สดใส พันธุมโกมล : ครูใหญ่ผู้เป็นที่รักของนักเรียนการละครทุกคน 2/4

ประภาส: มันไม่ได้เป็นสิ่งที่ครูใฝ่ฝันมาก่อนเลยหรือครับ แต่คนสมัยนี้นิยมพูดกันว่าฝันเห็นตัวเองไปยืนอยู่ตรงนั้น แล้วก็มุ่งมั่นตามภาพที่เห็นไป

ไม่หรอก คือมันไม่ทันใฝ่ฝัน เหมือนที่วันนี้มาคุยกัน ไม่ทันใฝ่ฝันมันก็เกิดขึ้น

ประภาส: ผู้คนส่วนใหญ่มักตกใจกับสิ่งที่ไม่คาดฝันที่มาตกอยู่ตรงหน้า ครูเป็นอย่างนั้นไหมครับ

ไม่ตกใจ ก็ทำหน้าที่ของเราไปเรื่อยๆ ไม่รู้สึกอะไรเป็นพิเศษ เราเล่นมาตั้งแต่ชั้นประถม 1 แล้ว อยู่ในโรงละครมากกว่าอยู่ในห้องเรียนอีก ซ้อมละครตลอด อยู่จุฬาฯ ก็อยู่หอประชุมมากกว่าอยู่ในห้องเลกเชอร์

ประภาส: ตอนนั้นคิดไหมว่าชอบมาก

ไม่ได้คิดว่าชอบ คือเราทำอย่างอื่นไม่ได้ ไม่ได้คิดว่าจะทำหรือไม่ทำ เราทำเหมือนกินข้าว เป็นอัตโนมัติเลย แต่แน่นอนว่าทำแล้วมีความสุข ไม่มีความสุขเราคงไม่ทำ เพียงแต่เราไม่เคยเลือก ทำไปตามธรรมชาติ

ประภาส: ตอนทำมีเหนื่อยหรืออยากถอยบ้างไหมครับ

ไม่มีเลย สนุกเหลือเกิน

ประภาส: ในตอนนั้นคนไทยไม่มีใครรู้ว่าเรียนละครคืออะไร ละครทำไมต้องเรียน ยิ่งคนโบร่ำโบราณมองว่าก็แค่เต้นกินรำกิน ทำไมต้องไปเรียน ครูเคยลังเลไหมครับว่าเราทำอะไรอยู่

ครูไม่มีเวลาคิดอย่างนั้นหรอก วันๆ ท่องบทให้จบก่อน (หัวเราะ)

ประภาส: จะว่าเหมือนจิตว่างก็คงได้ไหมครับครู คือทำงานด้วยจิตที่จะทำงานอย่างเดียว ไม่สงสัยว่าทำไปทำไม ไม่คาดหวังว่าทำแล้วได้อะไร

ครูไม่เคยคิดว่าทำแล้วจะได้อะไรตอบแทน

อรชุมา: ชีวิตหลังจากที่ครูใหญ่ตัดสินใจย้ายไปเรียนที่ UCLA เป็นอย่างไรคะ

ที่นั่นใน 1 ปีเขาจะทำละครทั้งหมด 8 เรื่อง ถ้ามี Original Play ดีๆ เขาจะนำมาทำ พอดีเราเขียนมิวสิคัลเรื่อง Yankee, Don’t Go Home แล้วได้เป็น Best Original Play เลยถูกเลือกเอามาเป็น 1 ใน 8 เรื่องของปีนั้น ซึ่งเราถือว่าเป็นเกียรติมาก เพราะปีนั้นละครที่เขาเลือกมาทำล้วนเป็นเรื่องดีๆ ทั้งนั้น แล้วหนึ่งในนั้นก็มี Yankee, Don’t Go Home โดย Sondi Sodsai

UCLA เขาขายตั๋วเป็นปี พอสิ้นปีเขาจะให้คนดูโหวตให้รางวัล ปรากฏว่าปีนั้นเขาทำเป็นงานใหญ่เหลือเกิน ไปเชิญ Lee Strasberg มาเป็นผู้มอบรางวัล โดยเราได้รางวัล Best
Actress Awards และเรื่อง Yankee, Don’t Go Home กวาดรางวัลเกือบทั้งหมด
ทั้ง Best Production Award, Best Directing Award และที่สำคัญมากที่สุดและเป็นเรื่องครึกโครมมากคือครูได้รางวัล Oren Stein Memorial Award ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดทางด้านการละครของ UCLA โดยอาจารย์เป็นคนโหวต และต้องโหวตเป็นเอกฉันท์เท่านั้นถึงได้ ถ้าไม่มีคนดีพอเขาก็ไม่ให้ และครูเป็นชาวต่างชาติคนแรกที่ได้รางวัลนี้ ตอนที่ได้รางวัลนี้เราดีใจมากกว่าได้รางวัลเรียนดีเสียอีก

