สวนป่าเบญจกิติ เบื้องหลังการรวมพลังเพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวแห่งใหม่ให้คนเมือง

กลางปีนี้ กิจกรรมของคนเมืองจะหลากหลายมากขึ้น 

เมื่อสวนป่าเบญจกิติเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ พื้นที่กว่า 450 ไร่ที่ตั้งอยู่บนที่ดินเดิมของโรงงานยาสูบแห่งประเทศไทย ถูกออกแบบให้เป็นสวนสาธารณะเชิงนิเวศในคอนเซปต์ Wetland Park มีการรักษาและเติมต้นไม้ไปกว่า 7,000 ต้น สามารถเดินทางต่อไปยังพื้นที่สวนเดิม เป็นพื้นที่สีเขียวแห่งใหม่เชื่อมคนกรุงเทพฯ เข้าไว้ด้วยกัน

แต่การสร้างสวนสาธารณะที่ดีไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะการสร้างสวนในเมืองซึ่งเต็มไปด้วยคนและองค์กรหลายส่วน เชื่อมโยง เกี่ยวพัน สัมพันธ์กันอย่างซับซ้อน การพัฒนาจึงไม่ใช่ออกแบบสวยๆ แล้วจบ แต่ต้องผ่านการเจรจา ปรึกษา และพัฒนากันอย่างเข้มข้น 

เพื่อให้คนเมืองเข้าใจสวนนี้มากขึ้นกว่าการเป็นจุดถ่ายรูปแห่งใหม่ เราชวนชัชนิล ซัง Director Landscape Design Department จากสถาบันอาศรมศิลป์ หนึ่งในคณะทำงานมาเล่าเบื้องหลังการสร้างสวนนี้ เผยความตั้งใจของคณะทำงาน และรู้จักกับพื้นที่ส่วนต่างๆ ในสวนป่าแห่งนี้ที่น่าสนใจก่อนใคร

สูดอากาศให้เต็มปอด และร่วมเดินทางไปกับบทสนทนาด้วยกัน

จุดเริ่มต้น

คณะทำงานในโปรเจกต์นี้มีด้วยกันหลายภาคส่วน แต่สำหรับอาศรมศิลป์ เราเข้ามามีส่วนร่วมผ่านการเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมประกวดการออกแบบสวนป่าเบญจกิติ ที่ทางกรมธนารักษ์เป็นผู้จัดการประกวดออกแบบขึ้น เราเริ่มต้นจากการดูข้อมูลการประกวดทั้งหมดว่ามันมีอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นที่มา จุดประสงค์ทั้งหมด จากนั้นก็ตีความในตัวข้อมูลที่ให้มาว่าเขาต้องการอะไร 

เราใช้คำว่า สวนที่เป็นรากเหง้าของกรุงเทพมหานคร ตอนที่เราประกวดแบบ เราอยากให้สวนมันเป็นเรา ไม่ต้องเป็นสิงคโปร์ มันเป็นแบบกรุงเทพฯ เป็นแบบที่เราเป็น อาจจะไม่ได้มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่ว่ามันเป็นสวนที่เราใช้ภูมิปัญญา ใช้สิ่งที่เรามีให้เกิดประโยชน์สูงสุด แล้วก็ทำให้มันเป็นที่ที่เราอยากจะมาใช้ ตอบสนองคนใช้ และทำให้คนใช้รู้คุณค่าของมัน อยากให้เป็นการส่งต่อเรื่องแบบนี้ 

หลังจากนั้นก็เริ่มการ brainstorm มีการลงไปดูพื้นที่ ศึกษาค้นหา case study ปรึกษากับทางผู้เชี่ยวชาญ และติดต่อหาทีมงานที่เราคิดว่าน่าจะเข้ามาเติมเต็มในส่วนที่ทำให้โปรเจกต์สมบูรณ์ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทั้งวิศวกร อาจารย์ที่มีความรู้ด้านป่า การเกษตร หรือด้านเมืองด้านสังคม เรียกว่าหาคนที่อยากทำโปรเจกต์ร่วมกันและมีจุดประสงค์เดียวกัน

ปลูกต้นไม้ในสวนป่า

สวนป่าเชิงนิเวศเป็นโจทย์ตั้งต้นมาอยู่แล้ว เมื่อทราบเราก็มาคุยกันต่อว่า สวนป่าที่ทีมเราตีความหมายคืออะไร 

