พอร์ตโฟลิโอของ พิมพิศา เกือบรัมย์
ชั้นปีที่ 4 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะมัณฑนศิลป์ สาขานิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ชื่อผลงาน “ถึงบ้านแล้วบอกด้วยนะ”
ขอเตือนภัย! เหยื่อรายต่อไปอาจจะเป็นคุณ
“ถึงบ้านแล้วบอกด้วยนะ” ประโยคติดปากที่เรามักจะพูดทิ้งท้ายก่อนแยกย้ายจากเพื่อนสนิทหรือคนใกล้ชิด โดยเฉพาะผู้หญิงด้วยกันที่ต้องกลับบ้านเพียงลำพัง
แต่เคยคิดไหมว่าทำไมเราต้องคอยถามคนอื่นว่าถึงบ้านหรือยังทุกครั้งที่แยกจากกัน หรือเป็นเพราะเรากลัวว่าเขาจะกลับไม่ถึงบ้าน
“ในซอยนี้เปลี่ยว เดินคนเดียวระวังตัวด้วยนะ”
“ป้ายรถเมล์แถวนี้มีข่าวโดนปล้นจี้บ่อยๆ”
“ขึ้นแท็กซี่แล้วถ่ายทะเบียนมาด้วย”
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าประโยคเหล่านี้สะท้อนว่าบ้านเมืองเราอันตรายขนาดไหน เพราะไม่ว่าจะเลือกเส้นทางไหนก็ล้วนมีความเสี่ยง จนเกิดคำถามขึ้นมาในใจว่า ‘เกิดเป็นผู้หญิงในสังคมนี้จะต้องระวังตัวถึงขนาดไหนกันนะ’
ปัญหาความไม่ปลอดภัยในการเดินทางคือสิ่งที่คนไทยต้องเจอตั้งแต่เกิดจนโต จนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของใครหลายคนและเกิดความคุ้นชินโดยไม่รู้ตัว
หนึ่งในนั้นคือ ‘ต้า-พิมพิศา เกือบรัมย์’ นักศึกษาสาขานิเทศศิลป์ชั้นปีที่ 4 จึงเกิดเป็นโปรเจกต์ทีสิสที่มีชื่อว่า “ถึงบ้านแล้วบอกด้วยนะ” ในรูปแบบเกมทางเลือก หรือ Interactive Game Website เล่าเกี่ยวกับผู้หญิงคนหนึ่งที่ต้องเดินทางกลับบ้านคนเดียว โดยคนเล่นจะต้องตัดสินใจเลือกวิธีเอาตัวรอดในสถานการณ์อันตรายที่เกิดขึ้น ซึ่งทุกตัวเลือกมีผลต่อตอนจบของเกมที่ต่างกัน
สารภาพว่าแค่เห็นรูปก็รู้สึกหายใจไม่ทั่วท้อง ถ้าอยากรู้ว่าเกมเอาตัวรอดที่ว่านี้เป็นยังไง เรื่องราวทั้งหมดนี้ได้ซ่อนเหตุการณ์อันตรายของใครไว้บ้าง เชิญกดเริ่มเกมไปพร้อมๆ กัน
1
อินไซท์จากชีวิตจริง
ต้าเล่าว่าเรื่องราวของเกมทางเลือกเกิดจากเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยในการเดินทางคนเดียวที่ตัวเองพบเจอในชีวิตประจำวัน รวมถึงการเห็นข่าวเตือนภัยของคนที่ถูกคุกคามในโซเชียลอยู่บ่อยๆ ทำให้เธอรู้ว่ามีคนในสังคมอีกมากมายที่ยังไม่เข้าใจว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร
“ส่วนใหญ่เหตุการณ์ที่อยู่ในเกมคือเหตุการณ์ที่เราเคยเจอมาก่อน อย่างเช่น เส้นทางเข้าบ้านที่ดูเปลี่ยวรู้สึกเหมือนมีคนเดินตาม เวลาเดินเข้าบ้านแล้วเจอแก๊งคนเมานั่งกินเหล้าหน้าบ้านตะโกนแซว หรือการโดนคนขับแท็กซี่พูดจาคุกคาม เราก็ยกมาจากประโยคที่เคยเจอจริงๆ
“นอกจากนี้ทุกครั้งที่เราเล่นโซเชียลก็จะเห็นข่าวหรือโพสต์เตือนภัยของคนที่ถูกคุกคามบ่อยมาก พอเลื่อนอ่านคอมเมนต์อย่างน้อยต้องมี 4-5 คนที่พูดประมาณว่า ‘แต่งตัวโป๊เปล่าเนี่ย’ ‘คุณไม่ระมัดระวังตัวเองหรือเปล่า’ หรือแย่ที่สุดเลยคือด่าเหยื่อด้วยซ้ำว่า ‘คุณโง่หรือเปล่า แบบนี้ก็สมควรแล้วละ’
“เราก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่ แบบนี้มันเป็นการเบลมเหยื่อมากเกินไปหรือเปล่า การที่เหยื่อแต่งตัวโป๊มันไม่ได้หมายความว่าเขาสมยอมที่จะโดนคุกคาม ไม่ว่ายังไงคุณก็ไม่มีสิทธิ์ไปคุกคามคนอื่น เหยื่อไม่ได้มีอะไรผิดเลยด้วยซ้ำ มันก็เป็นสิ่งที่ติดในใจเรามาเรื่อยๆ เราอยากทำให้คนในสังคมเข้าใจมากขึ้น”
และนั่นจึงเป็นเหตุผลเมื่อถึงช่วงที่ต้องคิดหัวข้อทีสิส เธอจึงไม่ลังเลที่จะเล่าประเด็นนี้
2
เธอก็เคยโดนเหมือนกันใช่ไหม
เมื่อได้ไอเดียตั้งต้นจากอินไซต์แล้ว ขั้นตอนต่อไปต้าจึงเริ่มทำการรีเสิร์ชข้อมูลจากกระทู้เว็บบอร์ด และข่าวการโดนคุกคามที่เกิดขึ้นจริงในสังคมว่ามีวิธีไหนบ้างที่ใช้ในการเอาตัวรอดจากเหตุการณ์ต่างๆ รวมไปถึงสร้าง Google Forms ให้คนในโซเชียลเพื่อเก็บข้อมูล
ทันทีที่ต้าโพสต์ลงในช่องทางโซเชียลมีเดียของตัวเอง กลายเป็นว่าได้รับความสนใจมากกว่าที่คิด มีคนเข้ามาคอมเมนต์พร้อมกับเล่าประสบการณ์ของตัวเองกันมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การโดนดักรอในที่เปลี่ยว การถูกเดินตามในที่สาธารณะ หรือการถูกคุกคามบนรถแท็กซี่ที่คนส่วนใหญ่เจอบ่อยที่สุด
ลองจินตนาการว่าคุณต้องกลับบ้านคนเดียวในช่วงเวลากลางคืนแล้วมีเหตุร้ายเกิดขึ้น คุณจะมีวิธีการเอาตัวรอดจากเหตุการณ์นี้ได้ยังไง?
