คิสสะ
/ คุมิโกะ ชูบะชิ
/ มาอยู่ปี 2006
“กาแฟดริปเป็นกาแฟที่ทำช้า เข้ากับเวลาของเชียงใหม่” คุมิโกะ ชูบะชิ เจ้าของร้านกาแฟ บอกเราด้วยภาษาไทยสำเนียงญี่ปุ่น เป็นคำอธิบายที่เธอใช้เวลาคิดและเรียบเรียงอยู่นานชื่อร้าน
ชื่อร้าน ‘คิสสะ’ แปลตรงตัวว่า ‘ร้านกาแฟ’ แต่ถ้าจะพูดให้ถูก ที่นี่ไม่ใช่ร้าน แต่เป็นการใช้พื้นที่ชั้นล่างของบ้าน จัดโต๊ะเก้าอี้ไม่กี่ชุด เพื่อเสิร์ฟกาแฟที่คุมิโกะทำเองด้วยความตั้งใจ ใช้เมล็ดกาแฟอย่างดี คั่วเองในระยะเวลาที่พอเหมาะ ผ่านน้ำร้อนในอุณหภูมิที่เหมาะสม หยดลงมาเป็นกาแฟที่มีกลิ่นหอมและรสชาติประณีต สำหรับคอกาแฟ นี่ถือเป็นการรอคอยที่คุ้มค่า
“ไม่รู้ว่าดีกว่าไหม แต่ชอบมากกว่า คุมิรู้สึกว่าการชงกาแฟดริปคล้ายพิธีชงชา ต้องใช้สมาธิ และใจที่สงบเงียบ คนญี่ปุ่นชอบกาแฟแบบนี้เพราะรสชาติของเมล็ดกาแฟจะออกมาโดยตรง เหมือนอาหารญี่ปุ่นที่มีรสจืด คนญี่ปุ่นไม่ชอบปรุงรส อยากกินรสที่ใกล้เคียงวัตถุดิบที่สุด” คุณแม่วัย 32 บอกเรา
คุมิโกะอยู่เมืองไทยมา 8 ปีแล้ว
เธอทำความรู้จักกับเวลาช้าๆ ของเชียงใหม่ครั้งแรกตอนเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน
พบรักกับหนุ่มเชียงใหม่จึงตัดสินใจแต่งงาน แล้วย้ายมาใช้ชีวิตและเปิดร้านกาแฟที่เชียงใหม่
ใช้เวลาไม่น้อยในการปรับจังหวะชีวิตให้ลงตัวกับเวลาของที่นี่
ตอนเปิดร้านคิสสะในปี 2009
ที่เชียงใหม่ยังไม่ค่อยมีใครรู้จักกาแฟดริปหรือการชงกาแฟแบบหยดน้ำเท่าไหร่ แรกเริ่มมีเพียงลูกค้าชาวญี่ปุ่น
บอกต่อกันไปจนถึงหูคนไทย ทำให้ลูกค้าหน้าใหม่สนใจมาทดลองมากขึ้น จนคุมิโกะต้องเปิดเวิร์กช็อปสอนการชงกาแฟดริปควบคู่ไปด้วย
ชีวิตครอบครัวของทั้งคู่ไม่ได้ลำบากเรื่องการเงิน ไม่มีความจำเป็นที่คุมิโกะจะต้องเปิดร้านกาแฟเพื่อเลี้ยงชีพ
แต่ทั้งคู่ยืนยันว่าร้านคิสสะมีความหมายต่อชีวิตครอบครัวมากแค่ไหน
“ถ้าไม่มีร้านคิสสะ คุมิก็อาจจะอารมณ์ไม่ดี อยู่บ้านเฉยๆ คนเดียวก็เหงา
ตอนปีแรก เจออากาศร้อน ฮอร์โมนเปลี่ยน อารมณ์เสียมาก ต้องหาหมอกินยาปรับฮอร์โมน พอมีร้านชีวิตก็มีอะไรทำเยอะแยะ
อารมณ์ดีขึ้น สำหรับครอบครัว การมีร้านกาแฟสำคัญที่สุด ทำกำไรหรือเปล่าไม่รู้
