แสงไฟระยิบระยับ เปลี่ยนสีอันมืดมิดของท้องฟ้าให้สดใสขึ้นทันตา เสียงเฮลั่นที่ดังตามมาเป็นสัญญาณของการเริ่มต้นปีใหม่ ช่วงเวลาแห่งความสุขนี้ มี ‘พลุ’ ที่เปล่งประกายเป็นพยานอยู่ด้านหลัง
ดอกไม้ไฟยักษ์เหล่านี้ คือเสน่ห์ของช่วงสิ้นปีที่หลายคนตั้งตารอ เพราะมันเป็นงานศิลปะชิ้นใหญ่ที่ใช้ท้องฟ้าเป็นผืนผ้าใบ และระบายด้วยประกายไฟที่เกิดจากการระเบิดของสารประกอบทางเคมี นี่คือผลลัพธ์ของการนำ ‘ศาสตร์’ และ ‘ศิลป์’ มาผสานรวมกันได้อย่างลงตัว จนกลายเป็นไอคอนิกของงานเฉลิมฉลองที่ได้รับการยอมรับไปทั่วโลก
รู้หรือไม่ว่า? ก่อนจะกลายเป็นภาพความสวยงามอลังการตรงหน้า พลุเคยถูกใช้เพื่อเป็นอาวุธ ในสงคราม รวมไปถึงเป็นองค์ประกอบสำคัญในพิธีทางศาสนามาก่อน! แต่อะไรทำให้เครื่องมือในการสังหาร แปรเปลี่ยนไปเป็นเครื่องเยียวยาความเศร้าเหมือนเช่นปัจจุบัน ตามไปย้อนประวัติศาสตร์ ผ่านเรื่องราวของดอกไม้ยักษ์แห่งฟากฟ้านี้กัน

วิทยาศาสตร์ที่เกิดจากเรื่อง ‘บังเอิญ’
ใครบอกเรื่องบังเอิญไม่มีอยู่จริง งั้นลองมาอ่านเรื่องนี้ดูก่อน แล้วจะรู้ว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น!
ความบังเอิญอย่างแรกที่ทำให้มนุษย์รู้จักสิ่งที่เรียกว่า ‘ประทัด’ ต้นกำเนิดของพลุ ต้องย้อนกลับไปในแผ่นดินจีน เมื่อสมัยก่อนยุคคริสตกาล ในช่วงหน้าร้อนที่อุณหภูมิพุ่งสูงขึ้น จนทำให้ต้นไผ่แตกตัว เพราะการขยายตัวของอากาศและน้ำหล่อเลี้ยงในลำปล้อง เกิดเป็นเสียงดัง ‘เปรี๊ยะ!’ ที่สร้างความตกใจให้กับชาวบ้านแถวนั้น
เมื่อค้นพบแล้วว่า ไม้ไผ่สามารถสร้างเสียงดังได้ด้วยความร้อน ชาวบ้านจึงใช้วิธีการนี้ในการขับไล่ ‘เหนียน’ (年兽) ปีศาจที่ชอบกัดกินพืชไร่ตามความเชื่อของคนจีน ทำให้ทุกๆ งานสำคัญ ไม่ว่าจะปีใหม่ งานแต่ง ไปจนถึงวันเกิด จะมีการจุดประทัดจากกระบอกไม้ไผ่ เพื่อขับไล่วิญญาณร้ายไม่ให้ก่อกวน
ความบังเอิญอย่างที่สอง คือจุดเริ่มต้นของ ‘ดินปืน’ ชนวนสำคัญที่ใช้ในการระเบิดของดอกไม้ไฟ ซึ่งแน่นอนว่าผู้ค้นพบก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นพ่อครัวชาวจีน ที่ได้ชื่อว่าชอบทำการทดลอง ปรุงสูตรอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ มีอยู่วันหนึ่ง เขานำกำมะถัน ถ่าน และดินประสิว มาตั้งไฟเข้าด้วยกัน ทำให้พวกมันแห้งเกาะกันเป็นแผ่นสีดำ ก่อนจะลุกเป็นไฟเมื่อเกิดการเผาไหม้ คนจีนเรียกสิ่งนี้ว่า ‘เคมีไฟ’
