“I know = I am familiar with it as a certainty.”
Ludwig Wittgenstein
1
คำคุณศัพท์ certain ในภาษาอังกฤษที่แปลว่า ‘แน่นอน, เป็นจริง’ นั้นเริ่มใช้กันตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 มาจากคำภาษาฝรั่งเศสเก่า certain ซึ่งแปลว่า ‘เชื่อได้, แน่ใจได้ และจริงแท้แน่นอน’ มีรากศัพท์มาจากภาษาพูดละติน (vulgar latin) คำว่า certanus ที่แผลงมาจากคำว่า certus ซึ่งหมายความถึง ‘การกำหนด, การยึด, การติด, การตั้งอยู่ของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง’ และรวมไปถึง ‘ความชัดแจ้ง, ชัดเจน, ปราศจากข้อสงสัย’ ดังที่ปรากฏในภาษาฝรั่งเศสเก่า cert ภาษาอิตาเลียนเก่า certo และภาษาสเปนเก่า cierto ซึ่งทั้งหมดสืบรากจากภาษาโปรโต–อินโดยูโรเปียน krie ที่แปลว่า ‘การกรอง, การแยก’ ซึ่งมาจากคำกรีก krisis จึงกล่าวได้ว่า คำว่า certain และ crisis ที่เราแปลว่า ‘วิกฤต’ นั้นจึงมีที่มาเดียวกัน แม้ความหมายจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงก็ตามที
วลีที่ว่า ‘ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน’ เป็นหนึ่งในคำกล่าวที่เราต้องเคยได้ยินกันบ้าง ด้วยเพราะวลีนี้มักถูกนำมาใช้เพื่อสื่อถึงแก่นความคิดของพุทธศาสนาที่อธิบายถึงความเป็นอนิจจลักษณะของสรรพสิ่งทั้งหลาย ตั้งแต่วัตถุที่เราจับต้องได้ไปจนถึงความนึกคิดจิตใจที่ล้วนตั้งวางอยู่บนความไม่เที่ยงแท้ จนเราบางคนถึงกับเข้าใจว่าถ้อยคำข้างต้นเป็น ‘พุทธพจน์’ เสียด้วยซ้ำไป
หากสำหรับชาวโลกตะวันตกแล้ว คำกล่าวนี้เป็นที่รู้จักในฐานะของ ‘คติธรรมแบบฝรั่งเศส’ และถูกยกเครดิตให้เป็นของ Françoise Villon เอกกวีผู้มีชีวิตเยี่ยงจารชนในกลางศตวรรษที่ 15 ซึ่งปรากฏในวรรคหนึ่งของบทกวี Ballade du concours de Blois ที่วิยงได้รจนาเอาไว้ว่า
สำหรับข้า ไม่มีอะไรแน่นอน นอกเสียจากความไม่แน่นอน
คลุมเครือ แม้ในสิ่งที่กระจ่าง
ข้ามิพักสงสัยในสิ่งใด นอกเสียจากสิ่งที่เที่ยงแท้…Rien ne m’est sûr que la chose incertaine ;
Obscur, fors ce qui est tout évident ;
Doute ne fais, fors en chose certaine ;
การขบคิดถึง ‘ความไม่แน่นอนที่แน่นอน’ หรือ ‘ความแน่นอนที่ไม่แน่นอน’ อาจเรียกได้ว่าเป็นปัญหาสากลที่ยังคงอยู่กับมนุษย์เราในทั่วทุกพื้นทวีปเรื่อยมาจนปัจจุบัน ซึ่งสำหรับนักปรัชญาและบรรดาผู้แสวงหาความจริงทั้งหลาย ความเที่ยงแท้แน่นอน (certainty) ถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ด้วยเป็นคุณสมบัติประการหนึ่งที่ใช้พิสูจน์ความเป็น ‘สัจจะ’ หรือ ‘ความจริง’ ที่อยู่เบื้องหลังสรรพสิ่ง เพราะหากปราศจากความแน่นอนแล้วไซร้เราก็คงไม่สามารถบอกได้ว่า อะไรคือความจริงหรือไม่จริง
อย่างไรก็ตาม Baron Reed อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญวิชาญาณวิทยา (epistemology) แห่งมหาวิทยาลัยบราวน์ ได้จำแนก ‘ความแน่นอน’ ออกเป็นประเภทต่างๆ ได้แก่ 1) ความแน่นอนเชิงจิตวิทยา (psychological certainty) ซึ่งผูกพันอยู่กับความเชื่อที่ฝังแน่นในตัวเรา 2) ความแน่นอนเชิงญาณวิทยา (epistemic certainty) ซึ่งเป็นสิ่งที่ยึดโยงกับความรู้ทั้งหลาย 3) ความแน่นอนเชิงจริยศาสตร์ (moral certainty) ซึ่งเกิดมาจากแบบแผนปฏิบัติทางสังคมและจารีต ซึ่งทั้งหมดผสมรวมอยู่ในตัวเรา