แต่ว่าสบายใจก็พอแล้ว” คุมิ และ ณัฐดนัย หอมคง หรือ เป้ สามีของเธอช่วยกันเล่าอย่างสนุกสนาน
ตอนนี้คุมิกำลังทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ของชีวิตให้กับ ‘คีรี’ ลูกชายตัวเล็กวัยยังไม่หัดเดิน เวลาของร้านกาแฟจึงต้องหยุดเดินชั่วคราว
เหลือไว้เพียงเวิร์กช็อปนานๆ ครั้ง คอกาแฟต้องอดใจรอสักหน่อย
แต่มีข่าวดีว่าทั้งคู่กำลังสร้างบ้านใหม่ และเตรียมเปิดเป็นสตูดิโอเวิร์กช็อปทั้งชงและคั่วกาแฟอย่างเต็มรูปแบบ
“เราเป็นเจ้าของร้านกาแฟ แต่พยายามรู้สึกว่าเราเป็นแค่คนชอบกินกาแฟ คุมิพยายามรู้สึกอย่างนั้นเสมอ
ชีวิตก็เหมือนกัน” เธอเล่ายิ้มๆ
‘คีรี’ ภาษาไทยแปลว่า ‘ภูเขา’ พ้องเสียงกับ ‘คิริ’ ในภาษาญี่ปุ่นที่แปลว่า ‘จากดินสู่ดาว’
ต้องใช้เวลากว่าจะไปถึงยอดเขา จากผืนดินถึงดวงดาว
ไม่จำเป็นต้องรีบร้อน
เช่นเดียวกับชีวิตของเธอ
หมวก
/
ซาโตชิ อะซาโนะ, เอมิ อะซาโนะ / มาอยู่ปี 2011
ช่วงแรกที่คุยกับ ซาโตชิ และ เอมิ อะซาโนะ สารภาพว่าเราเป็นกังวลพอสมควร
ทั้งคู่เป็นเจ้าของโรงงานผลิตหมวกและเป็นเจ้าของแบรนด์ที่ตั้งชื่อตรงตัวว่า ‘Muak’ เพิ่งมาอยู่เมืองไทยได้เพียงแค่ 3 ปี ภาษาไทยของพวกเขายังไม่แข็งแรงนัก ภาษาอังกฤษก็ไม่ถนัดมาก ตอนนัดหมายกันทางโทรศัพท์ เรากังวลเหลือเกินว่าจะสื่อสารกันได้ไหม ต้องมีล่ามไปด้วยหรือเปล่า
“ไม่เป็นไรครับ” ซาโตชิตอบเราด้วยสำเนียงที่ฟังยากเล็กน้อย
ในเมื่อเขาว่าอย่างนั้นก็เชื่อใจ เราเดินทางมายังโรงงานหมวกที่ตั้งอยู่แถวสันกำแพง ห่างจากตัวเมืองไม่ไกลนัก ที่นั่น เราเห็นแพตเทิร์นหมวกห้อยเรียงราย ผ้าลายสวยกองพะเนิน พนักงานนั่งอยู่หน้าเครื่องจักรจำนวนสิบกว่าคน และคู่หนุ่มสาวที่แต่งตัวเก๋สมเป็นญี่ปุ่นกำลังง่วนกับการทำงานอยู่
ที่จริงแล้วซาโตชิกับเอมิเคยอยู่เมืองไทยมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่มาทำงานในฐานะลูกจ้าง เป็นนักออกแบบให้บริษัทผลิตเสื้อผ้าและหมวกของญี่ปุ่นที่ตั้งอยู่ในเชียงใหม่ ปรากฏว่าบริษัทปิดตัวลงเมื่อ 7 ปีก่อน ทั้งคู่จึงต้องเดินทางกลับญี่ปุ่น พวกเขาใฝ่ฝันจะมีร้านเป็นของตัวเองตั้งแต่ตอนนั้น จึงกลับไปทำหมวกขายเองอยู่ที่ญี่ปุ่น 4 ปี ก่อนจะกลับมาตั้งบริษัทที่เชียงใหม่อีกครั้ง
