ฟอหอกอดอเอกอาสอวอ : ความโรแมนติกของพิมพ์ดีด และความน่าจะเป็นของการเป็นนักเขียน

ในบรรดาคำตอบเรื่องความฝันวัยเด็ก “หนูอยากเป็นนักเขียน” ดูจะเป็นคำตอบที่เข้าท่าที่สุดสำหรับฉัน แต่พอมานั่งนึกย้อนไปจริงๆ จังๆ ฉันกลับไม่เคยบอกความฝันนี้กับใครเพียงเพราะฉันวาดรูปพิมพ์ดีดไม่เป็น – ก็ในตอนนั้น ฉันมีโอกาสพูดเรื่องความฝันได้ในผลงานวาดรูปส่งประกวดเท่านั้นนี่

น่าจะเป็นการแอบอ่านนิยายของแม่สักเรื่องหรือดูละครสักตอนที่ว่าด้วยนางเอกน่ารักผู้ใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักเขียน เธอมีพิมพ์ดีดกระเป๋าและตะกร้าหวายที่ใส่อุปกรณ์ปิกนิกออกไปปูเสื่อกลางทุ่งหญ้าแล้วลงมือพิมพ์ต้นฉบับไปพร้อมๆ กับการพูดคนเดียว ความคลิเช่เต็มขั้นคือตอนที่เธอดึงกระดาษออกมาจากเครื่องพิมพ์ดีด แล้วขยำยู่ยี่เพราะยังไม่ชอบใจในผลงาน ก่อนจะทะเลาะกับตัวเองสักพักแล้วฮึดเขียนแผ่นใหม่

และ ‘พิมพ์ดีด’ ดูจะเป็นไอเทมสำคัญของความฝันนี้มากกว่าการเล่าเรื่องอะไรบางอย่างออกมาด้วยซ้ำ

หากจะเข้าข้างตัวเอง ฉันเด็กเกินกว่าจะรู้ว่านักเขียนคืออะไรจึงยึดโยงมันไว้กับเจ้าเครื่องเสียงต๊อกแต๊กนี่เท่านั้น ซึ่งทำให้เวลาตามแม่ไปที่ทำงาน ฉันจะไปเลียบๆ เคียงๆ ที่เครื่องพิมพ์ดีดตัวใหญ่โต แอบกดแป้นพิมพ์เบาๆ ไม่ให้ออกเสียง ตื่นเต้นดีใจหากวันไหนแม่ลองใส่กระดาษให้ลองพิมพ์ (ด้วยข้อแม้ว่าห้ามพิมพ์เกินสองบรรทัด เพราะแม่ชักเริ่มรำคาญเสียง) ในวัยประถม

ฉันอยากบอกแม่ว่าฉันไม่อยากได้จักรยานหรือซาวนด์อะเบาต์เป็นของขวัญวันเกิดสักหน่อย ฉันขอเครื่องพิมพ์ดีดได้ไหม แต่ไม่รู้ว่าทำไมถึงไม่ได้พูดออกไปสักที

จนกระทั่งขึ้น ม.3 ฉันรวบรวมความกล้าก่อนจะบอกแม่ว่า “ขอไปเรียนพิมพ์ดีดได้ไหม” จำได้ว่ายกเหตุผลมากมายที่อ้างการเรียนและอนาคตสดใส (และไม่เกี่ยวอะไรกับการอยากเป็นนักเขียน) นึกย้อนไปก็เป็นเหตุผลที่ไม่ค่อยเข้าท่าเพราะไม่ได้อยากเรียนสายพาณิชย์ที่ต้องใช้พิมพ์ดีด แต่แม่ก็อนุญาตให้กำเงินหลักพันไปสมัครเรียนที่โรงเรียนสดุดีพิมพ์ดีดที่ย่านพระประแดงพร้อมกับเพื่อนอีกคนที่อยากเรียนเพื่อไปสอบเข้าโรงเรียนสายพาณิชย์จริงๆ

จำได้ว่าตอนนั้นฉันตื่นเต้นเหลือเกินเมื่อคุณครูที่ยืนอยู่ท่ามกลางเครื่องพิมพ์ดีดเรียงรายค่อยๆ บอกเราถึงวิธีการวางนิ้วทั้งสิบลงไปบนแป้นพิมพ์อย่างถูกต้อง นิ้วไหนรับหน้าที่ในขอบเขตใดบ้าง จากนั้นก็ให้เรานั่งพิมพ์ ฟ ห ก ด ่ า ส ว อยู่สองวันจนนิ้วก้อยแข็งแกร่ง และนิ้วนางไม่ลื่นไถลตกลงไปในช่องว่างระหว่างแป้นพิมพ์ ก่อนจะค่อยๆ พิมพ์ชุดคำที่ถูกออกแบบมาแล้วว่าได้ฝึกนิ้วต่างๆ ให้ชำนาญโดยไม่ต้องมองแป้นพิมพ์

