ชีวิตและศิลปะในคืนวันไร้ปาร์ตี้ของ โน้ต Dudesweet – พงษ์สรวง คุณประสพ 3/4

“เสียดายความหนุ่มสาวที่เสียไปไหม” ผมสงสัย

“ไม่ เราไม่เคยคิดว่าเราแก่ขึ้นนะ คือในทางกายภาพน่ะแก่ แต่ความรู้สึกเราบางทียังลืมไปเลยว่าเราอายุ 35 คือมันเป็นอย่างนี้ ตอนอายุ 20 – 25 ถ้าเราคิดถึงเหตุการณ์เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เราจะรู้สึกเหมือนเหตุการณ์นั้นมันผ่านไปแล้ว 10 ปี แต่ตอนอายุ 35 พอคิดถึงเหตุการณ์เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เราจะรู้สึกเหมือนมันเพิ่งผ่านมาแค่สองอาทิตย์ บางทีเรานึกถึงเหตุการณ์ต่างๆ เรายังจำได้ ตอนเด็กๆ เราอยู่ไปวันๆ รอแค่วันศุกร์ แต่ยิ่งโตขึ้นเราใช้เวลาเพื่อจุดมุ่งหมายหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ทุกอย่างเลยยิ่งผ่านไปเร็ว”

คงไม่ใช่แค่ปาร์ตี้ที่เติบโต เขาเองก็เช่นกัน

จากการได้นั่งพูดคุยกันทำให้ผมสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงของชายหนุ่มชัดเจน ความเกรี้ยวกราดในการแสดงความคิดเห็นเมื่อครั้งวันวานเจือจางลงมากในระดับที่รับรู้ได้

ไม่ใช่เขาไม่รู้

“เมื่อก่อนเด็กๆ ด่าฉิบหายเลย เพลงอะไรก็ตามที่กูไม่ฟังด่าเขาหมดเลย ด่า บริทนีย์ สเปียร์ส แต่พอเวลาผ่านไปมันก็พิสูจน์เหมือนกันนะว่า บริทนีย์ สเปียร์ส เขาก็เก่งในทางของเขา แต่ตอนนั้นเราเด็กมาก วันเวลาทำให้เราสูญเสียความดิบในการแสดงความคิดแบบนั้นไป ซึ่งความจริงการพูดอะไรโดยไม่คิดให้รอบคอบมันก็ได้อะไรดีๆ เหมือนกันนะ สำหรับคนที่ฟังจะได้เห็นตัวตนของคนที่พูด แต่พอเราโตขึ้นเราเริ่มเซ็นเซอร์ตัวเอง ซึ่งจริงๆ เป็นสิ่งที่ควรทำแหละ เพราะคำพูดทุกคำมีผลกับผู้ฟังเสมอ

“เราสูญเสียการแสดงความเห็นแบบจริงๆ จังๆ ไป แต่ในขณะเดียวกันมันก็ได้อย่างอื่นมาด้วย ได้ความคิดที่ลึกซึ้งขึ้น มีความถี่ถ้วนมากขึ้นในการใช้ชีวิต ซึ่งอันนั้นเด็กคงไม่มีกันหรอก”

“จัดปาร์ตี้มา 11 ปี มีความเชื่อใดเปลี่ยนแปลงไปบ้าง” ผมถามโดยมีเสียงเพลงจางๆ ที่เขาเปิดคลอเป็นฉาก

เขานิ่งคิดก่อนหยิบบุหรี่มวนที่ 2 ขึ้นจุด

“เมื่อก่อนเคยคิดว่าคนเรามันจะพีกได้แค่ครั้งเดียว แต่ตอนนี้ไม่เชื่อแล้ว เราก็มีช่วงพีกของเราแหละ ที่แมสมากๆ ตอนปี 2010 ถึง 2012 ที่คนมาปาร์ตี้กันพันกว่าคน โคตรแมสเลยตอนนั้น เอาใจตลาดมาก เราว่าทุกอย่างมันเป็นลูป
แต่ลูปใหม่เราไม่อยากพีกด้วยคนพันคนแล้ว แต่เราอยากพีกด้วยตัวเอง ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่าอยากทำอะไร”

