เทศกาลมุ่งมั่นฉายหนัง : เทศกาลของเด็กฟิล์มโดยเด็กฟิล์มเพื่อเด็กฟิล์มและคนรักหนังทุกคน

Highlights

  • เทศกาลมุ่งมั่นฉายหนังครั้งที่ 1 เกิดจากทีมมุ่งมั่น นำร่อง สังคม กลุ่มเด็กฟิล์มที่รวมกันเพื่อสร้างคอนเนกชั่นของเด็กฟิล์มทั่วประเทศ โปรดิวเซอร์ของเทศกาลครั้งนี้คือ ณัฐณิชา เดชารัตน์ นักศึกษาปี 4 คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร
  • งานนี้มีจุดเด่นตรงที่เป็นงานเทศกาลหนังที่จัดโดยเด็กฟิล์มเพื่อเด็กฟิล์มด้วยกันเอง หนังที่นำมาฉายในงานมีทั้งหมดประมาณ 40 เรื่องจากทั้งหมด 114 เรื่องที่ส่งเข้ามา เป้าหมายของเทศกาลคือการสร้างพื้นที่ให้เด็กฟิล์มได้มาแลกเปลี่ยนมุมมองกันในพื้นที่ที่เปิดรับ
  • เทศกาลนี้มีขึ้นในวันที่ 19-20 มกราคมที่จะถึงนี้ ตั้งแต่เวลา 12:00-20:30 น.

เป็นความจริงที่ว่าคนในวงการภาพยนตร์ส่วนใหญ่ในปัจจุบันเติบโตมาจากการทำหนังสั้น และส่วนใหญ่เริ่มต้นกันตั้งแต่ตอนเป็นนักศึกษาแล้ว

งานฉายหนังนักศึกษาไม่ใช่เรื่องใหม่ ก่อนหน้านี้มหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานส่วนกลางก็มีจัดงานฉายหนังและให้เวทีกับนักศึกษามาเสมอ แต่สำหรับงานที่เราเลือกมานั่งสนทนากับโปรดิวเซอร์ของงานในตอนนี้นั้นต่างออกไป เพราะ ‘เทศกาลมุ่งมั่นฉายหนังครั้งที่ 1’ เกิดขึ้นด้วยมือของฝั่งนักศึกษาฟิล์มเอง

พีนัท–ณัฐณิชา เดชารัตน์ คือโปรดิวเซอร์ของเทศกาลมุ่งมั่นฉายหนังครั้งที่ 1 เธอเป็นนักศึกษาปี 4 คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร และเธอยังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของกลุ่มมุ่งมั่น นำร่อง สังคม กลุ่มที่สร้างขึ้นเพื่อเชื่อม ‘เด็กฟิล์ม’ ทั่วประเทศเข้าไว้ด้วยกัน

ความเป็นมากว่าจะเป็นเทศกาลฉายหนังของเด็กฟิล์มเพื่อเด็กฟิล์มแบบทุกวันนี้จะเป็นอย่างไร

ปิดโทรศัพท์มือถือ นั่งบนเบาะให้สบาย และร่วมชมความเป็นมาของเทศกาลหนังครั้งนี้ไปพร้อมกัน

ณัฐณิชา เดชารัตน์


กว่าจะมาเป็นเทศกาลมุ่งมั่นฉายหนังครั้งที่ 1

โดย ณัฐณิชา เดชารัตน์


ฉากที่ 1 กลางคืน / ร้าน Moonshine Bar ย่านข้าวสาร

‘หนังมันทำคนเดียวไม่ได้’

ความจริงข้อนี้เป็นสิ่งที่นักศึกษาที่เรียนเกี่ยวกับภาพยนตร์หรือ ‘เด็กฟิล์ม’ ทุกคนรู้เป็นอย่างดี เพราะเหตุนี้เองถ้าเราย้อนหลังกลับไปเมื่อไม่กี่ปีก่อน รุ่นพี่เด็กฟิล์มจาก 3 มหาวิทยาลัยจึงเกิดไอเดียการรวมกลุ่มสังสรรค์ของเด็กฟิล์มเพื่อให้คนทำหนังได้พึ่งพากันมากขึ้น การรวมตัวครั้งแรกนั้นเกิดเป็นกลุ่มที่มีชื่อว่า ‘มุ่งมั่น นำร่อง สังคม’