จุดเริ่มต้นของสวนแห่งนี้คือสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ เมื่อปี พ.ศ. 2535 เราเลยนำจุดนี้มาต่อยอด มองว่าที่นี่เป็นสวนป่ากับน้ำของพ่อกับแม่ คือสวนของรัชกาลที่ 9 กับของสมเด็จพระนางเจ้าฯ กล่าวคือป่ากับน้ำเป็นสิ่งที่ต้องอยู่ร่วมกันอยู่แล้ว เพราะว่าถ้าจะมีป่าก็ต้องมีน้ำ มันต้องเกื้อกูลกัน ถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่งป่ามันก็ไม่สมบูรณ์ และจุดนี้แหละคือระบบนิเวศในแบบที่ควรจะเป็น 

อีกอย่างหนึ่งคือ สวนนี้ตั้งอยู่ในใจกลางกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองน้ำ เมืองที่ใช้ชีวิตกับน้ำมาตั้งแต่สมัยโบราณ ตอนนี้ความสำคัญของน้ำถูกลดทอนไป แต่ทุกคนรู้ปัญหาเรื่องน้ำท่วม น้ำเสีย และเห็นปัญหาเกี่ยวกับน้ำมาตลอด 

สวนสาธารณะสามารถทำประโยชน์ตรงส่วนนี้ได้ในหลายๆ มิติ เราเลยมองว่าสวนก็น่าจะทำหน้าที่บำบัดน้ำให้กับเมืองได้ด้วย พร้อมกับการเป็นพื้นที่พักผ่อน เป็นที่อยู่ของสัตว์ แล้วก็ทำให้คนตระหนักถึงเรื่องทรัพยากร และทั้งหมดนี้ก็คือหลักคิดในการออกแบบสวนป่าแห่งนี้

เราเริ่มต้นจากความตั้งใจให้เป็นสวนป่า และต้องการให้มันยั่งยืนด้วย เราจึงเริ่มต้นเน้นเรื่องการใช้ทรัพยากรคุ้มค่า ทุกอย่างต้องประหยัด การเลือกพืชพันธุ์ หรือการออกแบบต่างๆ ก็ต้องเหมาะสมกับพืชที่มันควรจะอยู่ ถ้าเขาอยู่ในพื้นที่ของเขาก็จะแข็งแรง และจะลดภาระการดูแลในระยะยาวลงไปได้ เรามีการคงต้นไม้เดิมไว้ด้วย ที่โรงงานยาสูบได้มีการปลูกต้นไม้ไว้อยู่ก่อนหน้านี้แล้วพันกว่าต้น เราก็เก็บไว้ทั้งหมดเท่าที่ทำได้ 

ส่วนที่เป็นไม้ล้อมที่ต้นไม่ใหญ่ ที่นี่มี 30 กว่าชนิดและเป็นไม้ล้อมที่หาง่ายในท้องตลาด เพราะความตั้งใจของคณะทำงานคือไม่อยากไปเอาต้นไม้จากป่ามาปลูก แต่เป็นการเลือกไม้อุตสาหกรรมที่ถูกปลูกขึ้นมาแล้วมากกว่า อีกอย่างที่อาจจะพิเศษคือเป็นไม้กล้า หรือไม้ต้นเล็กสูงไม่ถึงเมตร มี 5,600 ต้น คือ 80 กว่าเปอร์เซ็นต์ทั้งหมดในสวนป่าแห่งนี้ โดยเป็นความตั้งใจที่อยากจะปลูกไว้เพราะว่าไม้กล้าพวกนี้หายาก ต้องผ่านการเพาะจากเมล็ด บางทีเขาได้เมล็ดมา ต้นแม่อยู่ต้นเดี่ยวแล้วต้องแยกเมล็ดออกมา 

ทำให้ที่นี่มีต้นไม้ที่ก็ยังไม่รู้จักว่าชื่ออะไรก็มี ถ้าอนาคตมันค่อยๆ โตขึ้นเราก็หวังว่าจะกลายเป็นแหล่งรวมต้นไม้ที่ไม่รู้จักชื่อให้กับคนทั่วไปได้เห็น

