IN-TRANSIT ภาพถ่ายนอกคอมฟอร์ตโซนของ 5 ศิลปินหญิง

Highlights

  • ตามไปดู 'IN-TRANSIT : อยู่ในระหว่างการจัดส่ง' นิทรรศการภาพถ่ายโดยศิลปินหญิง 5 คน คัดสรรโดย ผ้าป่าน–สิริมา ไชยปรีชาวิทย์ ช่างภาพสตรีทที่เรารู้จักดี
  • คอนเซปต์ของนิทรรศการ คือบันทึกเรื่องราวการย้ายถิ่นฐานออกนอก ‘คอมฟอร์ตโซน’ ไม่ว่าจะเป็นนิวยอร์ก ซานฟรานซิสโก โซล หรือแม้แต่กรุงเทพฯ ที่ก่อให้เกิดมวลอารมณ์ในใจบางอย่าง ซึ่งถูกแปลงเป็นภาพถ่าย 5 เซตที่ใช้เทคนิคแตกต่างกัน
  • ภาพถ่ายเหล่านี้ยังเป็นเครื่องมือบำบัดจิตใจ และเยียวยาชีวิตในบางช่วงของช่างภาพทั้ง 5 ที่ต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านสังคม ภาษา หรือแม้แต่ทัศนคติ แต่เราเชื่อว่ามันคุ้มค่า และคุณก็คงเชื่อเช่นนั้น ถ้าได้เห็นภาพถ่ายของทั้ง 5 คนด้วยตัวเอง

ความรู้สึกตอนเราเดินออกมาจากนิทรรศการ ‘IN-TRANSIT : อยู่ในระหว่างการจัดส่ง’ ช่างเหมือนกับความรู้สึกหลังกลับจากการเดินทางที่มีความหมายยังไงอย่างงั้น

เปล่าเลย มันไม่ใช่นิทรรศการรวมภาพถ่ายจากการท่องเที่ยวแต่อย่างใด แต่คือนิทรรศการที่ ผ้าป่าน–สิริมา ไชยปรีชาวิทย์ ชักชวน 5 ช่างภาพสาวมาแสดงผลงานร่วมกัน ในคอนเซปต์การย้ายถิ่นฐานออกนอกคอมฟอร์ตโซนของตัวเอง ภาพที่เราเห็นจึงมาจากการเดินทางทั้งใกล้และไกล ที่ก่อให้เกิดมวลอารมณ์ปั่นป่วนในใจทั้งร้ายและดี

ถึงตรงนี้ คุณคงรู้แล้วว่าการเดินทางที่เกิดขึ้นใช่เป็นการเดินทางเชิงกายภาพอย่างเดียว แต่ภาพถ่ายสวยงามที่เราเห็น บอกว่าพวกเธอเดินทางลึกลงไปในใจเพื่อสำรวจอารมณ์ ทั้งชนิดที่สดใสและชนิดที่ไม่สวยงามซึ่งกระจัดกระจายระหว่างการย้ายที่อยู่ ลงมือจัดการกับความรู้สึกที่เกิด บำบัดจิตใจ และเปลี่ยนแปลงตัวเอง

มันเป็นการเดินทางที่ไม่ง่าย หลายคนบอกเราอย่างนั้น

แต่เชื่อสิว่ามันคุ้มค่า ภาพถ่ายตรงหน้าคือเครื่องยืนยัน


ปูเป้–จุฑารัตน์ ภิญโญดุลยเจต
in transit from Bangkok to New York

“รูปพวกนี้มาจากซีรีส์ที่เราถ่ายตอนอยู่นิวยอร์ก ตามคอนเซปต์ของนิทรรศการคือการอยู่นอกคอมฟอร์ตโซนของตัวเอง มันเป็นเรื่องการสังเกตอะไรเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันที่คนอื่นอาจจะมองข้ามไป ทุกรูปจะมีความแปลกเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจจะไม่มีใครได้เห็นถ้าไม่มีใครถ่ายมันไว้ นี่คือแก่นของงานและแก่นของตัวเรา เราเป็นพวก wallflower เป็นพวกที่อยู่ในซอกหลืบ ไม่ชอบอยู่ในสปอตไลต์เราชอบความธรรมดาที่พิเศษ นั่นเป็นสาเหตุที่เราถ่ายสตรีทเหมือนกันนะ เพราะเรามีความเชื่อว่าความสวยงามมันสามารถอยู่ได้ในความธรรมดา

