Farm Stage : เวทีปราสาทข้าวที่ผสานภูมิปัญญากับสถาปัตย์ยุคใหม่ในงาน Wonderfruit

เวทีคอนเสิร์ตหรือโชว์ของเทศกาลต่างๆ
มักเริ่มคิดจากการออกแบบลูกเล่นกราฟิกสวยงาม จัดเต็มเครื่องเสียง แสงไฟ
และเอฟเฟกต์อลังการประทับใจผู้ชม แต่กับไลฟ์สไตล์เฟสติวัล Wonderfruit สิ่งที่ทีมงานใส่ใจมากกว่าคือการหลอมเอางานศิลปะและธรรมชาติรวมเข้ากับสีสันและความสนุกของกิจกรรมต่างๆ
ได้ Farm Stage หรือเวทีปราสาทข้าวที่สร้างจากไม้ไผ่
ตกแต่งด้วยรวงข้าวของจริง รอให้ผู้คนเข้าไปสนุกกับกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องข้าวๆ
ในปีนี้ ก็เป็นตัวอย่างชัดเจนของสิ่งที่ Wonderfruit เชื่อและเป็นเสมอมา

ไม่ใช่แค่ความสวยงาม
แต่ไอเดียสนุกสะท้อนภูมิปัญญาไทยที่ข้องเกี่ยวกับธรรมชาติอย่างแยกกันไม่ออกของ Farm Stage ทำเราตื่นเต้นที่จะได้ไปเห็นเวทีนี้ของจริงในงานแล้ว
ทอม-พหลไชย เปรมใจ เจ้าของสำนักสถาปนิกพอดี
(PO-D Architects) ผู้ออกแบบเวที และ
ตั๊บ-ธนพัฒน์ บุญสนาน จากบริษัท ธ.ไก่ชน จำกัด สถาปนิกงานสร้าง จะมาบอกเล่าขั้นตอนการทำงานร่วมกันระหว่างงานสถาปัตยกรรมกับโครงสร้างไม้ไผ่ที่ไม่ง่าย
แต่สนุกด้วยความตั้งใจที่แข็งแรงไม่แพ้เวทีไหนๆ เลย

โจทย์คือเวทีที่ไม่ใช่เวที

ทอม:
“ปี 2558 ผมได้ออกแบบงานให้ จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม
ทำเป็นปราสาทข้าวซึ่งหยิบเอาประเพณีบุญคูณลานของภาคอีสานมาใช้
ชาวบ้านจะนำข้าวที่เกี่ยวเสร็จแล้วขึ้นมารวมกันที่ลาน
ทำพิธีบายศรีก่อนจะนำไปถวายให้วัด ซึ่งพอข้าวมากองรวมกันเยอะๆ
มันก็ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
มีการประดับตกแต่งทำเป็นหลังคาชั้นๆ เหมือนโบสถ์หรือวิหารเลย ซึ่งคุณพีท (ประณิธาน พรประภา ผู้ก่อตั้งเทศกาล Wonderfruit) ไปเจอเขาก็ชอบมาก
เราก็นั่งคุยกันที่นั่นเลย”

“โจทย์ที่ Wonderfruit ชวนไปทำคือตั้งใจให้เป็นเวทีที่ไม่ใช่เวทีใหญ่
มีการแสดงดนตรีคึกคักอะไร
แต่เป็นพื้นที่เชื่อมโยงกับฟาร์มเกษตรออร์แกนิกและงานศิลปะของงาน กิจกรรมของ Farm
Stage จึง follow ตามลักษณะของเวทีได้เลย”

ไอเดียเดิมแต่เพิ่มเติมคือไม้ไผ่

ทอม: “ทาง Wonderfruit
ชอบทรงปราสาทข้าวอยู่แล้ว
แต่งานนี้เราอยากใช้ไม้ไผ่มาเป็นโครงสร้างด้วย
ช่วงแรกเราก็ทำแบบโดยโชว์ให้เห็นรูปทรงธรรมชาติของไม้ไผ่จริงๆ เป็น Organic
Form แต่ Wonderfruit ก็เสนอมาว่าอยากให้เพิ่มความเป็นไทยลงไปหน่อย
รูปทรงออร์แกนิกฟอร์มที่เราถอดแบบมาจากปราสาทหินมันจะดูแข็งๆ ต่อกันขึ้นไปเป็นก้อน
เลยย้อนกลับไปดูงานที่ทำให้ จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม
และพัฒนาต่อจากตัวนั้นโดยใช้ไม้ไผ่ดัดเป็นโครงสร้างโค้งๆ
ประสานกับรวงข้าวเป็นซุ้มหลังคาบนยอดปราสาท แบบนี้ก็ได้เห็นความงามของทั้งไม้ไผ่และข้าว
ความเป็นไทยก็ยังอยู่”

