16 ตุลาคม 2549
ก่อนแสงสุดท้ายของวันจะพลันหาย
ก่อนที่แสงจะหมด
เราหยุดการสนทนาชั่วคราว แล้วพากันเดินลงจากตึกมาที่สี่แยกใหญ่
โดยที่จิมมี่ยินดีให้ความร่วมมือเต็มที่
เรายืนรอสัญญาณไฟคนข้ามถนนตรงสี่แยก
หนุ่มสาวชาวไต้หวันหลายคนขี่จักรยานผ่านไปไม่ต่างจากที่เห็นในเรื่อง
A Chance of Sunshine เมื่อมองไปทางขวา
สวนสาธารณะบนเกาะกลางถนนที่กว้างประมาณ 3 เลน
และตึกรามบ้านช่องข้างถนนก็มีบรรยากาศไม่ต่างจากฉากที่เราเห็นในหนังสือหลายเรื่องของจิมมี่
ที่ผมคิดว่าฉากในหนังสือของจิมมี่ละม้ายคล้ายโลกฝั่งตะวันตก
นั่นเป็นเพราะผมไม่รู้จักไต้หวันต่างหาก
“ตอนนี้คุณกำลังเขียนอะไรอยู่บ้าง”
ผมยื่นคำถามฆ่าเวลาข้างทางม้าลาย
“ผมกำลังเขียนเรื่องเกี่ยวกับโรงหนัง
เป็นเรื่องของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ชอบดูหนังมาก การดูหนังทำให้เธอมีความสุขมาก
ทั้งชีวิตของเธอมีแต่การดูหนัง” สิ้นคำตอบของจิมมี่
สัญญาณไฟคนข้ามก็เปลี่ยนเป็นสีเขียว
จิมมี่ผ่านช่วงเวลาของการถ่ายรูปไปได้อย่างไม่ยากเย็น
เขาควบคุมอาการเขินอายได้ดีกว่าที่ผมคิด เราเดินอุโมงค์ลอดใต้ถนนข้ามมาอีกฝั่งถนน
บรรยากาศคล้ายๆ ฉากเรื่อง
The Sound of Colors อยู่เหมือนกัน
หลังจากที่มีคนนำ A Fish That Smiled at Me ไปทำเป็นแอนิเมชันแล้วประสบความสำเร็จอย่างมากมายในเรื่องของรางวัล
ผมก็อยากรู้ว่าจิมมี่อยากเห็นหนังสือเรื่องอื่นๆ ของเขากลายเป็นแอนิเมชันอีกไหม
“อยาก แต่ A
Fish That Smiled at Me
ยาวแค่ 9 นาทียังต้องใช้เงินทุนเยอะมาก
ผมคิดว่าคงยากที่จะมีคนเอาเงินมาลงทุนทำเรื่องอื่นๆ อีกเพราะมันไม่มีสิ่งดึงดูดทางธุรกิจเลย”
แต่เรื่องการแปลงงานของจิมมี่เป็นแอนิเมชันนั้น
ทางบริษัทของจิมมี่กำลังหาช่องทางหาพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจอยู่
เท่าที่ได้ยินกาลาเทียเล่าเป้าหมายที่พวกเขาตั้งเอาไว้นั้น ไม่ใช่แค่ทำเล่นๆ
ดูกันเองในหมู่คนสนใจภายในประเทศแน่
จิมมี่บอกว่า ถ้ามีนายทุนยอมลงทุนเพื่อให้เขาเขียนเรื่องใหม่สำหรับทำแอนิเมชันอย่างเดียว
จิมมี่ก็ยินดีร่วมมือเต็มที่ แต่เขายืนยันว่าโอกาสคงน้อยมาก
“ยังไงผมก็ไม่ค่อยชอบการประชุม
เพราะประชุมเมื่อไหร่ เรื่องมันไม่จบซะที”
16 ตุลาคม 2549 ความมืดไม่ขม
ความมืดค่อยๆ คลี่ลงคลุมไทเป
เราเดินมานั่งคุยกันต่อที่ร้านกาแฟข้างถนน
แสงไฟสลัวและอากาศเย็นๆ ช่วยให้บรรยากาศผ่อนคลาย จนเสียงรถราที่ดังอยู่ข้างๆ
ลอยผ่านหูไป
แม้ชีวิตคนจะยาวนาน แต่ประวัติย่อๆ
นั้นดีที่สุด จิมมี่เขียนประโยคนี้ไว้ในหน้าเปิดของหนังสือเรื่อง
The Private Me โดยที่หน้าสุดท้ายของเล่มเป็นประวัติย่อของจิมมี่
