ประภาส: ณ เวลานั้นแสดงว่าครูรู้แล้วสิครับว่าจะไม่ทำอาชีพทางการละครแน่ๆ
แต่จะกลับมาสอน
ไม่ทำแน่นอน เราเก็บทุกอย่างเพื่อกลับมาสอน หลังจากรับปริญญาแล้ว ก็ลาจากบริษัทฟอกซ์และทุกคนที่นั่นกลับมาสอนที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในปี 2505 กลับมาถึงพระองค์เปรมฯ ท่านได้มอบหมายบรรดาวิชาเกี่ยวกับวรรณกรรมการละครมาให้สอน ได้แก่ แมคเบธ ที่ทุกคนต้องเรียนตอนปี 3 โดยสอนเป็นภาษาอังกฤษ ไม่พูดไทยเลยตลอดคลาส แล้วก็มีวิชา History of Drama, Restoration Drama, Modern Drama, วิชาเชคสเปรียร์ และมีวิชา Contemporary Drama ของนิสิตปริญญาโท รวมทั้งหมด 6 คอร์สที่ครูต้องนั่งเตรียมชีตสำหรับแจกเด็ก ต้องนั่งพิมพ์ถึงตี 2
ตอนที่เรากลับมาใหม่ๆ ท่านผู้หญิงนวลผ่อง เสนาณรงค์ ซึ่งสนิทกับพ่อและแม่มาก ท่านก็เมตตามาบอกกับพ่อแม่ว่าอยากจะได้เราไปช่วยงานของท่านที่ทำเนียบฯ เพราะเห็นเราพูดภาษาอังกฤษได้ดี ให้เราลาออกจากจุฬาฯ ไปทำงานที่ทำเนียบฯ พ่อก็บอกให้เราตัดสินใจเอง ว่าอยู่ที่ไหนตัวเราจะทำประโยชน์ได้มากกว่ากัน พ่อชี้ให้ดูว่าคนที่พูดภาษาอังกฤษได้เก่งกว่าเรามีเป็นพันเป็นหมื่น คนที่สามารถต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองที่เขาเชิญมามีเยอะแยะมากมาย แต่คนที่จะเขียนหลักสูตรภาควิชาศิลปการละครตอนนี้ยังไม่มี มีเราคนเดียว เลือกเอาแล้วกันว่าจะไปที่ไหน
ประภาส: ตอนนั้นยังไม่ได้เริ่มเปิดภาควิชาศิลปการละครใช่ไหมครับ
ยังไม่ได้เริ่ม ตอนเริ่มกระบวนการเยอะมาก พระองค์เปรมฯ เริ่มให้เขียนเสนอท่านว่าหลักสูตรจะมีอะไรบ้าง จะเป็นไปได้อย่างไร ในขณะเดียวกันทางจุฬาฯ ก็ต้องเตรียมการ ที่ประชุมมีการพูดคุยกันถึงเรื่องที่คนไทยยังไม่ค่อยยอมรับ ไม่มีพ่อแม่คนไหนเขาอยากให้ลูกมาเรียน แค่บอกว่าเรียนการแสดงพ่อแม่ก็กรี๊ดแล้ว สุดท้ายเราเสนอขึ้นไปบอกว่าขอเรียกให้ดีกว่าละครหน่อย โดยใช้ชื่อว่าภาควิชาศิลปะการละคร แต่ตอนนั้นบ้าอะไรไม่รู้ ขอเอาสระ ‘ะ’ ออก ขอให้เป็นคำสมาสระหว่างศิลปะกับการละคร ซึ่งความจริงมันสมาสไม่ได้ ศาสตราจารย์
ม.ล.จิรายุ นพวงศ์ หัวหน้าแผนกภาษาไทยในตอนนั้น ท่านบอกสดใส ทำไมจะไม่ได้ นี่เป็นชื่อเฉพาะ เก๋ดีเสียอีก อาจารย์จิรายุว่าอย่างนั้นเราก็เอาเลย (หัวเราะ) เป็นชื่อภาควิชาศิลปการละคร
ระหว่างนั้นเราได้ร่างหลักสูตรวิชาศิลปการละครไปด้วย โชคดีเหลือเกิน เอดเวอร์ด เฮอร์น กลัวเราจะตั้งแผนกไม่สำเร็จจึงขอลาพักการสอน 1 ปีจาก UCLA มาที่คณะอักษรศาสตร์ เพื่อช่วยเขียนหลักสูตร โดยมิสซิสเคย์ เฮอร์น ภรรยา ก็มาสอนภาษาอังกฤษ
