Papaya Studio โกดังขายของที่ไม่มีอะไรใหม่ ทุกอย่างเก่าหมด

ในซอยลาดพร้าว 55/2 เรายืนอยู่หน้าทางเข้าเล็กๆ ที่ไม่มีประตูกั้น

Papaya คือชื่อของร้านนี้ หากเดินผ่านมาแบบไม่ได้ตั้งใจ เราคงจินตนาการไม่ออกว่าทางเข้าขนาดน่ารักที่ชวนให้เราเดินขึ้นบันไดไปนั้น จะนำไปสู่โกดังของเก่าที่มีพื้นที่รวมแล้วมากกว่า 4,000 ตารางเมตร

เมื่อเดินต่อไปยังด้านใน แม้อากาศจะอบอ้าวอยู่สักหน่อยเพราะที่นี่ไม่ใช้เครื่องปรับอากาศ แต่ความน่าตื่นตาตื่นใจทำให้เราลืมร้อน เพราะไม่ว่าจะมองไปทางซ้าย ขวา เงยหน้า ก้มลงมอง สายตาเราก็จะปะทะเข้ากับข้าวของที่จัดแสดงอยู่เสมอ ไม่ว่าจะหาซื้ออะไร ที่นี่มีขายสารพัด ไม่ว่าจะช้อนส้อมสังกะสี แจกันจีนลายมังกร โทรศัพท์ย้อนยุค เครื่องพิมพ์ดีด โคมไฟห้องผ่าตัด อาร์มแชร์จากศตวรรษที่ 19 ตู้เพลงหยอดเหรียญ หุ่นจาร์จาร์บิงส์ไซส์เท่าคนจริง หรือแม้แต่ปืนใหญ่ แถมราคาขายก็มีตั้งแต่ 30 บาท ไปจนถึงหลักล้าน หากเดินดูแล้วสนใจของชิ้นไหนก็ให้ถ่ายรูปเอาไว้แล้วเดินมาสอบถามราคา ติดต่อซื้อที่พนักงาน หรือถามพี่สมหญิง ปัญจานนท์ เจ้าของร้านอีกที

เราเดินไปตามทางเดินเล็กๆ ซึ่งลัดเลาะพาเราไปสำรวจสินค้าหมวดหมู่ต่างๆ ได้สักพัก ก็พบกับเอเทรียมหรือพื้นที่เปิดโล่งขนาดใหญ่ตรงกลางโกดัง ที่เผยให้เห็นว่าที่นี่มีทั้งหมด 3 ชั้น ซึ่งในชั้นที่สองถูกแบ่งย่อยออกเป็นสเปซเล็กๆ มีห้องหับแอบซ่อนอยู่ชวนให้ค้นพบ ส่วนชั้นสามจะคล้ายๆ กัน แต่มีพื้นที่เปิดโล่งมากกว่า และบางส่วนถูกแบ่งไปเป็นห้องสตูดิโอให้เช่าสำหรับถ่ายภาพ

พี่สมหญิงเล่าให้เราฟังว่าโกดัง Papaya แห่งนี้เริ่มขึ้นมาจากความที่ พี่ต๋อง–สุพจน์ ศิริพรเลิศกุล สามีของเธอหลงใหลในการสะสมของเก่ามาตั้งแต่สมัยยังเป็นนักเรียนสถาปัตย์ และเมื่อมีของสะสมเยอะมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จำเป็นต้องหันมาค้าขาย เพราะไม่งั้นจะไม่มีที่เก็บของ

“ไม่ได้จะเริ่มทำเป็นธุรกิจเลย คนทำธุรกิจเขาไม่สต็อกของเยอะขนาดนี้หรอก คนอื่นไม่กล้าทำ แต่สามีพี่ถ้าชอบก็จะซื้อ เงินในกระเป๋าไม่มีก็ซื้อ แล้วค่อยควานหาว่าจะเอาเงินที่ไหนจ่าย แค่นี้เลย”

ตอนเริ่มต้น Papaya เปิดร้านอยู่ที่ราชดำริ แล้วค่อยย้ายมาที่ลาดพร้าวเพราะต้องการขยับขยาย และปักหลักอยู่มาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว โดยตัวโกดังแห่งนี้เคยเป็นโรงฉายภาพยนตร์เก่าที่พี่ต๋องจัดการรีโนเวตเสียใหม่ เหล่าห้องหับหรือตรอกซอกซอยที่เดินสนุกจนเราติดใจนั้นก็เป็นการออกแบบที่คิดมาแล้ว