เด็กฟิล์มจากมศว ศิลปากร และจุฬาฯ มาพบปะเจอะเจอกันในวันนั้นโดยมีพยานเป็นเครื่องดื่มสีเหลืองทองอำพัน กว่า 60 ชีวิตพูดคุยแลกเปลี่ยน ตั้งแต่ความรู้ของการทำหนัง อุปกรณ์ นักแสดง ไปจนถึงเรื่องราวชีวิตวัยรุ่นของเด็กฟิล์มจากต่างที่ต่างทาง

และหนึ่งในเด็กฟิล์มที่ร้าน Moonshine Bar วันนั้น มีชื่อของ พีนัท–ณัฐณิชา เดชารัตน์ อยู่ด้วย


มุ่งมั่นฉายหนัง

มุ่งมั่นฉายหนัง

ถ้าให้ย้อนกลับแรกเริ่มเลย กลุ่มมุ่งมั่น นำร่อง สังคมมีที่มาจากอะไร

แรกเริ่มกลุ่มนี้เกิดจากไอเดียของอาจารย์มหาวิทยาลัยเราเอง เขาอยากให้เด็กฟิล์มจากหลายๆ มหาวิทยาลัยมารู้จักกันไว้เลยนัดสังสรรค์กันแบบง่ายๆ แรกเริ่มเลยมีเข้าร่วมแค่ 3 ที่คือ มศว ศิลปากร และจุฬาฯ เหมือนมานั่งเล่นเกม พูดคุย และแลกเปลี่ยนกันมากกว่า

ทำไมเด็กฟิล์มจากต่างที่ถึงควรรู้จักกันไว้

หนังมันทำคนเดียวไม่ได้น่ะ มันต้องมีทีมงานและบางทีเพื่อนในมหา’ลัยก็ไม่พอ หรืออย่างเด็กฟิล์มแต่ละที่เขาก็มีการเรียนการสอนที่ไม่เหมือนกัน การที่เรามาคุยกันไว้เราก็จะได้รู้ว่า อ๋อ มหา’ลัยแกทำแบบนี้ มีอุปกรณ์แบบนี้ พอถึงเวลาเราก็แลกกัน มันช่วยๆ กันได้ตลอด

เพราะเด็กฟิล์มทุกคนต้องทำหนัง

ใช่ๆ แน่ๆ งานที่อาจารย์สั่ง เด็กฟิล์มทุกคนต้องทำ ส่วนแต่ละมหา’ลัยมากน้อยก็ไม่เท่ากัน แต่มันก็จะมีพวกงานประกวดหรืองานเทศกาลหนังต่างๆ ที่เราอาจจะฟอร์มทีมทำหนังขึ้นมาจากเด็กฟิล์มต่างมหา’ลัยก็ได้

คุณมีส่วนร่วมกับกลุ่มนี้ยังไงบ้าง

ในช่วงปีแรก เราไปในฐานะผู้ร่วมงาน ยังอยู่ปี 1-2 อยู่เลย แต่ตอนนี้กลายเป็นเราที่เป็นคนจัดใหญ่แล้ว คือหลังจากงานครั้งแรกก็เกิดเป็นกลุ่มลับๆ ในเฟซบุ๊กที่เอาไว้แค่หาอุปกรณ์ ทีมงาน หรือแคสต์นักแสดง เวลาต่อมาก็มีการรวมตัวกันอีกครั้ง แต่ก็ยังเป็นแค่งานปาร์ตี้ที่แลกเปลี่ยนคอนเนกชั่น ชวนกันเอง ปากต่อปาก จนพี่ๆ ที่เขาจัดกันในตอนแรกเรียนจบและเขาจะไม่จัดต่อ เรารู้สึกว่ามันน่าเสียดาย เราได้อะไรหลายๆ อย่างจากงานนี้ เราเลยรับช่วงต่อมา รวมทีมกันจากคนที่เคยมางานได้ 6-7 คน และจัดงานมุ่งมั่น นำร่อง สังคม ครั้งที่ 4 ขึ้นโดยย้ายมาจัดที่ร้าน NOMA เพราะพี่เจ้าของร้านเขาทำงานที่นิตยสาร Bioscope และเขาอยากให้ร้านเป็นคอมมิวนิตี้ของเด็กฟิล์มอยู่แล้ว