ในที่สุดปี 2507 หลักสูตรก็สำเร็จ แต่เมื่อจุฬาฯ เปิดภาควิชาศิลปการละคร ก็มีการพูดกันว่าไปทำอะไรซ้ำซ้อนกับกรมศิลปากรเพราะเขามีวิทยาลัยนาฏศิลป์อยู่ ตอนนั้นเราจึงประชุมรวม ท่านอาจารย์ธนิต อยู่โพธิ์ จากกรมศิลปากรท่านก็ดีเหลือเกิน เดินทางมาคุยกับพระองค์เปรมฯ และพ่อ เราตัวเล็กๆ แค่ไปนั่งฟัง ถามเราถึงจะตอบ พระองค์เปรมฯ กับพ่ออธิบายว่า
ภาควิชาที่เราจะเปิดไม่มีอะไรซ้ำซ้อนกับกรมศิลปากรเลย เป็นหลักสูตรที่เขาเปิดในยุโรป ในญี่ปุ่น หรือประเทศต่างๆ ทั่วโลก เป็นหลักสูตรศิลปะการละครที่เรียกว่า Dramatic Arts หรือ Theatre Arts ซึ่งเมืองไทยยังไม่มี
แล้วเราก็บอกว่าเนื่องจากเราเป็นคนไทย เรานับถือการละครของไทย เพราะฉะนั้นเราต้องมีคอร์สที่เป็นวิชาเลือกเกี่ยวกับละครของไทย แต่เราจะไม่บังอาจไปทำเองโดยเราไม่เก่งพอ เราจึงขอความร่วมมือจากกรมศิลปากรให้ท่านช่วย ท่านบอกจะส่งคนที่ดีที่สุดมาให้ เรามีรำไทย มีละครไทยอย่างเต็มภาคภูมิโดยได้รับความร่วมมือจากกรมศิลปากร จากครูชั้นเลิศของเขา และมีการร่วมมือแลกเปลี่ยนบุคลากรกันระหว่างกรมศิลปากรกับจุฬาฯ จนเป็นความสัมพันธ์ที่ยาวนานจนถึงทุกวันนี้ ทางกรมศิลปากรก็ขออาจารย์จากจุฬาฯ ไปสอนเมกอัพ นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่บอกว่าการทำอะไรร่วมกัน เราไม่จำเป็นต้องโกรธกัน เราไม่จำเป็นต้องแข่งกัน เราช่วยกัน ร่วมมือกันได้
ประภาส: ช่วงที่เปิดใหม่ๆ มีนักเรียนกี่คนครับ
นักเรียนรุ่นแรกประมาณสิบกว่าคน เพราะตอนนั้นคนยังต้องรบกับพ่อแม่ พ่อแม่ยังไม่เข้าใจ เพราะบ้านเรายังไปติดกับคำว่าเต้นกินรำกิน สมัยก่อนในประเทศไทยเต้นกินรำกินเขาดูถูกกัน แต่ต่างประเทศไม่เป็น มีการวิเคราะห์กันว่าเป็นเพราะรายได้ ฝรั่งที่ทำเขาได้รายได้สูง
ที่ประเทศไทยเต้นกินรำกินนี่แทบอดตายเลย ไม่โก้ พอสมัยนี้ดาราได้ค่าตัวแพงเลยโก้ขึ้นมา เป็นไปตามยุคสมัย ตามความคิดเรื่องวัตถุของคน เราต้องยอมรับ เป็นธรรมดาพ่อแม่ก็อยากให้ลูกเรียนวิศวะ เราไปโทษเขาไม่ได้ คนที่เรียนการละครรุ่นแรกๆ ต้องใจรักจริงๆ ชอบจริงๆ อยากเสี่ยง แต่อย่างครูนี่ไม่เหมือนกัน ครูไม่ได้มีทางเลือก ชีวิตมันเข้าล็อกมาอย่างนี้
อรชุมา: สิ่งที่ครูทำมีอิทธิพลกับคนในวงการมากมาย
สำคัญคือเราไม่ได้คิดว่าเรามีอิทธิพล แอ๋วส่งความรักให้เรามา เราส่งให้แอ๋ว จิกส่งให้เรา เราส่งให้จิก มันเป็นอะไรที่ทำให้โลกนี้อยู่ได้ ไม่ใช่คนหนึ่งคนใดจะมานั่งคิดว่าตัวเองมีอิทธิพลกับคนอื่นแต่เพียงผู้เดียว
ประภาส: บางทีเวลาครูกำกับอยู่บนเวที ผมชอบไปนั่งอยู่ข้างหลัง ใช้วิธีครูพักลักจำ
ไม่ได้เรียนกับครูในห้องเลยหาโอกาสมาเรียนบนเวทีละคร และมักจะมีประโยคดีๆ
ที่ออกมาให้เรานำไปใช้