ส่วนการจัดสินค้าว่าจะวางอะไรตรงไหนนั้น เป็นผลงานของพี่สมหญิง

“เขาซื้อมาแบบไม่จัดเลย ถมเข้าไป ซึ่งสมัยก่อนพวกสถาปนิก ดีไซเนอร์จะชอบมาคุ้ยหากัน แต่ตอนนี้ตลาดกว้างขึ้น มีคนทั่วไปสนใจหันมาเล่นของเก่ากันมากขึ้น เราพยายามจัดดิสเพลย์ให้คนเห็น วางให้เป็นหมวดหมู่ แมตช์เฟอร์นิเจอร์ให้พอดีกับสเปซ ไม่แน่นจนเกินไป จัดเซตโต๊ะเก้าอี้ที่ดูเข้ากัน แก้ว ขวด เราก็มาจัดเอง บางทีมันไม่ใช่เซตของมัน แต่เขามาเห็นก็เอาทั้งหมดเพราะชอบ” เธอเล่าให้ฟัง และการจัดเองกับมือทุกชิ้นนี่เองที่ทำให้พี่สมหญิงจำสินค้าได้ทุกชิ้นในร้าน

ในทุกๆ ปี พี่สมหญิงและครอบครัวจะเดินทางไปยุโรป และไปขับรถตระเวนซื้อของเก่า ด้วยความที่พี่ต๋องอยู่ในวงการแลกเปลี่ยนตามหาของเก่ามาเป็นเวลาถึง 40 ปี เขาจึงมีเครือข่ายที่แข็งแรงและรู้จักแหล่งของเก่าที่ไม่ใช่แค่ตลาดนัด สินค้าที่ได้มีทั้งงานดีไซน์ตะวันตกไปจนถึงเครื่องเรือนจีนที่ถูกส่งออกไปยังยุโรปในอดีต

“ของจากเมืองไทยก็มี ส่วนใหญ่เป็นของบ้านเก่าๆ เพราะไม่มีใครนั่งค้น นั่งรื้อหรอกว่าในบ้านเก่ามีอะไรบ้าง ส่วนใหญ่จะจ้างเขารื้อ คนที่รื้อเขารู้ว่าพี่ต๋องชอบเล่นก็เอามาเสนอ อย่างประตูทางเข้าฝั่งโน้นก็ได้มาจากเยาวราช เป็นประตูที่ใหญ่สูงมาก และเป็นตู้โชว์ด้วย เวลาเขาย้ายบ้านไปแล้วไปปลูกบ้านโมเดิร์นเขาก็ไม่รู้จะเก็บไว้ทำไม เก็บไว้อีกกี่ปีจะได้ใช้ก็ไม่รู้ ทำบ้านโมเดิร์น จะเอางานไม้หรือตั่งจีนเก่าๆ ก็ไม่เข้ากัน คนไม่มีที่เก็บก็ต้องขาย” พี่สมหญิงอธิบาย ก่อนจะเสริมขึ้นมา

“ข้อดีอย่างนึงคือ มันไม่ dead stock ของบางชิ้นอยู่กับเรามา 30-40 ปี อยู่ดีๆ คนก็มากรี๊ดว่าตามหาของชิ้นนี้นานมาก แล้วก็ซื้อกลับไป ของทุกอย่างที่นี่ไม่ต้องทิ้ง คนนี้อาจจะไม่ชอบ มองว่าเป็นขยะ แต่กับอีกคนหนึ่ง มันเป็นของที่เขามองหา”

พี่สมหญิงตอบไม่ได้เมื่อเราถามว่าสินค้าที่ขายดีที่สุดของที่นี่คืออะไร เพราะสินค้ามีความหลากหลายสูงและก็คาดเดาความต้องการลูกค้าไม่ได้ เธอเล่าว่าไม่นานนี้เพิ่งมีคนมาซื้อก๊อกอ่างล้างมือและโถชักโครกไปกว่า 20-30 ชุด เพื่อนำไปทำโรงแรม