ไอเดียของเทศกาลฉายหนังมาจากที่นี่แหละ


ฉากที่ 2 กลางคืน / ร้าน NOMA ย่าน RCA

‘ร้านแตก’ คือคำนิยามที่น่าจะเหมาะที่สุดกับงานปาร์ตี้มุ่งมั่น นำร่อง สังคม ครั้งที่ 4

จากการเป็นแค่กลุ่มลับในเฟซบุ๊ก สิ่งที่พีนัททำคือพยายามต่อยอดมันให้ไปไกลกว่าเดิม ทั้งการทำเพจ การเชิญ บอกต่อ และการโฆษณาให้ไปถึงหลายๆ มหาวิทยาลัย สุดท้ายแล้วจากงานครั้งแรกที่คนมาร่วมแค่หลักสิบ แต่กับร้านเล็กๆ ในวันนั้นคนที่มางานมีเป็นหลักหลายร้อยและคนที่มาก็มาจากทั้งเหนือสุดไปจนถึงใต้สุด

และระหว่างบรรยากาศแห่งการแลกเปลี่ยนและสนุกสนาน วงสนทนาหนึ่งในมุมร้านก็เกิดขึ้นระหว่างพีนัทและชายหนุ่มคนหนึ่ง

“เห็นคนเยอะแบบนี้แล้วอยากทำเทศกาลหนังว่ะพี่” พีนัทพูดกับชายหนุ่มตรงหน้า

“เฮ้ย ทำสิ”

“เป็นไปได้จริงๆ เหรอ”

“เป็นไปได้ เราช่วยได้ เราก็อยากให้มันเกิดขึ้น”

ชายหนุ่มที่ว่าคือเฟรม–ธีพิสิฐ มหานีรานนท์ บรรณาธิการนิตยสาร Bioscope และเขาให้คำมั่นกับพีนัทไว้แบบนั้น


มุ่งมั่นฉายหนัง

ณัฐณิชา เดชารัตน์

เทศกาลหนังมุ่งมั่นครั้งที่ 1 ที่กำลังจะถึงมีที่มาที่ไปยังไงบ้าง

เอาจริงๆ ทุกคนที่เป็นเด็กฟิล์มก็มีไอเดียนี้กันอยู่แล้วแหละ ใครๆ ก็อยากทำเทศกาลหนังเพื่อเอาหนังมาฉาย ง่ายๆ คือใครที่ทำหนัง เขาก็อยากฉายหนัง เราทำหนังก็อยากให้คนดู และยิ่งวันนั้นงานมุ่งมั่น นำร่อง สังคม ครั้งที่ 4 มีคนมาประมาณ 300 คน เราเลยเริ่มคิดว่ามันน่าจะเป็นไปได้นะ ยิ่งเราได้ไปคุยกับพี่เฟรม พี่เฟรมก็รับปากจะช่วยเราหลายอย่าง เราเลยคิดว่าน่าจะลองดู

ทำไมการฉายหนังถึงเป็นเรื่องสำคัญของเด็กฟิล์ม

เราว่าสุดท้ายพอทำหนังมา เราจะดูมันผ่านหน้าจอเล็กๆ หรือยูทูบมันก็เทียบกับเอาไปฉายโรงไม่ได้ มันคนละความรู้สึกกัน ถ้าฉายโรงเราจะรับรู้ได้ว่าหนังใหญ่กว่าตัวเรา เราจะเห็นรายละเอียดเล็กๆ เราจะเห็นจุดบกพร่อง ที่สำคัญคือเราจะได้ฟีดแบ็กของคนที่นั่งดูอยู่กับเราจริงๆ จะหนังดีหรือเหี้ยยังไงก็ควรฉายเพื่อรับฟีดแบ็กจากคนดูน่ะ เพื่อเอามาพัฒนาปรับปรุงตัวเอง

