1
“ลูกอย่าตกใจนะ”
สิ้นประโยคนั้น พ่อค่อยๆ บรรจงหยิบปรอทวัดไข้ออกจากรักแร้ เขายื่นให้ฉันดูโดยที่ตัวเองแทบไม่มอง เพราะเขารู้ดีอยู่แล้วว่าตัวเลขบนหน้าจอเล็กๆ ของปรอทจะแสดงค่าเท่าใด
‘38.1’
แม้ถูกห้ามไว้ก่อน แต่ในโมงยามที่ประเทศเกิดการระบาดของไวรัส COVID-19 ฉันจะไม่ตกใจยังไงไหว ในเมื่อข้อมูลในโลกอินเทอร์เน็ตต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ตัวเลขอุณหภูมิร่างกายที่เกิน 37.5 องศาเซลเซียสคือสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังมากๆ ในเวลานี้
“อาจจะเป็นไข้เฉยๆ ก็ได้” ฉันตอบพ่อกลับไปแบบนั้นโดยพยายามข่มใจและทำเสียงให้ราบเรียบที่สุด แม้ฟังดูเฉยชาและไม่มีหางเสียง แต่คิดว่านั่นคือสิ่งที่ดีสุดที่ตัวเองทำได้แล้วในเวลานั้น
“ไม่อยากเป็นเลย” พ่อพูดรำพึงรำพันกับตัวเอง
‘นั่นสิ’ ฉันคิดแบบนั้นอยู่ในใจเหมือนกัน
2
ถ้าจะว่ากันตามความเป็นจริง ฉันกับพ่อไม่ใช่คู่พ่อ-ลูกที่สนิทสนมกันสักเท่าไหร่
สมัยเด็กอาจใช่ แต่กับตอนนี้ที่ฉันกำลังมีเลขตัวหน้าของอายุเข้าใกล้เลขสามและพ่อใกล้เลขหก ฉันพบว่าพ่อกับฉันคุยกันคนละภาษามากขึ้นไปทุกที มุมมอง ความคิด หรือแม้แต่การกระทำของเรา ล้วนไปคนละทิศคนละทางกันอย่างสิ้นเชิง เราเป็นคนจากต่างเจเนอเรชั่นที่ปะทะคารมกันบ่อยครั้ง และไม่ยอมกัน
จนถึงจุดหนึ่ง คล้ายๆ กับว่าฉันถอดใจแล้ว
ไม่ใช่ว่าไม่รัก ฉันตอบตัวเองได้อย่างหนักแน่นเสมอว่าฉันรักครอบครัวมากแค่ไหน แต่ในแง่ของการใช้ชีวิต วันหนึ่งฉันก็ไม่อยากปรับตัวเข้าหาเขาไปเสียอย่างนั้น
ฉันไม่อยากต่อล้อต่อเถียง ไม่อยากปะทะ ไม่อยากมีปัญหาอะไรกับพ่ออีก เหตุนั้นเองฉันถึงเลือกที่จะกลายเป็นคนเงียบและเย็นชา ฉันคุยกับเขาน้อยลงจนแทบไม่มีปฏิสัมพันธ์ใดๆ ต่อกัน เพราะคิดเอาเองว่าวิธีนี้แหละจะทำให้ฉันไม่เจอปัญหา
หลังจากนั้น เวลาเขาทำอะไรไม่ถูกใจฉันเลือกจะเงียบใส่ ถ้าไม่จำเป็นฉันมักไม่แสดงความเห็นบนโต๊ะอาหาร ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนเป็นคนที่พูดเยอะที่สุด หรือเวลากลับมาบ้าน ถ้าเลือกได้ฉันจะพุ่งตรงเข้าห้องตัวเองมากกว่าจะไปนั่งสนทนากับพ่อแม่ที่ไม่ค่อยได้เจอกัน ฉันกลายเป็นเด็กเก็บตัวในสายตาของพวกเขามากเข้าไปทุกที
และเมื่อไหร่ไม่รู้ที่ความสนิทของเราสองคนค่อยๆ หายไปจนถึงตอนนี้
3
“พ่ออยากกินอะไร”
“กะเพราเนื้อ ไข่ดาวไม่สุก”
“โอเค เดี๋ยวซื้อกลับไปให้”
ฉันวางโทรศัพท์จากพ่อก่อนหันไปออร์เดอร์เมนูอาหารตามที่ได้รับมากับพนักงานร้าน
