พอก้าวเท้าเข้าร้าน Supermama ภาพสิงคโปร์ในหัวเราก็เปลี่ยนไปต่อหน้าต่อตา
ก็ใครจะไปคิดว่ามหานครใหญ่ที่เต็มไปด้วยตึกสูงเสียดฟ้า ห้างขนาดยักษ์ ผู้คนเดินกันขวักไขว่ในสูทเนี้ยบ และทุกอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยไปหมด จะมีมุมที่น่ารักได้ขนาดนี้!
Supermama คือร้านดีไซน์ช็อปบนถนน Beach Road ไม่ใกล้ไม่ไกลจากย่านบูกิสและมาริน่าเบย์อันโด่งดัง แต่แทนที่ร้านจะเต็มไปด้วยของฝากประเภทพวงกุญแจเมอร์ไลอ้อนหรือแม็กเน็ตลาย I ♥ Singapore ที่นี่กลับเป็นร้านแรกที่ขายงานดีไซน์แบบสิงคโปร์ ทั้งจานกระเบื้องแบบเปอรานากัน (ชาวพื้นเมืองมลายู-จีนในสิงคโปร์) ที่ผสมลายเมอร์ไลออนเข้าไปอย่างแนบเนียน masking tape ลายของใช้ในชีวิตประจำวันของชาวเมือง ไปจนถึงถุงเท้าลายขนมถุงคลาสสิกที่เด็กๆ สิงคโปร์รัก

“การสร้างวิธีสื่อสารเรื่องสิงคโปร์แบบใหม่ๆ คือสิ่งที่ผมชอบทำ” Edwin Low เจ้าของร้านบอกกับเราด้วยสายตาเป็นประกาย
“สิงคโปร์เป็นสังคมที่มีความหลากหลายด้านวัฒนธรรมมาก สินค้าของเราหลายชิ้นมาจากต่างประเทศ เช่น จากมาเลเซีย จีน อินโดนีเซีย แต่สิ่งที่ผมเชื่อคือเมื่อเราเริ่มเติบโตขึ้น เราก็จะเริ่มมีอัตลักษณ์เป็นของตัวเอง และอัตลักษณ์ของเราก็สามารถสื่อสารผ่านสิ่งของชิ้นเล็กๆ หรือดีไซน์รูปแบบใหม่ๆ ที่เราผลิตได้”

อาจฟังดูเป็นฝันที่ใหญ่กว่าร้านขนาดกะทัดรัดบนเกาะเล็กๆ แต่ 8 ปีผ่านไป Supermama กลายเป็นร้านที่คนรักงานดีไซน์ต้องแวะมาให้ได้ถ้ามาเที่ยวสิงคโปร์ เป็นร้านที่มีดีไซเนอร์สิงคโปร์ขอร่วมงานด้วยอย่างไม่ขาดสาย เคยทำงานร่วมกับ Walt Disney ออกมาเป็นจานลาย Star Wars ในแบบ Supermama ได้ขยายสาขาอีก 3 แห่งในประเทศ และเพิ่งเปิดอีกหนึ่งโชว์รูมในญี่ปุ่น
ที่สำคัญ พวกเขาทำให้งานดีไซน์แบบสิงคโปร์มีตัวตนขึ้นมา
ไม่ใช่ซูเปอร์พาวเวอร์ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ
ทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะความตั้งใจแบบซูเปอร์เท่านั้น

Super Beginning
“เราเริ่มต้นร้านนี้ประมาณ 8 ปีที่แล้ว ตอนนั้นผมเป็นครูด้านดีไซน์ในสิงคโปร์ ผมแต่งงานแล้ว และกำลังมีลูก ตอนนั้นผมอยากพักจากการทำงานเลยบอกภรรยาว่าเราพักจากการทำงานประจำได้ไหม และทำอะไรบางอย่างที่พวกเราชอบแทน เราเลยลาออกจากงานและเปิดร้าน Supermama แต่ทุกอย่างในสิงคโปร์แพงมากๆ เราเลยขายบ้านของพวกเรา และเปลี่ยนจากอพาร์ตเมนต์ 4 ห้องไปอยู่ในแฟลตที่มี 3 ห้องแทน
“ผมตั้งชื่อร้านว่า Supermama เพื่อภรรยา ผมรู้สึกว่าสำหรับผู้ชาย มันง่ายมากที่จะบอกว่า “มาเปิดร้านกันเลยพวก!” แต่คนเป็นภรรยามักจะคิดไปมากกว่านั้น ดังนั้นระหว่างที่ลูกเติบโตขึ้น ผมอยากให้พวกเขารู้ว่าร้านนี้เกิดขึ้นได้เพราะแม่ของพวกเขา”