ตรงช่องความฝันสูงสุด เขากรอกว่า อยากซื้ออพาร์ตเมนต์เห็นทะเลได้
“ผมซื้อแล้ว” จิมมี่หัวเราะอายๆ “เป็นเพราะตอนเด็กๆ
ทุกครั้งที่ผมนั่งรถไฟกลับบ้านจะต้องผ่านริมทะเล
ผมเลยบอกตัวเองว่าโตมาต้องมีบ้านที่เห็นทะเลได้
มันน่าจะเป็นความฝันของคนโรแมนติกทั่วไปนะ”
ถ้าใครที่ได้อ่านเรื่อง A Chance of Sunshine คงไม่ลังเลที่จะจัดเขาเข้าไปอยู่ในกลุ่มของผู้ชายโรแมนติก
จิมมี่เขียนไว้ในหน้าแรกของหนังสือเล่มนี้ฉบับภาษาจีนว่า
เขาขอมอบหนังสือเล่มนี้ให้กับภรรยาของเขา
นางเอกในเรื่องนี้ก็เป็นนักเขียนคล้ายกับภรรยาของเขาที่เป็นนักแปลชื่อดังของไต้หวัน
แฮร์รี่ พอตเตอร์ และ นาร์เนียร์ ที่วางขายในไต้หวันนั้นก็เป็นงานแปลของเธอ สามีภรรยาคู่นี้ไม่เคยสร้างงานเขียนร่วมกัน
เหตุเธอไม่ยอมแปลงานของจิมมี่เป็นภาษาอังกฤษเองก็เพราะเธอคิดว่าคงทำได้ไม่ดีเท่าคนที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก
“ผมไม่ใช่คนโรแมนติก
ผมแค่สร้างตัวละครเหล่านั้นให้โรแมนติก” คำตอบของจิมมี่คงค้านความรู้สึกของหลายคน
นักเขียนที่ไม่คิดว่าตัวเองโรแมนติกคนนี้ผูกพันกับตัวละครที่เขาวาดมาก
บางตัวที่ใช้เวลาวาดนานมาก พอวาดเสร็จต้องส่งงาน เขาก็รู้สึกไม่อยากให้
เพราะเหมือนว่ามันกำลังจะไม่เป็นของเขาอีกต่อไป
“เรื่องโรแมนติกที่สุดระหว่างผมกับภรรยาน่ะหรือ”
จิมมี่นั่งยิ้มน้อยยิ้มใหญ่นึกอยู่ครู่หนึ่ง “ตอนผมเห็นภรรยาครั้งแรก
ผมคิดในใจว่าคนนี้แหละต้องเป็นภรรยาผม ผมยังจำวันนั้นได้
ตอนที่เรากำลังจะแยกกันกลับ เธอหันหลังกลับมามองผม ผมยังจำภาพนั้นได้”
ภรรยาของจิมมี่เป็นเพื่อนสมัยเรียนของเพื่อนร่วมงานในบริษัทโฆษณา
ดูเหมือนว่าเพื่อนของเขาจะเจตนาจับคู่ให้ ถ้าใครคิดว่าจิมมี่จีบภรรยาของเขาด้วยการวาดรูปให้ละก็-ผิดถนัด
“ผมไม่เคยวาดรูปให้
เธอไม่เอา” จิมมี่หัวเราะลั่น “ตอนที่เจอกันผมยังวาดรูปไม่เก่ง
ยังหัดวาดอยู่เลย ก็ใช้วิธีชวนไปดูหนังเพราะเราทั้งคู่ชอบดูหนัง
ตอนนั้นไปดูหนังกันเยอะมาก” จิมมี่ตัดบทแบบอายๆ ว่าภรรยาของเขาไม่ชอบเปิดเผยตัวเอง
เลยไม่อยากให้ผมพูดถึงเธอเวลาให้สัมภาษณ์
นอกจากภรรยาแล้ว
ลูกสาวหัวแก้วหัวแหวนวัย 10 ขวบก็ยังเป็นคนที่มีอิทธิพลสำคัญสำหรับจิมมี่
ภรรยาของจิมมี่ตั้งท้องในช่วงที่เขายังทรมานกับอาการของลูคีเมีย และลูกสาวคนนี้เองที่ทำให้เขามีกำลังใจต่อสู้กับโรคร้าย
ลูกสาวของจิมมี่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหนังสือของเขาเยอะมาก
เขามักจะสังเกตคำพูด ภาษา และวิธีคิด แบบเด็กๆ ของลูกแล้วเอาไปเขียนไว้ในหนังสือ