อย่างที่รู้กันว่าในตอนนี้มาตรการรับมือไวรัสนั้นเปลี่ยนไปทุกวัน แต่ในวันที่พบว่าพ่อเริ่มมีไข้สูง ผู้เชี่ยวชาญและกระทรวงสาธารณสุขต่างออกมาบอกว่าการไปตรวจเชื้อ COVID-19 ที่โรงพยาบาลนั้นควรมีอาการครบถ้วน ถ้ามีแค่บางอาการ (อย่างเช่นพ่อฉันที่มีแค่ไข้สูง) ก็อาจทานยารักษาและดูอาการที่บ้านก่อนได้ ดังนั้นเรื่องการหุงหาอาหารวันนี้จึงเป็นหน้าที่ของฉันและพี่ชายที่ใส่แมสก์ออกมาหาอะไรทานและซื้อไปฝากเขา
ระหว่างนั่งรออาหารนั่นเองที่ความคิดฉันเริ่มทำงาน
‘จริงๆ แล้วนี่ไม่ใช่ครั้งแรกหรอกที่พ่อป่วย’
ในช่วงไม่กี่ปีหลัง ช่วงเวลาเดียวกันกับที่ฉันกระทบกระทั่งกับพ่อบ่อยครั้ง พ่อเองก็เริ่มมีอาการป่วยด้วยอัตราที่ถี่มากขึ้น พ่อเริ่มไม่สบายบ่อยขึ้น หนำซ้ำบางครั้งก็หนักจนถึงขั้นเข้าโรงพยาบาล ในทุกๆ ครั้งฉันจะไปเยี่ยมเขาเสมอ เวลาเห็นชายหนุ่มที่เคยแข็งแรงมากนอนซมอยู่บนเตียง ช่วงเวลาเหล่านั้นทำปฏิกิริยากับความรู้สึกของฉันอยู่เหมือนกัน แต่ในทุกๆ ครั้งเหล่านั้นสำหรับฉันไม่มีครั้งไหนหนักเท่าครั้งนี้
อาจเพราะสื่อและข้อเท็จจริงที่หลายคนประโคมข่าวที่ว่าอาการของไวรัสนั้นมีตั้งแต่ระดับคล้ายไข้หวัดธรรมดาไปจนถึงเสียชีวิต ฉันผู้ซึ่งมองโลกในแง่ร้ายเป็นทุนเดิมก็อดคิดมากไปไกลไม่ได้ ถ้าพ่อเกิดติดเชื้อขึ้นมาจริงๆ และเป็นกรณีที่ร้ายแรงที่สุดล่ะฉันจะทำยังไง
ความรู้สึกทั้งหมดนี้กระตุกความคิดของฉันให้หันไปมองอดีตและตั้งคำถาม
‘นี่เราสองคนกำลังทำอะไรกันอยู่’
สิ่งที่ฉันคิดในตอนแรกว่าความเย็นชาอาจเป็นคำตอบของฉันกับพ่อ ฉันคิดถูกจริงๆ หรือ กับเหตุการณ์ที่ผ่านมาฉันแก้ไขและทำมันอย่างดีที่สุดหรือยัง ทิฐิที่ฉันแบกไว้อยู่เต็มบ่ามันจำเป็นขนาดนั้นไหม ในหัวฉันมีแต่คำถามเหล่านี้อยู่เต็มไปหมด แต่ภายใต้ทั้งหมดนั้นมีคำถามใหญ่สุดที่ฉันถามตัวเองดังๆ ขึ้นมาในใจ
‘แล้วถ้าวันนี้เป็นวันสุดท้าย ฉันเสียดายอะไรหรือเปล่า’
“กะเพราได้แล้วค่ะ” เสียงจากน้องพนักงานเสิร์ฟปลุกฉันขึ้นจากภวังค์
4
ระหว่างขับรถกลับบ้าน ฉันขับผ่านโรงพยาบาลที่ตัวเองเคยแอดมิตตอนเด็ก
แม้ความทรงจำจะเลือนรางมากและจำสาเหตุหลักไม่ได้ด้วยซ้ำ แต่ฉันจำได้คลับคล้ายคลับคลาว่าตัวเองไม่ได้ป่วยหนักนัก แค่รักษาตามอาการและวันรุ่งขึ้นก็ออกจากโรงพยาบาลได้อย่างสบายใจ แต่ความทรงจำหลังจากนั้นต่างหากที่ฉันเห็นภาพชัดเจนจนถึงตอนนี้
