3. รู้สึกชื่นชมก็เป็นศิลปะ
รู้สึกขยะแขยงก็เป็นศิลปะ
เขาจุดบุหรี่มวนแรกระหว่างการพูดคุยในห้องเช่า แสงไฟสว่างวาบที่ปลายมวน
แสงแดดจากภายนอกส่องให้เห็นกลุ่มควันลอยฟุ้งอยู่กลางห้องชัดเจน เขาอยู่ห้องเช่าย่านอารีย์แห่งนี้มาแล้วเกือบ 4 ปี แต่ออกจากบ้านหลังเก่ามานานกว่านั้น
“ตอนเด็กๆ เราไม่อยากอยู่บ้าน เราก็เลยออกจากบ้านไปอยู่หอตอนอายุ 19 ที่เข้าศิลปากร ตอนย้ายไปแรกๆ รู้สึก โหย ดีจังเลย มีสิ่งที่เราชอบ มีหอศิลป์ มีห้องสมุด มีบาร์ราคาถูก และไม่มีเรื่องมากวนใจ พอนานเข้าก็รู้สึกว่าครอบครัวไม่จำเป็น พอนานเข้าไปอีกยิ่งรู้สึกว่าไม่น่ามีครอบครัวเลย รู้สึกว่าไม่จำเป็น อยู่คนเดียวก็สบายดี เหมือนครอบครัวเป็นอะไรที่มาฉุดรั้งเรา”
เล่าจบเขาก็หัวเราะในความคิดตัวเองเมื่อครั้งนั้น แต่ผมในฐานะผู้ฟังได้แต่นั่งนิ่ง หัวเราะไม่ออก
ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรเขาได้เจอคนที่เชื่อและชอบในสิ่งเดียวกัน หลายคนยังคบหาเป็นเพื่อนร่วมวงการมาจนทุกวันนี้ ที่แตกต่างคงเป็นเรื่องฝีมือ
‘วาดไม่สวย’ โน้ตอธิบายผลงานของตัวเองด้วยคำนี้
“ตอนนั้นรู้สึกสงสัยว่าเขามาจากไหนกัน ช่างศิลป์คืออะไร ทำไมเขาวาดรูปกันเก่งจัง เรามาแบบห่วยๆ เรียนสายสามัญมา พอดีปีที่เราเข้ามหาวิทยาลัยเขารับเพิ่ม 5 คน เรายังแอบเลยคิดว่าเราอาจเป็นหนึ่งในห้าคนสุดท้ายที่เค้ารับเพิ่มก็ได้นะ (หัวเราะ)
“สักพักเราเริ่มรู้สึกแย่ คืองานเพื่อนมันดีมาก ประมาณเดือนที่ 4 เราเลยโดดเรียนคาบวิจารณ์งาน ไม่รู้จะไปไหนก็ไปเข้าห้องสมุด ตอนนั้นสงสัยว่าจะไปต่อไหวมั้ย แล้วไปเจอภาพภาพหนึ่งชื่อ Nighthawks ของศิลปินชื่อ Edward Hopper มารู้ตอนหลังว่าเขาดังมาก เป็นภาพคนนั่งอยู่ในคาเฟ่ ซึ่งเป็นภาพที่ไม่มีอะไรเลย แต่มันสะกดเรา เราถามตัวเองว่าทำไมถึงชอบ เพราะอะไรถึงดูแล้วรู้สึกอะไรบางอย่าง แล้วเหมือนเกิดตรัสรู้ขึ้นมาว่ามันต้องเป็นศิลปะแน่ๆ
เลย เรารู้สึกมากกว่าความสวย เราลืมเรื่องความสวยไปเลยด้วยซ้ำ เรารู้สึกจมอยู่กับมัน นี่ไงศิลปะ สอบเข้ามาตั้งนานแล้วเพิ่งจะเข้าใจ
“ก่อนหน้านั้นเราคิดว่าศิลปะต้องสวย เสร็จแล้วมันก็มีคำถามต่อมาอีกว่าความสวยคืออะไร สวยของกู ไม่สวยของมึง เป็นประเด็นที่เถียงกันไม่รู้จักจบสักที แต่พอมาเจอภาพนี้ปุ๊บเรารู้สึกว่าศิลปะคืออะไรก็ได้ที่ไปกระทบจิตใจคน
ทำให้เขารู้สึกอะไรบางอย่าง รู้สึกชื่นชมก็เป็นศิลปะ รู้สึกขยะแขยงก็เป็นศิลปะ”
พูดจบเขาลุกเดินไปหยิบหนังสือเล่มหนึ่งจากชั้นที่ตั้งอยู่ด้านในสุดของห้อง เป็นหนังสือปกแข็งทรงจัตุรัสขนาดกะทัดรัด บรรจุผลงานของศิลปินที่เพิ่งเล่าจบไป