ชาวจีนหัวใสบางส่วน นำกระบอกไม้ไผ่ที่เป็นประทัดยุคแรก มายัดดินปืนไว้ข้างใน ก่อนจะโยนเข้าไปในกองไฟ ก๊าซที่เกิดจากการเผาไหม้ ระเบิดลำปล้องของไม้ไผ่ให้แตกเป็นเสี่ยงๆ และนี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้พวกเขารู้ว่าประทัดเหล่านั้น ‘อันตราย’ กว่าที่คิด

‘ระเบิด’ ที่คร่าชีวิตคนในสงคราม
อานุภาพของดินปืนที่ถูกค้นพบด้วยความบังเอิญ รุนแรงเกินกว่าที่หลายคนคาดไว้ ทำให้มนุษย์เริ่มพัฒนาผงสีดำเหล่านั้น ให้กลายเป็นอาวุธในการทำศึกสงคราม สุดท้ายการจุดประทัดเพื่อขับไล่ปีศาจร้าย ก็แปรเปลี่ยนเป็นเครื่องมือสังหารมนุษย์ด้วยกันเอง
มีการบันทึกไว้ในประเทศจีนว่า ราวๆ ค.ศ. 1000 มีการนำดินปืนมาใช้ในการทำสงครามเป็นครั้งแรก ซึ่งถ้าอิงตามไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์ นี่คือช่วงเวลาของราชวงศ์ซ่ง ที่ต้องทำสงครามเพื่อรวบรวมดินแดนเป็นปึกแผ่น หลังจากจบยุค 5 ราชวงศ์และ 10 อาณาจักร จึงไม่แปลกที่พวกเขาจะมองหาอาวุธที่ทรงพลังมากพอจะใช้ต่อกรกับข้าศึก
ส่วนในฝั่งของยุโรปนั้น พบว่ามีการใช้ ‘ดินปืน’ ในช่วงยุคกลางตอนปลาย หรือประมาณ
ค.ศ. 1000 – 1300 โดยการเผยแพร่ของชาวมองโกลและชาวจีนที่ถูกเกณฑ์มาเป็นทหารรับจ้าง ในช่วงที่มองโกลรุกรานยุโรป หลังจากนั้นก็มีการพัฒนาปืนใหญ่มาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1327 มีการบันทึกการใช้ปืนใหญ่อังกฤษเป็นครั้งแรกในการทำศึกสงคราม และเริ่มใช้กันอย่างแพร่หลายเรื่อยๆ ในช่วงสงครามศาสนาในยุคมืด (Dark Age)

พักการรบเข้าสู่ยุคแห่ง ‘การเฉลิมฉลอง’
สงครามในยุคมืดกินเวลาเกือบพันปี ในที่สุดความสงบสุขก็มาเยือนอีกครั้ง เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ศตวรรษที่ 14 – 15 หรือยุคเรเนซองส์ ช่วงเวลาแห่งการฟื้นฟูศิลปะวิทยาการในยุโรป ชาวอิตาลีคือชาติแรกที่เปลี่ยนระเบิด ให้กลายเป็นดอกไม้ไฟยักษ์กลางค่ำคืน
โดยชาวอิตาลีมีการดัดแปลงเพิ่มโลหะกับถ่านเข้าไป เมื่อปล่อยให้ระเบิดบนฟ้า จะเกิดเป็นประกายแสงสีเงินและทองระยิบระยับ รวมไปถึงการพัฒนากระบอกในการบรรจุให้สามารถระเบิดพุ่งขึ้นไปบนอากาศได้สูงขึ้นกว่าเดิม นอกจากนั้นยังมีการค้นพบว่าถ้าเปลี่ยนสารประกอบทางเคมีที่บรรจุอยู่ในพลุ จะทำให้ได้สีสันที่แตกต่างกันออกไป เช่น สีเหลือง จากโซเดียม (Na), สีส้ม จากแคลเซียม (Ca), สีเขียว จากแบเรียม (Ba) หรือ สีน้ำเงิน จากทองแดง (Cu) เป็นต้น
ความตื่นตาของงานศิลปะสุดอลังการนี้ ทำให้พลุได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในรั้วพระราชวังของยุโรป ที่มีการแสดงพลุเพื่อเฉลิมฉลองในงานสำคัญต่างๆ เช่น พิธีราชาภิเษก ทำให้พลุกลายเป็นสัญญะของความมั่งมีและพลังอำนาจไปโดยปริยาย ถัดมาในราวๆ ปี ค.ศ. 1730 การแสดงพลุเริ่มแพร่หลายเข้าสู่ประชาชนทั่วๆ ไปมากยิ่งขึ้น พร้อมการพัฒนารูปแบบของพลุที่หลากหลายและแปลกใหม่ขึ้นกว่าเดิม