“เราอยากทำอะไรเล็กๆ ที่ออกแบบเองและเป็นแฮนด์เมด เชียงใหม่เหมาะที่จะทำงานแบบนี้ที่สุด การเปิดโรงงานที่ญี่ปุ่นเป็นเรื่องยากมาก ถ้าเปิดที่จีนก็ต้องทำเยอะ แต่ที่เชียงใหม่เราจะทำแค่แบบละ 20 – 30 ใบก็ได้ คนเชียงใหม่ทำงานเก่ง มีฝีมือ ทำสวย มีคนทำงานผ้าเยอะ” หนุ่มสาวจากชินจูกุเล่าเหตุผลที่เลือกที่นี่
ในช่วงแรกทั้งคู่เปิดโรงงานรับออร์เดอร์ผลิตหมวก เพื่อส่งไปให้แบรนด์หมวกที่ญี่ปุ่นเพียงอย่างเดียว เพราะคนไทยยังไม่นิยมหมวกมากนัก แต่ช่วงหลังคนไทยเริ่มใส่หมวกเป็นแฟชั่นมากขึ้น ทั้งสองคนจึงตัดสินใจเปิดแบรนด์ ‘หมวก’ เป็นของตัวเอง
จุดเด่นที่เห็นได้ชัดของแบรนด์หมวกคือดีไซน์ที่สวยงาม ซาโตชิรับหน้าที่ออกแบบหมวกสไตล์ผู้ชาย ส่วนเอมิออกแบบหมวกของผู้หญิง โดยใช้วัตถุดิบทั้งของญี่ปุ่นและไทย บางใบใช้ผ้าทอมือของคนเชียงใหม่ บางใบใช้วัสดุที่ทำให้พับแล้วไม่เสียทรง บางใบก็ทำจากกระดาษ เมื่อพวกเขาขึ้นแพตเทิร์นแล้วจะให้ลูกจ้างเป็นคนเย็บ โดยพวกเขาคอยตรวจและควบคุมคุณภาพอย่างละเอียด
“หมวกที่ดีต้องใส่แล้วสบาย เพราะอากาศของแต่ละที่ไม่เหมือนกัน เราต้องดูเนื้อผ้าที่เหมาะสมด้วย เมืองไทยอากาศร้อน หมวกของคนไทยต้องใช้ผ้าที่ไม่หนา” ซาโตชิอธิบายวิธีคิดที่มีรายละเอียด
ความพิเศษที่แสนจะญี่ปุ่นคือการลงรายละเอียดในงานฝีมือ หมวกของที่นี่แทบทุกใบจึงมีจุดที่ไม่เหมือนใครคือถ้าพลิกมาดูด้านในจะเห็นว่า เขาออกแบบให้มีเชือกเล็กๆ ไว้ปรับเลื่อนขนาดให้กระชับหรือหลวมได้ แน่นอนว่าไม่เคยเห็นสิ่งนี้บนหมวกร้านไหน
“หมวกเป็นของแฟชั่น ถ้าใส่แล้วไปเจอคนอื่นใส่เยอะๆ ลูกค้าก็ไม่ชอบ เราเลยทำแค่แบบละประมาณ 45 ใบ หมดแล้วออกแบบใหม่เลย ออกแบบใหม่ทุกวัน ปีหนึ่งจึงมี 200 – 300 แบบ คนจะได้ใส่ไม่ซ้ำกัน”
ทั้งคู่บอกว่า ความไม่เหมือนใครอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้หมวกของพวกเขาขายดี จนโรงงานของเขาเพิ่มพนักงานจาก 4 คนเป็นสิบกว่าคน มีหน้าร้านอยู่ที่ถนนนิมมานเหมินท์ในเชียงใหม่ และที่ห้างสรรพสินค้าอิเซตันในกรุงเทพฯ จนลูกค้าหลักตอนนี้กลายเป็นคนไทยไปแล้ว