“มันเป็นกรรมของนักศึกษาศิลปะไทยนะ เพราะต่อให้ภาพจริงมันใหญ่แค่ไหนมันก็ต้องอยู่ในหนังสือไซส์แค่นี้น่ะ แล้วเราก็เรียนจากสไลด์โชว์ ซึ่งพอเราไปเจองานโมเน่ต์ของจริงที่ใหญ่เท่าบ้านเราก็ อ๋อ เข้าใจแล้วว่าทำไมคนถึงยกย่องว่ายิ่งใหญ่นัก ตอนนั้นเราเลยตั้งปณิธานไว้ว่าโตขึ้นมีเงินจะไปดูภาพนี้กับตาให้ได้”
ระหว่างฟังเขาเล่าผมพลิกหน้าหนังสือตามไปจนเจอภาพที่ระบุชื่องานว่า ‘Nighthawks’
ในหน้านั้นมีกระดาษโพสต์อิทสีชมพูสะท้อนแสงติดอยู่ บนกระดาษแผ่นนั้นมีข้อความเขียนด้วยลายมือว่า
I’m going to stand in front of this painting on September, 11th 2003 12.00
“ตอนนั้นไปลอนดอน เผอิญมีนิทรรศการของศิลปินคนนี้มาจัดพอดี แล้วภาพนี้ก็เป็นงานเอกของเขา ทั้งห้องก็จะมีภาพนี้อยู่ภาพเดียว แล้วเราก็ไปยืนร้องไห้อยู่หน้าภาพนั้น”
4. ขนาดคนยังมีวันหมดอายุเลย
ที่ผนังห้องก่อนเดินทะลุสู่ห้องนอนมีโปสเตอร์ที่ใช้โปรโมตปาร์ตี้แผ่นใหญ่ติดอยู่ นี่เป็นเพียงหนึ่งในร่องรอยของสิ่งที่เขาทำที่ปรากฏภายในห้อง
หลังเรียนจบเขาทำงานที่นิตยสาร แพรว , สุดสัปดาห์ , Lips ก่อนหันเหความสนใจจากนิตยสารสายแฟชั่นมายังนิตยสารสายดนตรีอย่าง MTV TRAX ที่คิดว่าเคมีตรงกับเขามากกว่า
ในค่ำคืนหนึ่งที่เขารู้สึกเบื่อหน่ายเพลงกระแสหลัก และพบว่าไม่มีที่ทางสำหรับเพลงอัลเทอร์เนทีฟร็อกที่เขาชื่นชอบ เขาจึงนึกสนุกอยากจัดปาร์ตี้ที่เปิดแต่เพลงที่เขาและกลุ่มเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัยชื่นชอบโดยที่หารู้ไม่ว่าหลังจากนั้นทุกอย่างจะบานปลาย
บทเพลงของ Suede เอย The Stroke เอย Radiohead เอย Blur เอย กระหึ่มดังอีกครั้งท่ามกลางกลุ่มคนที่โหยหา-เห็นค่า
ในนามของ DUDESWEET ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 2545 ซึ่งเป็นปาร์ตี้คืนแรก ณ ชั้น 2 ผับบายน ถนนข้าวสาร จนถึงวันนี้ เขาจัดปาร์ตี้เพื่อสนองสิ่งที่เชื่อและชอบมาแล้วทะลุหลักร้อยครั้ง จากปาร์ตี้ที่มีดนตรีเป็นแม่เหล็กเขาเริ่มสอดแทรกใช้งานศิลปะเป็นสิ่งดึงดูด จากปาร์ตี้ที่ตั้งใจว่าจะมีแต่เพื่อนร่วมก๊วนมหาวิทยาลัยกลับกลายเป็นสถานที่รวบรวมผู้คนในวงการศิลปะ ดนตรี และแฟชั่น ให้ได้มาพบปะสังสรรค์
พูดก็พูดเถอะ หลากหลายโปรเจกต์ศิลปะในประเทศเราผุดขึ้นระหว่างการชนแก้วของเหล่าศิลปินในงานปาร์ตี้ของเขานั่นแหละ