เสริมความปลอดภัยอีกชั้นด้วยเหล็ก

ทอม: “การออกแบบก็เหมือนอาคารเลย
ทำแบบร่างซึ่งใช้สัดส่วนถอดมาจากปราสาทหินพิมายเพาะว่ามีผังใกล้เคียงกัน
ทำโมเดลและจำลองสามมิติเพื่อดูโครงสร้างเวที
ซึ่งตรงนี้ต้องคุยกับช่างจาก ธ.ไก่ชน
เลยว่าทำได้จริงหรือเปล่า
บางจุดฝืนธรรมชาติของไม้ไผ่เกินไปเพราะมีจุดเปลี่ยนแรงที่ต่างไปจากตอนทำให้จิม
ทอมป์สัน ก็จำเป็นต้องใช้เหล็กมาช่วย
นอกจากสวยงามแล้วเราก็ต้องเน้นเรื่องความปลอดภัยด้วย”

ตั๊บ:
“ในแบบร่างมีบางส่วนเป็นโค้งไม่จริงของไม้ไผ่อยู่
มันจะหักผิดปกติ โค้งไม้ไผ่ควรจะดัดให้สมูท
ก็เข้าไปปรับแบบกับพี่ทอมว่าส่วนนี้ควรโค้งยังไง ความถี่ความห่างเป็นเท่าไหร่
และเคลียร์ว่าส่วนไหนควรใช้ไม้ไผ่อะไร อย่างส่วนที่ดัดโค้ง
เราจะใช้ไผ่เลี้ยงขนาดใหญ่ประมาณ 2 นิ้วครึ่งซึ่งยังดัดได้อยู่
แต่ถ้าเป็นโครงสร้างเล็กๆ จะใช้ไม้ไผ่รวกที่มีขนาดเล็กกว่ามัดรวมกันเป็นอันใหญ่
ใช้แค่ 2 ชนิดนี้ และด้วยความสูงของเวที 15 เมตร กว้าง 32 เมตร
มันค่อนข้างใหญ่กว่างานสถาปัตยกรรมไม้ไผ่ปกติที่เคยทำมา
ก็ต้องใส่โครงสร้างเหล็กเข้าไปในส่วนแกนกลางเวที
ความท้าทายของงานนี้เลยอยู่ที่ความสูงและการทำโครงสร้างผสมระหว่างไผ่กับเหล็กให้สำเร็จ”

ปลูกจริง
เกี่ยวจริง เพื่อสร้างจริง

ทอม:
“ข้าวที่ใช้ผมกำหนดแค่ว่าขอเป็นข้าวเหนียว
เพราะเม็ดข้าวจะอ้วนกว่า มองจากไกลๆ ก็ยังสวย และขอให้ลำต้นสูงๆ
เกี่ยวมาแล้วต้องให้ยาวกว่า 70 เซนติเมตร
ก็มาลงตัวที่พันธ์ุสันกำแพงซึ่งทาง Wonderfruit ไปติดต่อให้เกษตรกรในจังหวัดฉะเชิงเทราช่วยปลูกให้เป็นพิเศษ
เพราะปกติเขาปลูกข้าวจ้าวกัน
และต้องขอให้เกี่ยวมือด้วยซึ่งเกษตรกรก็ไม่ได้เกี่ยวข้าวด้วยมือนานมากแล้ว”

“เดิมทีงานจะจัดเดือนธันวาคม
เราก็คำนวณถอยหลังไปว่าให้เกษตรกรปลูกช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม
เพราะต้องใช้เวลาประมาณ 110 วันตั้งแต่หว่านถึงจะเก็บเกี่ยวตอนกลางเดือนพฤศจิกายน
จะได้ข้าวเมล็ดโต ลำต้นหนากำลังดี แต่พองานเลื่อนมาจัดเดือนกุมภาพันธ์
ข้าวที่เกี่ยวไว้แล้วก็ต้องหาโรงเก็บที่เปิดโล่งและห้ามโดนฝนเลย
มันยังใช้ได้อยู่แค่ลำต้นและขนาดเมล็ดข้าวจะเล็กลง
เลยต้องใช้ปริมาณข้าวเยอะขึ้นเพื่อให้เพียงพอต่อโครงสร้างที่วางไว้
ทั้งหมดใช้ข้าวประมาณ 18 ไร่ ซึ่งต้องใช้ให้พอด้วย
เพราะไม่มีข้าวจากที่อื่นแล้ว”