ประเภทแรกสุด ความแน่นอนเชิงจิตวิทยา ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่เราอาจพบเห็นได้ในคนทั่วไป เป็นความเชื่อติดยึดที่ยากจะแก้ไข หรือเป็นหนึ่งในคุณสมบัติอันแปลกประหลาดของมนุษย์ ดังเช่นที่ Lucian นักเขียนชาวกรีกจากศตวรรษที่ 2 ได้ล้อเลียนเสียดสีไว้ในบทสนทนา Charon or the Observers เป็นเรื่องราวของ Charon คนพายเรือพาคนตายไปสู่ปรภพผู้ได้รับอนุญาตจากเฮดีส ผู้เป็นเจ้านาย ให้หยุดงานไปท่องโลกมนุษย์เป็นเวลาหนึ่งวัน เพื่อคลายความสงสัยว่าอะไรหนอคือสิ่งที่เรียกว่ามนุษย์-มนุษย์ ที่เขาพบปะและเสวนาด้วยทุกวัน ระหว่างพายเรือพาพวกเขาเหล่านั้นข้ามไปสู่โลกแห่งความตาย บังเอิญว่าคารอนได้พบกับเฮอร์เมสเทพแห่งการเดินทางเข้าพอดี เขาจึงขอให้เฮอร์เมสเป็นมัคคุเทศก์นำชมโลกมนุษย์ ก่อนที่จะค้นพบความแปลกพิกลในความเป็นคนอีกนานัปการ โดยหนึ่งในนั้นก็คือการยึดถือความแน่นอนของชีวิต ซึ่งไม่มีความแน่นอนเอาเสียเลย
ดังเช่นฉากตอนที่คารอนได้เห็นชายคนหนึ่งพูดกับเพื่อนที่ชวนไปกินเลี้ยงว่า ‘งานนี้ไม่พลาดแน่ๆ’ โดยที่คารอนทราบดีว่าชายคนนั้นจะไม่มีวันได้ไปร่วมงานเลี้ยง ด้วยเพราะวันรุ่งขึ้นจะมีกระเบื้องมุงหลังคาร่วงหล่นลงมาใส่หัวเขาเสียชีวิตอย่างไม่มีผิดพลาดคลาดเคลื่อน ชายคนนั้นตกปากรับคำในสิ่งที่เขาไม่สามารถกระทำได้ ซึ่งว่าไปแล้วโศกนาฏกรรมที่กลายเป็นความขันเขในสายตาของเทพเจ้าก็เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดได้กับเราแทบทุกคน เราส่วนใหญ่ต่างเชื่อมั่นลึกๆ ว่าจะมีวันต่อไป โดยหารู้ไม่ว่าวันนี้หรืออีกไม่กี่นาทีถัดจากนี้จะเป็นเพียงห้วงขณะสุดท้าย นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของความแน่นอนทางจิตวิทยาซึ่งสถิตอยู่ในตัวเราทั้งหลาย
2
ประเภทต่อมา ความแน่นอนเชิงญาณวิทยา มองกันอย่างผิวเผินแล้วจะมีความละม้ายคล้ายคลึงกับความแน่นอนประเภทแรก ด้วยเพราะผูกสัมพันธ์กับความคิดความเชื่อที่มีอยู่ในตัวเรา แต่หากพิจารณาลงไปในรายละเอียด ความแน่นอนเชิงญาณวิทยาตั้งอยู่บนพื้นฐานของแนวคิดและทฤษฎีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความรู้และการตระหนักถึงความรู้ต่างๆ ของตัวเรา ซึ่งบุคคลหนึ่งที่พยายามศึกษาความแน่นอนประเภทนี้อย่างลึกซึ้งก็คือ al-Fārābi ปราชญ์อาหรับผู้มีชีวิตอยู่ในศวรรษที่ 10
อัล–ฟาราบีได้จำแนกความแน่นอนออกเป็นลำดับชั้นที่แตกต่างกัน คือนอกจากความแน่นอนอย่างธรรมดาที่เรียกว่า yaqīn แล้ว ก็ยังมีความแน่นอนสัมบูรณ์ที่เรียกว่า al-yaqīn ‘alā al-iṭlāq อีกด้วย แต่ก่อนที่จะอธิบายแนวคิดของอัล–ฟาราบี เราอาจต้องรู้จักกับตัวตนและผลงานของเขากันสักเล็กน้อย

al-Fārābi ปราชญ์อาหรับผู้มีชีวิตอยู่ในศวรรษที่ 10