คอนเซปต์ของเทศกาลมุ่งมั่นฉายหนังคืออะไร

ง่ายๆ ว่านี่เป็นงานเทศกาลหนังของเด็กฟิล์มจริงๆ จุดขายของเราคืองานนี้คืองานที่เด็กฟิล์มทำเพื่อเด็กฟิล์ม เป็นการรวมตัวกันของเด็กฟิล์มหลายมหา’ลัยเพื่อจัดฉายหนังขึ้น มันมีความต่างกับงานฉายหนังนักศึกษาก่อนหน้านี้ตรงที่ปกติงานจะเป็นของมหาวิทยาลัยเลย เป็นอาจารย์ร่วมกันจัด แต่เทศกาลของเราจะไม่เกี่ยวกับสถาบันอะไรเลย เราไม่มีอะไรที่ต้องแคร์ขนาดนั้น คนคัดหนังก็คือเรา มันเกิดจากเรื่องง่ายๆ ว่า กูอยากดูหนังมึงว่ะ มึงก็อยากดูหนังกูเหรอ ก็เอามาฉายและนั่งดูด้วยกันสิ มาถกเถียงกัน นอกจากนี้เรายังเชิญคนในวงการมานั่งดูด้วยกันด้วยนะ เป็นเซอร์ไพรส์

ขั้นตอนการจัดฉายหนังนี่ต้องทำยังไงบ้าง

อย่างแรกคือหาสถานที่ เราได้ที่ House RCA เพราะพี่เฟรมไปช่วยคุยให้ ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายพี่เฟรมก็หาสปอนเซอร์มาหนุน รวมถึงเราต้องหาเอง เราไปเจอกับทั้ง Documentary Club และสมาคมผู้กำกับ รวมถึง บริษัท ฮูล่า ฮูป จำกัด ที่เป็นบริษัทอาจารย์ของเราเอง ทุกคนเหมือนรอสิ่งนี้อยู่แล้วนะ พวกเขาอยากสนับสนุนเด็กรุ่นใหม่อยู่แล้ว เราก็ได้ความช่วยเหลือมาเป็นเงินก้อนหนึ่งที่มากพอจะทำให้เกิดงานนี้ได้

แล้วหาหนังมาฉายยังไง

มีจากทั้ง 2 ทางคือใช้คอนเนกชั่นของทีมงานติดต่อหาหนังมาฉายเอง อีกทางหนึ่งคือเปิดรับหนังผ่านการประกาศหาในเพจเฟซบุ๊ก สุดท้ายมีหนังที่ส่งเข้ามาทั้งหมด 114 เรื่อง

เกินกว่าที่คิดไหม

มาก ไม่คิดว่าคนจะส่งมาเยอะขนาดนี้ แต่กลายเป็นว่าตอนนี้มาจากทั่วประเทศเลย จากที่ไกลๆ อย่างเชียงใหม่ สงขลา หรือแม่ฟ้าหลวงก็มีส่งมา ซึ่งสุดท้ายด้วยเวลาจำกัดที่เราจัดแค่ 2 วันทำให้เราฉายได้ประมาณ 30-40 เรื่อง (โปรแกรมหนังที่ได้รับเลือกฉายสามารถดูได้ ที่นี่) เราคัดโปรแกรมหนึ่งขึ้นมาได้ 8 โปรแกรมโดยตั้งชื่อเล่นกับคำว่าหนัง เช่น โปรแกรมหนังเหนียวคือหนังทดลองที่ดูยากหน่อย โปรแกรมหนังกรอบคือหนังที่ว่าด้วยคนที่อยู่ในกรอบ อะไรประมาณนี้