อย่างเช่นภาพวาดแม่หมูกับลูกหมูในหน้าแรกของเรื่อง
Pourquoi ที่แม่หมูบอกว่า “ถ้าลูกยังจะถามแม่อีกว่าทำไม แม่จะตีก้นซะให้เข็ดเลย” ลูกหมูก็ตอบว่า “ทำไมล่ะคะ” นั่นก็เป็นประโยคจริงที่ภรรยาของจิมมี่คุยกับลูกสาว
ส่วนภาพในหน้าสุดท้ายของเล่มที่พ่อหมูบอกลูกหมูว่า
“นับจากวันนี้เป็นต้นไป
ถ้าลูกไม่ถามพ่ออีกว่าทำไม พ่อจะรักลูกมากขึ้นอีกหลายเท่า”
ลูกหมูก็ตอบว่า
“ทำไมล่ะคะ” นั่นก็เป็นประโยคสนทนาของเขากับลูกสาว
ถ้าสังเกตดีๆ
เราจะพบว่าในหนังสือของจิมมี่แทบจะไม่มีตัวละครสูงอายุเลย จิมมี่บอกว่า
วาดรูปคนแก่ไม่เป็น เพราะยังไม่แก่พอ เลยไม่ค่อยเข้าใจคนแก่ อีกเหตุผลก็คือ
เขาเคยเขียนไว้ว่า ความสะเทือนอารมณ์มักจะเกิดกับเฉพาะเด็กหรือหนุ่มสาวเสียเยอะ
เพราะเป็นวัยแห่งความไม่รู้ ช่วงที่ยังสับสน ชีวิตในวัย 30 – 40
ก็เป็นชีวิตที่ซ้ำซาก
“วัยรุ่นเป็นวัยที่ไม่ต้องทำอะไรมาก
มีความสุขแบบง่ายๆ แต่พอเราไปถึงช่วงอายุที่แก่กว่านั้น
เราจะเข้าใจว่าชีวิตมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น มีอะไรมากมายที่ทำให้เราสับสน แล้วเรื่องโศกเศร้าหลายๆ
เรื่องมันก็ไม่ได้อยู่ห่างอย่างที่คิด มันอยู่ใกล้ตัวเรามากๆ
“ผมไม่ค่อยชอบสอนอะไรคนรุ่นหลัง
ถึงผมพูดออกมา ผมก็ไม่เชื่อ มันไม่มีอะไรที่แน่นอนและตายตัว
ปัญหาที่แต่ละคนเจอมันก๊อปปี้กันไม่ได้
กับวัยรุ่นบางคนผมก็อยากจะบอกว่าจะทำอะไรก็ให้ตั้งใจมากกว่านี้
แต่บางทีผมก็อยากจะบอกว่าให้ทำตัวให้สบายกว่านี้
เพราะฉะนั้นขอให้มีชีวิตอยู่ต่อไปก็แล้วกัน ไม่มีอะไรมากกว่านั้น”
จิมมี่เคยเขียนไว้ในเรื่อง Paradise Lost ว่า
คนที่มีความฝันให้ตามหา มีความทรงจำให้คิดถึง คือคนที่โชคดีที่สุด
อะไรคือความฝันในวัย 48 ปีของจิมมี่?
“ผมอยากจะมีสุขภาพดีขึ้น
จะได้ทำงานได้ต่อไป” หมอบอกเขาว่าถ้าผ่าน 5
ปีไปได้เขาก็มีโอกาสที่จะรอดจากโรคลูคีเมีย ตอนนี้เวลาก็ล่วงมา 10 ปีแล้ว
จิมมี่คิดว่ามันน่าจะโอเคแล้ว แต่เขาก็ยังไม่เคยกลับไปตรวจร่างกายอย่างจริงจัง
ตอนนี้ลูคีเมียกลายเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับเขาไปแล้ว
เพราะอาการเกี่ยวกับสายตาและปวดหลังมันรบกวนเขามากกว่า
“การทำงานของผมเป็นการทำงานที่ไม่โรแมนติกเลย
เป็นการทำงานที่เป็นระเบียบและเคร่งครัดมาก ผมใช้เวลาร้อยละ 98
นั่งวาดรูปอยู่ในห้อง แล้วอีกร้อยละ 2 ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน
หรือเดินทางไปต่างประเทศ แต่คนส่วนใหญ่จะเห็นแค่ 2 เปอร์เซ็นต์หลัง
ไม่เคยมีใครเห็นว่าผมทำงานหนักขนาดไหน
“ผมรักในสิ่งที่ทำ
เลยไม่รู้สึกเหนื่อยหรือขี้เกียจ แล้วผมก็ไม่มีผู้ช่วย ทำเองทั้งหมด
