ราคาที่อยู่อาศัยในเมืองที่พุ่งกระฉูดขึ้นทุกปีๆ สอนให้คนเมืองเรียนรู้ว่าพื้นที่เมืองที่มีค่ายิ่งกว่าทองนี้จำเป็นต้องถูกจัดสรรและออกแบบให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของสถาปนิก นักผังเมือง รวมถึงเทศบาลเมืองนั้นๆ ที่จะต้องคิดและออกแบบการใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่าในทุกตารางเมตร
คำว่าคุ้มค่าในที่นี้คงไม่ได้หมายถึงแค่เม็ดเงินทางเศรษฐกิจหรือค่าเช่าที่เราจ่ายไป เพราะที่สำคัญกว่าคือพื้นที่สาธารณะที่ดีต่อการใช้ชีวิตของคนในย่านและดีต่อภูมิทัศน์ภาพรวมของเมือง ชาวเมืองคงไม่อยากเห็นพื้นที่รกร้างหรืองานออกแบบที่ดูแล้วไม่สบายตา หรือแม้กระทั่งความคุ้มค่าในระดับสังคม เช่นว่างานออกแบบนี้สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนความยั่งยืนให้โลกได้หรือเปล่า

โคเปนเฮเกน เมืองหลวงของประเทศเดนมาร์ก คือตัวอย่างคลาสสิกที่คนทำงานด้านเมืองมักใช้เป็นตัวอย่างศึกษาเรื่องการออกแบบและจัดการพื้นที่สาธารณะที่ดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
สถานที่ที่โดดเด่นก็มีทั้ง Superkilen Park ลานกว้างสาธารณะที่เป็นพื้นที่แสดงถึงความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมของคนในเมือง ซึ่งมีภาพจำเป็นกราฟิกยึกยือสวยๆ บนพื้นถนน หรือ The Ørestad Islands เกาะกลางน้ำที่เป็นเหมือนสะพานเชื่อมระหว่างคลองที่มีฟอร์มเท่ไม่แพ้กัน
แต่พื้นที่สาธารณะที่เราอยากชวนทุกคนเดินขึ้นบันได 7 ชั้นไปเยี่ยมชมพร้อมๆ กันในวันนี้คือ Konditaget Lüders ลานเล่นและพื้นที่ออกกำลังกายบนชั้นดาดฟ้าของอาคารจอดรถ parking house ที่บอกเล่าการใช้พื้นที่ในเมืองให้ตอบโจทย์ความต้องการของคนเมืองได้มีประโยชน์สุดๆ

Nordhavn Masterplan ที่ทางเทศบาลเมืองร่วมมือกับ By & Havn บริษัทพัฒนาเมืองภาคเอกชน เพื่อฟื้นฟูและพลิกฟื้นย่านท่าเรือเก่านี้ให้เต็มไปด้วยพื้นที่เมืองใหม่ๆ ที่มีชีวิตชีวา
อาคารจอดรถ 7 ชั้นที่ตกแต่งด้วยเหล็กสีแดงสไตล์ industrial แห่งนี้ตั้งอยู่ใน Århusgade ย่านที่อยู่อาศัยใหม่ในเขต Nordhavn ทางตอนเหนือของโคเปนเฮเกน ซึ่งการพัฒนาดาดฟ้าอาคารจอดรถแห่งนี้มีที่มาจากการประกวดแบบอาคาร parking house ในปี 2013 โดยเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์โปรเจกต์นี้เริ่มจากความคิดที่ต้องการทลายหน้าที่เดิมและหน้าที่เดียวของอาคาร นั่นคือพื้นที่สำหรับจอดรถยนต์เฉยๆ บวกกับความตั้งใจที่อยากให้พื้นที่ถูกใช้สอยโดยคนในย่านมากที่สุด ผลงานของบริษัทสถาปนิกเจ้าถิ่นอย่าง JAJA Architects ที่มีจุดขายคือลานเล่นบนดาดฟ้า Konditaget Lüders จึงชนะทั้งการประกวดและชนะใจคนเมืองไปในที่สุด กระทั่งพื้นที่สาธารณะแห่งนี้ได้เริ่มเปิดให้ใช้งานจริงในปี 2016