“เราคิดอยู่เร็วๆ นี้เองว่าเราไม่เห็นอนาคตของเราอีก 5 ปีต่อจากนี้ เราไม่เห็นว่าเราจะทำอะไรต่อไป ซึ่งถ้าเกิดเราพูดประโยคนี้ตอนอายุ 20 มันจะไม่เป็นปัญหาหรอก แต่พออายุ 35 แล้วพูดว่าอีก 5 ปีเราจะอยู่ยังไงแล้วเราไม่รู้ อันนี้เริ่มน่ากลัว ซึ่งเป็นสิ่งที่เรากลัวอยู่ แต่ทีนี้เราก็มองย้อนกลับไปว่าไอ้ที่ทำมามึงก็ไม่เคยรู้เลยนี่หว่า (หัวเราะ) แล้วมันก็กลายเป็นอะไรสักอย่างที่นำทางชีวิตไปในทางที่ดีได้ เมื่อเวลาผ่านไปมันจะบอกเองว่าเราควรจะไปยังไงต่อ ตอนเด็กๆ พวกเราอยากเป็นทหาร เป็นตำรวจ ก็ไม่เห็นได้เป็นเลยใช่ไหม” เขาถามหาพวก ผมได้แต่พยักหน้ารับ “โตขึ้นมาถึงรู้ว่าไม่อยากเป็นทหาร หรือตำรวจ ตอนเริ่มทำ DUDESWEET ที่ทำให้ชีวิตเปลี่ยนมากๆ ก็ไม่ได้อยู่ในแพลนมาตั้งแต่แรก ไม่รู้ว่ามันมีด้วยซ้ำ”

“อย่างนิทรรศการที่ทำอยู่ตอนนี้ก็ไม่เคยอยู่ในระบบความคิดมาก่อน”

โน้ตหมายถึงนิทรรศการที่ทำให้คนปาร์ตี้อย่างเขาต้องฝังตัวอยู่บ้านยาวนานแบบไม่เคยเป็นมาก่อน

 

 

 

5. จุดเริ่มต้นมาจากแม่

กระดานบนขาตั้งกลางห้องว่างเปล่าไร้ชิ้นงานบอกผมว่าตอนนี้ไม่มีภาพที่เขาวาดค้างคาอยู่

“เพิ่งวาดเสร็จไปรูปนึงเมื่อคืน เดี๋ยวให้ดูงานดีกว่า จะได้เก็ตไอเดีย” พูดจบเขาก้าวเข้าไปยังห้องนอนหยิบผลงานที่เสร็จเกือบสมบูรณ์แล้วปึกใหญ่มาวางเรียงลงที่พื้นห้องและบนโซฟา “มีส่วนนึงไปเก็บไว้บ้านเพื่อนเพราะที่บ้านไม่พอเก็บ แล้วยิ่งอยู่กับมันนานเราจะยิ่งแต่งไปเรื่อย กลายเป็นไม่รู้จบสักที”

ในขณะที่ปากพูด มือของเขาก็หยิบแคนวาสขนาดเท่าซองแผ่นเสียงเรียงรายตรงหน้า

“นี่ยังไม่มีใครได้ดูเลยนะ เพื่อนสนิทๆ เรายังไม่มีใครดูเลย”

เมื่อผลงานทั้งหมดถูกจัดวางอย่างเปิดเผย เขายื่นถุงมือให้ผมสวมด้วยเกรงว่ามือจะเปรอะเปื้อนร่องรอยของสี

เมื่อผมสวมถุงมือเรียบร้อย เขาเอ่ยถ้อยคำอนุญาตให้ผมสัมผัสผลงานของเขา

แรกสัมผัสด้วยตา ผมเห็นผืนแคนวาสสี่เหลี่ยมจัตุรัสถูกวาดด้วยลายเส้นที่เป็นลายเซ็นสไตล์พงษ์สรวง นั่นคือเน้นอารมณ์มากกว่าความสมจริง เน้นความรู้สึกมากกว่าจะโชว์ทักษะ

แรกสัมผัสด้วยมือ ลักษณะของมัน ทั้งขนาดและรูปทรงไม่ต่างจากซองใส่แผ่นเสียง สอดคล้องกับการจัดองค์ประกอบภาพและคำที่ดูคล้ายการจัดวางเลย์เอาต์บนปกซีดี ต่างเพียงผิวสัมผัสที่มีมิติหนานูนตามจังหวะการให้น้ำหนักสีของเขา