ในตอนนั้นฉันชอบพิมพ์คำว่า ‘ความสามารถ’ และ ‘ความน่าจะเป็น’ มากๆ เวลาครูบอกให้พิมพ์อะไรเล่นก็ได้ฉันมักจะพิมพ์สองคำนี้ซ้ำๆ เพราะมันเป็นคำที่ฉันพิมพ์ได้รวดเร็วเป็นพิเศษ และรู้สึกว่าตัวเองมีความสามารถและความน่าจะเป็นนักเขียนได้เมื่อสามารถพิมพ์สัมผัสได้อย่างชำนาญ เมื่อได้รับใบประกาศนียบัตรว่าฉันสามารถพิมพ์ดีดได้ด้วยความเร็ว 250 คำต่อนาที ก็นับเป็นครั้งแรกในชีวิตของเด็กที่ว่ายน้ำไม่เป็น ขี่จักรยานไม่คล่อง ไม่สามารถขี่มอเตอร์ไซค์หรือมีแววว่าจะขับรถยนต์ได้ รู้สึกว่าตัวเองเรียนรู้ทักษะอะไรสำเร็จสักอย่างหนึ่ง

แต่หลังจากเรียนจบ ฉันก็ไม่เคยได้ใช้พิมพ์ดีดพิมพ์ต้นฉบับอะไรเลย

เมื่อต้นปีฉันถูกชักชวนให้ร่วมกิจกรรมน่ารักในงาน LIT Fest ที่มิวเซียมสยาม ท่ามกลางบรรยากาศน่ารักของวงการหนังสือ มีกิจกรรม LIT Poetry ให้นักอ่านมาเล่าเรื่องราวบางอย่างให้นักเขียนพิมพ์บทกวีสั้นๆ สดๆ มอบให้โดยมีพิมพ์ดีดเป็นเครื่องมือ ฉันตอบรับโดยไม่ทันคิดกลัวเพราะลิงโลดใจที่จะได้ใช้พิมพ์ดีดเขียนต้นฉบับอย่างที่ฝันไว้ตอนเด็กเท่านั้นเอง

แต่เมื่อถึงเวลาประจำการ แถวยาวเหยียดของนักอ่านทำฉันหวั่นวิตก หลังจากใช้เวลาน้อยนิดเก้ๆ กังๆ กับการทำความรู้จักพิมพ์ดีดสีเหลืองตรงหน้าไปพร้อมๆ กับการตั้งใจฟังเรื่องราวของนักอ่านแปลกหน้า และคิดถ้อยคำบางอย่างให้พรั่งพรูไปในเวลาเดียวกัน ฉันก็สติกระเจิงไปกับการพิมพ์ถิดพิมพ์ผูก อยากดึงกระดาษออกมาขยำทิ้งแล้วพิมพ์ใหม่เหมือนในภาพฝัน และต้องขอโทษทุกคนที่บทกวีฉับพลันนี้ต้องถูกวงแก้คำผิดก่อนส่งให้ เพราะรู้สึกเสียดายที่ฉันควรส่งมอบบทกวีสละสลวย สะอาดสะอ้าน ให้สมกับเรื่องเล่าของหนุ่มนักผจญภัยที่ขี่มอเตอร์ไซค์เที่ยวลำพัง หญิงสาวที่มีความสุขกับความสัมพันธ์ที่ขออย่าให้ฉันตัดสิน ความบังเอิญของชายหนุ่มผู้ชอบเพลงแจ๊สได้ยินเพลงโปรดที่ถูกเล่นในงานและขอให้ฉันบันทึกเหตุการณ์นี้ลงไป และผู้ป่วยที่เพิ่งผ่านพ้นจากโรคหวาดผวาและค้นพบว่าโลกนี้สุขเพียงใด

มันไม่ง่ายเหมือนพิมพ์ต้นฉบับผ่านคีย์บอร์ดของคอมพิวเตอร์แฮะ

เวลาสั้นๆ ที่ได้พรมนิ้วลงบนแป้นพิมพ์ดีดทำให้ฉันคิดถึงต้นฉบับแสนเลอค่าที่จะถูกส่งมายังกองบรรณาธิการนิตยสาร a day ในยุคที่ฉันยังทำงานอยู่ (และเขียนต้นฉบับด้วยคีย์บอร์ดและโปรแกรมคอมพิวเตอร์) มันเป็นต้นฉบับคอลัมน์เดียวที่ถูกส่งมาทางไปรษณีย์ พิมพ์ด้วยพิมพ์ดีด มีร่องรอยหนักเบาของนิ้วมือ และสะอาดสะอ้าน เจ้าของต้นฉบับคือ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ในตอนนั้นเราก็เพียงตื่นเต้นใจ แต่เมื่อมีโอกาสได้ขึ้นไปเยี่ยมสวนทูนอินที่ยังเก็บบรรยากาศห้องทำงานไว้ ได้ฟังวิธีการทำงานของนักเขียนใหญ่ว่าต้องขัดเกลาต้นฉบับซ้ำแล้วซ้ำเล่า ร่องรอยปากกาที่วงไว้ก่อนจะพิมพ์ขึ้นมาใหม่ ก็ยิ่งรู้สึกถึงกระบวนการทำงานที่ไม่อาจละเลยหรือหย่อนยานได้

พิมพ์ดีดจึงไม่ใช่ความโรแมนติกของนักเขียนสำหรับฉันอีกต่อไป

แต่ความฝันที่อยากจะเป็นนักเขียนของฉันยังคงอยู่และเข้มข้นขึ้นมากทีเดียว

AUTHOR

ILLUSTRATOR

กาแฟดำไม่เผ็ด

เป็นคนวาดภาพประกอบ เขียนคอลัมน์ เขียนหนังสือสำหรับเด็ก เจ้าของเพจกาแฟดำไม่เผ็ด และ Milo and Me ชอบเดินทาง แต่ก็ชอบอยู่บ้าน ชอบทำอาหาร ชอบดูนก ชอบวาดรูปและเล่าเรื่อง ชอบชีวิต…