“พอไปนิวยอร์กแล้วกลับมาเมืองไทย งานเราเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด คือตอนอยู่ไทยเราเบื่อ เราอยากไปถ่ายนิวยอร์ก เพราะเรารู้สึกว่านิวยอร์กแม่งมันกว่า พอไปนิวยอร์กช่วงแรกๆ โคตรสนุก เห็นอะไรก็รู้สึกว่าไอ้แบบนี้โคตรแปลก ไม่มีในไทย แต่สักพักหนึ่งเราก็เริ่มรู้สึกว่าคนถ่ายนิวยอร์กมันช้ำว่ะ ใครๆ ก็ถ่าย นอกจากนั้น การไปอยู่นอกพื้นที่ตัวเองนานๆ เราจะเห็นความน่าสนใจของสิ่งที่เราเคยมีอยู่มากขึ้น ทำให้พอเรากลับมาเมืองไทย ไอ้นี่ก็ดี ไอ้นี่ก็แปลก เช่น ซีดีไล่แมงวัน จ่าเฉย หรือเศษแก้วที่อยู่บนรั้วบ้าน ฝรั่งไม่มีทางมี เรารู้สึกว่าสิ่งนี้มันเป็นเสน่ห์ที่ตอนที่เราอยู่ที่นี่เราไม่เห็น แต่พอเราออกนอกพื้นที่ตัวเองแล้วเรากลับมาใหม่ เราเห็นมากขึ้น

“มันไม่มีหรอกภาพที่เพอร์เฟกต์ มีแค่ดีที่สุดในสถานการณ์นั้น ดีที่สุดเท่าที่มันจะเป็นได้ เราว่าว่าความสวยงามมันแล้วแต่คนนิยาม มันเป็นเรื่อง subjective นี่คือความสวยงามในแบบของเรา เรารู้สึกว่าความไม่สมบูรณ์แบบมันสวยงาม”


Good After Noon
แก้ว–วลัยรัตน์ ยุทธนาวราภรณ์
in transit from Bangkok to Seoul

“ตอนนั้นเราไปเรียนภาษาที่เกาหลีหนึ่งปี กะว่าพอเรียนจบแล้วก็จะหาทุนเรียนต่อ แต่ว่าช่วงสามเดือนสุดท้ายเราเป็นโฮมซิกก็เลยกลับบ้านเลย ไม่ได้อยู่ต่อ (หัวเราะ)

“เราคิดว่าคนออกไปอยู่คนเดียวต่างประเทศมันต้องมีสภาวะนี้ทุกคน เราก็เลยใช้วิธีถ่ายภาพบำบัดตัวเอง เริ่มจากตอนที่เราเรียนมันมีบทความให้อ่านเกี่ยวกับภูเขาในเมืองที่แค่นั่งรถออกไปครึ่งชั่วโมงก็ถึงแล้ว เราก็เลยไป ช่วงที่เราเดินเรารู้สึกว่าได้คลายเครียด หลังจากนั้นเราก็เลยไปเที่ยวคนเดียวอีกหลายๆ ที่ ซึ่งตอนที่ไปนั่นแหละคือการบำบัด แค่เราพกกล้องไปด้วย

“จริงๆ เราก็ทำหลายอย่างเพื่อแก้เครียดนะ เข้าชมรม ไปเต้นสวิง ไปหาอะไรกินกับเพื่อน แต่มันคือการเอาตัวเองไปอยู่กับคนอื่น ไม่ได้ทำให้เราหายเครียดเพราะเราต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ด้วยกำแพงของภาษาด้วย เราไม่เคยสื่อได้จริงๆ ว่าเราอยากจะได้อะไรหรือเราคิดอะไร กลายเป็นว่าพออยู่คนเดียวแล้วสบายใจกว่า