“ช่วงสองปีแรกเรามักจะไปออกงานต่างประเทศเลยได้รู้จักเพื่อนมากมาย เมื่อพวกเขารู้ว่าผมมีร้านของตัวเองพวกเขาก็มักจะบอกว่า ‘เอ็ดวิน คุณขายของของผมที่ร้านของคุณได้ไหม’ ส่วนมากเพื่อนๆ ของผมเป็นคนญี่ปุ่น ช่วงนั้นเราจึงไม่ได้ขายงานดีไซน์สิงคโปร์ แต่ขายงานดีไซน์ดีๆ เช่น กระเป๋าจากญี่ปุ่นและที่อื่นๆ”
ช่วงขวบปีแรกคือช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุด เพราะแม้งานดีไซน์ที่คัดมาจากเพื่อนๆ บวกกับงานดีไซน์ของเอ็ดวินเองจะดีแค่ไหน แต่ย้อนกลับไป 8 ปีที่แล้ว สิงคโปร์มีร้านขายของดีไซน์น้อยระดับนับด้วยนิ้วมือข้างเดียวได้ ส่วนหน้าร้านก็เรียบง่ายจนคนไม่เข้าใจว่านี่คือร้านขายอะไรกันแน่ เมื่อรวมกับชื่อ Supermama ชาวสิงคโปร์ก็ถึงกับงงงวย

“ตอนที่เพิ่งเริ่ม แต่ละอาทิตย์มีคนเข้าร้านประมาณสิบคน มันแทบเป็นไปไม่ได้สำหรับการทำธุรกิจ เราจึงคิดว่าถ้าหนึ่งปีผ่านไปแล้วเราอยู่ไม่ได้ เราน่าจะต้องปิดร้านแล้วล่ะ แต่หลังจากหนึ่งปีผ่านไป เพื่อนก็บอกผมว่า แม้ว่าผมจะทำเงินจากร้านไม่ได้ก็จริง แต่ผมไม่ได้เสียเงินไปนะ ในการทำธุรกิจ ถ้าคุณไม่เสียเงินไปในปีแรกนั่นก็ดีมากแล้ว เขาเลยบอกให้ผมทำต่อ”
และในปีที่สองนี้เองที่เกิดการเปลี่ยนแปลง เมื่อ Singapore Art Museum ชอบร้านของพวกเขาและชวนให้ไปเปิดร้านในมิวเซียมอยู่ 3-4 ปี กระทั่งมิวเซียมรีโนเวตครั้งใหญ่ Supermama จึงโยกย้ายอีกครั้งมาอยู่ที่ร้านปัจจุบันที่เรายืนอยู่ตอนนี้
Super Singapore Stories
ถ้าคุณแวะไปที่ร้าน Supermama สิ่งแรกที่คุณจะเห็นเมื่อเปิดประตูเข้าไปคือชั้นวางของที่เต็มไปด้วยสินค้าบอกเล่าเรื่องราวของเกาะสิงคโปร์ ทั้งกาน้ำชาเซรามิกลายเปอรานากันที่โมเดิร์นขึ้นสิบเท่า ถุงเท้าลายขนมถุงก๊อบแก๊บ ตุ๊กตาดารุมะที่แปลงกายเป็นเมอร์ไลออน แต่ที่โดดเด่นดึงสายตาที่สุดคือจานกระเบื้องหลากหลายซีรีส์ ที่มองดีๆ ในนั้นล้วนมีชีวิตของชาวสิงคโปร์ซ่อนอยู่ทั้งสิ้น
เอ็ดวินเดินไปหยิบจานกระเบื้องลงมาหลายใบ และเล่าต่อว่าเมื่ออะไรๆ เหมือนจะดีขึ้น ในปีที่สาม พวกเขาจึงไม่หยุดอยู่แค่งานดีไซน์ดีๆ แต่เพิ่มแผนการสร้างงานดีไซน์แบบสิงคโปร์ดีๆ เข้าไปด้วย