ถ้าต้องคิดในหัวเร็วๆ ไม่วิ่งหนีสุดชีวิต ก็ต้องต่อสู้ให้ตายกันไปข้าง
แต่จากการทำรีเสิร์ชต้าพบว่าจริงๆ แล้วยังมีวิธีการเอาตัวรอดที่น่าสนใจและคาดไม่ถึงอีกมากมายที่ช่วยให้เรารอดพ้นจากสถานการณ์อันตรายได้เช่นกัน
“มีเพื่อนเราคนหนึ่งเข้ามาทำแบบสอบถามเล่าว่าเคยเดินเข้าบ้านตอนกลางคืนเหมือนกัน ระหว่างเดินเข้าบ้านก็มีคนเดินตาม สุดท้ายไม่รู้จะทำยังไงก็เลยทิ้งกระเป๋าแล้วก็ยืนรำอยู่ตรงนั้น รำจนคนที่เดินตามกลัวแล้วก็เดินหนีวิ่งหนีไปเลย
“อีกอันหนึ่งที่เรารู้สึกว่าน่าสนใจคือแท็กซี่พูดจาคุกคามไปในเชิงชู้สาว เขาก็หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาแกล้งทำเหมือนคุยกับแฟนแล้วพูดว่า ‘เธอรู้ไหมว่าเธอลืมปืนไว้ในกระเป๋าเค้านะ’ แล้วจากนั้นแท็กซี่ก็เงียบแล้วก็ไม่พูดอะไรอีกเลยจนถึงบ้าน
“เรารู้สึกว่าชอยส์แบบนี้เป็นชอยส์ที่เราคาดไม่ถึง เพราะถ้าเป็นเราอยู่ในสถานการณ์ตรงนั้น เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าตัวเองจะกล้าทำไหม ช่วงที่ทำรีเสิร์ชเรารู้สึกเครียด หดหู่มาก เพราะต้องเอาตัวเองมาอยู่กับข่าวตรงนี้เพื่อที่จะเก็บข้อมูล ทำให้เราย้อนกลับมาคิดกับตัวเองว่าวันหนึ่งจะโดนแบบนั้นบ้างหรือเปล่า”
ต้าสารภาพว่าก่อนที่จะได้มาทำโปรเจกต์นี้ เคยคิดว่าจะมีแค่ผู้หญิงเท่านั้นที่ตกเป็นเหยื่อ แต่หลังจากการทำรีเสิร์ชพบว่ามีผู้ชายและกลุ่ม LGBTQ+ จำนวนมากที่เข้ามาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ ซึ่งก็มีตั้งแต่การถูกพูดจาคุกคาม การถูกลวนลาม การถูกรีดไถ่เงิน รวมไปถึงการถูกยัดยาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ
“มีเพื่อนเราที่เขาเป็น LGBTQ+ เล่าว่าสมัยก่อนที่แต่งตัวเป็นผู้ชายก็ใช้ชีวิตปกติไม่เคยโดนอะไรเลย แต่พอเริ่มแต่งตัวไว้ผมยาวเป็นผู้หญิงก็ถูกคุกคาม เขาก็รู้สึกว่านี่แค่แต่งตัวไว้ผมยาวเอง เสียงก็ยังเป็นเสียงผู้ชายเหมือนเดิมยังโดนขนาดนี้เลย รู้สึกว่าสำหรับผู้หญิงมันคงไม่ปลอดภัยจริงๆ”
3
เกมที่ยังไม่ทันเล่น ก็รู้สึกไม่ปลอดภัยแล้ว
เมื่อหญิงสาวจำเป็นต้องกลับบ้านกลางดึกเพียงลำพัง
เส้นทางที่ไม่อาจคาดเดาได้นี้ขึ้นอยู่กับทุกการตัดสินใจของคุณ
คล้ายกับมีแรงดึงดูดที่ทำให้เราสนใจทันทีเมื่อได้อ่านประโยคข้างต้น ต้าเล่าว่าเหตุผลที่เลือกนำเสนอในรูปแบบเกมทางเลือก หรือ Interactive Game Website ประกอบไปด้วยสามเหตุผลด้วยกัน
อย่างแรก ต้าเป็นคนที่สนใจ Interactive Game Website อยู่แล้ว
อย่างที่สอง มองว่าเกมเป็นรูปแบบที่เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ง่ายและทำให้เนื้อหาดูน่าสนใจมากขึ้น
และอย่างสุดท้าย อยากให้คนที่เข้ามาเล่นเกมมีอารมณ์ร่วมไปกับตัวละครในเรื่องได้มากที่สุด จึงสร้างสถานการณ์ว่าถ้าตัวผู้เล่นตกอยู่ในภัยอันตรายเหล่านั้นจะตัดสินใจอย่างไร เพราะสามารถสร้าง Awareness ให้สังคมได้