ประภาส: ขออนุญาตครับครู ผมเคยได้ยินมาว่าฝรั่งส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้เกียรติคนเอเชีย
ไม่เชื่อว่าจะมีฝีมือ

ไม่มีปัญหาเลย คนในโลกนี้เหมือนกันทั้งนั้น ทุกคน ทุกภาษา ทุกชาติ ทุกศาสนาเหมือนกันทั้งนั้น เราอย่าไปคิดว่าเขาจะให้เกียรติหรือไม่ให้เกียรติ เราก็ทำหน้าที่ของเราให้เต็มที่
ไม่ต้องไปยุ่งกับใคร

อรชุมา: หลังจากนั้นล่ะคะ มีอะไรเกิดขึ้นในชีวิตตามมาบ้างคะ

หลังจากนั้นมิสซิสโรเบิร์ตที่แสดงเป็นนางเอกในเรื่อง King Kong ก็มาที่บ้านเพื่อขอเอาเรื่อง Yankee, Don’t Go Home ไปทำเป็นบรอดเวย์ เราชื่นชมแกมาก เราติดภาพมาตั้งแต่แกเป็นนางเอกเรื่อง King Kong แกเป็นผู้ใหญ่แล้วอุตส่าห์มาหาที่บ้านด้วย แต่เราไม่ให้ไป เพราะว่าละครเรื่องนี้มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนา แก่นคือทุกศาสนาต้องเข้ากันได้ ถ้าสวรรค์มีจริง พระเจ้าทุกองค์ที่อยู่บนสวรรค์ต้องรักใคร่สามัคคี ปรองดองกัน คนบนโลกจึงไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะนำศาสนามาเป็นเรื่องทำให้ผิดใจกัน ตอนจบมีคำพูดที่บอกว่า “The gods must love one another in heaven, otherwise how can we poor human beings on earth live together in peace. ” ตอนนั้นคนยังรับเรื่องนี้ไม่ค่อยได้ เล่นใน UCLA ไม่เป็นไร แต่ไปเล่นข้างนอกไม่แน่ จนถึงตอนนี้เรื่องนี้ก็ยังไม่เคยพิมพ์ ไม่เคยเอาไปทำอะไรเลย

ที่สำคัญคือ โรเบิร์ต วอล์กเกอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายคัดเลือกนักแสดงของบริษัท ทเวนตี้ เซนจูรี่ ฟอกซ์ ซึ่งเป็นเพื่อนกับเอ็ดเวิร์ด เฮอร์น อาจารย์ที่ปรึกษาของเรา ได้มานั่งดูละครที่เราแสดง และติดต่อมาทันทีโดยเสนอสัญญาค่าจ้างสัปดาห์ละ 500 เหรียญ เป็นระยะเวลา 7 ปี ให้เราพิจารณาเซ็นสัญญา

ช่วงนั้นพอดีกันกับที่พ่อได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยพรินซตัน
พ่อ แม่ และพี่สาวแวะมาเยี่ยมเราที่ลอสแองเจลิส เราเลยย้ายไปอยู่อพาร์ตเมนต์รวมกันเพราะคิดถึงกันมาก เราก็ไม่รู้เรื่องอะไรจนมัวรีน โอลิเวอร์ ซึ่งเป็นผู้ติดต่อมาว่าฟอกซ์ได้ส่งสัญญามาให้เรา ทำไมถึงไม่ตอบเขา เราก็งง ในที่สุดแม่ก็มากระซิบบอกว่าพ่อเขาเอาจดหมายไปฉีกทิ้ง เปิดซองแล้วเห็นสัญญา 7 ปี ฉีกทิ้งเลย เรารีบโทรศัพท์ไปบอกกับมัวรีนทันทีว่ามีปัญหาเกิดขึ้นแล้ว เพราะพ่อไม่ยอม มัวรีนก็บอกว่า ถึงเราจะปฏิเสธแต่ตามมารยาทต้องไปอธิบายเหตุผลให้เขาฟังเพราะเขาเป็นผู้ใหญ่ แต่เราจะออกไปอย่างไรเพราะพ่อนั่งเฝ้าทั้งวันทั้งคืน ไม่ให้ออกไปไหน เราอาศัยตอนคุณพ่อเผลอ แอบโทรนัดมัวรีนให้เอารถมาจอดหน้าอพาร์ตเมนต์ พอถึงเวลาเราก็ใส่กางเกงเก่าๆ เสื้อตัวใหญ่ๆ ใส่รองเท้าแตะ แล้วหอบถุงขยะทำทีว่าจะเอาไปทิ้งหลังบ้านโดยแอบเอารองเท้าที่พอดูได้ใส่ไปในถุงขยะ พอไปถึงตรงถังขยะเรารีบหยิบรองเท้าออกมาใส่แล้วรีบวิ่งไปขึ้นรถของมัวรีนบึ่งไปฟอกซ์