ในส่วนของอเมริกา พลุเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการเฉลิมฉลองวันชาติ ที่จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1777 หลังจากที่ประเทศประกาศเอกราชไปเพียง 1 ปี โดยในงานมีการจุดพลุมากถึง 14,000 ครั้ง แสงประกายที่ระยิบระยับเหล่านั้น เป็นการจุดประกายความหวังให้แก่พลเมืองอเมริกัน และต่อมาพลุก็ได้กลายเป็นไอคอนิกของการเฉลิมฉลองจนถึงปัจจุบัน

ดอกไม้เพลิงในไทย ความสวยงามในมุมศาสนา
ท่องกาลเวลาผ่านประวัติศาสตร์โลกกันมาแล้ว ลองนั่งไทม์แมชชีนย้อนกลับมาดูประเทศไทยของเรากันบ้าง แม้จะไม่มีการบันทึกแน่ชัดว่าดอกไม้ไฟเริ่มใช้กันมาตั้งแต่เมื่อใด แต่ในหลักฐานสำคัญอย่างศิลาจารึกหลักที่ 1 พบข้อความที่ระบุถึงการเล่นกับไฟในพิธีกรรมต่างๆ ความว่า
“เมืองสุโขทัยนี้มีสี่ปากประตูหลวง
เทียรย่อม คนเสียดกันเข้ามาดู ท่านเผาเทียน ท่านเล่นไฟ
เมืองสุโขทัยนี้มีดั่งจักแตก”
ต่อมาในอยุธยามีการนำดอกไม้ไฟมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องสักการะบูชาทางศาสนา เพราะเชื่อกันว่านี่คือการบูชาที่ครบสมบูรณ์ที่สุด นั่นก็คือ แสงเป็นพุ่มแทนดอกไม้ และเทียน รวมไปถึงมีควันแทนธูป แถมยังสื่อถึงความยิ่งใหญ่ของพระราชพิธีหลวงได้อีกด้วย ดังหลักฐานที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงสยาม ต้นฉบับของบริติชมิวเซียมกรุงลอนดอน ดังนี้
“…จึงเชิญพระบรมโกศเข้าประดิษฐานในพระเมรุทอง ทรงพระกรุณาให้มีการมหรสพสมโภช และดอกไม้เพลิงต่างๆ และทรงสดัปกรณ์ พระสงฆ์ ๑๐๐๐๐ รูป คำรบ ๗ วันแล้วถวายพระเพลิง”
ต่อมาในสมัยกรุงธนบุรีการจุดดอกไม้เพลิงได้รับความนิยมที่ลดน้อยลง เพราะสถานการณ์บ้านเมืองที่ระส่ำระสาย ก่อนจะกลับมาเล่นกันอย่างแพร่หลายอีกครั้งในช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะในช่วงรัชกาลที่ 1 ที่โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งบ้านดอกไม้ตรงบริเวณคลองโอ่งอ่าง เพื่อสืบทอดการทำดอกไม้เพลิง และป้องกันเพลิงไหม้ไปในคราวเดียวกัน
จะเห็นได้ว่าดอกไม้ไฟในมุมคนไทยนั้น ผูกพันธ์กับเรื่องความเชื่อและศาสนาพุทธอย่างเข้มข้น เพราะคนสมัยก่อนเชื่อกันว่า ดอกไม้ไฟ สื่อถึงสัจธรรมของการมีชีวิต มีทั้งเกิดขึ้นและแตกดับตามธรรมชาตินั่นเอง

