ประกาศผลผู้ชนะ Young Cannes Competition 2022

Young Cannes Competition 2022 คือการแข่งคัดเลือกครีเอทีฟรุ่นใหม่ อายุ 31 ปีหรือต่ำกว่า เพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทยไปร่วมการแข่ง Young Lions Competition 2022 ที่เทศกาลความคิดสร้างสรรค์ Cannes Lions International Festival Creativity เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส จัดโดยสมาคมผู้กำกับศิลป์บางกอก หรือ B.A.D ที่มีสมาชิกเป็นครีเอทีฟชั้นนำจากหลายเอเจนซี่ทั่วฟ้าเมืองไทย

การแข่ง Young Lions Competition 2022 ปีนี้จะทำแบบออนไลน์ เมื่อแข่งเสร็จ ผู้ชนะมีสิทธิ์เลือกว่าจะไปที่เทศกาลหรือจะไม่ไปก็ได้เช่นกัน เนื่องจากปีนี้คานส์กลับมาจัดหลังเว้นการจัดงานไป 2 ปี การไปร่วมเทศกาลถือเป็นการเปิดหูเปิดตาที่ดี B.A.D จึงตัดสินใจส่งน้องๆ ไปร่วมงานด้วย

Young Cannes Competition เป็นการแข่งขันที่โชว์ความร่วมมือร่วมใจของครีเอทีฟจากหลายๆ เอเจนซี่ ทั้งระดับซีเนียร์ จูเนียร์ และทีมงานอีกหลากหลายสาขา ออกแบบการแข่งให้คล้าย Young Lions Competition มากที่สุด (ถึงขั้นให้บรีฟส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ เพื่อให้น้องๆ ชินกับการรับบรีฟจากลูกค้าที่มาจากหลายเชื้อชาติ) แถมยังมาร่วมตัดสินรวมแล้ว 20 กว่าชีวิต 

งานที่เข้าประกวดปีนี้หลายตัวน่าสนใจ เรานำผลงานบางส่วนมาเล่าในบทความนี้

หมวด Film Competition

Brand : สสส.

Winner

SAFETY ITEM

ภีราภัสร์ จงพัชรนันท์ จาก Creative Juice Thailand

ณัฐธิณี เรืองเวส จาก Ogilvy & Mather

คนใช้ถนนไม่ค่อยเคารพป้ายคำเตือนและไฟจราจร ทั้งที่มันเกี่ยวกับความปลอดภัย แต่ในขณะเดียวกันเรากลับยินดีจ่ายเงินซื้ออุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยของเราเอง หนังโฆษณานี้ตั้งคำถามนี้ในอีกมุมมองที่น่าสนใจ โดยเปรียบเทียบว่าป้ายและไฟบนถนนเราก็จ่ายเพราะมาจากเงินภาษีของประชาชนเช่นเดียวกัน

Runner up 1 

WHY DON’T RESPECT

กวินภพ ปานบ้านแพ้ว จาก TBWA\Thailand
กัลยรัตน์ เสาวนียากร จาก Creative Juice Thailand

คนขับรถบ้านเรานับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หวังว่าจะช่วยให้แคล้วคลาดปลอดภัย แต่กลับเคารพป้ายและไฟสัญญาณน้อยเกินไป ทั้งที่พูดเรื่องความปลอดภัยเหมือนกัน

Runner up 2 

#Cindy

สริตา วิรุฬห์ฉวี และ ธรรมพร สงวนพรรค จาก The Leo Burnett Group

อุบัติเหตุที่เกิดในยุคโซเชียลมีเดียไม่ได้ทำให้คนจำแค่เหตุการณ์ แต่ยังจำชื่อผู้ก่อเหตุและจะถูกด่าซ้ำๆ ในโลกโซเชียล หนังชิ้นนี้เล่าว่า ถ้าไม่เคารพป้ายสัญญาณ ชื่อของคุณจะถูกจดจำไปอีกนานแค่ไหน

Shortlist 

WAIT OR WASTE

วิรัญชนา ดุมกลาง และ จิดาภา อุดมกิตติวรกุล จาก GREYnJ United

หนังตัวนี้เอาตัวเลขเวลานับถอยหลังเวลาติดไฟแดงมาเล่น โดยบอกว่าคุณจะรอเวลาไม่กี่วินาที หรือจะเสียเวลาชีวิตไปอีกนานกับการจัดการหลายสิ่งเวลาเกิดอุบัติเหตุ

Shortlist 

TRAFFIC SIGNAGE

ภาณุพงศ์ ชีพจิตรตรง และ ภวัต ถานะภิรมย์ จาก Ogilvy & Mather

หนังเรื่องนี้ไม่ซับซ้อน แค่ให้ป้ายมาเล่าความในใจ ด้วยกราฟิกและวิธีนำเสนอที่แม้ไม่สวยแต่ก็เป็นวิธีการเล่าเรื่องด้วยภาพของยุคสมัยนี้มากๆ