“ตอนนั้นผมรู้สึกว่ามันไม่มีสินค้าที่ดูเป็นสิงคโปร์เลย มีแค่พวงกุญแจจากมาเลย์ แต่เพราะผมเป็นดีไซเนอร์ ผมคิดว่าเราน่าจะทำอะไรบางอย่างได้
“ผมบังเอิญรู้จักกับเมกเกอร์ชาวญี่ปุ่นซึ่งมอบงานดีไซน์บางชิ้นให้เอามาขายต่อ ผมเลยสังเกตว่าสีขาว-น้ำเงินในงานเซรามิกญี่ปุ่นมันดูคล้ายกับของใช้ที่เราเห็นในสิงคโปร์มาก เหมือนถ้วยชามกระเบื้องจากยุคราชวงศ์หมิง ผมเลยคิดว่าทำไมเราไม่ทำอะไรบางอย่างที่ดั้งเดิมแต่โมเดิร์นขึ้น
“ผมคิดว่าถ้าผมออกแบบสินค้าคนเดียวงานมันก็จะเป็นภาษาของผมไม่ใช่ภาษาของสิงคโปร์ ผมจึงคิดว่าผมควรมีดีไซน์ใหม่ๆ อย่างน้อยจะได้มีภาษาที่แตกต่างไป”

เพราะตั้งใจจะเล่าเรื่องสิงคโปร์ผ่านสายตาที่หลากหลาย เอ็ดวินจึงชักชวนดีไซเนอร์ 5 คน (3 คนเป็นลูกค้าของร้าน 1 คนเป็นเพื่อนร่วมชั้น และอีก 1 คนเป็นเด็กฝึกงาน) มาออกแบบสินค้ากัน แม้เขาจะรู้ว่ามันอาจขายไม่ออกก็ตาม
“ผมทำงานกับดีไซเนอร์ 5 คน ผมรู้ว่าบางที 2 หรือ 3 งานดีไซน์จากทั้งหมด 5 ชิ้นจะขายไม่ออก แต่ถ้าเราไม่ทำ ใครจะเป็นคนเล่าเรื่องราวเหล่านี้ล่ะ ผมเลยตัดสินใจว่าจะยังผลิตของที่ขายยากๆ อย่างน้อยเรื่องราวก็มีผืนผ้าใบ”
แต่แล้ว หนึ่งงานออกแบบซีรีส์ HDB Plate หรือจานกระเบื้องสีขาว-น้ำเงินลายแฟลต HDB ของรัฐบาล ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยหลักของประชากรสิงคโปร์ส่วนใหญ่ ก็เปลี่ยนอนาคตของ Supermama ไปตลอดกาล

“คนสิงคโปร์กว่า 80% อาศัยอยู่ในแฟลต HDB แต่ ณ ตอนที่เปิดร้าน สิงคโปร์ไม่เคยมีโปรดักต์ที่มีภาพ HDB เลย พอเราทำงานชิ้นนี้ออกมาคนสิงคโปร์จึงชอบมันมาก และถ้าคนท้องถิ่นรักมัน พวกเขาก็จะเล่าเรื่องนี้ให้เพื่อนจากต่างประเทศฟัง ผมคิดว่ามันก็เป็นวิธีที่ดีในการบอกต่อหรือเล่าเรื่องราวของสิงคโปร์”
นั่นอาจเป็นครั้งแรกที่ใครสักคนทำสินค้าแบบสิงคโปร์ออกมา–เอ็ดวินบอกเรา จึงไม่แปลกที่มันจะประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลาย พวกเขาชนะรางวัล President’s Design Award ในปี 2013 และต่อยอด HDB Plate สู่การร่วมกับดีไซเนอร์สิงคโปร์ออกแบบจานกระเบื้องซีรีส์อื่นๆ ที่ตั้งใจบอกเล่าเรื่องราวแบบสิงคโปร์เช่นกัน