เราจำกัดไหมว่าต้องเป็นหนังของเด็กฟิล์มเท่านั้น

ไม่นะ คณะที่ไม่เกี่ยวแต่ส่งมาก็มีประมาณหนึ่ง อย่างคณะวิศวะก็มี สำหรับเราคำว่า ‘เด็กฟิล์ม’ แปลว่าคนทำหนังมากกว่า ไม่ได้จำกัดว่าเรียนอะไร อย่างพี่เต๋อเรียนอักษรฯ ยังทำหนังได้เลย คนในวงการหลายๆ คนตอนนี้ก็เติบโตมาจากการอยู่ในวงการภาพยนตร์สั้นมาก่อน ทำหนังสั้นของตัวเองจนพัฒนาไปอยู่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์จริงๆ


ฉากที่ 3 กลางวัน / ร้าน NOMA ย่าน RCA

เหลืออีกไม่กี่วันงานมุ่งมั่นฉายหนังครั้งที่ 1 กำลังจะเกิดขึ้น

จากจุดเริ่มต้นของเด็กฟิล์มจาก 3 มหาวิทยาลัย ปัจจุบันทีมงานมุ่งมั่นฉายหนังประกอบไปด้วยเด็กฟิล์ม 8 มหาวิทยาลัย ในที่ประชุมในบ่ายวันนั้น เด็กฟิล์มกว่าสิบคนกำลังประชุมกันอย่างคร่ำเคร่ง ในวันจริงทีมงานทั้งหมดจะมีกว่า 50 ชีวิตที่พร้อมสร้างงานเทศกาลนี้ให้เกิดขึ้น

“ไปกันใหญ่แล้วว่ะงานเรา” พีนัทพูดขึ้นมาพร้อมรอยยิ้มที่บอกกับทุกคน และกับหนังเรื่องล่าสุดที่ส่งเข้ามาให้กลุ่มพิจารณา มันก็พิสูจน์ว่าเทศกาลนี้ไปกันใหญ่แล้วจริงๆ

‘ผมอยู่มัธยม แต่ขอส่งหนังมาร่วมด้วยได้ไหมครับ’

หนังที่ส่งมีเขียนจั่วหัวไว้อย่างนั้น


มุ่งมั่นฉายหนัง

ณัฐณิชา เดชารัตน์

คาดหวังผลที่ตามมายังไงบ้าง

นอกจากพื้นที่ในการแสดงออกของคนศิลปะ เราอยากให้เกิดการแลกเปลี่ยนนะ เราอยากให้สิ่งนี้เป็นพื้นที่จริงๆ ของคนที่ทำภาพยนตร์ คุยกันแค่ในเฟซบุ๊กมันไม่พอหรอก พลังของคนที่มารวมกันมันดีกว่า หนังเรื่องหนึ่งเราต้องร่วมแรงร่วมใจเยอะ ดังนั้นการแลกเปลี่ยนนี้ก็จะเป็นช่องทางหนึ่งที่ดีต่อวงการหนังนักศึกษา

ทำไมถึงเชื่อว่าแค่พลังของนักศึกษาจะสามารถสร้างงานใหญ่ขึ้นมาได้

สารภาพว่าเราก็มีแอบคิดแหละว่าใหญ่เกินไปหรือเปล่า แต่งานครั้งที่ 4 ตอนนั้นเราเห็นว่าคนเยอะมากจริงๆ และเราเห็นว่าคอนเนกชั่นแต่ละคนมันเป็นไปได้จริงๆ นะ บุคลากรในวงการภาพยนตร์เขาก็พร้อมสนับสนุนนักศึกษาเสมอ  แต่เหนืออื่นใดเราว่ามันต้องเกิดจากอะไรง่ายๆ อย่างความจริงที่ว่ามันสนุกและกูอยากทำว่ะ

การอยู่คนละมหาวิทยาลัยทำให้เกิดปัญหาไหม

ไม่เลย เราว่าจริงๆ เด็กฟิล์มมีความหลากหลายมากนะ แต่ละคนมีเรื่องที่ตัวเองเชื่อที่แข็งแรง แต่สิ่งที่เราชอบมากที่สุดของการเรียนภาพยนตร์คือสิ่งที่เราเรียนมันทำให้เรายอมรับความหลากหลายได้ เอาแค่ประเภทหนังในโลกนี้ก็มีเยอะมากแล้ว เราอาจจะไม่ได้เข้าใจทุกประเภทแต่เราเห็นมันและยอมรับว่ามันเกิดขึ้น เราไม่ก้าวก่ายซึ่งกันและกัน คาแร็กเตอร์ของเด็กฟิล์มเลยเป็นแบบนี้มั้ง เราต่างกันนะแต่ยอมรับความต่าง มันเลยเป็นบรรยากาศที่ทำงานร่วมกันแล้วเกิดการดีเบตแต่ก็สนุก