“เรารู้สึกว่าช่วงชีวิตวัยรุ่นเป็นช่วงที่สับสนอยู่แล้ว จนถึงตอนนี้ก็ยังคิดอยู่ว่ามันเป็นธรรมดาที่เราจะต้องเจอสภาวะแบบนั้น การไปอยู่ในที่ใหม่ๆ คนเดียว เจออากาศเย็น มีหิมะ มันใหม่สำหรับเรา เหมือนเราได้ผ่อนคลายบ้าง ความเครียดมันไม่ได้หายไปหมดหรอก แต่เราก็มีสติมากขึ้น”


214 (b)
แพรว–พัดชา กิจชัยเจริญ
in transit from Bangkok to New York

“ตอนนั้นเราจะไปเรียนต่อที่อเมริกา 214 (b) มันคือเอกสารใบเล็กๆ ที่สถานทูตจะยื่นให้เราผ่านช่องกระจกเพื่อบอกว่าวีซ่าไม่ผ่านนะ ใจความสั้นๆ คือเขาไม่เชื่อว่าเรามีความผูกพันกับประเทศไทยมากพอ เขากลัวเราไปอเมริกาแล้วไม่กลับมา ซึ่งเราก็ไม่เข้าใจว่าทำไม เพราะหลักฐานตอนที่เราไปยื่นทุกอย่างก็พร้อม

“เราไม่ได้ตั้งใจจะสร้างซีรีส์นี้ขึ้นมา แค่ตอนเรียนจบเราไป road trip หลายครั้ง เพราะเรารู้สึกว่าประเทศนี้มันมายาก คนอื่นอาจจะขอวีซ่าครั้งเดียวแล้วได้เลย แต่เราต้องรอสองปี โดนปฏิเสธเยอะๆ พอวันนี้ได้มาแล้วเราก็อยากเห็นให้เต็มที่ที่สุดเพราะเราไม่รู้ว่าเราจะกลับมาอีกเมื่อไหร่ หรือจะได้กลับมาอีกหรือเปล่าก็ไม่รู้ เทียบกับคนแล้วเหมือนคนอกหัก 214 (b) คือการที่เราอกหักซ้ำๆ วันนี้ได้รักแล้วก็ขอรักเต็มที่ ภาพที่ออกมาเลยมีอินเนอร์ เราใส่อารมณ์เข้าไปค่อนข้างเยอะ

“ภาพที่ถ่ายมามีเยอะกว่า 2,000 ภาพ เราก็เลยลองเอาภาพมาจับกลุ่มกัน แบ่งรูปที่ถ่ายเป็น 20-30 categories เพราะรูปเรามีความซ้ำอยู่ อย่างรูปถ่ายเก้าอี้ตัวเดียวเราน่าจะมีมากกว่า 20-30 รูป เป็นความเคยชินแบบไม่รู้ตัว หรือ unconscious photography

“อย่างรูปเก้าอี้ พอเราเห็นแล้วว่ารูปแบบนี้เยอะมากเราก็มาถามตัวเองว่า ทำไมฉันถึงถ่ายรูปแบบนี้ซ้ำๆ หรืออย่างเราชอบทำงานกับอาหาร พอนึกย้อนกลับไปก็พบว่าบ้านเราไม่ค่อยอบอุ่น ไม่ค่อยกินข้าวเย็นด้วยกัน กินแล้วไม่แฮปปี้ เวลาเห็นครอบครัวอื่นเขาไปกินข้าวด้วยกันแล้วอิจฉา จะร้องไห้ งานเราเลยจะเกี่ยวกับอาหารเยอะเพราะว่าเรารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่เราไม่มี อย่างภาพนี้คือเราไม่รู้หรอกนะว่าคนที่เคยมานั่งเป็นครอบครัวแบบไหน หรือเป็นเพื่อน แต่เรารู้สึกว่ามันน่าอิจฉา มันดูอบอุ่น ดูมีความสนุกเกิดขึ้นไปแล้ว ซึ่งเราไม่เคยประสบความรู้สึกแบบนั้น