Super 100 Icons
ท่ามกลางบรรดาจานหลากหลายซีรีส์ เราถามเอ็ดวินว่าชิ้นไหนคือชิ้นที่เขาชอบที่สุด
เขาไม่ตอบ แต่เดินไปหยิบจานกระเบื้องลายกราฟิกสีขาว-น้ำเงินใบใหญ่ลงมาจากชั้นแล้วยื่นให้เราดูแทน
“บนจานใบนี้ คุณจะเห็นสัญลักษณ์ 100 แบบ 100 เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับสิงคโปร์ และถ้าสังเกต จานนี้ในแต่ละปีจะแตกต่างกัน เพราะดีไซเนอร์จะเติมไอคอนใหม่ การพัฒนาใหม่ๆ ลงไป เช่น สนามบินชางงีกำลังจะมีคอมเพลกซ์แห่งใหม่ชื่อ Jewel Changi Airport เป็นรูปทรงโดม เดิมเรามีไอคอนรูปสนามบินชางงีอยู่แล้ว แต่เวอร์ชั่นใหม่ปี 2019 เราก็เติมโดมของ Jewel เข้าไปที่ไอคอนของชางงีด้วย นี่จึงเป็นงานที่มีความหมายที่สุดของพวกเราก็ว่าได้

“การจะใส่ไอคอนเพิ่มเราต้องเอาไอคอนเก่าออก มันเป็นขั้นตอนที่ยากมากและทำให้ผมนึกถึงสิงคโปร์ เพราะพื้นที่ของเราเล็กมาก บางครั้งเวลาจะสร้างตึกใหม่เราจะต้องทำลายตึกเก่าลงก่อน แต่เราจะตัดสินใจยังไง เราอาจจะพูดได้ว่าตึกนี้เก่าแล้วต้องทำลาย แต่คุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์ของมันล่ะ แค่ผมทำจานก็ยากแล้ว ลองนึกว่าคุณเป็นสถาปนิกที่ต้องออกแบบผังเมืองดูสิ การตัดสินใจที่คุณต้องเจอมันยากกว่าเสียอีก นี่ทำให้ผมรู้สึก appreciate สิงคโปร์มากขึ้น”

Super Singapore Values
ถึงจานกระเบื้องจะเป็นพระเอกของ Supermama ก็จริง แต่สินค้าอย่างอื่นที่เราเห็นก็เล่าเรื่องราวของสิงคโปร์ได้สนุกไม่แพ้กัน อย่างแก้วลายตัวหนังสือภาษาอังกฤษที่เราสงสัยว่าเอ็ดวินใช้มันเล่าเรื่องราวของบ้านเกิดอย่างไร
มันเป็นสิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้นในอนาคตมากกว่า–เขาว่าอย่างนั้น
“ถ้ามองอย่างละเอียดคุณจะเห็นว่าเราเขียนว่า A สำหรับ altruism (การเห็นแก่ผู้อื่น) B สำหรับ bravery (ความกล้าหาญ) C สำหรับ consistency (ความต่อเนื่อง มั่นคง) เรื่องราวเบื้องหลังคือผมขอให้ดีไซเนอร์สิงคโปร์ชื่อ Han Wai ออกแบบสินค้าอะไรก็ได้ในธีมการศึกษา เขาก็บอกว่าถ้าอย่างนั้นทำไมเราไม่ทำชาร์ตตัวอักษรล่ะ จากที่ปกติเราจะเห็นว่าตัวอักษรล้วนถูกแทนด้วยสิ่งของ เช่น A สำหรับ apple (แอปเปิล) B สำหรับ boy (เด็กชาย) C สำหรับ cat (แมว) แต่พอเป็นเรื่องของการศึกษา เราน่าจะพูดถึงคุณค่ากันก่อน ดังนั้นเขาจึงแทนที่ตัวอักษรด้วยคุณค่าที่เด็กๆ ควรจะมีเมื่อพวกเขาโตขึ้น”