บางรูปก็วาดเสร็จภายใน 1 วัน บางรูปก็หลายวัน ผมทำงานทุกวัน
เพราะการผลิตงานแบบนี้ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ผมทำงานตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 6
โมงครึ่งทุกวัน มันเป็นช่วงเวลาที่นานมาก จนหลังๆ ร่างกายของผมเริ่มจะรับไม่ไหว
จะให้ผมลดจำนวนงานลงก็ได้ แต่ว่ามันทรมานยิ่งกว่าเพราะใจอยากทำ แต่ร่างกายไม่อำนวย
ต่อไปผมอาจจะไม่มีหนังสือออกมาอีกแล้วก็ได้ เพราะผมทำไม่ไหว” น้ำเสียงของเขาไม่ได้พูดเล่น
“ยิ่งอายุเยอะ
ผมก็ยิ่งรู้ว่าชีวิตของคนเรามีอะไรหลายอย่างที่น่าเบื่อ เราทำอะไรกับมันไม่ได้เลย
ต้องรอรับอย่างเดียว เรื่องราวในหนังสือของผมยิ่งเขียนก็ยิ่งเศร้า
แต่ผมจะปิดท้ายด้วยแสงสว่างหรืออะไรที่แฮปปี้เอนดิ้ง ในชีวิตจริงของคนเรามันไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะจบลงอย่างมีความสุขเสมอไป
ผมก็เลยอยากเขียนให้ไปในทางตรงกันข้าม”
สำหรับจิมมี่
แสงสว่างแห่งชีวิตของเขาคืออะไร?
“ขอให้มีชีวิตอยู่ต่อไป”
จิมมี่ตอบทันทีพร้อมเสียงหัวเราะ “จริงๆ
แล้วคนส่วนใหญ่ในโลกนี้ไม่มีแสงสว่างในชีวิตหรอก”
เวลาล่วงเลยมากว่า 4 ชั่วโมง
กาลาเทียบอกเราว่า นี่เป็นการสัมภาษณ์ครั้งที่ยาวนานที่สุดของจิมมี่
“ถ้าคุณต้องเขียนหนังสือเรื่องยาวเกี่ยวกับผู้ชายชื่อ
จิมมี่ เลี่ยว เรื่องจะออกมาอย่างไร” ผมถามคำถามสุดท้าย
“ผมจะเขียนเกี่ยวกับขั้นตอนการผลิตหนังสือเล่มหนึ่งว่าเจออุปสรรคอะไรบ้าง
แล้วแก้ปัญหายังไง ถ้าเอาชีวิตจริงของผมมาเขียน มันมีเหตุการณ์ขึ้นลงเยอะมาก
ถ้าเอามาทำเป็นเรื่อง มันจะไม่ตรงกับความเป็นจริง” จิมมี่หยุดคิด
“ภาพที่ผมเห็นตอนนี้ก็คือ ผมเดินอยู่ในป่าลึก
ไม่รู้ว่าจะเดินไปที่ไหน ไม่รู้ว่าจะพบอะไรบ้าง เป็นไปได้ว่าอาจไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย
แล้วผมก็เดินกลับบ้าน แต่ผมคงต้องได้อะไรจากในป่าที่คนอื่นไม่รู้”
“แล้วมันก็คงจบลงแบบแฮบปี้เอนดิ้ง
หน้าสุดท้ายคงเป็นภาพของคนคนนึงที่อายุเยอะแล้วนั่งวาดรูปอยู่ในห้องว่างที่เงียบมาก”
“ผมไม่ค่อยชอบสอนอะไรคนรุ่นหลัง ถึงผมพูดออกมา ผมก็ไม่เชื่อ มันไม่มีอะไรที่แน่นอนและตายตัว ปัญหาที่แต่ละคนเจอมันก๊อปปี้กันไม่ได้ กับวัยรุ่นบางคนผมก็อยากจะบอกว่าจะทำอะไรก็ให้ตั้งใจมากกว่านี้ แต่บางทีผมก็อยากจะบอกว่าให้ทำตัวให้สบายกว่านี้ เพราะฉะนั้นขอให้มีชีวิตอยู่ต่อไปก็แล้วกัน ไม่มีอะไรมากกว่านั้น”
(จากคอลัมน์ a day with a view – a day 75 พฤศจิกายน 2549)
ภาพ คเชนทร์ วงศ์แหลมทอง
คลิกอ่านบทสัมภาษณ์ตอนอื่นๆ ได้ที่นี่
ตอนที่ 1
ตอนที่ 2
ตอนที่ 3