“เรารู้สึกกับสิ่งของ เราว่าสิ่งของมันเล่าง่ายกว่าคน คนสามารถโกหกได้ จะพูดอะไรออกมาก็ได้ สีหน้า แววตา อาจจะตอแหลได้ แต่เราว่าของมันโกหกไม่ได้ เก่าก็คือเก่า ทาสีทับใหม่มันก็ดูออกแหละว่าทาสีใหม่ ไม่ใช่ออริจินอล เรารู้สึกว่าของความรู้สึกมันชัดกว่า สำหรับเรา”


ปูนปั้น–กมลลักษณ์ สุขชัย
in transit from Ratchaburi to Bangkok

“เราโตมาในครอบครัวที่ค่อนข้างหัวโบราณเรื่องเพศ เพราะเราอยู่ต่างจังหวัด แถวบ้านก็จะมีเด็กที่เรียนไม่จบแล้วท้อง พาผู้ชายเข้าบ้าน ที่บ้านเรารู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่ไม่ดี เราต้องเรียนให้จบก่อนถึงจะ ‘มี’ ได้ เขาไม่ได้กดดัน แต่จะคอยฝังหัวว่า ‘ไปเที่ยวกับเพื่อน ป้ากับป๊าไว้ใจปั้นอยู่แล้ว ปั้นไม่ทำอะไรเสียๆ หายๆ หรอก’ ตอนแรกๆ เราก็เข้าใจว่าเด็กพวกนั้นเป็นเด็กไม่ดี ทำไมเขาท้อง ทำไมต้องไปมีอะไรกับผู้ชาย มันมาเปลี่ยนตอนที่เรามาเรียนที่กรุงเทพฯ

“มันค่อยๆ เปลี่ยน ตอนปี 1 เราก็จะเห็นว่าเพื่อนคนนี้ไปได้กับคนนู้น เพื่อนคนนู้นได้กับคนนั้น เราไม่ได้ไปนั่งเมาท์นะ แต่ช่วงแรกๆ ก็รู้สึกว่าทำไมวะ แต่หลังๆ ก็มารู้สึกว่าเราจะเบลมเขาทำไม มันร่างกายเขา เป็นเรื่องของแต่ละคน

“เราบอกไม่ได้ว่าช่วงไหนคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราทำเรื่องเพศ แต่พอมองย้อนกลับไปก็เห็นว่าหนังหรือภาพถ่ายของเรามันสื่อเรื่องเพศมาโดยตลอด อย่างภาพเซตนี้เป็นภาพที่ค่อนข้างส่วนตัวมาก ทำตอนเรียนจบใหม่ๆ มันมีช่วงที่เรารู้สึกผิดหวังกับสังคม เพื่อนก็ทำงานกันหมด เราเคว้งคว้าง ก็เลยทำงานเซตนี้ ตอนแรกเราก็ไม่ได้สังเกตแต่มาเห็นทีหลังว่าเราพยายามจะสื่อถึงเรื่องเพศเยอะเหมือนกันนะ ทั้งถุงยาง หมากฝรั่ง ผม แล้วก็อารมณ์กับแอ็กชั่นของนางแบบ

“งานเรามีเรื่องเพศหลายมิติ ทั้งแบบที่เราถ่ายภาพโป๊ และเรื่องบทบาทเพศที่สังคมอยากให้เป็น มีคนถามเยอะเหมือนกันว่าทำไมเราถ่ายรูปคนมาส์กหน้า เรารู้สึกว่ามันเหมือนในหนังไซ-ไฟที่ทุกคนต้องทำอะไรเหมือนๆ กัน พยายามทำให้ทุกคนเหมือนกัน หรืออันนี้ที่ใส่รองเท้าข้างเดียวอิงมากจากซินเดอเรลล่าที่พูดเรื่องเวอร์จิ้นของผู้หญิง รองเท้าหายไปข้างหนึ่ง

“เราเคยคิดว่าอยากทำงานเพื่อเปลี่ยนสังคม แต่พอมาถึงจุดที่เป็นไปไม่ได้ งานของเรามันคือการแสดงออกว่าเรารู้สึกยังไงกับตัวเอง เราเคยคุยกับพี่สาวว่าโชคดีที่เราไม่ได้เครียด ต้องไปหาจิตแพทย์ แล้วพี่พูดขึ้นมาว่า เปล่า เราแค่มีที่ลง งานของเราเป็นที่ระบายอะไรบางอย่าง”