งานศิลปะที่ใช้ท้องฟ้าเป็นผืนผ้าใบ
จากประกายไฟเมื่อไม่กี่สีในอดีต ถูกพัฒนาใส่นู่น เติมนี่ จนสามารถสร้างพลุรูปแบบหลากหลาย กลายเป็นช่อดอกไม้ยักษ์ที่รวมหลายสายพันธ์ุไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะทรงคลาสสิกอย่างดอกโบตั๋น ทรงอลังการอย่างต้นปาล์ม หรือทรงดาวตกที่สว่างสดใส ซึ่งนี่เป็นแค่ส่วนเล็กๆ ของรูปทรงพลุทั้งหมดในปัจจุบันเท่านั้น
นอกจากใช้ในงานเฉลิมฉลอง ยังมีศิลปินบางคน หยิบเอาความสวยงามของดอกไม้ยักษ์นี้ มาสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะจากพลุโดยเฉพาะ นั่นก็คือ Cai Guo-Qiang (蔡国强) ศิลปินชาวจีนผู้อยู่เบื้องหลังพลุสุดอลังการในพิธีเปิดและปิดของการแข่งขัน Beijing Summer Olympics 2008 และ Beijing Winter Olympics 2022
นอกจากผลงานโอลิมปิกที่สร้างความอลังการไปทั่วโลกแล้ว ผลงานชิ้นอื่นๆ ของเขา ก็ล้วนใช้พลุเป็นส่วนประกอบสำคัญในงาน เช่น City of Flowers in the Sky ผลงานที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพวาดของ Sandro Botticelli ศิลปินเอกในยุคเรเนซองส์ โดยการระบายสีท้องฟ้าเมืองฟลอเรนซ์ ด้วยพลุที่ระเบิดออกมาเป็นรูปดอกไม้นับพัน
รวมไปถึงอีกหนึ่งผลงานอย่างการเปิดตัว PST ART (Previously Pacific Standard Time) อีเวนต์ที่จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับศิลปะและวิทยาศาสตร์ ซึ่งศิลปินชาวจีนผู้นี้ได้นำพลุมาสร้างสีสันในงานนี้ภายใต้การแสดงที่ชื่อว่า WE ARE ที่จัดขึ้นในโคลอสเซียม ที่ LA สหรัฐอเมริกา
แม้จะเป็นแค่ส่วนเล็กๆ ของผลงานจาก Cai Guo-Qiang แต่เชื่อว่าหลายคนที่เห็นภาพพลุสวยๆ เหล่านี้คงจะรู้สึกขนลุกไปกับความตระการตาแบบที่งานศิลปะชนิดอื่นให้ไม่ได้อย่างแน่นอน นี่คือข้อยืนยันแล้วว่าพลุคืองานศิลปะอีกแขนงหนึ่งที่เราไม่ควรมองข้าม
ประวัติศาสตร์ของพลุ เริ่มต้นตั้งแต่ก่อนยุคคริสตกาล ดำเนินและผ่านการดัดแปลงมาหลากหลายรูปแบบ เคยเป็นทั้งประทัดธรรมชาติจากต้นไผ่ ระเบิดอันตรายที่คร่าชีวิตคนนับล้าน หรือแม้กระทั่งหัวใจสำคัญในพิธีพุทธบูชา จนมาถึงปัจจุบัน ที่พลุกลายเป็นสัญลักษณ์ของการเฉลิมฉลอง โดยเฉพาะงานส่งท้ายปีที่ท้องฟ้าทั่วโลกจะถูกย้อมไปด้วยสีจากประกายไฟ
ในอนาคตเราไม่รู้เลยว่าดอกไม้ยักษ์แห่งฟากฟ้าเหล่านี้ จะเปลี่ยนรูปแบบไปในมุมไหนอีกบ้าง แต่ต้องให้มันจะกลายเป็นสิ่งไหน ก็ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า ‘พลุ’ คือเครื่องพิสูจน์ว่า วิทยาศาสตร์และศิลปะสามารถอยู่รวมกันได้อย่างสวยงาม