สิบปีเป็นเวลาที่ยาวนาน หลายสิ่งในร้าน Papaya จึงเปลี่ยนไปจากในช่วงแรก หนึ่งในนั้นคือช่องทางของรายได้หลัก พี่สมหญิงเล่าว่าเดิมทีรายได้หลักของร้านมาจากการเปิดสตูดิโอถ่ายภาพให้เช่า เพราะ Papaya Studio มีจุดเด่นที่มีสารพัดพร็อพภายในร้านให้เลือกเช่าเลือกใช้ แต่เมื่อเทคโนโลยีเริ่มพัฒนาและการถ่าย green screen สำหรับตัดต่อเปลี่ยนพื้นหลังสามารถทำได้ง่ายขึ้น คนก็ใช้บริการสตูดิโอถ่ายภาพน้อยลง แต่การเปลี่ยนแปลงก็นำมาซึ่งโอกาสใหม่ๆ เช่นกัน เพราะเมื่อตั๋วเครื่องบินถูกลงและโซเชียลมีเดียเริ่มบูม ก็มีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวโพสต์ภาพที่ถ่ายในร้านและเขียนรีวิวแนะนำ จนกลายเป็นว่าในปัจจุบันลูกค้า 80-90 เปอร์เซ็นต์ของที่นี่เป็นชาวต่างชาติที่ใช้บริการส่งข้ามประเทศด้วยตู้คอนเทนเนอร์ และในบางวันก็มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลมาถึง 200 คนเลยทีเดียว ไม่นานมานี้จึงมีการเปิดโซนคาเฟ่เพิ่มสำหรับขายอาหารและเครื่องดื่มสำหรับผู้มาเยือน

“คาเฟ่นี่เพิ่งเปิดสดๆ ร้อนๆ เลย เกิดจากการที่เรามีลูกค้าเยอะมากแล้วมันก็ร้อน เดินไปตลาดโชคชัย 4 กันเป็นแถวเพราะจะไปซื้อน้ำ เดินถูกเดินผิดบ้าง ซื้อไม่เป็นบ้าง เราเลยจัดพื้นที่เป็นที่นั่งแล้วเริ่มขายน้ำ ขายของกิน คนหิ้วลูกเด็กเล็กแดงมา หรือบางทีคนแก่มาก็จะได้มีที่นั่ง” หญิงผมสั้นว่าอย่างนั้น

เมื่อมองไปถึงอนาคต ความกังวลของพี่สมหญิงคือเรื่องคนที่จะมารับช่วงต่อ

“เราไม่รู้ว่าต่อไปรุ่นลูกเราเขาจะมีความอดทนมานั่งจัดของไหม จากของเป็นกองๆ ต้องทยอยจัด ทำให้เห็นว่าบนชั้นไหนมีอะไร บางทีทำเช้าจรดเย็น จรดกลางคืน ยกกันขึ้นไป ต่อไปจะมีแรงงานช่วยทำไหม คนรุ่นหลังคงต้องหาวิธีการจัดการใหม่ๆ อย่างตอนนี้ลูกเราก็เริ่มเข้ามาทำออนไลน์ จะทำเว็บไซต์ใหม่ เขาเรียนสถาปัตย์ก็เลยอยากทำเว็บไซต์ ถ่ายรูปจัดไฟฉากขาว วัดขนาด แต่ของมีไม่รู้กี่ล้านชิ้น เขาวัดขนาดแล้วยกมาเก็บ ยังไม่ทันได้ลงเว็บไซต์หน้าร้านก็ขายได้แล้ว ตอนนี้เลยยังไม่คืบหน้าไปไหน” เธอหัวเราะเมื่อเล่าถึงความกระตือรือร้นของลูกชายแม้จะยังไม่เห็นผล

แล้ว Papaya จะต้องปรับตัวกันอย่างไรดี เราถาม

“อย่าไปคิดลึก เดี๋ยวมันก็ไปได้เอง สมัยนี้คิดอะไรล่วงหน้าเยอะไม่ได้เพราะทุกอย่างเปลี่ยนไปเร็วมาก ไม่ประมาทแต่ก็ไม่ต้องรีบคิดว่าจะต้องปรับนู่นปรับนี่ให้เยอะ ใครจะคิดว่าหนังสือพิมพ์ นิตยสารบางเล่มแป๊บเดียวก็ต้องปิด ถ้าจะต้องเลิกเพราะมันต้านกระแสไม่ได้ ก็ต้องเลิก ก็หาอะไรใหม่ๆ ที่ทำได้” พี่สมหญิงบอกกับเราด้วยน้ำเสียงสบายๆ

แต่ทุกคนล้วนมีอดีตหอมหวานที่อยากหวนกลับไปหา และนั่นจะทำให้ร้านนี้ยังคงอยู่ต่อไปได้ เธอเชื่ออย่างนั้น

Papaya Studio

address: ลาดพร้าว 55/2
hours: 9:00 – 19:00 น. เปิดบริการทุกวัน
tel. 02 539 8220

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!