ซาโตชิและเอมิอยู่ในวัยสามสิบต้น มีลูกสาววัยขวบเศษ 1 คน ซึ่งเติบโตที่เชียงใหม่ หน้าตาเป็นเด็กญี่ปุ่น พูดภาษาญี่ปุ่นกับภาษาเหนือได้คล่องแคล่ว และชอบกินข้าวเหนียวเป็นที่สุด หลังจากทั้งคู่ส่งลูกไปโรงเรียนก็จะเข้ามาบริษัท อยู่กับงานแม้กระทั่งวันเสาร์อาทิตย์ เพราะช่วงนี้ธุรกิจกำลังไปได้ดีทั้งคู่จึงต้องทำงานหนักเป็นพิเศษ
“คิดว่าน่าจะอยู่เมืองไทยไปจนแก่ เพราะเราสองคนชอบคนเชียงใหม่ คนเชียงใหม่เหมือนคนญี่ปุ่นเมื่อสามสิบปีที่แล้ว มีจิตใจคล้ายกัน ใจดี ใจเย็น ชอบช่วยเหลือ แต่ตอนนี้คนญี่ปุ่นนิสัยไม่เหมือนเดิมแล้ว เลยชอบเชียงใหม่ ตัดสินใจไม่ยากเลยที่จะมาอยู่ที่นี่” ซาโตชิพูดยิ้มๆ
“ชอบคำว่า ‘ไม่เป็นไร’ เวลาคนเชียงใหม่มีปัญหาอะไรก็พูดคำนี้ ไม่เป็นไร ช่วยกันทำได้ แต่คนญี่ปุ่นไม่ค่อยพูดคำนี้ มีแต่คำว่า ไม่ได้” เอมิหัวเราะเสียงสนุก
“มันสบายใจกว่า” เธอย้ำเป็นภาษาไทยและยิ้มให้กับเรา
ถึงแม้ว่าซาโตชิและเอมิจะยังพูดภาษาไทยไม่เก่ง แต่การสัมภาษณ์ของเราก็จบลงอย่างราบรื่น ทั้งคู่พาเราไปดูหมวกหลากหลายรูปแบบและให้เราลองใส่ ก่อนกลับยังเดินมายืนส่งหน้าโรงงาน คอยโบกมือจนรถของพวกเราลับตาไปตามธรรมเนียมญี่ปุ่น จนคนไทยอย่างเรารู้สึกเกรงใจ
คำว่า ‘ไม่เป็นไร’ คือสิ่งที่เราอยากบอกพวกเขาเช่นกัน
อนุบาลยูเมะมิกิ / มิกิฮิโระ คาวามุระ /
มาอยู่ปี 2002
ภูเขาในรูปวาดของเด็กส่วนใหญ่มักจะมี 2 ลูกแต่สำหรับเด็กๆ ในโรงเรียนอนุบาลยูเมะมิกิ ภูเขาของพวกเขามีเพียงลูกเดียวเสมอ
ภายในโรงเรียนอนุบาลที่มีดอยหลวงเชียงดาวเป็นฉากหลัง เด็กนักเรียนตัวเล็กในชุดเครื่องแบบสีขาว-เขียวกว่า 40 คนกำลังยืนออกกำลังกายตอนเช้าอย่างพร้อมเพรียง ท่ามกลางหมู่เด็กและคุณครู เราเห็นคุณลุงในเสื้อเชิ้ตลายตารางคนหนึ่ง กำลังช่วยจับแขนเด็กหญิงตัวน้อยให้เต้นถูกท่า
เขาคือ มิกิฮิโระ คาวามุระ เจ้าของโรงเรียนแห่งนี้
มิกิฮิโระย้ายมาอยู่เชียงใหม่ตั้งแต่สิบกว่าปีก่อน เขาเกษียณตัวเองจากตำแหน่งเจ้าของบริษัทผลิตอะไหล่รถยนต์ตอนอายุ 60 ปี เมื่อรู้ว่าลูกชายไม่สานต่อกิจการ จึงขายบริษัทที่นาโกย่าและวางแผนใช้ชีวิตที่เหลือไปกับการท่องเที่ยว คุณลุงเดินทางมาเชียงใหม่ ติดใจในความเงียบสงบ จึงซื้อรถและคอนโดฯ ใช้ชีวิตวัยเกษียณตัวคนเดียวอยู่ในตัวเมืองถึง 5 ปี