อัล–ฟาราบีเป็นหนึ่งในนักปรัชญาอิสลามคนสำคัญที่ประพันธ์ผลงานไว้มากมาย ตั้งแต่ตำราอภิปรัชญา ญาณวิทยา จริยศาสตร์ รัฐศาสตร์ จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ จนถึงปรัชญาภาษา เขาเป็นผู้ศึกษาและเผยแพร่แนวคิดของ Plato และ Aristotle สู่โลกภาษาอาหรับ กระทั่งปราชญ์ผู้โด่งดังอย่าง Avicenna ถึงกับกล่าวไว้ในหนังสือชีวประวัติของตนเองว่า ปัญญาความรู้ต่างๆ ที่เขามีถือเป็นหนี้บุญคุณอัล–ฟาราบี โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเข้าใจต่องาน Metaphysics ของอริสโตเติล
แม้ปรัชญาของอัล–ฟาราบีจะถูกมองว่าเป็นการผลิตซ้ำและดัดแปลงมาจากอริสโตเติล แต่ผลงานที่มีจำนวนมากมายมหาศาลนั้นยังได้สะท้อนให้เห็นรูปแบบความคิดของตัวเขาเอง เช่น ความพยายามหาความเชื่อมโยงระหว่างความเป็นจริงทางจิตใจกับโลกภายนอก หรือโดยเฉพาะการสร้างระบบทฤษฎีความรู้ซึ่งเชื่อมโยงกับสภาวะจิต และแม้กระทั่งการทำงานของสมอง ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ก้าวล้ำนำสมัยอย่างไม่น่าเชื่อ De Anima หรือ On the Soul ของอริสโตเติล ถือเป็นผลงานที่มีอิทธิพลต่ออัล–ฟาราบีอย่างมีนัยสำคัญ โดยตำราเล่มนี้ได้รับการยกย่องให้เป็นต้นกำเนิดของวิชาจิตวิทยา
สำหรับอัล–ฟาราบีแล้ว ‘ความแน่นอน’ ถือเป็นกุญแจในการเข้าถึงความรู้ และวิชาหนึ่งซึ่งเขาแลเห็นว่าเป็นเครื่องมือหรือศิลปะในการเข้าถึง ‘ความแน่นอน’ ก็คือตรรกวิทยา (manṭiq) ที่มีเอกลักษณ์แตกต่างจากวิชาตรรกศาสตร์ที่เรารู้จักอยู่พอสมควร
อัล–ฟาราบีได้จัดจำแนกตรรกวิทยาของเขาออกเป็น 5 แบบด้วยกัน ได้แก่ 1) แบบวิภาษวิธี ใช้การถกเถียงเพื่อสร้างความเชื่อบางอย่างขึ้นมา 2) แบบโน้มน้าวใจ ทำให้ความเห็นกลายเป็นความจริง 3) แบบวาทศิลป์ ใช้สื่อสารกับคนหมู่มากหรือสาธารณชน 4) แบบกวีศาสตร์ ใช้สร้างภาพพจน์ในใจผู้ฟัง 5) แบบสาธิต ซึ่งเป็นแบบที่ยากที่สุด คือน้อมนำไปสู่ความแน่นอน ผ่านการอ้างอิงหลักการอันเป็นสากลและปฏิเสธไม่ได้
ในมุมมองของอัล–ฟาราบี ตรรกวิทยา 4 แบบแรกอาจนำพาเราไปสู่ ‘ความแน่นอนอย่างธรรมดา’ ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นความชอบด้วยเหตุผลความคิดที่เรามีในเรื่องต่างๆ เป็นความรู้ในชั้นแรกของเรา ทว่าคงมีตรรกวิทยาแบบสาธิตเท่านั้นที่เขาเห็นว่าจะนำพาเราไปสู่ ‘ความแน่นอนโดยสมบูรณ์’ ซึ่งเป็นความรู้ในชั้นต่อมาที่เกิดขึ้นจากการค้นพบหลักการโดยทั่วไป ซึ่งนั่นทำให้เขาเชื่อว่าวิชาปรัชญานั้นเป็นส่วนหนึ่งของตรรกะแบบสุดท้ายที่มีลักษณะเป็นแบบสาธิต ที่ช่วยให้เรามองเห็นความจริงในสรรพสิ่งทั้งหลาย เป็นความรู้ที่จริงแท้และแน่นอน
