บนโลก

ไม่ใช่แค่เราที่รู้สึกชื่นชมอิจฉานักฟิสิกส์ ความอิจฉาในวิชาฟิสิกส์นั้นแพร่ไปทุกวงการวิชาการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐศาสตร์ ภาษาศาสตร์ สังคมศาสตร์ จิตวิทยา ชีววิทยา ฯลฯ จนมีการบัญญัติคำว่า ‘Physics Envy’ มาอธิบายขยายความอิจฉาในฟิสิกส์นี้

Physics Envy คือความอิจฉาในฟิสิกส์ เพราะฟิสิกส์สามารถอธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติได้ด้วยสูตรสมการและตัวเลขอย่างหมดจด สรุปออกมาเป็นสมการอันสวยงาม และความอิจฉานี้ก่อให้เกิดความเชื่อว่าหากสิ่งใดมีสมการมากำกับอธิบายได้ สิ่งนั้นยิ่งดูเป็นวิทยาศาสตร์ หรือยิ่งดูเหมือนฟิสิกส์มากเท่าไหร่ยิ่งดูถูกต้องและน่าเชื่อถือมากเท่านั้น

คำนี้ไม่ใช่คำใหม่ที่เกิดขึ้น ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นมายาวนาน และถูกบัญญัติครั้งแรกโดยนักชีววิทยา Joel E. Cohen ในวารสารวิทยาศาสตร์ Science ปี 1971 ในบทความที่ชื่อว่า Physics envy is the curse of biology เขากล่าวว่าความอิจฉาในฟิสิกส์นี้เป็นคำสาปของชีววิทยา เพราะแม้นักชีววิทยาอธิบายโครงสร้างสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อนได้ แต่ก็ไม่อาจสรุปด้วยการเขียนเป็นสูตรสมการ เพราะสิ่งมีชีวิตมีความคลุมเครือ มีข้อยกเว้นมากมาย

ในซีรีส์ตลกเล่าชีวิตตัวละครวิทยาศาสตร์อย่าง The Big Bang Theory มี Dr. Sheldon Cooper ตัวเอกปากร้ายผู้เป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎีสุดอัจฉริยะ หลายสถานการณ์ในซีรีส์ เขาดูถูกนักวิทยาศาสตร์สาขาอื่นๆ ว่าไม่ใช่วิทยาศาสตร์ที่แท้จริง ศาสตร์แห่งฟิสิกส์มักถูกยกย่องให้เป็นวิทยาศาสตร์ที่สะอาดบริสุทธิ์ที่สุด เพราะสามารถคิดคำนวณปรากฏการณ์ธรรมชาติออกมาเป็นสูตรสมการที่สวยงามหมดจด ตัวอย่างเช่น ความสมมูลระหว่างมวล-พลังงาน หรือ E=mc2 ของไอน์สไตน์

ฉากที่ตัวละคร Sheldon Cooper ดูถูกว่า ‘ภูมิศาสตร์’ ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ที่ ’แท้จริง’ จากหนัง The Big Bang Theory

 

ความเป็นมนุษย์ยุ่งเหยิงไม่ชัดเจน การพยายามหาสมการอันสมบูรณ์มาอธิบายพฤติกรรมมนุษย์จึงอันตราย

“ลองคิดดูสิว่าฟิสิกส์จะยากขนาดไหน หากอนุภาคอิเล็กตรอนมีความรู้สึก!” – Richard Feynman กล่าวในพิธีจบการศึกษา Caltech

ไม่แปลกที่ทุกคนอิจฉาความสวยงามของฟิสิกส์ จากยุคโบราณสู่ปัจจุบัน ฟิสิกส์ประสบความสำเร็จอย่างมากในการอธิบายความจริงในธรรมชาติ ฟิสิกส์สามารถสรุป สร้างคำอธิบาย สร้างคำทำนายที่เป็นจริง ในเหตุการณ์และเวลาทางดาราศาสตร์ สร้างระเบิดนิวเคลียร์ และเครื่องมือต่างๆ แต่วิทยาศาสตร์อื่นๆ นั้นไม่ได้มีความจริงอันบริสุทธิ์ เช่น เรามีทฤษฎีวิวัฒนาการแต่ก็ยังไม่สามารถทำนายว่าจะมีสัตว์ประเภทใดในอนาคตได้เลย ศาสตร์ศึกษาพฤติกรรมความเป็นมนุษย์อย่างจิตวิทยายิ่งมีความซับซ้อนขึ้นไปอีก ไม่มีทางได้ผลสรุปที่เป็นสัจจะอันนิรันดร์เสมอ เพราะคนเปลี่ยนไปตามบริบท สภาพแวดล้อมและตัวแปรมากมาย ไม่สามารถเขียนสรุปออกมาเป็นสมการได้ ไม่สามารถตอบคำถามถูกผิดได้อย่างชัดเจน ผลลัพธ์เป็นเพียงสัดส่วนความน่าจะเป็น ข้อสังเกต ทฤษฎี และข้อเสนอแนะเท่านั้น

นักวิชาการสาขาอื่นๆ โดยเฉพาะนักเศรษฐศาสตร์ถูกล่อลวงโดยความสวยงามของฟิสิกส์ พวกเขาเชื่อว่าสูตรสมการทำให้งานศึกษาของเขาเป็นวิทยาศาตร์มากกว่า พวกเขาจึงชื่อว่ากลไกเศรษฐกิจนั้นมีสมดุลตามธรรมชาติ (เหมือนสสารและพลังงาน) ไม่ต้องมีการกำกับควบคุม การปล่อยให้เป็นไปอย่างเสรีนั้นดีที่สุด แต่แนวคิดนี้ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจนับครั้งไม่ถ้วน