แปลงนาสาธิตเป็นคอนเซปต์ของวนเกษตรสวนบ้าน โดยที่จริงแล้วแปลงนานั้นเป็นต้นทุนเดิมที่กรุงเทพฯ เรามี แล้วเป็นอาชีพสำคัญของประเทศเรา ก็เลยอยากให้คนเข้าใจว่าการทำนาหรือเกษตรอย่างหนึ่งที่มันอยู่ในเมือง ที่เลี้ยงเรามา อยากให้เด็กๆ เข้าใจ เหมือนเป็นพิพิธภัณฑ์ห้องเรียนข้างนอกด้วย เราคาดหวังว่าเมื่อเปิดให้บริการเต็มรูปแบบแล้ว จะมีคนมาดำนามาทำกิจกรรมกันจริงๆ (หัวเราะ) เพราะว่าพอเราอยู่ในบริบทที่เป็นเมืองมากขึ้น เรื่องแบบนี้มันก็จะหายไป เราเลยคิดว่ามันสำคัญ จึงนำเอาแปลงนามาเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ทำกิจกรรม 

การปลูกพืชแต่ละบ่อจะไม่เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าปลูกคละกันทั้งหมด อย่างบ่อที่หนึ่งจะเป็นพันธุ์ไม้ เช่น ลำพู ลำแพน ต้นไม้ที่อยู่กับน้ำที่ค่อนข้างจะเค็มจะกร่อยหน่อยเพราะมันอยู่ใกล้คลองไผ่สิงห์โต คุณภาพน้ำที่เข้ามาจะไม่ดีในบางช่วง 

อีกบ่อหนึ่งจะเป็นบ่อที่เป็นป่าบึงน้ำจืด จะมีต้นจิกน้ำ ต้นโสกน้ำ ที่จะให้ดอกในอีกหน้าหนึ่ง บ่อใหญ่สุดก็จะเป็นอีกชนิดหนึ่ง โพธิ์ ไทร ไกร กร่าง ที่จะเป็นต้นไม้ใหญ่ให้อาหารพืชให้อาหารสัตว์ก็จะอยู่ตรงนี้ บ่อสุดท้ายเป็นวนเกษตร เป็นต้นไม้ที่กินได้ เราเอามาใช้ในชีวิตประจำวันได้ 

คำว่า สวนป่า เป็นใจความสำคัญของทั้งหมด เพราะฉะนั้นมันต้องมีระบบที่ทำให้มันอยู่ได้ แล้วระบบนั้นก็ต้องมีสิ่งแวดล้อมธรรมชาติอยู่ในนั้น ไม่ได้มีแค่เรา ต้องเกื้อกูลกัน อยู่ด้วยกันอย่างไม่ใช่มีแค่มนุษย์ เราต้องคิดอย่างอื่นมากกว่านั้นด้วย สามารถแชร์พื้นที่กันได้ 

วันหนึ่งมันอาจจะเป็นพื้นที่ที่ช่วงนี้มีสัตว์เยอะนะ มนุษย์ก็ได้ประโยชน์ในการมาสังเกตการณ์ แต่วันหนึ่งพื้นที่ตรงนี้ไม่มีสัตว์แล้ว เป็นพื้นที่ของเราทำกิจกรรม คิดว่าน่าจะต้องแชร์ร่วมกันได้ ถ้าตั้งต้นด้วยเรื่องของน้ำ ทำให้เป็นส่วนหนึ่งที่เห็นระบบน้ำ บำบัด แล้วมันสำเร็จ สะอาด คนใช้งานได้ เอามารดน้ำดูแลสวนได้ คนมาศึกษาได้ มันน่าจะไปต่อยอดที่อื่นๆ ที่เป็นตลิ่งของกรุงเทพฯ ได้ 

สวนเป็นเหมือนระบบ infrastructure ให้กับเมือง มันต้องมีหน้าที่มากกว่าแค่มาวิ่ง จะเป็นที่ถ้าน้ำท่วม มันก็ให้ท่วมไป ถ้าน้ำแล้งมันก็แล้ง ถ้าน้ำสกปรกมันก็บำบัดน้ำ มันก็จะทำหน้าที่นั้น

สวนควรเป็นมากกว่าทางวิ่ง

คณะทำงานเรามองว่าคำว่า สวนสาธารณะหรือสวนป่า นอกจากสิ่งที่เราว่ามาแล้ว มันยังต้องทำหน้าที่รองรับกิจกรรมคนเมืองด้วย ดังนั้น สวนแห่งนี้จึงต้องมีเส้นทางที่ทำกิจกรรมหลากหลายได้ และสัมผัสกับธรรมชาติได้ด้วย

เรามีการเก็บโครงสร้างถนนเดิมไว้ตั้งแต่สมัยโรงงาน ทั้งต้องการรักษาต้นไม้เดิม พยายามให้มันอยู่ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ นอกจากนี้เรายังมีการนำเอาวัสดุต่างๆ เช่น เมื่อเราทุบอาคารเดิมแล้วมีคอนกรีตหลงเหลือ เราก็นำมาใช้ในกระบวนการสร้างจุดอื่นต่อไป

