พระเจ้าเกิดขึ้นเมื่อไหร่? เมื่อนักคิดทุกยุคสมัยต่างสงสัยที่มาของพระเจ้า

Highlights

  • เดิมที นักวิทยาศาสตร์และนักสังคมวิทยา เชื่อว่าแนวคิดเรื่องพระเจ้าในบริบทนี้เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยให้มนุษย์เรารวมกันเป็นกลุ่มใหญ่มหึมาและสามารถสร้างเมือง จนถึงสร้างระบบรัฐที่มีความซับซ้อนและบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเกินกว่าสิ่งมีชีวิตใดๆ จะทำได้
  • แต่งานวิจัยล่าสุด ในปี ค.ศ. 2019 ที่เพิ่งเผยแพร่ผ่านวารสาร Nature ซึ่งเป็นวารสารที่มีความน่าเชื่อถือสูงมาก กลับพบข้อเท็จจริงหนึ่งที่แตกต่างออกไป นั่นก็คือ แนวคิดเรื่องพระเจ้าไม่ได้เป็นปัจจัยที่ช่วยให้มนุษย์ทำงานเป็นกลุ่มก้อนได้ดี  เพราะเราทำงานเป็นกลุ่มก้อนได้ดีอยู่แล้ว พระเจ้าจึงเกิดขึ้น
  • ส่วนแนวคิดที่มีมาก่อนแนวคิดเรื่องพระเจ้าเป็นร้อยปีคือ พิธีกรรมทางความเชื่อที่ทำให้ทุกคนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มต่างหาก

นักคิดทุกยุคสมัย ต่างฉงนสงสัยอยู่ลึกๆ ว่า ‘พระเจ้ามีอยู่จริงหรือไม่?’

บ้างก็เชื่อถือศรัทธา บ้างก็หาหนทางปฏิเสธหักล้าง แต่โดยทั่วไป การวิเคราะห์เรื่องนี้มักเกิดขึ้นในขอบเขตของวิชาปรัชญาที่อาศัยตรรกะเป็นหลัก ส่วนการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบแล้ววิเคราะห์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์นั้นมีน้อยกว่ากันมาก

ความพิเศษสำคัญประการหนึ่งของเผ่าพันธุ์มนุษย์เราคือ การเข้าถึงสิ่งที่ไม่มีจริง

คำว่า ‘สิ่งที่ไม่มีจริง’ ในที่นี้หมายถึง สิ่งที่ไม่ใช่วัตถุหรือพลังงานในเอกภพ ที่ประสาทสัมผัสและอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์สามารถตรวจวัดได้

ความพิเศษนี้ทำให้เราสนุกไปกับตำนาน นิทาน และภาพยนตร์ ได้โดยที่เรารู้ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มีจริง

ที่สำคัญคือ มันทำให้เราจินตนาการถึงอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้นและวางแผนชีวิตได้ ซึ่งการนึกถึงอนาคตอาจทำให้มนุษย์คิดไปไกลถึงโลกหลังการมีชีวิตอยู่ ซึ่งไม่มีใครแน่ใจได้เลยว่าโลกใบนั้นมีอยู่จริงหรือไม่

คำว่า ‘พระเจ้า’ ที่จะกล่าวถึงต่อจากนี้จึงมีความหมายเน้นไปที่ผู้คอยตัดสินลงทัณฑ์ดวงวิญญาณที่ทำผิด (บาป) หรือส่งวิญญาณดีให้ไปสวรรค์ แน่นอนว่าในแต่ละความเชื่อ พระเจ้าผู้ทำหน้าที่นี้อาจมีเพียงองค์เดียว หรือหลายองค์ และอาจมีความแตกต่างกันไปในรายละเอียด

แต่โดยรวมแล้วมีหน้าที่ไม่ต่างกัน ซึ่งจะย้ำอีกครั้งว่า พระเจ้าในที่นี้คือ ผู้พิพากษาวิญญาณในโลกหลังความตายนั่นเอง

 

