พอร์ตโฟลิโอของ แพรรุ้ง รัตนูปถัมภ์
ชั้นปีที่ 4 คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาการออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
ชื่อผลงาน Gender(Escape)tation
“ทำไมเป็นผู้ชายถึงร้องไห้ล่ะ”
“ขับรถแบบนี้ผู้หญิงแน่เลย”
“เป็นกะเทยก็ต้องตลกสิ”
ประโยคคำพูดเหล่านี้คือสิ่งที่เรามักได้ยินกันอยู่บ่อยๆ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นการตีกรอบทางเพศที่ถูกมองข้ามจนกลายเป็นเรื่องปกติในสังคมไปแล้ว
บางครั้งการที่ใครสักคนออกจากความคาดหวังทางเพศ ทำอะไรที่ดูผิดหูผิดตาออกไป ก็อาจจะถูกสังคมเพ่งเล็งหรือมองว่าแปลก แปลกจนกลายเป็นเรื่องผิดร้ายแรงมากๆ เหมือนกับว่า ‘เธอเป็นเพศนี้ต้องทำแบบนี้สิ’ ถ้าไม่ทำแสดงว่าไม่ได้เป็นเพศนั้นจริงๆ
ปัญหาที่แฝงอยู่ในชีวิตประจำวันเหล่านี้คือสิ่งที่คนไทยต้องเจอตั้งแต่เกิดจนโต แต่ก็ไม่มีใครออกมาพูดอย่างจริงจังสักที จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ ‘แพร-แพรรุ้ง รัตนูปถัมภ์’ นักศึกษาสาขาการออกแบบนิเทศศิลป์ชั้นปีที่ 4 เกิดเป็นโปรเจกต์ทีสิสที่มีชื่อว่า ‘Gender(Escape)tation’ ซึ่งแปลว่า ‘ออกจากความคาดหวังทางเพศ’ ในรูปแบบหนังสือภาพประกอบ interactive เล่าถึงความคาดหวังทางเพศจากสังคม เพื่อตระหนักถึงปัญหาเชิงโครงสร้างมากขึ้น
เบื้องหลังของโปรเจกต์นี้ซ่อนประเด็นทางสังคมและค่านิยมของคนไทยในแง่มุมไหนบ้าง แล้วแพรจะพาเราออกจากความคาดหวังทางเพศนี้ยังไง ไปดูพร้อมๆ กัน

1
เพศนี้ต้องทำแบบนี้สิ
แพรเล่าว่าจุดเริ่มต้นของโปรเจกต์นี้เกิดจากการอ่านข่าวเดทไอดอลเกาหลี แน่นอนว่าจะต้องมีประเด็นดราม่าตามมาเสมอ ซึ่งส่วนใหญ่ฝ่ายหญิงมักจะโดนสังคมและแฟนคลับโจมตีอยู่ฝ่ายเดียว ทำให้เธอรู้สึกถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศในสังคม จึงนำมาเสนอเป็นหัวข้อโปรเจกต์ทีสิสกับทางอาจารย์
“แรงบันดาลใจของโปรเจกต์นี้มาจากตอนที่เราอ่านข่าวเดทไอดอลเกาหลี เราเห็นว่าฝ่ายหญิงมักจะโดนสังคมและแฟนคลับโจมตีมากกว่าฝ่ายชายเสมอ ทั้งๆ ที่การเดทก็เป็นเรื่องของคนสองคน แต่ทำไมฝ่ายหญิงต้องโดนโจมตีอยู่ฝ่ายเดียวล่ะ?

“พอได้ปรึกษากับทางอาจารย์เขาก็ให้ไอเดียว่า จริงๆ แล้วปัญหานี้ไม่ได้มีแค่ไอดอลนะ ความคาดหวังทางเพศมีอยู่รอบตัวจนกลายเป็นเรื่องปกติในสังคมไปแล้ว เราเห็นปัญหานี้กันอยู่ทุกวัน แต่แค่ไม่มีใครพูดออกมา
“อย่างตัวเราเองก็เคยโดนคาดหวังทางเพศว่าเป็นผู้หญิงทำไมไม่ดูแลตัวเอง เพียงแค่เห็นว่าเราเป็นสิว ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วเราก็ดูแลตัวเองดี แต่สิวก็ขึ้นของมันเอง หรือการที่เราเป็นคนที่มีขนเยอะมาก เพื่อนๆ ก็จะแซวว่าทำไมขนเยอะเหมือนผู้ชายเลย ซึ่งก็เชื่อว่าน่าจะมีหลายคนที่เจอเหตุการณ์เหล่านี้เหมือนกัน จึงเป็นแรงบันดาลใจทำให้เกิดเป็นโปรเจกต์ Gender(Escape)tation ขึ้นมา”