“เพื่อนบางคนที่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้จริงๆ ตอนเล่นก็กลัวไม่กล้าเล่นต่อ เพราะว่าเขารู้สึกรีเลตมากๆ ต้องมายืนรวมกันสองสามคนเพื่อที่จะเล่น เหตุผลที่ทำไมตอนจบเราเลือกทำเป็นรูปแบบของข่าวเตือนภัย เพราะเราอยากให้คนเล่นรู้สึกว่าเรื่องราวของผู้หญิงในเกมมันก็เหมือนกับเรื่องราวของคนอื่นๆ ที่คุณอาจจะเคยเลื่อนเจอบนโลกโซเชียล อยากให้รู้สึกว่ามันใกล้ตัวเรามากๆ แล้วมันก็สามารถเกิดขึ้นกับทุกคนได้”
หลังจากที่ต้าได้นำข้อมูลทั้งหมดมาจำลองเหตุการณ์คร่าวๆ แล้วก็ลองนำเสนออาจารย์ผู้หญิงกับผู้ชาย แต่ก็ได้รับฟีดแบ็กที่แตกต่างกัน
“ตอนตรวจเรารู้สึกว่าอาจารย์ผู้หญิงจะให้ความสนใจมากกว่า มารุมดูกัน มีความตื่นเต้นแล้วก็อินไปกับเนื้อเรื่อง อาจจะเป็นเพราะว่าสำหรับอาจารย์ผู้หญิงมันเป็นเรื่องใกล้ตัว รู้สึกว่างานรีเลตกับตัวเองมากกว่าอาจารย์ผู้ชาย
“ส่วนคำแนะนำก็มีอาจารย์ผู้ชายเสนอให้ลองเพิ่มชอยส์ในกรณีที่ผู้ก่อเหตุหน้าตาดี เผื่อว่าตัวละครในเกมจะใจอ่อนเห็นว่าหล่อก็เลยไว้ใจ ตอนแรกที่ได้ยินแบบนั้นเราก็รู้สึกไม่โอเคมากๆ เพราะเหมือนเบลมว่าเป็นความผิดของเหยื่อ แต่จุดประสงค์ของอาจารย์อาจจะแค่อยากช่วยสร้างสีสันของงานมากขึ้น เพราะมันเป็นเกมที่คุณสามารถลองใส่อะไรก็ได้
“แต่กับในโลกความเป็นจริงเราคิดว่าคงไม่มีใครกล้าที่จะเอาชีวิตตัวเองเข้าไปเสี่ยงตรงนั้นเพียงเพราะผู้ก่อเหตุเขาหล่อหรอก ก็อาจจะมีบางกรณีที่ถูกล่อลวงไปทำอะไรสักอย่างโดยคนก่อเหตุใช้คำพูดหรือหน้าตาแล้วได้ผล แต่ก็ไม่ได้แปลว่าตัวเหยื่อเขาจะสมยอมที่จะถูกคุกคามอยู่ดี”
4
โปรดระวัง! เหยื่อรายต่อไปอาจจะเป็นคุณ
ถึงแม้สังคมไทยในปัจจุบันจะมีความเจริญมากขึ้น มีเทคโนโลยีและบริการใหม่ๆ เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก คอยเป็นหูเป็นตาให้เรา แต่ความรู้สึกถึงอันตรายก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะลดน้อยลงเลย เพราะก็ยังมีข่าวเตือนภัยให้เราเห็นอยู่ทุกวัน ดังนั้นการหลีกเลี่ยงเอาตัวเองไปอยู่ในที่อันตรายและพกอุปกรณ์ป้องกันตัวเองติดตัวไว้คงเป็นวิธีการเอาตัวรอดที่อาจจะลดความเสี่ยงลงไปได้บ้าง
“ต้องยอมรับว่าประเทศไทยจะไปไหนทำอะไรก็ดูอันตรายไปหมดเลย ดังนั้นถ้าหลีกเลี่ยงได้ก็ควรจะหลีกเลี่ยง ถ้ารู้ว่าจะกลับบ้านดึก การมีคนไปรับไปส่งได้ก็น่าจะดีกว่าการกลับบ้านตัวคนเดียว หรือถ้าเป็นไปได้ควรพกพวกอุปกรณ์ป้องกันตัว อย่างเช่น สเปรย์แอลกอฮอล์ กุญแจต่างๆ หรือฝึกท่าป้องกันตัวเบื้องต้นไว้ก็จะดีมาก