เส้นทางที่ปูด้วยยางมะตอยก็จะเป็นเส้นที่วิ่งผ่านกลุ่มต้นไม้ใหญ่ที่อยู่ที่เดิม เพราะเราตั้งใจจะให้คนมาวิ่งแล้วยังรู้สึกร่มเย็นไม่ร้อนเกินไป แล้วเมื่อไล่เข้ามาจะเป็นทางเดินที่เรียกว่า Boardwalk จะเป็นเส้นขนาดเล็กลงเหลือแค่ 1.5 เมตร เพราะต้องการที่จะให้คุณอยู่ใกล้กับธรรมชาติ เป็นเส้นที่เดินแล้วเป็น passive คือเดินช้าๆ อยู่ในนี้ได้ 

Skywalk ทำหน้าที่ 2 อย่างคือสำหรับเชื่อมเมือง ก็คือเชื่อมสวนน้ำเข้ากับฝั่งที่เป็นสะพานเขียว ที่เชื่อมต่อไปที่สวนลุมพินี เพื่อเชื่อมสวน 2 สวนเข้าด้วยกัน และอย่างที่ 2 คือทำหน้าที่เป็นทางเดินมุมสูงที่ทำให้คนได้เห็นบรรยากาศของสวนที่ไม่ได้มีระนาบเดียว เป็นการยกคนขึ้นไปอยู่ข้างบน เพราะฉะนั้นคนก็สามารถที่จะเดิน วิ่ง ออกกำลังกายได้หลากหลาย แล้วก็สามารถเพิ่มปริมาณคนในพื้นที่ของสวนได้

การทำงานภายใต้ความซับซ้อนในพื้นที่

จริงๆ ตอนทำงานร่วมกันกับธนารักษ์เอง ทั้งทหารเอง แค่นี้เราก็สำเร็จแล้ว เพราะทุกภาคส่วนดูไม่น่าจะเข้ากันได้ในการทำงาน ทหาร ผู้ก่อสร้าง เข้ามาวันแรกก็บอก มันรกอะ ทำไมมันรก คือเขาจะเรียบร้อยสวนต้องเรียบร้อย เขาก็จะบอกว่ารก แต่ธนารักษ์ก็บอกว่าไม่มีต้นไม้ใหญ่จะโอเคไหม ประชาชนเขาจะเข้าใจไหม 

ตอนนี้รู้สึกสำเร็จแล้วที่ทุกคนมาเจอกันครึ่งทาง มันคือการเปิดวิสัยทัศน์ร่วมกัน ของเราเองเราก็ได้เรียนรู้ว่าการที่เราจะทำอะไรบางอย่าง บางทีมันก็ต้องประนีประนอมเพื่อทำให้งานเดินไปข้างหน้าได้ แล้วก็คอมเมนต์ต่างๆ ที่ได้มาก็เป็นประโยชน์ เราได้เรียนรู้จากเขา เขาก็ได้เรียนรู้จากเรา การทำงานกับผู้ออกแบบเป็นแบบนี้นะ จนทุกวันนี้ทุกคนก็เข้าใจแล้วว่า สวนมันไม่ต้องเรียบร้อยมากก็ได้

เราต้องมีทัศนคติที่พร้อมแลกเปลี่ยนกัน ทุกคนต้องพร้อมจะเปลี่ยนตลอดเวลา แล้วก็โชคดีที่ทีมทุกคนเป็นแบบนั้น เรามีการทำงานเป็นทีมกว่าที่โครงการจะมาถึงวันนี้ได้ การทำงานเป็นทีมคือ key success อย่างแท้จริง

อาศรมศิลป์โชคดีที่ได้รับความเมตตาจากอาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญในแขนงต่างๆ ที่เข้ามาช่วยให้คำแนะนำ และเป็นที่ปรึกษาตั้งแต่เริ่มประกวดแบบโครงการ ทำให้ข้อมูลในการทำงานมีความถูกต้องมากขึ้น เพราะเราก็ไม่ได้มีความรู้มาก ไม่ได้มีประสบการณ์ออกแบบโครงการสวนขนาดใหญ่อย่างนี้มาก่อน  การทำงานที่ซับซ้อนจำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านมาร่วมด้วยช่วยกันอย่างอดทนและเข้มแข็ง และทีมทำงานส่วนต่างๆ ที่มีวัตถุประสงค์เดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นทีมงานสวนป่าเบญจกิติในระยะที่ 2-3

