วันที่นิทานเปลี่ยนชีวิต

นานแค่ไหนแล้วที่คุณไม่ได้อ่านหนังสือนิทาน?

ถ้าเปลี่ยนคำถามเป็นนานแค่ไหนแล้วที่คุณไม่ได้อ่านเรื่องราวผ่านภาพ

ความรู้สึกจาก 2 คำถามข้างต้นแตกต่างกันหรือไม่

เราเป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้มีประสบการณ์วัยเด็กเชื่อมโยงกับนิทานมากนัก อาจเพราะโตมาในชนชั้นกลางที่ต่างจังหวัด หนังสือนิทานที่เข้าถึงง่ายมักเป็นนิทานเล่มบาง ภาพวาดมีความแข็ง สีสันไม่สบายตา ภาพไม่ต่อเนื่องกับเรื่องราว เต็มไปด้วยการสอนสั่งสิ่งดีงามเสมอ ซึ่งตัวเรารู้สึกต่อต้านและอึดอัดทุกครั้งที่ฟังจบ 

หลังจากผ่านวัยอนุบาล เราไม่เคยได้ใกล้ชิดนิทานอีกเลย แค่ท่องจำบทเรียนในแต่ละชั้นปีก็หมดพลังไปเยอะมากแล้ว ส่วนห้องสมุดโรงเรียนในวัยเด็กเป็นเพียงสถานที่เก็บฝุ่นขนาดใหญ่ หรือที่แอบนอนของรุ่นพี่ใจกล้า หนังสือเก่าเหลือง หน้าปกขาด เนื้อหาหนังสือมีเพียงไม่กี่หมวด เช่น หน้าที่พลเมือง มารยาท ศาสนา หนังสือวิทยาศาสตร์ที่ปกดูอย่างไรก็ไม่วิทยาศาสตร์ และวรรณกรรมที่พยายามสร้างความเป็นชาติ เป็นต้น

วรรณกรรมแปลหลายเล่มหล่อเลี้ยงใจในช่วงวัยรุ่น จนวันหนึ่งมีโอกาสเข้ามาฝึกงานที่ a day ในโครงการชื่อ a team junior ช่วงนั้นเราได้ทำนิตยสารซึ่งมีธีมหลักเกี่ยวกับนิทาน ทำให้ชีวิตเรากลับมาทักทายนิทานอีกครั้งในวัย 20 ต้นๆ การเข้าไปในห้องสมุดมาเรีย ของ มศว (สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ) ครั้งแรกเป็นประสบการณ์ที่น่าประทับใจมาก

เราเพิ่งรู้ว่าโลกใบนี้มีนิทานหลายประเภท มีวิธีการพิมพ์ ลูกเล่นในการเล่า เนื้อเรื่องแบบที่เราไม่คิดว่าจะพบเจอในรูปแบบของนิทานอีกร้อยแปดแบบ เราได้เจอนิทานเรื่อง หนูน้อยหมวกแดง ประมาณ 5 เวอร์ชัน แต่ละเล่มล้วนมีความเฉพาะตัวตามวัฒนธรรม และเอกลักษณ์ของภาษานั้น พร้อมรับข้อมูลใหม่จากการค้นคว้าของเพื่อนๆ ว่าแท้จริงต้นทางของนิทานเรื่องหนูน้อยหมวกแดงเป็นนิทานสอนศีลธรรมเรื่องเพศสำหรับผู้หญิง ภายใต้สังคมชายเป็นใหญ่ โดยการให้หนูน้อยหมวกแดงแทนถึงความบริสุทธิ์ของผู้หญิง เสื้อคลุมสีแดงเปรียบเสมือนเลือดประจำเดือน เด็กสาวเสื้อคลุมแดงจึงหมายถึงผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ ส่วนจมูกยาวๆ ของเจ้าหมาป่าแทนสัญลักษณ์อวัยวะของเพศชาย สุดท้ายบทสรุปของนิทานเรื่องนี้มักมีนายพราน ชายผู้แข็งแรง มีอำนาจและอาวุธเข้ามาช่วยแก้ปัญหา โชคดีที่ช่วง 10 ปีมานี้สังคมในหลายวัฒนธรรมเริ่มเปลี่ยนตอนจบของนิทานคลาสสิก โดยเปิดพื้นที่ให้หนูน้อยหมวกแดงหรือคุณยายขึ้นมาแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องรอคอยนายพราน เช่น งานของ Bethan Woollvin นักเขียนผู้ดัดแปลงเรื่องราวของหนูน้อยหมวกแดงและราพันเซลให้ดูแลตนเองได้ โดยไม่ต้องรอคอยโอกาสจากเพศชายเหมือนที่ผ่านมา 