ด้วยความที่โรงพยาบาลแห่งนี้อยู่ติดกับร้านอาหารที่มีเมนูข้าวผัดอเมริกันแสนอร่อย เมื่อออกมาจากโรงพยาบาลพ่อและแม่ชวนฉันทานอาหารที่นี่ทันที ฉันจำได้ว่าตัวเองในตอนนั้นไม่ได้ชอบกินข้าวผัดอเมริกันเท่าไหร่หรอก แต่ที่จำได้แม่นคือนี่เป็นไม่กี่เมนูที่พ่อชอบ ฉันจึงตอบตกลงทานร้านนี้โดยคิดเข้าข้างตัวเองตามประสาเด็กว่าฉันกำลังเสียสละให้พ่ออยู่
ในวันนั้น เราสี่คน พ่อ แม่ พี่ชาย และฉัน ต่างนั่งลงกินข้าวพร้อมกันอย่างมีความสุข ฉันจำไม่ได้แล้วว่าตัวเองสั่งอะไร แต่พ่อสั่งข้าวผัดอเมริกันอย่างที่คิดไว้ และเขาก็เอร็ดอร่อยกับมันอย่างที่ฉันตั้งใจ
แม้เวลาจะผ่านมาถึงตอนนี้ แต่ความรู้สึกที่ว่า ‘ฉันดีใจที่เห็นพ่อมีความสุขเพราะฉัน’ ก็ยังไม่จางหาย มันยังคงชัดเจนมากๆ จนถึงตอนนี้
ฉันยังคงจำมันได้ เพียงแต่ฉันไม่ได้รู้สึกแบบนี้มานานเหลือเกิน
5
ฉันบรรจงนำข้าวกะเพราเนื้อ ไข่ดาวไม่สุก จากกล่องโฟมใส่จานและจัดเรียง
ถ้านับเฉพาะอาหารจานเดียวที่พ่อชอบ ข้าวผัดอเมริกันดูกระจอกไปเลยเมื่อเทียบกับกะเพราเนื้อ นี่น่าจะเป็นเมนูแรกสุดที่พ่อนึกถึงเวลาเข้าร้านอาหารตามสั่ง ดังนั้นตอนพ่อบอกฉันผ่านโทรศัพท์ ฉันไม่แปลกใจเท่าใดนักที่เป็นเมนูนี้
หลักจากนำทุกอย่างใส่จาน ฉันค่อยๆ จัดแจงทั้งหมดใส่ถาด ก่อนที่ฉันจะไปเคาะประตูห้องพ่อเพื่อนำอาหารเข้าไปเสิร์ฟ แน่นอนว่าตอนนั้นฉันใส่แมสก์ ส่วนพ่อเองที่นอนซมอยู่บนเตียงก็ใส่แมสก์เช่นกัน แม้จะมีหน้ากากคั่น แต่คำพูดคุยของพ่อกับฉันยังคงแจ่มชัด
“วางไว้ที่พื้นเลยลูก เดี๋ยวพ่อทาน”
“ตรงนี้เนอะ”
“ใช่ๆ ตรงนั้นแหละ”
ฉันค่อยๆ วางถาดอาหารห่างจากเตียงพ่อประมาณ 1 เมตร แล้วลุกขึ้นหันหลังออกจากห้อง
“ดีจังเลยลูก” เสียงพ่อพูดขึ้นมาอย่างแผ่วเบาทำเอาฉันต้องหันกลับไปมอง
“อะไรนะ”
“ที่ลูกทำน่ะ ดีจัง”
ในนาทีนั้น สารภาพว่าฉันไม่รู้จะทำหน้ายังไง กลายเป็นว่าแมสก์ที่ปิดปากและจมูกบดบังสีหน้าของฉันได้ดีชะงัด
“พรุ่งนี้ถ้าไข้ยังไม่ลดต้องไปตรวจนะ” ฉันเลือกที่จะเปลี่ยนเรื่อง
“อื้ม” พ่อตอบกลับสั้นๆ ก่อนบอกให้ฉันออกไปได้แล้ว เดี๋ยวจะติดโรคกันพอดี
ฉันปิดประตูตามหลังประโยคนั้นไม่นาน ก่อนที่จะเข้าไปล้างมือในห้องน้ำและมองตัวเองในกระจก
ไม่รู้เหมือนกันว่าฉันคิดไปเองไหม
แต่ฉันว่าภายใต้หน้ากากอนามัยนั้น ตัวฉันกำลังยิ้ม
หมายเหตุ : ในวันรุ่งขึ้นไข้ของพ่อไม่ได้ลดแต่อย่างใด เขาเข้าไปตรวจที่โรงพยาบาลและพบว่าตัวเองปลอดเชื้อ COVID-19 แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคืออาการไข้เหล่านี้มาจากการอักเสบที่กระเพาะปัสสาวะ ตอนนี้พ่อฉันกำลังเตรียมเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล และแน่นอนว่าด้วยวิกฤตเช่นนี้ฉันอาสาเป็นคนเฝ้าไข้พ่อเอง