2
เป็นอะไรก็ได้ ขอให้เป็นคนดี
เมื่อได้ไอเดียตั้งต้นแล้ว ขั้นตอนต่อไปแพรจึงเริ่มทำการรีเสิร์ชข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ของการคาดหวังทางเพศในสังคม และสร้างแบบทดสอบ Google Forms ให้คนในโซเชียล รวมไปถึงสัมภาษณ์จากคนใกล้ตัวเพื่อเก็บข้อมูล
“เริ่มต้นเราลองรีเสิร์ชประเด็นต่างๆ ในอินเทอร์เน็ต แต่รู้สึกว่าข้อมูลเป็นแค่ด้านเดียว เรามองว่าสมัยนี้โซเชียลก็เป็นดาบสองคม คนกลุ่มหนึ่งก็จะไม่เข้าใจเกี่ยวกับความคาดหวังเลย แต่ก็จะมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เริ่มมองเห็นว่าสิ่งนี้คือปัญหา ด้วยความที่เรื่องนี้เกี่ยวกับคนโดยตรง การทำแบบสอบถามและสัมภาษณ์คนใกล้ตัวด้วยก็น่าจะได้ข้อมูลที่อินไซต์มากกว่า ซึ่งจากแบบสอบถามเราได้ข้อมูลมาเยอะมาก มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ

“ประเด็นของผู้หญิงก็จะมีเรื่องเวลาที่ผู้หญิงเล่นเกม มักจะโดนตั้งคำถามว่าเล่นเก่งจริงรึเปล่า จะมาถ่วงทีมไหม มั่นใจได้ยังไงว่าจะเล่นเก่งกว่าผู้ชาย ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้จักเขาเลย แค่เป็นผู้หญิงก็โดนตัดสินไปก่อนแล้ว ส่วนผู้ชายก็จะมีเรื่องการโดนลวนลาม ถ้าเป็นสมัยก่อนเวลาที่ผู้ชายโดนลวนลาม คนก็จะมองว่าเรื่องตลก แต่ตอนนี้เวลาที่มีข่าวผู้ชายโดนลวนลาม เราก็จะเห็นมีคนมาคอมเมนต์ตั้งคำถามว่า ทำไมเวลาผู้ชายโดนลวนลาม คนไม่ได้ใส่ใจเหมือนที่ผู้หญิงโดนเลย

“อีกหนึ่งประเด็นของ LGBTQ+ ที่เรารู้สึกว่าน่าสนใจคือประโยคที่มักจะได้ยินบ่อยๆ ว่า ‘เป็นอะไรก็ได้ ขอให้เป็นคนดี’ ซึ่งตอนแรกเราก็รู้สึกว่าเป็นคำพูดที่ปกติ ไม่เห็นจะมีอะไรเลย แต่พอเราลองไปถามเพื่อนที่เป็น LGBTQ+ เขาก็บอกว่า ‘มันก็ดีนะ แต่มันก็ดีไม่สุด ถ้าจะพูดแบบนี้ไม่ต้องพูดยังดีกว่า’ เราก็เลยลองพูดประโยคนี้กับตัวเอง ‘เป็นผู้หญิงได้นะ แต่ขอให้เป็นคนดี’ เราก็รู้สึกแปลกๆ นะว่าเป็นผู้หญิงแล้วยังไง ต้องเป็นคนดีก่อนเหรอถึงจะเป็นผู้หญิงได้

“อย่างเรื่องการบริจาคเลือด หลายคนก็เพิ่งรู้ว่าชายรักชายบริจาคเลือดไม่ได้ สภากาชาดให้เหตุผลว่าคนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะมีเชื้อ HIV มากกว่าคนทั่วไป แต่ในความเป็นจริงทุกเพศก็มีความเสี่ยงเหมือนกัน ก่อนจะบริจาคเลือดก็ต้องมีการตรวจเช็คก่อนอยู่แล้ว เรารู้สึกว่าข้อห้ามเหล่านี้มันจำกัดสิทธิ์พวกเขาไปเลย ทั้งๆ ที่พวกเขามีใจอยากที่จะช่วยเหลือคนอื่น ซึ่งปัญหาเหล่านี้แฝงอยู่ในชีวิตประจำวัน แต่ไม่มีใครออกมาพูดจริงจังสักที การทำโปรเจกต์นี้ทำให้เห็นปัญหาหลายมิติมากขึ้น”