ย่างเข้าปีที่ 6 ในเชียงใหม่ เพื่อนคนหนึ่งชักชวนให้มาเที่ยวเชียงดาว อำเภอเล็กๆ ที่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ราว 80 กิโลเมตร และยังห่างไกลจากความเจริญอยู่มากนัก เขาประทับใจทิวทัศน์ที่สวยงาม จึงย้ายเข้ามาอาศัยในเชียงดาว และเกิดความรู้สึกบางอย่างขึ้น
“เราน่าจะทำงานอะไรสักอย่าง เพราะยังแข็งแรงอยู่” คุณลุงเล่า
การได้ใกล้ชิดกับชาวบ้านดลใจให้นึกถึงวัยเด็ก มิกิฮิโระเป็นลูกชายคนที่ 3 ในบรรดาพี่น้อง 6 คน และเป็นคนเดียวที่ไม่ได้เข้าโรงเรียนอนุบาลเพราะช่วงนั้นตรงกับสงครามโลกพอดิบพอดี เกิดเป็นปมเล็กๆ ในใจที่ยังติดค้าง
“ถ้าทำเรื่องการศึกษาที่เชียงดาวน่าจะเป็นสิ่งที่ดี จุดเริ่มต้นคือโรงเรียนอนุบาล”
คุณลุงวัยหลังเกษียณตัดสินใจเริ่มต้นธุรกิจอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เป็นธุรกิจที่เขาแทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับมันเลย เขาจ้างล่ามมาเป็นผู้ประสานงานกับสำนักงานพื้นที่เขตการศึกษา ทำเอกสารตามกฎหมายเกี่ยวกับการเปิดโรงเรียน เดินทางไปดูโรงเรียนอื่นทั่วเชียงใหม่แล้วร่างแบบแปลนด้วยตัวเอง จ้างคนเขียนแบบจนได้แบบแปลนที่ชอบ จ้างบริษัทก่อสร้าง และชวนครูที่รู้จักกันมาทำงาน
กว่าได้นักเรียนชุดแรกจำนวน 6 คน พวกเขาต้องทำแผ่นพับและจ้างรถขยายเสียงไปตามหมู่บ้าน เพื่อแนะนำโรงเรียนให้กับเชียงดาวรู้จัก นอกจากที่นี่จะมีการสอนภาษาอังกฤษและญี่ปุ่นให้กับเด็ก มิกิฮิโระยังพยายามพัฒนาให้ที่นี่มีมาตรฐานการศึกษาทัดเทียมกับโรงเรียนในตัวเมืองเชียงใหม่และกรุงเทพฯ ใช้เวลาหลายปีกว่าชาวบ้านจะเริ่มไว้ใจและกล้าส่งลูกมาเรียนมากขึ้น
ปัจจุบัน ก้าวเข้าสู่ขวบปีที่ 4 ของโรงเรียน ยูเมะมิกิมีนักเรียนในความดูแลทั้งหมดกว่า 40 คน และทุกคนเป็นคนเชียงดาวทั้งหมด
“ทุกวันนี้โรงเรียนเรายังขาดทุนปีละ 6 – 7 แสน ถึงจะเก็บค่าเทอมหมื่นกว่าบาท ก็ยังครอบคลุมเฉพาะค่าอาหารกลางวัน ค่านม ค่าน้ำค่าไฟในโรงเรียนเท่านั้น ส่วนเงินเดือนครูและค่าซ่อมแซมจิปาถะ ป่าป๊ามิกิต้องควักเงินตัวเองออก เป็นอย่างนี้มา 4 ปีแล้ว แต่เขามีใจรักที่จะทำ” คุณครูจิ๊บ ครูใหญ่ที่ร่วมก่อตั้งโรงเรียนมาด้วยกันตั้งแต่ต้น เป็นคนเล่าให้ฟัง