จำไว้ดีๆ ละกัน ไม่ช้าครูเป็นอัลไซเมอร์แล้วลืมหมด (หัวเราะ)
ประภาส: ผมยังจำตอนที่ผมเล่นเป็นเจ้าสมุทรได้เลย ครูให้ผมเสกของแบบละครใบ้
ผมเสกเท่าไรครูก็บอกครูมองไม่เห็น ผมก็พยายามปั้นท่า ครูก็บอกแล้วจิกเห็นไหม
ผมบอกไม่เห็น นั่นสิ เธอไม่เห็นแล้วครูจะเห็นได้อย่างไร ผมเอามาใช้ตลอดชีวิตเลย
แล้วผมเอาเรื่องนี้ไปเขียนถ่ายทอดให้คนอ่านด้วย
นั่นแหละ ที่ไปถ่ายทอดนั่นเป็นของจิก คือเมื่อรับไปแล้วก็เป็นของคนที่รับไป
อรชุมา: มีบางอย่างที่อยากรู้ คือครูไม่ได้สอนเฉพาะคนที่เป็นชนชั้นกลาง มีเด็กที่มีพื้นฐานไม่เท่าเทียมจำนวนไม่น้อยที่ทุกวันนี้ทำงานอยู่ในวงการเคยเรียนกับครู และครูทำให้เขามีความมั่นใจ จบออกไปแล้วมีวิชาอาชีพ อยากรู้ว่าครูเห็นอะไรในตัวเด็กพวกนี้
ครูไม่ใช้คำว่าเด็กพวกนี้ เพราะครูไม่ได้แยกเขาออกจากคนอื่น ครูเห็นความดีในทุกคน ทุกคนมีความพิเศษในตัวเอง ครูสนใจในพรสวรรค์ของเขา ในความสามารถของเขา แล้วพยายามดึงส่วนที่ดีของเขาออกมาให้ได้ ครูไม่เคยมองว่าใครดีกว่าใครหรือใครสูงใครต่ำ ในใจของครูไม่เคยมองความแตกต่างทางด้านวัตถุภายนอก แต่ครูจะมองลึกเข้าไปในหัวใจ ครูถึงได้มีความสุขมากกับงาน แมคเบธ เพราะว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนมอบให้กับครูอย่างลึกซึ้งจริงๆ คือให้จากใจ เวลาครูสอนครูก็สอนจากใจ
ประภาส: ผมรู้สึกว่าครูเชื่อมั่นในความสามารถอันไม่จำกัดของมนุษย์
ครุเชื่อในมนุษย์ เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีดีในตัว เขาพัฒนาได้ถ้าเขามีโอกาส ถ้าเรามีความรู้อะไรเพียงน้อยนิดที่จะให้เขาได้ เรารีบให้ เพราะฉะนั้นครูมีอะไรครูให้หมด ตอนนี้ครูอายุ 77 แล้ว ครูอยากจะทำหนังสือตอบคำถามที่มีคนถามปัญหามาทางโทรศัพท์หรือทางเว็บไซต์* เป็นคำถามคำตอบที่คนที่จะไปเป็นแอ็กติ้งโค้ช คนที่จะไปเขียนบทโทรทัศน์ บทวิทยุ บทภาพยนตร์ สามารถเอาไปใช้เป็นคู่มือได้เพื่อให้มีความรู้ที่แน่น
อรชุมา: ขอคำแนะนำจากครูใหญ่ให้กับผู้สนใจการละคร
แนะนำว่าถ้าอยากจะเรียนละครควรมองให้เห็นชีวิต สังเกตทุกอย่าง มันต้องเป็นไปตามธรรมชาติ สมมติว่าไปนั่งรออะไรก็หัดมอง หัดสังเกตสิ่งรอบตัวแล้วจะสนุก อย่างเช่นไปร้านทำฟัน ลองสังเกตลักษณะของหมอฟัน ของคนที่มาทำฟัน ว่าเขาทำอะไรบ้าง ออกมาแล้วเป็นอย่างไร ลองหัดสังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัว ที่ไหนก็ได้
ประภาส: การสังเกตถือเป็นการศึกษาอย่างหนึ่ง
ชีวิตเราต้องสังเกตตลอดเวลานะ คือรับชีวิตเข้ามาโดยที่มองให้เห็น ฟังให้ได้ยินตลอดเวลา
อรชุมา: ทุกวันนี้ครูก็ยังสังเกตอยู่