ในการไปห้องสมุดมาเรียครั้งแรก ปกนิทานเล่มหนึ่งทำงานกับใจเรา จนอดไม่ได้ที่จะเปิดอ่าน มันชื่อว่า “The snow man by Raymond Briggs”

ความทรงจำเบื้องต้นเกี่ยวกับนิทานคือ เรื่องต้องแฮปปี้แอนดิ้ง สั่งสอน เน้นความสุข ความสนุก ผจญภัย แต่กับเล่มนี้แค่เปิดหน้าแรกก็เขย่าความเชื่อเรามากๆ เนื่องจากนิทานไม่มีตัวอักษรปรากฏแม้แต่ตัวเดียว ไม่นะ … ได้เหรอ? ความละมุนของภาพวาดที่มีความต่อเนื่องชวนอ่าน ตัวละครมีท่าทีที่ชัดเจน สิ่งเหล่านี้ชวนเราหลุดเข้าไปในโลกนิทานได้ทันที เราร้องไห้เมื่ออ่านเล่มนี้จบ มีก้อนความรู้สึกหลายส่วนที่ตีขึ้นมา ทั้งเศร้า อิ่มเอม ประหลาดใจ สงบสุข ประทับใจ ที่ตกใจมากคงเป็นความรู้สึกเหล่านี้เกิดขึ้นจากการอ่านภาพที่ไม่มีคำบรรยาย ที่สำคัญ หน้าสุดท้ายของนิทานเล่มนี้ไม่มีคติสอนใจหรือคำสั่งสอนถูกผิดเหมือนที่เราเคยเจอมาตอนเด็ก เราอายเพื่อนที่ไปด้วยกัน เราพยายามเก็บความรู้สึก แล้วปล่อยเรื่องนี้ไปเพื่อกลับมาอยู่ในวงเพื่อน แต่กลายเป็นว่านิทานเล่มนี้ค้างอยู่ในใจเราเป็นอาทิตย์ 

เรากลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำไมนิทานภาพ 1 เล่มถึงทำงานกับใจเราเยอะขนาดนี้ เพราะเราเซนซิทีฟไปหรือเปล่านะ ต้องเกริ่นหน่อยว่าเรามีเสียงเล็กคล้ายเด็ก ช่วงเข้าวัยรุ่นจนถึง 20 กว่าๆ มักจะมีคนระบุความเป็นเราว่ามันยังเด็ก ใสซื่อ แบ๊ว ไร้เดียงสา มันยังไม่โต เด็กน้อยมาก ฯลฯ เสียงในใจเราตะโกนออกมาเสมอว่า  “โตแล้ววววว” เรารู้สึกด้อยค่า ไม่เก่ง ความมั่นใจลดลงเรื่อยๆ ในวัยที่โตขึ้นแต่มีบุคลิกที่ยังคงเด็ก อาจเพราะชั่วโมงบินยังน้อยเราจึงให้เสียงคนอื่นมามีอิทธิพลกับชีวิตเรามากเกินไป ด้วยเหตุนี้เราจึงคิดว่าเราอาจจะเด็กจริงๆ เหมือนที่หลายคนบอก เราจึงร้องไห้ไปกับนิทาน 

หลังจากนั้นเราอ่านนิทานในรูปแบบวรรณกรรมมากขึ้น โดยเน้นนิทานที่ใช้ในการบำบัด เริ่มจากหนังสือของ ฆอร์เฆ่ บูกาย เรื่อง ฉันจะเล่าให้คุณฟัง หลายครั้งที่หนังสือเล่มนี้ชวนให้เราเริ่มสังเกตเห็นพลังของนิทาน เมื่อมีโอกาสไปร้านหนังสือ เราเริ่มแบ่งเวลาให้มุมหนังสือนิทานเด็กมากขึ้น ชีวิตนอกรั้วมหา’ลัยคดไปมาอยู่ 2 ปี จนได้ข้อสรุปว่าเราจะกระโดดเข้ามาทำงานตามฝันนั่นคืออาชีพครูอนุบาล