ทั้งเด็ก คุณครู และบุคลากรในโรงเรียน ต่างเรียกมิกิฮิโระว่า ‘ป่าป๊ามิกิ’ ด้วยความสนิทสนม แทบทุกเช้าป่าป๊ามิกิจะออกมาทำกิจกรรมกับเด็กๆ บางครั้งก็อาบน้ำให้เด็กตอนกลางวัน แทนที่จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณครูเพียงอย่างเดียว ก่อนกลับบ้านก็จะบอกซาโยนาระกันทุกเย็น หากมีอะไรเสียหายเล็กน้อย ป่าป๊ามิกิก็จะเป็นคนมาซ่อมและดูแลด้วยตัวเองเสมอ
“ก่อนทำก็รู้แล้วว่าไม่กำไร แต่ผมคิดว่าเป็นการให้ ตอนนี้ผมไม่มีเป้าหมายอะไรในชีวิตอีกแล้ว การใช้ชีวิตในปัจจุบันก็คือเป้าหมาย ถ้าตายไปก็เอาเงินไปไม่ได้ เด็กที่ญี่ปุ่นไม่ลำบากอยู่แล้ว เงินที่มีอยู่ผมก็อยากจะทำให้เด็ก ให้ครู ให้เชียงดาวมากกว่า” เจ้าของโรงเรียนวัย 72 ปียิ้มน้อยๆ เป็นคำตอบ
สระว่ายน้ำปฐมวัยมิกิฮิโระ ซึ่งตั้งอยู่ข้างสระว่ายน้ำเด็กโตของโรงเรียนบ้านเชียงดาว คือหนึ่งในสิ่งที่ป่าป๊ามิกิสร้างให้กับเชียงดาวในวาระที่เขาอายุครบ 70 ปี วันนี้ป่าป๊ามิกิและคุณครูพาเด็กๆ มาว่ายน้ำที่นี่เหมือนเช่นทุกสัปดาห์ หลังเล่นน้ำกันสนุกสนาน เด็กๆ ก็จะมายืนต่อคิวรับน้ำจากคุณลุงที่พวกเขาเรียกว่า ‘ป่าป๊า’
“ทุกวันนี้ไม่คิดถึงบ้านที่นาโกย่าเลย ผมขายทุกอย่างหมดแล้ว ลูกชายก็อยู่อีกเมือง ถ้ากลับไปผมก็นอนโรงแรม ทุกวันนี้เวลาไปเที่ยว มีคนถามว่าผมเป็นคนที่ไหน ผมก็จะบอกว่าเป็นคนไทย ที่นี่ดีที่สุดและสวยที่สุดสำหรับผม” คุณลุงเล่าให้ฟังด้วยภาษาญี่ปุ่น
12 ปีในเชียงใหม่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรในตัวชายญี่ปุ่นผู้นี้ เช่นเดียวกับภูเขาของเชียงดาวซึ่งยังคงยืนตระหง่านโดดเด่นเพียงลำพัง สิ่งที่เปลี่ยนแปลงมีเพียงวันเวลาในเชียงดาวที่ค่อยๆ เติมความหมายในชีวิตบั้นปลายของเขา
“ผมเลิกคิดถึงตัวเองตอนเด็ก เพราะอยู่โรงเรียนมีเรื่องให้ทำและคิดทุกวัน ไม่ได้ใช้ชีวิตผ่านไปวันๆ เห็นเด็กมีความสุข ตัวเองก็มีความสุขแล้ว”
รอยยิ้มของเขา ไม่ต่างจากรอยยิ้มที่บริสุทธิ์ของเด็กเลย
(จากคอลัมน์ main course-a day 171 พฤษภาคม 2557)
ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