3
โปรเจกต์ที่สร้างความเข้าใจให้กับสังคม
โปรเจกต์การทำงานครั้งนี้ใช้เวลานานถึง 2 เทอมเต็ม แพรเล่าว่าความยากคือเนื้อหาที่ต้องมีการปรับแก้อยู่ตลอดเวลาและการทำหนังสือภาพประกอบ Interactive ซึ่งเป็นสิ่งที่ตัวเองไม่เคยทำมาก่อน แต่ขณะเดียวกันเธอก็รู้สึกสนุกกับการทำงานครั้งนี้เพราะได้ก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเอง
“เราชอบวาดรูปก็จริง แต่ไม่เคยทำหนังสือภาพประกอบมาก่อนเลย ตอนแรกเสนออาจารย์ไปว่าจะทำหนังสือภาพประกอบเฉยๆ แต่อาจารย์ก็บอกว่ามันดูนิ่งเกินไป อยากให้เพิ่มลูกเล่นมากกว่านี้ เราเลยลองดีไซน์ให้เป็นหนังสือภาพประกอบ Interactive ซึ่งทำให้เราเล่าเรื่องได้ง่ายขึ้นและสิ่งที่ต้องการจะสื่อสารก็ตรงประเด็นมากขึ้นด้วย
“ความยากของโปรเจกต์นี้คือการวางแผนทำงาน ระยะเวลาที่มีจำกัด และตัวเนื้องานก็มีการปรับแก้อยู่ตลอดเวลา แต่หลังจากที่โปรเจกต์เสร็จแล้วได้ไปโชว์ในนิทรรศการ เรารู้สึกภูมิใจกับตัวเองมากที่ได้นำเสนอประเด็นนี้ มีคนให้ความสนใจเยอะกว่าที่เราคิดไว้มากๆ บางคนมาเขียนโพสต์อิทแปะตรงงาน บางคนก็มาแชร์ประสบการณ์ของตัวเองให้เราฟัง เรารู้สึกดีใจที่โปรเจกต์ของเราช่วยคนอื่นได้จริงๆ”

4
ไม่ได้เข้าใจก็แค่ปล่อยผ่าน
แพรสารภาพว่าเมื่อก่อนเธอก็เป็นคนหนึ่งที่เคยตัดสินคนอื่นเหมือนกัน แต่หลังจากที่ได้ทำโปรเจกต์นี้ทำให้เธอกลายเป็นคนที่เริ่มสังเกตและใส่ใจความรู้สึกของคนอื่นมากขึ้น
“เมื่อก่อนเราเป็นคนที่ตัดสินคนอื่นมากๆ ว่าเขาต้องเป็นยังไง อย่างเช่น เราเห็นเพื่อนผู้ชายถือกระเป๋าสีชมพู เพื่อนในห้องก็ขำกัน เราก็จะเป็นหนึ่งในนั้นที่ไปร่วมวงกับเขาด้วย ซึ่งตอนนี้เราก็มานั่งคิดว่าทำไมเราถึงไปขำเขา เขาอาจจะแค่ชอบสีชมพูก็ได้ ซึ่งมันก็ไม่ได้ผิดอะไร ผู้หญิงยังชอบสีฟ้าได้เลย แล้วทำไมผู้ชายถึงชอบสีชมพูบ้างไม่ได้ เหตุการณ์นี้เป็นเหมือนแผลใจเล็กๆ ว่าเราไปล้อเลียนคนอื่น ก่อนหน้านี้เราก็เคยโดนเรื่องความคาดหวัง แต่ทำไมเราถึงไปทำกับคนอื่น

“เราอยากให้คนที่ได้มาอ่านโปรเจกต์นี้ลดการคาดหวังจากคนอื่นมากขึ้น อยากให้เข้าใจทุกคนก็หลากหลาย ทุกคนก็เติบมาในครอบครัวที่แตกต่างกัน การที่คนๆ หนึ่งไม่ได้ทำตามกรอบของสังคม เขาอาจจะมีเหตุผลบางอย่างก็ได้ อย่าไปตีกรอบคนอื่นว่าต้องเป็นยังไง แต่ถ้าพยายามแล้วไม่เข้าใจจริงๆ ก็คิดแค่ว่าเป็นเรื่องของเขา ก็แค่ปล่อยผ่านไปก็ได้”
สามารถรับชมเนื้อหา ‘Gender(Escape)tation’ ของแพรในรูปแบบ e-book ได้ที่ https://www.figma.com/proto/po6k6AhojSRao59b6paCxi?node-id=0-1&t=MJE8rjzMkDKz0H0x-6