“คอนเซปต์คือเราจะทำเหมือนปกแผ่นเสียง เรารู้สึกว่าชีวิตเราอยู่กับเพลงมาโดยตลอด เพลงเป็นสิ่งที่เราชอบที่สุด สิ่งเดียวที่ทำให้เรารู้สึกอยากเป็นวัยรุ่นต่อไปก็คือเพลง คนส่วนใหญ่จะเลิกฟังเพลงเมื่อจบมหาวิทยาลัย แต่เผอิญเรามีหน้าที่ฟังเพลงเพื่อคนอื่นด้วย มันก็เลยติดตัวมาเรื่อยๆ แล้วตอนเปิดออฟฟิศ Slowmotion ทีแรกเราตั้งใจจะออกแบบแผ่นเสียงอย่างเดียว ปกเทปอย่างเดียว แต่กลายเป็นว่าธุรกิจมันเปลี่ยนไป เราก็ต้องปรับตาม เลยคิดว่า เออ ชีวิตหลักที่สำคัญที่สุดก็คือเพลง พอเลือกที่จะเล่าเรื่องราวต่างๆ ทั้งดีและทั้งร้าย เลยคิดว่าถ้าเราคิดให้มันเป็นเพลงจะเป็นเพลงยังไง”

ชีวิตที่ไปไหนมาไหนมีอิสระได้พบปะผู้คนนั้นสบายดีอยู่แล้ว อะไรเป็นสาเหตุให้เขาตัดสินใจกักขังตัวเองขีดเขียนงานเหล่านี้อย่างโดดเดี่ยว-ผมสงสัย

“จุดเริ่มต้นมาจากแม่ของเรา” ว่าแล้วเขาก็เอื้อมมือไปหยิบภาพหนึ่งออกจากกลุ่ม คล้ายภาพนี้มีความสำคัญในการเล่า

บนภาพนั้นมีคำที่ถูกจัดวางคล้ายชื่อวงดนตรีบนปกซีดีว่า THE HOSPITAL

“หลังจากที่ออกจากบ้านตอนเรียน เราก็ไม่ได้สนใจว่าแม่เราเป็นยังไง คือเราไม่ได้โตมาแบบแม่ลูกกอดกัน เราเป็นอารมณ์ลูกคนเดียว เบื่อบ้าน รู้สึกว่าผู้ใหญ่น่ารำคาญ ตอนแรกรู้ว่าแม่ป่วยก็ไม่ได้รู้สึกอะไร เพราะเข้าใจว่าคนแก่ก็ป่วยๆ หายๆ เป็นเรื่องปกติ จนตอนหลังมารู้ว่าเขาเป็นโรคลูปัส หรือที่คนไทยเรียกว่าโรคพุ่มพวง ตอนรู้แล้วเราก็ยังไม่รู้จักรีเสิร์ชอีกนะว่ามันคืออะไร มารู้ตอนหลังว่าโรคนี้รักษาไม่หาย ถ้ารู้อย่างนี้แล้วย้อนเวลากลับไปได้คงทำตัวดีๆ
กับเขาหน่อย”

ควันบุหรี่ที่เขาสูบลอยฟุ้งจนเห็นแววตาขณะเล่าไม่ชัดเจน

“ภาพนี้เป็นภาพที่เรานึกถึงวันที่แม่อยู่ในห้องไอซียูแล้วเราทำอะไรไม่ได้ เขานอนหลับไป ตอนนั้นอาการเขาหนักแล้ว หมอห้ามเยี่ยมหลังสามทุ่ม เราต้องกลับบ้าน มันเป็นคืนที่โหด หมอขอเบอร์ทุกคน เราก็ให้เบอร์เราเป็นเบอร์หลัก หมอบอกว่าถ้ามีอะไรจะโทรไป แต่มีอะไรในที่นี้คือถ้าดีขึ้นเขาไม่โทรมาหรอก มันเป็นภาพการรอคอยที่นานที่สุดในชีวิต อยู่ๆ ก็เชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทุกอย่าง เป็นวันที่เราเชื่อว่าปาฏิหาริย์มีจริงที่สุดในโลกแล้ว เราจำได้ว่าวันรุ่งขึ้นตอนแม่เสียเราเสียใจมาก แล้วก่อนแม่เราจะเสียไอ้เราก็คิดว่าจะเหมือนในหนังที่พูดอะไรที่ยิ่งใหญ่ที่ฝังใจให้จำไปตลอดชีวิต แต่คำสุดท้ายที่แม่พูดกับเราคือ อยากกินน้ำส้ม” สิ้นประโยคเขาก็หัวเราะในเรื่องตลกร้าย