มองทิศทางของเด็กฟิล์มในอนาคตไว้ว่ายังไงบ้าง

(คิด) เรายอมรับนะวงการภาพยนตร์หรือหนังยาวมันมีน้อยคนในประเทศนี้ที่จะได้เข้าไปทำ นับมือได้เลย แต่เราว่าตลาดตอนนี้มันกว้างกว่านั้น เรามีทั้งหนังสั้น หนังโฆษณา พื้นที่เยอะมาก และถ้าเรามองในความเป็นจริง การเรียนภาพยนตร์ก็คือการเรียนการเล่าเรื่องด้วยภาพ ซึ่งมันครอบคลุม คุณจะไปทำอะไรก็ได้ ไปทำ ทำวิดีโอคอนเทนต์ก็ได้ ทำคลิป ทำโฆษณาอะไรต่างๆ ได้หมด แต่ถ้าจะมองแค่ในเรื่องวงการหนังสั้น ตอนนี้มันมีความคึกคักอยู่ ด้วยเทคโนโลยีการทำหนังตอนนี้ที่ไม่ได้ยากเหมือนเมื่อก่อน มันเลยเกิดคนที่อยากเล่าเรื่องตัวเอง เกิดประเด็นที่คนอยากออกมาแลกเปลี่ยนกันเยอะมาก ทุกคนทำหนังได้ หนังสั้นเลยกลายเป็นพื้นที่อิสระอันหนึ่งที่ให้ทุกคนเอาเรื่องมาปล่อยของกัน

ถ้าหมดจากรุ่นเราไปแล้ว เทศกาลมุ่งมั่นฉายหนังจะมีต่อไหม

เราเชื่อว่ามันจะเกิดขึ้นเรื่อยๆ สมมติเราไม่ว่างทำต่อ ในทีมก็ยังมีน้องปี 1, 2, 3 หรือคนที่สนใจอยากให้งานมันเกิดขึ้น เราคิดว่าถ้าครั้งแรกออกมาดี สิ่งนี้จะเป็นโมเดลว่านี่ไง เคยมีคนทำแล้ว เคยมีนักศึกษาทำเทศกาลหนังสำเร็จแล้ว หลายคนสามารถเอาไปขายต่อหรืออ้างอิงในการจัดงานครั้งต่อไปได้ว่ามันเคยเกิดขึ้นแล้วจริงๆ มันเกิดความเป็นไปได้ขึ้นมาแล้ว ดังนั้นเราว่ามันก็ยังมีต่อไปนะ


ฉากที่ 4 กลางวัน / โรงหนัง House RCA

. . . . . . .

ร่วมเขียนบทตอนต่อไปได้ที่งานเทศกาลมุ่งมั่นฉายหนังครั้งที่ 1 ที่โรงภาพยนตร์ House RCA ในวันเสาร์-อาทิตย์ที่ 19-20 มกราคมที่จะถึงนี้ เริ่มลงทะเบียนเข้างานได้ตั้งแต่เวลา 12:00 น. ส่วนโปรแกรมฉายหนังนั้นยาวจนถึง 20:30 น. เรียกได้ว่าดูกันให้ตาแฉะเลยทีเดียว

มาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ ร่วมพูดคุย และดูหนังไปพร้อมๆ กันนะ

มุ่งมั่นฉายหนัง

 

 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

เจ้าของเพจ T E 4 M ที่หลงใหลในมุกตลกคาเฟ่และชื่นชอบน้องหมาหน้าย่นเป็นที่สุด

Video Creator

นวภัทร์ นาวาเจริญ

วีดีโอครีเอเตอร์คนที่ชอบเดินจ่ายตลาด