Super Japanese Crafts
ไม่เพียงสินค้าชุด 100 Icons ที่ขายหมดอยู่ตลอดเวลา แต่สินค้าซีรีส์อื่นก็มาไวไปไว นั่นเพราะพวกเขาผลิตแค่ล็อตละ 300 ชิ้น ด้วยเมกเกอร์ชั้นเยี่ยมจากญี่ปุ่น คนที่ช่วงชิงสินค้า 1 ใน 300 ชิ้นได้จึงภูมิใจได้เลยว่าพวกเขาได้งานที่ดีที่สุดไป
“สิงคโปร์มีงานดีไซน์สวยๆ เยอะมาก เรามีมาร์เกตติ้งที่แข็งแรง แต่ในแง่ของงานคราฟต์และการผลิตเราไม่แข็งแรงนัก อาจเป็นเพราะประวัติศาสตร์ของเราย้อนไปไม่ไกลพอและประเทศของเราก็เล็กเกินกว่าจะผลิตของเอง ผมจึงคิดว่ามันเป็นเรื่องดีที่จะร่วมงานกัน คุณก็จะได้งานไอเดียใหม่ๆ ดีไซน์ใหม่ๆ แต่เทคนิคดั้งเดิม”
และนอกจากสินค้าสิงคโปร์ดีไซน์ที่ทำโดยชาวญี่ปุ่นแล้ว Supermama ยังมีโซนขายงานดีไซน์ดีๆ จากเมกเกอร์ญี่ปุ่นที่เขาไปเจอมาโดยเฉพาะอีกด้วย

“ครั้งหนึ่ง ดีไซเนอร์ญี่ปุ่นชื่อ Oki Sato มาดูนิทรรศการสินค้าของผมและบอกผมว่า “งานกระเบื้องชิ้นนี้มีความเป็นญี่ปุ่นมากๆ แต่มันก็ดูไม่เป็นงานแบบญี่ปุ่นเอาเสียเลย” งานของผมก็เป็นแบบนั้นแหละ คือมันมีความเป็นญี่ปุ่นพอๆ กับที่มันไม่เป็นญี่ปุ่นนั่นแหละ มันดูมีความจีน แต่มันก็ไม่ใช่งานจีน ผมคิดว่านั่นคือความเป็นสิงคโปร์ที่มักหยิบยืมบางอย่างจากประเทศรอบข้าง แล้วพยายามจะสร้างอะไรใหม่ๆ คุณจะเห็นได้จากอาหารของเรา หรือแม้กระทั่งภาษาที่เราพูด ทำไมเราจะเห็นอัตลักษณ์นี้ผ่านงานดีไซน์ไม่ได้ล่ะ
“ทุกครั้งที่ไปญี่ปุ่นผมไปเพื่อไปเจอเมกเกอร์ใหม่ๆ เพื่อหาความเป็นไปได้ในการทำโปรดักต์ใหม่ๆ ที่ผ่านมาโฟกัสของเราอยู่ที่การทำของขวัญ แต่ปีนี้โฟกัสใหม่ของเราคือบ้าน เราใช้อะไรที่บ้านได้บ้าง แก้วแบบสิงคโปร์เป็นยังไง ความเป็นแก้วเป็นยังไง เราไม่จำเป็นจะต้องเรียกมันว่าแก้วแบบสิงคโปร์ก็ได้ แค่แก้วธรรมดาๆ นี่แหละ เสื้อแบบธรรมดา สิ่งของธรรมดาๆ”

‘สิ่งของธรรมดาๆ’ เราทวนคำในใจ พร้อมคิดว่าอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เราอาจจะต้องบินมาสิงคโปร์เพื่อดูมุมมองสิงคโปร์แบบธรรมดาๆ อีกครั้งแล้วสิ
และถ้าไม่ขัดข้อง เราอยากลองชวนคุณบินไปเยี่ยมร้าน Supermama สักครั้งเช่นกัน

Facebook | Supermama Store
Openig Hours | เปิดทุกวัน เวลา 11.00-20.00 น.
ภาพ Supermama Store