จากเรื่องเล็กสู่เรื่องใหญ่ มีอะไรใน #ทีมลวก #ทีมไม่ลวกหมี่หยก

Highlights

  • เรื่องสนุกๆ ในโลกออนไลน์แบบที่ไม่มีใครผิดใครถูกอย่างใครลวกไม่ลวกหมี่หยก ช่วยทำให้เกิดบทสนทนาและแพร่ต่อไปได้เร็ว เพราะใครๆ ก็สามารถเข้ามาร่วมวงสนทนาได้ง่ายๆ และผลพลอยได้ก็คือตัวเจ้าของโปรดักต์ในกระแส

ถ้าใครติดตามหน้า News Feed และ Timeline ของโลกออนไลน์ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีช่วง 2-3 วันที่ถกกันอย่างร้อนแรงเอาเป็นเอาตายว่า การกินบะหมี่หยกนั้นต้อง ‘ลวก’ หรือ ‘ไม่ลวก’ จนถึงขั้นมีการโหวตกันเป็นเรื่องเป็นราวก่อนที่แบรนด์เจ้าของเรื่องอย่าง MK ก็ร่วมวงผสมโรงกลายเป็นแคมเปญไปเลย

หลายคนก็อาจจะสงสัยว่านี่เป็นแคมเปญจัดตั้งของทาง MK หรือเปล่า ซึ่งผู้เขียนเองก็ไม่อาจทราบได้เหมือนกัน แต่เท่าที่ติดตามนั้นก็คิดว่าเกิดขึ้นจากการถกกันเป็นเรื่องเป็นราวแล้วทาง MK มาใช้ประโยชน์จากกระแสมากกว่า

แต่เรื่องน่าคิดไปกว่านั้นคือทำไมไอ้เรื่อง ‘ลวก’ กับ ‘ไม่ลวก’ ถึงเป็นกระแสกันได้ทั้งที่มันดูจะเป็นเรื่องไม่เป็นเรื่อง?

เรื่องดังกล่าวนี้มักมีให้เห็นกันบ่อยๆ บนโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นโลกที่แต่ละคนนั้นล้วนมีสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็นออกมาว่า เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ชอบหรือไม่ชอบ เพราะทุกๆ คนมีสื่อและมีพื้นที่ของตัวเอง หากจะว่าไปแล้ว ทุกวันนี้เราก็เห็นการพูดเรื่องราวและประเด็นต่างๆ ในพื้นที่นี้กันอยู่เรื่อยๆ อย่างช่วงนี้ก็จะเห็นว่าประเด็นการเมืองก็เริ่มร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ หรือก่อนหน้านี้เรื่อยมาจนล่าสุดก็ถกกันเรื่องการแต่งชุดนักเรียนว่าควรหรือไม่ควรกันเป็นเรื่องเป็นราว (อีกแล้ว)

หากเราเปิดใจมองความเป็นมนุษย์ของแต่ละคน เราทุกคนก็ล้วนอยากแสดงออกทางความคิดกันไม่มากก็น้อย แต่เราก็ต้องยอมรับว่าการแสดงความเห็นกับบางเรื่องที่ ‘จริงจัง’ ประเภทเป็นวิชาการต้องใช้ความคิดและวิจารณญาณมากๆ ก็ดูจะเป็นเรื่องไกลตัวหรือหนักหัวกันอยู่พอสมควร คนที่ถกเถียงก็เลยอาจจะอยู่ในวงแคบๆ หรือกลุ่มคนที่ชอบคิดชอบวิจารณ์กันเป็นทุนเดิม ในขณะที่คนส่วนมากอาจนั่งเสพข้อมูลหรือซุ่มดูอยู่ห่างๆ

แต่ถ้าเป็นเรื่อง ‘เบาสมอง’ หรือ ‘สนุกๆ’ มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งเพราะใครๆ ก็ล้วนเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นกันได้แถมไม่ต้องใช้เรื่องวุฒิหรือทักษะการคิดวิเคราะห์อะไรมาอธิบายให้ซับซ้อนดูเข้าใจยาก เรื่องแบบนี้จึงมักเป็นสิ่งที่สามารถทำให้เกิดบทสนทนาได้ง่ายและแพร่ต่อไปได้เร็วเพราะใครๆ ก็สามารถเข้ามาร่วมวงสนทนาได้