แต่ก็ใช่ว่าฟังก์ชั่นเดิมของตึกนี้จะไร้ประโยชน์ เพราะอาคารจอดรถ 7 ชั้นนี้สามารถรองรับรถยนต์และยานพาหนะอื่นๆ ได้กว่า 485 คัน ควบคุมด้วยระบบไฟ LED แบบประหยัดพลังงาน และยังมีการออกแบบทางวนขึ้นลานในทางเดียว ซึ่งช่วยลดเวลาการขับวนหาที่จอดไปในตัว
อีกจุดที่โดดเด่นคืองานออกแบบภายนอกอาคารที่เป็นเหมือนกล่องเหล็กสี่เหลี่ยมสีแดงอิฐ ล้อไปกับประวัติศาสตร์ของย่านที่เคยเต็มไปด้วยโรงงานริมท่าเรือ ระเบียงแต่ละชั้นยังเผื่อพื้นที่ไว้สำหรับปลูกต้นไม้เขียวๆ และปล่อยให้มีไม้เลื้อยคลุมตลอด facade เพิ่มความสดชื่นให้กับคนมอง อีกหนึ่งรายละเอียดที่สะท้อนว่าทีมสถาปนิกใส่ใจให้อาคารนี้กลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของย่านคือการฉลุตลอดระเบียงความยาวกว่า 440 เมตร โดยมีลวดลายคือภาพเหตุการณ์และบุคคลสำคัญในแบบคอลลาจ ซึ่งทำหน้าที่เล่าประวัติศาสตร์ของพื้นที่ท่าเรือประมงริมทะเลนี้ไปในตัว


วิธีวอร์มอัพชั้นดีก่อนที่จะไปออกกำลังกายบนดาดฟ้าแห่งนี้คือการเดินขึ้นบันไดความสูง 24 เมตรมาเรื่อยๆ (แต่ถ้าใครขาแข้งไม่ดี จะขึ้นลิฟต์มาก็ได้ไม่ว่ากัน) เมื่อขึ้นมาถึงจะเจอลานกว้าง 2,400 ตารางเมตร พร้อมวิวเมืองโคเปนเฮเกนได้แบบเต็มสองตา ส่วนการออกแบบพื้นที่นั้นก็ยังคงรูปแบบสไตล์ industrial ด้วยการใช้โครงเหล็กสีแดง (the red thread) ที่มีฟอร์มโค้งไปโค้งมาทั่วลาน เหมือนกระดูกสันหลังของพื้นที่
แต่ละโซนของงานก็จะถูกออกแบบมาให้สอดรับกับกิจกรรม หลังจากเดินยืดเหยียดร่างกายจนพอใจแล้ว จะนั่งพักไกวชิงช้าเล่นเพลินๆ กระโดดไปบนแทรมโพลีนจิ๋วพร้อมกับเพื่อนๆ โหนบันไดลิงทดสอบกำลังแขน หรือจะปีนตาข่ายขึ้นไปชมวิว 360 องศาของเมืองพร้อมกับวิวทะเลไกลสุดลูกหูลูกตาก็ได้
ด้วยโซนกิจกรรมที่มีหลากหลายให้เลือกทำ ที่นี่จึงไม่ได้ตอบโจทย์แค่เด็กๆ แต่เราสามารถเห็นคนทุกเพศทุกวัยขึ้นมาขยับแข้งขา หรือจะแค่ชวนกันเดินขึ้นมานั่งพูดคุยหลังเลิกงานในแต่ละวันก็ไม่ผิด เพราะลานเล่นนี้เปิดให้ทุกคนขึ้นมาได้ฟรีทุกวันจนถึง 4 ทุ่ม ไม่ได้จำกัดแค่เฉพาะคนที่มาใช้บริการลานจอดรถเท่านั้น