เขาได้อธิบายถึงคุณลักษณะของ ‘ความแน่นอนแบบสมบูรณ์’ ไว้ใน ตำราว่าด้วยเงื่อนไขแห่งความเที่ยงแท้ (Kitāb Šara’iṭ al-yaqīn) ว่าจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ 1) มีความเชื่อว่าบางสิ่งเป็นเช่นนี้ แทนที่จะเป็นแบบอื่น 2) มีความเห็นพ้องในความเชื่อที่สอดคล้องและไม่ขัดแย้งกับการมีอยู่ของสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏภายนอก 3) รู้ได้ถึงความสอดคล้องของความเชื่อในการมีอยู่ของสิ่งต่างๆ และการดำรงของสิ่งนั้นในโลกความเป็นจริง 4) รู้ได้ว่าความสอดคล้องดังกล่าวนี้เป็นไปไม่ได้เลยที่จะเป็นและเป็นไปในทางตรงกันข้าม 5) รู้ได้ว่าความขัดแย้งระหว่างความเชื่อและความจริงจะไม่เกิดขึ้นไม่ว่าเวลาใดก็ตาม และ 6) รู้ได้ว่าทั้งหมดไม่ได้เกิดด้วยความบังเอิญ แต่เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ความแน่นอนทางญาณวิทยาจึงอาจเรียกได้ว่าเป็นความแน่นอนซึ่งเกิดจากการขบคิดและพยายามแสวงหาคำตอบ เป็นเช่นนี้จนกว่าจะหมดข้อสงสัยโดยสมบูรณ์
3
ความแน่นอนประเภทสุดท้าย–ความแน่นอนในเชิงจริยศาสตร์ ที่ชัดเจนว่ามีความยึดโยงกับความแน่นอนเชิงญาณวิทยาในฐานะที่ผูกพันกับความนึกคิด เพียงแต่ความแน่นอนประเภทสุดท้ายอาจถูกมองว่าเป็นรองกว่า ดังที่ René Descartes นักคิดชาวฝรั่งเศสได้อธิบายไว้ในตำรา Principles of Philosophy ว่า
“ความแน่นอนเชิงจริยศาสตร์นั้นแน่นอนในระดับที่เพียงพอให้กำหนดพฤติกรรมของเรา หรือเป็นความเที่ยงแท้ในระดับที่เชื่อมโยงกับแบบแผนในการใช้ชีวิต ซึ่งปกติแล้วเราอาจไม่สงสัย แต่กระนั้นเราก็ยังคงรู้ได้ว่ามันอาจเป็นเรื่องที่ไม่จริงแต่อย่างใด”

René Descartes นักคิดชาวฝรั่งเศส
ความแน่นอนเชิงจริยศาสตร์จึงผูกพันกับจารีตและแบบแผนทางสังคม เป็นประเพณีที่รับสืบทอดกันมา ซึ่งเราเชื่อว่าเป็นความดีงามและเป็นสิ่งที่แน่นอนโดยแท้จริง
ความแน่นอนประเภทสุดท้ายนี้อาจแลดูว่าคล้ายคลึงกับความแน่นอนเชิงจิตวิทยา แต่ทว่าเป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นผ่านวิถีปฏิบัติ รูปแบบโครงสร้างทางสังคม การศึกษา และระบบการเมือง ซึ่งทำให้เราบางคนแลเห็นสิ่งที่เป็นอยู่กลายเป็นความจริงหรือไม่อาจปฏิเสธได้

Ludwig Wittgenstein นักปรัชญาคนสำคัญแห่งศตวรรษที่ 20
ความแน่นอนเชิงจริยศาสตร์จึงไม่อาจขจัดข้อสงสัยให้หมดไปดังที่เดอส์การ์ตส์อธิบาย ซึ่งการปราศจากข้อสงสัย (indubitability) ถือเป็นคุณลักษณะข้อสำคัญของความแน่นอน ด้วยเหตุนี้เองความแน่นอนเชิงญาณวิทยาจึงมีบทบาทสำคัญในการเข้ามาตรวจสอบและสร้างสมดุลให้กับความแน่นอนทั้งสองแบบ ด้วยการตั้งคำถามและความสงสัยในสิ่งที่เป็นไปต่างๆ เพื่อตรวจหาความแน่นอน ซึ่ง Ludwig Wittgenstein นักปรัชญาคนสำคัญแห่งศตวรรษที่ 20 ผู้หมกมุ่นครุ่นคิดกับการขบคิดเรื่อง ‘ความแน่นอน’ จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิตได้กล่าวเตือนไว้ว่า ความสงสัยของเรานั้นจำต้องมีที่สุดด้วยเช่นกัน เพราะหากเราสงสัยในทุกสิ่งอย่างบนโลกใบนี้ การสงสัยนั้นก็จะเปลี่ยนเป็นความแน่นอนชนิดหนึ่งอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ ซึ่งนั่นทำให้เราจำเป็นต้องสงสัยใน ‘บางสิ่ง’ เพื่อยืนยันว่าบางสิ่งที่ไม่น่าต้องสงสัยนั้นมีอยู่
ส่วนเรื่องที่ยากและวิตต์เกนชไตน์อาจไม่ทันได้บอกเราเพราะเสียชีวิตไปเสียก่อนก็คือ อะไรกันเล่าคือสิ่งควรต้องสงสัย หรืออะไรไม่ควรต้องสงสัย