ด้วยเนื้องานทำให้เราใกล้ชิดนิทานมากขึ้น เราพัฒนาตัวเองผ่านการฝึกเล่านิทานหลากหลายรูปแบบ ทั้งนิทานหุ่น นิทานเพลง นิทานรูปแบบเล่ม นิทานตั้งโต๊ะ (รูปแบบวอลดอร์ฟ) และพาตัวเองไปอยู่ในฐานะผู้ฟังผ่านวิทยากรนานาชาติที่มีประสบการณ์ด้วยเสมอ โลกส่วนตัวกับโลกของงานกลายเป็นเรื่องเดียวกัน เราสนุกกับการค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับนิทานจนลืมนอนอยู่บ่อยๆ นิทานช่างเป็นสื่อการเรียนรู้ที่เหมาะกับเด็กๆ จริงๆ 

สิ่งที่ได้เรียนรู้เพิ่มเติมคงเป็นการมองเห็นนิทานในมิติที่ซับซ้อนขึ้น เช่น นิทานที่เกี่ยวกับการเมือง นิทานวัฒนธรรม นิทานศาสนา นิทานเน้นความคิดสร้างสรรค์ นิทานด้านอารมณ์ที่ไม่ได้เน้นแค่อารมณ์เชิงบวก แต่เปิดพื้นที่ให้อารมณ์เศร้า เสียใจ ความโกรธ นิทานเรื่องการสูญเสีย นิทานความตาย เป็นต้น

เมื่อมีโอกาสได้ศึกษาปริญญาโท ด้วยความที่พยายามนำสิ่งที่ชอบมาปรับใช้กับงานวิจัยทำให้เราค้นพบวิธีการ bibliography นั่นคือการใช้หนังสือในการบำบัด (บรรณบำบัด) เมื่อหาข้อมูลในไทยพบว่าการใช้หนังสือบำบัดมักเป็นการเลือกใช้วรรณกรรมที่ใช้ภาษาสละสลวย เนื้อหาซับซ้อน มีคำอ่านยาก ซึ่งจากการถอดบทเรียนพบว่าการใช้หนังสือบำบัดจำเป็นต้องดูพัฒนาการกลุ่มผู้เข้าร่วมเป็นหลัก หากคุณเอาวรรณกรรมรางวัลไปใช้กับผู้เข้าร่วมที่มีทักษะการอ่านไม่แข็งแรง อาจทำให้การประเมินไม่ตรงกับเป้าตั้งต้น ซึ่งช่องว่างส่วนนี้ทำให้เราคิดว่านิทานภาพเป็นเครื่องมือที่เข้ามาเชื่อมรอยตรงนี้ได้

ภาพหนังสือนิทาน ‘แมว 11 ตัวกับยักษ์อุฮิอะฮะ’

คุณคิดว่าหนังสือนิทานภาพเล่มนี้เหมาะกับผู้อ่านวัยใด? 

จริงหรือที่นิทานเล่มนี้เหมาะสำหรับเด็กอนุบาล?

เหตุผลใดที่ทำให้คุณเชื่อมั่นเช่นนั้น รูปแบบ สีสัน หรือเป็นเพราะคำแปะหน้าที่เขียนไว้ว่า โรงเรียนอนุบาลควรมี

… 

วันหนึ่งเมื่อ 4 ปีก่อนเราว่างจากงานประจำ เดินเข้าไปในเซเว่นฯ เห็นเด็กนั่งเล่นมือถือกันเป็นกลุ่มใหญ่เพียงเพราะรอพ่อเเม่ที่ขายของอยู่ตลาดข้างๆ เราเข้าไปทักทายเเละถามเด็กทุกคนว่า 

“พี่มีหนังสือนิทานเยอะเลย อยากเล่าให้ฟัง มีใครอยากฟังบ้าง” 

ทุกคนเงยหน้ามาคุยกับเราเเละพยักหน้า 

เรารีบเดินกลับห้องแล้วหยิบเล่มนี้ไป

ใช่!!! เราเล่านิทานกันในเซเว่นฯ ด้วยการปรึกษาหัวหน้าสาขาอย่างเป็นทางการ เราเล่ากันอยู่ประมาณ 50 นาทีในมุมที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ปิดอยู่เพื่อไม่ให้มีคนเดินผ่าน

สิ่งที่เราสังเกตเเละตั้งคำถามคือ เด็กกลุ่มนี้อยู่ ป.5 ทำไมเด็กๆ ยังสนุกและอินกับหนังสือได้มากขนาดนี้
น้องตอบกลับมาซื่อๆ ว่า “ไม่เคยฟังนิทานสนุกๆ เเบบนี้เลย เล่มนี้ภาพสวยจัง”