หมวด Digital Competition

Brand : Big Trees

Winner

THE WATCH OUT

อรรถพงศ์ รักขธรรม และ ภริม กายบริบูรณ์ จาก Wunderman Thompson

แคมเปญนี้เอาเรื่องต้นไม้มาจับกับการวิ่ง เพราะแม้การพูดถึงต้นไม้ในเมืองจะดูไม่น่าดึงดูดสำหรับคนทั่วไป แต่สำหรับนักวิ่งในเมืองสาย City run พวกเขาได้เห็นต้นไม้เหล่านี้เป็นประจำ แคมเปญจะชวนนักวิ่งมาสำรวจต้นไม้ในเมืองที่ถูกตัดหรือต้องการการดูแลเป็นพิเศษ วิธีการคือสร้างเส้นทางในแอพบันทึกการวิ่งยอดนิยมอย่าง Strava โดยวาดเส้นทางให้ผ่านต้นไม้ที่ต้องการการดูแล กำหนดจุดไว้อย่างชัดเจน เมื่อเราวิ่งผ่านจะเห็นจุดที่ว่า เราสามารถถ่ายรูปหรือรายงานไปที่ Big Trees เพื่อหาทางจัดการอย่างเหมาะสมต่อไป

Runner up 1 

BIG TREES ADOPTION

ษฎาวุฒิ อุปลกะลิน และ วารินทร์ ชื่นอร่าม จาก TWF Agency

แคมเปญนี้ชวนเรามาเป็น Guardian อุปการะต้นไม้แบบ 1 คน 1 ต้น เริ่มจากทีมงานจะนำแผ่น QR Code ไปแปะตามต้นไม้ที่ต้องการคนมาช่วยดู เมื่อใช้มือถือสแกนจะเข้าไปหน้าเว็บไซต์ที่รวมวิธีการดูแลต้นไม้จากรุกขกรมืออาชีพ เมื่อต้นไม้ที่เราดูแลอาการไม่ค่อยดี เราสามารถติดต่อหมอต้นไม้ให้มาดูแลโดยด่วนได้ ทุกกิจกรรมและภารกิจที่เราทำเพื่อต้นไม้จะเปลี่ยนเป็น Coin ที่สามารถใช้เป็นส่วนลดหรือเงินซื้อสินค้ากับร้านค้าที่ร่วมแคมเปญได้ 

Runner up 2

DEAR THE NEXT BANGKOK GOVERNOR

วริยา เทียนพิทักษ์ และ พิมพ์ภัทรา ภัคพลพาณิชย์ จาก Hakuhodo Bangkok

แคมเปญนี้อิงกับกระแสการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร ด้วยการเปลี่ยนต้นไม้ที่ถูกตัดให้เป็นจุดถ่ายรูปและเช็กอิน ดันแฮชแท็ก #DEARTHENEXTBANGKOKGOVERNOR เพื่อกดดันผู้สมัคร เพราะความจริงก็คือหน่วยงานที่ดูแลต้นไม้ขึ้นตรงกับผู้ว่าฯ ถ้าจะแก้เรื่องนี้ก็ต้องยิงตรงไปที่จุดที่สำคัญที่สุด 

Shortlist

THE TALK-ABLE TREES

วิชัย เกียรติจรูญศิริ และ ณัฐพล หิรัญลิขิต จาก Adapter Digital

งานชิ้นนี้หาวิธีส่งสัญญาณเตือนให้เรารู้ว่าต้นไม้กำลังตกอยู่ในอันตราย เริ่มจากการติดตัวส่งสัญญาณ Beacon ที่ต้นไม้ สามารถตรวจจับการสั่นสะเทือนที่เกิดจากเครื่องมือที่ใช้ตัดต้นไม้ได้ เมื่อเกิดการตัดตัวส่งสัญญาณจะส่งข้อความ SMS ไปในโทรศัพท์มือถือในรัศมี 30 เมตรเพื่อขอความช่วยเหลือกับคนใกล้เคียง ในย่านที่มีต้นไม้ใหญ่อายุมากจะมีการติดอุปกรณ์เพิ่มเพื่อให้ต้นไม้สามารถทำอะไรได้มากขึ้น มีโซเชียลมีเดียของตัวเอง เผยแพร่ความรู้การตัดต้นไม้อย่างถูกวิธีประหนึ่งมีชีวิตจริงๆ 

Shortlist

TREEMERGENCY PIN

ธัญจิรา ศันสนะวาณี และ แพรวฟ้า นุชเกษม จาก TBWA\Thailand

แคมเปญนี้สร้าง Pin ตัวใหม่ใน Google Maps เพื่อรายงานต้นไม้ที่ถูกตัดแบบผิดวิธี เมื่อเราปักหมุดจะมีตัวเลือกให้ส่งข้อมูลหา Big Trees มาช่วยดูแลต้นไม้ต่อ ส่วนคนที่ใช้ Google Maps อยู่แล้วก็สามารถตามรอยและติดตามผลความคืบหน้าได้ทันที

Shortlist

THE EFFORTLESS GUARDIAN

อนิน ศรีอุไรรัตนา และ กันยาพร ล่องประเสริฐ จาก Wolf BKK

แคมเปญนี้พยายามคิดมุมว่า ให้คนช่วยดูแลต้นไม้โดยออกแรงน้อยที่สุด วิธีคือเอาเรื่องต้นไม้มาจับกับกล้องหน้ารถ เราสามารถนำฟุตเทจวิดีโอจากกล้องมาใช้ระบบ A.I. ตรวจจับต้นไม้ที่ตัดผิดวิธีหรือกำลังจะตาย จากนั้นก็ส่งข้อมูลต้นไม้พร้อมพิกัดให้ Big Trees ช่วยจัดการต่อไป เทคโนโลยีที่ว่ามีในกล้องหน้ารถและโปรแกรมเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยอยู่แล้ว แค่พลิกมุมมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น

AUTHOR