เดิมที นักวิทยาศาสตร์และนักสังคมวิทยา เชื่อว่าแนวคิดเรื่องพระเจ้าในบริบทนี้เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยให้มนุษย์เรารวมกันเป็นกลุ่มใหญ่มหึมาและสามารถสร้างเมือง จนถึงสร้างระบบรัฐที่มีความซับซ้อนและบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเกินกว่าสิ่งมีชีวิตใดๆ จะทำได้

ฝูงสัตว์นั้นจะใหญ่แค่ไหนก็ไม่สามารถรวมกลุ่มประสานกันจนเป็นระบบประเทศได้อย่างมนุษย์

หลายคนอาจมองไม่เห็นว่าพระเจ้าช่วยให้เราสร้างสังคมใหญ่โตได้อย่างไร

คำตอบที่แฝงไว้คือ กลุ่มมนุษย์ที่มารวมกันอยู่มากๆ มีแนวโน้มจะทำงานด้วยกัน ร่วมมือกันได้ ถ้ามีการลงโทษผู้ที่คดโกง หรือเอาเปรียบกลุ่มซึ่งกฎดังกล่าวแสดงออกมาในรูปของกฎหมาย แนวคิดเรื่องพระเจ้านั้นจะคอยช่วยกฎหมายสอดส่องการกระทำของเราอีกทอดหนึ่ง ในกรณีที่กฎหมายไม่ครอบคลุม หรือเมื่อเราไม่ได้อยู่ภายใต้การตรวจสอบของสังคม

แต่งานวิจัยล่าสุด ในปี ค.ศ. 2019 ที่เพิ่งเผยแพร่ผ่านวารสาร Nature ซึ่งเป็นวารสารที่มีความน่าเชื่อถือสูงมาก กลับพบข้อเท็จจริงหนึ่งที่แตกต่างออกไป

นักวิจัยจากหลายประเทศนำข้อมูลจาก Seshat: Global History Databank ซึ่งเป็นฐานข้อมูลทั้งในประวัติศาสตร์และก่อนประวัติศาสตร์มาวิเคราะห์เชิงสถิติ โดยปัจจุบันฐานข้อมูลดังกล่าวกระจายอยู่ในช่วงเวลา 10,000 ปี โดยมีคุณลักษณะเชิงสังคมของสังคมต่างๆ ถึง 500 สังคม

ข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์บ่งชี้ว่า แนวคิดเรื่องพระเจ้านั้นเกิดขึ้นหลังจากมนุษย์มีสังคมขนาดใหญ่โตและซับซ้อนแล้ว (คำว่าสังคมที่มีความซับซ้อนนั้นวัดได้จากจำนวนประชากร ความใหญ่โตของดินแดน ลักษณะของระบบรัฐ ฯลฯ)

พูดง่ายๆ คือ ตามงานวิจัยนี้ แนวคิดเรื่องพระเจ้าไม่ได้เป็นปัจจัยที่ช่วยให้มนุษย์ทำงานเป็นกลุ่มก้อนได้ดี เพราะเราทำงานเป็นกลุ่มก้อนได้ดีอยู่แล้ว พระเจ้าจึงเกิดขึ้น ส่วนแนวคิดที่มีมาก่อนแนวคิดเรื่องพระเจ้าเป็นร้อยปีคือ พิธีกรรมทางความเชื่อที่ทำให้ทุกคนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มต่างหาก

 

งานวิจัยนี้อาจยังไม่มีคำตอบชัดเจนว่าเหตุใดแนวคิดเรื่องพระเจ้าจึงถือกำเนิดขึ้น และเกิดขึ้นได้อย่างไร

แต่พลังของฐานข้อมูลการวิเคราะห์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์และคอมพิวเตอร์นั้นอาจเข้ามามีบทบาทต่องานวิจัยเรื่องนี้ และทำให้ในอนาคตมนุษย์เราเข้าถึงความจริงอันยิ่งใหญ่แห่งธรรมชาติ

ซึ่งนั่นอาจเป็นพระเจ้าที่แท้จริงก็เป็นได้

 

 

อ้างอิง

phys.org/news

nature.com

AUTHOR

ILLUSTRATOR

22mm.t

Illustrator with fun and colorful style.