ทุกวินาที แล้วสิ่งนี้ทำให้ชีวิตมีความสุขมาก แค่นั่งดูคนจอดรถก็สนุกแล้ว คือการสังเกตไม่ใช่การไปนั่งจ้องเขา แต่เราปล่อยให้ภาพจากภายนอกเข้ามาในความรับรู้ของเรา
เพราะฉะนั้นเราจะเก็บไปใช้ได้ในการเขียนบท ถ้าเราสังเกตเราจะรู้เลยว่าคนตักก๋วยเตี๋ยวเขาตักแบบไหน จานเขาคว่ำกันแบบไหน หงายกันแบบไหน
ประภาส: คำถามที่ผมมักโดนถามครับครู ทุกคนสามารถเป็นนักแสดงได้ไหม
อยู่ที่ความสามารถส่วนตัวและความอยากของเขา ถ้าเขาไม่ต้องการจะแสดงออก ไม่ต้องการสื่อสารกับคนอื่น เขาก็เป็นนักแสดงไม่ได้ คนเป็นนักแสดงต้องมีความรู้สึกที่อยากจะบอก
ยกตัวอย่างคนที่ไปเห็นกวางแล้วคิดว่าสวยแล้วกลับมาเขียนในถ้ำ เขาต้องการให้คนอื่นเห็นว่ากวางสวยยังไง เพราะฉะนั้นคนที่เป็นนักแสดงก็ต้องรู้สึกแบบเดียวกันคือต้องการที่จะสื่อสารความรู้สึกนี้ ต้องการสื่อสารเรื่องนี้ ต้องการที่จะบอกคนอื่น แต่ถ้าเราไม่มีความรู้สึกที่ต้องการสื่อสาร เราอยากนับเงินมากกว่า เราก็ไม่ต้องเป็นนักแสดง แต่ทุกอย่างเราสามารถฝึกกันได้ในศาสตร์ต่างๆ อยู่ที่ว่าแต่ละคนจะถนัดทางไหน แต่ถ้าเราอยู่ในสายอาชีพนั้นเราก็ควรจะช่วยกันแก้และทำให้ดีขึ้น อย่างละครน้ำเน่าเราช่วยกันแก้ได้ ละครน้ำดีหรือน้ำเน่าต่างกันอยู่นิดเดียวคือเรื่องที่เป็นน้ำดีจะต้องมี fictional truth หรือความจริงในด้านการประพันธ์ คำนี้สำคัญที่สุด เรื่องที่แต่งขึ้นมาเรียกว่า fiction แม้แต่เรื่องที่อิงจากประวัติศาสตร์จริงๆ อย่าง แมคเบธ ก็เป็นเรื่องถูกแต่งขึ้นมา ไม่ใช่ประวัติศาสตร์จริงๆ ทั้งหมด
แต่สิ่งที่สำคัญคือแต่งแล้วต้องให้มีความจริงในด้านการประพันธ์ ความจริงที่เราเชื่อได้ ต้องวางให้เห็นว่ามันเป็นไปได้อย่างไร ทำไมตัวละครตัวนี้อิจฉาตัวนี้ ทำไมตัวนี้วางแผนจะฆ่าตัวนี้ อย่างในหนังเรื่อง E.T. ตัวอีทีไม่มีจริง แต่มีการวางเรื่องให้เราเชื่อได้ เราจึงเชื่อว่ามีอีทีจริง แต่ที่สำคัญคือเราต้องไม่ขึ้นต้นด้วยการไปด่า ไปดูถูกว่าเรื่องนั้นเลว ของฉันดีกว่า หรือเรื่องนี้น้ำเน่าไม่ดี เราต้องเข้าใจว่าทุกอย่างมันมีที่ทางของมัน อย่างคนทำศิลปะเขาก็จะรู้ว่าเส้นอะไรที่มันสวยหรือไม่สวย อย่างครูที่ไม่เคยทำก็ไม่รู้เป็นธรรมดา สำหรับเด็กๆ ที่ยังไม่เคยดูละครอะไรเลย เรื่องแบบที่ไม่มี fictional truth มันอาจจะรวดเร็วถึงใจ ไม่ต้องคอยการปูพื้นนาน เขาต้องการไปให้ถึงจุดจูบกันเลย ตบเลย ก็สนุกดีใช่ไหม แต่พวกเราที่ทำงานด้านนี้ถ้าช่วยกันแก้แล้วทำมันให้ดีขึ้น เนียนขึ้น เมื่อเด็กที่ดูเขาชอบ ถึงวันหนึ่งเขาก็จะดูอะไรที่น้ำเน่าไม่ได้
(จากคอลัมน์ a day with a view – a day 131 กรกฎาคม 2554)
คลิกอ่านบทสัมภาษณ์ตอนอื่นๆ ได้ที่นี่
ตอนที่ 1
ตอนที่ 2
ภาพ นวลตา วงศ์เจริญ