Night Wander
มิ้นท์–มินตรา วงศ์บรรใจ
in transit from Lampang to San Francisco

“สิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจคือเราชอบถ่ายภาพตอนกลางคืนและถ่ายบ้านอยู่แล้ว ช่วงนั้นตอนกลางคืนเวลาเรานั่งรถแล้วมองไปที่บ้าน เรานึกถึงครอบครัวของเรา ตลอดเวลาชีวิตเราจะมีแค่สองอย่างคือบ้านกับพ่อ มันเป็นความรู้สึกฝังลึก เราคิดว่าเอาเรื่องที่เรารู้สึกมาตลอดมาทำ แล้วเราจะทำมันได้ดีเพราะเรารู้จักมันดี

“พอเราเริ่มถ่ายเราก็เน้นการเดิน เพราะว่าทุกครั้งที่เรานั่งรถแล้วเห็นว่าสวย กลับไปแล้วมันไม่สวยเท่ากับที่เราเดินดูทีละหลัง แต่ก็เจออุปสรรคเยอะเหมือนกัน อย่างเราเป็นผู้หญิงออกไปคนเดียวตอนกลางคืน ถือกล้อง ถ้ามีคนจะเข้ามาคุยเราก็ต้องเก็บกล้องแล้วเดินหนี บางทีพอเขามองออกมาเห็นเรา เขาก็ปิดไฟ ปิดม่าน บางทีก็มีคนเดินออกมาบอกว่ายูมาถ่ายอะไร ระวังผีนะ แถวนี้ผีดุ (หัวเราะ)

“ตอนไปเรียนเราไม่ได้เหงานะ เราสนุก แต่พอกลับไปบ้านที่นั่น เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่ที่ที่เราเคยอยู่ ไม่ใช่เตียงที่เราเคยนอน ถึงจะให้เราสไกป์กับที่บ้านแต่เราก็อยากให้บ้านเราอยู่ที่นี่มากกว่า มีคนถามบ่อยมากว่าทำไมไม่ถ่ายภาพที่มีความสุข ยิ่งดูภาพเรายิ่งโฮมซิกใหญ่เลย แต่สำหรับเรามันค่อนข้างเป็นการบำบัดตัวเอง เราไม่ได้อยากบอกว่าสิ่งที่เราต้องการคืออะไร แต่เหมือนแสดงอารมณ์เราออกมาให้เป็นศิลปะมากกว่า ด้วยโทนสี คอมโพสิชั่น และมู้ด

“เรารู้สึกว่ายิ่งเราอยู่เฉยๆ ไม่ดิ้นรน มันก็เหมือนเรายิ่งจมไปกับความทุกข์นั้น การถ่ายภาพเซตนี้มันเหมือนเราได้เอาสิ่งที่เราชอบมาทำให้เรารู้สึกดี มันช่วยบำบัดเยอะเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าเราคิดถึงบ้านน้อยลงนะ มันอาจจะเป็นความสุข เหมือนนักร้องได้ออกไปร้องเพลง หรือนักดนตรี ถ้าไม่ได้เล่นดนตรีก็เหมือนเขาไม่ได้ระบาย แต่ของเราก็เป็นการถ่ายภาพ”


นิทรรศการ IN-TRANSIT : อยู่ในระหว่างการจัดส่ง จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 4-30 ตุลาคม 2561 ที่ RCB Photographers’ Galleries 1 & 2 ชั้น 2 ของ River City Bangkok (ท่าเรือสี่พระยา)

ภาพ จุฑารัตน์ ภิญโญดุลยเจต, วลัยรัตน์ ยุทธนาวราภรณ์, พัดชา กิจชัยเจริญ, กมลลักษณ์ สุขชัย, มินตรา วงศ์บรรใจ

 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

กฤต วิเศษเขตการณ์

ช่างภาพผู้ชื่นชอบการถ่ายภาพตามท้องถนนอย่างบ้าคลั่งพอๆ กับการกินกาแฟ และผู้คนมักเขียนชื่อเขาผิด