ในแง่ประโยชน์ใช้สอย Konditaget Lüders จึงทำหน้าที่เป็นทั้งพื้นที่สาธารณะในเมืองที่สวยจนกลายเป็นไอคอนของย่าน และในเมื่อพื้นที่ถูกออกแบบมาดีมาก มันจึงยิ่งเชื้อเชิญให้คนออกมาใช้งาน เป็นลานออกกำลังกายและใจชั้นดีในเมืองใหญ่ที่พื้นที่จำกัดลงทุกวัน สมกับที่โคเปนเฮเกนถูกจัดอันดับให้เป็นเมืองที่คนมีสุขภาพดีเป็นอันดับหนึ่งของยุโรป ประเมินจากคุณภาพอากาศ น้ำดื่ม ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ พื้นที่สีเขียวในเมือง และการออกแบบเมืองที่ส่งเสริมให้คนเดิน วิ่ง และออกกำลังกาย (อย่าลืมว่าโคเปนเฮเกนเป็นเมืองสวรรค์ของนักปั่นจักรยานทั่วโลก)
ท้ายที่สุด ลานออกกำลังกายบนดาดฟ้านี้เลยช่วยตอบโจทย์ใหญ่ที่ต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนเมืองไปด้วยเช่นกัน
ด้วยโลเคชั่นริมทะเลที่ดีมากตั้งแต่ต้น คงน่าเสียดายไม่น้อยหากอาคารนี้จะเป็นแค่ที่จอดรถธรรมดาๆ จนไม่มีใครสามารถขึ้นมาเสพภูมิทัศน์เมืองนี้ได้ ทำให้เรามองว่างานออกแบบ Konditaget Lüders นี้ตีโจทย์แตกตรงที่กล้าจะเปลี่ยนพื้นที่ดาดฟ้าให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าที่สุด เพราะไหนๆ ย่านนี้ก็เต็มไปด้วยที่อยู่อาศัยของผู้คนมากมาย ที่สำคัญมันคือการแก้ปัญหาอย่างเรียบง่ายมากๆ แค่การเปลี่ยนพื้นที่ดาดฟ้าให้เป็นพื้นที่ที่ทุกคนขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้จริงๆ โดยไม่ได้ทำอะไรที่ยิ่งใหญ่เกินหน้าตาของย่านเดิม

แท้จริงแล้ว แนวคิดการใช้พื้นที่ดาดฟ้าอาคารให้เป็นประโยชน์คุ้มค่าไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการสถาปัตยกรรมและการออกแบบเมือง
มีตัวอย่างมากมาย ทั้งการประยุกต์พื้นที่ให้เป็นสวนผักบนดาดฟ้า (rooftop garden) หรือสวนสาธารณะเล็กๆ ให้ขึ้นไปพักผ่อนหย่อนใจและใช้จัดกิจกรรม ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองแล้ว ในอีกทางหนึ่ง สวนดาดฟ้าเหล่านี้ก็ยังเป็นโครงสร้างเมืองที่ช่วยดูดซับน้ำฝน กักเก็บน้ำ ไปจนถึงช่วยชะลอการไหลเวียนของน้ำในเมืองไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วม
แวบแรกที่เห็น Konditaget Lüders นั้นทำให้เรานึกถึง Miyashita Park ทางเดินสีเขียวที่ทอดยาวไปบนดาดฟ้าของห้างสรรพสินค้าและโรงแรมหรูในย่านชินจูกุที่โตเกียว หรือ Health Aid AIR TRACK ลู่วิ่งความยาว 300 เมตรบนดาดฟ้าของห้าง Morinomiya Q’s Mall ที่โอซาก้า ส่วนในไต้หวันก็มีตัวอย่างคือ Sky Garden สวนสาธารณะเล็กๆ ที่ประดับด้วยท่อกลมๆ รูปฟอร์มโค้งเว้า บนดาดฟ้าของโรงละคร National Taichung Theater ที่เมืองไถจง
พื้นที่สาธารณะเหล่านี้ถูกออกแบบมาเพื่อให้คนเมืองมีพื้นที่นอกบ้าน ให้ได้พบปะเจอกัน และสร้างปฏิสัมพันธ์กันในเมืองใหญ่ ที่นับวันพื้นที่ส่วนตัวยิ่งน้อยลงสวนทางกับมูลค่าที่สูงขึ้น คงจะดีถ้าพื้นที่ทุกตารางเมตรไม่ได้ถูกแปรมูลค่าเป็นเงินเท่านั้น แต่ถูกใช้เพื่อพัฒนาและต่อยอดคุณภาพชีวิตที่ดีให้คนในเมืองได้เช่นกัน

อ้างอิง