เรื่องของ ‘ลวก’ และ ‘ไม่ลวก’ ก็เข้าข่าย คนจำนวนมากล้วนมีประสบการณ์ (ก็การกินบะหมี่ยกนี่แหละ) และแน่นอนว่าการกินบะหมี่หยกนั้นก็ไม่มีอะไรผิดและถูก มันไม่ได้อันตรายแต่มันจะสนุกมากกับการนั่งเถียงกับเพื่อนกันแบบฮาๆ ว่าลวกหรือไม่ลวกดี ส่วนคนที่เข้ามาเสพก็ไม่ต้องคิดอะไรเยอะ แค่ถามตัวเองว่าปกติเรากินแบบลวกหรือไม่ลวกก็สามารถเก็ตเรื่องที่คุยกันได้ทันทีประกอบกับการเกิด #ทีมลวก และ #ทีมไม่ลวก ก็ยิ่งกลายเป็นความสนุกที่แต่ละคนเลือกเข้ากลุ่มสนับสนุนฝั่งใดฝั่งหนึ่ง

ซึ่งนั่นก็ไปคล้องกับพฤติกรรมคนออนไลน์จำนวนไม่น้อยที่มักจะพยายามเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งกับเรื่องบางเรื่องที่กำลังเป็นกระแส กำลังเป็นที่ถูกพูดถึง ผลก็คือการคุยเล่นแต่แอบจริงจังนี้ก็กระพือสนั่นไปบนออนไลน์

ถ้าจำเรื่องคล้ายๆ กันได้ก็ตอนรูปชุดเดรสที่เรานั่งถกกันว่าเห็นเป็นสีอะไรแล้วก็เถียงกันจริงจังมาก เกิดการแชร์บนออนไลน์จนถึงขั้นออกทีวีเพราะก็มีคนสองฝั่งที่บอกว่าฉันเห็นเป็นสีอะไร ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่ใช่เป็นการมาบอกว่าอีกฝั่งผิด หากแต่เป็นการบอกว่า “ฉันเห็นเป็นอะไร” เช่นเดียวกับวันนี้ที่คนบอกว่า “ฉันลวก” และ “ฉันไม่ลวก” โดยลึกๆ ก็อาจจะมีการข่มกันหน่อยๆ ว่าฝั่งไหนมีมากกว่ากันนั่นแหละ (ซึ่งก็เข้าข่ายการ ‘หาพวก’ ตามประสามนุษย์ปกติ)

ผลพลอยได้ของเรื่องเล่นๆ ที่กลายเป็นเรื่องจริงจังนี่ก็คงตกอยู่กับตัว MK เองที่ทำให้คนจำนวนมากนึกถึงประสบการณ์การกินสุกี้ที่ MK ไปโดยปริยาย บางคนก็อาจจะนึกสนุกไปกินอีกครั้งด้วย นอกจากนี้แล้วทาง MK เองก็ไม่ปล่อยโอกาสนี้ไปเฉยๆ โดยออกโปรโมชั่นมารับลูกอีกที เรียกว่าคุ้มเสียยิ่งกว่าคุ้ม

ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าต่อจากนี้จะมีการสร้าง # ทีม อะไรอีกไหม แต่เชื่อว่าคงมีอีกเรื่อยๆ ทั้งแบบจริงจังและเอาสนุก แต่โลกออนไลน์มันก็เอื้อให้คนจำนวนมากจับกลุ่มและสร้าง ‘เผ่า’ ของตัวเองได้อยู่เรื่อยๆ และก็คงจะมีประเด็นใหม่ๆ มาให้เราถกเถียงกันอยู่อีกเรื่อยๆ นั่นแหละ

ถึงตอนนั้นแล้ว ถ้าเราอยากสนุกด้วย ก็อย่าลืมไปร่วมว่าคุณ #ทีมไหน นะครับ 🙂

AUTHOR