“จริงๆ แล้วพวกอุปกรณ์ป้องกันตัวมันมีประโยชน์มากกว่าที่เราคิด อย่างเช่น สเปรย์พริกไทย ถ้าประเทศไทยสามารถแก้ให้ถูกกฎหมายและจำกัดปริมาณการใช้ได้ แล้วสามารถพกติดตัวได้จริงๆ มันก็คงจะดีกว่านี้ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ลงโทษคนที่ก่อเหตุหนักขึ้น เพราะรู้สึกว่าโทษมันก็เบาไปหน่อย คนร้ายถึงยังกล้าทำแบบทุกวันนี้”
5
เพราะชีวิตจริงไม่สามารถเริ่มเกมใหม่ได้
โปรเจกต์ทำงานครั้งนี้ใช้เวลาเพียงแค่ 4 เดือนตามระยะเวลาที่อาจารย์ให้เท่านั้น ระหว่างทางต้ายอมรับว่ารู้สึกท้อกับการรวบรวมข้อมูลทางวิชาการที่เข้าถึงยาก แต่ขณะเดียวกันเธอก็รู้สึกสนุกและภูมิใจในตัวเองกับการทำงานครั้งนี้ไม่น้อย และตั้งใจว่าถ้ามีโอกาสก็อยากจะพัฒนาต่อยอดโปรเจกต์ไปเรื่อยๆ
“เรารู้สึกว่าโปรเจกต์นี้ทำให้เรามองเห็นมุมมองใหม่ๆ มากขึ้น ตั้งแต่เริ่มทำเรามองงานนี้ด้วยเลนส์ของตัวเอง แต่พอเริ่มโพสต์ทวิตเตอร์ก็มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็น มาแนะนำไอเดียต่างๆ มากมาย ทำให้เรารู้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมันอาจจะไม่ได้เป็นแบบที่เราคิดเสมอไป
“ถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะนำเสนอใหม่ๆ เช่น มุมมองผ่านผู้ชาย หรือ LGBTQ+ ที่อาจจะเจอเหตุการณ์อันตรายแบบนี้บ้าง หรืออาจจะนำเสนอเป็นประเด็นอื่นไปเลย อย่างเช่น ความปลอดภัยเวลาเราอยู่บ้านคนเดียว มีวิธียังไงที่จะป้องกันตัวเองบ้าง เพราะส่วนตัวรู้สึกว่าภัยอันตรายมันยังมีอีกหลายอย่างเลยที่คนในสังคมไม่ได้ตระหนักถึงขนาดนั้น”
ท้ายที่สุดแล้ว ในฐานะของผู้หญิงที่คิดเกมทางเลือกนี้ขึ้นมา เราถามต้าว่าอะไรคือทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับผู้หญิงที่ต้องใช้ชีวิตต่อไปในสังคมที่เต็มไปด้วยความไม่ปลอดภัย
“แน่นอนว่าในเกมเราสามารถกลับมาเล่นซ้ำเพื่อหาตอนจบแบบใหม่ได้เรื่อยๆ จนในที่สุดเราก็จะรู้ว่าทางเลือกไหนจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่ในชีวิตจริงเราไม่รู้เลยว่าสิ่งที่เราตัดสินใจไปแล้วมันจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ถ้าเราตัดสินใจอีกแบบหนึ่งชีวิตเราจะเป็นยังไง
“ดังนั้นการที่คนในสังคมเรียนรู้ที่จะเคารพสิทธิซึ่งกันและกันน่าจะเป็นทางเลือกและทางออกที่ดีที่สุด”
อ่านมาถึงตรงนี้ หากใครสนใจอยากพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับต้า สามารถตามไปดูผลงานโปรเจกต์ “ถึงบ้านแล้วบอกด้วยนะ” ในนิทรรศการ “Leaper” งานแสดงศิลปนิพนธ์ของภาควิชามัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม เป็นต้นไป
สามารถเล่นเกม “ถึงบ้านแล้วบอกด้วยนะ” ได้ที่ https://gethomesafe.newfile.studio
ติดตามโปรเจกต์ของต้าได้ทาง Twitter: newfilestudio และ Instagram: newfilestudi.o