หลังการจากไปของแม่ เขาต้องเป็นเสาหลักในการจัดการงานทั้งหมด แม้จะจัดปาร์ตี้มานับไม่ถ้วน ผู้คนเรือนพันก็รับมือมาแล้ว แต่กับงานศพเล็กๆ งานนี้ เขากลับซวนเซ ไปไม่เป็น ทักษะการจัดการที่มีติดตัวใช้การไม่ได้

“งานศพเป็นปาร์ตี้ที่จัดยากที่สุดแล้ว” เขาพูดทีเล่นทีจริง “เราต้องทำหลายอย่างมาก ทั้งไปโรงพยาบาล ไปอำเภอ ติดต่อวัด วันนั้นยุ่งจนลืมร้องไห้ไปเลย ปาร์ตี้ทั่วไปคนที่มามีหลายความรู้สึกมาก บางคนเสียใจ บางคนสนุก เราก็แค่เปิดเพลงไป แต่งานศพทุกคนมาด้วยความรู้สึกเห็นใจ ญาติพี่น้องมาด้วยความรู้สึกเสียใจ ทุกอย่างมันเป็นสีเทาไปหมด ตัวเราเองไม่มีกะจิตกะใจจะทำอะไรตอนนั้นหรอก แต่มันก็ต้องทำ เพราะมีคนมาแสดงน้ำใจให้กับเรา เราต้องต้อนรับขับสู้ให้ดีที่สุด ไม่มีเวลามาฟูมฟาย เราต้องต้อนรับน้ำใจคนอื่นซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่ามาก เราถึงได้รู้ว่างานศพนี่จริงๆ แล้วเขาออกแบบให้คนเป็นนะ”

ชีวิตที่ผ่านมาเขาได้รู้จักผู้คนมากมายจากปาร์ตี้ที่จัด แต่ในงานศพของแม่ทำให้เขาพบว่าไม่รู้จักญาติตัวเอง หลานอายุ 10 ขวบเขาเพิ่งเคยเห็นหน้าครั้งแรก ลูกพี่ลูกน้องมีสถานะไม่ต่างจากคนแปลกหน้า งานนี้จึงทำให้เขาได้ซ่อมแซมบางส่วนของความสัมพันธ์ในชีวิตที่สึกหรอ

“สิ่งหนึ่งที่เราได้รู้จากการกลับไปอยู่กับครอบครัวที่เราห่างหายไปเป็นสิบปีคือ ก่อนหน้านี้เราคิดว่าเราอยู่ด้วยตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาใคร ไม่ต้องมีครอบครัวก็ได้ แต่พอเราได้รู้จักครอบครัวอีกครั้ง มันเหมือนเราเป็นคนมากกว่าเดิม รู้ว่าเรามีที่มาที่ไป ไม่ได้ออกมาจากกระบอกไม้ไผ่ เข้าใจว่าทำไมเราเป็นคนแบบนี้ เข้าใจพฤติกรรมตัวเองมากขึ้น

“รู้แล้วว่าทำไมเราชอบวาดรูป เพราะตาเล่าให้ฟังว่าตอนเด็กๆ เราวาดรูปเร็ว ซึ่งเรื่องพวกนี้เราลืมหมดแล้ว เรื่องพวกนี้จะรู้ต่อเมื่อเรามีราก เหมือนต้นไม้ รากของเราก็คือคนที่เกิดก่อนเรา คนที่เลี้ยงดูเรามา ทำให้รู้ประวัติศาสตร์ของตัวเองมากขึ้น”

หลังงานศพ เขาใช้เวลา 2 คืนก่อนนอน รวบรวมความทรงจำระหว่างเขากับแม่วาดออกมาการ์ตูนความยาว 8 หน้า ตั้งใจไว้แจกในงานฌาปนกิจศพ

วาดด้วยลายเส้นง่ายๆ วาดทั้งน้ำตา

การ์ตูนเล่มนั้นมีชื่อว่า บ้านของแม่

facebook | DUDESWEET

(จากคอลัมน์ a day with a view – a day 165 พฤษภาคม 2557)

อ่านบทสัมภาษณ์ตอนอื่นๆ ได้ที่นี่

ตอนที่ 1
ตอนที่ 2
ตอนที่ 4

ภาพ พันธ์สิริ สิริเวชชะพันธ์

AUTHOR