ประสานพลังจากไม้ไผ่

ตั๊บ:

“ด้วยโครงสร้างที่ใหญ่และเวลาจำกัด
สิ่งสำคัญมากคือต้องวางแผนว่าจะสร้างอันไหนก่อนหลัง
เราเริ่มทำฐานรากของเสาเหล็กตัวหลักซึ่งเป็นโครงสร้างเวทีที่ต้องทำให้แข็งแรงก่อน
แล้วจึงเริ่มทำสองส่วนด้านข้างเวที ผสานไม้ไผ่ให้แน่น
เสร็จตรงนี้ก็เหมือนคนกางขาไว้แล้ว
ไม้ไผ่ที่เราสานไว้สองฝั่งด้านข้างก็เหมือนเป็นนั่งร้านในตัว ขึ้นไปทำยอดปราสาทจากตรงนั้นได้
เราไม่ทำงานซับซ้อนและใช้ช่างไม่เกิน 10 คน
รู้ว่าคนไหนทำอะไรและโฟกัสเป็นจุดๆ จะดีกว่า พอโครงสร้างเสร็จแล้วก็ค่อยมุงหลังคา
เรียงตับข้าว 2,000 กว่าตับ
คำนวณเวลาไว้แล้วส่วนนี้น่าจะใช้ประมาณ 7 – 10 วันเสร็จ”

ทอม:
“ยอดของเวทีก็เป็นโครงไม้ไผ่แล้วหุ้มด้วยข้าวทั้งหมด
เรามีวิธีสานข้าวกับเวที 2 แบบ
คือทิ้งรวงข้าวดิ่งติดทับไม้ไผ่ลงไปเลย แต่ปีกด้านข้าง 2 ฝั่ง
เราอยากโชว์ให้เห็นความสวยงามของโครงสร้างไม้ไผ่ด้วย ก็ติดข้าวจากด้านใน สลับกัน”

สื่อความหมายมากกว่าแค่เวทีข้าวชั่วคราว

ตั๊บ: “ผมมองว่างานชิ้นนี้เป็นงานหัตถกรรมที่ทำจากข้าวเลยนะ
อย่างผมทำงานไม้ไผ่ ใช้ใบจาก หญ้าคา หญ้าแฝกมาตลอด แต่ผมไม่เคยนึกถึงการใช้ข้าวเลย
ทั้งๆ ที่ข้าวก็เป็นต้นหญ้า อยู่ในหมวดเดียวกันกับไผ่
งานนี้น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้เราเห็นว่าวัสดุธรรมชาติของไทยเอามาทำอะไรได้มากกว่าที่คิด
เป็นไอเดียให้นักออกแบบได้ว่าไม่ต้องไปโหยหาวัสดุจากต่างชาติแพงๆ ก็ได้”

ทอม: “นอกจากคนจะหยุดดูความสวยงาม
เห็นว่าเป็นปราสาทที่สร้างจากรวงข้าวเป็นล้านๆ
เราอยากให้เขาเข้าใจคุณค่าของข้าวมากกว่าแค่การกินอย่างเดียว ช่วงกลางวันที่ Farm
Stage จะมีกิจกรรมที่เกี่ยวกับข้าว สาธิตการปลูกข้าว การเกี่ยวข้าว
ไปดูอาหารที่มีข้าวเป็นส่วนประกอบ
ชาวต่างชาติอาจสนใจในเชิงสัญลักษณ์ของรูปทรงปราสาทว่าหมายถึงอะไร
เชื่อมโยงไปถึงประเพณีและวิถีชีวิตของคนอีสาน หรืออาจจะสนใจพันธุ์ข้าวเหนียว
จะเห็นว่ามันมีอะไรให้ไปศึกษาต่ออีกยาวเลย และเมื่องานจบลง
เราก็ยังคิดว่าเวทีจะถูกเอาไปใช้ยังไงต่อ ความยั่งยืนไม่ได้หมายถึงต้องคงอยู่ต่อไป
แต่ใช้แล้วเอากลับไปใช้ต่อไม่ให้มีสิ่งเหลือก็เช่นกัน
ไม้ไผ่จะเอากลับไปใช้ใหม่ได้หมด หรือข้าว
พอจบงานเราก็จะสีเป็นข้าวเหนียวให้กินได้เลย”

ภาพ Wonderfruit

wonderfruitfestival.com

AUTHOR