2 เดือนต่อมา

พี่ๆ กลุ่มดาวเหนือชวนเราเข้าไปจัดกระบวนการให้น้องๆ ในสถานพินิจบ้านเมตตา โจทย์ของกระบวนการกว้างมาก เปิดพื้นที่ให้เราออกเเบบกระบวนการได้เต็มที่ เมื่อกลุ่มเป้าหมายมีข้อจำกัดเรื่องการอ่านเเละการเขียน นิทานภาพจึงเป็นเครื่องมือแรกที่เป็นมิตรกับผู้เข้าร่วมเพราะเด็กน้อยในวัยอนุบาลยังอ่านเขียนไม่คล่องแต่สามารถเข้าใจสารของนิทานได้จากการอ่านภาพ (visual literacy) เเละฟังเรื่องเล่าผ่านเสียง

เล่มนี้คือหนึ่งในกระบวนการวันนั้น สิ่งที่เราเห็นในวินาทีเเรกคือเเววตาของเยาวชนในสถานพินิจฯ ที่กระตือรือร้นอยากรู้เรื่องราวในหน้าต่อไป เต็มไปด้วยความความกระหายใคร่รู้ที่อยากเรียนรู้ต่อ

บ่ายวันนั้นพวกเราเปิดมุมให้น้องๆ สะท้อนการเรียนรู้ 

น้องๆ ส่วนใหญ่ หลงเสน่ห์นิทานภาพ  เเละเกิดความอยากอ่านหนังสือขึ้นมาด้วยตัวเขาเอง บางคนสะท้อนการเรียนรู้ถึงเนื้อหาของนิทานเล่มนี้ที่เชื่อมโยงกับเรื่องราวชีวิตจริงของเขา ว่าหากเขาได้อ่านนิทานเล่มนี้ก่อน เขาคงตัดสินใจใหม่กับเหตุการณ์ที่ผ่านมา เรายิ้มรับกับการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น

หลังจากนั้นมีโอกาสได้อบรมการเล่านิทานกับอาจารย์ Rie Muranaka ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิเมล็ดฝัน ท่านได้เล่านิทานเล่มนี้เป็นตัวอย่าง เเละถามว่าในหน้าปกมีเจ้าเเมวกี่ตัว? นักเรียนในห้องต่างฮือฮากันมาก ท่านชวนเรานับเเมวทีละตัวๆ แล้วค่อยๆ กางปกหลังออกมา ^^ คงไม่ต้องเฉลยว่ามีกี่ตัว เราเเค่อยากบอกว่าเทคนิคเหล่านี้มันน่ารักเเละดึงดูดผู้ฟังให้กลับมาอยู่กับนิทานได้น่าสนใจมาก ไม่ว่าผู้ฟังเหล่านั้นจะอยู่ในวัยใด

นอกจากสีสันที่ดึงดูดตาเเละลูกเล่นในการวาด เช่น ท้องฟ้าเป็นสีชมพู เเมวเดิน 2 ขา เเละความน่ารักมากมายที่ซ่อนอยู่ในภาพ เราชื่นชมวิธีการเล่าเรื่องของหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนสามารถหยิบเรื่องกฎ กติกา การอยู่ร่วมกันในสังคมที่เหมือนจะเป็นเรื่องที่จับต้องได้ยาก ไม่ใช่เฉพาะเเค่เด็กน้อย เเต่รวมถึงผู้ใหญ่เเบบเราด้วย มาถ่ายทอดผ่านเรื่องราวและภาพวาดได้อย่างลงตัว เด็กๆ สามารถรับรู้เรื่องกฎ กติกา การยับยั้งชั่งใจ การเเก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนเเละมีความสนุกอยู่ในตัว ไม่รู้สึกกดดันหรือถูกสั่งสอน แถมลุ้นไปกับการตัดสินใจของแก๊งเจ้าเหมียวว่าจะฝ่าฝืนกฎต่อหรือไม่

ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้เเล้ว เราขอถามคำถามเดิมซ้ำ

คุณคิดว่าหนังสือนิทานภาพเล่มนี้เหมาะกับผู้อ่านวัยใด?

จริงหรือที่นิทานเล่มนี้เหมาะสำหรับเด็กอนุบาล?

เหตุผลใดที่ทำให้คุณเชื่อมั่นเช่นนั้น?

คำตอบของคุณยังเหมือนเดิมหรือไม่ 

AUTHOR