ตอนแรกเข้าใจว่าคงเข้าไปพบประธานฟอกซ์เป็นการส่วนตัว ที่ไหนได้ เข้าไปเป็นโต๊ะประชุมใหญ่มีคนอื่นเต็มไปหมด มีทนายด้วย เอ็ดเวิร์ด เฮอร์น อาจารย์ที่ปรึกษาเราก็อยู่ แล้วเราอยู่ในชุดทิ้งขยะ (หัวเราะ) ไปถึงมัวรีนก็ขอโทษแทนเรา และเราก็อธิบายเหตุผลตามตรง มอรีส มอร์ตัน ประธานบริษัทเขาก็เข้าใจ เอ็ดเวิร์ด เฮอร์น เขาเห็นว่าสัญญานี้เป็นของดีที่เราซึ่งชอบละครจะได้เติบโต จึงต่อรองกับทางฟอกซ์ให้ บอกว่าถ้าจะให้พ่อเรายอม ทำไมไม่เปลี่ยนเป็นให้ทุนการศึกษาแทนที่จะเป็นค่าจ้าง และนอกเหนือกจากการแสดงและอัดแผ่นเสียงให้ฟอกซ์แล้ว ก็ขอให้ฟอกซ์เปิดโอกาสให้เราได้เรียนรู้ทางการละคร ภาพยนตร์ และโทรทัศน์ทุกแง่ทุกมุมได้ไหม เพื่อเตรียมกลับไปสอนที่จุฬาฯ ทางฟอกซ์เขาบอกเขายอมทุกอย่าง ขอแค่เรายอมเซ็นสัญญา

หลังจากเสร็จสิ้นการประชุม เรากับมัวรีนก็กลับอพาร์ตเมนต์โดยมีเอ็ดเวิร์ด เฮอร์น ตามมาด้วย พ่อยังนั่งอยู่ตรงที่เราหายไป พ่อนึกว่าเราหนีออกจากบ้าน ชาตินี้คงไม่ได้เจอกันอีกแล้ว แต่เราดูออกว่าพ่อดีใจที่เรากลับมา ทีนี้ต้อนรับดีเชียว (หัวเราะ) เอ็ดเวิร์ด เฮอร์น พยายามอธิบายกับพ่อ แต่เท่าไหร่พ่อก็ไม่ยอมเพราะระยะเวลา 7 ปีนั้นเป็นไปไม่ได้ ในที่สุดทางฟอกซ์เขาใช้วิธีจัดงานเลี้ยงฉลองปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้กับพ่อ ประธานบริษัทเขามาคุยกับพ่อเอง บอกว่าถ้าเสนอโครงการฝึกงานให้กับเราสนใจไหม พ่อบอกพ่อสนใจมากเพราะจุฬาฯ ก็ยังไม่มีผู้รู้ทางนี้ ถ้าทางฟอกซ์จะให้เรียนก็ยินดี แต่ 7 ปีคงไม่ได้ อย่างมากที่สุดต้องไม่เกิน 2 ปี สุดท้ายจึงเป็นอันว่าตกลง เซ็นสัญญาปีต่อปี โดยต้องอยู่ไม่เกิน 2 ปี

ฟอกซ์นี่เขาดีมาก เปิดกรุให้เราจริงๆ ได้เรียนทั้งการแสดง การกำกับ การตัดต่อ การเขียนบท ฉาก แสงเสียง คนที่สอนเรามากๆ คือ แซนฟอร์ด ไมส์เนอร์ อีกคนคือ ไลโอเนล นิวแมน ที่ได้รางวัลออสการ์จากการเป็นผู้ควบคุมเพลงในภาพยนตร์เรื่อง Hello, Dolly! เขาพาเราไปเจอหลายๆ คนทำให้เรากว้างขวาง และสอนเรื่องการทำแบ็กกราวนด์มิวสิก เราก็เรียนจากคนนั้นคนนี้บ้าง ภายใน 2 ปี ทำปริญญาโทด้วย เรียนที่ฟอกซ์ด้วย

(จากคอลัมน์ a day with a view – a day 131 กรกฎาคม 2554)

คลิกอ่านบทสัมภาษณ์ตอนอื่นๆ ได้ที่
ตอนที่ 1

ภาพ นวลตา วงศ์เจริญ

AUTHOR