“ปาร์ตี้เป็นการละลายกำแพงของแต่ละคนได้ดีที่สุด อย่างเราอยู่แวดวงเดียวกันแต่เราไม่เคยคุยกัน พอมาเจอแล้วเกิดการคุยกันมันก็เกิดเป็นบทสนทนาใหม่ๆ ที่นำไปสู่การสร้างสรรค์อย่างอื่นได้ อย่างเราเป็นตัวอย่าง จบมาเราก็อยู่กับกลุ่มเพื่อนศิลปากร แล้วพอได้จัดปาร์ตี้ ตอนนี้เพื่อนเราเต็มไปหมด จำนวนไม่น้อยที่ทำงานด้วยกัน เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในแวดวง เราคิดมาตลอดว่าปาร์ตี้เป็นช่องทางการสื่อสารรูปแบบหนึ่ง เป็นความรู้สึกที่คนมาแล้วจะไม่รู้สึกว่าถูกคุกคาม พอมาด้วยความรู้สึกสบาย พอใจเขาเปิด เขาก็จะรับ”
เมื่อถามถึงเส้นทางข้างหน้าของ DUDESWEET ว่าจะเป็นและไปอย่างไร เขานิ่งคิดก่อนตอบว่า ปาร์ตี้ยังต้องสนุกเหมือนเดิม ที่เปลี่ยนไปคือต้องเติบโตขึ้น
แน่นอนว่าไม่ได้หมายถึงในแง่จำนวนคน-สิ่งนั้นเขาเลิกให้ค่ากับมันไปนานแล้ว แต่เขาหมายถึงในแง่เนื้อหาและรูปแบบ
“เราคิดว่าคนเรา ช่วงวัยรุ่นมันมีเวลาแค่ 15 ปีในการแสดงตัวตนอะไรสักอย่างด้วยความรู้สึกเพียวๆ หลังจากนั้นเราจะมาทำตัวฮิปๆ มันก็จะไม่เมกเซนส์อีกต่อไป เราก็เลยมองตัวเองแล้วสงสัยว่าเราจะทำตัวเป็นเด็กแนวกิ๊บเก๋ต่อไปจริงหรือ”
“แสดงว่าวัยหนุ่มมีวันหมดอายุ” ผมถามย้ำ
“ทุกอย่างมีวันหมดอายุหมดแหละ คนยังมีวันหมดอายุเลย ทัศนคติมันก็มีวันหมดอายุ คือทุกวันนี้เรายังรู้นะว่าเพลงไหนดีไม่ดี แต่ไม่จำเป็นต้องแสดงออกเหมือนตอนเราเป็นเด็กแล้ว แค่ฟังแล้วเอามาเป็นแรงบันดาลใจก็พอ”
“คนที่มาปาร์ตี้ของเราคือคนอายุ 22 – 28 เป็นส่วนใหญ่ แล้วเราเริ่มทำ DUDESWEET ตอนอายุ 22 ตอนแรกเราก็สงสัยว่าทำไมคนกลุ่มมันเด็กลงเรื่อยๆ วะ เพื่อนเราบอกว่าก็มึงโตขึ้นไง คือคนบนฟลอร์อายุเท่าเดิมแต่คนจัดมันอายุมากขึ้นเรื่อยๆ เราก็เลยคิดว่าไม่มีเหตุผลอันใดที่ต้องไปทำตัวตามวัยให้เท่ากับเด็ก ทำสิ่งที่เราถนัดแล้วให้มันอยู่กับเรา เปลี่ยนไปตามตัวเรา อย่างล่าสุดคอนเสิร์ต Swim Deep ถ้าเป็นเมื่อก่อนคงเก็บตังด์ เก็บตั๋ว ตั้งเวที ร้องเพลงกันไป แต่ตอนนี้อะไรที่ใส่ศิลปะเข้าไปได้เราใส่หมดเลย ทั้งฉาก ทางเข้า แม้กระทั่งตั๋ว ทุกอย่างเป็นเหมือนผืนผ้าใบให้เราไปละเลงอะไรที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้คนได้”
“แต่การรู้ว่าคนใหม่ๆ ทำอะไรกันบ้างยังเป็นสิ่งสำคัญนะ ถ้าเกิดจะทำงานพวกศิลปะและการออกแบบ เพราะมันเป็นเรื่องของปัจจุบันกาล ถ้าเราไม่สนใจว่าเขาทำอะไรกันเราก็จะอยู่กับวันวานเก่าๆ อะไรเก่าๆ”
facebook | DUDESWEET
(จากคอลัมน์ a day with a view – a day 165 พฤษภาคม 2557)
อ่านบทสัมภาษณ์ตอนอื่นๆ ได้ที่นี่
ภาพ พันธ์สิริ สิริเวชชะพันธ์