ตัวอย่างเช่น ตอนทำงานก็มีอาจารย์ขวัญสรวง อติโพธิ ที่ให้คำแนะนำ ช่วยตรวจแบบ จนถึงขั้นลงพื้นที่ด้วยกัน ในการทำเรื่องของสังคม urban space เรื่องของชุมชน การเชื่อมต่อในระดับเมือง, ผศ.ธิติพันธุ์ ตริตระการ อาจารย์น้ำของพวกเราที่ดูแล คอมเมนต์งานด้านภูมิสถาปัตยกรรมและผังทั้งหมด

ยังมีอาจารย์มณฑาทิพย์  โสมมีชัย  ผู้เชี่ยวชาญเรื่องต้นไม้ในกรุงเทพฯ จากคณะวนศาสตร์ ม.เกษตร อาจารย์ช่วยทั้งเลือกต้นไม้ที่จะนำมาปลูก แล้วยังช่วยลงพื้นที่เพื่อตรวจสุขภาพต้นไม้เดิมในพื้นที่พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการดูแลอีกด้วย ร่วมกับอาจารย์บุญฤทธิ์ ภูริยากร ผู้เชี่ยวชาญด้านไม้กล้า โครงการนี้ใช้ไม้กล้าหายากมากมาย ท่านคือคนที่อยู่เบื้องหลังและให้คำแนะนำอย่างมาก 

นอกจากนี้ยังมีอาจารย์อีกหลายๆ ท่าน อาจารย์นพรัตน์ นาคสถิตย์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเดินป่าได้เข้ามาให้คำแนะนำเรื่องทางเดินศึกษาธรรมชาติ การสื่อความหมายร่วมกับทาง Plan  Motif, อาจารย์วีรชัย ณ นคร ที่เป็นอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสวนพฤกษศาสตร์ และ Prof. Kongjian Yu เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการทำพื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetland) การบำบัดน้ำ ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก ถือเป็นเบอร์หนึ่งในเรื่องนี้   เป็นผู้ที่เราเชิญมาเป็นที่ปรึกษาโดยเฉพาะ และท่านก็ได้มาเป็นที่ปรึกษาให้กับเรา ซึ่งเป็นประโยชน์มากๆกับโครงการ ท่านยังเป็นผู้ก่อตั้งคณะสถาปัตย์และภูมิสถาปัตย์ ของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง (founded the Peking University College of Architecture and Landscape ) 

รวมถึงอาจารย์วิวัฒน์ ศัลยกำธร ซึ่งอาจารย์เป็นกรรมการสภาของอาศรมศิลป์ อาจารย์ก็ได้เข้ามาให้คำแนะนำในเรื่องของการทำโคกหนองนา การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยในการทำการเกษตร ในการจัดการน้ำ เพื่อให้โครงการมีแนวคิดในการทำแบบนี้ตั้งแต่เริ่มต้น และยังมี ผศ. ดร.ธนิศร์  ปัทมพิฑูร อาจารย์จากคณะสิ่งแวดล้อม ม.เกษตร ได้นำแนวคิดจากแหลมผักเบี้ยมาแนะนำและประยุกต์ใช้กับโครงการ นอกจากนี้ยังมีทีมทำงานที่เป็นวิศวกรงานระบบจากทีมออพติมัม (คุณทวี เตชสิทธิ์สืบพงศ์, คุณวีกิต กอบกำวณิชย์, คุณรพี ธีรชัยสกุล) และทีมวิศวกรโครงสร้างจากเกษม ดีไซน์ (คุณวรพจน์ เพชรเกตุ, คุณจานุวัติ เตียวตระกูล) เป็นทีมออกแบบที่ทำงานร่วมกันตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงตอนนี้ ก็ยังลงพื้นที่แก้ไขปัญหาหน้างานก่อสร้างร่วมกันอยู่ เป็นทีมออกแบบที่แข็งแรงมาก 