Kevin A. Clarke และ David M. Primo จากมหาวิทยาลัย Rochester เขียนเตือนใจนักวิทยาศาสตร์ไว้ใน The New York Times ว่าความรู้สึกด้อยกว่านี้ไม่เป็นผลดีกับการวิจัยทางสังคมเลย หากเราอยากจะสร้างความรู้เกี่ยวกับการเมืองเศรษฐศาสตร์และสังคม พวกเขาต้องก้าวข้ามผ่านความอิจฉานี้ อย่ายอมลดทอนความซับซ้อนเพื่อสร้างสมการบางอย่าง หากสูตรไม่ได้อธิบายได้ดีกว่าก็ควรกลับมาโฟกัสในสิ่งที่พวกเขาทำได้ดี ด้วยวิธีการคิดอย่างลึกซึ้ง

Richard Feynman กล่าวในพิธีจบการศึกษา Caltech ว่า “ลองคิดดูสิว่าฟิสิกส์จะยากขนาดไหน หากอนุภาคอิเล็กตรอนมีความรู้สึก!” การคิดการค้นสมการขั้นสุดยอดอาจนำมาปรับใช้ยาก เพราะความเป็นมนุษย์และสังคมไม่มีถูกไม่มีผิด ในสาขาวิทยาศาสตร์ที่เป็น soft science อย่างเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมวิทยา หรือจิตวิทยา จึงอาจสรุปได้เพียงแนวโน้มหรือสัดส่วนเท่านั้น ไม่มีความจริงหรือความเท็จบริสุทธิ์

Penny ตัวละครหลักที่เป็นคนธรรมดาใน The Big Bang Theory ต้องถามว่า “แล้วภูมิศาสตร์ผิดอะไร?”

ใครๆ ก็อิจฉาเวทมนตร์แห่งฟิสิกส์ เราในฐานะคนทั่วไปที่สนใจและติดตามวิทยาศาสตร์ สงสัยมานานจากการดูซีรีส์ว่าทำไมบางสาขาวิชาถึงได้โดนล้อในหนังตลอด จึงตื่นเต้นที่ได้รู้ว่ามีความรู้สึกนี้อยู่ในวงวิชาการ แต่ทุกวงวิชาการมีความงามในแบบของสาขาวิชานั้นที่ไม่ควรใช้ฟิสิกส์เป็นตัวตัดสินและแบ่งชนชั้น

ในหนังสือว่าด้วยการอธิบายพฤติกรรมมนุษย์ผ่านชีววิทยาโดย Robert Sapolsky พบว่าความเป็นเรานั้นซับซ้อน และจำเป็นต้องซับซ้อนผ่านวิวัฒนาการหลายล้านปี อย่าถามว่าเราเกิดจากธรรมชาติหรือการเลี้ยงดู เพราะเราประกอบด้วยทั้งสองอย่าง อย่าถามว่ายีนนี้ทำอะไร แต่ต้องถามว่ายีนนี้ทำอะไรในบริบทไหน หากอยากจะเข้าใจความเชื่อทางการเมืองของใครสักคน อธิบายพฤติกรรมของใครสักคน ต่อให้เขาดูไม่ซับซ้อน มันก็ไม่เคยเป็นคำตอบที่เรียบง่าย

ความหมายของชีวิตไม่เคยเป็นแค่เลข 42 สามารถอธิบายทุกๆ สิ่งในจักรวาลได้เหมือนในมุกตลกในนิยายไซไฟ The Hitchhiker’s Guide to Galaxy ที่เขียนโดย Douglas Adams ที่เขากำหนดขึ้นมาขำๆ ผลสุดท้ายคือปัญหาของคำตอบที่สั้นเกินไปคือไม่มีใครเข้าใจอยู่ดี

ปรากฏการณ์ในชีวิตและสังคมซับซ้อนและยากจะอธิบายเสมอ เพราะความเป็นมนุษย์ ชีวิต และสังคม ไม่เคยสามารถอธิบายได้ด้วยสมการใดสมการเดียว เราอยู่ท่ามกลางบริบทที่มีผลต่อทุกสิ่งที่เราคิด รู้สึก และทำลงไป

จงก้าวผ่านความอิจฉาฟิสิกส์ และยอมรับเสียเถอะว่าความเป็นมนุษย์นั้นซับซ้อนและอธิบายได้ยาก จงยอมรับคำอธิบายอันไร้สูตรสำเร็จและเรียนรู้สมการอันไม่สะอาดของความเป็นเรา 🙂

 

อ้างอิง

42: THE ANSWER TO LIFE, THE UNIVERSE AND EVERYTHING

Lee Smolin: Physics Envy and Economic Theory

Overcoming ‘Physics Envy’

Physics envy is the curse of biology

WARNING: Physics Envy May Be Hazardous To Your Wealth!: Andrew W. Lo† and Mark T. Mueller

AUTHOR

ILLUSTRATOR

ploypuyik

ทำงานกราฟิก ชอบทำงานภาพประกอบ และจริงๆ แล้วชอบเล่าเรื่องด้วยค่ะ