นอกจากนี้ยังมีทีมที่ปรึกษาเรื่อง Universal Design ที่ให้คำแนะนำในเรื่องการออกแบบเพื่อทุกคนจาก บ.ยูนิเวอร์แซลดีไซน์เซ็นเตอร์ (ไทยแลนด์) (คุณสุจิตรา จิระวาณิชย์กุล) ในช่วงของการเริ่มทำแบบก่อสร้างก็ได้มีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ มาร่วมตรวจแบบ ได้แก่ รองศาสตราจารย์นิลุบล คล่องเวสสะ,อาจารย์วีระพันธ์ ไพศาลนันท์ ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องภูมิสถาปัตย์ ศาสตราจารย์ ดร.ชัยยุทธ ชินณะราศรี ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการจัดการน้ำ รศ.เอนก ศิริพานิชกร ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธา ทุกท่านให้ตรวจสอบ และให้คำแนะนำร่วมกับกรมธนารักษ์  

กรมธนารักษ์ถือเป็นเจ้าของโครงการที่ได้ร่วมกันคิดร่วมกันแก้ปัญหาต่างๆ ของโครงการมาตั้งแต่เริ่มต้น  ช่วยกันมองหลากหลายมุมเพื่อให้ได้สวนป่าที่ดีที่สุดให้กับคนกรุงเทพฯ และยังมีการยาสูบฯ ที่เป็นเจ้าของพื้นที่ที่ยอมสละพื้นที่และมอบงบประมาณในการก่อสร้างโครงการนี้  

นอกจากที่ทำงานในการออกแบบแล้ว ในการก่อสร้างยังมีอีกหนึ่งทีมที่สำคัญมากๆ คือ กองทัพบก ซึ่งเป็นกองพลพัฒนาที่ 1 ที่มีพลตรี ไพรัช โอฬารไพบูลย์ เป็น ผบ. หน่วยในตอนนั้นจนมาถึง ผบ.พลตรี มนิต ศิริรัตนากูล เข้ามาดูโครงการ ซึ่งทีมทหารเป็นทีมที่ช่วยให้โครงการนี้สำเร็จเป็นรูปเป็นร่างในทุกวันนี้ ซึ่งเขาทำงานกันหนักจนแทบไม่มีวันหยุด ทำงานทุกวันเหมือนกับการย้ายค่ายทหารมาอยู่ในพื้นที่ก่อสร้างเลยที่เดียว ต้องจากบ้าน จากครอบครัวมากินนอนอยู่ที่พื้นที่โครงการ ทหารทุกคนมีความตั้งใจในการทำงานเป็นอย่างมากตั้งแต่ผู้บังคับบัญชาจนถึงระดับใต้บังคับบัญชา ซึ่งต้องชื่นชมเขาจริงๆ พวกเราก็ไม่คิดว่าทหารจะทำงานได้ดีแบบนี้ 

รวมถึงยังมีบริษัทอื่นๆ ที่เข้ามาร่วมงาน และยังมีที่ปรึกษาโครงการอย่าง บ.สโตนเฮนจ์ที่ได้ทำงานร่วมหัวจมท้ายกันมาตั้งแต่เริ่มก่อสร้างโครงการจนถึงปัจจุบัน จะเห็นว่าทุกคนทำงานร่วมกันเป็นทีม พวกเรามีทีมทำงานที่เข้มแข็งมาก 

นอกจากนี้ต้องขอบคุณท่านอดีตนายกอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ที่ได้ริเริ่มโครงการ ซึ่งต่อมา ฯพณฯ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้สานต่อโครงการนี้จนสำเร็จ

สิ่งที่คนทำงานอยากให้คนเดินสวนรู้สึก

อยากให้เขาเข้าใจว่าทำไมเราถึงคิดแบบนี้ อันที่หนึ่งถ้าเขาชอบทุกคนก็แฮปปี้ ทีมงานทุกคนมีความสุขอยู่แล้วที่ทำออกมาแล้วเสียงตอบรับดี 

แต่ว่าสิ่งที่อยากให้ได้มากไปกว่านั้นคืออยากให้ได้วิธีคิดว่าทำไมเราถึงทำแบบนี้ เพราะตอนที่ทำพวกเราจะมีเหตุผลรองรับว่าทำไมทำแบบนั้นแบบนี้ทั้งหมด ทำไมดินต้องมาถมเนินแบบนี้นะ ทำไมในนี้ถึงมีน้ำเท่านี้ มันถูกออกแบบมาด้วยหลักวิธีคิดทั้งทางวิชาการและปฏิบัติจริง พวกนี้เราอยากให้มันได้ถูกเผยแพร่ออกไป 

อยากให้ภูมิใจทั้งคนที่มีส่วนร่วมและคนไทยเองว่า ภูมิปัญญาที่เรามีมันเรียบง่ายและดีจริงๆ และหวังว่าอนาคตมันจะมีสวนสาธารณะแบบนี้อีกในประเทศนี้

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย